สารจากอธิการบดี
มจร ๔.๐ ในยุคประเทศไทย ๔.๐
มจร ๔.๐ ในยุคประเทศไทย ๔.๐
ข้อมูลวันที่ 08 มิ.ย. 61 | 2419

มจร ๔.๐ ในยุคประเทศไทย ๔.๐


เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ธนาคารโลกยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-middle-income group) เนื่องจากรัฐบาลไทยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงเช่นเดียวกับสหรัฐเมริกาและญี่ปุ่นภายใน ๑๕-๒๐ ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยคำว่า “ประเทศไทย ๔.๐ Thailand 4.0” โดยแบ่งยุคของการพัฒนาประเทศออกเป็น ๔ ยุค ดังนี้




ประเทศไทย ๑.๐ ยุคเกษตรกรรม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก ยุคนี้ชาวนาเป็นกระดูกสันหลัง  

ประเทศไทย ๒.๐ ยุคเกษตรอุตสาหกรรม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่นโรงงานทอผ้า

ประเทศไทย ๓.๐ ยุคอุตสาหกรรมหนัก เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยพึ่งพารายได้จาก ๓ ภาค คือ ภาคการเกษตร ภารบริการ เช่นการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมหนักในนิคมอุตสาหกรรม

ประเทศไทย ๔.๐ ยุคนวัตกรรม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะพึ่งพารายได้จาก ๓ ภาคเหมือนเดิมแต่เน้นให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาขับเคลื่อนการพัฒนา


ในทำนองเดียวกัน ตลอดระยะเวลา ๑๒๐ ปีที่ผ่านมา เราสามารถแบ่งช่วงเวลาแห่งการพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยออกเป็น ๔ ยุค ดังนี้

มจร ๑.๐ MCU 1.0 ยุคราชวิทยาลัย

มจร ๒.๐ MCU 2.0 ยุคมหาวิทยาลัยสงฆ์

มจร ๓.๐ MCU 3.0 ยุคมหาวิทยาลัยของรัฐ

มจร ๔.๐ MCU 4.0 ยุคมหาวิทยาลัยนานาชาติ


มีรายละเอียดประกอบการแบ่งยุคดังนี้

มจร ๑.๐ ยุคราชวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๙๐)

นับจากช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนามหาธาตุวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุในพ.ศ. ๒๔๓๐ มหาธาตุวิทยาลัยเปิดเรียนบาลีในพ.ศ. ๒๔๓๒ ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๓๙ รัชกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง แต่คณะสงฆ์ก็ไม่ได้จัดการศึกษาวิชาชั้นสูงตามพระราชปณิธานแต่อย่างใด คงมีแต่การเรียนบาลีอย่างเดียว


มจร ๒.๐ ยุคมหาวิทยาลัยสงฆ์ (พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๒๗)

คณะสงฆ์เริ่มดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยสมัยใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ แบ่งส่วนงานจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีออกเป็นคณะต่างๆ มีการปรับปรุงหลักสูตรที่ใช้ระบบหน่วยกิตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๑๒ มหาเถรสมาคมได้มีคำสั่งรับการศึกษาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยที่ในยุคนี้ยังไม่มีการรับรองปริญญาจากรัฐบาล


มจร ๓.๐ ยุคมหาวิทยาลัยของรัฐ (พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๕๐)

รัฐบาลออกพระราชบัญญัติรับรองปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยไม่มีการรับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมามีการออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและเป็นนิติบุคคล สามารถจัดการศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยได้ขยายการศึกษาออกไปตามวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียนและหน่วยวิทยบริการในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งรับสถาบันสมทบเข้าสังกัดใน ๕ ประเทศ คือ เกาหลีใต้ จีนไต้หวัน สิงคโปร์ ศรีลังกา ฮังการี


มจร ๔.๐ ยุคมหาวิทยาลัยนานาชาติ (พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา)

ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ ระยะที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) มีการกำหนดวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยให้เป็น “ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ” และได้ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์นั้น ดังนี้


    พ.ศ. ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสมาคมนานาชาติ ๒ สมาคม คือ สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICDV) และ สมาคมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) โดยมีอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเป็นประธานของสมาคมทั้งสอง


    พ.ศ. ๒๕๕๑ ย้ายสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยมาตั้งอยู่ ในพื้นที่แห่งใหม่จำนวน ๓๒๓ ไร่ ณ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)รองรับการจัดการศึกษาผ่านสื่อทางไกล


    พ.ศ. ๒๕๕๑ ซื้อที่ดินและดำเนินการก่อสร้างสร้าง อาคารสำหรับวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC)


    พ.ศ. ๒๕๕๕ มหาวิทยาลัยจัดตั้งสถาบันภาษาเพื่อสอนภาษาต่างประเทศให้กับบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัย


    พ.ศ. ๒๕๕๖ สภาสากลวันวิสาขบูชาโลกได้รับการรับรองจากสหประชาชาติให้เป็นองค์กรที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ


    พ.ศ. ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยประกาศตั้งส่วนงานระดับคณะเพื่อดำเนินกิจการนานาชาติ ๓ ส่วนงาน คือ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ศูนย์อาเซียนศึกษา วิทยาลัยพระธรรมทูต


    พ.ศ. ๒๔๖๐ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติย้ายเข้าสู่อาคารเรียนหลังแรกที่สร้างเสร็จพร้อมกับอาคารหอพักนานาชาติ ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักหลังต่อไปพร้อมกับดำเนินการก่อสร้างอาคารหอสมุดรูปทรงเจดีย์ 


    พ.ศ. ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เผยแพร่พระไตรปิฎกฉบับสากล (CBT) ที่รวมแก่นพระไตรปิฎกเถรวาท มหายานและวัชรยานมาไว้ในเล่มเดียวกันเป็นครั้งแรกในโลก โดยมีอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเป็นประธานบรรณาธิการ (Chief Editor)


นับได้ว่า ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติไว้ในระดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องแสวงหาเพิ่มเติมคือนวัตกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเป็น มจร ๔.๐


นวัตกรรม (Innovation) คือการนำสิ่งประดิษฐ์หรือการค้นพบที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้เดิมมาบูรณาการเข้าด้วยกันจนเกิดองค์ความรู้ใหม่หรือวิธีการใหม่ในการสร้างผลผลิตหรือให้การบริการที่ดีกว่า ตัวอย่างเช่น นายสตีฟ จ็อบส์ นำเอาคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายรูป อินเตอร์เน็ตที่คนอื่นประดิษฐ์ไว้มาบูรณาการเข้าด้วยกันจนสำเร็จออกมาเป็นไอแพด (IPad) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต้องสร้างนวัตกรรมใน ๔ ด้าน ดังต่อไปนี้


๑. นวัตกรรมด้านผลผลิต (Product Innovation) เช่น การนำเอาองค์ความรู้ในอภิธรรมปิฎกและวิธีปฏิบัติกรรฐานมาบูรณาการเข้ากับจิตวิทยาตะวันตกจนเกิดสาขาวิชาพุทธจิตวิทยา


๒. นวัตกรรมด้านการบริการ (Service Innovation) เกิดจากการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งวิทยุ โทรทัศน์และสื่อออนไลน์มาใช้ในการเรียนการสอนและการเผยแผ่ธรรม


๓. นวัตกรรมด้านกระบวนการ (Process Innovation) คือการแสวงหาวิธีการใหม่ๆเพื่อลดขั้นตอนในการผลิต เช่น วิธีการสอนภาษาอังกฤษแก่มหาเปรียญโดยเทียบเคียงกับภาษาบาลี


๔. นวัตกรรมด้านการบริหาร(Management Innovation) เช่น การนำหลักธรรมมาใช้ในการบริหารจัดการจนได้ผลจริง


กล่าวโดยสรุป มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในยุคมหาวิทยาลัยนานาชาติหรือ มจร ๔.๐ นอกจากจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอต่อการพัฒนาต่อไปแล้ว ยังจะต้องมีความพร้อมในเรื่องภาษาต่างประเทศ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม และนวัตกรรมทั้งสี่ด้านดังกล่าวมา


เมื่อนั้นแหละวิสัยทัศน์ มจร. ๔.๐ จึงจะกลายเป็นจริง