สารจากอธิการบดี
ครุฐานียบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ครุฐานียบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ข้อมูลวันที่ 23 ต.ค. 56 | 1624

ศาสตราจารย์ พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต เป็นบุคคลสำคัญที่ได้สร้างคุณูปการมากมายให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัยมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาเป็นนิสิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐พลังแห่งบุคลิกภาพของท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐที่มีต่อการหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรของมหาจุฬาฯก็คือสิ่งที่เรียก กันว่าเลือดรักมหาจุฬา ฯ..


ครุฐานียบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต เป็นบุคคลสำคัญที่ได้สร้างคุณูปการมากมายให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัยมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาเป็นนิสิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐พลังแห่งบุคลิกภาพของท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐที่มีต่อการหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรของมหาจุฬาฯก็คือสิ่งที่เรียก กันว่าเลือดรักมหาจุฬา ฯ


ท่านอาจารย์สำเร็จ การศึกษาเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๑เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ขณะที่กำลังเป็นศึกษาอยู่นั้น ท่านได้ริเริ่มจัดกิจกรรมสำคัญอันแสดงออกถึงความรักสถาบันของท่านด้วยการ ชักชวนนิสิตจัดงานอนุสรณ์มหาจุฬาฯเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อรำลึกถึงการเปิดการศึกษาครั้งแรกของมหาจุฬาฯและเพื่อร่วมกันแสดงออก ซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ผู้ทรงสถาปนามหาจุฬาฯและพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) องค์ปฐมสภานายก ทุกวันนี้ งานอนุสรณ์มหาจุฬาฯได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันบุรพาจารย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีและความรักสถาบันตามเจตนารมณ์ ของท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ


เมื่อสำเร็จการศึกษา เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตแล้ว ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐได้เลือกที่จะอยู่ปฏิบัติงานที่มหาจุฬาฯซึ่งถือเป็นที่มาของการ ปฏิบัติศาสนกิจของพุทธศาสตรบัณฑิตใหม่ในยุคต่อมาท่านอาจารย์ทำงานประสบความ สำเร็จเป็นที่ไว้วางใจของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(อาสภมหาเถร)องค์ ทุติยสภานายกจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการหรือสั่งการเลขาธิการของมหา จุฬาฯ ตำแหน่งเลขาธิการในสมัยโน้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะบริหารมหาจุฬาฯซึ่งทำงาน เป็นแม่บ้านขององค์กรคล้ายกับตำแหน่งปลัดกระทรวงในสมัยนี้โดยมีอธิการบดี เป็นผู้บริหารสูงสุดของมหาจุฬาฯเนื่องจากพระธรรมวรนายก (จนฺทกเถร)ซึ่ง เป็นอธิการบดีระหว่างปี ๒๔๙๖-๒๕๒๙ได้พำนักอยู่ที่วัดอุดมธานี จังหวัดนครนายก ดังนั้น เลขาธิการมหาจุฬาฯจึงต้องปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีไปพร้อมกันด้วยจน กระทั่งมีการยกเลิกตำแหน่งเลขาธิการ ในพ.ศ. ๒๕๒๙


ผลงานด้านการพัฒนา งานที่สำคัญในตำแหน่งสั่งการเลขาธิการท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐก็คือการปรับปรุงหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. คูร์ตเอฟ. ไลเดกเกอร์ พัฒนาหลักสูตรของมหาจุฬาฯ เป็นระบบหน่วยกิตซึ่งจัดสอนตามแบบซีเมสเตอร์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังได้ร่วมกับอาจารย์พร รัตนสุวรรณก่อตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย


ขณะที่งานในหน้าที่ กำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขาปรัชญาและเอเชียอาคเนย์ศึกษาที่ มหาวิทยาลัยเยล(Yale) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๐๒ เมื่อสำเร็จปริญญาโทกลับมาประเทศไทยแล้ว ท่านอาจารย์รับหน้าที่เป็นผู้บริหารมหาจุฬาฯในฐานะรองอธิการบดีอยู่ระยะ หนึ่งก่อนที่จะผันตัวเองไปทำงานที่ราชบัณฑิตยสถานจนได้เป็นเลขาธิการ ราชบัณฑิตยสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘


แม้ว่า นับแต่นั้นมา ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐจะไม่ได้บริหารมหาจุฬาฯโดยตรง ท่านก็รับมาเป็นอาจารย์บรรยายในมหาจุฬาฯติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาปรัชญาเป็นอย่างยิ่งจนได้รับพระบรมราชโองการโปรด เกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาตรรกศาสตร์


ความรักและความ ห่วงใยที่มีต่อมหาจุฬา ฯ ทำให้ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐขวนขวายชักชวนบรรดาศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยให้มาร่วมกันก่อตั้ง สมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯเป็นผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านอาจารย์ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๖ สมัย


ในช่วงที่มหาจุฬาฯดำเนินการเพื่อให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากอธิการบดีในขณะนั้นคือพระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี)ให้ เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานติดตามเรื่องนี้ในนามมหาจุฬาฯตั้งแต่ปี ๒๕๓๕-๒๕๔๐ นับเป็นความโชคดีของมหาจุฬาฯที่ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐเป็นสมาชิกวุฒิสภาในช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๓ และ ร.ท. ดร. กุเทพ ใสกระจ่างก็ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในระยะเวลาเดียวกัน ทั้งสองท่านได้ช่วยอภิปรายสนับสนุนและผลักดันในรัฐสภาและในคณะกรรมาธิการที่ เกี่ยวข้องจนกระทั่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยผ่าน การพิจารณาของรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐


ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ รับตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ได้รับเป็นที่ปรึกษาอธิการบดีมาจนถึงปัจจุบัน พวกเราชาวมหาจุฬาฯต่างพากันปีติยินดีเมื่อท่านอาจารย์ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชาปรัชญา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔


ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐได้มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วยการทำสิ่งที่เรียกว่า การจัดการความรู้(Knowledge Management) นั่น คือการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เฉพาะตัวของท่านออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือ และบันทึกคำบรรยายจำนวนมาก ข้อเขียนและคำบรรยายของท่านอาจารย์ที่เกี่ยวกับมหาจุฬาฯในอดีตได้เป็นฐานใน การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ก้าวต่อไปในเวทีโลก ท่านอาจารย์เน้นย้ำอยู่เสมอว่ามหาจุฬาฯเริ่มจัดการศึกษาด้วยความไม่มีอะไร หรือนัตถิปัจจัยซึ่งทำให้ชาวมหาจุฬาฯในช่วงนั้นรักและสามัคคีกันดี บัดนี้ แม้ชาวมหาจุฬาฯจะมีอัตถิปัจจัยคือมีอะไรเพิ่มมากขึ้น พวกเราชาวมหาจุฬาฯก็ไม่ควรจะรักกันน้อยลงกว่าแต่ก่อน


ทุกวันนี้ ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ดำรงอยู่ในฐานะครุฐานียบุคคลของชาวมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คำแนะนำของท่านอาจารย์มีคุณค่ายิ่งจึงเป็นสิ่งที่ชาวมหาจุฬาฯควรรับฟังและ ถือปฏิบัติเพราะท่านอาจารย์ยังทำหน้าที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัยในฐานะของกรรมการสภามหาวิทยาลัย


การปฏิบัติตามคำ แนะนำของรัตตัญญูบุคคลอย่างท่านศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐย่อมจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัยตลอดไป และการที่ชาวมหาวิทยาลัยร่วมกันจัดงานฉลอง ๘๔ ปี ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรมข้อที่ว่า


“ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ ให้ความเคารพนับถือท่านเหล่านั้นเห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟังอยู่ตราบใด พึงหวังได้ว่าจะมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ตราบนั้น”


พระพรหมบัณฑิต

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

กรรมการมหาเถรสมาคม