สารจากอธิการบดี
ขวัญดีรับปีใหม่ ๒๕๕๕
ขวัญดีรับปีใหม่ ๒๕๕๕
ข้อมูลวันที่ 31 ธ.ค. 55 | 2089

ปี ๒๕๕๔ เป็นปีที่คนไทยขวัญกระเจิงเพราะน้ำมาทุกทิศทุกทางเกินกว่าจะป้องกันได้ทันท่วงที


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ขวัญ” ไว้ว่า “สิ่ง ที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจําชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบาย จิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหายขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทําให้คนนั้นได้รับผลร้ายต่าง ๆ”


คน ไทยแต่โบราณมีความเชื่อว่าถ้าคนเราเกิดอาการขวัญหายก็ต้องทำพิธีเรียกขวัญ ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เหมือนดังกรณีที่คนเข้าป่าถูกเสือไล่กัดแต่โชคยังดีที่หนีเอาชีวิตรอดมาได้ เมื่อเขากลับถึงบ้านแล้วยังมีอาการขวัญผวาคือพอได้ยินเสียงดังทีไรเป็นต้อง สะดุ้งสุดตัวเพราะนึกว่าเสือตัวนั้นมาไล่กัดตน


ใจ ของเขายังหลงวกวนอยู่กับเหตุการณ์เก่าตอนที่เสือไล่กัด พูดแบบโบราณก็ต้องบอกว่า ขวัญกระเจิงหนีออกจากร่างไปค้างอยู่บนยอดไม้ในป่ายังไม่สามารถตามกลับมาเข้า ร่างเจ้าของ


นี่แหละเป็นที่มาของพิธีเชิญขวัญหรือเรียกขวัญ


ปลาย ปี ๒๕๕๔ คนไทยเสียขวัญกันยกใหญ่เพราะต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ ๕๐ ปี จนย่างเข้าปี ๒๕๕๕ แล้วขวัญก็ยังไม่กลับมาเข้าร่างดังเดิม ไม่รู้ว่าขวัญไปค้าค้างอยู่ตามยอดไม้ที่ไหน


แท้ ที่จริง คนเสียขวัญก็คือเสียกำลังใจ ภาพแห่งความทรงจำไปผูกติดอยู่กับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาอย่างสลัดไม่ หลุด แม้น้ำภายนอกจะแห้งไปแล้ว แต่น้ำก็ยังท่วมอยู่ภายในใจเพราะเขาไม่สามารถจะลืมภาพน้ำท่วมนั้นได้

นี่คืออาการขวัญเสียที่เกิดจากอุปาทานคือความยึดติดกับภาพน้ำท่วม

คนเราชอบจดจำเรื่องไม่ดีที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา

เราชอบจดจำเหตุการณ์ตอนจน ตอนเจ็บ ตอนเจ๊ง ตอนจากและตอนจบแบบไม่ดี


เพราะ ฉะนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงอำลาปี ๒๕๕๔ ด้วยภาพแห่งปีน้ำท่วม ทั้งที่มีภาพที่งดงามควรแก่การประทับอยู่ในความทรงจำอีกมากมาย เช่น ภาพแห่งการเฉลิมฉลอง ๘๔ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุข


ถ้าเราเก็บภาพแห่งความสุขในปีเก่าไว้ในใจ เราก็จะเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความหวังและกำลังใจ นั่นคือมีขวัญดีรับปีใหม่


โลก เป็นอย่างไรไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่เราจดจำมันอย่างไรต่างหาก เพราะโลกมีทั้งสุขและทุกข์สลับกัน ถ้าเราจดจำแต่ความทุกข์ โลกก็ไม่น่าอภิรมย์แต่อย่างใด ดังภาษิตอุทานธรรมที่ว่า


สุขและทุกข์มีอยู่คู่กับโลก

จะย้ายโยกแห่งหนตำบลไหน

จะสุขบ้างทุกข์บ้างช่างเป็นไร

จะทำใจให้เศร้าไม่เข้าการ


พระพุทธศาสนาสอนให้คนเราเลิกโศกเศร้ากับความสูญเสียที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า

“หิยฺยมาเน น โสเจยฺย ไม่ควรโศกเศร้าเมื่อประสบความสูญเสีย”


พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความไม่โศกเศร้าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ” เป็นต้นแปลความว่า “เมื่อถูกโลกธรรมกระทบแล้วจิตใจไม่หวั่นไหว ไม่โศกเศร้า แต่สดใสเกษม นั่นเป็นมงคลอันสูงสุด”


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามของคำว่า “ขวัญ” ไว้อีกอย่างหนึ่งว่าหมายถึงมิ่งมงคล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความไม่โศกเศร้าเป็นมิ่งมงคลหรือมงคลอันสูงสุด

ดังนั้น คนที่ไม่โศกเศร้าเมื่อประสบความสูญเสียก็คือคนที่มีขวัญดีนั่นเอง

คนที่มีขวัญดีก็คือมีกำลังใจดีพร้อมที่จะสู้ชีวิตต่อไป นับว่าเขามีมงคลคือเหตุแห่งความเจริญของชีวิต

ถ้าเราต้อนรับปีใหม่ด้วยขวัญดีกำลังใจดี เราก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ

เมื่อ มีขวัญและกำลังใจดีแล้ว เราต้องไม่ประมาท นั่นคือคือเราควรปฏิบัติธรรมมงคลอีก ๓ ประการเพื่อป้องกันมหาอุทกภัยไม่ให้หวนคืนมาในปีใหม่และในปีต่อๆไป


๑. ปฏิรูปเทสวาสะ ทำสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัยด้วยการไม่ตัดไม้ทำลายป่า มีการสร้างระบบระบายน้ำหลาก (Floodway)และ แก้มลิงริมทะเลตามแนวพระราชดำริ มหาจุฬาฯที่วังน้อยควรสร้างถนนหรือกำแพงป้องกันน้ำรอบมหาวิทยาลัย ทั้งปลูกต้นยางนาเป็นรั้วรอบมหาวิทยาลัย


๒. ปุพเพกตปุญญตา ทำ บุญกุศลสะสมความดีไว้ให้มาก เช่น การสวดมนต์ข้ามปีตามมติมหาเถรสมาคม การถวายภัตตาหารแด่พระนิสิตนับพันรูปที่มหาจุฬาฯ พลังบุญที่ทำสะสมไว้ก็จัดสรรแต่สิ่งดีงามมาสู่ชีวิต


๓. อัตตสัมมาปณิธิ วางตนไว้ในทางแห่งศีลธรรมโดยบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้ดี ไม่มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเมื่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม และมีความไม่ประมาท โดยเฉพาะไม่มีการเก็บพระไตรปิฎกและของสำคัญไว้ที่ชั้นล่างของอาคารของมหาจุฬาฯ


เมื่อมีธรรมประจำใจ ๓ ประการนี้ก็จะทำให้ชีวิตมีขวัญและกำลังใจดีเพราะมีมงคลคือเหตุแห่งความเจริญในชีวิต

ธมฺมจารี สุขํ เสติ


ขอผู้ประพฤติธรรมจงอยู่เป็นสุขตลอดปีใหม่และตลอดไป