สารจากอธิการบดี
พรปีใหม่ ๒๕๕๔
พรปีใหม่ ๒๕๕๔
ข้อมูลวันที่ 13 พ.ค. 54 | 6583

ขอเจริญสุขสวัสดีแด่สาธุชนทุกท่าน


เมื่อ เริ่มปีใหม่ ชีวิตเราก็จะต้องมีอะไรใหม่ไปตามปีบ้าง เรียกว่าเป็นช่วงเปลี่ยนชีวิต ถือโอกาสทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น โดยการมองย้อนกลับไปในปีเก่าว่ามีอะไรที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงตนเอง จากนั้นก็วางแผนไปในอนาคต ในปีต่อไปซึ่งเป็นปีใหม่ ว่าเปลี่ยนศักราชใหม่ จะทำให้ชีวิตสดใสกว่าเก่าได้อย่างไร


หลัก ในการคิดในเรื่องนี้ก็คือว่า ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ปุราณํ นาภินนฺเทยฺย นเว ขนฺติมกุพฺพเย ไม่หลงของเก่า อย่าเมาของใหม่” ของเก่าที่ไม่ดีที่ติดมากับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม นิสัยก็ดี แม้กระทั่งสิ่งของบางอย่าง ไม่ไปยึดไม่ไปติด ปล่อยไปบ้าง สะสางไปบ้าง ทิ้งไว้กับปีเก่า และเมื่อเราจะรับสิ่งใหม่ในปีใหม่ เราก็ไม่รับอย่างหลับหูหลับตา ไม่เริ่มรับสิ่งใหม่ เพื่อนใหม่ ของใหม่ โดยไม่พิจารณาถึงคุณค่าของสิ่งนั้นว่าเหมาะกับเราไหม ใช้ได้ไหม เมื่อรับสิ่งใหม่ ก็รับด้วยสติปัญญา ให้มันเหมาะกับเรา อย่างนี้เรียกว่ามีความเท่าทัน ก็คือ ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ ในทุกเรื่อง


เมื่อ ตั้งหลักอย่างนี้แล้ว เราก็มาพิจารณาให้ดีว่าของเก่าที่เราจะโละทิ้งไปบ้าง ตัดทิ้งไปบ้าง ไม่ว่าในสิ่งที่ไม่ดีอะไรก็ตาม นิสัยก็ตาม การงานก็ตามที่ไม่สุจริต หรือไม่เป็นที่พึงพอใจ สิ่งไหนที่เราจะทิ้งไป ตัดไปก็ตามและตั้งต้นใหม่ ก็ให้พิจารณาว่าสิ่งใหม่นั้นมีคุณค่ากับชีวิต เหมาะสมเพียงไร ค่อยๆ รับ ค่อยๆ ปรับเข้ามาในชีวิต ก็จะทำให้เราได้ดำเนินการไปถูกต้องตามทิศทางที่พึงประสงค์


ที่สำคัญก็คือว่า เมื่อเราวางแผนสำหรับปีใหม่ อนาคตของเรา ต้อง กำหนดเป้าหมาย อย่าไปวางเลื่อนลอย อันนั้นเรียกว่าฝัน ฝันกลางวัน ภาษาพระเรียกว่า บางคนนี่ช่างฝัน กลางคืนบังหวนควัน กลางวันไม่ลุกเป็นไฟ กลางคืนนอนวางแผนก่ายหน้าผาก คิดแล้วคิดอีกว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร วางแผนทั้งคืน เหมือนกับบังหวนควัน ควันโขมงเลย พอตกตอนเช้าขึ้นมา ไฟไม่ลุกไหม้ ทั้งๆ ที่ควันเยอะอยู่แล้ว เรียกว่าไม่ลุกเป็นไฟ คือ ไม่มีการปฏิบัติ ไม่ได้ลงมือทำจริง การบังหวนควันก็เหมือนกับการสร้างจินตนาการว่าเราจะทำนู่นทำนี่ เป็นโน่น เป็นนี่ แต่ถึงเวลาทำไม่ลงมือทำก็คือไม่ลุกเป็นไฟ


ทำนอง เดียวกัน ในปีใหม่ บางทีเราคิดฝันมาตั้งแต่ปีเก่าแล้วว่าจะทำอะไร จะปรับปรุงชีวิตในเรื่องไหน นิสัยไม่ดี เช่น มีการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ก็อยากจะเลิก แต่ถึงเวลาจริงก็ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้กำหนดเป้าหมาย การกำหนดเป้าหมายก็หมายความว่า มีกี่เรื่องที่เราจะแก้ไขปรับปรุง และถ้าเราจะเพิ่มเติ่มให้ตนเอง กำหนดเป็นเป้าหมาย เช่น เป็นนักเรียนก็จะตั้งใจเรียน ไม่ขาดเรียน และคะแนนต้องเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์หรือเป็นเกรดเท่าไหร่ ถ้าเป็นคนทำงานก็ต้องวางรากฐานว่าจะหารายได้เข้าบ้าน เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ถ้าจะก่อสร้างก็จะสร้างไปให้ถึงไหน ถ้าจะทำความดีรักษาศีล ๕ ก็ต้องบอกว่าครบทุกข้อ อย่างไร ตอนไหน คือต้องกำหนดเป้าหมาย มิฉะนั้น เราก็จะปล่อยให้เลื่อนลอย ไม่สามารถที่จะประเมินได้ วัดได้ ฉะนั้น การที่เรากำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ก็จะทำให้เราสามารถติดตาม ว่าในปีใหม่นี้ ในช่วงเดือนไหน เวลาเท่าไหร่ของปี เราจะทำอะไรบ้าง เหมือนกับกำหนดตารางการเดินทางแห่งชีวิต ทำอย่างนี้ปีใหม่ก็จะสนุก เพราะเราจะวัดได้ว่าเดินมากี่ก้าว ได้ไปสู่เป้าหมายอย่างไร


พุทธ ศาสนสุภาษิตที่จะฝากไว้สำหรับคนกำหนดเป้าหมายในปีใหม่ ก็เป็นดังที่ว่า “วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา เกิดเป็นคนต้องพยายามร่ำไป จนกว่าจะได้บรรลุสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้” นี่เป็นคติสอนใจ เกิดเป็นคนต้องพยายามร่ำไป จนกว่าจะได้บรรลุสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ พุทธภาษิตต่อไปว่า “นิปฺผนฺนโสภิโน อตฺถา เป้าหมาย งดงาม เมื่อยามสำเร็จ” นั่นก็ต่อเนื่องกัน คือเราตั้งเป้าหมายแล้ว ทำไปสู่เป้าหมายสำเร็จได้งดงาม พึงพอใจ และประเด็นต่อเนื่องกันไปก็คือว่า จะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร ภาษิตท่านก็บอกว่า “ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ การจะบรรลุเป้าหมาย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความอดทน” เพราะฉะนั้น พุทธศาสนสุภาษิตนี้จึงบอกว่า ปีใหม่ เราจะต้องพยายามร่ำไปจนกว่าจะได้บรรลุสิ่งที่ปรารถนา ตั้งเป็นเป้าหมายไว้ เป้าหมายที่ตั้งไว้ งดงามเมื่อยามบรรลุ จึงสำเร็จตามเป้าหมาย การจะบรรลุถึงเป้าหมาย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าใช้ความอดทน ฉะนั้น เราต้องบอกตนเองว่า เราจะต้องพยายามให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ ในระยะสั้น ระยะยาว ระยะสั้น ภายในกี่เดือน หรือภายในปีนี้ ระยะยาวภายในกี่ปีนับจากนี้ไป


เหมือน กับที่พระพุทธเจ้าของเราในอดีตชาติ ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ในพระชาติที่ล่วงไปนานมาก เป็นสุเมธดาบส ได้เห็นบารมีของพระพุทธเจ้าทีปังกรในสมัยโน้น แล้วอยากเป็นพระพุทธเจ้า อธิษฐาน พออธิษฐานตั้งจิตก็กำหนดเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว แล้วเดินตามเป้าหมายนั้น ด้วยการอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้า และก็บำเพ็ญบารมีแต่ละข้อๆ ซึ่งวัดได้ประเมินได้ พระชาตินี้บำเพ็ญบารมีนี้ สำเร็จแล้ว ดีใจภูมิใจ พระชาติต่อไปก็บำเพ็ญบารมีต่อ ทีละขั้น ทีละตอน จนได้มาเป็นพระเวสสันดร บำเพ็ญมหาทานบารมี พร้อมกันนั้นก็เรียกว่าเต็มที่ในการบำเพ็ญความพร้อม บารมีก็คือความพร้อมเต็มเปี่ยม สำหรับเป็นพุทธะ คือพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อเตรียมจุติมาเป็นสมณโคดม


นี่ ก็เห็นได้ว่า ชีวิตจะต้องกำหนดเป็นเป้าหมาย ตาอยู่ที่เป้าหมาย ดังที่เขาบอกว่า ตาดูดาว เท้าติดดิน ที่ว่าตาดูดาว ก็คือ ดูเป้าหมาย เหมือนคนสมัยโบราณเวลาจะเดินทางไปไหนเขาไม่มีเข็มทิศ เขาก็ดูดาว เพื่อบอกทางในเวลากลางคืน ไปในทิศทางไหน แต่ตาดูดาวนี่ เท้าจะต้องก้าวบนพื้นดิน ไม่ใช่ลอย ไม่ใช่สะเปะสะปะ เท้าติดดินก็คือ ก้าวไปตามทิศทางของดาว ดาวที่ว่านี่คือเป้าหมายของชีวิต เรามีสิทธิ์ที่จะฝัน มีสิทธิ์ที่จะหวัง แล้วก็ดำเนินแต่ละก้าว แต่ละบทไปสู่เป้าหมายนั้น อันนี้เรียกว่า เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนพินาศให้เป็นพัฒนา


ถ้า เราจะสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ บางทีของเก่านี่มันเป็นอุปสรรคเหมือนกัน เล็งๆ เอาไว้บางทีนี่ ของเก่านี่ ถ้าหากว่ามันเป็นพินาศขึ้นมาอย่างที่วัดบางวัด อาคารสถานที่ทรุดโทรม มีคนมาเช่าอยู่ จะไล่ไปก็ไม่ได้ ในที่สุดมันพังไปเอง พอพังไปเองแล้ว ก็เอาที่ตรงนั้นแหละตัดเป็นถนนใหญ่เข้าวัด เรียกว่าพินาศกลายเป็นพัฒนา ปัญหาให้เป็นบทเรียน อย่าไปร้องไห้หานมหก บางคนเจอปัญหาชีวิต ร้องไห้งอแงกับปัญหา แล้วก็มาถามตนเองว่าทำไมเราจะต้องเจออย่างนั้น เจออย่างนี้ ต้องนึกสิว่า ความยุ่งยาก ปัญหาทั้งหลาย เป็นเครื่องลับสมอง ลองปัญญา ทำให้เราแก่กล้าฉลาดขึ้นกว่าเดิม ปัญหาเป็นบทเรียน เราจะได้ไม่ทำมันอีก


เหมือน คนญี่ปุ่น แพ้สงครามโลก ครั้งที่ ๒ เอาดีทางรบไม่ได้ เป็นทหารสู้ใครไม่ได้แล้ว เพราะเขาคุม ญี่ปุ่นทำอย่างไร ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนพินาศให้เป็นพัฒนา เมื่อรบแล้วแพ้ก็หันมาทางการค้า เอาการค้าเป็นที่ตั้ง เปลี่ยนเป้าหมายใหม่เลย แล้วตอนนี้ญี่ปุ่นก็ไม่เป็นสองรองใครในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะว่าเรื่องการทหารนั้นไม่ต้องเป็นภาระ เขาไม่ให้ตั้ง ไม่ให้ทำอยู่แล้ว ก็เอาเงินทั้งหมดนี่มาทุ่มในการศึกษา ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเปลี่ยนชีวิตที่เป็นปัญหา ให้เป็นบทเรียนว่าเพราะเรามีความก้าวร้าว มีการรุกรานเขา ประเทศมันถึงเป็นอย่างนี้ ก็กลับจิตกลับใจซะ ทำอย่างอื่นในการส่งเสริมสันติภาพ คนญี่ปุ่นจึงมีภาษิตว่า ล้มไปแล้วอย่าลุกขึ้นมามือเปล่า อย่างน้อยให้มีฟางเส้นหนึ่งติดมือขึ้นมาก็ยังดี


ถ้า หากว่าเราผิดพลาดล้มเหลว เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น แล้วก็แก้ไข กลับจิต กลับใจ กลับกาย กลับตัว กลับหาง กลับหัว กลับชั่วให้เป็นดี ถือโอกาสเปลี่ยนชีวิต เอาความผิดพลาดเป็นบทเรียน เราก็จะดีขึ้น อย่างนี้แหละที่ต้องสอนตนเองในยามปีใหม่ ว่าปีใหม่ที่มาถึงนี้ อะไรที่ไม่ดีเป็นบทเรียน เราอย่าได้ทำซ้ำอีก ปิ้งปลาหมอ งอแล้วกลับ นี่คำขำ เจ็บแล้วจำใส่กระบาล นี่ขานไข ผิดแล้วแก้ กลับตัวเปลี่ยนหัวใจ จักมีใครมาวอน ไม่สอนตน “อตฺตนา โจทยตฺตานํ จงเตือนตนด้วยตนเอง” พระพุทธเจ้าได้สอนเราไว้อย่างนี้ เอามาเตือนตนในยามปีเก่าที่ผ่านไป รับปีใหม่ที่มาถึง ชีวิตเราก็จะดียิ่งขึ้น


ทั้งนี้ เพราะ เราไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ วางแผนว่าชีวิตใหม่ต้องดีกว่าเก่า ด้วยการตั้งเป้าหมายไว้ และปฏิบัติตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ปุราณํ นาภินนฺเทยฺย นเว ขนฺติมกุพฺพเย ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่” และ “วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา เกิดเป็นคนต้องพยายามร่ำไป จนกว่าจะได้บรรลุสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้” เป้าหมายที่ตั้งไว้ งดงามเมื่อยามสำเร็จ การบรรลุถึงเป้าหมาย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความอดทน อดทนต่อความลำบาก ความตรากตรำ และความเจ็บใจ ใช้อิทธิบาททั้งสี่ ก็คือ ฉันทะ ใจอยู่กับเป้าหมาย ตาดูดาว เท้าติดดิน วิริยะ ดำเนินการไปสู้เป้าหมายนั้น จิตตะ มีสมาธิไม่วอกแวก วิมังสา หาทางเลือกเพื่อที่จะไปสู่เป้าหมาย อย่างนี้ชีวิตของเราก็จะดีขึ้น พัฒนาขึ้นอย่างแน่นอน เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนพินาศให้เป็นพัฒนา เปลี่ยนปัญหาให้เป็นบทเรียน ชีวิตก็จะดีขึ้น มีความสุขขึ้น เจริญขึ้น


ขอ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่พรรณนามา เป็นดังดวงดาวที่ชี้ทางเดิน ให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และขอคุณพระศรีรัตนตรัย อำนวยพรให้ทุกท่านบรรลุถึงความปรารถนาที่ตั้งไว้โดยชอบประกอบด้วยธรรม ทุกประการ ตลอดปีใหม่ และตลอดไป เทอญ.