บทความวิชาการ
พุทธปรัชญาโยคาจาร : ประวัติ พัฒนาการ สารัตถธรรม และอิทธิพล
05 มี.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
19454

ผู้แต่ง :: พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ

พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ (2531)

ความนำ                      

              ปราชญ์แห่งมหายานยุคปัจจุบันคิดอยู่เสมอว่า สังสารวัฏมีรูปแบบและลักษณะหลากหลาย พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมไว้หลายระดับและหลากหลายรูปแบบ หลายประการไปตามโอกาสและเทศะ แสดงโดยพิสดารบ้าง โดยย่อบ้าง และบางกรณีก็ทรงนิ่งเฉยต่อปัญหาที่ไม่มีประโยชน์ จุดนี้เองทำให้เกิดสำนักพุทธปรัชญาต่าง ๆ หลังจากพุทธปรินิพพานแล้วหลายร้อยปี  ประเด็นที่ควรรู้ไว้เสมอก็คือ ปราชญ์ฝ่ายมหายานทุกสมัยไม่ค่อยจะถือเคร่งในคัมภีร์ดั้งเดิมเท่าไรนัก ในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา จึงไม่ได้ยึดถือคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทเป็นเกณฑ์ บางท่านถึงกับกล่าวว่า ท่านนาคารชุนก็ดี ท่านอสังคะก็ดีซึ่งถือว่าเป็นนักปรัชญาแนวหน้าของนักพุทธปรัชญาทั้งหลาย เป็นบุคคลที่พระพุทธเจ้าเองทรงทำนายไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น

                มีข้อความพระสูตรหลายที่ที่แสดงนัยไว้ และหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๓๐๐ ปี สำนักพุทธปรัชญาต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นตามที่คาดไว้ มีข้อกล่าวหามากมายว่า สำนักเหล่านี้เป็นพวกนอกรีต แต่นักปรัชญาประจำสำนักต่าง ๆ ก็กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้นอกรีต แต่พวกเขาคือผู้สืบทอดพุทธเจตนารมณ์โดยการประกาศพุทธธรรมออกสู่โลกกว้าง เน้นการประยุกต์หลักการและวิธีการเผยแผ่ให้เหมาะกับแต่ละสังคม ในขณะเดียวกันก็คงสารัตถะดั้งเดิมแห่งพุทธธรรมไว้อย่างเคร่งครัด

                จะเห็นได้ว่า  สำนักพุทธปรัชญาทั้ง ๔ คือ (๑)  ไวภาษิกะ (๒) เสาตรานติกะ (๓) จิตตมาตระ หรือวิชญาณวาท หรือโยคาจาร (๔) มาธยมิกะ ต่างก็มีความเห็นเหมือนกันเกี่ยวกับหลักสำคัญ ๔ ประการ คือ

                (๑) สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง     
                (๒) สาสวสังขาร(สังขารที่มีกิเลส)ทั้งปวงเป็นทุกข์
                (๓) ธรรมทั้งปวงเป็นศุนยะและเป็นอนัตตา
                (๔) นิพพานเป็นความสุขสงบอย่างยิ่ง

                หลัก ๔ ประการนี้ปรากฏอยู่แล้วในพระพุทธศาสนาดั้งเดิม แต่ประเด็นที่มีการแสดงทรรศนะเพิ่มเติม(ซึ่งความจริงก็ปรากฏอยู่แล้วในคัมภีร์เถวาทเช่นกัน) คือความคิดที่ว่า จิตคือผู้สร้างสรรค์ เป็นความคิดที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในสำนักทั้ง ๔ ดังกล่าวแล้วนั้น 

                ในส่วนของโยคาจาร  ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นแห่งปรัชญาโยคาจารเกิดจากหลักธรรมในนิกายเถรวาท มหาสังฆิกะ สรวาสติวาทิน และเสาตรานติกะ  ในเบื้องต้น สำนักนี้มีชื่อเรียกว่า “จิตตมาตระหรือวิชญาณวาท” (Thought-Only, or Mind-Only) บางตำนานบอกว่า โยคาจารเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๐๐ เป็นต้นมา และพัฒนาถึงขีดสูงสุดประมาณ พ.ศ. ๙๐๐  มีพื้นฐานทฤษฎีอยู่บนระบบการตีความเนื้อหาคัมภีร์ที่สำคัญ เช่น สันธินิรโมจนสูตรและลังกาวตารสูตร เป็นต้น โดยแบ่งปรากฏการณ์ทั้งหมดเป็น ๓ ประเภท คือ

                (๑) ปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องมาจากสิ่งอื่น (เป็นผลมาจากสิ่งอื่น, เกิดจากสิ่งอื่น)
                (๒) ปรากฏการณ์ที่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น (อิงอาศัยสิ่งอื่น)
                (๓) ปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสิ้นเชิง (ภาพมายา, เป็นภาพลวงตา)

                ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทรรศนะเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ของจิต และทรรศนะว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างจิตกับวัตถุ ซึ่งเรียกทรรศนะนี้ว่า “อทวิภาวะแห่งจิตและวัตถุ”(ผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรู้)  โยคาจารินสนับสนุนทรรศนะที่ว่า ไม่มีวัตถุภายนอกใดคงอยู่ในฐานะเป็นภาวะที่แยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก หรือแตกต่างไปจากจิต  ทรรศนะนี้เองถือเป็นระบบปรัชญาที่แตกต่างกันระหว่างโยคาจารกับมาธยมิกะ เหตุผลประการแรกสำหรับการปฏิเสธทฤษฎีภาวะภายนอก(จากจิต)ซึ่งพบได้ในวรรณคดีโยคาจารที่มีอยู่จำนวนมาก คือ

               (๑) การปฏิเสธความมีอยู่แห่งอนุภาคที่ปราศจากการแบ่งแยกโดยตรง(ไม่มีอนุภาคใดที่ดำรงอยู่โดยลำพัง) เมื่อไม่มีอนุภาคที่ดำรงอยู่โดยลำพัง อนุภาคที่ตรงกันข้ามก็มีไม่ได้   เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบของอนุภาคที่ดำรงอยู่ตามลำพัง จึงไม่มีสัณฐาน(รูปแบบ)

                (๒) การให้เหตุผลเกี่ยวกับความฝันและเงา(ภาพสะท้อน) ซึ่งท่านอสังคะได้แสดงไว้ว่า ไม่มีช้าง ม้าเป็นต้นอยู่ในความฝัน ยกเว้นตัวความฝันเอง (มันเป็นเพียงความฝัน)  ในทำนองเดียวกันก็ไม่มีสัณฐาน(รูปแบบ)อื่นนอกจากสัณฐานที่จิตรับรู้

                ต่อมา สำนัก“จิตตมาตระหรือวิชญาณวาท” นิยมเรียกว่า “โยคาจาร” เพราะพวกวิชญาณวาทินกำหนดจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติ และถือการปฏิบัติโยคะเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดนั้น

ไมเตรยนาถกับโยคาจาร

                ท่านไมเตรยนาถเป็นผู้ก่อตั้งสำนักโยคาจาร (หรือจิตตมาตระ,วิชญาณวาทิน) ประมาณเมื่อ พ.ศ. ๙๔๓ (ค.ศ.๔๐๐) แต่โยคาจารเริ่มปรากฏเค้าความคิดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๕๔๔ (ค.ศ.๑) โดยมีปรัชญาวิชญาณวาทกับปรัชญาตถตาของท่านอัศวโฆษะเป็นพื้นฐานสำคัญ

                ท่านไมเตรยนาถเป็นใคร ? ประวัติของนักปรัชญาผู้นี้น่าสนใจ  ศาสนิกมหายานและตันตระยุคหลังกล่าวว่า ทุกคำพูดของไมเตรยนาถเท่ากับเป็นพระพุทธดำรัสโดยตรง ตำนานจีนและทิเบตกล่าวว่า ไมเตรยนาถแต่งหนังสือไว้หลายเล่ม เช่น โยคาจารภูมิ, โยควิภาค, มหายานสูตราลังการะ, มาธยันตวิภาค, วัชรัจเฉทิกวยาขยะ, อภิสมยาลังการะ, ธรรมาธรรมตาวิภาค, และอุตตรตันตระ เป็นต้น

                เรื่องของท่านไมเตรยนาถยิ่งใหญ่ไม่แพ้เรื่องของท่านนาคารชุน บางท่านถึงกับกล่าวว่า ไมเตรยนาถไม่มีตัวตo แต่เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตคือพระศรีอริยเมตไตร ตามที่ปรากฏในคัมภ์เถรวาท  คัมภีร์ต่าง ๆ ที่ถือกันว่าท่านได้แต่งไว้นั้น เป็นงานที่ท่านอสังคะและวสุพันธุได้แต่งขั้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากท่านไมเตรยนาถ 

                หัชจิเม นากามูระกล่าวว่า

ปรัชญาศูนยตา ปฏิจจสมุปบาท ปรัชญาปติ และมัชฌิมาปฏิปทา ล้วนบรรจุอยู่ในปรัชญาวิชญาณวาท กล่าวถึงพื้นฐานแห่งความมีอยู่ของมนุษย์ โดยใช้คำต่าง  ๆ  เหล่านี้  คือ  ธรรม  วิชญาณ อาลยวิชญาณ ปรินามะ พีชะ วาสนา เป็นต้น

                ในการศึกษาพุทธปรัชญา เรานิยมที่จะศึกษาปรัชญามาธยมิกะแยกเป็นสำนักหนึ่งจากปรัชญาโยคาจาร  แม้จะมีการเปรียบเทียบโยงถึงกันบ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าวิธีการดังกล่าว จะถูกต้องหรือไม่ เพราะความจริงก็คือว่า ทั้งโยคาจารและมาธยมิกะรวมกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น  ประเด็นก็คือท่านอารยเทพเป็นพวกมาธยมิกะ แต่ท่านเป็นเอตทัคคะทางด้านวิชญาณวาท ไม่ใช่ทางศูนยวาท ในหนังสือ “จิตตวิสุทธิประกรณะ” คาถาที่ ๑๐ กล่าวว่า “จิตเป็นแหล่งที่แท้จริงแห่งสรรพกิริยา มีมาก่อนสรรพธรรม สำคัญที่สุดและรวดเร็วที่สุด ทุกคำพูดและการกระทำจะดีหรือไม่ดีล้วนเกิดขึ้นจากจิต” ข้อความนี้สอดคล้องกับที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทของเถรวาทที่ว่า

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จด้วยใจ ถ้าใจผ่องใส   จะพูดหรือทำ ผลที่ตามก็คือความสุข เหมือนเงาติดตามตน

                ทรรศนะของท่านไมเตรยนาถยังมีอิทธิพลไปถึงแนวความคิดของตันตระในยุคต่อมา  งานเขียนของโยคาจาร  มาธยมิกะ และตันตระจึงมีลักษณะที่เชื่อมโยงถึงกันเสมอ “หลักการและวิธีปฏิบัติพุทธศาสนาแบบตันตระ มีโยคาจารและมาธยมิกะเป็นพื้นฐาน”

 อสังคะกับโยคาจาร

                  อสังคะน่าจะมีชีวิตอยู่ในยุคประมาณ พ.ศ. ๙๙๓-๑๐๙๓ (ค.ศ.๔๕๐-๕๕๐) รายละเอียดได้สูญหายไร้ร่องรอย แต่ไปปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของจีน อี้จิง(Hui-ying)ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านฟาเหียน(Fa-tsang)เป็นคนกล่าวถึงเรื่องนี้ ประมาณ พ.ศ. ๑๒๔๓ - ๑๓๔๓ (ค.ศ.๗๐๐-๘๐๐) เรารู้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของท่านอสังคะได้จากงานของนักประวัติศาสตร์ศาสนาที่มีชื่อเสียง ๓ ท่าน คือ (๑) ตารนาถ (๒) บุ-สตัน(Bu-ston) และ (๓) ปรมารถ 

                มารดาของท่านอสังคะชื่อ “ประสันนศีลา” หรือ “ประกาศศีลา” ซึ่งในชาติก่อนเคยเป็นชายและบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มีศรัทธามั่นคงต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แต่เพราะได้ทำร้ายจิตใจของพระภิกษุคู่โต้วาทีรูปหนึ่ง ชาติต่อมาจึงเกิดเป็นหญิง และได้เป็นมารดาของท่านอสังคะ มีข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจว่า “ในเบื้องต้น ประสันนศีลาสมรสกับกษัตริย์ ให้กำเนิดบุตรชายหนึ่งคนคือ อสังคะ ต่อมา ได้สมรสกับพราหมณ์ตระกูลเกาศิกะ ให้กำเนิดบุตรชาย ๒ คน คือ วสุพันธุและวิรัญจิวัตสะ” แต่นี่เป็นเพียงประวัติส่วนหนึ่ง ยังมีรายละเอียดที่ทำให้สันนิษฐานได้อีกหลายนัย

                ท่านอสังคะเป็นบุคคลที่รับมรดกทางความคิดมาจากท่านไมเตรยนาถมากที่สุด เป็นผู้เขียนอรรถกถาอธิบายงานของไมเตรยนาถ สร้างสรรค์งานเขียนโดยได้รับแรงบันดาลใจจากท่านไมเตรยนาถ  ตำนานทิเบตบอกว่า  “งานเขียนใดก็ตามที่บอกว่าเป็นของท่านไมเตรย นถา ความจริงแล้วเป็นงานที่ท่านอสังคะได้แต่งขึ้นทั้งนั้น”  อสังคะคือผู้ที่อธิบายปรัชญาโยคาจารอย่างเป็นระบบ  งานเขียนที่สำคัญของท่านอสังคะ เช่น  สัปตภูมิสูตร, มหายานสูตร, อุปเทศ, มหายานสัมปริครหศาสตร์, โยคาจารภูมิศาสตร์,  และมหายานสูตราลังการ   รวมทั้งงานอรรถกถาทิเบตที่เรียกว่า “ตันจู”* บางส่วนก็เป็นงานของท่านอสังคะ

                ชื่อของไมเตรยนาถและอสังคะปรากฏขึ้นพร้อมกับคำว่า (๑) กามรหัสยลัทธิ (๒) สหัชกาย (๓) รหัสยภาษา ซึ่งทั้งหมดเป็นจารีตประเพณีแบบตันตระ และมีข้อความยืนยันว่า อสังคะเป็นบุคคลลึกลับ มีพฤติกรรมลึกลับยากที่จะหยั่งถึง เป็นผู้เชี่ยวชาญในหลักแห่งการสร้างพลังอันเกิดจากสมาธิ ในงานเขียนของท่านตารนาถกล่าวถึงท่านอสังคะตอนหนึ่งว่า “ทรรศนะของนาคารชุนาจารย์เหมือนกับทรรศนะของท่านอสังคะ”

                ท่านอสังคะไม่เพียงสร้างสรรค์สำนักโยคาจารให้เป็นปึกแผ่นเท่านั้น แต่ยังชักชวนน้องชายคือวสุพันธุให้ละจากสำนักเดิมคือไวภาษิกะหันมาสนับสนุนโยคาจาร สร้างศิษย์คนสำคัญคือ “จันทรโกมิน” ที่คอยปกป้องสำนักโยคาจารสู้กับสำนักมาธยมิกะ จันทรโกมินกล่าวอยู่เสมอว่า “ศาสตร์ของนาคารชุนาจารย์เป็นยาแก้โรคสำหรับคนหนึ่ง แต่เป็นยาพิษสำหรับอีกคนหนึ่ง ศาสตร์ของอชิตะและอารยอสังคะเป็นน้ำทิพย์สำหรับทุกคน”

 

 วสุพันธุกับโยคาจาร

                   ปรัชญาโยคาจารได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากก็เพราะท่านวสุพันธุเป็นกำลังสำคัญ วสุพันธุเป็นน้องชายของท่านอสังคะ ซึ่งเดิมเป็นปราชญ์แห่งสรวาสติวาทินและเสาตรานติกะ ต่อมาได้รับคำชี้แนะจากอสังคะผู้เป็นพี่ชาย เกิดความเลื่อมใสในหลักการแห่งมหายานโดยเฉพาะสำนักโยคาจาร และได้แต่งคัมภีร์จำนวนมากเพื่อประกาศปรัชญาโยคาจาร คัมภีร์ที่สำคัญ คือ วิชญาณประติมาตราตรีทศศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ปรัชญาโยคาจารในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่

               วสุพันธุเป็นปราชญ์ในยุคประมาณ พ.ศ. ๘๕๙-๙๔๓ เกิดที่ปุรุสปุระ (ปัจจุบันคือเปษวาร์-Peshawar) เมืองหลวงแห่งแคว้นคันธาระ อาณาจักรของพระเจ้ากนิษกะ* บิดาเป็นพราหมณ์ตระกูลเกาศิกะ(เกาศิกโคตร)  ประจำอยู่ในราชสำนัก  เชี่ยวชาญพระเวท   มารดาชื่อ วิริญจี (Virinci)*

                วสุพันธุเคยไปศึกษาที่แคชเมียร์ ณ สำนักสังฆภัทระเป็นเวลา ๔ ปี และเดินทางกลับปุรุษปุระ ท่านเป็นคนที่ชอบแสวงหาความรู้ เดินทางจาริกไปทั่วเพื่อเสาะหาวิชาการ เคยไปพำนักอยู่ในสาคละ และอโยธยา ในเบื้องต้น วสุพันธุไม่ค่อยศรัทธาในปรัชญาโยคาจารนัก อาจจะเห็นว่าเป็นสำนักที่เน้นคัมภีร์มากเกินไป  ครั้งหนึ่ง  ท่านยังกล่าวถึงอสังคะผู้พี่ชายแบบทีเล่นทีจริงว่า  “ท่านอสังคะเอ๋ย ขี่ม้าเที่ยวตระเวนในป่า ปฏิบัติกรรมฐาน ๑๒ ปี  แต่ไม่ได้อะไรมาเลย ท่านกลับมาสร้างระบบที่ยุ่งยากซับซ้อน ถึงกับต้องใช้ช้างขนกลับบ้าน”  เมื่ออสังคะได้ข่าวว่าวสุพันธุผู้น้องกล่าวเยาะหยันอย่างนี้ จึงคิดวางแผนโน้มน้าวให้วสุพันธุหันมานับถือมหายาน(โยคาจาร) ส่งสานุศิษย์และคัมภีร์ไปให้วสุพันธุ และให้สาธยาย “อักษยมตินิทรเทศสูตรและทศภูมิกสูตร” ให้วสุพันธุฟัง   ทำให้วสุพันธุหันมาศรัทธาปรัชญาโยคาจาร  และเดินทางไปเยี่ยม อสังคะผู้พี่ชาย ณ ปุรุษปุระ

                วสุพันธุได้เริ่มศึกษาคัมภีร์มหายานสำนักโยคาจาร และแต่งอรรถกถาอธิบายอักษยมตินิรเทศสูตรและทศภูมิกสูตร นำหลักการสำคัญของโยคาจารที่อสังคะได้บรรจุไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ ออกมาเผยแพร่แก่นักปราชญ์ในยุคนั้น ทำหน้าที่สืบสานเจตนารมณ์ของอสังคะผู้เป็นพี่ชาย โต้แย้งทฤษฎีสุดโต่งของสำนักสรวาสติวาทินและศูนยวาทที่ว่าด้วยสัจภาวะสุดโต่งแห่งจิตและวัตถุ และความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับวัตถุ

สรรพสิ่งไม่มีอยู่จริง ยกเว้นจิต  วัตถุภายนอกไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงภาพปรากฏเท่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีสายตาพร่ามัวมองเห็นเส้นผมที่ลอยพันกันอยู่  ในอากาศ      

                ท่านวสุพันธุได้ถึงมรณกรรม ประมาณปี พ.ศ. ๙๓๙ เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี ณ เมือง อโยธยา อินเดีย วสุพันธุคือบิดาแห่งสำนักโยคาจาร เพราะได้นำหลักการทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิชญาณ(วิญญาณ)มาจัดระบบสอนในเชิงปรัชญา และอธิบายเชื่อมโยงกับทฤษฎีจิตนิยมแบบต่าง ๆ


         
สารัตถธรรมแห่งโยคาจาร

               (๑)  คัมภีร์สำคัญ

                โยคาจารมีคัมภีร์สำคัญ   เรียกว่าสูตรทั้ง ๖ ประกอบด้วย  (๑) อวตังสกสูตร (๒) สันธินิรโมจนวยูหสูตร (๓) ตถาคตวิสภวคุณสูตร  (๔) อภิธรรมสูตร (๕)  ลังกาวตารสูตร (๖) ฆนวยูหสูตร

                นอกจากนี้ยังมีศาสตร์ ๑๑ คือ (๑) โยคาจารภูมิศาสตร์ (๒) มัธยานตวิภังคศาสตร์ (๓)อารยวาจาปกรณศาสตร์ (๔) มหายานสัมปริครหศาสตร์ (๕) อาลัมพนปริกษศาสตร์ (๖)  อภิธรรมสังยุกตสังคีติศาสตร์    (๗)  วีศติกวิชญาณมาตราศาสตร์    (๘)  ทศภูมิศาสตร์ (๙) มหายานอลังการศาสตร์ (๑๐) ประมาณสมุจจัย (๑๑) โยควิภังคศาสตร์ 

                     (๒)  ลังกาวตารสูตร

                   ลังกาวตารสูตรมีชื่อเต็มว่า “อารยะสัทธรรมลังกาวตาโรนามหายานสูตร” เป็น ๑ ใน ๙ คัมภีร์สำคัญของมหายาน เรียกว่า “นวธรรม” หรือบางทีก็เรียกว่า “เพชรทั้ง ๙“ เขียนขึ้นในประเทศอินเดีย เป็นภาษาสันสกฤต ประมาณ พ.ศ.๘๙๓ (ค.ศ.๓๕๐)  มีใจความที่ว่าด้วยเรื่องคำสอนมหายานเกือบจะทั้งหมด เป็นแนวปรัชญาจิตนิยมเชิงอัตวิสัย (Subjective Idealism)* ซึ่งมีในโพธิญาณของพระพุทธเจ้า หลักแห่งศูนยตาและอาลยวิชญาณเป็นพื้นฐาน ลังกาวตารสูตรนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน

                บางตำนานบอกว่า “เนื้อหาในคัมภีร์นี้ ว่าด้วยหลักคำสอนดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในโอกาสพิเศษที่พระพุทธองค์เสด็จไปเกาะลังกา เนื้อหาเป็นบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับอุบาสกราวนะ (Ravana-ทศกัณฐ์) และพระโพธิสัตว์มหามติ (Mahamati, or Manjusri)” ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ (ค.ศ. ๑๙๐๐) สรัต จันทระ ทัส, สติส จันทระ วิทยาภูสนะ ได้รวบรวมต้นฉบับจัดพิมพ์ 

                ดี.ที. ซูซูกิทำการศึกษาวิจัยมีลักษณะคล้ายกับอรรถกถาอธิบายลังกาวตารสูตร ชื่อหนังสือ “Studies in Lankavatara Sutra” ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ.๑๙๓๐)และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ.๑๙๓๒) นอกจากนี้ ยังมีนักปราชญ์อีกหลายท่านได้มีส่วนเกี่ยวกับคัมภีร์เล่มนี้ ทั้งโดยการแปลเป็นภาษาอังกฤษ การศึกษาวิจัย แต่งหนังสือในลักษณะอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาอธิบายลังกาวตารสูตร

                   (๓)  ทฤษฎีวิชญาณ

                  ทฤษฎีวิชญาณเป็นทฤษฎีหนึ่งที่เป็นใจความสำคัญในลังกาวตารสูตร  ต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า โยคาจารเป็นสำนักมหายานที่เจริญรุ่งเรืองควบคู่มากับมาธยมิกะ  กระแสหลักของมาธยมิกะคือปฏิเสธอความมีอยู่จริงแห่งโลกและปรากฏการณ์ทุกอย่าง  โยคาจารก็เห็นด้วยบางส่วน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะบอกว่า “จิตหรือวิชญาณไม่เป็นจริง ไม่มีอยู่จริง”  เพราะวิชญาณเป็นความจริงสูงสุด เป็นความรู้แจ้งบริสุทธิ์ (Pure Conscious-Vijnaptimatra) วัตถุภายนอกทั้งหมดเป็นการแสดงตัวออกมาของวิชญาณ

                เวลาที่เรายืนตรงหน้ากระจกเงา  เงาหน้าจะปรากฏขึ้นในกระจกได้ก็ต่อเมื่อจิตรับรู้  วัตถุ(ที่ถูกรู้)และจิตตัวรับรู้เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน  เพราะฉะนั้น สรรพสิ่งที่ปรากฏจึงเป็นเพียงภาพเลียนแบบ(Duplication) หรือผลแห่งการกระตุ้นรอยประทับจิตซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นฐานแห่งวิชญาณที่เก็บไว้ในก้นบึ้งจากห้วงเวลาที่ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด  สำนักโยคาจารแสดงทฤษฎีวิชญาณ ๘ กลุ่ม คือ (๑)จักษุวิชญาณ (๒)โสตวิชญาณ (๓)ฆานวิชญาณ (๔)ชิวหาวิชญาณ (๕)กายวิชญาณ (๖)มโนวิชญาณ (๗)อาลยวิชญาณ และ(๘)กลิษฏมโนวิชญาณ  ส่วนมาธยมิกะยอมรับทฤษฎีวิชญาณ ๖ เท่านั้น

 

                  (๔)  ทฤษฎีอาลยวิชญาณและกลิษฏมโนวิชญาณ

                  ทฤษฎีอภิปรัชญาที่สำคัญของโยคาจารคือทฤษฎีเรื่อง “อาลยวิชญาณ”(บาลี-อาลยวิญญาณ) โยคาจารแบ่งวิชญาณออกเป็น ๘ ประเภท คือ (๑)จักขุวิชญาณ (๒)โสตวิชญาณ (๓)ฆานวิชญาณ (๔)ชิวหาวิชญาณ (๕)กายวิชญาณ (๖)มโนวิชญาณ (๗)กลิษฏมโนวิชญาณ (๘)อาลยวิชญาณหรืออาลยวิญญาณ (ต่อไปจะใช้คำว่า อาลยวิชญาณ) วิชญาณ ๖ ประเภทต้นมีนัยเหมือนกับเถรวาท แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ กลิษฏมโนวิชญาณ และอาลยวิชญาณ

                กลิษฏมโนวิชญาณ คือวิชญาณที่ถูกมโนวิชญาณเข้ายึดครองแล้วเกิดอุปาทานว่า เป็นตัวของตัวเอง จึงมีความอาลัย มีภาวะเป็นอัพยากฤต เกิดดับสืบเนื่องกันเป็นสันตติมาตั้งแต่กาลอันไม่ปรากฏ มีหน้าที่เก็บก่อ คือเก็บพีชะของสิ่งทั้งปวงไว้ มโนวิชญาณเข้ายึดครองกลิษฏมโนวิชญาณแล้วเกิด “อาลยวิชญาณ” จึงสรุปได้ว่าอาลยวิชญาณนี้เป็นผลิตผลของวิชญาณทั้ง ๒ ดังกล่าว แต่คำถามก็คือว่า เพราะเหตุไร ทั้งที่เป็นผลิตผลของวิชญาณทั้ง ๒ อาลยวิชญาณจึงมีอิทธิพลมากกว่า ? อาลยวิชญาณเป็นผลจากการตกผลึกของมวลประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามากระแสการรับรู้ในแต่ละวัน เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจึงก่อผลเป็นพลังมหาศาล มีสถานะและบทบาทเหมือนกับวิญญาณสากลของเทวนิยม

 

                    (๕)  ทฤษฎีพีชะ    

                    พวกเสาตรานติกะได้นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับกระแสจิตมาพัฒนาทฤษฎี “พีชะ”(Seed, Germ)ขึ้นมา แต่จุดเริ่มต้นแห่งทฤษฎีพีชะจริง ๆ อยู่ที่ทฤษฎีของพระพุทธศาสนาที่ว่า “สรรพสิ่งไม่เที่ยง” ซึ่งจะลบล้างความเป็นไปได้ของความสืบเนื่องแห่งเหตุผลและมูลฐานที่แท้จริงของเหตุการณ์ และจากจุดนี้เองจะทำให้หลักการพัฒนาจิตใจดูไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ มีความน่าขัน และกลวง เพราะในเมื่อสรรพสิ่งไม่เที่ยง ก็ไม่รู้ว่าจะพยายามพัฒนาตัวเองไปทำไม เพราะพัฒนาไปก็เปลี่ยนแปลงไปอื่นอยู่นั่นเอง  เพื่อแก้ปัญหานี้ พุทธปรัชญาสำนักต่าง ๆ จึงเสนอแนวทางแตกต่างกันไป พอสรุปได้ดังนี้

 

                   แนวทางที่ ๑ ทฤษฎีปราปติ (Prapti Theory)

                   เพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากที่เกิดจากการแปลความหมาย “อนิจจตา”เชิงปรัชญา สรวาสติวาทินจึงกำหนดอภิปรัชญาขึ้นมาอีกลักษณะหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าของกับสิ่งที่ถูกเป็นเจ้าของ-ปราปติ และการปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสิ่งที่ถูกเป็นเจ้าของ-อปราปติ

                สรวาสติวาทินเป็นพวกสัจนิยมเชิงรูปแบบ(Typical Realists) ชอบที่จะทำสรรพสิ่งให้มีแก่นสารขึ้นมา แต่สรวาสติวาทินก็เหมือนกับพวกสัจนิยมทั่วไป ที่มักจะถูกชี้นำโดยหลักภาษาศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็เหมือนชาวพุทธทั่วไปที่ค้นหาความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวแห่งกระแสจิต นั่นคือการบรรลุธรรม ซึ่งจะต้องได้รับธรรมอย่างหนึ่งและละธรรมอีกอย่างหนึ่ง  สรวาสติวาทินกำหนดทฤษฎีใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ทฤษฎีปราปติและอปราปติ เพื่ออธิบายหลักการพัฒนาจิตให้มีความหมายมากขึ้น

 

                    แนวทางที่ ๒ ทฤษฎีพีชะ (Bija Theory)

                    พวกเสาตรานติกะคัดค้านทฤษฎี “ปราปติ” เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้ต้องได้สิ่งนั้น ละสิ่งนี้ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด  เสาตรานติกะจึงสร้างแนวคิดใหม่ขึ้นมา ซึ่งสืบเนื่องมาจากเรื่องกระแสจิต เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากทฤษฎี “อนิจจตา” ดังกล่าว โดยสร้างทฤษฎี “พีชะ”ขึ้นมาแทนที่ทฤษฎี “ปราปติ” คือแทนที่จะกำหนดหลักการใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดูเหมือนกันจะขัดแย้งกันเอง(Paradoxical Theory) เสาตรานติกะก็สอนเรื่องมูลฐานหรือสภาพแห่งความเปลี่ยนแปลงเรื่อยในกระแสจิต แต่ละขณะจิตจะแสดงให้เห็นสภาพใหม่เรื่อยไปของมูลฐาน และมูลฐานนี้จะคงสภาพอยู่อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือความสืบเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแห่งกระแสจิต  ทฤษฎีพีชะเพียงแต่จะทำให้ตระหนักเห็นศักยภาพในธรรมแต่ละอย่างซึ่งแสดงตัวเองออกมาในรูปแบบต่าง ๆ

                คำว่า “พีชะ” หมายถึงแก่นสารแห่งอวัยวะนาม-รูป  เสาตรานติกะสร้างทฤษฎีนี้ขึ้นมา มุ่งที่จะแก้ปัญหาความสืบเนื่องแห่งผู้กระทำ(ผู้ก่อการ-Agent)ในกระบวนกรรมและผลของกรรม  การรับรู้ ความหมายรู้ และความหลุดพ้น หมายถึงว่า แม้รูปธรรมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ยังมีธาตุอย่างหนึ่งที่เป็นนามธรรมยังคงอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง มีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดเวลา

 

  ทฤษฎี “พีชะ” ในเถรวาทและโยคาจาร

                 เถรวาทกล่าวถึงพีชะไว้ว่า “พระขีณาสพสิ้นภพเก่าแล้ว การเกิดใหม่ไม่มี ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพีชะสิ้นแล้ว” คำว่า “พีชะ” ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิจิต

                คำว่า “พีชะ” หมายถึงอัตตภาพในภพต่าง ๆ นั่นเอง ดังที่คัมภีร์เถรวาทกล่าวถึงโสดาบันประเภทหนึ่งว่า “เอกพิชี” ซึ่งหมายเอาผู้มีพืชคืออัตตภาพอันเดียว คือเกิดอีกครั้งเดียวก็จักบรรลุอรหัต ดังบาลี “ยสฺส โสตาปนฺนสฺส  เอกํเยว  ขนฺธพีชํ  อตฺถิ,  เอกํ  อตฺตภาวคฺคหณํ, โส เอกพีชี นาม”

                โสดาบันอีก  ๒  ประเภท   คือ โกลังโกละ-ผู้เกิดอีกประมาณ ๒-๓ ครั้ง    และสัตตักขัตตุปรมะ-ผู้เกิดอีกประมาณอย่างมากไม่เกิน ๗ ครั้ง อีกนัยหนึ่ง คำว่า “พีชะ” หมายถึงเชื้อแห่งภพ ดังบาลีว่า “เอกพีชีติ เอกสฺเสว ภวสฺส พีชํ เอตสฺส อตฺถีติ เอกพีชี” หมายถึงผู้มีเชื้อแห่งภพ(การเกิด)อีกครั้งเดียว

                โยคาจารมีทรรศนะเกี่ยวกับ “พีชะ” อย่างไร ?

                พีชะ คือธรรมชาติที่เป็นเหตุ เป็นสิ่งที่มีพลานุภาพมาก ซึ่งแฝงอยู่ในอาลยวิชญาณ พร้อมที่จะสำแดงอานุภาพออกมาเมื่อสภาพแวดล้อมอำนวย พีชะเป็นพลังที่ทำให้มีการสร้างสรรพสิ่ง เป็นปฐมเหตุแห่งสรรพสิ่ง มีความหลากหลายไปตามสรรพสิ่ง แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ(๑)กลุ่มกุศล(๒)กลุ่มอกุศล(๓)กลุ่มอัพยากฤต

                พีชะเป็นขณิกะ ขณะต้นเป็นอนันตรปัจจัยแก่ขณะหลัง มีสันตติต่อกันเรื่อยไป

                โยคาจารถือว่า สรรพสิ่งปรากฏการณ์เกิดขึ้นเพราะการตื่นขึ้นแห่งรอยประทับจิต(พีชะ) ทุกปรากฏการณ์เกิดขึ้นเพราะการกระตุ้นรอยประทับให้แสดงตัวออกมา  พีชะอยู่ใน ๒ สถานะ คือ (๑)เป็นแบบหรือเป็นแม่พิมพ์ของสรรพสิ่ง (๒)เป็นพลังกระตุ้นให้อาลยวิชญาณสร้างสรรค์สรรพสิ่ง  วิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้ว จะเห็นว่า พีชะในโยคาจารไม่แตกต่างจากพีชะในเถรวาทเลย แต่เถรวาทนิยมใช้พีชะใน ๒ ความหมาย คือ (๑)อัตตภาพที่เกิดปรากฏในภพแล้วภพเล่า (๒)เชื้อที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด ส่วนโยคาจารใช้พีชะในความหมายเดียวคือ เชื้อหรือพลังที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด ประเด็นที่ดูเหมือนว่าจะต่างกันอยู่บ้าง คือ โยคาจารได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับ “พีชะ” ควบคู่ไปกับเรื่อง “อาลยวิชญาณ” โดยกล่าวว่า พีชะคือพลังที่แฝงอยู่ในอาลยวิชญาณ

 

โยคาจารกับเสาตรานติกะ

                    (๑)  โยคาจารกับทฤษฎีมายา

                    จิตนิยมสุดโต่งถือว่า สิ่งที่จริงคือสิ่งที่จิตรับรู้ เป็นด้าน(Aspect)แห่งความรู้เชิงจิตวิสัย สิ่งที่ไม่จริงคือสิ่งที่จิตไม่ได้รับรู้ เป็นด้านแห่งความรู้เชิงวัตถุวิสัย ภาพมายาย่อมสร้างตัวเองขึ้นมาภายใต้โฉมหน้าแห่งวัตถุภายนอก สัจภาวะเป็นเพียงความคิดเท่านั้น ภาพมายาเกิดจากการที่จิตสร้างตัวเองขึ้นมาซึ่งอยู่แยกจากตัวจิต เช่น กรณีที่สำคัญผิดคิดว่าเชือกเป็นงู  ด้านที่จิตรับรู้(โดยสำคัญผิด)คิดว่าเป็นงูนั้น เป็นสิ่งจริงแท้ ส่วนเชือก(ซึ่งเป็นของจริง) เป็นภาพมายา เพราะเมื่อเราตัดสินว่า “นี้เป็นงู” คำว่า “นี้” ดูเหมือนจะบ่งถึงวัตถุภายนอก ส่วนคำว่า “งู” เป็นสิ่งที่จิตสร้างสรรค์ขึ้นมา สรุปก็คือว่า

               (ก) ความคิดว่า “เป็นงู” เป็นสิ่งจริงแท้ เพราะจิตรับรู้ปรุงแต่งว่าเป็นงู
               (ข) เชือกเป็นภาพมายา เพราะจิตไม่ได้คิดว่าเป็นเชือก

 

                    (๒) เสาตรานติกะกับทฤษฎีมายา

                    สัจนิยมเชิงพุทธถือว่า สิ่งที่จริงแท้ย่อมเป็นอิสระจากผู้รับรู้ ความรู้ไม่ได้สร้างหรือทำลายเนื้อหาของผู้รับรู้  การปฏิบัติ กระบวนการแห่งความรู้ที่แท้จริง เป็นเพียงการเปิดเผยวัตถุซึ่งดำรงอยู่ตามสภาพของมัน  เนื้อหาจะเป็นตัวยืนยันความมีอยู่แห่งวัตถุ ไม่ว่ามันจะถูกรับรู้หรือไม่ก็ตาม

                เพราะฉะนั้น ลักษณะเฉพาะของวัตถุ(สวลักษณะ)จึงเป็นอิสระจากการปรุงแต่งของจิตมนุษย์ ภาพมายาเป็นการคิดปรุงแต่งของจิต ตรงกันข้ามกับสิ่งที่จริงแท้ เช่น บุคคลเดินไปในที่มืด เหยียบเชือกคิดว่าเป็นงู

                (ก) ความคิดว่า “เป็นงู” เป็นภาพมายา
                (ข) เชือกเป็นสิ่งจริงแท้ (แม้จิตไม่คิดว่าเป็นเชือกก็ตาม)

                อีกประการหนึ่ง (ภาพ)งูซึ่งเป็นจิตวิสัยนั้น เป็นสิ่งไม่จริงแท้อย่างสิ้นเชิง เพราะในที่สุดแล้ว ภาพนั้นจะหายไป สาระสำคัญของ(ภาพ)งูก็คือว่า แม้มันจะเป็นจิตวิสัย แต่ปรากฏเหมือนเป็นวัตถุวิสัย เพราะอาศัยเชือกซึ่งเป็นวัตถุ(จริง)เป็นมูลฐานทำให้ปรากฏ

 

                    (๓)  ความต่างกันระหว่างโยคาจารกับเสาตรานติกะ

                   โยคาจารเป็นจิตนิยม ในขณะที่เสาตรานติกะเป็นสัจนิยม แต่ทั้ง ๒ สำนักจะเป็นพวกสุดโต่งอย่างที่เข้าใจกันหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง โยคาจารกับเสาตรานติกะเห็นแย้งกันเกี่ยวกับภาพมายา  สิ่งที่จิตนิยมบอกว่า “จริง” สัจนิยมกลับบอกว่า “ไม่จริง” และสิ่งที่จิตนิยมบอกว่า “ไม่จริง” สัจนิยมกลับบอกว่า “จริง”

                สำหรับจิตนิยม ข้อตัดสินที่ว่า “นี้, นั้น, โน้น” ไม่จริงทั้งนั้น ส่วนสิ่งที่ถูกตัดสินว่า “เป็น A, B, C, ...” เป็นสิ่งจริงแท้ เช่นคำว่า “(เชือก)นี้เป็นงู”  คำว่า “นี้” ไม่จริง แต่คำว่า “งู” เป็นสิ่งจริงแท้ เพราะเป็นสิ่งที่จิตคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้น ในขณะที่เชือกเป็นวัตถุนั้นไม่จริง ส่วนพวกสัจนิยมเห็นตรงกันข้ามจากนี้

 

“อาลยวิชญาณ” กับ “ภวังคจิต”

                 คำว่า “ภวังคจิต” ปรากฏในคัมภีร์เถรวาท เป็นชื่อเรียกจิตขณะหนึ่งในจำนวน ๑๗ ขณะ  ภวังคจิตคือปกติจิต หรือ ปกติมโน มีธรรมชาติเป็นอัพยกฤต คือไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป หรือไม่เป็นผลของอะไร แต่มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นองค์ของภพชาติ หรือเป็นที่เก็บสั่งสมนิสัยสันดาน  เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Subconscious Mind”

                คัมภีร์ปปัญจสูทนีของเถรวาท กล่าวถึงภวังคจิตว่า “มโนทฺวาเร  ปน  อชฺฌตฺติโก  มโน นาม ภวงฺคจิตฺตํ- ภวังคจิตก็คือมนะ(ใจ)ภายในมโนทวาร”

                คัมภีร์ธรรมบทของเถรวาทกล่าวถึงภวังคจิตว่า “ปกติมโน  หิ  ภวงฺคจิตฺตํ- ใจปกตินั่นเอง คือ ภวังคจิต”   และกล่าวว่า “ภวังคจิตมีลักษณะปภัสสรคือขาว(ปัณฑร)บริสุทธิ์(ปริสุทธะ) แต่ถูกอุปกิเลสที่จรมาทำให้เศร้าหมอง”

                คัมภีร์มังคลัตถทีปนีของเถรวาทกล่าวว่า    “ยทิปิ    อญฺญตฺถ  อสงฺเขยฺยํ ภวงฺคจิตฺตํ   นิรนฺตรํ   อุปฺปชฺชติ    ปสาทฆฏนาวชฺชนุปฺปาทานมฺปิ    อนฺตเร     เทฺวเอว  ภวงฺคจิตฺตานิ อุปฺปชฺชนฺติ -ภวังคจิตแม้จะเกิดติตต่อกันนับไม่ถ้วน แต่ในขณะจิตรับอารมณ์ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเพียง ๒ ขณะ(ดวง)เท่านั้น” หมายความว่า ภวังคจิตมีเพียง ๒ ขณะ(ดวง)เท่านั้น คือ (๑)ขณะก่อนรับอารมณ์ (๒)ขณะที่รับอารมณ์เสร็จแล้ว

                กล่าวโดยทั่วไป ภวังคจิตเก็บขังความจัดเจนของเราที่ล่วงมาแล้วและปล่อยลงสู่วิถีจิตปรากฏออกมาเป็นความฝันในเวลาหลับ หรือแม้พฤติกรรมประจำวันก็มีภวังคจิตเป็นตัวหนุนสำคัญ  สภาวะแห่งภวังคจิตจะปรากฏเมื่อ (๑)ช่วงรอยต่อก่อนหลับ (๒)ช่วงรอยต่อก่อนตื่น (๓)ระหว่างเข้าถึงอัปปนาสมาธิ (๔)และในเวลาหลับสนิทไม่ฝัน

                ถามว่า อะไรคือความเหมือนและความต่างระหว่าง “อาลยวิชญาณกับภวังคจิต” ? พิจารณาจากคุณสมบัติแล้ว ทั้ง ๒ ประการจะไม่แตกต่างกัน ที่แตกต่างกันคือบทบาทและหน้าที่  โยคาจารยกฐานะของอาลยวิชญาณให้อยู่เหนือสรรพสิ่ง อยู่ในฐานะเป็นผู้สร้าง เหมือนกับจะบอกว่า เดิมทีเดียวในโลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากอาลยวิชญาณ ภายหลังเกิดมีปรากฏการณ์ขึ้นเพราะถูกอาลยวิชญาณสร้างขึ้นมา ในขณะที่เถรวาทบอกว่านามและรูปเป็นของคู่กันอยู่แล้ว เพราะมีนามจึงมีรูป เพราะมีรูปจึงมีนาม  ภวังคจิตแม้จะเป็นจิตเดิมที่คงสภาพอยู่อย่างนั้น แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้สร้าง แต่อยู่ในฐานะเป็น “หลัก” ที่เมื่อมีอารมณ์มากระทบเข้าก็จะออกไปทำหน้าที่ ในขณะที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ก็ไม่ได้เรียกว่า “ภวังคจิต” แต่เรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามบทบาทและหน้าที่ที่กระทำในขณะนั้น ๆ


อทวิภาวะ

                จุดหมายสูงสุดของโยคาจารคือ ความรู้แจ้งอทวิภาวะแห่งวัตถุกับจิต การที่จะดำเนินไปสู่เป้าหมายนี้ก็โดยปฏิบัติกรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันก็ปลุกโพธิจิตและพยายามให้กรุณาแสดงตัวออกมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง ดำเนินไปตามแนวทางที่เหมาะสมและรู้แจ้งในที่สุด

                สัจภาวะเป็นสภาวะที่ทั้งสงบนิ่งและเคลื่อนไหว เป็นพลังที่เกิดจากการรวมกันระหว่างปรัชญาและอุบาย(ปรัชญา+กรุณา) ปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นสิ่งสูงสุด ๒ ประการ คือ (๑)อันติมจิต (๒)ปรัชญาและอุบายที่รวมกันอยู่อย่างแบ่งแยกไม่ได้ 

                   จักรวาลทั้งสิ้นแบ่งเป็นองค์ประกอบ ๒ ส่วนที่เสริมกันและกัน คือ*

                (๑)  คัพภธาตุ  มีลักษณะเป็นนามธรรม สถิตนิ่งอยู่ภายใน
                (๒)  วัชรธาตุ   มีลักษณะเป็นรูปธรรม เคลื่อนไหว

                หลักปฏิบัติของโยคาจารเน้นความกลมกลืนกันระหว่างสรรพสิ่งที่ตรงกันข้าม ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้ส่งอิทธิพลต่อไปถึงพุทธตันตระ ถือเป็นปรัชญา Unificationism เป้าหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติคือการกำจัด “ทวยะ หรือทวิภาวะ(Duality)”  เข้าถึง   “อัทวยะ หรือ อทวิภาวะ(Non-Duality)”

                ในเบื้องต้น ความหมายแห่ง“อัทวยะ” คือการรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างจิตกับวัตถุ สำนักโยคาจารกล่าวไว้อย่างชัดเจน จุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติโยคะคือการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแห่งผู้รู้(Subject)กับสิ่งที่ถูกรู้(Object) การกำจัดความแตกต่างระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นแนวคิดเรื่องปรัชญากับกรุณา พัฒนากรุณา(พลังชาย-Male)ให้อยู่ในฐานะเป็นผู้รู้หรือผู้กระทำ พัฒนาปรัชญา(พลังหญิง-Female)ให้อยู่ในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำ  การรวมกันอย่างกลมกลืนระหว่างกรุณากับปรัชญา เรียกว่า “อัทวยะ”

                       

โยคาจารเป็นจิตนิยมสุดโต่งจริงหรือ  ?

                   ปรัชญาจิตนิยม(Idealism) มีอยู่ ๔ กลุ่มใหญ่ คือ

                ๑. จิตนิยมแบบเบิร์กเล่ย์ จิตนิยมจิตวิสัยหรืออัตวิสัย ถือว่าวัตถุเป็นเพียงมโนภาพในจิตของพระเจ้า

                ๒. จิตนิยมแบบค้านท์ จิตนิยมอุตรวิสัย การรับรู้วัตถุมีได้โดยผ่านกระบวนการทำงานของจิตที่เหนือประสบการณ์

                ๓. จิตนิยมแบบเฮเกล จิตนิยมวัตถุวิสัย วัตถุเป็นการสำแดงตัวของจิต

                ๔. จิตนิยมแบบเพลโต  มโนภาพหรือแบบเป็นความจริงที่สำคัญ     

                หลักการที่เด่นชัดของโยคาจารคือ จิตนิยม(Idealism) ถือว่า จิต(ผู้รู้)เป็นอันติมสัจจะ เป็นกัตตาสูงสุด(Transcendental Subject) โลกภายนอกไม่ได้มีอยู่อย่างอิสระ แต่เป็นการสร้างสรรค์ของจิต  วัตถุทั้งหลายเป็นเพียงเงาที่ได้รับแต่งเติมสีสันรูปร่างโดยจิต

               เอ็ดเวิร์ด คอนเซกล่าวไว้ว่า  “ความจริงสูงสุดมีลักษณะหนึ่งเดียวไม่แบ่งแยกระหว่างจิต(ผู้ทำ-Subject)กับวัตถุ(ผู้ถูกทำ-Object) เรียกสิ่งนี้ว่า ความคิดบริสุทธิ์หรือวิชญาณบริสุทธิ์ ถ้าจิตกับวัตถุเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง แน่นอนทีเดียว ย่อมไม่มีวัตถุที่เป็นอิสระจากจิต และสิ่งที่เรารับรู้โดยผ่านวัตถุ เป็นสิ่งที่ไม่จริงแท้โดยสิ้นเชิง”

                โยคาจารจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกจิตนิยมสุดโต่งเสมอ เพราะเป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาในฐานะเป็นปฏิกิริยาต่อศาสนาพระเวท ซึ่งสอนเน้นความดำรงอยู่แห่งวิชญาณสากล เน้นศักยภาพของพระเจ้า ในขณะที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธความดำรงอยู่แห่งวิชญาณสากล ปฏิเสธศักยภาพของพระเจ้า แต่หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว กลับปรากฏว่า สำนักโยคาจารนำเรื่องจิตมาสอนในลักษณะเป็นวิชญาณสากล จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมา โยคาจารไม่ได้เป็นจิตนิยมสุดโต่ง ไม่ปฏิเสธโลกแห่งวัตถุ แต่สอนเน้นจิตมากเกินไปจึงดูเหมือนว่าเป็นพวกจิตนิยมสุดโต่ง แต่โยคาจารกล่าวว่า

โลกแห่งวัตถุเกิดมาจากพีชะ หรือพลังงานที่อยู่ในจิตเท่านั้น  วัตถุก็คือการรวมตัวเข้าแห่งพลังงาน๔ ประเภท คือ (๑)ปฐวีพีชะ พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วทำให้เกิดความแข็งกระด้าง (๒)อาโปพีชะพลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะเอิบอาบ (๓)เตโชพีชะ พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะอบอุ่น(๔)วาโยพีชะพลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะเคลื่อนไหวไปมา

 

อิทธิพลของโยคาจาร

                   ในอินเดีย อิทธิพลของปรัชญาโยคาจารที่ปรากฏชัดก็คือ กำเนิดและพัฒนาการแห่งพุทธตันตระ  แนวคิดของโยคาจารเป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดปรัชญาตันตระ

                เมื่อโยคาจารแผ่เข้าไปสู่ประเทศจีน ประมาณ พ.ศ. ๙๕๐ โดยท่านโพธิรุจิและปรมัตถะ  ชาวจีนรู้จักโยคาจารในภาษาจีนว่า “ฮวบเซี่ยงจง”  อาจารย์เสถียร โพธินันทะแปลเป็นไทยว่า “ธรรมลักษณะ”

                สมัยที่มหาวิทยาลัยนาลันทารุ่งเรือง ปรัชญาโยคาจารเป็นอีกวิชาการหนึ่งได้รับความนิยมมาก สมณะเฮี้ยนจั๋งขณะที่จาริกไปสืบพระศาสนาในอินเดีย ได้ศึกษาปรัชญาโยคาจารกับท่านศีลภัทระ แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา และได้คัดลอกอรรถกถาวิชญาณประติมาตราตรีศาสตร์    รวบรวมเป็นคัมภีร์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง  ชื่อว่า วิชญาณประติมาตราสิทธิตรีทศศาสตร์  โยคาจารในประเทศจีนรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ถัง ต่อจากนั้นก็เริ่มเสื่อมถอยหายไปจากประวัติศาสตร์จีน  และได้การฟื้นฟูอีกเมื่อเริ่มพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยคณาจารย์จีนได้ไปคัดลอกคัมภีร์ของโยคาจารจากประเทศญี่ปุ่น(ฮอสโซ)แล้วพิมพ์เผยแพร่

                ดังที่กล่าวแล้ว มาธยมิกะและโยคาจาระต่างเกื้อหนุนกันและกัน มีแนวคิดหลายอย่างที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกัน แต่จะแตกต่างกันอยู่ที่วิธีปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น  มาธยมิกะเน้น “ปัญญา” ในขณะที่โยคาจารเน้น “ฌาน(สมาธิ)”

                ต่อมา ทฤษฎีอาลยวิชญาณได้พัฒนาไปเป็นนิกาย “ฌาน” เน้นแนวคิดเกี่ยวกับจิต เมื่อโยคาจารแผ่เข้าไปสู่ประเทศญี่ปุ่น  ชาวญี่ปุ่นรู้จักโยคาจารในภาษาญี่ปุ่นว่า “ฮอสโซ-Hosso”  ปรัชญาโยคาจารเกิดขึ้นในประมาณปี พ.ศ. ๙๔๓ (ค.ศ.๔๐๐) และหายไปจากวงการปรัชญาอินเดียประมาณพ.ศ.๑๖๔๓(ค.ศ.๑๑๐๐)ไปปรากฏในจีนโดยชื่อว่า“ฟาเซียง(Fa-hsian)”  อาจารย์เสถียร โพธินันทะแปลว่า “ธรรมลักษณะ”  ท่านปรมารถเดินทางเข้าจีนและเผยแผ่ปรัชญานี้เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๙๘ (ค.ศ.๕๔๖) สมณะเเฮี้ยนจั๋งศึกษาปรัชญาโยคาจารที่นาลันทา ประมาณปี พ.ศ.๑๑๗๖(ค.ศ.๖๓๒)แล้วนำกลับไปเผยแผ่ที่จีน ท่านโดโซะ-Dosho(ศิษย์ของท่านเฮี้ยนจั๋ง)นำไปเผยแผ่ในญี่ปุ่น ประมาณปี พ.ศ.๑๑๙๗(ค.ศ.๖๕๔)ในยุคนารา

                   แนวคิดเชิงอภิปรัชญาขณะที่โยคาจารได้รับความนิยมในญี่ปุ่น โลกแห่งปรากฏการณ์ไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือจิตดำรงอยู่ โลกแห่งปรากฏการณ์ดำรงอยู่โดยอาศัยมโนภาพที่เราสร้างขึ้นมาเท่านั้นและสอนทฤษฎีจิตกรณ์(The theory of Ideation) ไม่มีธาตุใดที่เป็นอิสระจากการสร้างสรรค์ของจิต ธรรมทั้งปวงเป็นเพียงจิตกรณ์ สิ่งทั้งหลายดำรงอยู่เพราะอาศัยการที่เราสร้างภาพขึ้นในใจ อาลยวิชญาณสร้างโลกแห่งปรากฏการณ์โดยการจินตนาการ  จิตกรณ์บริสุทธิ์หมายถึงว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างจิตกับวัตถุ  เอกภาพสูงสุดคือนิพพาน ปรากฏการณ์ภายนอกเป็นภาพที่จิตกรณ์ด้านในสร้างขึ้นมา โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างจิตกรณ์บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ *

                จิตวิชญาณมีหน้าที่ ๔ ประการ คือ (๑)ทำหน้าที่เป็นวัตถุ (๒)ทำหน้าที่เป็นจิต (๓)ทำหน้าที่เป็นผู้รู้แจ้งตน (๔)ทำหน้าที่ตรวจสอบทบทวน  เมื่อเราเห็นบ้าน นั่นหมายถึงว่า (๑)มีบ้านปรากฏ (๒)เราเห็นบ้านด้วยจักขุประสาท (๓)มีการรับรู้มิติของบ้านตามที่จักขุประสาทกำหนด (๔)มีการรับรู้ความเที่ยงตรงแห่งเกณฑ์ที่กำหนด

                วัตถุในโลกภายนอกมีอยู่ ๓ กลุ่ม คือ (๑) วัตถุที่เป็นอารมณ์แห่งประสาททั้ง ๕ ปรากฏรับรู้ได้ทันที (๒) วัตถุที่เป็นภาพมายา เป็นจินตภาพที่บุคคลสร้างขึ้นมาเอง (๓) วัตถุดั้งเดิมเป็นสารัตถะ ไม่สามารถรับรู้ได้อย่างแท้จริง

                ต่อมา ทฤษฎีนี้ได้พัฒนาไปเป็นนิกาย “เซน” วิธีการปฏิบัติเพื่อไปสู่จุดหมายสูงสุดไม่ว่าจะเป็นแบบ “โกอาน” ของรินไซ หรือแบบ “ซาเซน” ของโซโตะ สาระแห่งการปฏิบัติคือการเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของจิต ผู้ปฏิบัติต่างก็เชื่อมั่นว่าโลกและกระแสจิตที่ปรากฏอยู่นี้เป็นเพียงภาพมายา แต่ยังมีสภาวะเดิมแท้ของจิตอยู่ ต้องพยายามเข้าถึงให้ได้ นั่นคือ “อัทวยะ” สภาพจิตของผู้ปฏิบัติก็เข้าถึงสภาวะแห่ง “อัทวยะ” ย่อมสามารถกำจัดทวิภาพระหว่างจิตกับวัตถุ   

                เซนที่ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่นคือสาขารินไซ แต่กล่าวโดยรวมแล้ว เซนไม่ว่าจะเป็นสาขาใดล้วนมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นในปัจจุบันมาก ภาพชีวิตชาวญี่ปุ่นที่ปรากฏมีเซนรวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น ท่านเอไซ(Eisai)ชาวญี่ปุ่นได้เดินทางไปศึกษาเซนในจีน และกลับมาเผยแผ่เซนสาขารินไซ หรือลินชิ(Leap Zen; emphasis on Ko-an, Mondo) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๓๔(ค.ศ.๑๑๙๑) และได้เริ่มสร้างวัดเซนขึ้นในเกียวโต ท่านได้นำเอาประเพณีการดื่ม “ชา” มาพร้อมกับเซน ถือว่าการดื่มชาทำให้อายุยืน

                พัฒนาการของโยคาจารไม่ได้หยุดอยู่เพียงนิกายเซน แต่ยังส่งผลไปถึงลัทธิบูชิโดอีกด้วย  คำว่า “บูชิโด” แปลว่า วิธีการใช้ดาบของทหาร หรือภาวะแห่งนักดาบ เป็นลัทธิที่รวมเอาแก่นของการฝึกฝนของพวกซามูไร ซึ่งเป็นชนชั้นนักรบ และชนชั้นเหล่านี้จะต้องฝึกปฏิบัติในการต่อสู้ในชีวิตประจำวันและในการประกอบอาชีพ โยคาจารแสดงให้เห็นความพยายามของมนุษย์ที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมายโดยอาศัยสมาธิจิต ที่อยู่เหนือคำบรรยาย เป็นการดึงจิตเข้ามามองดูภายในตัวเอง พัฒนาศักยภาพภายในตัวให้สามารถแสดงพฤติภาพออกมา  ลัทธิบูชิโดก็นำแนวคิดนี้มาและประยุกต์ให้เข้ากับหลักการของตน ยุทธวิธีแบบบูชิโดจึงเน้นที่ความมั่นคงและสมาธิจิต (Self-possessed) ให้หนักแน่นในตัวเองเสียก่อนแล้วค่อยโจมตีข้าศึก การเพ่งมองภายในตน และรวบรวมพลังภายในตนคือหัวใจ นี่คืออิทธิพลของปรัชญาโยคาจารที่ถือกำเนิดในอินเดีย แผ่ไปจีน และญี่ปุ่นตามลำดับ

 

 

 

สรุปวิจารณ์และเปรียบเทียบ

 

                    (๑)  โยคาจารกับมาธยมิกะ

 

                   โยคาจารกล่าวว่า จิตหรือวิชญาณเป็นสัจจะเพียงหนึ่งเดียว วัตถุภายนอกเป็นสิ่งไม่จริงแท้ (อสัจจะ) เหมือนความฝันหรือภาพลวงตา การที่จะเข้าใจลักษณะ พัฒนาการ และการทำงานของจิต ต้องถือปฏิบัติโยคะ จิตคือปรากฏการณ์ที่เป็นเหตุให้ความมีอยู่แห่งจักรวาลปรากฏออกมา แม้จะไม่สามารถทำงานได้เหมือนคอมพิวเตอร์ แต่ก็ทำได้หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดได้ รูปธรรมในโลกแม้จะซับซ้อนแต่สามารถหยั่งถึงได้ ส่วนจิตนั้นซับซ้อนทั้งโครงสร้างและกระบวนการทำงาน ยากที่จะหยั่งถึง

                ในขณะที่นาคารชุนกล่าวว่า “สัจภาวะไม่ใช่ทั้งนัยเชิงบวกและเชิงลบ ไม่ใช่ทั้งภาวะและอภาวะ” ท่านไมเตรยนาถกลับกล่าวว่า “สัจภาวะมีนัยเชิงบวกแน่นอน” สัจภาวะคืออันติมจิต ปรากฏอยู่ในสมาธิขั้นสูงสุด ซึ่งในภาวะนี้ ความแตกต่างระหว่างผู้รู้(จิต)กับสิ่งที่ถูกรู้(วัตถุ) ถูกกำจัดให้หมดไป

                พิจารณาจากข้อเสนอของทั้ง ๒ สำนักดูเหมือนจะแย้งกันแบบสุดโต่ง โยคาจารถือว่ามีจิตอยู่จริง และเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว ส่วนมาธยมิกะถือว่าโดยที่สุดแล้วไม่มีอะไรอยู่เลย “ผู้ใดเห็นว่าโลกและนิพพานเป็นสภาวะ ผู้นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิกะ ผู้ใดเห็นว่า โลกและนิพพานเป็นอภาวะ ผู้นั้นเป็นอุจเฉททิฏฐิกะ  ผู้ใดเห็นว่า โดยสมมติ สัจธรรมทั้งปวงเป็นปฏิจจ สมุปบาท และโดยปรมัตถ์ ธรรมทั้งปวงเป็นศูนยตา ผู้นั้นมีสัมมาทิฏฐิ แต่ความจริงแล้ว ทั้ง ๒ สำนักไม่ได้ขัดแย้งกันแบบสุดโต่ง สิ่งที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันเป็นเพียงแนวทางการนำเสนอเท่านั้น  โยคาจารยอมรับเรื่องศูนยตาเหมือนกัน สภาวธรรมที่ไม่ต้องอาศัยจิตก็มีอยู่ แต่ไม่จริงแท้ ไม่เที่ยง บทสรุปก็คือ ทั้ง ๒ สำนักไม่ประสงค์จะให้ยึดติดกระแสความไม่แน่นอนของโลกที่ปรากฏมากนัก โยคาจารเสนอว่า ต้องพยายามทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความยุ่งยากซับซ้อนในโลกโดยหันมาดูที่กระแสจิตของตนและบังคับควบคุม ส่วนมาธยมิกะเสนอว่า ต้องพยายามทำตัวเองให้หลุดพ้นโดยไม่ยึดถืออะไรเลย และจุดเน้นของมาธยมิกะไม่ได้เพียงว่าไม่ยึดถืออะไรเลยเท่านั้น แต่ก้าวไปไกลถึงขนาดกล่าวว่า “โดยที่สุดแล้ว ความว่างก็ไม่มี(Emptiness of Emptiness)” ความจริง จุดประสงค์ของทั้ง ๒ สำนักเหมือนกันคือ เพื่อความหลุดพ้น

                ปรัชญาโยคาจารทำให้สิ่งที่มาธยมิกะลบล้างไปแล้วฟื้นคืนกลับมาอีก โยคาจารบอกว่า สรรพสิ่งถูกปฏิเสธ ยกเว้นอัตตวิสัยภาพ(Subjectivity-ภาวะความเป็นผู้ทำ, เป็นผู้ปฏิบัติ, เป็นผู้รับรู้, เป็นกัตตา) เพราะเหตุนี้เอง สรรพสิ่งที่ถูกปฏิเสธ ย่อมไม่สามารถปฏิเสธได้ สภาวะ(ธาตุ)แห่งอัตตวิสัยภาพนี้ก็คือ วิชญาณบริสุทธิ์(วิชญัปประติมาตรตา) เป็นสัจภาวะสูงสุด  ในระดับประสบการณ์  จะปรากฏในฐานะผู้รู้  มีธรรมชาติที่ค่อยแต่จะสร้างตัวเองไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

                เพื่อธำรงไว้ซึ่งความสืบเนื่องระหว่างอดีตขณะ ปัจจุบันขณะ และอนาคตขณะ พวกโยคาจารจึงสร้างอาลยวิชญาณขึ้นมา ให้อยู่ในฐานะเป็นมูลฐานของความเปลี่ยนแปลงรูปร่างทั้งมวล อนุวัตตามทฤษฎีของเสาตรานติกะ ต่อมา พวกโยคาจารดั้งเดิม ได้สร้างทฤษฎีอายตนะ ๖ ขึ้นมาแทนที่อาลยวิชญาณ แล้วยกฐานะอาลยวิชญาณขึ้นเป็น “ตถาคตครรภ์”

 

                (๒)  โยคาจารกับเถรวาท

 

                ทฤษฎีที่ว่าด้วยจิตของโยคาจารดูเหมือนจะใกล้เคียงกับข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกของเถรวาทที่ว่า

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ  ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้วพูดอยู่หรือทำอยู่ทุกข์ย่อมไปตามเขา เหมือนล้อรถหมุนไปตามรอยเท้าโค

                หรือข้อความอีกตอนหนึ่งว่า “โลกอันจิตนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอย่างเดียว คือจิต”

                ถ้าจะถามว่า คิดอย่างไรกับข้อความในพระไตรปิฎกเถรวาทกับทฤษฎีว่าด้วยเรื่องจิตของสำนักโยคาจาร ? ตอบได้ในที่นี้เลยว่า เป็นเรื่องเดียวกัน แต่การนำเสนอต่างยุคกันเท่านั้น  แนวคิดเรื่องจิตนี้รุ่งเรืองอยู่แล้วในสมัยพุทธกาล แต่จุดเน้นของพระพุทธองค์อยู่ที่การพยายามทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลส แนวคิดของโยคาจารที่ดูเหมือนจะซับซ้อนในยุคปัจจุบันนั้นเป็นเพราะว่า มีการนำเสนอโดยเอาไปพันกันกับทฤษฎีจิตนิยมของตะวันตก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ผู้เขียนกล่าวอยู่เสมอว่า ถ้าจะเรียกพุทธปรัชญาว่าเป็นจิตนิยมก็เป็นจิตนิยมแบบพุทธ ถ้าจะเรียกว่าเป็นสัจนิยมก็ต้องเป็นสัจนิยมแบบพุทธ ถ้าจะเรียกว่าเป็นกรรมนิยมก็ต้องเป็นกรรมนิยมแบบพุทธะ

                การที่โยคาจารกล่าวว่า “โลกคือการสร้างสรรค์ของจิต” ไม่ได้หมายความว่า บรรดาสัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า เทพเทพี ต้นไม้ใบหญ้า ภูเขาแม่น้ำลำธารเกิดขึ้นมาเพราะจิตไปสร้าง แต่ความจริงก็คือว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยไม่คงที่ เราทั้งหลายเห็นว่ามันมีอยู่อย่างนี้ เพราะจิตไปคิดว่ามันมีอยู่อย่างนี้  จิตไปสร้างสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติว่ามีอยู่จริงอย่างนั้น บางครั้ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติยังไม่ปรากฏเลย จิตก็ยังไปคิดสร้างสรรค์ว่ามันมีมันเป็นอย่างนี้ นี่คือประเด็นสำคัญที่สำนักโยคาจารหยิบขึ้นมา

                เจาะให้ลึกลงไปจะพบว่า โยคาจารเป็นสำนักปฏิบัติโดยแท้ คำว่า “โยคะ”, “ฌาน”, “สมาธิ”, โดยสาระคือคำเดียวกัน เมื่อโยคาจารจับประเด็นได้ว่า ความวุ่นวายสับสนในโลกเกิดจากจิต จิตหันมาสอนให้คนจับประเด็นเรื่องให้ได้ และมุ่งรวมจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับวัตถุ เพื่อบรรลุ “อัทวยะ” ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อใดก็ตามที่สามารถรวมจิตได้เป็นหนึ่งเดียวกับวัตถุบรรลุถึงอัทวยะ ความพยายามที่จะปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากกิเลสก็จะง่ายขึ้น เพราะมีภาระอยู่อย่างเดียวคือควบคุมจิต ไม่ต้องไปควบคุมวัตถุภายนอก  ทฤษฎีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔  ที่ปรากฏในคัมภีร์เถรวาทนั้น โดยสาระก็คือการนำเสนอภาพของกระบวนการ/ขั้นตอนในการควบคุมจิต  จะเห็นว่าในเบื้องต้น ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา พอมาถึงจตุตถฌานจะเหลือเพียงองค์ ๒ คือ อุเบกขา และเอกัคคตา พอไต่ระดับมาถึงอรูปฌานจะมีความละเอียดมากยิ่งขึ้น อรูปฌานขั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สภาพจิตที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  นี่คือจุดที่จะให้กระแสจิตหักมุมกลับ คือเมื่อไต่ระดับที่สุดแล้ว มันดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่ จิตจะเกิดความลังเล ความหลุดพ้นจากกิเลสจึงไม่ได้อยู่ตรงจุดนี้  กระแสจิตที่หลุดพ้นจากกิเลสจึงเป็นกระแสจิตที่ถอยจุดลังเลไปอยู่ที่เอกัคคตา  แต่กระบวนการ/ขั้นตอนในการควบคุมจิตต้องไต่ให้ระดับอรูปฌานที่ ๔ ถ้าจะเทียบแนวทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น โยคาจารก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เพราะแทนที่จะเน้นไปเรื่องอื่นก็มาเน้นที่จิตโดยตรง แนวคิดของสำนักโยคาจารมีนัยที่ต้องสืบค้นและวิเคราะห์อีกหลายประเด็น.

*******

 

 

---------------------------------------------------------------------------


                                  * ตันจู(Tanjur-Translation of treatises) เป็นงานเขียนส่วนที่ ๒ ของฝ่ายทิเบตที่พิสดารมาก มีจำนวน ๒๒๕ เล่ม แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ (๑) เป็นอรรถกถาอธิบายพระสูตร  (๒) เป็นอรรถกถาอธิบายหลักการของตันตระ  งานเขียน ส่วนที่ ๑ เรียกว่า กันจู(Kanjur-Translation of word) มีจำนวน ๑๐๘ เล่ม ว่าด้วยเรื่องพระวินัย ปรัชญาปารมิตา อุดมการณ์โพธิสัตว์ ตรีกาย และอาลยวิชญาณ

                   * มติเกี่ยวบุคคลที่ชื่อ “วสุพันธุ” นี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มติหนึ่งบอกว่า ปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนาชื่อวสุพันธุมี  ๒ ท่าน คือ (๑)วสุพันธุแห่งสำนักสรวาสติวาทิน มีชีวิตอยู่ในยุค ประมาณ พ.ศ. ๙๔๓ -the Elder Vasubandhu (๒)วสุพันธุผู้เป็นน้องชายของท่านอสังคะแห่งโยคาจาร   มีชีวิตอยู่ในยุคประมาณ พ.ศ. ๑๐๔๓ -The Younger  Vasubandhu (ผู้แต่งคัมภีร์อภิธรรมโกศะ ?)

                   * ตำนานทิเบตบอกว่า อสังคะและวสุพันธุเป็นพี่น้องต่างบิดากัน บิดาของอสังคะเป็นกษัตริย์ ส่วนบิดาของวสุพันธุเป็นพราหมณ์ มารดาของท่านทั้ง ๒ ชื่อว่า ประสันนศีลา(ดูเปรียบเทียบตอนที่ว่าด้วย อสังคะกับโยคาจาร)

                   * แนวความคิดเชิงปรัชญาที่ถือว่า “สิ่งที่เป็นวัตถุ เป็นเพียงมโนภาพซึ่งมีอยู่ในจิตของพระผู้เป็นเจ้า”

                   *  Reality was both static and dynamic ;-Prajna+Upaya. Phenomena appear as reflecting(1)Absolute  Mind  (2) Prajana and Upaya  in  indissolution  union.  The whole universe is  divided into  two complementary  constituents:- (1) Passive and mental ‘womb-elements-garbha-dhatu’  (2) Active and material ‘diamond-elements-vajra-dhatu’.)     

 

                   * No elements is independent of the ideation. All Dharmas are mere ideation. Things exist for us  through the projection -reflection- of  their image  on  our  mind.   Ideation-store   creates the  phenomenal world by imagination. It is not pure ideation, since pure can proceed  only   from  Buddha Enlightenment.  Pure ideation means  that no distinction exists between  subject and object; Absolute Unity;-- Nirvana. External phenomenal world exists for  us in the  appearance  which internal ideation projects of it. The phenomenal world exists through the mixture of pure  and tained ideation.

(ที่มา: -)