บทความวิชาการ
วิพากษ์แนวคิด : พระพุทธศาสนาสำหรับโลกหลังยุคใหม่
03 มี.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
8297

ผู้แต่ง ::

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2543)

       ความนำ

           นิตยสารนิวสวีค ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ตีพิมพ์บทความของพระอะกิซูกิ เรียวมิน วัย๓๘ ปี ซึ่งเป็นพระหนุ่มนิกายเซนในญี่ปุ่น บทความนี้มีเนื้อหาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพระพุทธศาสนา เรียวมินเขียนไว้ว่า ข้าพเจ้าต้องการฟื้นฟูสาระแท้จริงแห่งเซน โดยการทำลายรูปแบบที่บีบรัดเซนและทำให้มีการสอนอย่างผิด ๆ ในหมู่อาจารย์

           ข้อเขียนของอะกิซูกิ เรียวมินได้รับการสนับสนุนจากปราชญ์หลายท่าน เช่น ไดเซทส์ ไตตาโร ซูซูกิ ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า "แม้จะต้องฆ่าพระทั้งหมด และเผาวัดทั้งหมด เพื่อนำเซนกลับมาให้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่งก็ยอม" 

           การออกมาเคลื่อนไหวทางความคิดอย่างนี้ของเรียวมิน และได้รับการสนับสนุนจากนักปราชญ์หลายท่าน เป็นเครื่องบ่งบอกถึงอะไร ? มองย้อนกลับไปเมื่อญี่ปุ่นเริ่มยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ชาวญี่ปุ่นรู้จักพระพุทธศาสนาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๐๙๕

           ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของญี่ปุ่นคือ "ไอนุส(Ainus)" ผสมกับชนชาติที่อพยพเข้ามาจากจีน มองโกเลีย เกาหลี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัฒนธรรมทางความคิดโดยเฉพาะศรัทธา (Cult-ลัทธิ)ดั้งเดิมของญี่ปุ่นคือ ศรัทธาในบรรพบุรุษ ศรัทธาในธรรมชาติ

           ญี่ปุ่นถือว่าดินแดนแห่งนี้เป็นแผ่นดินแห่งพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ (Land of Rising Sun)ปฐมเทพอิซานางิและเทพีอิซานามิคือผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่ง ต่อจากนั้นจึงเกิดเทพีสุริยะอะมะเตระสุ โลกและปรากฏการณ์เป็นกิจกรรมของเทพีสุริยะคืออะมะเตระสุ ญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมบางส่วนมาจากจีน มีจริยธรรมขงจื๊อและพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก โดยเฉพาะจริยธรรมขงจื๊อที่ว่าด้วยการเคารพบรรพบุรุษ(Filial Piety)

           พระพุทธศาสนาแผ่เข้าสู่ประเทศเกาหลี ประมาณปี พ.ศ. ๙๑๕ กษัตริย์เกาหลีชื่อ "เซียง เมียง(Syong-Myong) แห่งปักเซ(Paiche)ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเมืองที่สวามิภักดิ์ต่อจักรพรรดิกิมเมอิ(Kimmei)แห่งญี่ปุ่น ได้สร้างพระพุทธรูป สูง ๑๖ ฟุต ส่งไปถวายจักรพรรดิมกิมไมพร้อมกับคัมภีร์พระพุทธศาสนา ประมาณปี พ.ศ.๑๐๘๘ ทำให้จักรพรรดิกิมเมอิพอพระทัยมาก จึงรับนับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นมา แต่ชาวญี่ปุ่นรู้จักพระพุทธศาสนามาก่อนหน้านี้แล้วเป็นเวลาหลายปี

           สมัยพระนางซูอิโกะ (Suiko) ครองราชย์ ประมาณปี พ.ศ.๑๑๓๕-๑๑๗๑ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อพระนางสละราชสมบัติออกบวชเป็นภิกษุณี(Nun) ได้มอบภาระพระเจ้าหลานพระนามว่า "อุมายาโดะ(Umayado)" ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทน เจ้าชายอุมายาโดะนี้ ต่อมาได้รับการขนานพระนามว่า "โชโตกุไทชิ" พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ เป็นกวีเอก และเป็นนักการเมืองที่ปราดเปรื่อง พระองค์ได้ให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาก ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น

           นอกจากนี้ ได้นำแนวคิดขงจื้อที่ว่าด้วยเรื่องสวรรค์ แผ่นดิน และมนุษย์มาสร้างอำนาจแห่งราชสำนัก นักประวัติศาสตร์หลายท่าน ถือว่า เจ้าชายโชโตกุนี่แหละเป็นผู้สร้างอารยธรรมญี่ปุ่น
           พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น แบ่งเป็น ๕ ยุค ดังนี้
                      (๑) ยุคนารา ประมาณ พ.ศ.๑๒๕๓-๑๓๒๗
                      (๒) ยุคเฮอัน ประมาณ พ.ศ.๑๓๓๗-๑๗๒๘
                      (๓) ยุคกามากุระ ประมาณ พ.ศ.๑๗๒๘-๑๘๗๖
                      (๔) ยุคหลังนิจิเรน ประมาณ พ.ศ.๑๘๔๓-๒๑๔๓
                      (๕) ยุคโตกุงาวา ประมาณ พ.ศ.๒๑๔๓-๒๔๑๑
                      (๖) ยุคเมยี ประมาณ พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๕

           นับแต่อดีตมา พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นมี ๖ สำนัก คือ (๑) กุษะ-Kusha (๒) โยยิทสุ-Jojitsu (๓) ซันรอน-Sanron (๔) ฮอสโซ-Hosso (๕) ริทสุ-Ritsu (๖) เคก้อน-Kegon

           สังคมญี่ปุ่นผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายรูปแบบ และมีบริบทเชิงศาสนาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ รูปแบบของศาสนาญี่ปุ่นแม้จะเป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายแห่งพระพุทธศาสนาแบบตะวันออก ซึ่งถือกันว่ามีความทันสมัยก้าวหน้าไม่ตกยุค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่งตลอดมา

           ในยุคต้น พระพุทธศาสนาถูกโยงเข้ากับการเมือง ในยุคต่อมา ถูกโยงเข้ากับเศรษฐกิจ ปัญหาในปัจจุบันคือ พระพุทธศาสนาถูกกระแสเศรษฐกิจครอบงำมาก การศึกษาพระพุทธศาสนาอาจลึกลงรายละเอียดบ้างในเชิงวิชาการ แต่ในเชิงพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก ธรรมเนียมในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมยังมีความผิวเผินอยู่มาก

           พระพุทธศาสนาหินยานในญี่ปุ่น ไม่ปรากฏเป็นหลักศรัทธาในชีวิตประจำวัน แต่ปรากฏในวงการศึกษาในมหาวิทยาลัย ส่วนที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันมากในปัจจุบัน คือ นิกายเซน ซึ่งพัฒนาการต่อจากนิกายสุขาวดี(โจโด) นิกายมาธมยิกะ(ซันรอน) และนิกายโยคาจาร(ฮอสโซ) เซนจึงสอนเรื่อง "ศูนยตา" เช่นเดียวกันกับมาธยมิกะ และเน้นเรื่อง "จิต" เช่นเดียวกับปรัชญาโยคาจาริน การเข้าฌานหรือสมาธิก็เพื่อที่จะให้ข้ามพ้นปัญหาอุปสรรค เข้าถึงสวรรค์แดนสุขาวดีซึ่งเป็นแดนเกษม ในขณะเดียวกัน สภาพจิตของผู้ปฏิบัติก็เข้าถึงสภาวะแห่ง "อัทวยะ"กำจัดทวิภาพระหว่างจิตกับวัตถุ

           ด้วยจุดประสงค์และเป้าหมายสูงสุดอย่างนี้ ท่านเอไซแห่งนิกายรินไซนิยมใช้วิธี "โกอานและมอนโด" สนทนาโต้ตอบกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์ หรือบางทีก็ใช้วิธีกระตุ้นให้เกิดความคิดหักเห/หักมุม ผลที่ได้รับคือกำจัดความคิดแบ่งแยกและสร้างอัชฌัตติกญาณ

           ในขณะที่ท่านโดเกนแห่งนิกายโซโตะนิยมใช้วิธีซาเซน (วิธีแบบสติปัฏฐาน) ซาเซน (Za-Zen)คือการนั่งสมาธิพิจารณาภายในตน(Look inside) แต่ไม่ใช่การนั่งด้วยจิตใจที่ว่างเปล่าปราศจากการรับรู้อารมณ์ภายในและภายนอก ซาเซนคือการนั่งเงียบ ๆ ด้วยความหยั่งรู้สรรพสิ่ง แต่ไม่มีการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นถ
ความหยั่งรู้นี้เกิดขึ้นโดยความคิดไม่แบ่งแยกระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก ระหว่างจิตกับอารมณ์ เป้าหมายสูงสุดของวิธีซาเซน คือ การรู้แจ้งธรรมชาติที่แท้จริงแห่งสิ่งทั้งหลาย และค้นพบพุทธธาตุที่อยู่ในตนของแต่ละบุคคล ท่านกากุชินตั้งนิกายฟูเกะ และท่านอินเจนตั้งนิกายโอบากุ มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน นี่คือสาระแท้จริงแห่งพระพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น นักปราชญ์หลายท่านบอกว่า เป็นพัฒนาขั้นสุดท้ายแห่งพระพุทธศาสนาตะวันออก

           ในขณะที่พัฒนาการขั้นสุดท้ายแห่งพระพุทธศาสนาแบบอินเดีย คือ พระพุทธศาสนาในทิเบตประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงไหน ? มีอยู่ ๒ ประเด็นที่น่าสนใจ
                      (๑) ญี่ปุ่นเป็นประเทศมีความเจริญอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในโลกยุคใหม่แล้ว แต่กำลังก้าวไปสู่ยุคแห่งโลกหลังยุคใหม่
                      (๒) อะกิซูกิ เรียวมิน เป็นพระในนิกายเซน ซึ่งถือเป็นรูปแบบใหม่ล่าสุดแห่งพระพุทธศาสนาสายโลกตะวันออก ปัจจุบัน โลกตะวันตกรู้จักพระพุทธศาสนานิกายเซนและนิยมชมชอบมากที่สุด นับย้อนจากนี้ไป พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นเวลา ๔๑ ปี เซนยิ่งจะมีความทันสมัยล้ำยุคมากกว่าปัจจุบัน ถามว่า "เพราะเหตุไร ? จึงเกิดกระแสแนวคิดที่ปฏิรูปพระพุทธศาสนานิกายเซน"

            อะกิซูกิ เรียวมินคงมองเห็นประเด็นที่จะเป็นปัญหาในอนาคตอยู่ ๓ ประการ
                      (๑) สังคมญี่ปุ่นเริ่มเหินห่างจากศาสนาออกไปเรื่อย ๆ
                      (๒) มีนิกายศาสนาเกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาก
                      (๓) เซนแม้จะมีรูปแบบทันสมัย แต่ยังเน้นประเพณีนิยมแบบวัด สร้างกำแพงล้อมรอบตัวเอง ในขณะเดียวกันยังถูกบีบรัดโดยระบบเศรษฐกิจในบางกรณี ทำให้ละทิ้งสาระดั้งของเซนไป

           ทั้ง ๓ ประเด็นนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับเซน ในการรักษาสถานะของตัวเองให้อยู่ได้ในสังคมเช่นญี่ปุ่นประชาชนยังเข้าไม่ถึงแก่นแท้แห่งศาสนา มีนิกายมากทำให้ขาดเอกภาพในการเผยแผ่คำสอน และการล้อมกรอบตัวเองไว้ในกำแพง ในขณะเดียวกันก็ถูกกระแสเศรษฐกิจบีบรัด ทำให้เซนตกอยู่ในสภาพลำบากในการปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมในสหัสวรรษใหม่นี้ หรือแม้จะปรับตัวได้ รูปแบบการดำเนินกิจกรรมอาจไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมโดยรวมก็ได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และอุดการณ์ของพระพุทธศาสนาที่ว่า "จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก" โดยแท้จริงแล้ว พุทธศาสนิกไม่ได้รังเกียจหลักการทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหน แต่ท่าทีที่แสดงอกมาเกี่ยวกับการปฏิรูปนั้น เป็นความรู้สึกของแต่ละบุคคล

       พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม
       อะไรคือข้อจำกัด


          
(๑) พระภิกษุถูกมองว่าเป็นคนนอก (Outsider)
           คำว่า "พระพุทธศาสนาแบบเดิม" ไม่ได้หมายถึงพระพุทธศาสนาดั้งเดิมเสียทั้งหมด แต่หมายรวมพระพุทธศาสนาดั้งเดิม เถรวาท มหายาน หรือแม้กระทั่งตันตระที่เน้นรูปแบบวัด มีพระสงฆ์เป็นสัญลักษณ์ในด้านศาสนบุคคล มีวัดเป็นสัญลักษณ์ในด้านศาสนสถาน พระสงฆ์มีวิถีชีวิตแยกจากสังคม

           ความจริงวิถีชีวิตที่แยกจากสังคมฆราวาสนี้ เป็นรูปแบบที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับภิกษุในสมัยพุทธกาล และไม่ได้กำหนดให้ใครต้องมาปฏิบัติ แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละบุคคล และเมื่อเข้ามาบวชเป็นพระ ปฏิบัติอยู่ในกรอบพระวินัย แยกตัวออกจากสังคมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ประสงค์จะให้แยกตัวเองจากสังคมอย่างที่นักวิชาการปัจจุบันวิจารณ์กัน พระพุทธองค์ทรงประกาศเป็นอุดมการณ์พระพุทธศาสนาเลยว่า "พวกเธอจงจาริกไปแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชาวโลก" แต่กรอบที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้นี้ กลับถูกบิดเบือน พระสงฆ์ในยุคหลังเหินห่างจากสังคม ทำให้เกิดข้อวิจารณ์เป็นคนนอกสังคม

            อะกิซูกิ เรียวมินมองว่า ภารกิจของพระสงฆ์ในญี่ปุ่นในยุคของท่านนั้น ในด้านสังคม จำกัดอยู่ในกรอบเกินไป ทำวัตรสวดมนต์ เป็นผู้นำในการประกอบพิธีมงคลและอวมงคล จึงมีคำกล่าวว่า "ถ้าชาวบ้านไม่จัดงาน พระสงฆ์ก็ไม่มีงานทำ" เรียวมินไม่เห็นด้วยการจัดพิธีศพตามรูปที่จุดอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่ใช่ประเพณีที่สืบทอดมาจากพระพุทธศาสนาดั้งเดิม พิธีศพเป็นกิจกรรมไว้ทุกข์สำหรับบั้นปลายชีวิต จิตใจของสัมพันธชนอยู่ในภาวะไม่ปกติ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย น่าจะถือโอกาสประกาศธรรมมากกว่าทุ่มเทให้กับการจัดพิธีกรรม พระสงฆ์ต้องหมกมุ่นอยู่กับการนำประกอบพิธีกรรม พลาดโอกาสที่จะประกาศธรรม

           (๒) พระภิกษุอึดอัดกับสถานะของตนที่สังคมมอบให้ (Society-fixed Status)
           
ชาวมหายานโดยรวมมองเห็นว่า "พระพุทธดำรัสที่ว่า ถ้ามีความประสงค์ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้" เป็นการเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่า วินัยหรือสีลสิกขาบทของพระภิกษุ ๒๒๗ ข้อ หรือของพระภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ มีผลทั้งเชิงลบและเชิงบวก ถ้ารักษาดีไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย สีลสิกขาบทก็จะเป็นตัวเร่งให้บรรลุธรรมได้เร็วยิ่งขึ้น ถ้ารักษาไม่ดี มีความด่างพร้อย สีลสิกขาบทนั้นจะกลายเป็นอันตรายิกธรรม ขัดขวางการบรรลุธรรม วินัยของพระสงฆ์จึงอยู่ในฐานะเป็นทั้งอุปกรณ์และอุปสรรคในขณะเดียวกัน

            อีกประเด็นหนึ่งที่ชาวมหายานโดยรวมมอง คือ รูปแบบพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น เหมาะสำหรับฤาษีชีไพรที่จาริกอยู่ในแดนดงเท่านั้นไม่เหมาะสำหรับนักบวชผู้ใกล้สังคมเช่นปัจจุบัน พระสงฆ์มีภาระต้องทำหลายอย่างในขณะเดียวกัน คือ
           (๑) ดำรงตนเป็นปูชนียบุคคลให้พุทธบริษัทกราบไหว้
           (๒) รักษาสีลสิกขาบทและปฏิบัติระเบียบธรรมเนียมสงฆ์
           (๓) ปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง
           (๔) ประกาศธรรม อบรมสั่งสอนประชาชน
พระสงฆ์บางกลุ่มจึงรู้สึกอึดอัดกับสถานะของตน เพราะมีภาระหลายอย่างในขณะเดียวกัน ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎข้อบังคับหลายส่วนที่ดูเหมือนจะแย้งกับธรรมชาติของสามัญชน เกิดภาวะหลอกตัวเองอย่างสุดโต่ง (Absolute Hallucination)

            ข้อจำกัดเหล่านี้ แม้จะไม่ได้เป็นอุปสรรคโดยตรง แต่ไม่ได้เป็นอุปกรณ์โดยตรงเช่นกัน จะเป็นอุปสรรคหรืออุปกรณ์ขึ้นอยู่กับวิธีการประยุกต์ของแต่ละบุคคล การถูกยกให้อยู่บนหิ้งบูชาโดยปราศจากการเอาใจใส่จากคนที่ยก เหมือนกับการตั้งพระพุทธรูปไว้บนห้องโดยไม่ปราศจากการทำความสะอาดเช็ดถู แต่พระสงฆ์ไม่ใช่พระพุทธรูป การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมก็ดี การแสวงหาในสิ่งที่ตนประสงค์ก็ดี การต่อสู้กับอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ก็ดี เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ถ้ามีปัญหาในพฤติกรรมเหล่านี้ มนุษย์มีปัญหาแน่นอน


       เกริ่นนำก่อนวิพากษ์
       พระพุทธศาสนามหายานใหม่
       พระพุทธศาสนาสำหรับโลกหลังยุคใหม่

            พระพุทธศาสนามหายาน ถือเป็นกระแสแนวคิดที่แปลกออกไปจากพระพุทธดั้งเดิม ปราชญ์ฝ่ายมหายานนิยมที่จะมองและวิเคราะห์ทุกประเด็นที่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกรุ่นแรกสอนไว้ วิธีการมองโลกแบบมองต่างมุมสมควรถือเป็นแบบในการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง เช่นวิธีการที่เรียกว่า "หนึ่งน้ำ สี่มุมมอง(one water, four ways ofseeing)" สมมติว่ามีสายน้ำทอดยาวอยู่ข้างหน้า มนุษย์มองเห็นเป็นน้ำ เปรตมองเห็นเป็นน้ำหนองและเลือด ปลามองเห็นเป็นที่อยู่อาศัย เทพธิดามองเห็นเป็นที่เต็มไปด้วยอัญมณีหลากชนิด

            จุดเด่นของมหายานอยู่ที่การมองปัญหา วิเคราะห์แล้วพัฒนาต่อ มีความกล้าในเชิงวิชาการ ในขณะเดียวกันก็ตั้งประเด็นแบบปลายเปิดตลอดเวลา จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า พระพุทธศาสนาแบบตันตระเกิดขึ้นในยุคต่อมา ซึ่งถือเป็นพัฒนาการต่อจากมหายาน มีคำถามเสมอว่า "แนวคิดมหายานมีความเป็นพระพุทธศาสนาจริงแท้(authenticity)หรือไม่ เพียงไร ?"

            ปราชญ์ฝ่ายมหายานไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่นิยมที่จะชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพัฒนาการแห่งคัมภีร์พระพุทธศาสนา นักวิเคราะห์มหายานบอกว่า คัมภีร์พระพุทธศาสนามีพัฒนาการ ๓ ยุค คือ
            (๑) ยุคมุขปาฐะ ระยะการสืบทอดพระธรรมวินัยโดยระบบปากต่อปาก ผู้มีบทบาทสำคัญมี ๓ รูป คือพระพุทธเจ้า พระอานนท์ และพระอุบาลี
            (๒) ยุคพระสูตร ระยะการสืบทอดพระธรรมวินัยโดยการรวบรวมร้อยเรียงเป็นพระสูตร ผู้มีบทบาทสำคัญมี ๓ รูป คือ พระมหากัสสปเถระ พระอุบาลี และพระอานนท์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๓ เดือน พระมหากัสสปเถระเป็นประธานจัดปฐมสังคายนา ร้อยเรียงพระธรรมเทศนาเป็นพระสูตร รวบรวมพระวินัยเป็นหมวดหมู่
            (๓) ยุควิชาการ ระยะการสืบทอดพระธรรมวินัยโดยการแต่งคัมภีร์พระพุทธศาสนา ผู้มีบทบาทสำคัญมี ๓ ท่าน คือ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระมัชฌันติกะ และพระมหาเทวะ

            มหายานสนใจในประเด็นพัฒนาการแห่งคัมภีร์จากยุคที่ ๑ ถึงยุคที่ ๒ โดยตั้งข้อสังเกตว่า "ในระยะที่มีการรวบรวมร้อยเรียงพระธรรมวินัยขึ้นเป็นพระสูตรนั้น มีสาระสำคัญแห่งพุทธธรรมบางตอนสูญหายไปหรือไม่ ? พระเถระทั้งหลายแน่ใจได้อย่างไรว่า ไม่มีสาระสำคัญแห่งพุทธธรรมบางตอนหายไป ?" นี่เป็นประเด็นที่มหายานตั้งข้อสังเกตไว้ ต่อจากนั้น ปราชญ์มหายานจึงตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นพระพุทธศาสนาจริงแท้ ๒ ประเด็น ดังนี้
            (๑) แนวคิดมหายานเป็นพระพุทธศาสนาจริงแท้โดยธรรมชาติ สุภาษิตธรรมที่แท้ไม่ว่าจะประกาศโดยบุคคลใดก็ตาม ย่อมคงความเป็นสุภาษิตธรรม มหายานแม้จะแสดงแนวคิดใหม่ แต่ยังรักษาหลักการเดิมแห่งพระพุทธศาสนาไว้ แปลกกันแต่ว่าวิธีการแบบมหายานมีความหลากหลายไปตามบริบทของสังคม
            (๒) มหายานนำแนวคิดที่เป็นพระพุทธศาสนาจริงแท้ออกมาเผยแผ่แก่ชาวโลก นั่นคือ แนวคิดปรัชญาปารมิตา ซึ่งสูญหายไปในระหว่างการสืบทอดพระธรรมวินัยจากยุคมุขปาฐะถึงยุคพระสูตรพระพุทธศาสนามหายานแม้จะมีลักษณะแปลกแยกอยู่มากในเชิงศาสนา แต่ในเชิงวิชาการปรัชญาไม่ถือว่าเป็นลักษณะแปลกแยก สิ่งที่ถือว่าผิดปกติในเชิงวิชาการคือ ความเหมือนกัน นักวิชาการถือว่าโลกและปรากฏการณ์มีลักษณะ(Appearance, Characters)แตกต่างกันโดยธรรมชาติ แต่ดำรงอยู่ได้เพราะทุกอย่างมีภาวะ(Being, Essence)เหมือนกัน ความโดดเด่นของมหายานอยู่ตรงนี้ สรรพสัตว์มีพุทธภาวะเหมือนกัน สรรพสิ่งรวมอยู่ด้วยกันโดยเอกสัตยธรรมธาตุ โลกตั้งอยู่ได้เพราะสรรพสิ่งถูกร้อยรัดรวมกันไว้โดยเอกสัตยธรรมธาตุ

            โลกของมหายานน่าสนใจ ประชาชนในสหรัฐอเมริกา หรือในประเทศยุโรปรู้จักพระพุทธศาาสนามหายานและรู้อย่างลึกซึ่ง ทั้งศึกษาและปฏิบัติกรรมฐานแบบมหายาน แต่ถ้าถามพวกเขาว่า "พระพุทธศาสนาเถรวาทคืออะไร ?" พวกเขาจะตอบว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทคือพระพุทธศาสนาที่ฝ่ายพระมหากัสสปเถระและคณะประกาศเผยแผ่ เน้นวิธีการเฉพาะตัว เป็นพวกอนุรักษ์นิยม เรียกว่า พระพุทธศาสนาหินยาน การตอบอย่างนี้แสดงว่า เถรวาทหรือหินยานมีความเป็นพระพุทธศาสนาไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่พระมหากัสสปเถระสอน โลกตะวันตกรู้มหายานมากกว่ารู้เถรวาท ความลึกซึ้งและความรุ่งเรืองของมหายานจึงโดดเด่นในโลกตะวันตกตลอดมา

       แนวคิดพื้นฐานในการสร้างมหายานใหม่

          (๑) สร้างแนวคิดกำจัดความเข้าใจผิดที่ว่า มหายานไม่มีพระพุทธเจ้า

           เนื่องจากพระพุทธศาสนามหายานเกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานหลายร้อยปี โลกตะวันตกรู้จักพระพุทธศาสนาจากญี่ปุ่นและทิเบต ซึ่งเป็นรูปแบบแห่งพัฒนาการขั้นสุดท้ายแห่งพระพุทธศาสนา เซนในญี่ปุ่นเป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายแห่งพระพุทธศาสนาที่เหมาะแก่ชาวตะวันออก ในขณะที่ตันตระในทิเบตเป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายแห่งพระพุทธศาสนาแบบอินเดียแท้

           นักปราชญ์ตะวันตกวิจารณ์ว่า พระพุทธศาสนาแผ่เข้าไปในญี่ปุ่น ๒ ครั้ง คือ
           ครั้งที่ ๑ ยุคจักรพรรดิกิมเมอิ ประมาณ พ.ศ. ๑๐๘๘ พระพุทธศาสนาแผ่เข้าญี่ปุ่นผ่านทางเกาหลี โดยกษัตริย์เกาหลีพระนามว่า เซียงเมียงแห่งปักเซ ส่งพระพุทธรูปและคัมภีร์เข้าไปก่อน ประมาณ พ.ศ.๑๑๓๕ จักรพรรดินีซูอิโกและเจ้าชายโชโตกุ สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมา
           ครั้งที่ ๒ ยุคเมยี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๑ สมัยจักรพรรดิเมยีถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจโชกุนหลังจากที่ปกครองแบบปิดประเทศอยู่ประมาณ ๓๐๐ ปี(ระหว่าง พ.ศ.๒๑๔๖-๒๔๑๐) โชกุนใช้อำนาจริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา ทำให้เกิดปฏิกิริยาและในที่สุดก็ต้องถวายอำนาจคืนแด่องค์จักรพรรดิ

            เมื่อจักรพรรดิกลับมาดำรงฐานะเป็นโอรสแห่งสวรรค์ดังเดิม ประชาชนจึงมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา หลักศรัทธาและปรัชญา ชาวพุทธทั้งฝั่งโลกตะวันตกและตะวันออกมีโอกาสประกาศแนวคิดเชิงศาสนาในญี่ปุ่นมากขึ้น

           รัฐบาลเมยีประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ประกาศสนับสนุนชินโต แม้จะไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนา แต่ได้ห้ามเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีการตั้งสถาบัน "ไดเกียวยิน" ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวมแห่งนักบวชชินโตกับภิกษุในพระพุทธศาสนา

           พระพุทธศาสนาที่แผ่เข้ามาในญี่ปุ่นยุคแรก ถือเป็นมหายานแบบเดิมที่ยึดมั่นในรูปแบบมากกว่าที่จะคำนึงถึงสภาพที่แท้จริงแห่งบริบททางสังคม ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ได้เพราะได้รับความอุปถัมภ์จากชนชั้นปกครอง

            พระพุทธศาสนาที่แผ่เข้ามาในญี่ปุ่นสมัยที่ ๒ นี่เอง คือคำสอนของพระศากยมุนีแท้จริง ถามว่า"เพราะเหตุไร ?" นักปราชญ์ตะวันตกจึงวิจารณ์ว่า พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคแรกนั้น เป็นแบบหินายานซึ่งแบ่งแยกเป็นนิกายและเน้นคัมภีร์ ส่วนพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคที่ ๒ เกิดจากการถ่ายทอดประสบการณ์การตรัสรู้จากจิตสู่จิต และมีหลักการพื้นฐานอยู่ว่า "คนที่รู้แจ้งทุกคนคือพระศากยมุนี" ความเข้าใจที่ว่า "มหายานไม่มีพระพุทธเจ้า" จึงเป็นความเข้าใจผิด เพราะข้อเท็จจริงคือ พระพุทธศาสนามีผู้ก่อตั้งคือพระสิทธัตถะ โคตมะ ศากยมุนี คนอื่น ๆ ที่รู้แจ้งพุทธธรรม คือพระศากยมุนีพุทธบุตร ถือเป็นพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน มหายานดั้งเดิมมีแนวคิดพื้นฐานอยู่ว่า "ทุกคนมีพุทธภาวะอยู่ในตัว พร้อมที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว" แต่มหายานใหม่เน้นหนักยิ่งไปกว่านั้นคือ การศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา ต้องมุ่งที่การค้นหาและสถาปนาตัวเองให้เป็นพระศากยมุนี พระพุทธเจ้ามีอยู่แล้วในตัวเรา ที่ใดมีเรา ที่นั่นมีพระพุทธเจ้า

           (๒) เรียนรู้แก่นแท้นิกายของตน เชื่อมสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ตั้งนิกาย
           เพื่อย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะ

           พระพุทธศาสนามหายานเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยอย่างหนึ่งคือ พระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ที่เริ่มแตกออกไปตั้งแต่ครวปฐมสังคายนา ต่อมา นักปราชญ์ของแต่ละนิกายรวมกลุ่ม ประสานแนวคิดเข้าด้วยกันเป็นนิกายหนึ่งเดียว เรียกว่า "มหายาน" ต่อมาแตกออกเป็น ๒ นิกาย คือ มาธยมิกะและโยคาจาร แต่เมื่อมหายานแผ่เข้าเข้าไปในจีน มีการแตกเป็นนิกายต่าง ๆ อีก

            พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นปัจจุบัน มีหลากหลายนิกายตามจำนวนผู้ก่อตั้ง พระศากยมุนีผู้ตั้งศาสนา ถูกจัดไว้บนหิ้งบูชาเหนือคำสอนของผู้ก่อตั้งของแต่ละนิกาย ซึ่งเริ่มพัฒนาในญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเฮอัน(พ.ศ.๑๓๓๗-๑๗๒๘)และกามากุระ(๑๗๒๘-๑๘๗๖)เป็นต้นมา เมื่อแต่ละนิกายพัฒนาถึงขีดสูงสุด ต่างพ่ายแพ้กันทั้งหมด จึงมีคำกล่าวว่า"ไม่ว่านิกายไหนชนะ พระศากยมุนีทรงรู้สึกละอายทั้งนั้น" นี่คือข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

            ถามว่า "ภารกิจเบื้องต้นเพื่อการสร้างมหายานใหม่คืออะไร ?"
           ภารกิจคือการเชื่อมเป้าหมายสูงสุดของแต่ละนิกายเข้าด้วยกัน รวมกันเข้ามาใหม่(re-unification) แล้วย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะ ซึ่งไม่ได้หมายถึงพระศากยมุนีพุทธะเชิงประวัติศาสตร์ แต่หมายถึงคนที่ตรัสรู้ทุกคน(for the enlightened, everyone is Sakyamuni) ถ้าเป็นพระพุทธศาสนาที่แท้ในญี่ปุ่นและเหมาะกับโลกหลังยุคใหม่ ต้องเกิดจากการรวมการตรัสรู้(Satori, insight)ของเจ้าชายโชโตกุ, ท่านโดเกน, ชินรัน และนิชิเรนเข้าด้วยกัน

           (๓) สร้างระบบสากัจฉากับต่างศาสนา และปลูกฝังแนวคิดศาสนาแห่งมนุษยชาติ
           
ศาสนาชินโตมีนโยบายหนึ่งเรียกว่า "อาณาเขตความรุ่งเรืองร่วมกันในเอเชียตะวันออก(East Asian Co-Prosperity Sphere) มีการตั้งศาสนสถานชินโตในเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ เราจะไม่พูดถึงว่า นโยบายประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ประเด็นการก้าวเข้าไปสู่ระบบสากัจฉากับต่างศาสนาและปลูกฝังแนวคิดศาสนาแห่งมนุษยชาตินั้น ไม่ได้หมายถึงการล้มล้างศาสนาอื่นแล้วส่งเสริมศาสนาที่นับถือเพียงศาสนาเดียว แต่หมายถึงการมุ่งก่อตั้งสภาเพื่อสากัจฉาในกลุ่มศาสนาที่เห็นพ้องต้องกัน และมีจุดประสงค์ต่อไป คือ เปิดเผยพื้นฐานร่วมกันกันออกมา(common ground)

            การเปิดเผยพื้นฐานร่วมกันออกมาในกลุ่มศาสนา ไม่ได้ต้องการให้ด่วนสรุปว่า ศาสนาทั้งผองสอนสิ่งเดียวกัน ในด้านสถานภาพของนักบวช สมมติว่าพระคาทอลิคปฏิบัติซาเซน ไม่ได้หมายถึงว่า ท่านจะต้องเปลี่ยนสถานะเป็นพระคาทอลิคและเป็นพระเซนนิกายรินไซในขณะเดียวกัน ในด้านทฤษฎีก็เช่นกัน ระบบสากัจฉาระหว่างพุทธกับคริสต์ ไม่ได้หมายถึงให้พยายามเชื่อมเรื่องอนัตตตา(Nothingness)เข้ากับเรื่องพระเจ้า(God) แต่ให้พยายามประสานประเด็นที่ยืดหยุ่นได้ ศาสนิกของแต่ละศาสนาจะต้องรู้ซึ้งด้วยว่าประเด็นไหนที่ยืดหยุ่นได้(flexible) ประเด็นไหนยืดหยุ่นไม่ได้ (inflexible)

           (๔) จัดตัวเองอย่างรู้เท่าทันในโลกหลังยุคใหม่แล้วสร้างพุทธเกษตรเชิงประวัติศาสตร์
           นักวิจารณ์ที่ติดตามสถานการณ์ของโลก กล่าวเสมอว่า ปัจจุบันเรากำลังยืนอยู่ที่ธรณีประตูของโลกหลังยุคใหม่ คาร์ล จัสเปอร์ส นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสตศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวว่า

           มนุษยชาติแตกออกเป็น ๒ ยุคหลัก คือ
           (๑) ยุคพัฒนาการด้านเกษตรและกำเนิดนครรัฐ
           เมื่ออารยธรรมด้านจิตใจสูญหายไป ศาสดาแห่งมนุษยชาติ เช่น โสกราติส ขงจื๊อ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในยุคนั้น
            (๒) ยุควัฒนธรรมด้านวัตถุทำให้อารยธรรมด้านจิตใจเริ่มสูญหายไป ปัจจุบันกำลังมีการเรียกร้องหาศาสดาแห่งมนุษยชาติรุ่นใหม่ ซึ่งทุกคนกำลังมองมาที่ซึกโลกตะวันออก

           ศาสดาแห่งโลก เช่น พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาที่คนในยุคที่ ๑ ต้องการแล้ว ถามว่า "ในยุคใหม่นี้ พระพุทธเจ้าองค์ใหม่และพระเยซูองค์ใหม่อยู่ที่ไหน ?" สถานการณ์ในโลกยุคใหม่และโลกหลังยุคใหม่นี้ ต้องไม่ใช่มิติส่วนบุคคล แต่ต้องเป็นมิติส่วนสังคมดังที่กลุ่มนักบวชนิชิเรนทำ สภาพของโลกปัจจุบัน เรายืนอยู่ที่ธรณีประตูแห่งโลกหลังยุคใหม่ และต้องรู้ตัวเองด้วยว่า ขณะนี้ทุกมิติแห่งพฤติกรรม ต้องโอบอุ้มมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ส่วนตัวแล้ว   อาจารย์ฮากุอิแห่งรินไซกล่าวว่า "อริยจริยาของพระโพธิสัตว์ เป็นบ่อเกิดแห่งพุทธเกษตร" คำว่า "พุทธเกษตร" โดยนัยที่แท้จริงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสวรรค์แดนสุขาวดี แต่หมายถึงดินแดนของพระพุทธเจ้าในโลกนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การจัดตัวเองอย่างรู้เท่าทัน ปรับปรุงให้ทันสมัยในสิ่งที่ควรจะปรับปรุงให้ทันสมัย และพยายามเอาชนะความเจ็บป่วยทางใจที่เกิดจากการถือตัว(มีอีโก) หลังจากนั้นจึงสร้างแนวคิดพุทธภาวะมีอยู่ทุกทุกแห่ง

           (๕) เคารพวิถีชีวิตแบบนักบวช พร้อมกับสร้างพุทธวิถีแบบฆราวาสขึ้นมา

           วิถีชีวิตนักบวชต้องแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ
           (๑) กลุ่มที่รักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด
           (๒) กลุ่มที่ถือบวชแบบครอบครัวดังที่ท่านชินรันกระทำมาแล้ว
           กลุ่มที่รักษาพระวินัยเคร่งครัด รักษาวิถีชีวิตสมณะอยู่ในสงฆ์อย่างบริสุทธิ์ สมควรได้รับการเคาครพนับถือบูชา กลุ่มที่ปฏิบัติไม่ได้อย่างนั้นสมควรยอมรับความจริง แยกตัวเองออกมา แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องถูกตำหนิ แนวทางปฏิบัติคือการสร้างวิถีชีวิตนักบวชอีกแบบหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า "พุทธวิถีแบบฆราวาส แต่ถือบวชที่ใจ(homelessness of the heart)" เฉพาะศีลของพระโพธิสัตว์ก็พอเพียงที่จะเป็นภิกษุตามแบบมหายานได้ วิถีแห่งมหายานแบบใหม่คือ การมีชีวิตอยู่อย่างพุทธะในโลกที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไร้สาระ แม้รูปแบบจะเป็นพระพุทธศาสนาฆราวาส(Lay Buddhism) แต่ไม่มีความแตกต่างระหว่างพระกับฆราวาส สถานภาพของนักวชอยู่ในฐานดังที่ท่านชินรันเรียกว่า "ไม่เป็นพระหรือฆราวาส(neither monk nor laity)" หรือดังที่ประเพณีดั้งเดิมของเทนไดว่า "เพียงกฎของมหายาน(Mahayana rule alone)"


       วิพากษ์แนวคิดที่ ๑
       สร้างแนวคิดกำจัดความเข้าใจผิดที่ว่า มหายานไม่มีพระพุทธเจ้า

           ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเชื่อมั่นของมหายานเองใน ๒ เรื่อง คือ
           (๑) พระพุทธเจ้าทรงมีกาย ๓ คือนิรมาณกาย สัมโภคกาย และธรรมาย
           (๒) สรรพสัตว์มีพุทธภาวะอยู่ในตัว

           ประเด็นที่ ๑ พระพุทธเจ้าทรงมีกาย ๓ โดยเฉพาะธรรมกาย ซึ่งถือว่าปรากฏอยู่ในทุกหนทุกแห่ง และตลอดเวลา แม้พระพุทธเจ้าในรูปนิรมาณกายจะปรินิพพานไปนานแล้ว แต่ไม่ได้สูญหายไปไหน ยังคงประทับอยู่ในพุทธเกษตรในรูปธรรมกาย และมีสัมโภคกายเป็นจุดเชื่อมต่อกับพระโพธิสัตว์ และจากพระโพธิสัตว์มาสู่มนุษย์ตลอดเวลาและสถานที่

           ประเด็นที่ ๒ อยู่ที่หลักการพื้นฐานว่า "คนที่รู้แจ้งทุกคนคือพระศากยมุนี" และแนวคิดพื้นฐานว่า "ทุกคนมีพุทธภาวะอยู่ในตัว พร้อมที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว" การศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา ต้องมุ่งที่การค้นหาและสถาปนาตัวเองให้เป็นพระศากยมุนี พระพุทธเจ้ามีอยู่แล้วในตัวเรา ที่ใดมีเรา ที่นั่นมีพระพุทธเจ้า

           ผู้เขียนเห็นว่า ถ้ามีความเชื่อมั่นใน ๒ ประเด็นนี้ การสร้างแนวคิดที่ ๑ ก็ไม่มีความจำเป็น ปัญหาที่มหายานถูกกล่าวหาว่าไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่ที่ความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างคน ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเข้าใจพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ อีกกลุ่มหนึ่งเข้าใจพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นอนุตตรภาวะ

          ประเด็นที่ควรนำมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดว่านิกายไหนมีพระพุทธเจ้า นิกายไหนไม่มี คือ พระพุทธดำรัสที่ตรัสกับพระอานนท์ ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรคว่า

       อานนท์ บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มี
พระศาสดา ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่แสดงแล้วบัญญัติแล้ว
แก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

          สรุปได้ชัดเจนว่า "พระธรรมวินัยนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าคือพระธรรมวินัย" ถ้าใช้เกณฑ์นี้จะกำหนดได้เลยว่า นิกายไหนมีพระพุทธเจ้า นิกายไหนไม่มีพระพุทธเจ้า ถ้าแนวคิดเกี่ยวกับธรรมกายและพุทธภาวะภายใน ไม่สามารถแก้คำกล่าวหาดังกล่าวได้ ควรสร้างแนวคิดอิงพระธรรมวินัยจะดีกว่า เพราะมีหลักฐานชัดอยู่แล้วในพระไตรปิฎก

       วิพากษ์แนวคิดที่ ๒
       เรียนรู้แก่นแท้นิกายของตน เชื่อมสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ตั้งนิกาย
       เพื่อย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะ

         บ่อเกิดพระพุทธศาสนามหายานชัดเจนที่สุดคือ นักปราชญ์ของแต่ละนิกายรวมกลุ่ม ประสานแนวคิดเข้าด้วยกันเป็นนิกายหนึ่งเดียว เรียกว่า "มหายาน" เมื่อมหายานเกิดจากหลานนิกาย เป็นไปได้ยากที่จะรวมให้เหลือหนึ่งเดียว มหายานเน้นสาระเชิงวิชาการ ความแปลกแยกหลากหลายเป็นธรรมชาติของวิชาการอยู่แล้ว ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งในแนวคิดที่ ๒ เราต้องเรียนรู้เป้าหมาย วัตถุประสงค์ อุดมการณ์ของตนให้ถ่องแท้เสียก่อน ต่อจากนั้นจึงเชื่อมสัมพันธ์กันโดยวิธีแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง นี่เป็นประเด็นที่ ๑

         
เมื่อรวมกันเข้ามาใหม่(re-unification) แล้วจะย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์หรือไม่นั้น จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวคิดพื้นฐานของแต่ละนิกาย

         
ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาเชิงวิชาการ เป็นจุดเปราะบางที่ทำให้เกิดความแตกแยกได้ง่าย เพราะธุรกิจของนักวิชาการ คือ การคิดวิเคราะห์วิจารณ์ ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ตามมาจะเป็นความเห็นที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก เฉพาะฉะนั้น การเชื่อมสัมพันธ์ในกลุ่มนิกายยังมีความเป็นไปได้มาก องค์ประกอบสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์กัน มีอยู่ ๒ ส่วน คือ

          (๑) ย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะ
          การย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะ หมายถึงการศึกษาพระพุทธพจน์ดั้งเดิมจริง ๆ พระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในช่วงระยะหนึ่งมีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่หลักคำสอนและจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติธรรม นิพพานก็ดี ศูนยตาก็ดี อทวิภาวะก็ดี ที่เป็นไปในความหมายว่าหมดกิเลส บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ล้วนเป้าหมายอุดมการณ์ของพระศากยมุนีทั้งสิ้น ย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะโดยการศึกษาพระพุทธพจน์ เป้าหมายอุดมการณ์สูงสุดของพระองค์

          (๒) เรียนรู้แก่นแท้นิกายของตน
          เรียนรู้แก่นแท้นิกายของตน หมายถึงการตรวจสอบเทียบเคียงหลักการ วิธีการ และเป้าหมายนิกาของตนกับของพระศากยมุนีพุทธะ ประเด็นไหนที่สอดคล้องตรงกัน ควรรักษาไว้ ประเด็นที่ไม่ตรงกัน ต้องยอมรับความจริงว่าผิดเพี้ยน ควรตัดทิ้ง

         
เมื่อย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะได้ เมื่อเรียนรู้แก่นแท้นิกายของตนแล้ว การเชื่อมสัมพันธ์ในกลุ่มนิกายย่อมเป็นไปได้ง่าย เข้ากับหลักที่ว่า "ผู้นำสูงสุดเดียว เป้าหมายสูงสุดเดียว แต่หลากหลายวิธีการ"

       วิพากษ์แนวคิดที่ ๓
       การสร้างระบบสากัจฉากับต่างศาสนา และปลูกฝังแนวคิดศาสนาแห่งมนุษยชาติ

          เมื่อเกิดกระแสต่อต้านระบบสากัจฉา(dialogue)ของคริสตศาสนาในกลุ่มพุทธศาสนิกชน หลวงพ่อพุทธทาสประกาเผยแผ่อุดมการณ์ของท่าน ๓ ข้อซึ่งฝากไว้กับอนุชน ดังนี้
          (๑) การทำให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน ๆ
          (๒) การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา
          (๓) การทำโลกให้ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม

           อุดมการณ์ของหลวงพ่อพุทธทาสทั้ง ๓ ข้อ ตรงกับความเห็นของอะกิซูกิ เรียวมิน(Akizuki Ryomin) ซึ่งกำลังบอกว่า พระพุทธศาสนาในสหัสวรรษหน้าควรจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร เรียวมินบอกว่า พระพุทธศาสนาควรจะมีระบบสากัจฉากับต่างศาสนาเพื่อสร้างศาสนาแห่งมนุษยชาติ(other religions-dialogue system) เรียวมินให้เหตุผลโดยอ้างคำพูดของศาสตราจารย์ เดวิด ชาเปล แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายว่า "ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประมาณ ๓๐-๔๐ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา สอนหลักสูตรพระพุทธศาสนา ปัจจุบัน ประมาณ ๑๐๐ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาที่สอนหลักสูตรพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ คือ นักศึกษาที่เรียนปริญญาเอกในสาขาเทววิทยาคริสต์ศาสนา ถูกกำหนดให้เรียนหลักพระพุทธศาสนา"

           ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวกับแนวคิดของเรียวมินในระดับหนึ่ง ในประเด็นที่ ๓ ระบบสากัจฉากับต่างศาสนานั้นเป็นไปได้ การสากัจฉาหรือการสนทนากันอย่างใกล้ชิดทำให้เกิดความเข้าใจกัน แต่ต้องรู้จักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ส่วนการสร้างศาสนาแห่งมนุษยชาตินั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก เพราะมหายานมีความเชื่อพื้นฐานอยู่แล้วว่า "พระพุทธเจ้าทรงมีธรรมกายที่ปรากฏในทุกแห่ง ในกาละที่เหมาะ ในเทศะที่เหมาะ ปรากฏต่อชาวอินเดียในรูปของพระศากยมุนี ปรากฏต่อชาวเซมิติคในรูปของพระเยซูคริสต์" ปัจจุบันนี้ มวลมนุษย์มีเพียงศาสนาเดียว แต่นับถือกัน ๔ แนวทางอยู่แล้ว ถ้าสร้างศาสนาให้มีเพียงหนึ่งเดียวแล้วให้คนทั้งโลกนับถือร่วมกัน ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพจะอยู่ตรงไหน ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของมหายานที่ว่า "เสรีภาพและมวลชน" จะถูกบิดเบือนไป

           อะกิซูกิ เรียวมินมีจุดประสงค์อะไร ? โลกทั้งผองต้องมีศาสนาหนึ่งเดียวหรือ ? ในสหัสวรรษใหม่นี้ อะไรคือรูปแบบที่ดีที่สุดแห่งศาสนา ?
          (๑) ศาสนาเดียวแต่หลายนิกายและมีจุดประสงค์เดียว
          (๒) ศาสนาเดียวแต่หลายจุดประสงค์
          (๓) หลายศาสนาแต่จุดประสงค์เดียว

           ผู้เขียนเห็นว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ในแต่ละถิ่น เพราะสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ย่อมมีจริตและอธิมุติต่างกัน รูปแบบที่ดีและเป็นไปได้คือ หลายศาสนาแต่จุดประสงค์เดียว เราไม่ต้องกังวลเลยว่าจะก้าวไปสู่จุดประสงค์สูงสุดหนึ่งเดียวนั้นได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะเป็นเช่นนั้น คนที่เดินทางผิดย่อมไปไม่ถึงจุดประสงค์ ปฐมทารุขันโธปมสูตรแห่งสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค กล่าวถึงกรณีที่พราหมณ์คนหนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "ในเมื่อนิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เพราะเหตุไร จึงมีคนบรรลุบ้าง ไม่บรรลุบ้าน" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า สรุปความได้ว่า "ถ้าเดินทางเถลไถล แวะโน่นแวะนี่ ก็ไม่บรรลุนิพพาน"

... ถ้าพวกท่านไม่แวะฝั่งโน้นฝั่งนี่ ไม่จมน้ำ ไม่เกยบก ไม่ถูกจับตัวไว้ หรือไม่ถูกกระแสน้ำวนเหนี่ยวรั้งไว้ พวกท่านจักโน้มไปสู่นิพพาน ...

        ในกรณีที่เกิดการโต้แย้งกันว่าจุดประสงค์ของลัทธินิกายที่ตนนับถือเท่านั้นถูกต้อง ของลัทธินิกายอื่นไม่ถูกต้อง นั่นเป็นคำโต้แย้งของคนที่ยังไม่ถึงจุดหมายอย่างแท้จริง ถ้าถึงจุดหมายสูงสุดอย่างแท้จริงจะไม่มีคำโต้แย้ง เหมือนกรณีโต้แย้งเรื่องนิพพานในพระพุทธศาสนา นิพพานที่แท้จริงพูดไม่ได้บรรยายไม่ถูก

        ผู้เขียนชอบใจคำของมหายานที่ใช้คำว่า "อนีรวจนียะ" แปลว่า พูดไม่ได้ บรรยายไม่ถูก คนที่บรรลุนิพพานแท้จริงนั้น เชื่อแน่ว่าไม่พูดโต้แย้ง
ความเหมือนกันของแต่ละศาสนาเชิงแนวคิดทฤษฎี มีให้เห็นอยู่ทั่วไป แต่ความเหมือนกันไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน ท่านเทนซิน คยัตโส ดาไลลามะ องค์ที่ ๑๔ แห่งชาวพุทธทิเบตกล่าวไว้ในวารสารนิวสวีค ฉบับประจำเดือนมีนาคม ๒๕๔๓ ว่า พุทธศาสนากับคริสตศาสนามีความเหมือนกันใน ๔ ประเด็น คือ
        (๑) ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ (transfiguration) เกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้ เช่นมีพระรัศมีเปล่งประกายออกจากร่าง เหตุอัศจรรย์นี้เกิดแก่พระเยซูเช่นกัน
        (๒) ทฤษฎีกรรม พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว พระเยซูตรัสเช่นกันว่า พระองค์เสด็จอุบัติในโลก ไม่ใช้มาตัดสินโลก แต่มารักษาโลก
        (๓) รูปแบบของศรัทธา พระพุทธศาสนาพูดถึงรูปแบบของศรัทธา ๓ ระดับ คือ ความชื่นชมต่อบุคคลหรือภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง ความศรัทธามุ่งมั่นในอนาคต เช่นปรารถนาพุทธภาวะ และความเชื่อในหลักศาสนา ในคริสตศาสนาสอนรูปแบบแห่งศรัทธาทั้ง ๓ นี้เช่นกัน เช่น เรื่องความภักดี ความอุทิศกายใจ
        (๔) ความมีส่วนร่วมในกันและกัน (empathy) พระพุทธศาสนายุคใหม่เชื่อว่า สัตว์โลกแต่ละตัวตนมีความสามารถแตกต่างกัน แต่มีส่วนร่วมในกันและ เช่น มีพุทธพีชะ มีพุทธธาตุเหมือนกัน คริสตศาสนาก็เชื่อเช่นนั้น เราทั้งผองต่างมีส่วนร่วมในทิพยภาวะ แต่อาศัยพระเยซูเท่านั้นที่จะทำให้ทิพยภาวะสมบูรณ์ได้
จากทรรศนะขององค์ดาไลลามะทั้งหมด พอสรุปได้ว่า แม้จะมีความเหมือนกันเชิงแนวคิดทฤษฎีอย่างไรก้ไม่สามารถรวมกันได้ ความพยายามที่จะผสมแนวคิดของผู้นำศาสนาเข้าด้วยกัน เช่น กรณีของพระพุทธเจ้ากับพระเยซู ก็เหมือนกันเอาศีรษะของจามรีใส่เข้าในตัวแกะ

      วิพากษ์แนวคิดที่ ๔
      จัดตัวเองอย่างรู้เท่าทันในโลกหลังยุคใหม่แล้วสร้างพุทธเกษตรเชิงประวัติศาสตร์

         ผู้เขียนเห็นด้วยกับอะกิซูกิ เรียวมินที่บอกว่า สถานการณ์ในโลกยุคใหม่และโลกหลังยุคใหม่นี้ ต้องไม่ใช่มิติส่วนบุคคล แต่ต้องเป็นมิติส่วนสังคมดังที่กลุ่มนักบวชนิชิเรนทำ สภาพของโลกปัจจุบัน เรายืนอยู่ที่ธรณีประตูแห่งโลกหลังยุคใหม่ และต้องรู้ตัวเองด้วยว่า ขณะนี้ทุกมิติแห่งพฤติกรรม ต้องโอบอุ้มมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ส่วนตัวแล้ว

         ปัญหาที่สังคมแห่งมนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ การไม่รู้เท่าทันตำแหน่งที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องศาสนา มีการแบ่งแยกและโต้แย้งแม้กระทั่งในหมู่ผู้นับถือศาสนาเดียวกัน ประเด็นการสร้างพุทธเกษตรนั้นไม่มีปัญหา ถ้ามีความเชื่อมั่นในพุทธภาวะที่อยู่ในตัวเอง แต่ผู้เขียนสงสัยว่า "พุทธเกษตรเชิงประวัติศาสตร์คืออะไร ?"

          อาจารย์ฮากุอิแห่งรินไซกล่าวว่า "อริยจริยาของพระโพธิสัตว์ เป็นบ่อเกิดแห่งพุทธเกษตร" ผู้เขียนจึงวิเคราะห์ต่อว่า "พุทธเกษตร" โดยนัยที่แท้จริงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสวรรค์แดนสุขาวดี แต่หมายถึงดินแดนของพระพุทธเจ้าในโลกนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การจัดตัวเองอย่างรู้เท่าทัน ปรับปรุงให้ทันสมัยในสิ่งที่ควรจะปรับปรุงให้ทันสมัย และพยายามเอาชนะความเจ็บป่วยทางใจที่เกิดจากการถือตัว(มีอีโก) หลังจากนั้นจึงสร้างแนวคิดพุทธภาวะมีอยู่ทุกทุกแห่ง

         สรุปจากประเด็นนี้ พุทธเกษตรเชิงประวัติศาสตร์ น่าจะหมายถึงดินแดนในฝัน เหมือนรัฐยูโทเปีย หรืออุตตรกุรุทวีป สร้างแนวคิดพุทธภาวะในตัวเอง ปลุกเร้าอุดมการณ์โพธิสัตว์ให้เกิดปรากฏในทุกทุกแห่ง ทำอริยจริยาของโพธิสัตว์ให้มีชีวิตชีวา


      วิพากษ์แนวคิดที่ ๕
      เคารพวิถีชีวิตแบบนักบวช พร้อมกับสร้างพุทธวิถีแบบฆราวาสขึ้นมา


         
แนวคิดที่ว่า ชาวพุทธควรสร้างวิถีแห่งพระพุทธศาสนาแบบฆราวาสแนวใหม่ขึ้นมา เรียวมินให้เหตุผลว่า ถ้าชาวพุทธยังใช้วิธีแบบวัด การประกาศพระศาสนาเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ซึ่งมีกฎระเบียบมาก ท่ามกลางกระแสโลกหลังยุคใหม่นี้ซึ่งซับซ้อน ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะต้านกระแสโลกได้ พระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่สอนพระศาสนาถูกวิจารณ์อย่างหนักในคราวทำผิดพระวินัย ซึ่งบั่นทอนกำลังใจ เกิดความท้อถอยได้โดยง่าย อะกิซูกิ เรียวมินคงจะมองเห็นว่า ในสหัสวรรษนี้ พระสงฆ์คงจะเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำต่อกระแสสังคมเรื่อยไป ต่อไปนี้ ฆราวาสต้องเข้ามามีส่วนร่วมเหมือนอย่างที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้กระทำมาแล้วในครั้งพุทธกาล เช่น กรณีนางวิสาขา มิคารมารดากล่าวตักเตือนท่าพระอุทายีซึ่งนั่งคุยกับหญิงสาวในที่ลับสองต่อสอง เมื่อพระอุทายีไม่เชื่อฟัง นางวิสาขาจึงนำความไปบอกภิกษุสงฆ์ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า และปัญหาได้รับการแก้ไขในที่สุด นี่คือรูปแบบแห่งศาสนาที่มหายานกำลังพัฒนาในปัจจุบัน

         ผู้เขียนเห็นด้วยในประเด็นที่ ๕ เกี่ยวกับการสร้างวิถีแห่งพระพุทธศาสนาแบบฆราวาส แต่พระพุทธศาสนาแบบวัดต้องรักษาไว้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารองค์กรบางจุดเท่านั้น ประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งระบบ เพื่อเปิดโลกทรรศน์ นับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง พระสงฆ์ในประเทศไทยปัจจุบันที่มีบทบาทในการบริหารองค์กรสงฆ์ ส่วนมากยึดติดอยู่กับพระพุทธศาสนาดั้งเดิม(เถรวาท/หีนยาน) แม้จะมีความรู้เรื่องมหายานอยู่บ้าง แต่ยังไม่ซาบซึ้งพอที่จะทำให้โลกทรรศน์เปิดกว้างได้

          รูปแบบของนักบวชเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าให้มีเฉพาะรูปแบบนักบวชฆราวาส(family priesthood) รักษาพระวินัยแบบอัตตสังวรโดยรวม(collectively self-disciplined) บทบัญญัติแห่งพระวินัยจะถูกลืมเลือนไป พระพุทธเจ้าทรงประสงค์จะให้รักษาพระวินัยที่เป็นบทบัญญัติไว้ เห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสกับพระอานนท์ จะมีคำว่า "วินัยใดที่เราบัญญัติไว้" การสังวรมี ๒ แบบ คือ
         (๑) ปาติโมกขสังวร ระวังรักษาพระปาติโมกข์ ทั้งในส่วนที่เป็นโอวาทปาติโมกข์และอาณปาติโมกข์ ถ
         (๒) อินทริยสังวร ระวังรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำเมื่อรับรู้อารมณ์ อินทริยสังวรนี่แหละคืออัตตสังวรโดยรวมถ
รูปแบบการถือบวชที่ใจเป็นสิ่งที่ต้องเน้นมากขึ้น พร้อม ๆ กับเชิดชูวิถีชีวิตแบบสมณะที่รักษาบทบัญญัติแห่งพระวินัยในกำแพงวัด ผู้เขียนเห็นว่า พระพุทธศาสนาที่แบ่งเป็นเถรวาทและมหายานในปัจจุบันดีอยู่แล้วเป็นส่วนมาก เถรวาทเน้นพระพุทธศาสนาแบบพระ มหายานเน้นพระพุทธศาสนาแบบฆราวาส เพียงแต่ต้องดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมโลกร่วมกันมากกว่าอดีตที่ผ่านมา ต้องทำกิจกรรมร่วมกันให้มาก


      ความสรุป

        อาการตื่นตัวในกระบวนการทางศาสนายุคปัจจุบัน น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้มีการพูดถึงเฉพาะโลกยุคใหม่ แต่พูดกันไปถึงโลกหลังยุคใหม่ ปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ หรือกรณีพิพาทกันระหว่างคนในศาสนากับชาวบ้านซึ่งในอดีตถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละศาสนา ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ละศาสนากำลังคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ผู้เขียนจึงรู้สึกสนใจที่แนวคิดอย่างนี้เกิดในหมู่นักบวชนิกายเซน ซึ่งปัจจุบันมีที่มั่นในญี่ปุ่น

         กิชิโมโตะ ไฮเดโอะกล่าวว่า ถ้าเดินไปตามชนบทในประเทศญี่ปุ่น เราจะพบว่าตัวเองแวดล้อมไปด้วยภาพทิวทัศน์แห่งใบไม้ร่วง ความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น ทำให้ต้องการแสดงความรู้สึกออกมา เปล่งอุทานเบา ๆ ว่า "อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวจังเลย" ในบรรยากาศเช่นนั้น เพียงคำนี้ประโยชน์ถือว่าสมบูรณ์ ให้ความหมายครบถ้วนแล้ว ภาษาญี่ปุ่นไม่นิยมระบุผู้กระทำ (ตัวประธาน ฉัน, เธอ, เขา)และสิ่งที่ถูกกระทำ ซึ่งแตกต่างจากภาษาตะวันตกที่ระผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำมาก ทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา

         ญี่ปุ่นมีคำถามมากในเชิงธุรกิจสังคม แต่ไม่มีคำถามมากเกี่ยวกับเรื่องศาสนา แม้จะมีผู้ก่อตั้งนิกายศาสนมาก แต่ไม่ได้เกิดจากการตั้งประเด็นอภิปรายกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ เป็นเพียงความรู้สึกด้านในที่เห็นว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก่อตั้งขึ้นกันขึ้นมา พระพุทธศาสนานิกายเซนคือตัวอย่างที่ได้ชัดเจนที่สุด

          ประเด็นต่าง ๆ ที่อะกิซูกิ เรียวมินเสนอไว้ คือ
          (๑) การสร้างแนวคิดกำจัดความเข้าใจผิดที่ว่า มหายานไม่มีพระพุทธเจ้า
          (๒) การเรียนรู้แก่นแท้นิกายของตน เชื่อมสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ตั้งนิกาย เพื่อย้อนกลับไปหาพระศากยมุนีพุทธะ (๓) การสร้างระบบสากัจฉากับต่างศาสนา และปลูกฝังแนวคิดศาสนาแห่งมนุษยชาติ
          (๔) การจัดตัวเองอย่างรู้เท่าทันในโลกหลังยุคใหม่แล้วสร้างพุทธเกษตรเชิงประวัติศาสตร์ หรือ
          (๕) การเคารพวิถีชีวิตแบบนักบวชพร้อมกับสร้างพุทธวิถีแบบฆราวาสขึ้นมา ถามว่า "ทั้งหมดนี้มีนัยสำคัญอย่างไร ?"

         นัยสำคัญมีอยู่ ๒ ส่วน
         ส่วนที่ ๑ การสร้างความรู้เข้าใจเข้าในแก่นแท้แห่งลัทธินิกายของตน ในขณะเดียวกันก็สร้างความเข้าใจร่วมกันในกลุ่มของตน
         ส่วนที่ ๒ การแสวงจุดร่วมกับลัทธินิกายอื่น ๆ

          อะซิกูซิ เรียวมินเขียนไว้ตอนหนึ่ง เกี่ยวกับความหมายแห่ง "สัตวะ"(sentient beings) ในพระพุทธศาสนา ภาษาอังกฤษคำนี้โดยทั่วไปหมายถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่ความหมายเฉพาะ หมายถึงมนุษยภาวะ(human beings) และเจาะจงเฉพาะมนุษย์ผู้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ผู้เขียนเห็นว่า เรียวมินกำลังพูดถึงวิถีแห่งมนุษยชาติภาวะที่แท้จริง และต้องเคารพวิถีแห่งมนุษยชาติภาวะ

          คำว่า "เคารพวิถีแห่งมนุษยชาติภาวะ" หมายถึง เคารพในหลักศาสนาของกันและกันนั่นเอง เราไม่ต้องกังวลหรอกว่าใครจะเดินทางถูกหรือผิดอย่างไร วิถีชีวิตของแต่ละคนจะเป็นตัวกำหนดจุดหมายสูงสุดแห่งวิถีชีวิตเชิงศาสนาให้เขาเอง มีสุภาษิตในพระพุทธศาสนาอยู่ว่า

         อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน
         อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ
         ในหมู่มนุษย์ คนจำนวนน้อยที่ข้ามถึงฝั่ง
         คนที่เหลือเลาะไปตามริมตลิ่งเท่านั้น

          เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือปัจจัยด้านศาสนา ปัจจัย ๔ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิต ย่อมไร้ความหมาย ถ้าขาดปัจจัยด้านศาสนา มีทรัพย์มหาศาล หากชีวิตไม่หลักศาสนา อาจไม่มีโอกาสได้ใช้ทรัพย์นั้นเลยก็ได้ และศาสนาที่แต่ละคนนับถือย่อมต่างกันโดยอุปนิสัยและบริบทแห่งสังคม เรื่องศาสนาจึงปฏิเสธและดูถูกกันไม่ได้ การปฏิเสธศาสนาเท่ากับปฏิเสธมนุษยชาติภาวะ ความถูก ความผิด ความมีเหตุผลและไม่มีเหตุผลของหลักการทางศาสนาเป็นเรื่องปกติ เพราะศาสนาส่วนมากไม่ได้เกิดจากผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดจากการอ้างเหตุผลเชิงตรรกะ ไม่ได้เกิดจากผลเชิงคณิตศาสตร์ แต่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกล้วน ๆ สมองมนุษย์แบ่งการทำงานเป็นซีกซ้ายและซีกขวา ซีกซ้ายเป็นเรื่องรูปธรรม การใช้สติปัญญาอภิปรายปัญหา วิทยาการโลกยุคใหม่เกิดจากการทำงานของสมองซีกซ้าย ส่วนซีกขวาเป็นเรื่องนามธรรม เรื่องอารมณ์ ลัทธิศาสนา หรือแม้การตรัสรู้ล้วนเกิดจากการทำงานของสมองซีกขวาทั้งสิ้น ศาสนาจึงเริ่มที่อารมณ์ความรู้สึก...

* บทความนี้พิมพ์เผยแพร่ในสารนิพนธ์ พุทธศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๔๕ ปีการศึกษา ๒๕๔๑
เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
(ที่มา: -)