บทความวิชาการ
ทศพิธราชธรรม: ๑๐ ตัวชี้วัดสำหรับผู้นำองค์กร
08 พ.ย. 59 | พระพุทธศาสนา
36532

ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.

ทศพิธราชธรรม: ๑๐ ตัวชี้วัดสำหรับผู้นำองค์กร

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2556)

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  


        เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ รับนิมนต์จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปบรรยายธรรม เรื่อง “ทศพิธราชธรรม: ธรรมะสำหรับผู้นำองค์กร” ในโอกาสที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดโครงการปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยมีนายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทศพิธราชธรรม” และมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทศพิธราชธรรม: ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งผู้มีเกียรติในวันนี้ประกอบด้วยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรม ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการลูกจ้างศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐกว่า ๕๐๐ คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายในครั้งนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์การทำงานทางวิชาการ ผู้เขียนจึงขอนำรายละเอียดบางส่วนของการบรรยายในนำเสนอเป็น “บทความสั้น”  ดังต่อไปนี้

เกริ่นนำ

        เมื่อวิเคราะห์แง่มุมที่สัมพันธ์กับบริบทของการนำเสนอหลักการ “ทศพิธราชธรรม”  เพื่อประยุกต์ และตีความให้หลักการดังกล่าวเป็น  “ธรรมะสำหรับผู้นำองค์กร” ตามความมุ่งหมายของการนำเสนอในงานนี้  คำว่า "ผู้นำ" ที่สามารถที่จะเทียบเคียงให้เข้ากับบริบทของการนำเสนอย่อมมีนัยที่สอดรับกับคำว่า "ราชา" ในพระพุทธศาสนา คำถามมีว่า คนที่ไม่ได้เป็นราชาจะสามารถเรียกขานว่า “เป็นผู้นำ” ในพระพุทธศาสนาได้หรือไม่? คำตอบคือ “ได้” และพระเถระผู้ที่สามารถยืนยันในประเด็นนี้คือ “พุทธทาสภิกขุ” หลวงพ่อชี้ว่า “ราชาไม่ได้แปลว่า King แต่ราชา แปลว่า พอใจ กล่าวคือ ผู้ใดก็ตามที่คิด พูด หรือกระทำการสิ่งใดแล้ว มหาชนพากันแซ่ซ้องสรรเจริญว่า พอใจ ผู้นั้นควรเรียกว่า ราชา” หากถือเอาตามคติของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ จะมีคำถามต่อไปว่า “ผู้นำคนใด คิด พูด หรือกระทำการไปแล้ว เหล่าโจรพากันสรรเสริญว่า พอใจ เราควรเรียกผู้นั้นว่าเป็นพระราชาด้วยใช้หรือไม่? คำตอบคือ อาจจะเรียกผู้นั้นได้ว่า “ราชาในหมู่โจร” แต่หากถือถามมติของพระพุทธศาสนาแล้ว ราชาที่ยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนานั้น “จะต้องเป็นคนหรือกลุ่มคนที่ทำให้ผู้อื่นพึงพอใจโดยธรรม” หากเป็นเช่นนี้ จำเป็นจะต้องตั้งคำถามต่อไปเช่นกัน คำว่า “โดยธรรม” หรือ “โดยชอบธรรม” นั้น มีแง่มุมที่สัมพันธ์และเกี่ยวข้องในประเด็นใดบ้าง การนำเสนอครั้งนี้ จะหาคำตอบโดยการอธิบายถึงพัฒนาการ และที่มาของคำว่า “ผู้นำ” ในความหมายของคำว่า “ราชา” และตอบประเด็นคำว่า “โดยธรรม” นั้น ครอบคลุมในประเด็นใดบ้าง อันจะนำไปสู่การใช้หลักการดังกล่าวพัฒนาผู้นำ หรือผู้ปกครองให้สามารถนำกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในองค์กร ชุมชน และสังคมได้อย่างมีความสุข เคารพ และให้เกียรติในศักดิ์ศรีของกันและกันต่อไป


พัฒนาการของ “ราชา” ในคัมภีร์อัคคัญญสูตร

        สังคมตามที่ปรากฏในอัคคัญสูตรนั้นเกิดภาวะวิกฤติ เพราะกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันเกิด “ความโลภ” จึงแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่นๆ รวมไปถึงสมบัติกลางของสังคมไปใช้สอยเพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงเกิดการตำหนิติเตียนต่อพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว ในบางครั้ง สามารถจับผู้กระทำผิดได้ แต่บางคนไม่ยอมรับความเป็นจริงว่าได้กระทำการดังกล่าว จึงทำให้ผู้สูญเสียทำร้ายร่างกายกลุ่มคนที่แย่งชิงทรัพยากรของตัวเองไป ในที่สุดแล้ว จึงนำไปสู่การปรึกษาหารือร่วมกันว่า “จำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องแต่งตั้งโดยการสมมติบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (มหาชนสมมต) เพื่อทำหน้าที่ในการ “ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ” โดยที่กลุ่มคนต่างๆ จะตอบแทนผู้ที่ทำหน้าที่นี้ด้วยการแบ่งปันทรัพย์ (ภาษี) ส่วนตัวเป็นการตอบแทนการทำหน้าที่ดังกล่าว

        หลังจากนั้น จึงนำไปสู่การกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำ ทั้งบุคลิกภายอก และคุณสมบัติภายใน และเชื้อเชิญว่า “มาเถิด ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียน ผู้ที่ควรติเตียน จบขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด และพวกเราจะแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ท่าน” ผู้นำขึ้นปกครองโดยมอบอำนาจให้บริหารจัดการบ้านเมืองตามมหาชนพากันสมมติ (มหาชนสมมต) แล้ว โดยมอบอำนาจให้ผู้นำเป็นใหญ่ในหน้าเพื่อให้มีหน้าที่ในการแบ่งพืชผลทางการเกษตร ผู้นำคนนั้น จึงได้รับการเรียกขานว่า “กษัตริย์” และเมื่อกษัตริย์ได้ตั้งใจทำหน้าที่แบ่งพืชผลทางเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จนมหาชนเกิดความพึงพอใจ มหาชนจึงได้พากันขนาดนามกษัตริย์อีกชื่อหนึ่งว่า “ราชา” ซึ่งหมายถึง “บุคคลผู้ที่ทำหน้าที่สร้างความพอใจให้แก่ประชาชนโดยธรรม

        ฉะนั้น ผู้นำที่มหาชนพากันสมมติ (มหาชนสมมต) ให้มีอำนาจในการแบ่งพืชผลทางการเกษตร (กษัตริย์) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “ทำอย่างไรจึงจะทำให้มหาชนเกิดความยินดี และพึงพอใจในการทำหน้าที่” (ราชา) ตัวแปรสำคัญที่จะเป็นกรอบในการทำให้มหาชนพากันเรียกขานผู้นำว่า “ราชา” นั้น คือ “โดยชอบธรรม” หรือ “โดยธรรม” ตามนัยนี้ จึงมีความเป็นที่จะต้องกำหนดตัวชี้วัดให้มี “ธรรมสำหรับราชา” ซึ่งธรรมสำหรับราชานั้นแบ่งออกเป็น ๒ ชุด คือ (๑) ชุดสำหรับการพัฒนาอารมณ์ของราชา ได้แก่ “ทศพิธราชธรรม” และ (๒) ธรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพความสามารถของราชา ได้แก่ “ราชสังคหวัตถุธรรม”

        กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับประเด็นพัฒนาการของผู้นำที่ได้รับการเรียกขานว่า “ราชา” ในพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร ราชา จึงแปลว่า “ผู้ที่ยังบุคคลเหล่าอื่นให้ยินดีโดยชอบธรรม” (ธมฺเมน ปเร รญฺเชติ) หมายถึง “ผู้ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนโดยธรรม” ตัว KPI สำหรับการชี้วัด คือ “ผู้นำที่ได้รับการสมมติจากมหาชนสามารถแบ่งบันแบ่งปันพืชผลทางการเกษตรจนทำ ให้ประชาชน หรือผู้ตามเกิดความยินดี/พึงพอใจโดยธรรม” คำว่า “โดยธรรม” ในที่นี้มีนัยถึงที่สะท้อนว่า ผู้นำจะต้องมีหลักการในการบริหารจัดการทั้ง ๒ มิติ คือ (๑) มิติด้านอารมณ์ (Emotion) ในบริบทนี้ หมายถึง “ทศพิธราชธรรม” และมิติด้านความรู้ความสามารถ (Wisdom) ในบริบทนี้ หมายถึง “ราชสังคหวัตถุธรรม” แต่ในการนำเสนอครั้งนี้ จะเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทศพิธราชธรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาอารมณ์ของผู้นำ หรือผู้ปกครองในมุมมองของพระพุทธศาสนา
 

มายาคติเกี่ยวกับทศพิธราชธรรม

        เมื่อกล่าวถึง “ทศพิธราชธรรม” กลุ่มคนจำนวนมากมักจะเข้าใจกันว่า “เป็นธรรมของราชา” หรือ “เป็นหลักปฏิบัติสำหรับราชา” เท่านั้น แต่เมื่อวิเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของหลักการชุดนี้ตามที่ปรากฏในอัคคัญสูตรซึ่งเป็นคัมภีร์หลักที่กล่าวถึงที่มาของคำว่า “ราชา” แล้ว พบว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ออกแบบหลักการนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับกลุ่มคนที่ได้รับการเรียนขานโดยชื่อว่า “ราชา” เท่านั้น หากทรงมุ่งเน้นให้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับ “กลุ่มคนชนชั้นปกครอง หรือผู้นำ” โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับใดก็ตาม ในขณะเดียวกัน คำว่า “ราชา” ในพระพุทธศาสนา จึงไม่ได้หมายถึง “King” ตามศัพท์บัญญัติที่ปรากฏในสังคมตะวันตก


ทศพิธราชธรรม: ธรรมะสำหรับราชา???

        มักจะมีคำกล่าว “ทศพิธราชธรรม” เป็นธรรมสำหรับราชาเท่านั้น หากเป็นไปในลักษณะนี้ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า “คน หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองย่อมไม่มีโอกาสที่จะเป็นราชาได้ใช่หรือไม่?” เนื่องจากว่าราชาสามารถที่จะเป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ผู้นำหรือผู้ปกครองไม่สามารถเป็นราชาได้ ด้วยเหตุที่ตัวเองไม่ได้มีสถานะเป็นราชา ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนาได้ชี้ชัดว่า “ผู้นำ หรือผู้ปกครองทุกคนสามารถเป็นราชาได้” แม้ว่าเขาเองจะไม่ได้มีสถานะเป็นราชาโดยสายเลือดก็ตาม เพราะคำว่า “ราชา” ในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง “คนหรือกลุ่มคนที่ทำให้คน หรือกลุ่มคนอื่นๆ พอใจโดยธรรม” ตามศัพท์บาลีที่ว่า “ธัมเมน ปเร รัญเชติ” ฉะนั้น ถ้าอธิบาย และให้คำจำกัดความตามความหมายที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา คนที่เป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองทุกคน ซึ่งคิด พูด หรือกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้คน หรือบุคคลอื่นๆ พึงใจโดยธรรม เราสามารถเรียกคนเหล่านั้นว่า “ราชา”


โจรเป็นราชาได้หรือไม่??

        แต่หากถือเอาตามนัยนี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า หากผู้นำ หรือปกครองครองคนใด หรือกลุ่มใดทำให้บุคคลอื่นพึงพอใจ ย่อมเหมาเรียกรวมว่า “ผู้นำ หรือผู้ปกครองกลุ่มนั้น ย่อมได้รับการเรียกขานว่าราชาทั้งสิ้นใช่หรือไม่? ตัวอย่างที่น่าสนใจประการหนึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนาคือ “ราชโจร” หรือ “ราชาในกลุ่มโจร” เพราะเมื่อโจรซึ่งเป็นผู้นำได้ทำหน้าที่แบ่งสันปันส่วนทรัพย์สมบัติที่แย่งชิงจากบุคคลอื่นมาแบ่งให้ลูกน้องจนทุกคนเกิดความพึงพอใจ เราจะสามารถเรียกหัวหน้าโจรว่าเป็น “ราชา” ได้หรือไม่? คำตอบคือ เราสามารถเรียกหัวหน้าโจรว่าเป็น “ราชาในหมู่โจร ราชาของชาวโจร ราชาของสมาคมโจร” ได้เช่นกัน ในกรณีที่สามารถทำให้ลูกน้องโจร หรือทำให้คนอื่นพอจากการแบ่งปันสมบัติที่เกิดจากการแย่งชิง แต่ตามนัยยะของพุทธศาสนา เราไม่สามารถเรียกขาน “ราชาในหมู่โจร” ว่าเป็น “ราชาแท้”ถึงแม้ว่าจะทำให้คนอื่นพอใจ เหตุผลสำคัญเพราะในพระพุทธศาสนาถือว่า การที่จะทำให้คนอื่นพอใจนั้นจะต้องใช้ธรรมเป็นตัวแปรสำคัญ ถามว่า “โจรใช้ธรรมหรือไม่?” อาจจะใช้ธรรมสำหรับหมู่โจร แต่ธรรมของหมู่โจรที่แย่งชิงทรัพย์สมบัติแล้วแบ่งปันด้วยความโลภนั้นนับเป็นอกุศลธรรม ในขณะที่ธรรมของคนที่เป็นผู้นำในฐานะเป็นราชานั้นดำเนินอยู่บนพื้นฐานของกุศลธรรม ฉะนั้น คำว่า “ราชา” ในบริบทนี้ จึงหมายถึงการที่ทำให้คนอื่นพอใจโดยธรรม ภาษาบาลีจึงใช้คำว่า “ธัมเมน ปเร รัญเชติ” หมายถึง ผู้ที่ทำให้คนอื่นพึงพอใจโดยธรรม เราจึงเรียกว่า “ราชา” ผู้นำ หรือผู้ปกครองคนใดก็ตามที่ทำให้คนอื่นพึงพอใจโดยธรรม เราจึงเรียกคนนั้นว่าเป็นราชา แต่ถ้าทำให้คนอื่นพึงพอใจโดยอธรรม เราเรียกคนนั้นว่าราชาในหมู่ของโจร

        คำถามมีว่า “โดยธรรม” มีนัยที่ครอบคลุมในประเด็นใดบ้าง จึงจะสามารถสะท้อนนัยของคำว่า “โดยธรรมอย่างสมบูรณ์” และสอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนา บุคคลที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นผู้นำโดยธรรมนั้น จำเป็นจะต้องมีธรรมเป็นใหญ่ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมกำกับ มีธรรมหล่อเลี้ยง คำว่าโดยธรรมคำนี้ จึงหมายถึงมีธรรมเป็นใหญ่ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมกำกับ มีธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ซึ่งมีแง่มุมที่แตกต่างจากการใช้อธรรมเป็นเครื่องมือกำกับ เราต้องแยกออกจากกัน ถ้าเป็นโจรจะต้องมีอธรรมเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงใจ แต่ถ้าเป็นราชาจะต้องมีธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ฉะนั้น คำว่า “โดยธรรม”ในบริบทนี้ จึงหมายถึง “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำ หรือผู้ปกครองให้ได้ชื่อว่าเป็น “ราชา”


ทศพิธราชธรรม: ธรรมะสำหรับพัฒนาอารมณ์ของผู้นำ

        ทศพิธราชธรรมเป็นหลักการสำคัญในการกล่อมเกลาอารมณ์ หรือเป็นธรรมที่หล่อเลี้ยงอารมณ์ของคนที่เป็นผู้นำเพื่อให้ผู้นำสามารถกำกับ และควบคุมอารมณ์ของผู้นำให้สามารถบริหารจัดการอารมณ์ และความรู้สึกของตัวเองให้มีสุขภาพจิตดี คุณภาพจิตดี และสมรรถภาพจิตดี จะเห็นว่า ทศพิศราชธรรม เป็นหลักปฏิบัติสำหรับกล่อมเกลาจิตใจเพื่อให้สามารถปรับใจให้สอดรับกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ และทดสอบจิตใจ และสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ไม่มีอคติ และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมเป็นสำคัญ

        คำถามมีว่า “เพราะเหตุใด? ทศพิธราชธรรมจึงต้องเน้นไปที่การพัฒนาให้ผู้นำ หรือผู้ปกครองมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) เหตุผลสำคัญคือ (๑) ผู้นำจะต้องเข้าไปสัมพันธ์กับคนหมู่มาก อีกทั้งสามารถให้คุณและโทษแก่คนจำนวนมาก และ (๒) ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้นำจะต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ เพราะว่าคน หรือกลุ่มคนที่จะเป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองได้นั้นจำเป็นจะต้องมีอารมณ์ที่สงบนิ่ง ไม่ต้องเป็นทาสของกิเลสที่เข้ามาท้าทายการตัดสินใจของผู้นำ และหากผู้นำ หรือผู้ปกครองมีสภาพทางอารมณ์ที่ไม่นิ่งเพียงพอ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำ หรือผู้ปกครองจะนำไปสู่ผลเสีย หรือหายนะที่จะเกิดขึ้นตามแก่ชุมชน หรือสังคมจนยากต่อการคาดเดาได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้น ผู้นำหรือผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องมี “หลักการทศพิศราชธรรม” เอาไว้เป็นเครื่องมือดำรงตน หรือครองตนให้สอดรับการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

        ตามหลักทางสรีรวิทยาแล้ว มนุษย์ประกอบด้วยสมองสองซีกคือ ซีกด้านซ้าย กับซีกด้านขวา สมองซีกด้านซ้ายนั้น จะเน้นเรื่องการใช้เหตุผลต่อการตัดสินใจเลือกที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในขณะที่สองซีกขวานั้น จะเน้นเรื่องอารมณ์ และความรู้สึก สมองด้านนี้จึงมีความอ่อนไหว และเอนเอียงไปตามตัวแปร หรือเงื่อนไขต่างๆ ที่เข้ามากระทบใจของตัวเอง เหตุผลที่พระพุทธศาสนานำเสนอหลักการทศพิธราชธรรมขึ้นมาเป็นตัวชี้วัด (Indicator) นั้นก็เพื่อให้ผู้นำได้ใช้หลักการนี้เป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาอารมณ์และความรู้สึกที่สัมพันธ์กับสมองซีกด้านขวา เพราะเมื่อผู้นำหรือผู้ปกครองได้ใช้หลักการนี้พัฒนาอารมณ์ (Emotion) ของตัวเอง จะส่งผลต่อการใช้ปัญญา (Wisdom) ในการตัดสินใจ หรือเลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เป็นไปในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น


จากอารมณ์สู่อาจม อาวุธ และอามิส

        จากตัวอย่างของวิกฤติผู้นำ หรือผู้ปกครองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น พบว่า หากผู้นำ หรือผู้ปกครองท่านใดไม่สามารถกำกับ หรือควบคุมอารมณ์ของตัวเองแล้ว ผู้นำจะพัฒนา “อารมณ์” ไปสู่ “อาจม” ซึ่งจะทำให้ผู้นำมีอารมณ์ที่เน่าเหม็นอยู่ตลอดเวลา และจะทำให้การคิด การพูด และการกระทำของตัวผู้นำอยู่ในสภาวะเน่าเหม็นเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้นำไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ โดยปล่อยให้อารมณ์เป็นใหญ่ครอบงำจิตใจของตัวเอง อาจจะเป็นผลให้ผู้นำพัฒนาอารมณ์ไปสู่ “อาวุธ” โดยการแปรอารมณ์ของตัวเองเป็นอาวุธอันแหลมคมและมีพลานุภาพรุนแรงเข้าไปทิ่มแทงกลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อน ครอบครัว ลูกน้อง จนขยายวงไปสู่องค์กร ชุมชน และสังคม ผลเสียที่จะตามมานอกจากนั้น การที่ผู้นำไม่สามารถควบคุมอารมณ์ต่อการอยากได้ผลประโยชน์มากจนเกินไป ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะได้มาตามทำนองครองธรรม อาจจะทำให้ผู้นำเห็นแก่ “อามิสสินจ้าง” ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนำมาเสนอเพื่อล่อตาล่อใจ (Temptation) ให้หลงใหลเคลิบเคลิ้มจนขาดความยั้งคิด ด้วยเหตุนี้ หลักการทศพิธราชธรรมจึงเป็นหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาอารมณ์ของผู้นำไม่ให้แปลงอารมณ์ไปสู่อาจมผสมตัวเป็นอาวุธจนไม่สามารถหยุดยั้งใจให้เห็นแก่อามิสสินจ้างได้


ทศพิธราชธรรม: วัคซีนป้องกันโรค Abuse of Function & Power

        การปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำ หรือผู้ปกครองในองค์กรภาครัฐในยุคปัจจุบัน มักจะก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ และการใช้อำนาจอยู่ตลอดเวลา จนเป็นที่มาของการฟ้องร้องตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ซึ่งตราว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” และในขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติได้ออกประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินการการตามความในมาตรา ๑๐๐ แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามทุจริต ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด ๙ ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม

        โดยหลักทั่วไปแล้ว ผู้นำในองค์กรของรัฐมักจะใช้อำนาจ ๒ อย่างเข้าไปสัมพันธ์กับการใช้อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานของตัวเอง คือ อำนาจที่มาพร้อมกับตำแหน่ง (Position Power) และอำนาจที่เกิดจากการสั่งของบารมีด้วยตัวเอง (Personal Power) แต่ปัญหาที่นำไปสู่การฟ้องร้องกันในยุคปัจจุบันเกิดจากการที่ผู้นำ หรือผู้ปกครองพยายามที่จะบิด หรือหาแนวทางที่จะทำให้ตัวเองมีอำนาจดำเนินการให้ได้ แม้ว่าหน้าที่ที่มีอยู่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามภาระงานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ได้ออกแบบเอาไว้ว่ามีขอบเขตกว้าง และแคบมากน้อยเพียงใดก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้นำไม่พยายามที่จะใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนด (Authority) แต่พยายามที่จะหาช่องทางใช้อำนาจการตัดสินใจส่วนตัวเข้าไปดำเนินการ ซึ่งจากกรณีศึกษาของผู้นำจำนวนมากมักจะพบกับวิกฤติการณ์จนนำไปสู่การไล่ออก หรือศาลได้พิพากษาสั่งลงโทษจากการใช้อำนาจในทางมิชอบ

        ด้วยเหตุนี้ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้นำพยายามจะบิด หรือตีความข้อข้อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ในทางมิชอบนั้น เกิดจากการที่ผู้นำหรือผู้ปกครองเหล่านั้นขาดทศพิธราชธรรม หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การที่ผู้นำไม่ยึดมั่น และดำรงตนอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงทำให้ผู้นำและผู้ปกครองจำนวนมากประสบกับวิกฤติการณ์ในการตัดสินใจสั่งการ หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกินขอบเขต และหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด การออกแบบหลักการทศพิธราชธรรมจึงมีจุดเน้นเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้นำให้มีอารมณ์ที่มั่นคงและเข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลโดยภาพรวมต่อการเลือก หรือตัดสินใจดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งหนึ่งอย่างรอบคอบสอดรับกับอำนาจ และหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการ


ทศพิธราชธรรม: ๑๐ ตัวชี้วัดความเป็นผู้นำ

        ดังที่ได้นำเสนอในในช่วงแรกแล้วว่า “ผู้นำ หรือผู้ปกครอง คือคนหรือกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการนำคนหรือกลุ่มคนให้บังเกิดความพอใจโดยธรรม” คำว่า “โดยธรรม” จึงมีนัยที่สะท้อน “หลักการทศพิธราชธรรม” ที่เป็นตัวแปรชี้วัดคุณค่าของการเป็นผู้นำ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “เป็นดัชนีชี้วัดลักษณะทางอารมณ์” ซึ่งจะส่งผลต่อการแสดงออกของผู้นำต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ชุมชน หรือสังคมที่ผู้นำเข้าไปเกี่ยวข้องและสัมพันธ์

        ทศพิธราชธรรมนั้น แม้โดยทั่วไปจะแปลว่า “ธรรมะสำหรับพระราชา ๑๐ ประการ” แต่หากจะถือเอาการแปลโดยมุ่งเน้นไปที่เจตนารมณ์ที่แท้จริงแล้ว ทศพิธราชธรรม หมายถึง “หลักการ หรือหลักปฏิบัติที่ผู้นำ/บุคคลที่จะทำให้มหาชน/คนอื่น/ผู้ตามเกิดความยินดีโดยชอบธรรม ซึ่งมี ๑๐ ประการ” กล่าวตามนัยนี้ ผู้นำ หรือบุคคลที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความพึงพอใจนั้น จะต้องมีตัวชี้วัด ๑๐ ประการ แต่หากวิเคราะห์ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น จะพบว่า เราสามารถแยกตัวชี้วัด ๑๐ ประการออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ กล่าวคือ (๑) รู้จักให้ (ทาน) รู้จักควบคุมพฤติกรรมของตนเอง (ศีล) รู้จักเสียสละ (ปริจาคะ) (๒) รู้จักซื่อตรง (อาชชวะ) รู้จักอ่อนโยน (มัททวะ) รู้จักยับยั้งชั่งใจ (ตปะ) และ (๓) รู้จักระงับโกรธ    (อักโกธะ) รู้จักการไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) รู้จักอดทน (อดทน) รู้จักหนักแน่น (อวิโรธนะ) 
   


        เหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การแบ่งทศพิธราชธรรมออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่นั้น เพราะมองว่าเป็นการจัดกลุ่มตามคุณภาพของกลุ่มธรรมที่ปรากฏเป็นหลักปฏิบัติ เนื่องจากว่ากลุ่มแรกเน้นไปที่หลักปฏิบัติเบื้องตัวซึ่งง่ายต่อการดำรงตัวดำรงตนของผู้นำอันจะส่งผลต่อการยอมรับของผู้ตาม ในขณะกลุ่มที่สองจะเน้นไปที่คุณสมบัติภายในมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและท้าทายต่อจิตวิญญาณของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำหรือผู้ปกครอง ถึงกระนั้น กลุ่มที่สองจะเป็นการแสดงออกในเชิงรับมากกว่า ส่วนกลุ่มที่สามนั้นมีนัยที่แสดงออกถึงแง่มุมในเชิงรุกต่อบุคคลอื่นๆ ที่ผู้นำจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติสมบัติ และการสัมพันธ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลอื่น หรือคู่กรณี หรือผู้ตาม สรุปแล้ว ชุดที่หนึ่งจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้นำ ชุดที่สองเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจของผู้นำ และชุดที่สามแม้จะสัมพันธ์กับจิตใจของผู้นำ แต่หลักการทั้งหมดในชุดที่สามจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ มากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดในการปฏิบัติ พร้อมทั้งตัวอย่างของผู้นำในยุคปัจจุบันประกอบการอธิบาย ดังต่อไปนี้


        (๑) รู้จักให้ (ทาน) หมายถึง คือ สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยงดู ช่วยเหลือเกื้อกูล และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่บุคคลอื่นๆ การที่ผู้นำ หรือผู้ปกครองจะสร้างการยอมรับนับถือแก่บุคคลอื่นๆ เพื่อให้การบริหารไปเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลนั้น สิ่งแรกที่ผู้นำจะต้องกระทำ คือ “การสร้างความเชื่อมั่น” (Trust) ซึ่งความเชื่อมั่นจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship) ระหว่างผู้นำและผู้ตาม จนทำให้ผู้ตามเกิดความกล้าในการที่จะแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาโดยไม่หวาดเกรงอำนาจของผู้นำ คำถามคือ “อะไรคือตัวแปรเบื้องต้นของการสร้างความเชื่อมั่น” คำตอบคือ “การให้” ด้วยเหตุนี้ กฎข้อแรกของการเป็นผู้นำคือ “ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักการให้” เพราะการให้จะเป็นใบเบิกทางให้ผู้ตามหรือคนอื่นๆ เกิดความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่า การมาของผู้นำนั้นไม่ได้มาเพื่อที่จะเอา (Take) แต่มาเพื่อที่จะให้ (Give) การให้ในบริบทนี้จึงเป็นการให้โดยธรรม ซึ่งหมายถึงอยู่บนทำนองครองธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในพระพุทธศาสนาคือ พระเจ้ามหาวิชิตราชการซึ่งมุ่งเน้นการแบ่งปันและจุนเจือบุคคลที่มีความต้องการปัจจัยภายนอก พระองค์ค้นพบความจริงประการหนึ่งว่า สิ่งที่เป็นศัตรู และท้าทายต่อความเป็นผู้นำของพระองค์คือ “ความยากจน” ของมวลอาณาประชาราษฎร์ ไม่ใช่หมู่โจร หรือกองทัพของรัฐอื่นๆ อาศัยเหตุผลดังกล่าว พระองค์จึงขอความร่วมมือมหาเศรษฐี และคฤหบดีที่มีโอกาส และกำลังทางการเงินมากกว่าเข้าไปช่วยสนับสนุน และช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เมื่อประชาชนอยู่ดีกินดี ย่อมส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองของพระองค์เอง

        การให้จึงเป็น “ประตูบานแรก” ที่จะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ได้เห็นพฤติกรรมของผู้นำ หรือผู้ปกครองที่แสดงออกต่อคนอื่นๆ ดังที่พระพุทธศาสนาได้เน้นว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของบุคคลอื่น” สิ่งที่สามารถชี้ชัดในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น นายโอเซ่ มูฮีก้า ประธานาธิบดีอุรุกวัย ซึ่งสถานีโทรทัศน์บีบีซีได้เรียกขานว่าเป็นประธานาธิบดีที่ยากจนที่สุดในโลก เพราะมีเงินฝากในธนาคารไม่ถึง ๑๐ ล้านบาท อีกทั้งได้มอบเงินเดือนประจำตำแหน่งส่วนใหญ่ให้แก่มูลนิธิเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ และขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน การอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ที่เรียบง่าย มีสวนปลูกพืชผักเอารับประทาน และมีพาหนะประจำตัวเพียงคันเดียวเท่านั้น อีกทั้งมีตำรวจนำขบวนเพียงค้นเดียว และมีตำรวจติดตามเพียงสองคน คำถามคือ “เพราะเหตุใด? ประชาชนชาวอุรุกวัยจึงไม่ละอายใจต่อชนชาติอื่นๆ ที่มีประธานาธิบดีที่ยากจนที่สุดในโลก” แต่คำตอบที่ประธานาธิบดีท่านนี้ ตอบผู้สื่อข่าวคือ ท่านไมได้ยากจนตามที่หลายคนตั้งคำถาม แต่ท่านมีความรู้สึกร่ำรวยด้วยคุณค่าความเป็นผู้นำที่ได้รู้จักที่จะให้คนอื่นๆ ซึ่งการให้ดังกล่าวเป็นที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับประชาชนชาวอุรุกวัยซึ่งเป็นผู้เลือกท่านขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

        การให้ประการที่สองนั้น คือ การให้ความรู้ หรือธรรมทาน การเป็นผู้นำนั้น จำเป็นจะต้องพัฒนา หรือยกระดับการให้วัตถุมาสู่องค์ความรู้แก่กลุ่มคนที่ทำงานร่วมกัน โดยการอธิบายสิ่งที่ยุ่งยาก ลึกซึ้ง และสับสนให้แก่บุคคลอื่นได้เข้าใจ และปฏิบัติตาม ผู้นำที่ดีจึงต้องสามารถที่จะโน้มน้าวใจผู้อื่นให้เข้าใจด้วยพูดที่ง่าย และนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจน ครอบคลุม และรอบด้านแก่คนอื่นๆ มิฉะนั้น จะนำไปสู่ความหวาดระแวงสงสัยต่อข้อมูลที่ได้รับการนำเสนอจากตัวผู้นำตามมา จะเห็นว่า ผู้นำในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของอังกฤษ เยอรมัน หรืออเมริกา มักจะมีความโดดเด่นต่อการนำเสนอข้อมูลที่นำไปสู่การสร้างรู้ความเข้าใจร่วมกันของประชาชน ดังนั้น ข้อมูลที่ได้รับการนำเสนอจึงไม่ได้มีนัยประดุจสารที่ส่งผ่านสื่อต่างๆ หากแต่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วย

        ส่วนการให้ประการที่สามนั้นเป็นการให้ที่สำคัญและสูงสุดในบรรดาการให้ทั้งหมด คือ “การให้อภัย” การให้อภัยมีความหมายทั้งในเชิงรุก และเชิงรับ การให้อภัยในเชิงรับหมายถึงการให้ความไม่กลัว การให้เช่นนี้จะทำให้การอยู่ร่วมกันนั้น ไม่ก่อให้เกิดความหวาดระแวง และสงสัยซึ่งกันและกัน การให้ในเชิงรุกหมายถึง การให้ยกโทษให้แก่คนอื่นๆ ที่กระทำผิดพลาดบกพร่อง เพื่อจะได้เปิดพื้นที่ความสัมพันธ์ให้สามารถเดินทางต่อไปได้ และสร้างสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน การให้อภัยนั้นเป็นการให้ที่สำคัญต่อภาวะการนำของตัวผู้นำเอง เพราะจะทำให้ผู้ตามกล้าที่จะทำ และตัดสินใจ อันเป็นการสร้างความมั่นใจต่อการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง และหากเกิดความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการขาดความเข้าใจ และขาดทักษะ ย่อมจะนำไปสู่การเรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การให้อภัยจึงเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำในขั้นที่สาม

        (๒) รู้จักควบคุมพฤติกรรม (ศีล) หมายถึง การสำรวมพฤติกรรมทางกาย และการระมัดระวังในการใช้คำพูดต่อสาธารณะ เพราะพฤติกรรมทั้งทางกายและวาจานั้นจะมีผลต่อการเป็นแบบอย่าง (Role Model) ในการนำต่อกลุ่มคนต่างๆ ในชุมชน และสังคม อีกทั้งจะนำมาซึ่งการเคารพนับถือ และเชื่อมั่นจากผู้อื่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น คำว่า “ศีล” ของผู้นำนั้น เป็นการสะท้อนแง่มุมส่วนตัวของผู้นำเอง (Personality) และสะท้อนแง่มุมของผู้นำที่จะต้องฉายภาพความเป็นตัวตนต่อทั้งการควบคุมพฤติกรรมทั้งแสดงออก และการพูดต่อสาธารณะ ในขณะเดียวกัน หากมองในอีกมุมหนึ่ง ศีลเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถยืนยันคุณค่าของตัวผู้นำเองว่า มีคุณลักษณะที่ทำให้สังคมเกิดความไว้วางใจได้

        ด้วยเหตุนี้ ศีล ๕ จึงเป็นเครื่องหมายเบื้องต้นในการยืนยันคุณสมบัติของการเป็นผู้นำ ทั้งในแง่ของการเคารพ และให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่ทุจริตคอรัปชั่น การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนจนเป็นที่มาของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การยึดมั่นในคุณค่าครอบครัวในฐานะเป็นรากฐานของการพัฒนาชุมชนและสังคม การสื่อสารระหว่างกันและกันบนฐานของความจริง และการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข

        ตัวอย่างทั่วไปในยุคปัจจุบันจะพบว่า ผู้นำ หรือผู้ปกครองจำนวนมากมักจะดำรงตัวดำรงตนบนฐานของศีลธรรมอันดีงาม แต่การละเลยประเด็นนี้ มักจะนำมาซึ่งวิกฤติการณ์ที่ทำให้ผู้นำไม่สามารถแสดงภาวการณ์นำได้อย่างเต็มภาคภูมิ เช่น การแสดงออกในทางเพศที่ไม่เหมาะสมในทำเนียบขาวของนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อเจ้าหน้าที่ฝึกงานในทำเนียบขาว หรือแม้กระทั่งการที่นายแอนโทนี ไวเนอร์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนิวยอร์กได้ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือส่งภาพที่ไม่เหมาะสมให้แก่สตรีจำนวนมาก และเมื่อความจริงปรากฏจึงส่งผลในเชิงลบและนำไปสู่การลาออกจากสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด แม้ว่าจะมีความสามารถ และได้รับการพยากรณ์จากสื่อทั่วไปว่า อาจจะกลายเป็นคู่ชิงประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในอนาคตก็ตาม

        ในอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นข่าวไปทั่วโลก คือ ในขณะที่กำลังเข้าสู่พิธีของการแถลงถวายข่าวร่วมกับนายเซบาสเตียน ประธานาธิบดีชีลี นายเคลาส์ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็กสนใจปากกาด้ามหนึ่ง จึงได้หยิบปากกาที่วางอยู่บนโต๊ะ โดยการสอดลงไปใต้โต๊ะ และสอดเข้าไปในกระเป๋าเสื้อของตัวเอง ภาพดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดออกไปสู่สาธารณชนจำนวนมาก จึงทำให้กลุ่มคนต่างๆ พากันวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นการขโมยปาก ถึงแม้ว่าจะมีการพยายามอธิบายว่า ผู้นำของท่านดังกล่าวมีสิทธิ์ที่จะได้รับมอบปากกาเป็นของที่ระลึกก็ตาม จะเห็นว่า ไม่ว่าจะมีการอธิบายเหตุผลเพื่อให้เกิดความชอบธรรมอย่างไรก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว ประธานาธิบดีท่านดังกล่าวไดรับผลกระทบจากปากกาด้ามเดียวที่ท่านชมชอบ แม้จะมีราคาค่างวดเพียงน้อยนิดก็ตาม ประเด็นนี้ทำให้เราเห็นว่า ผู้นำจำนวนไม่น้อยที่อาจจะสูญเสียลักษณ์ และภาวะในการนำอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของตนเองด้วยเข้าใจว่า “สิ่งนั้นเป็นสิ่งเล็กน้อย” เท่านั้น แต่จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ สิ่งเล็กน้อยได้ทำงานภาพลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำจำนวน

        (๓) รู้จักเสียสละ (ปริจาค) หมายถึง การที่จะเป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองที่สมบูรณ์นั้น ผู้นำจำเป็นต้องเสียสละความสุขสำราญ หรือผลประโยชน์ และความต้องการส่วนตน หรือกลุ่มของตน โดยผู้นำที่แท้จริงนั้นสามารถเสียสละได้กระแม้ทั่งชีวิตตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า “จงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ จงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และจงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม” ซึ่งดำรงตนให้เหมาะแก่ความเป็น “ธรรมราชา” นั้น จำนวนอย่างยิ่งที่จะต้องเสียสละความสุข และผลประโยชน์ส่วนตน เพื่ออุทิศตัวอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของมหาชน ดังปฐมบรมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ถึงกระนั้น ผู้นำจำนวนหนึ่งได้ละเลยแนวทางดังกล่าว

        ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างพฤติกรรมของประธานาธิบดีฟิลิบปินส์ นายเบนิกโน อาคีโนที่มีความชื่นชอบรถปอร์เช่ และในขณะเดียวกัน แม้ท่านจะครอบตนเป็นโสด แต่ท่านชอบสะสมรถปอร์เช่จำนวนมาก และวันหนึ่ง เมื่อท่านเดินทางไปเปิดงานและเยี่ยมชมงานมอร์เตอร์โชว์ จึงเกิดความประทับใจรถปอร์เช่คันใหม่ จึงตัดสินซื้อรถอีกคันด้วยเงินส่วนตัวของท่านเอง แต่ปรากฏว่า ภายหลังที่ท่านขับรถคันดังกล่าวไปทำภารกิจต่างๆ จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากออกออกมาประท้วงตามท้องถนนต่อพฤติกรรมดังกล่าว และเผาหุ่นรถปอร์เช่ที่ท่านซื้อมาด้วยเงินส่วนตัว โดยให้เหตุผลว่า ในแต่ละปีนั้น ประชาชนจำนวนมากประสบกับปัญหาอุทกภัย และไร้ที่อยู่อาศัย แต่ในทางกลับกันประธานาธิบดีได้เงินส่วนตัวไปซื้อรถปอร์เช่คันละหลายล้านบาท พฤติกรรมดังกล่าวจึงไม่น่าจะเหมาะสมต่อการดำรงในตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่สนใจความทุกข์ยากของประชาชน ในที่สุดแล้ว ประธานาธิบดีจึงตัดสินใจขาดรถปอร์เช่ และนำเงินที่ได้ไปสร้างบ้านให้แก่ประชาชนได้อยู่อาศัย เพื่อรักษาความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อการดำรงตนในตำแหน่งประธานาธิบดีของตัวเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้กลายเป็นข้อเตือนใจแก่ผู้นำและปกครองว่า ในบางครั้งผู้นำอาจจะมีความสนใจ และต้องการส่วนตน อีกทั้งผู้นำบางท่านอาจจะมีศักยภาพในการที่จะซื้อหาสิ่งต่างๆ มาตอบสนองความต้องการตนได้ แต่ถึงกระนั้น หากการดำเนินการดังกล่าวไม่สอดรับความเป็นไปในชุมชนหรือสังคมที่กำลังทุกข์ยากลำบากในด้านความเป็นจำเป็นขั้นพื้นฐาน ก็อาจจะทำให้ผู้นำไม่ได้รับการยอมรับในการดำรงตนในฐานะเป็นบุคคลที่จะต้องเสียสละประโยชน์สุขเพื่อกลุ่มคนอื่นๆ ในชุมชนและสังคมได้

        สรุปแล้ว การเป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองที่ดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการเตือนตัวให้พร้อมที่จะเป็นทั้ง “ผู้เสีย” และ “ผู้สละ” ความสุขส่วนตน และยินยอมพร้อมใจที่จะอุทิศตนเพื่อจะทำหน้าที่อันจะก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูน และความสุขแก่มหาชนทั่วไป

        (๔) รู้จักซื่อตรง (อาชชวะ) หมายถึง ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน คำว่า “ซื่อตรง” ในบริบทนี้หมายถึง “ความซื่อตรงต่อธรรม” ไม่ได้หมายถึงการซื่อตรงต่อคน ซึ่งลักษณะการซื่อตรงนั้นเหมือนกับกระสวยของการตำหูก เมื่อใดก็ตามที่คนตำหูกดันกระสวยเข้าไปในหูแล้ว ตัวกระสวยวิ่งตรงออกไปอีกด้านของหูกโดยไม่ติดขัดกับด้านใดด้านหนึ่งของตัวผ้า ลักษณะเช่นนี้ เราเรียกว่า “ซื่อตรง”

        ในสถานการณ์กลุ่มคนจำนวนมักจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อความซื่อตรงว่า “ขาดความยืดหยุ่น หัวโบราณ ทำให้ไม่มีเพื่อนพ้อง และผลของความซื่อตรงอาจจะทำให้ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน และวิชาชีพ” ซึ่งความซื่อตรงในลักษณะดังกล่าวมักจะสะท้อนความซื่อตรงเทียม เพราะความซื่อตรงเทียมมักจะขึ้นตรงกับเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาสัมพันธ์ แต่ความซื่อตรงแท้นั้น จะไม่ขึ้นกับตัวแปรหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความซื่อตรงแท้จะขึ้นอยู่กับธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ประพฤติปฏิบัติ 

        ตัวอย่างที่อาจจะเทียบเคียงในประเด็นนี้ คือกรณีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความซื่อตรงระหว่างจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งวันหนึ่งเป็นวันเกิดของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าไปหา ท่านจอมพล ป. ฯ พร้อมกับจูงสุนัข ๑ ตัว เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่ท่านจอมพล ป.ฯ เนื่องในวันเกิด และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำเรียนจอมพล ป.ฯ ว่า จะจงรักภักดี และซื่อตรงประดุจสุนัขตัวที่จูงมามอบให้ในวันนี้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ดำเนินการยึดอำนาจจากจอมพล ป.ฯ ซึ่งข้ออ้างในการยึดอำนาจโดยภาพรวมอาจจะตีความได้ว่า ท่านให้ค่าความซื่อตรงยึดโยงกับผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง อันหมายถึง ท่านต้องการจะย้ำเตือนให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า ท่านซื่อตรงต่อธรรม จึงต้องดำเนินการในลักษณะนั้น

        ในประเด็นเดียวกันนี้ นายโนห์ มู เฮียน อดีตประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้ ได้ตัดสินใจกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากการที่ภรรยาของท่านและคนใกล้ชิดไปรับเงินสินบทของนักธุรกิจของคนอื่น และผลการสืบสวนได้ชี้ชัดว่าบุคคลใกล้ชิดของท่านได้เข้าไปเกี่ยวข้องการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวจริง จึงทำให้ท่านตัดสินใจกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย และได้เขียนจดหมายเพื่อบอกเล่าความอับอายที่เกิดขึ้นแก่ตัวท่านที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในการทำงานในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี

        จะเห็นว่า ความซื่อตรงต่อธรรมนั้นจะดำรงอยู่บนฐานของความละอายชั่วกลัวบาปตามหลักของหิริโอตัปปะ จึงทำให้ผู้นำรู้สึกทนต่อสภาพความอับอายที่เกิดขึ้นแก่ตัวเองและครอบครัวไม่ได้ นอกจากนี้ ความซื่อตรง (Honesty) จะเป็นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ (Trust) แก่บุคคลทั่วไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับผู้นำ หรือผู้ปกครอง และเมื่อเกิดความไว้วางใจมากยิ่งขึ้นจะส่งผลต่อความความสัมพันธ์ (Relationship) ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ระหว่างผู้นำกับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม จากเหตุผลเช่นนี้ ผู้นำจึงจำเป็นจะต้องซื่อตรงต่อผู้ใต้ปกครองทุกคน โดยมิอาจแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติที่จะซื่อตรงกับบางคน และไม่ซื่อตรงกับบางคน มิฉะนั้นแล้ว ผู้นำย่อมไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ใต้ปกครองซื่อตรงต่อตัวผู้นำได้ทุกคนเช่นเดียวกัน 

        (๕) รู้จักอ่อนโยน (มัททวะ) หมายถึง การที่ผู้นำจะต้องมีอัธยาศัย ไมตรีที่ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคายกระด้าง ถือตัวถือตน มีความงามสง่าในท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ในการดำรงตัวดำรงตนเป็นผู้นำนั้น คุณลักษณ์ของความอ่อนโยนเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับตัวท่าทีของผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีดังกล่าวเริ่มต้นจากใจของบุคคลที่เป็นผู้นำที่พร้อมจะอ่อนน้อมถ่อมตน และเริ่มต้นที่จะอ่อนโยนเข้าไปหากลุ่มคนต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับ และชักจูงกลุ่มคนต่างๆ ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน เพราะการจะนำคนไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ความแข็งกระด่างเป็นเครื่องมือในการเชื่อมสมาน

        นักคิดและนักปฏิบัติการด้านการเมืองคนสำคัญท่านหนึ่งในประเทศไทย คือ “ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม” ได้กล่าวถึงคุณลักษณ์ของผู้นำที่สมบูรณ์ว่าจะต้องประกอบไปด้วย “จังหวะ เวลา เสนา จักขุมา และธรรมะ” การอ่อนโยนจะทำให้ผู้นำได้ “เสนา” เข้ามาช่วยกิจการต่างๆ ของผู้นำที่มุ่งมั่นจะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่องค์กรและสังคม ดังนั้น การจะ “โยน” สิ่งดีและมีคุณค่าแก่คนอื่นๆ นั้น จำเป็นที่จะต้อง “อ่อน” ในเบื้องต้น เพราะหากผู้นำไม่สามารถที่จะปรับตัวปรับใจให้อ่อนแล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะโยนสิ่งต่างๆ ไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการและประสงค์จะให้เป็นไปได้

        แนวทางที่เสนอโดย ดร.วิษณุ เครืองามได้นำเสนอนั้น สอดรับกับหลักการของพระพุทธศาสนาที่เน้นให้ผู้นำจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่คนอื่นๆ (นิสสยสัมปันโน) ด้วยเหตุนี้ ผู้นำจึงจำเป็นต้องใช้ความอ่อนโยนเข้าไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ดังนั้น ผู้นำที่ดีจำเป็นต้องแสวงหามิตรมากกว่าการสร้างศัตรู เพราะศัตรูมีคนเดียวกับนับว่ามากเพียงพอที่จะขัดขวางและทำลายอุดมการณ์และความต้องการของผู้นำได้ ดังจะเห็นได้จากมหาตมะ คานธี อับราฮัม ลินคอร์น จอห์น เอฟ เคเนดี้ และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มหาบุรุษเหล่านั้น แม้จะสร้างคุณูปการด้านสันติภาพแก่โลกใบนี้ แต่ต้องสูญเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าสลดเพราะมีศัตรูอย่างน้อยเพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่ในการใช้ปืนสังหารด้วยความเกลียดชังอันเกิดจากอคติส่วนตัว

        ถึงกระนั้น ผู้นำจำนวนไม่น้อยที่หันมาแปรศัตรูให้กลายเป็นมิตร ดังจะเห็นได้จากนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาท่านปัจจุบัน ที่ครั้งหนึ่งแม้จะต่อสู้กับนางฮิลลาลี คลินตัน เพื่อแย่งชิงการเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครต แต่เมื่อนายโอบามาชนะนางฮิลลาลี และแข็งขันกับนายจอห์น แมคเคน ผู้แทนพรรคลิพับริกัน จนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นายโอมาบาได้เชิญนางฮิลลาลีให้ดำรงตำแหน่งเป็นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยวลีการเชิญที่ไพเราะว่า “ประเทศสหรัฐอเมริกาจะโชคดีมาก หากนางฮิลลาลีมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” จะเห็นว่า คนโชคดีไม่ใช่นายบารัก หากแต่เป็นชาวอเมริกาทั้งประเทศ และเมื่อเกิดการเจรจาเพื่อขอเชลยศึกษาจากเกาหลีเหนือก็ดี หรือกรณีการระดมเงินเพื่อสนับสนุน และฟื้นฟูประเทศเฮติต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว นายบารักได้เชิญให้นายบิล คลันตันในฐานะสามีของนางฮิลลาลีเข้ามาช่วยดำเนินการโดยตลอด

        ในกรณีของนายเนลสัน เมนเดล่า อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ก็เช่นเดียวกัน ภายหลังที่ติดคุกมาถึง ๒๗ ปี และเมื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายเคลิก ชนชาติผิดขาว ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีรักษาการที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา และอังกฤษ เมื่อเนลสันชนะการเลือกตั้ง ท่านได้แต่งตั้งให้เคลิกในฐานะเป็นคู่ปรับดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ ๑ ซึ่งหากวิเคราะห์โดยทั่วไปแล้วถือว่าเสียงอย่างยิ่งต่อการแย่งชิงตำแหน่งกลับคืน แต่ถึงกระนั้น เนลสันเองได้แสดงออกถึงความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน โดยการสนับสนุนชาวผิวขาวซึ่งเล่นกีฬารักบี้ และเชิญคนแอฟริกาใต้มาร่วมกันเชียร์ จนในที่สุด ทีมรักบี้แอฟริกาใต้ สามารถเอาชนะคู่แข่งที่แสนแข็งแกร่งอย่างนิวซีแลนด์ ก้าวเป็นแชมป์รักบี้โลกในบ้านตัวเอง ยามที่ต้องการชัยชนะอย่างยิ่งยวดได้สำเร็จ จนเป็นที่มาของการเรียกการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศนี้ว่าเป็น “การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอนาคตของชาติ” (Game That Changed a Nation)

        นอกจากนี้แล้ว ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกกรณีคือ ประโยคที่ว่า “วิธีการทำลายศัตรูที่ดีที่สุด คือ จงนำศัตรูมาเป็นมิตร” ซึ่งอับราฮัม ลินคอร์นในฐานะประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของอเมริกาได้แสดงให้ทุกคนได้ประจักษ์ โดยการเชื่อมไมตรีกับทหารหนุ่มที่มีชื่อว่าเอ็ดวิน แสตนตัน แม้ว่าเอ็ดวินจะดุร้าย และแสดงออกถึงความไม่เคารพอับราฮัมมาเพียงใดก็ตาม แต่เนื่องจากทหารหนุ่มท่านนี้เป็นผู้ที่เก่ง และมีความสามารถ เมื่อเกิดสงครามระหว่างชาวเหนือกับชาวใต้ในประเทศสหรัฐอเมริกา อับราฮัมมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของชนในชาติ จึงพยายามที่จะเข้าไปพูดคุยด้วยความเยือกเย็น เคารพ และให้เกียรติอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้ว อับราฮัมจึงได้ทหารหนุ่มคนนี้มาเป็นหัวหน้าที่ในการสร้างไมตรีกับกลุ่มคนต่างๆ ในอเมริกา และเอ็ดวินได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอเมริกาภายหลังที่อับราฮัมเสียชีวิตจากการลอบทำร้ายของกลุ่มคนที่เกลียดชัง

        การที่ผู้นำ หรือผู้ปกครองท่านใดก็ตามน้อมตัวน้อมตนเข้าไปหากลุ่มบุคคลที่พยายามจะเรียกขานว่าตัวเองเป็นศัตรู โดยการมองให้ความใส่ใจว่า กลุ่มคนที่ปรากฏกายอยู่รอบข้างนั้นเป็นมิตรไม่ใช่ศัตรู ย่อมจะทำให้เกิดพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกได้ และที่สำคัญก็คือ คนกลุ่มแรกที่จะพอใจจากท่าทีอ่อนโยนของผู้นำคือ ศัตรูนั่นเอง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง คนหรือกลุ่มคนที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นศัตรูจะกลายเป็นที่คนกลับมาผู้นำ หรือผู้ปกครองว่า “ราชา” ได้อย่างสนิทใจ และพร้อมที่จะอุทิศตัวอุทิศตนกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อตอบแทนคุณค่าความดี และความไว้เนื้อหาเชื่อใจที่ผู้นำมีให้

        กล่าวโดยสรุป กลุ่มคนทั่วไปอาจจะคิดเกลียดชังผู้นำ หรือมองว่า “ผู้นำ” เป็นศัตรูของเขาได้ แต่ผู้นำ หรือบุคคลที่จะก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองนั้นไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งคิด หรือแสดงออกว่า กลุ่มคนทั่วไปนั้นเป็นศัตรูของเขา หรือแสดงออกซึ่งความโกรธ เกลียด เคียดแค้นชิงชังกลุ่มคนอื่นๆ เพราะมิฉะนั้น ภาพลักษณ์ดังกล่าว จะมีผลต่อความชอบธรรมในการนำของตัวผู้นำทั้งในปัจจุบันและอนาคต ฉะนั้น หน้าที่หลักของผู้นำคือการน้อมกายและน้อมใจเข้าไปเชื่อมสมานไมตรีต่อคนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในชุมชนและสังคม ไม่ว่ากลุ่มคนต่างๆ จะมีฐานะยากดีมีจนมากน้อยเพียงใด หรือมียศถาบรรดาศักดิ์สูงต่ำมากน้อยกว่ากัน

        (๖) รู้จักยับยั้งชั่งใจ (ตปะ) หมายถึง ผู้นำจำเป็นต้องฝึกฝนพัฒนาจิตใจให้สามารถทนต่อกิเลส หรือสิ่งยั่วที่เข้ามากระทบจิตใจ ข่มใจมิให้ความอยากได้ (ตัณหา) อยากใหญ่ (มานะ) และจิตใจที่คับแคบ (ทิฐิ) เข้ามาครอบครอง และย่ำยีจิตใจ อีกทั้งมีจิตใจที่มั่นคงสามารถระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นวิถีชีวิตที่เสมอต้นเสมอปลาย และมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินกิจกรรมที่ทรงคุณค่าแก่บุคคลอื่นๆ ในชุมชนและสังคม

        ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อการดำรงตนของการเป็นผู้นำในสถานการณ์ปัจจุบัน และผู้นำมักจะตกอยู่ภายในอิทธิพล และก่อให้ความหายนะทั้งในชีวิตและการทำงาน คือ “อำนาจ” ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยย้ำเตือนผู้นำมาโดยตลอดว่า “ผู้นำได้ยศแล้วไม่ควรเมา” ถึงกระนั้น ผู้นำจำนวนมากมักจะติดหล่มของอำนาจในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าอำนาจที่เกิดจากหน้าที่การงาน และการเงิน ตัวอย่างสำคัญที่ชี้ชัดในประเด็นนี้คือ “อิคารัส” หนุ่มคนนี้ติดเกาะกับคุณพ่อตั้งแต่เยาว์วัย และมุ่งหวังที่จะออกจากเกาะ จึงพยายามปรารภเรื่องนี้กับคุณพ่ออย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้น คุณพ่อได้ย้ำให้เตือนให้อิคารัส (Icarus) อดทน เพื่อรอให้ร่างกายลูกชายเข้มแข็งมากกว่านี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป หนุ่มอิคารัสเติบใหญ่และมีร่างกายเข้มแข็งเพียงพอ พ่อจึงเริ่มนำขนนกที่ตัวเองได้สะสมตั้งแต่อิคารัสยังเยาว์วัยออกมาถักทอเป็นปีกนก และวันหนึ่งเมื่ออากาศแจ่มใส พ่อจึงชวนอิคารัสขึ้นไปบนเขา และนำปีกนกที่ตัวเองถักไว้มารัดเอาไว้ที่แขนทั้งสองข้าง ในขณะเดียวกัน คุณพ่อได้เตือนอิราคัสว่า เมื่อใช้ปีกทะยานออกจากเกาะไปแล้ว ให้รีบประคองปีกร่อนลงโดยเร็ว อย่าทะยานบินขึ้นไปจนเหนือขอบเมฆ หลังจากนั้น ทั้งคู่จึงทะยานบินออกจากเกาะ ในขณะที่พ่อร่อนลงในพื้นที่ของทะเลแล้ว แต่อิคารัสกลับเพลิดเพลินกับการบิน และได้กระพือปีกให้ลอยขึ้นไปเหนือเมฆขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะนั้น แสงอาทิตย์ได้สาดส่องไปที่ปีกทั้งสองข้าง และขนนกบางส่วนเริ่มหลุดออกจากปีกนก เพราะพ่อไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดด้วยเกรงลูกชายจะหวาดกลัวว่า พ่อไม่สามารถใช้เชือกรัดปีกนกทั้งหมดเข้าหากันได้ เพราะเชือกที่ใช้รัดนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงต้องใช้ขี้ผึ้งยาเอาไว้ ในที่สุด อิคารัสจึงตกลงไปตายในทะเลลึกอย่างน่าสยดสยอง

        จากแง่มุมของอิคารัสทำให้เราได้เห็นแง่มุมบางประเด็นเกี่ยวกับคนที่เป็นผู้นำว่า ผู้นำส่วนใหญ่มักจะประสบความหายนะ เพราะความหลงใหลได้ปลื้ม และเพลิดเพลินกับอำนาจที่ตัวเองได้รับมา จนนำไปสู่การใช้อำนาจโดยขาดความยั้งคิดว่าสอดรับกับกฎหมาย จริยธรรม และกติกาของสังคมหรือไม่ และหลายสถานการณ์ที่ผู้นำพยายามจะบิดให้ตัวเองมีอำนาจ และหน้าที่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อำนาจและหน้าที่ที่ผู้นำพยายามจะบิดนั้น อาจจะไม่สอดรับกับความเป็นจริงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น หากผู้นำไม่ระมัดระวังการใช้อำนาจ หรือใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะพลัดหลงเข้าไปสู่วังวนของความขัดแย้งและความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ หากผู้นำไม่พยายามที่จะยับยั้งชั่งใจ เตือนใจ และระมัดระวังใจของตัวเองแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่ผู้นำจะพาตัวเองออกไปจากหุบเหวของความทุกข์ในบั้นปลาย ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้นำจำนวนมากประสบชาตากรรมหลังจากที่ตัวเองหมดอำนาจที่จะให้คุณหรือโทษแก่บุคคลอื่น

        กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้นำ หรือผู้ปกครองจึงต้องมีความยับยั้งชั่งใจในขณะที่อารมณ์ของความอยากได้เข้ามากระทบใจของตัวเอง มิฉะนั้นแล้ว ผู้นำเองจะไม่ต่างจากนักมวยที่ซ้อมมาไม่ดี หรือขาดเทคนิคในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ขับขัน จึงทำให้คู่ชกสามารถเลือกชก และน๊อกคู่ปรับได้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกันผู้นำที่ได้รับแรงยั่วยุจากพลังของอามิสสินจ้างหรือลาภและสักการะ หากจิตขาดภูมิคุ้มกัน หรือขาดการยับยั้งชั่งใจแล้ว ย่อมเป็นการง่ายที่จะคล้อยตามแรงผลักของสิ่งยั่วยุ (Temptation) ด้วยเหตุนี้ ผู้นำจึงต้องมีจิตใจที่แข็งกล้า มีฤทธิ์เดชในการเผากิเลส คือความอยากได้โดยไร้ขีดจำกัด โดยไม่สอดรับกับกฎหมายของบ้านเมือง ผู้นำจึงจำเป็นต้องใช้เดชโดยการเผากิเลสไม่ให้เข้ามาครอบครองและกินพื้นที่ของคุณธรรมความดีที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน 

        (๗) รู้จักระงับความโกรธ (อักโกธะ) หมายถึง ผู้นำ หรือผู้ปกครองไม่ควรแสดงอาการเกรี้ยวกราด และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความโกรธ เพราะผลเสียที่ตามมาจะก่อให้เกิดการวินิจฉัยความ หรือตัดสินใจดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดความผิดพลาดจนสูญเสียความเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า “ฆ่าความโกรธเสียได้ ย่อมอยู่เป็นสุข” (โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ) เหตุผลสำคัญที่พระองค์ต้องตรัสเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไม่สามารถฆ่าความโกรธเกลียดได้ ความโกรธจะกลายเป็นอาวุธสำคัญที่จะเข้ามาทิ่มแทงผู้นำ” เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำเกิดความโกรธ เกลียด หรือชิงชัง จะทำให้ “ความรัก” ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มกำลัง เพื่อที่จะเปิดพื้นที่ของหัวใจให้ผู้นำมอง หรือประเมินค่ากลุ่มคนอื่นๆ ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลกที่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตายเฉกเช่นเดียวกัน

        การย้ำเตือนให้ผู้นำระงับความโกรธย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสโอกาสให้ผู้นำเริ่มต้นที่จะรักคนอื่นมากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว การรักคนอื่นมีค่าทั้งไปทั้งกลับ เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำรักคนอื่น ห่วงใยและใส่ใจผู้อื่น ผู้อื่นจะหันกลับมาใส่ใจ และรักผู้นำหรือผู้ปกครองเหล่านั้นเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ธรรมชาติจึงย้ำสอนให้ผู้นำจำเป็นต้องระงับความโกรธ และเปิดโอกาสให้หัวใจตัวเองได้เรียนรู้ที่จะรักคนอื่นมากยิ่งขึ้น

        วรรณคดีเรื่อง “สามก๊ก” ในตอนที่ว่าด้วย “การยึดเมืองของเตียวหุย” นั้น ได้สะท้อนแง่มุมบางประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ขงเบ้งได้วางแผนให้เตียมหุยไปยึดเมืองชายแดนที่ติดกับโจโฉเพื่อทำเป็นเขตกันชน และได้ส่งเตียวหุยไปยึดเมืองพร้อมกับสั่งการว่า “การยึดเมืองนั้นไม่ได้หมายถึงยึดพื้นที่ของเมือง แต่หมายถึงการยึดใจพลเมือง” เมื่อเตียวหุยยึดเมืองได้สำเร็จ แทนที่จะจดจำคำย้ำเตือนของขงเบ้ง แต่ได้ใช้เวลาจำนวนมากเสพสุรามัย แสดงอาการโกรธเกรี้ยว เฆี้ยนตีพลทหาร จึงทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งอดทนต่อพฤติกรรมดังกล่าวไม่ไหว จึงมอบเหล้าเตียมหุยจนหลับไหลไม่ได้สติ และดำเนินการตัดคอเหียวหุยไปส่งให้โจโฉเพื่อสร้างความดีความชอบ 

        จะเห็นว่า การยึด หรือครอบครองที่แท้จริง ไม่ได้มีนัยที่หมายถึงการยึดแต่เพียงสัญลักษณ์เชิงกายภาพภายนอกเช่น การยึดสถานที่ทำงาน หรือยึดองค์กร หากแต่เป็นการยึดในเชิงคุณภาพซึ่งหมายถึงจิตใจของคนกลุ่มคนที่ทำงานในองค์กรหรือประเทศชาติบ้านเมือง ฉะนั้น การแสดงอาการโกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชัง และด่าท่อกันและกันด้วยความโกรธ ย่อมไม่สามารถที่จะทำให้ผู้นำได้แนวร่วมในการสร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชน หรือองค์กรได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำโกรธเคือง จะเปิดโอกาสให้สมองซีกขวาทำงานหนักมากขึ้น จนเป็นเหตุให้สมองซีกซ้ายไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ปัญญาในการคิด นึก ตรึกตรองข้อดี และข้อเสีย เมื่อสมองซีกขวาทำหน้าที่ในการโกรธเกลียด ย่อมทำให้ความโกรธเกลียดกินพื้นที่สมองซีกซ้ายมาจนทำให้ความโกรธเกลียดบดบังพลังของปัญญา (Wisdom) ของสมองซีกซ้ายเสียสิ้น จนทำให้ผู้นำไม่สามารถที่จะใช้ปัญญาในการคิดวิเคราะห์เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคลต่างๆ ได้อย่างชัดเจน จนนำไปสู่การคิด การพูด และการแสดงออกในเชิงลบซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์โดยรวมของตัวผู้นำ แง่มุมของความโกรธเกลียดนั้น อุปมาเช่นเดียวกับการที่เราตีลูกบอลเข้าฝาผนัง หากเราตีด้วยความรุนแรง ลูกบอลอาจจะกระดอนกลับมากระแทกใบหน้าของเรา ฉันใด การที่ผู้นำแสดงอาการโกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชังผู้อื่นอย่างรุนแรง ย่อมทำให้อานุภาพของความโกรธ เกลียด และชิงชังของบุคคลอื่นๆ ย้อนกลับมาหาผู้นำ หรือผู้ปกครองได้เช่นเดียวกัน และบางครั้ง ผู้นำอาจจะต้องสังเวยชีวิตต่อความโกรธเกลียดเช่นเดียวกันเตียวหุยได้ประสบมาแล้ว

        (๘) รู้จักไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) หมายถึง การไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง คำว่า “การเบียดเบียน” ในบริบทนี้ อาจจะมีนัยที่เกิดขึ้นจากตัวผู้นำเข้าไปเบียดเบียนโดยตรง และเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ใกล้ชิดผู้นำได้ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปเบียดเบียนกลุ่มคนอื่นโดยมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การดำเนินนโยบายสาธารณะ” ของผู้นำ หรือผู้ปกครองที่ขาดความรอบคอบ และขาดป้องกันไม่ให้เกิดการทุจรติอย่างครบวงจร จึงเปิดโอกาสให้เกิดการเบียดเบียน และเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันตามมา

        ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในประเด็นนี้ คือ “กรณีการปฏิวัติดอกมะลิ” (Jasmine Revolution) จุดเริ่มต้นที่สำคัญประการหนึ่งของการล่มสลายของผู้นำทั้งในประเทศตูนีเซีย (Tunisia) และตะวันออกกลางนั้น จุดเริ่มแรกมีต้นเค้ามาจากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของตำรวจเทศกิจหญิงคนหนึ่งในประเทศตูนีเซีย จนนำไปสู่การเบียดเบียนบุคคลอื่นโดยการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมเข้าไปบีบบังคับเรียกรับผลประโยชน์จากหนุ่มขายผลไม้ที่ชื่อ “เบาอะซีซี” (Bouazizi) เมื่อเขาไม่สามารถที่จะสนองตอบต่อความต้องการของเทศกิจหญิงต่อการเรียกรับสินบนได้ จึงทำให้เธอตัดสินใจจับ และยึดของกลางที่เป็นรถขายผลไม้ ตาชั่ง และผลไม้ทั้งหมด ผลจากการได้รับการปฏิบัติดังกล่าว จึงทำให้เขาตัดสินใจไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ว่าฯ แม้ว่าเขาจะเรียกร้องขอเข้าพบผู้ว่าฯ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พบทำให้เขายื่นคำขาดว่า “หากผู้ว่าไม่ออกมารับเรื่องร้องเรียนภายในบ่ายสามโมง เขาจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย” เมื่อเวลาเดินทางมาถึงเวลาที่เขากำหนดไว้ แต่ผู้ว่าฯ ไม่ออกมาพบจึงทำให้เขาใช้น้ำมันที่เตรียมตัวมาราดร่างกาย และจุดไฟเผาตัวตาย ผลจากการเผาตัวเอง ทำให้ไฟไหม้ร่างกายไปเกือบ ๙๐% และแม้จะพยายามรักษาเพียงใด สุดท้ายแล้วเขาก็สิ้นใจตายอันเกิดจากบาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ ประเด็นที่เทศกิจหญิงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจนนำไปสู่การเบียนเบียนเบาอะซีซี และเป็นที่มาของการเผ่าตัวเองจนเสียชีวิตนั้น ได้ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งชาติอาหรับ” (Arab Spring) เพราะประชาชนจำนวนมากได้ลุกขึ้นเดินขบวนเพื่อโค่นล้มอำนาจของผู้ปกครองในตะวันออกกลางโดยเริ่มจากประเทศตูนีเซียไปถึงประเทศต่างๆ เช่น อียิปต์ ลิเบีย เยเมน บาห์เรน ซีเรีย อัลจีเรีย จอร์แดน และเลบานอน เหตุผลในการเดินขบวนเพื่อโค่นล้มอำนาจนั้น มีสาเหตุมาจากการที่ประชาชนจำนวนมากรับรู้ได้ว่า ผู้นำประเทศเหล่านั้นใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมในการบริหาร อีกทั้งปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติราชการโดยใช้อำนาจเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ด้วยการทุจรติต่อหน้าที่ จนนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของผู้ประชาชน

        จะเห็นว่า “การใช้อำนาจที่ปราศจากการชอบธรรมเข้าไปเบียดเบียนคนอื่น” นั้น แม้จะเริ่มต้นจากเทศกิจหญิงคนหนึ่ง แต่ก็ทำให้เราได้เห็นถึงอานุภาพการทำลายแบบสะท้อนกลับได้อย่างน่าสะพรึงกลัว ฉะนั้น การที่ผู้นำ หรือผู้ปกครองได้ใช้อำนาจ หรือหน้าที่ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดเข้าไปกระทำการเบียดเบียนกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยกว่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมนั้น ย่อมจะเกิดผลเสียตามมา

        ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงย้ำเตือนว่า “บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นอริยะ จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น หรือสัตว์อื่น” เพราะการเบียดเบียนจะเป็นเปิดโอกาสให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ รังแกข่มเหงซึ่งกันและกันอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยเหตุนี้ การเป็นผู้นำจึงต้องหยุดยั้งการเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลก และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ได้ช่วยเหลือเกื้อกูนซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

        (๙) รู้จักอดทน (ขันติ) หมายถึง การอดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อลอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม การอดทนเป็นคุณสมบัติอันล้ำค่าอีกประการหนึ่งของผู้นำ ในพระพุทธศาสนาถือว่า “ความอดทนเป็นธรรมที่ทำให้ผู้นำเกิดความงาม” สิ่งสำคัญของผู้นำ หรือผู้ปกครองคือ “ความนิ่ง” เราจะหาความนิ่งได้จากที่แห่งใด หากเราไม่สามารถหาได้จากความอดทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอดทนเพื่อที่จะรอจังหวะเพื่อวิเคราะห์เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาแวดล้อม จะเห็นว่าในขณะที่ผู้นำกำลังเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานอย่างต่อเนื่องและรุนแรงนั้น คุณสมบัติสำคัญที่จะก่อให้เกิดชัยชนะ หรือพ่ายแพ้คือ “ความอดทน”
เนลสัน เมนเดล่า (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นตัวแบบ (Role Model) ท่านหนึ่งที่น่าสนใจ และเรียนรู้ เพราะถือว่าท่านเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ดำเนินชีวิต โดยการเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาทดสอบชีวิตด้วยความอดทน ผู้นำท่านนี้ติดคุกยาวนานกว่า ๒๗ ปี และที่น่าสนใจคือ ท่านเป็นประธานาธิบดีเมื่ออายุ ๗๔ ปี ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า “การติดคุกทำให้ผมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น” ผลจากการอยู่ในคุก ๒๗ ปีทำให้ท่านได้มีโอกาสตรึกตรองการใช้ชีวิตในช่วงของวัยหนุ่ม ที่มุ่งหวังที่จะต่อสู้กับคนผิวขาวเพื่อที่จะเอาชนะให้ได้ โดยไม่ได้สนใจว่า “วิธีการที่จะได้มาซึ่งชัยชนะนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ และทรัพย์สินจำนวนมากก็ตาม” การอยู่ในคุกทำให้ท่านคิดหาวิธีการที่จะต่อสู้กับคนผิวขาวในรูปแบบใหม่

        ท่านเริ่มต้นด้วยการเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะได้เข้าใจความคิดและวัฒนธรรมอังกฤษ ดังวลีที่ท่านย้ำเสมอว่า “ถ้าคุณพูดกับผู้ชายคนหนึ่งด้วยภาษาที่เขาพอจะเข้าใจได้ ภาษานั้นจะสัมผัสได้อย่างมากเพียงแค่หัวของเขา แต่ถ้าคุณใช้ภาษาของเขาพูดกับเขา ภาษานั้นจะสัมผัสได้ถึงใจของเขา” (If you talk to a man in a language he understands, that goes to his head. If you talk to him in his language, that goes to his heart) ในขณะเดียวกัน ท่านอดทนที่จะเรียนรู้ และอยู่ร่วมกับชนชาติผิวขาวที่เข้ามายึดครองพื้นที่ของแอฟริกาใต้ได้อย่างสันติสุข จะเห็นว่า ผู้นำจะต้องดำเนินชีวิตด้วย “ความอดทน” ทั้งในองค์กร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เนลสันได้พิสูจน์ให้ผู้นำทั่วโลกได้เห็นถึงคุณธรรมข้อนี้ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ที่ท่านได้พิสูจน์ให้ชาวอังกฤษและคนทั่วโลกได้ตระหนักรู้ถึงความอดทนต่อการเรียกร้องเอกราชจากประเทศอังกฤษโดยมิได้ผูกใจเจ็บต่อการกระทำของทหารอังกฤษที่ได้สั่งจำคุกผ่านประโยคที่ว่า “ผู้อ่อนแอไม่สามารถให้อภัยใครได้ เพราะว่าการให้อภัยเป็นความเข้มแข็งอดทนของผู้นำเท่านั้น” (The weak can never forgive. Forgiveness is the attribute of the strong)

        กล่าวโดยสรุปแล้ว จุดสำคัญเกี่ยวกับความอดทนของผู้นำนั้น หมายถึง การอดทนต่อวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาพิสูจน์ใจของผู้นำ ความอดทนทำให้ผู้นำเกิดความงดงาม และนิ่งสงบมากยิ่งขึ้น เพราะจิตใจที่นิ่งสงบจะเป็นตัวแปรสำคัญให้ผู้นำได้ใช้เวลาในการคิด นึก ตรึกตรองทางเลือกต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะก้าวข้ามปัญหา อุปสรรค และนำองค์กร ชุมชนและสังคมไปสู่เส้นทางที่อุดมไปด้วยความหวัง และมีทางออกมากยิ่งขึ้น

        (๑๐) รู้จักหนักแน่น (อวิโรธนะ) หมายถึง การวางใจให้หนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความ เอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป หลักการของการเป็นผู้นำในข้อนี้ถือได้ว่าเป็นหลักการขั้นสูงสุดสำหรับบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้ง หรือสมมติขึ้นสู่ตำแหน่งของผู้นำ และผู้นำจำเป็นจะต้องยึดหลักการนี้เอาไว้ให้มั่นคง

        คำถามมีว่า “เพราะเหตุใด? ผู้นำจะต้องยึดหลักการนี้ให้มั่นคง” คำตอบคือ กลุ่มคนจำนวนมากที่เกิดความขัดแย้ง และต้องการทางเลือก หรือทางออกที่เหมาะสมนั้น จำเป็นจะต้องหากลุ่มคนที่ชี้ขาดหรือตัดสินใจเลือกแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเกิดความไม่เข้าใจขึ้นมาในองค์กร กลุ่มคนที่อยู่ภายในการบริหารงานขององค์กรจะคำนึงถึงผู้นำในองค์กรเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ดำเนินการชี้ทางออก รวมไปถึงแนวปฏิบัติของคนในองค์กร

        ด้วยเหตุนี้ ผู้นำจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหนักแน่น เพื่อดำรงตนอยู่ในครรลองแห่งความเที่ยงธรรม เพราะความเที่ยงธรรมของผู้นำนั้น หมายถึง การไม่คลาดเคลื่อนไปจากธรรมด้วยแรงผลักของอคติ (Bias) ไม่ว่าจะเป็นการลำเอียงเพราะรัก การลำเอียงเพราะโกรธเกลียดเคียดแค้น การลำเอียงเพราะลุ่มหลง และการลำเอียงเพราะความกลัวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะแบบอย่างประการหนึ่งของการมิให้ผู้นำตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความอคติ คือ “เลดี้จัสติส” (Lady Justice) ซึ่งศาลสถิตยุติธรรมทั่วโลกมักจะนำรูปปั้นของเธอไปประดิษฐานไว้หน้าศาลทั้งในยุโรป และอเมริกา ลักษณะส่วนใหญ่ของเลดี้จัสติสจะใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้างซึ่งหมายถึงการป้องกันมิให้เกิดอคติในใจในขณะที่กำลังดำเนินการชี้ถูกและผิด มือหนึ่งถือดาบซึ่งหมายถึงการตัดสินด้วยความเด็ดขาด อีกมือหนึ่งถือตราชั่งหมายถึงการทรงความเที่ยงตรงที่สะท้อนถึงการตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม เพื่อให้ผู้นำสามารถข่มคนที่ควรข่ม และยกย่องบุคคลที่ควรยกย่องมากยิ่งขึ้น (นิคคันเห นิคคะหาระหัง ปัคคันเห ปัคคะหาระหัง)

        ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการดำรงตนของผู้นำ หรือผู้ปกครองในข้อที่ ๑๐ นี้จึงเน้น และให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการใช้อำนาจด้วยความหนักแน่นซึ่งแฝงเอาไว้ด้วยความเที่ยงธรรม และพร้อมที่จะหยิบยื่นความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในองค์กร ชุมชน และสังคม โดยไม่มีการแบ่งแยก ให้เกิดความแปลกแยก และแตกแยกกันในที่สุด ความหนักแน่นจะเป็นปราการในการป้องกันความไว้วางใจเพื่อมิให้ผู้คนในสังคมเกิดความหวาดระแวงสงสัยในพฤติกรรมของผู้นำต่อการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผล หรือข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง และหากผู้นำสามารถดำรงตนอยู่บนฐานของหลักการข้อนี้แล้ว เชื่อมั่นว่า จะทำให้ความสัมพันธ์ของสังคมที่อาศัยร่วมกันได้รับการพัฒนาให้เป็นไปในเชิงบวก และทำให้สังคมมีภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้น

        หลักการทั้ง ๑๐ ข้อข้างต้น เป็นหลักปฏิบัติสำหรับการกำกับ ควบคุม และพัฒนาอารมณ์ของผู้นำให้มีความฉลาดทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น เหตุผลสำคัญเพราะผู้นำ หรือผู้ที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความพอใจตามที่เรียกขานว่า “ราชา” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมี “จิตใจที่สงบนิ่ง” ในขณะที่เผชิญหน้ากับอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาประทบจิตใจของตัวเอง ความนิ่งจึงมีผลต่อการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นราชา


บทส่งท้าย

        บทความเรื่องนี้ มุ่งเน้นที่จะตอบคำถามตั้งแต่เบื้องต้นว่า “ผู้นำหรือผู้ปกครองทุกคนสามารถเป็นราชาได้หรือไม่?” ผลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตีความทำให้พบว่า ผู้นำ หรือผู้ปกครองทุกคนในพระพุทธศาสนานั้นสามารถที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นราชาได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เพราะหลักการสำคัญ หรือตัวชี้วัดในการเป็นผู้นำของพระพุทธศาสนามุ่งเน้นไปที่ “การทำให้ผู้อื่นเกิดความพึงพอใจในการนำของตัวผู้นำ” ถึงกระนั้น การสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้อื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำรงอยู่บนฐานของธรรม กล่าวคือ อาศัยธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติตนของผู้นำ ด้วยเหตุนี้ ในพระพุทธศาสนาจึงได้นำเสนอหลัก “ทศพิธราชธรรม ๑๐ ข้อ” เป็นดัชนีชี้วัดคุณค่าต่อภาวะการนำของผู้นำ โดยสามารถแยกตัวชี้วัด ๑๐ ประการออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ กล่าวคือ (๑) รู้จักให้ (ทาน) รู้จักควบคุมพฤติกรรมของตนเอง (ศีล) (๒) รู้จักเสียสละ (ปริจาคะ) รู้จักซื่อตรง (อาชชวะ) รู้จักอ่อนโยน (มัททวะ) รู้จักยับยั้งชั่งใจ (ตปะ) และ (๓) รู้จักระงับโกรธ (อักโกธะ) รู้จักการไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) รู้จักอดทน (อดทน) รู้จักหนักแน่น (อวิโรธนะ)

        วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคปัจจุบันนี้ถือได้ว่ามีความท้าทายต่อจิตวิญญาณของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “ผู้นำ หรือผู้ปกครอง” บุคคลกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างชุมชนหรือสังคมให้เกิดสันติสุข ทั้งในแง่ของการบังคับใช้กฎเกณฑ์ และกติกาเพื่อไม่ให้กลุ่มคนในองค์กรเอารัดเอาเปรียบ และทำร้ายซึ่งกันซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการใช้วิสัยทัศน์เพื่อที่จะนำองค์กรให้ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และความสุขสวัสดี โดยการดึงกลุ่มคนต่างๆ เข้ามาร่วมพัฒนาองค์กรให้เกิดความเป็นเอกภาพ ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้นำ หรือบุคคลที่ก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้นำจำเป็นที่จะต้องทำให้ทุกคน หรือคนจำนวนมากเกิดความพึงพอใจ แม้ว่าหลักการทางรัฐศาสตร์จะอธิบายไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะผู้นำจะทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในองค์กร ชุมชน หรือสังคม เกิดความพึงพอใจ แต่จะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้กลุ่มคนไม่พอใจ หรือเกลียดผู้นำน้อยที่สุด” แต่หากผู้นำบริหารจัดการองค์กรโดยธรรม คือนำหลัก “ทศพิธราชธรรม” ทั้ง ๑๐ ดังที่ได้กล่าวแล้วมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ย่อมนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า “ผู้นำย่อมสามารถที่จะทำให้คนหรือกลุ่มคนอื่นๆ เกิดความพอใจแก่ผู้ตาม หรือกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในองค์กร ชุมชน หรือสังคม”
 

เชิญโหลดเป็นไฟล์หนังสือ PDF

ปกหนังสือ
เนื้อหา

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)