ผู้แต่ง ::
เทศกาลสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย
โดย กิตติพงศ์ ดารักษ์
“สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า สํกฺรานฺติ แปลว่า ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น ย้ายที่ เคลื่อนที่ กล่าวคือ เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีใหม่ สำหรับประเทศไทยถือว่าวันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่กรุงสุโขทัย ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงใหม่ยึดตามสากลนิยมว่าวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนไทยแล้วยังถือว่า วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตามประเพณีดั้งเดิมตราบเท่าถึงปัจจุบัน
|
ความเป็นมาเกี่ยวกับสงกรานต์ มีตำนานเล่าขานสืบกันมา ดังปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ความว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับพวกนักเลงสุรา มีนักเลงสุราครอบครัวหนึ่งมีบุตรสองคนมีผิวพรรณเปล่งปลั่งเหมือนดังทอง วันหนึ่ง นักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี ฝ่ายเศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดเจ้าจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติมากก็จริงแต่ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติก็สูญเปล่า ส่วนเรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่า เศรษฐีเกิดความละอายและน้อยใจ ต่อจากนั้นมา ก็ทำพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรถึง ๓ ปี ก็ไม่ได้ผล อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศรีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทรอันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้งแล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคมพิณพาทย์ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำให้พระไทรเกิดความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์กราบทูลให้ทรงทราบ พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดแล้วตั้งชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร” เศรษฐีปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใกล้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้รู้ภาษานกและเรียนจบไตรเพท (ศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์ ในสมัยพระเวท มี ๓ คัมภีร์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท) ต่อมาได้เป็นอาจารย์ผู้บอกมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง
ในขณะนั้นชาวมนุษย์ทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และท้าวกบิลพรหมอีกองค์หนึ่งว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อท้าวกบิลพรหมทราบเรื่องเกี่ยวกับ ธรรมบาลกุมาร จึงได้ลงมาทายปัญหากับธรรมบาลกุมาร ปัญหามี ๓ ข้อ แต่มีข้อสัญญากันว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้จะต้องถูกตัดศีรษะ และถ้าหากธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะตนบูชาธรรมบาลกุมาร ปัญหาทั้ง ๓ ข้อ มีดังนี้
ข้อ ๑ เช้าราศรีอยู่แห่งใด
ข้อ ๒ เที่ยงราศรีอยู่แห่งใด
ข้อ ๓ ค่ำราศรีอยู่แห่งใด
เมื่อธรรมบาลกุมารได้ฟังปัญหาของท้าวกบิลพรหมก็ไม่สามารถตอบได้ในขณะนั้น จึงขอเวลา ๗ วัน เพื่อคิดหาคำตอบ
ครั้นเวลาล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถคิดคำตอบได้ คิดว่าในวันพรุ่งนี้คงต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหมเป็นแน่แท้ จำเราหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า คิดได้เช่นนั้นแล้วจึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น ซึ่งบนต้นตาลนั้นมีนกอินทรีสองผัวเมียทำรังอาศัยอยู่ ธรรมบาลกุมารได้ยินเสียงนกอินทรีทั้งสองสนทนากัน นางนกอินทรีถามนกอินทรีผู้เป็นผัวว่า
“พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารกินที่แห่งใด”
“พรุ่งนี้เราจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสียเพราะทายปัญหาไม่ได้” นกอินทรีผู้เป็นผัวบอก
“แล้วปัญหานั้นมีว่าอย่างไรหรือ” นางนกอินทรีถามต่อ
“ปัญหามีอยู่ว่า เช้าราศรีอยู่แห่งใด เที่ยงราศรีอยู่แห่งใด
ค่ำราศรีอยู่แห่งใด” นกอินทรีผู้เป็นผัวบอกปัญหาของท้าวกบิลพรหม
“ปัญหานี้จะแก้ว่าอย่างไรหรือ” นางนกอินทรีถาม
จากนั้นนกอินทรีผู้เป็นผัวก็ได้เฉลยคำตอบให้นางนกอินทรีผู้เป็นเมียฟัง ฝ่ายธรรมบาลกุมารได้ฟังการสนทนาของนกอินทรีสองผัวเมียสนทนากันจึงได้รู้คำตอบว่าคืออะไร จึงเดินกลับไปยังปราสาทของตน
วันรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมกลับมาทวงถามคำตอบตามสัญญา ธรรมบาลกุมารจึงตอบปัญหาของท้าวกบิลพรหมตามที่นกอินทรีผู้เป็นผัวเฉลยให้นางนกอินทรีว่า เวลาเช้าราศรีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำลางหน้า เวลาเที่ยงราศรีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศรีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
เมื่อธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงทำตามสัญญาคือ ตัดศีรษะตัวเองบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ศีรษะของท้าวกบิลพรหมนั้นถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็ไหม้ไปทั่วโลก ถ้าทิ้งไว้ในอากาศฝนก็จะแล้ง และถ้าจะทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ องค์ อันเป็นบริจาริกาของพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าตนจะตัดศีรษะบูชา ธรรมบาลกุมาร จึงให้เทพธิดาเอาพานมารับศีรษะ กล่าวเสร็จก็ตัดศีรษะส่งให้เทพธิดาองค์ใหญ่ นางเทพธิดาจึงเอาพานมารองรับพระเศียรของบิดาไว้แล้วแห่ทำประทักษิณรองเขาพระสุเมร แล้วอัญเชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ ครั้นถึงครับกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่ง เป็นวันสงกรานต์ นางเทพธิดาทั้ง ๗ องค์ จึงพลัดกันมาอัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรทุกปี เทพธิดาทั้ง ๗ ของท้าวกบิลพรหม ชาวมนุษย์เรียกว่า “นางสงกรานต์”
สำหรับเทพธิดาทั้ง ๗ นั้น มีชื่อและเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ดังนี้
องค์ที่ ๑ ชื่อว่า “ทุงษะ” ทัดดอกทับทิม มีเครื่องประดับเป็น ปัทมราช/ปัทมราค (พลอยสีแดง/ทับทิม) ภักษาหาร คือ อุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ ทรงครุฑเป็นพาหนะ
องค์ที่ ๒ ชื่อว่า “โคราค” ทัดดอกปีบ มีเครื่องประดับเป็น มุกดา ภักษาหารคือ เตละ (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า ทรงพยัคฆ์(เสือ) เป็นพาหนะ
องค์ที่ ๓ ชื่อว่า “รากษส” ทัดดอกบัวหลวง มีเครื่องประดับเป็นแก้วโมรา ภักษาหารคือ โลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล (หลาวสามง่าม) พระหัตถ์ซ้ายถือธนู ทรงวราหะ (หมู) เป็นพาหนะ
องค์ที่ ๔ ชื่อว่า “มณฑา” ทัดดอกจำปา มีเครื่องประดับเป็นแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือ นมเนย พระหัตถ์ขวาถือเหล็ก พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า ทรงคัสภะ(ลา) เป็นพาหนะ
องค์ที่ ๕ ชื่อว่า “กิริณี” ทัดดอกมณฑา มีเครื่องประดับเป็นมรกต ภักษาหารคือ ถั่วงา พระหัตถ์ขวาถือขอ พระหัตถ์ซ้ายถือ ปืน ทรงคช (ช้าง) เป็นพาหนะ
องค์ที่ ๖ ชื่อว่า “กิมิทา” ทัดดอกจงกลณี (ดอกบัวคล้ายบวบเข็มหรือบัวแดง) มีเครื่องประดับเป็นบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ ทรงมหังส์ (ควาย) เป็นพาหนะ
องค์ที่ ๗ ชื่อว่า “มโหทร” ทัดดอกสามหาว(ผักตบ) มีเครื่องประดับเป็นนิลรัตน์ ภักษาหารคือ เนื้อทราย พระหัตขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล ทรงมยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ
ถ้าปีใดวันสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ นางสงกรานต์ ชื่อว่า “ทุงษะ” วันจันท์ นางสงกรานต์ชื่อว่า “โคราค” วันอังคารนางสงกรานต์ ชื่อว่า “รากษส” วันพุธ นางสงกรานต์ ชื่อว่า “มณฑา” วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ ชื่อว่า “กิริณี” วันศุกร์ นางสงกรานต์ ชื่อว่า “กิมิทา” และวันเสาร์ นางสงกรานต์ ชื่อว่า “มโหทร”
วันสงกรานต์ จะนับรวม ๓ วัน คือเริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีใหม่ (ราศีเมษ) วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันเนา (ดวงอาทิตย์อยู่คงที่ ศูนย์องศา เส้นกึ่งกลางระหว่างวันที่ ๑๓ เมษายน กับวันที่ ๑๕ เมษายน) วันที่ ๑๕ เมษยนเป็นวันเถลิงศกใหม่และเริ่มจุลศักราชในวันนี้
สงกรานต์ ที่แปลว่า ย่างขึ้น ก้าวขึ้น หมายความว่า ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศรีใหม่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบรอบ ๑๒ เดือนเมื่อไร ดวงอาทิตย์จะย่างเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า สงกรานต์ปี ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ
มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึง สงกรานต์ปี คือถือเป็นปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือ การที่เรียกว่า สงกรานต์ นั้นมีความหมายได้ทั้ง สงกรานต์เดือน และสงกรานต์ปี แต่ถ้าเรียก มหาสงกรานต์ จะหมายเอาเฉพาะ สงกรานต์ปีเพียงอย่างเดียว
ข้อควรปฏิบัติเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์
วันสงกรานต์ เป็นเทศกาลของคนไทย ซึ่งยึดถือกันว่าเป็นวันตรุษไทย เป็นประเพณีทำบุญและรื่นเริงในวันสิ้นปีในเทศกาลนี้ สิ่งควรตระเตรียมกัน มีดังนี้
๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ไปทำบุญที่วัดและมอบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
๒. สิ่งของที่ทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงาน จะมีการจัดเตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ จะมีขนมไทยพิเศษอยู่ ๒ ชนิด คือข้าวเหนียวแดง และขนมกวนหรือกาละแม นอกจากจะเตรียมไว้ทำบุญเลี้ยงพระแล้ว ยังเอาไว้แจกและแลกเปลี่ยนกันเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกัน
๓. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณบ้าน หิ้งพระหรือที่บูชาพระ และที่เก็บอัฐิของบรรพบุรุษ แม้แต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกให้สะอาด โดยเชื่อว่าเป็นการกำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่า เพื่อต้อนรับปีใหม่ด้วยสิ่งของสะอาดบริสุทธิ์
๔. สถานที่ทำบุญ วัดจัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ก็มีการทำความสะอาดโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ลานวัด ศาลาการเปรียญ เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น การทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ก่อนพระเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา และงานรื่นเริงต่าง ๆ
การทำบุญและกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์
ในเทศการสงกรานต์นั้น มีพิธีทำบุญและกิจกรรมอื่น ๆ หลายอย่าง ในส่วนของพิธีทำบุญนั้นมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์
พิธีหลวงหรือพระราชพิธี
ในวันที่ ๑๕ เมษยายน เวลา ๑๐.๓๐ น. พระสงฆ์ได้รับอาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ ที่หอพระสุราลัย แล้วเสด็จหอพระบรมอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร สรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระสงฆ์ ๖๗ รูป เท่ากับจำนวนพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ที่อาราธนามาจากอารามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เจริญพระพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารเพล เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิจากพระธาตุหอมณเฑียรเป็นกระบวนแห่ มีประโคมสังข์ แตร กลองชนะ ตั้งแต่เวลาอัญเชิญออกจนกระทั่งถึงบนราชบัลลังก์นพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงทอดผ้าคู่ (ถือผ้าขาว ๒ ผืน ผ้านุ่ง ๑ ผืน ผ้าห่ม ๑ ผืน) มีขวดน้ำหอม ๑ ขวด พระสงฆ์นั่งสดับปกรณ์ตามลำดับวัดประจำพระบรมอัฐิ
เวลา ๑๖.๓๐ น. เสด็จสรงน้ำ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธสัม-พรรณี พระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เสด็จสรงน้ำพรคันธราษฎร์ สรงน้ำพระโพธิ์ พระนิโครธ พระพุทธเจดีย์ทอง พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ พระนาคที่วิหารขาวสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระราชวังบวนสถาน และพระอัฐิเจ้านายต้นราชสกุลต่าง ๆ
ในวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ และ ๑๖ เมษายน เปิดปราสาทพระเทพบิดร เพื่อให้ประชาชนถวายสักการะพระบรมรูปบูรพมหากษัตริยาธิราช เมื่อก่อนการบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง มี ๔ วัน ปัจจุบันมีเฉพาะวันที่ ๑๕ เมษายน ซึ่งในเช้าของวันที่ ๑๕ เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระ ๑๕๐ รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตรในพระบรมมหาราชวัง เวลา ๑๐.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุราลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวธิราช ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จไปยังหอพระธาตุมณเฑียรทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๗๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้วทรงประเคนภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์พระราชทานฉันเสร็จ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออกประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรและบนที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่งที่พระที่นั่ง เทเวศรรักษา เสด็จพระราชดำเนินกลับ
เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรางานเครื่องราชสักการะที่รงพระราชอุทิศ พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาเจดีย์สถานต่าง ๆ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธสัมพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้ แล้วพระราชดำเนินเจ้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระอัฐิ ๕ รูป สดับปกรณ์แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์ ๕๐ รูป สดับปกรณ์ พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เป็นเสร็จการ
(ข้อมูล: เรียบเรียงจาก ปี ๒๕๓๑)
พิธีราษฎร์
การประกอบพิธีบุญของประชาชนโดยทั่วไป นิยมทำบุญตักบาตรอาจเป็น ที่วัดหรือบริเวณงานที่จัดขึ้น สำหรับสถานที่จัดขึ้นเป็นพิเศษนั้น มีการตักบาตรพระสงฆ์โดยการยืนเรียงแถว และนิมนต์พระเดินเรียงแถวตามลำดับ ถ้าหากจัดพิธีที่วัด เวลาตักบาตรนั้นพระสงฆ์จะสวดถวายพรพระ คือ พาหุงและชัยมงคลคาถา เสร็จแล้วก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานถวายพระ ขณะพระฉันภัตตาหารนั้นจะมีการ อ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี
กิจกรรมในเทศกาลวันสงกรานต์
นอกจากการทำบุญตักบาตร ตามสถานที่จัดขึ้นหรือที่วัดแล้วประชาชนก็จะจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
๑. การสงน้ำพระ มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูป และพระภิกษุ สามเณร การสรงน้ำพระพุทธรูปนั้นใช้น้ำสะอาด หรือน้ำผสมน้ำอบไทย ลอยด้วยดอกไม้สด เช่น ดอกมะลิ ส่วนพระภิกษุ สามเณรนั้นใช้น้ำสะอาด แล้วถวายผ้าสบงหรือผ้าไตร
๒. การก่อพระเจดีย์ทราย โดยมีการขนทรายเข้าวัดแล้วก่อเป็นรูปเจดีย์หรือสัตว์ต่าง ๆ ปักธงหลากสี มีธูปเทียนและดอกไม้ เป็นเครื่องบูชาพระเจดีย์ ประโยชน์ที่ได้จากการก่อพระเจดีย์ คือ ทางวัดได้ใช้ทรายที่ประชาชนขนเข้าวัด เพื่อการก่อสร้างหรือถมพื้นที่วัด ก่อให้เกิดความสามัคคีของครอบครัวและคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ คนสมัยก่อนเชื่อว่า การที่คนเราเดินเข้าไปบริเวณวัดจะมีดินในเขตธรณีสงฆ์ติดเท้าไปด้วยจะทำให้เป็นบาป ดังนั้น เมื่อถึงวันปีใหม่ไทย ก็ถือโอกาสชดเชยที่ได้นำดินติดเท้าออกจากวัดโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยวิธี ขนทรายเข้าวัด
๓. การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการให้ทานชีวิตแก่สัตว์ เพื่อเป็นการแสดงความกรุณาต่อสัตว์
๔. การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำผสมน้ำอบไทย ลอยด้วยดอกไม้สด เช่น ดอกมะลิ หรือตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ นอกจากนี้ อาจมีการนำผ้า ๑ สำรับ คือ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม เสื้อ ไปมอบให้ท่านพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวนิยมรดหรืออาบท่านจริง ๆ จึงต้องมีผ้าใหม่ไปมอบให้ท่าน (ปัจจุบันนิยมรดเฉพาะที่ฝ่ามือ แล้วท่านก็จะเอาน้ำที่รดน้ำประพรมที่หรือของผู้รด เรียกว่า ดำหัว และให้พรไปพร้อมกัน)
๕. เล่นสาดน้ำ โดยใช้น้ำสะอาดและเล่นอย่างสุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่ก่อความรำคาญเดือดร้อนหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น การสาดน้ำถือเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์
๖. การเล่นรื่นเริงอื่น ๆ ขึ้นกับประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ
๗. การทำบุญอัฐิ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาแก่บรรพบุษหรือญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บอัฐิเพื่อบังสุกุล แต่ถ้าไม่มีอัฐิก็จะเขียนชื่อญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อพระบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษนั้นไป (เป็นอุบายคล้ายเผาศพ) แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้
ประโยชน์และคุณค่าของเทศกาลวันสงกรานต์
เทศกาลวันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติการมาแต่โบราณ ช่วงวันสงกรานต์จังเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี ดังนี้
๑. คุณค่าต่อครอบครัว วันสงกรานต์ เป็นวันแห่งความรักความผูกพันของครอบครัวอย่างแท้จริง สมัยก่อนพ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ ให้ลูกหลานพร้อมเครื่องประดับสำหรับตกแต่งไปทำบุญ ลูกหลานจะเตรียมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้สวมใส่หลังพิธีรดน้ำดำหัว ซึ่งเป็นความรัก ความห่วงใยอันเกิดจากน้ำใสใจจริงที่สมาชิกในครอบครัวจะพึงให้แก่กัน ปัจจุบัน เมื่อถึงวันสงกรานต์ ทุกคนจะกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือรดน้ำขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้น ปีใหม่ ความรักความผูกพันของแต่ละฝ่าย ที่รินไหลฝ่านสายน้ำจะเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่กันและกันต่อการดำรงชีวิตอยู่ไป
๒. คุณค่าต่อชุมชน ประเพณีสงกรานต์ ได้แฝงคุณค่าไว้อีกประการหนึ่งอย่างแยบคายคือ ความสามัคคีซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มวันสงกรานต์ สมาชิกในครอบครัวร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ร่วมมือร่วมใจกันตระเตรียมสิ่งของสำหรับไปทำบุญ เป็นความสามัคคีภายในครอบครัว ซึ่งจะเป็นผลให้สมาชิกรักใคร่ผูกพันกันมากขึ้น เมื่อล่วงถึงวันสงกรานต์ มีการก่อเจดีย์ทราย ซึ่งนอกจากเป็นการทำบุญแล้วยังแสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ในการที่จะทำนุบำรุงวัดในหมู่บ้านของตนให้เจริญยิ่งขึ้นอีกด้วย
๓. คุณค่าต่อสังคม เป็นการสร้างความรู้สึกผูกพันกลมเกลียมต่อบุคคลในกลุ่มสังคมเดียวกัน และเกิดความรู้สึกหวงแหนสาธารณะสมบัติในสังคมและต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ที่สาธารณะ ตลอดจนอาคารสถานที่ต่าง ๆ
๔. คุณค่าต่อศาสนา เป็นการช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ การปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ การสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย
๕. คุณค่าต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทย เป็นการสร้างจิตสำนึกให้อนุชนได้เห็นความสำคัญของประเพณีปฏิบัติอันดีงามของไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริงต่อไป
เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่มีความงดงามของอันประกอบด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมดังกล่าว เปรียบเสมือนสายใยความผูกพันแห่งอดีตกับปัจจุบัน แสดงถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง
ปัจจุบันภาพแห่งอดีตที่ความงดงามของเทศกาลสงกรานต์กำลังจะถูก ลบเลือนไป กิจกรรมหลายอย่างได้ถูกยกเลิกไป สุนทรียภาพ อันเกิดจากภาษาและดนตรี เพลงร้องอันไพเราะที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษได้ถูกแทนที่ด้วยบทเพลงสมัยใหม่ ส่วนความเมตตา ความสงสาร ความเอื้ออาทร ความห่วงใย และความปรารถนาดีที่มีให้ผู้อื่น ความสุขเย็นใจอันเกิดจากการประพรมน้ำ กำลังถูกแทนที่ด้วยการขว้างปา กิริยาก้าวร้าวรุนแรง ไม่สนใจ ในความเจ็บปวดและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น กิจกรรมอันเคยสง่างามในอดีตได้ถูกลบเลือนด้วยความเร่งรีบร้อนรนของคนยุคใหม่ เหล่านี้คงยากที่จะเรียกร้องให้ทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตกลับคืนมาสู่ยุคปัจจุบัน ถ้าหากเราไม่เร่งฟื้นฟู อนุรักษ์ ส่งเสริมจรรโลงประเพณีสงกรานต์ ด้วยจิตสำนึก ตระหนักถึงความหมายที่แท้จริงให้อยู่คู่กับสังคมไทยสืบต่อไป
๑. สมชัย ใจดี และยรรยง ศรีวิริยาภรณ์. ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๑.
๒. สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๔.
๓. สุเมธ เมธาวิทยากุล. สังกัปพิธี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร, ๒๕๓๒.
๔. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. สงกรานต์. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, ๒๕๓๓.