บทความวิชาการ
สรีรสัททศาสตร์คัมภีร์บาลีไวยากรณ์โบราณ
15 ธ.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
3310

ผู้แต่ง :: รศ.จิรภัทร แก้วกู่

สรีรสัททศาสตร์คัมภีร์บาลีไวยากรณ์โบราณ

รศ.จิรภัทร แก้วกู่


ความสำคัญของเรื่อง
     ภาษาบาลีเดิมมีสถานภาพเป็นภาษาพูดท้องถิ่นอินเดีย และเป็นภาษาที่รองรับหลักคำสอน ทางพระพุทธศาสนา จึงนับเป็นภาษาที่สูงส่ง สวยงาม และสมบูรณ์ คำอธิบายการใช้ภาษาบาลี ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระพุทธพจน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นภาษาเขียน หรือยึดเอาภาษาในพระไตรปิฎก
เป็นบรรทัดฐานเรื่องความถูกต้องและสวยงาม โดยรวบรวมกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับให้ผู้เขียนถือ ปฏิบัติตาม
    แนวคิดทางภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาต่าง ๆ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นตามความจำเป็น เฉพาะของผู้ใช้ภาษา เพื่อตอบสนองความต้องการในสังคมนั้น ๆ ไม่มีภาษาใดสูงส่ง สวยงาม หรือ สมบูรณ์กว่าภาษาอื่นทั้งสิ้น ภาษาพูดเป็นภาษาที่แท้จริงที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ จึงต้องเก็บรวบรวม ข้อมูลจากภาษาพูดเป็นหลัก
    บทความนี้มุ่งพิจารณาเฉพาะเสียงพยัญชนะจากเอกสารโบราณคือคัมภีร์กัจจายนะ โมคคัลลานะ และสัททนีติ ว่ามีชุดคำอธิบายลักษณะภาษาตามหลักบาลีไวยากรณ์ดั้งเดิม ที่แสดง รูปแบบ (Form) และเนื้อหา (Substance) แตกต่างหรือสอดคล้องกับวิชาภาษาศาสตร์ปัจจุบัน อย่างไรบ้าง หรือมีประเด็นที่ต่างกันเฉพาะถ้อยคำที่ต่างยุคสมัยและต่างภาษาเท่านั้น

ที่มาของเรื่อง
    บรรดาไวยากรณ์โบราณ (Classical Grammar) นักไวยากรณ์กรีกศึกษาภาษาด้วยเหตุผล ทางปรัชญาคือต้องการรู้ธรรมชาติของมนุษย์และจักรวาล นักไวยากรณ์โรมันศึกษาภาษาละตินเพื่อ ต้องการจะใช้ภาษาให้ได้ดีขึ้นและผู้รู้ภาษาละตินย่อมได้รับการยกย่อง ส่วนนักไวยากรณ์อินเดียศึกษา ภาษาเพื่อให้เข้าใจคัมภีร์ทางศาสนา
    นักไวยากรณ์อินเดียชื่อ ปาณินิ (Panini) ได้ศึกษาภาษาในคัมภีร์พระเวท (๔-๕ ศตวรรษ ก่อนคริสตกาล) และได้เขียนผลงานที่ดีที่สุดคือ  ไวยากรณ์อัษฏาธยายี (Astdhyayi) และเรียก ภาษาที่เขียนบรรยายคัมภีร์พระเวทว่า สันสกฤต โดยอธิบายระดับเสียงภาษาสันสกฤตโบราณว่า มี ๓ ระดับคือ สูง ต่ำ และตก อธิบายกฎการสร้างคำเป็นข้อความสั้น ๆ เรียกว่า สูตร(Sutras) มี ประมาณ ๔,๐๐๐ สูตร และมีการระบุรากศัพท์และวิภัตติปัจจัยซึ่งทำในแนวเดียวกันกับที่นักภาษา ศาสตร์สมัยใหม์วิเคราะห์หน่วยคำ
    ตำราของปาณินิเป็นไวยากรณ์ที่เขียนโดยการวิเคราะห์ภาษา  และใช้วิธีการที่เป็น วิทยาศาสตร์ ผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ  ไม่มีไวยากรณ์เล่มใดในโลกเสมอเหมือนและ เป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ภาษาที่ดีชิ้นหนึ่งแก่นักภาษารุ่นหลัง แต่นักไวยากรณ์ยุคต่อ ๆ มากลับ ยึดถือแนวทางอันสืบเนื่องมาจากกรีกและโรมัน ไม่ได้สานต่อการศึกษาของปาณินิ
    สืบมาจนถึงปลายศตวรรษที่  ๑๘ เริ่มแต่  ค.ศ.  1786 เมื่อ  เซอร์  วิลเลียม  โจนส์ (Sir William Jonse. 1764-1794) ที่ทำงานด้านกฎหมายของบริษัทอินเดียตะวันออก เขาได้เสนอ ผลงานด้านภาษาแก่ Royal Asiatic Society ในกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ที่แสดงความสัมพันธ์ ของภาษาศาสตร์เชิงเปรียบเทียบระหว่างภาษาสันสกฤตกับละติน กรีกและภาษากลุ่มเยอรมัน ดั่งที่เขากล่าวว่า  “….The Sanskrit language is more perfect than Greek, more copious than Latin, more refined than either,...” (Phinit askson 1876 : 24)
    แม้ว่ามิได้เป็นคนแรก แต่การศึกษาภาษาสันสกฤตของ Jones การนำมาเปรียบเทียบ กับภาษากรีกและละตินนั้น กลายมาเป็นวิธีการศึกษาภาษาศาสตร์เปรียบเทียบเชิงประวัติ เป็นจุด เริ่มของการศึกษาภาษาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน โดยได้มีการนำเอาวิธีวิเคราะห์ภาษาของปาณินิมาเป็น แบบฉบับในการศึกษาภาษา การเปิดพรมแดนภาตรวิทยาสู่โลกตะวันตก และส่งผลมาสู่การศึกษา คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหรือภาษาบาลีในที่สุด

โครงสร้างคำบรรยายเสียงภาษาบาลี
    คัมภีร์บาลีไวยากรณ์โบราณ หรือที่นิยมเรียกกันในกลุ่มผู้ศึกษาว่า บาลีใหญ่ บาลีสูตร มี ๗ คัมภีร์คือ กัจจายนะ โมคคัลลานะ สัททนีติ รูปสิทธิ นยาสะ(มุขมัตตทีปนี) พาลาวตาร และ สุตตนิเทส แต่หากนับรวมกับหนังสือที่แต่งขยายความและแต่งเฉพาะที่หอสมุดวชิรญาณขึ้นบัญชี ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ มีประมาณ ๑๓๔ คัมภีร์ พระเทพเมธาจารย์ (เช้า ฐิตธมฺโม) รวบรวมรายชื่อ ไว้เมื่อ  พ.ศ.๒๕๐๔ จำนวน ๑๕๓ คัมภีร์
    บาลีใหญ่ข้างต้น มีการจัดสำนักหรือแนวคิดทางไวยากรณ์ วิลเลียม ไกเกอร์ (W.  Geiger) ได้แบ่งคัมภีร์ไวยากรณ์บาลี ๓ สาย (W. Geiger. ๑๙๖๘ : ๔๙-๕๐) คือ (๑) สายกัจจายนะ (๒) สายโมคคัลลานะ และ(๓) สายสัททนีติ แต่ เอ็ม.เอช. โบด (M.H. Bode. ๑๙๖๕ : ๒๖) พบว่า นักวิชาการชาวพม่าแบ่งคัมภีร์ไวยากรณ์ออกเป็น (๔) สายคัมภีร์สัททสังคหะ
    ชุดบรรยายเสียงหรือที่เรียกว่า สรีรสัททศาสตร์  (Articulatory Phonetics) เป็นการ ศึกษาเกี่ยวกับอวัยวะที่สัมพันธ์กับการพูด  องค์ประกอบในการเปล่งเสียงพูด  และประเภทและ จุดที่เกิดเสียงพยัญชนะ


ฐานกรณ์ : ประเภทและจุดที่เกิดเสียงพยัญชนะ
    เมื่ออวัยวะที่สัมพันธ์กับการพูดคือ ปอด กล่องเสียง เส้นเสียง ช่องคอ ลิ้น เพดานปาก ฟัน ริมฝัปากได้รับคำสั่งจากสมองและทำงานตามคำสั่งนั้นออกมาในรูปของคลื่นเสียง ซึ่งแพร่ออก ในทุกทิศทางจากบริเวณปากของผู้พูด เราเรียกว่า ลักษณะการแปรเสียง (Manner of Articulators) เมื่อคลื่นเสียงเหล่านี้เคลื่อนเข้าไปในหู  ทำให้เกิดสัญญาณทางเสียงผ่านเข้าไปในเยื่อแก้วหูของ ผู้ฟังซึ่งทำให้เยื่อแก้วหูเคลื่อนไหว  และส่งสัญญาณการรับฟังเข้าไปยังประสาทในสมอง  ทำให้ ผู้ฟังตีความเป็นเสียง
    ในการศึกษาเรื่องการแปรเสียงพยัญชนะดังกล่าวนี้ คัมภีร์บาลีไวยากรณ์โบราณได้กำหนดประเด็นในการศึกษาไว้ ๓ เรื่องคือ  ฐาน  กรณ์  และปยตนะ (Place  of  articulators)  มีรายละเอียดดังนี้
    (๑) ฐฺานกรณปยตเนหิ    วณฺณามุปฺปตฺติ ฯ  (สัททนีติ สุต.. ๒๕๒๒:๒๓/๑๐) วัณณะ(อักษร) ทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นจากฐาน กรณ์ และปยตนะ ฯ
    (๒) ตถา หิ  ฐฺานกรณปฺปยตเนหิ วณฺณา ชายนฺเต ฯ (รูปสิทธิ.. ๒๕๐๗ : ๒) จริงอย่างนั้น วรรณะทั้งหลาย ย่อมเกิด เพราะ ฐาน กรณ์ และปยตนะทั้งหลาย ฯ

    ๑.  ชุดคำบรรยายฐานกรณ์
    คัมภีร์บาลีไวยากรณ์แสดงไว้แตกต่างกัน (สัททเภท.๒๕๔๕ : ๙-๑๐) คือ
    (๑)  คัมภีร์นยาสะ  แสดงไว้ ๕ ประเภทคือ กัณฐชะ ตาลุชะ มุทธชะ ทันตชะและโอฏฐชะ
    (๒) คัมภีร์รูปสิทธิและพาลาวตาร แสดงไว้ ๖ ประเภทดังนี้
    ตตฺถ ฉฏฺฐฺานานิ กณฺฐตาลุมุทธทนฺตโอฏฺฐฺนาสิกาวเสน ฯ (รูปสิทธิ, ๒๕๐๗ : ๓)
    บรรดาฐาน กรณ์ และปยตนะ ฐานมี ๖ คือกัณฐะ ตาลุ มุทธะ ทันตะ โอฏฐะ และ นาสิก ฯ
    นอกนี้ยังได้แสดง “กรณ์” ไว้ ๔ ลักษณะ ดังนี้
    กรณํ ชิวฺหมชฺฌํ ตาลุชานํ, ชิโวฺหปคฺคํ มุทฺธชานํ, ชิวฺหคฺคํ   ทนฺตชานํ, เสสา สกฏฺฐฺาน กรณา ฯ (รูปสิทธิ, ๒๕๐๗ : ๓)
    กลางลิ้น เป็นกรณ์ของพยัญชนะที่เกิดที่เพดาน, ที่ใกล้ปลายลิ้น เป็นกรณ์ของพยัญชนะ ที่เกิดที่ปุ่มเหงือก, ปลายลิ้น เป็นกรณ์ของพยัญชนะที่เกิดที่ฟัน, ส่วนพยัญชนะที่เหลือ มีฐานของ ตน ๆ เป็นกรณ์ ฯ
    (๓) คัมภีร์สัททนีติปกรณ์ สุตตมาลาแสดงฐานไว้ ๗ ประเภท ดังข้อความว่า :
    ฐานํ กณฐฺาทีนิ ปญฺจ นิคฺคหิต ง ญฺ ณ น มานํ วา ฐฺานภูตาย นาสิกาย สทฺธึ ฉ, วคฺคนฺต ย ร ล ว เฬหิ ยุตฺตหการสฺส ฐฺานภูเตน อุเรน สทฺธึ สตฺต ฯ (สัททนีติ.สุตต.. ๒๕๒๒ : ๒๓/๑๐)
    ชื่อว่า  ฐาน   อวัยวะมี คอ (เพดาน, ปุ่มเหงือก, ฟัน, ริมฝีปาก) เป็นต้น รวม ๕ แห่ง กับฐานนาสิก เป็น ๖ แห่ง ซึ่งเป็นฐานของพยัญชนะนาสิก ได้แก่ งฺ ญฺ ณฺ นฺ มฺ กับฐานอก เป็น ๗ แห่ง ซึ่งเป็นฐานของพยัญชนะคือ หฺ อักษร ที่ประกอบเข้ากับ รฺ ลฺ วฺ ฬฺ ในสุดวรรค ฯ และได้ แสดงกรณ์ไว้ ๔ กรณ์
     กรณํ ชิวฺหมชฺฌํ ตาลุชานํ, ชิโวฺหปคฺคํ มุทฺธชานํ,   ชิวฺหคฺคํ ทนฺตชานํ,   เสสา สกฏฺฐาน กรณา ฯ (สัททนีติ.สุตต.. ๒๕๒๕ : ๒๓/๑๐)
    กลางลิ้น เป็นกรณ์ของพยัญชนะที่เกิดที่เพดาน, ที่ใกล้ปลายลิ้น เป็นกรณ์ของพยัญชนะ ที่เกิดที่ปุ่มเหงือก, ปลายลิ้น เป็นกรณ์ของพยัญชนะที่เกิดที่ฟัน, ส่วนพยัญชนะที่เหลือ มีฐานของ ตน ๆ เป็นกรณ์ฯ
   

    ๒. ฐานกรณ์
    ฐาน แปลว่า จุดที่ตั้งหรือตำแหน่งของอวัยวะสำหรับแปรเสียงของเสียงพยัญชนะ เป็น อวัยวะส่วนบนภายในช่องปาก ที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (Passive articulators)
    กรณ์ หมายถึง อวัยวะที่เคลื่อนที่ไปประชิดหรือใกล้ฐานเพื่อกระทำเสียง (Active articulators) จึงแปลว่า กระทำ เป็นอวัยวะซึ่งอยู่ด้านล่างของช่องปาก
    ในการออกเสียงพยัญชนะแต่ละครั้งจะไม่ใช้ฐานหรือกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่จะใช้ เป็นคู่ ๆ ระหว่าง ฐานกับกรณ์
    จากชุดคำบรรยายลักษณะภาษาข้อ ๑. จะเห็นได้ว่าท่านแสดง ฐาน และกรณ์ ไว้ชัดเจน มีเพียงแบบเรียนบาลีไวยากรณ์เท่านั้นที่แสดงไว้เฉพาะฐาน ดังตารางต่อไปนี้
                          ตาราง ๓  ฐานพยัญชนะบาลีและสันสกฤต
   บาลี                                 สันสกฤต                              ความหมาย
   ๑. กัณฐะ                            กัณฐ                                    เกิดที่คอ
   ๒. ตาลุ                              ตาลัพยะ                               เกิดที่เพดาน
   ๓. มุทธะ                            มูรธันยะ                               เกิดที่ปุ่มเหงือก
   ๔. ทันตะ                            ทันตยะ                                เกิดที่ฟัน
   ๕. โอฏฐะ                          โอษฐะ                                 เกิดที่ริมฝีปาก
   ๖. นาสิกัฏฐานชะ                 นาสิกยะ                               เกิดที่จมูก
   ๗.      -                           ชิหวามูลียะ                          เกิดที่โคนลิ้น
  (๗)   อุรสิชะ                               -                              เกิดที่อก
 

    จากข้อมูลชุดดังกล่าวสามารถแสดง ฐาน และ กรณ์ ได้ดังนี้

                                ตาราง ๔ ฐานกรณ์พยัญชนะบาลี
 พยัญชนะ        ฐาน            กรณ์                           ความหมาย
 วรรค ก          ๑. กัณฐะ       กัณฐะ             คอ + คอ
 วรรค จ          ๒. ตาลุ         ชิวหมัชฌะ       เพดาน + กลางลิ้น
 วรรค ฏ          ๓. มุทธะ       ชิวโหปคคะ      ปุ่มเหงือก  + ใกล้ปลายลิ้น
 วรรค ต          ๔. ทันตะ       ชิวหัคคะ         ฟัน + ปลายลิ้น
 วรรค ป          ๕. โอฏฐะ      โอฏฐะ           ริมฝีปาก(บน) + ริมฝีปาก(ล่าง)
                    ๖. นาสิก                            จมูก
                   ๗. อุรสิ             -                อก

  

  จากตารางที่  ๔ จะเห็นว่าคัมภีร์บาลีไวยากรณ์ได้กำหนดจุดอวัยวะจากด้านลึกในปาก ออกสู่ด้านนอกของปากคือ คอหอย (กัณฐะ)   เพดานแข็ง (ตาลุ) ปุ่มเงือก (มุทธะ) ฟัน (ทันตะ) และริมฝีปาก (โอฏฐะ) ในข้อว่า เสสา สกฏฺฐานกรณา (ส่วนพยัญชนะที่เหลือ มีฐานของตน ๆ เป็นกรณ์) หมายถึงข้อ ๑ (คอ+คอ) และข้อ ๕ (ริมฝีปาก + ริมฝีปาก)
    ส่วนวิธีการจัดเรียงลำดับของเสียงพยัญชนะตามวิชาภาษาศาสตร์ จะเริ่มต้นจากเสียง ที่เกิดด้านนอกไปสู่ด้านใน ริมฝีปาก (bilabial) ฟัน  (dental) ปุ่มเหงือก  (alveoler) เพดานแข็ง (palatal) เพดานอ่อน (Velar) และคอหอย (glottis)
    ข้อ ๖ นาสิกัฏฐานชา แปลว่า เกิดที่ฐานนาสิก หมายถึงหน่วยเสียงพยัญชนะสุดวรรค คือ งฺ  ญฺ ณฺ นฺ มฺ เกิดตามฐานเดิมตามวรรคแล้ว มีนาสิกเป็นฐานอีกด้วย ดังนี้
 

                            ตาราง ๕   ฐานกรณ์พยัญชนะนาสิก
พยัญชนะ  ฐาน(๑)   กรณ์        ฐาน(๒)             ความหมาย
ง            ๑. กัณฐะ  กัณฐะ          นาสิก    คอ + คอ + นาสิก
ญ           ๒. ตาลุ    ชิวหมัชฌะ   นาสิก   เพดาน + กลางลิ้น + นาสิก 
ณ          ๓. มุทธะ  ชิวโหปัคคะ  นาสิก   ปุ่มเหงือก+ใกล้ปลายลิ้น+นาสิก
น           ๔. ทันตะ  ชิวหัคคะ      นาสิก   ฟัน + ปลายลิ้น + นาสิก
ม           ๕. โอฏฐะ โอฏฐะ    นาสิก  ริมฝีปาก(บน)+ริมฝีปาก(ล่าง)+นาสิก
 
    เสียงที่เกิดจากการที่ฐาน(๑) และกรณ์จะปิดกั้นทางเดินของกระแสลมไม่ให้ออกได้สะดวก แล้วปล่อยลมออกพร้อมกัน ทั้งทางช่องปากและช่องจมูก(ฐาน ๒) นักบาลีไวยากรณ์จึงกำหนด ให้นาสิกเป็นฐานด้วย รวมฐาน ๒ ฐาน และ กรณ์ ๑ กรณ์ เรียกว่า สกัฏฐานนาสิกัฏฐานชา (เกิด ที่ฐานของตนและฐานนาสิก) ส่วนพยัญชนะวรรคอื่น ๆ จะปิดช่องจมูกให้ลมออกช่องปากเพียง อย่างเดียว ในวิชาภาษาศาสตร์จัดนาสิกเป็นประเภทของเสียงเรียกว่า Nasal   เท่านั้น
    ส่วน อุรสิชะ เกิดแต่อก เป็นฐานที่ ๗ ที่ปรากฏเฉพาะคัมภีร์สัททนีติเท่านั้น (สัททนีติ. สุตต.. ๒๕๒๒ : ๒๓/๑๐) เป็นฐานของพยัญชนะคือ หฺ ที่ผสมหรือซ้อนกับพยัญชนะอรรธสระ (อวรรค) ๔ ตัว คือ รฺ ลฺ วฺ ฬฺ เช่นคำว่า ชิวฺหา วุลฺโห ในเวลาออกเสียงจะต้องกระแทกลมออกจาก ปอด หรือทรวงอก จึงเรียกว่า   อุรสิชะ
    ๓.  วิธีบรรยายเสียง
    เสียงพยัญชนะเหล่านี้สามารถบรรยายตามชุดข้อมูลบาลีไวยากรณ์และวิชาภาษาศาสตร์ดังนี้
    (๑) พยัญชนะวรรคกัณฐชะ/กัณฐยะ เป็นฐานคอหอย (Guttural) ตามธรรมชาติของ เสียงนี้ ไม่ได้เกิดที่คอโดยตรงเหมือนสระ อ,อา แต่เกิดที่ลิ้นส่วนหลัง (dorsum) กับเพดานอ่อน (velum) วิชาภาษาศาสตร์จึงนิยมเรียกชื่อ dorsovelar หรือ velar
    ฐานนี้บางแห่งเรียกว่า ชิหฺวามูลียะ แปลว่า เสียงโคนลิ้น (William D. Whitney. 1973 : 39) วิธีทำเสียงคือใช้ลิ้นส่วนหลัง หรือโคนลิ้นกักลมไว้ แล้วจึงค่อยปล่อยให้ระเบิดออกมา
     (๒) พยัญชนะวรรคตาลุชะ/ตาลฺวยะ เป็นฐานเพดาน (Palatal) เกิดจากลิ้นส่วนกลาง (frontal) และเพดานแข็ง (fronto - palatal) ปัจจุบันเรียกว่า เสียงเพดานแข็ง (Palatal)
    (๓) พยัญชนะวรรคมุทธชะ/มูรธันยะ เป็นฐานปุ่มเหงือก (alveolar) จากการม้วนลิ้น เข้าไปแตะยอดเพดานปาก แล้วปล่อยให้เสียงระเบิดออกมา
    มูรฺธันยะ(มูรฺธนฺยะ) แปลตามรูปศัพท์ว่า การออกเสียงในศีรษะซึ่งคำว่า ศีรษะ(มูรฺธนฺ) ในที่นี้  หมายถึง เพดานหรือส่วนสูงของปาก ในการออกเสียงจึงจำเป็นต้องใช้ลิ้นงอย้อนกลับจึง จะกักลมได้
    ในคัมภีร์บาลีไม่มีระบุว่าจะต้องม้วนลิ้นหรือตวัดลิ้นขึ้น  แต่ปรากฏในคัมภีร์เตตติรีย เวทสาขา(๒/๓๗) (อ้างใน พระพรหมโมลี. ๒๕๕๒ : ๕๖) ว่า :
    ชิวฺหคฺเคน ปติเวฐฺยมุทฺธนิ ฏวคฺเค ฯ
    ในการออกเสียง ฏ วรรค ให้ม้วนหรือตวัดปลายลิ้นขึ้นไปที่ปุ่มเหงือก 

    นักภาษาศาสตร์ตะวันตกจึงเรียกว่า Lingual หรือ   Retroflex  (Macdonell. ๑๙๗๔ : ๑๓) เสียงพยัญชนะระเบิดทั้งสี่ในวรรคนี้ จึงเป็นเสียงพยัญชนะระเบิดลิ้นม้วน (retroflex stop) และเสียงนาสิก ก็เป็นเสียงพยัญชนะนาสิกลิ้นม้วน (retroflex nasal)
    (๔)  พยัญชนะวรรคทันตชะ/ทันตยะ เป็นฐานฟัน  (Dental) เกิดจากลิ้นส่วนหนัา (laminal) หรือปลายลิ้น  apical) กับฟัน  (Dental) หรือปุ่มเหงือก  (alveolar) ปัจจุบันเรียกว่า เสียงฟัน  (apicodental) หรือเสียงปุ่มเหงือก  (apico-Alveolar) หรือเรียกรวมว่าปุ่มเหงือกหรือ ฟัน (lamino - aveolo - Dental)
    (๕) พยัญชนะวรรคโอฏฐชะ/โอษฐยะ เป็นฐานริมฝีปาก  (Labial) เกิดจากริมฝีปาก บนและล้าง ปัจจุบันเรียกว่า เสียงริมฝีปาก (bilalial)

ปยตนะ : ประเภทของเสียงพยัญชนะ (Phonation type)
    ปยตนะ แปลตามอักษรว่า ความพยายามในการออกเสียง หมายความถึง สภาวะของ เส้นเสียง (State of the glottis) ที่เป็นกลไกเปิด-ปิด ให้กระแสลมไหลเข้าหรือไหลออกสู่ช่องปาก เพื่อให้อวัยวะที่เป็นฐานและกรณ์ ได้ทำหน้าที่แปรเสียงพยัญชนะเป็นเสียงประเภทต่าง ๆ  (Manner of articulation)
     ๑.  ชุดคำบรรยายในคัมภีร์บาลี
    ข้อความในคัมภีร์รูปสิทธิ และสัททนีติ ได้อธิบายว่า :
    ปยตนํ   สํวุตาทิกรณวิเสโส ฯ (รูปสิทธิ. ๒๕๐๗ : ๓, สัททนีติ สุตต. ๒๕๒๒ : ๒๓/๑๐) การเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ กันมีการปิดฐานและกรณ็เป็นต้น ชื่อว่าปยตนะฯ

    คัมภีร์รูปสิทธิและสัททนีติ สุตตมาลา ได้อธิบายการบังคับกระแสลมไว้ ๔   แบบ ดังนี้
    (๑) สังวุตะ : เสียงปิดสนิท (Glottis)
     สํวุตมการสฺส ฯ (รูปสิทธิ.  ๒๕๐๗ : ๓)
     สํวุฏตฺตํ อการสฺส ฯ (สัททนีติ สุตต.. ๒๕๒๒ : ๒๓/๑๑)
    การบังคับกระแสลมแบบปิด เช่น เสียง อ   เป็นต้น ฯ
    เสียงปิด เป็นการบังคับกระแสลมแบบปิด (Stricture of complete closure) มีกระบวน การแปรเสียง คือ (๑) อวัยวะส่วนล่างของปาก (กรณ์) เคลื่อนไหวไปจรดกับอวัยวะส่วนบนของ ปาก (ฐาน) ณ จุดใดจุดหนึ่งภายในช่องปาก และ (๒) เปิดปากปล่อยลมผ่านออกมาโดยเร็ว หรือ ระเบิด   เรียกว่า สังวุตะ (เสียงปิด)
    (๒) วิวัฏฏะ : เสียงเปิด/เสียดแทรก (Fricatives)
    วิวฏฺฏํ   สรานํ สการหการญฺจ ฯ  (รูปสิทธิ. ๒๕๐๗ : ๓)
    วิวฏตฺตํ อาการานํ สการหการญฺจ ฯ (สัททนีติ สุตต.. ๒๕๒๒ : ๒๓/๑๑)
    การเปิดฐานและกรณ์ เป็นการบังคับกระแสลมแบบเปิด ของสระทั้งหลาย สฺ และ หฺ อักษร ฯ
    เสียงเปิด เป็นการบังคับกระแสลมแบบเปิด (Stricture of approximation)  มีกระบวน การแปรเสียง คือ (๑) อวัยวะส่วนล่าง (กรณ์) เคลื่อนไหวไปจรดอยู่ห่างกันพอประมาณกับอวัยวะ ส่วนบน (ฐาน) ณ จุดใดจุดหนึ่งภายในปาก และ (๒) ลมแทรกผ่านออกมาได้เรียกว่า วิวัฏฏะ (เสียงเสียดแทรก)
    (๓) ผุฏฐะ : เสียงปิดบางส่วน/เสียงกัก (Stops)  ผุฏฺฐํ วคฺคานํ ฯ (รูปสิทธิ.  ๒๕๐๗ : ๓)
     ฐานและกรณ์ที่กระทบแล้ว  (ปิดและเปิดเป็นระยะ) เป็นการบังคับกระแสลม ของ พยัญชนะวรรคทั้งหลาย ฯ
    เสียงกระทบ หรือเปิดบางส่วนมีกระบวนการแปรเสียง คือ (๑) อวัยวะที่เคลื่อนไหวได้ (กรณ์)  กับอวัยวะที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (ฐาน) จรดกันสนิทเพียงบางส่วน  (Stricture of partial closure) และ (๒) จรดกันเร็ว ๆ แล้วเปิดออก ณ จุดใดจุดหนึ่ง ของอวัยวะภายในปาก เรียกว่า ผุฏฐะ (กระทบ-ปิดสนิท)
    (๔) อีสัมผุฏฐะ : เสียงเปิดบางส่วน/กึ่งสระ (Semivowels) อีสํผุฏฺฐํ    ย ร ล วานํ   ฯ (รูปสิทธิ. ๒๕๐๗ : ๓)
    ฐานและกรณ์กระทบกันนิดหน่อย เป็นการบังคับกระแสลมแบบเปิด ของ   ยฺ   รฺ   ลฺ และ วฺ   อักษร ฯ
    เสียงเปิดบางส่วน เป็นการบังคับกระแสลมแบบปิด ๆ เปิด ๆ มีกระบวนการแปรเสียงคือ (๑)  อวัยวะที่เคลื่อนไหวได้ (กรณ์)  กับอวัยวะที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (ฐาน) เคลื่อนไหวเข้ามาประชิดกันพอประมาณ และ (๒) จรดกันแล้วเปิดออกหลายครั้งติดต่อกัน จุดใดจุดหนึ่งภายในปากเรียกว่า อีสัมผุฏฐะ (กระทบนิดหน่อย)
    ๒.  คำอธิบายประเภทของเสียงพยัญชนะ
    จากตารางที่  ๑-๒ ข้อ  ๓ ได้แสดงประเภทของเสียงพยัญชนะไว้  ๓ ประเภท ได้แก่ นาสิก อุสุม  และอรรธสระ ส่วนเสียงประเภทอื่นท่านแสดงในสูตรว่า “ปยตนํ สํวุตาทิกรณ วิเสโส ฯ (รูปสิทธิ. ๒๕๐๗ : ๓, สัททนีติ สุตต. ๒๕๒๒ : ๒๓/๑๐) สามารถสรุปตามลักษณะการ แปรเสียง (Manner of Articulators) ไว้ ๔ ประเภท คือ
    (๑) เสียงมูคพยัญชนะ (Contact Consonants)
    เสียงที่เกิดจากการใช้ฐานและกรณ์กักลมไว้  (Stops) ชั่วขณะ ทำให้ความกดลมจาก ปอดสูงขึ้น แล้วเปิดให้ลมที่กระทบ สัมผัส (ผุฏฐะ) อยู่กับอวัยวะให้ระเบิดออกมาจากปากทันที ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า เสียงกัก (Stops) หรือระเบิด (Plosive) ได้แก่ พยัญชนะวรรค ๒๐ ตัว
    (๒) เสียงนาสิก (Nasal)
    เสียงนาสิก เป็นเสียงที่เกิดจากการออกเสียงในลักษณะที่เพดานอ่อน และลิ้นส่วนหลัง (Dorso-Velar) กักลมไว้ในคอหอยชั่วขณะ ทำให้ลมจากปอดผ่านออกทางช่องปากไม่ได้ ความ กดลมจากปอดสูงขึ้นแล้วลดลิ้นไก่ลง (Uvula) เปิดให้ลมออกจากช่องจมูกแทน ได้แก่ พยัญชนะง ฺญฺ นฺ ณ มฺ
    (๓) เสียงอรรธสระ (Semi-vowels)
    เสียงเปิดบางส่วน ได้แก่การที่อวัยวะที่เคลื่อนไหวได้ (กรณ์) พอประมาณ กับอวัยวะที่ เคลื่อนไหวไม่ได้ (ฐาน) จรดกันแล้วเปิดออกหลายครั้งติดต่อกัน จุดใดจุดหนึ่งภายในปาก หรือ ฐานกระทบนิดหน่อย (อีสัมผุฏฐะ) ได้แก่ ยฺ รฺ ลฺ วฺ วิชาภาษาศาสตร์เรียกเสียงนี้ว่า เสียงเลื่อน (Glides) หรือ เสียงอรรธสระ/กึ่งสระ (Semi-vowels)
    ที่เรียกอย่างนี้เกิดจากข้อเท็จจริงด้านสรีรสัททศาสตร์ที่ว่า เสียงสระจะเปิดช่องปากให้ลม ผานออกได้สะดวก เสียงพยัญชนะจะมีการปิดกั้นอวัยวะ(ฐานกรณ์)ไม่ให้กระแสลมผ่านได้สะดวก แต่เสียง ยฺ รฺ ลฺ วฺ จะเปิดลมและปิดลมทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน ไม่เข้าข่ายว่าเป็น เสียงสระ หรือเสียงพยัญชนะ จึงเรียกว่า เสียงกึ่งสระ เสียงเลื่อน (อรรธสระ)
    (๔) เสียงอุสุมะ/อุษมัน (Sibilnts)
    เสียงที่อวัยวะที่เคลื่อนไหวได้ (กรณ์) จรดอยู่ห่างกันพอประมาณ กับอวัยวะที่เคลื่อน ไหวไม่ได้ (ฐาน) ณ จุดใดจุดหนึ่งภายในปาก (ปิดไม่สนิทหรือเปิดไม่ห่าง) เปิดให้ลมแทรกผ่านออก มาได้ (วิวัฏฏะ) ได้แก่เสียง   สฺ   หฺ ปัจจุบันเรียกว่า เสียงเสียดแทรก (Fricatives)

คุณภาพของเสียงพยัญชนะ
    ในคัมภีร์บาลีไวยากรณ์แสดงคุณภาพของเสียงไว้  ๔ ลักษณะ ได้แก่ อโฆษะ โฆษะ สิถิล และธนิต แปลตามอักษรว่า เสียงไม่ก้อง เสียงก้อง เสียงเบา และเสียงหนัก ทำให้เข้าใจ คลาดเคลื่อนว่า “เสียงเบาไม่ก้อง แต่เสียงหนักก้อง” ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกลไกกระแสลม และสภาวะในการเปล่งเสียง ปรากฏในคัมภีร์บาลีไวยากรณ์แล้ว
    ๑. ลักษณะลมหายใจ (Air stream)
     สเรหิ ธนนฺติ นทนฺตีติ ธนิตาอิตฺยตฺโถ ฯ
      (พระมหายสเถระ. ๒๕๒๑ : ๒๒)
    พยัญชนะบางพวก ชื่อว่าธนิตเพราะทรงไว้คือบันลือด้วยเสียงสระทั้งหลายฯ
     เสียงลมหายใจ หรือที่ตำราสันสกฤตไวยากรณ์เรียกว่า  ปฺรฺาณ  หมายถึง  ลักษณะ ของกระแสลม จากแหล่งปอด (Plutonic air-stream) เป็นกระแสลมออก (regressive) กล่าว คือในขณะที่พูดออกเสียงนั้นมีการกลั้นลมหายใจไว้ และค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกตามความยาว ของถ้อยคำที่พูด แบ่งคุณสมบัติของเสียงดังกล่าวนี้เป็น ๒ กลุ่มคือ
    ๑.๑ อัลปราณ : พยัญชนะกลุ่มลมหายใจน้อย
    ลักษณะอัลปราณ คือ พยัญชนะที่มีลมหายใจเบา, หย่อน หมายถึง เสียงพูดในภาษาที่ มีกระแสลมหายใจพุ่งตามออกมาด้วยจำนวนน้อย หรือมีกลุ่มลมตามออกมาน้อย
    (๑) บาลีไวยากรณ์ เรียกว่า สิถิล (มีลมเบา)
    (๒) สันสกฤตไวยากรณ์   เรียกว่า อัลปราณ (ลมออกน้อย)
    (๓) วิชาภาษาศาสตร์เรียกว่า ไม่มีลม (Unaspirated)
    ๑.๒ มหาปราณ : พยัญชนะกลุ่มลมหายใจมาก
    ลักษณะมหาปราณ คือพยัญชนะที่มีลมหนัก หายใจแรง หมายถึง เสียงพูดในภาษาที่มี กระแสลมหายใจพุ่งตามออกมาด้วยจำนวนมาก หรือมีกลุ่มลมตามออกมามาก
    (๑) บาลีไวยากรณ์ เรียกว่า   ธนิต (ธฺวนิต) (มีลมหนัก)
    (๒) สันสกฤตไวยากรณ์   เรียกว่า มหาปราณ (ลมออกมาก)
    (๓) วิชาภาษาศาสตร์   เรียกว่า มีลม (Aspirated)
    ๒. ลักษณะความเด่นดังของเสียง (อุโฆษ)
    เมื่อกระแสลมเคลื่อนที่จากปอด ผ่านเข้าสู่หลอดลมอันเป็นที่ตั้งของกล่องเสียง ซึ่งมีเส้น เสียงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญภายใน และผ่านช่องว่างของเส้นเสียง (Glottis) ขึ้นมาสู่ช่องว่าง ภายในปากและจมูกทำให้เป็นเสียงพูด (phonation)
    (๑) ชุดของคำบรรยายในคัมภีร์
   ลักษณะความก้องและไม่ก้องของเสียง อาจารย์ฝ่ายบาลี และสันสกฤตอธิบายความว่า “พยัตตนาทะ” ได้แก่ เสียงที่เปล่งออกมาอย่างชัดเจน, แจ่มแจ้ง, จัดจ้าน ดังข้อความในคัมภีร์ กัจจายนเภทปกรณ์ ว่า :
     พฺยตฺตนาเทน วุตฺตตฺตา โฆโส อิติ ปกาสิตา ฯ
      (พระมหายสเถระ. ๒๕๒๑ : ๑๙)
 
    เสียงที่ระบุ (ประกาศ) ว่าเป็น “เสียงก้อง” เพราะความเป็นเสียงที่เปล่งออกด้วยความเด่นดัง ฯ
    ลักษณะความเด่นดังของเสียง จึงขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นเสียง (Vocal cords) หรือ ลักษณะของช่องเส้นเสียง (Glottis)  ส่วนเสียง อโฆษะ เป็นเสียงที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับเสียง โฆษะนั้นเอง  ในคัมภีร์กัจจายนเภทปกรณ์ ได้อธิบายความหมายของพยัญชนะ อโฆษะไว้ทำนอง เดียวกัน ว่า :
     อพฺยตฺตนาเทน อโฆสา อิติ   สญฺญิตา ฯ
      (พระมหายสเถระ. ๒๕๒๑ : ๑๙)
    พยัญชนะบางพวก เรารู้ได้ว่าเป็นอโฆษะ เพราะเสียงไม่เด่นดัง ฯ
    (๒) คำอธิบายคุณภาพเสียง
    ในการแบ่งพยัญชนะวรรคในภาษาบาลี เสียงพยัญชนะ ๔ เสียงแรกในวรรคหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโฆษะหรืออโฆษะ จะมีเสียง สิถิล-ธนิต เป็นคู่กัน
    (๑) เสียงโฆษะ หรือเสียงก้อง (Voiced, sonant)
    พยัญชนะตัวที่ ๒ และตัวที่ ๔ ในวรรคทั้ง ๕ จำนวน ๑๐ ตัว เกิดจากกระบวนการแปร เสียงพูดในขณะที่เส้นเสียงทั้งสองข้างถูกดึงเข้าหากันไม่ปล่อยให้อากาศผ่านออกไปอย่างสะดวก เรียก ว่าเส้นเสียงปิด อากาศจึงต้องดันผ่านเส้นเสียงขึ้นมาทำให้เส้นเสียงสั่น และอากาศก็สั่นสะเทือน ตามไปด้วย เสียงจึงก้อง
    (๒) เสียงอโฆษะ หรือเสียงไม่ก้อง (Voiceless, surd)
พยัญชนะตัวที่ ๑ และตัวที่ ๓ ในวรรคทั้ง ๕ จำนวน ๑๐ ตัวเกิดจากกระบวนการแปร เสียงเสียงพูดในขณะที่เส้นเสียงทั้งสองข้างถูกดึงให้ห่างจากกันเป็นสภาวะปกติของลมหายใจ เรียกว่า เส้นเสียงเปิด อากาศผ่านออกไปอย่างสะดวกไม่กระทบเส้นเสียง เส้นเสียงไม่สั่น เสียง จึงไม่ก้อง
    (๓) เสียงโฆษาโฆษวิมุติ
โฆษาโฆษวิมุติ แปลว่าพ้นจากความเป็นโฆษะและอโฆษะ ในการแบ่งพยัญชนะวรรค ในภาษาทั้งสองนี้ เสียงพยัญชนะ ๔ เสียงแรกในวรรคหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโฆษะหรืออโฆษะ ล้วน มีเสียง สิถิล-ธนิต เป็นคู่กัน
    ส่วนเสียงนาสิกตามธรรมชาติเป็นเสียงโฆษะ  แต่จากตาราง ๖ ไม่จัดเป็นทั้งโฆษะและอโฆษะ สืบค้นไม่พบว่ามีชุดคำบรรยายภาษาปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไหนบ้าง และมีรายละเอียดอย่างไร ?


บทสรุป
    การศึกษาภาษาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เข้าใจและอธิบายเป็นภาษาธรรมดา ให้คนทั่วไปเข้าใจ เป็นจุดมุ่งหมายเดิมแท้ที่ได้ส่งมอบจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง รอสืบสานจาก คนรุ่นปัจจบัน เพื่อส่งมอบต่อไปสู่อนาคต และเป็นเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งของการดำรงอยู่หรือเสื่อมสูญ ของพระพุทธศาสนา
    จากชุดของคำบรรยายลักษณะภาษาในคัมภีร์บาลีไวยากรณ์ประเภทสูตรมีกัจจายนะ สัททนีติ รูปสิทธิ ซึ่งได้บรรยายเรื่องสรีรสัทศาสตร์เป็นข้อ ๆ (สูตร ๆ) ตามแบบสันสกฤตไวยากรณ์ อัษฏาธยายี ของปาณินิครอบคลุมประเด็นอวัยวะที่สัมพันธ์กับการพูด องค์ประกอบในการเปล่ง เสียงพูด และประเภทและจุดที่เกิดเสียงพยัญชนะ มีเนื้อหาสาระอันเดียวกันกับวิชาภาษาศาสตร์ ปัจจุบัน จะต่างเพียงยุคของภาษาและภาษาที่ใช้บรรยายคนละตระกูลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่นักศึกษา บาลีไวยากรณ?จะต้องให้ความสนใจวิธีการของศาสตร์สมัยใหม่
    บทความนี้มีเวลาจำกัดจำเขี่ยและเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการศึกษาเท่านั้น เรื่องที่ควร อภิปรายมีอีกมาก เช่น อักษรเกิด ๒ ฐานได้อย่างไร นิคคหิตเป็นเสียงนาสิกบริสุทธิ์อย่างไร เป็น โฆษะหรืออโฆษะ รวมทั้งสระมี ๘ เสียงตามมติคัมภีร์กัจจายนะ มี ๑๐ เสียงตามมติโมคคัลลานะ หรือเป็นเพียงการหลีกล้อ/สับหลีกตามธรรมชาติของภาษา เป็นต้น ฯ

 

 

(ที่มา: สารนิพนธ์)