บทความวิชาการ
การประเมินประสิทธิภาพการสอนวิชาธรรมะภาคปฏิบัติ ฯ
06 พ.ย. 56 | บทความวิจัย
2151

ผู้แต่ง :: ผศ.บัญชา จำปารักษ์ และคณะ

ชื่อผู้วิจัย : ผศ.บัญชา จำปารักษ์ และคณะ
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553

บทคัดย่อ

ชื่อรายงานการวิจัย: การประเมินประสิทธิภาพการสอนวิชาธรรมะภาคปฏิบัติตามการประเมินของ พระนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี


บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้แยกออกเป็น ๒ อย่าง คือ ๑ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ และ ๒วิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพการสอนวิชาธรรมะภาคปฏิบัติ ตามการประเมินของพระนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี และเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการสอนวิชาธรรมะภาคปฏิบัติตามการประเมินของพระนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี จำแนก ตามประเภท สาขาที่ศึกษา และชั้นปี

     สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสังเกต และ แบบสัมภาษณ์ ในการสังเกต ได้สังเกตอาจารย์สอน ๓ ครั้ง โดยกระบวนการเกลียวสว่าน นำข้อมูลแต่ละครั้งมาเปรียบเทียบกัน ผลการวิจัยพบว่า

     จากการสังเกตอาจารย์สอนทั้ง ๓ ครั้ง อาจารย์จบปริญญาโทเป็นส่วนมาก จบปริญญาเอกเป็นส่วนน้อย ที่ต่ำกว่าปริญญาโทนั้นไม่มี เป็นว่าวุฒิอาจารย์สอนดีมาก และยัง พบว่า อาจารย์ เคยได้ผ่านการอบรมการสอนวิชาธรรมภาคปฏิบัติ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นส่วนมากและสอนมีประสิทธิภาพ

     ด้านเอกสารคำสอน และแผนการสอน พบว่า อยู่ในระดับดีมาก เป็นที่น่าพอใจ แต่ขาดหลักวิชาการ

     ด้านสื่อการสอน เทคโนโลยี อุปกรณ์การสอน เครื่องฉายข้ามศีรษะ และเพาเวอร์พ้อยท์ พบว่า อยู่ในระดับน้อย ไม่เป็นที่พอใจ อาจารย์ขาดประสิทธิภาพด้านนี้ต้องแก้ไขปรับปรุง

     สอนตามหลักวิปัสสนากรรมฐานและสมถะกรรมฐาน พบว่า อยู่ในระดับดีมาก อาจารย์สอนมีประสิทธิภาพ

     ส่วนมากอาจารย์สอนจะออกข้อสอบแบบอัตนัย และอาจารย์ที่ออกข้อสอบแบบปรนัย มีเป็นส่วนน้อย สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี จำนวน ๓๖๑ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า ๕ ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการวิจัยครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้

     ๑. มากกว่าร้อยละ ๘๐ มีสถานภาพเป็นพระภิกษุ ส่วนเป็นสามเณรร้อยละ ๒๐ และพระนิสิตร้อยละ ๙๕.๒ เรียนสาขาปรัชญาและศาสนา รองลงมาเป็นสาขาหลักสูตรและการสอน ร้อยละ ๘๓.๒ และรัฐศาสตร์ ร้อยละ ๘๒.๗

     ๒. สำหรับประสิทธิภาพการสอนของอาจารย์ พบว่า นิสิตปีที่ ๑ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๑.๑ เห็นว่าประสิทธิภาพการสอนของอาจารย์ อยู่ในระดับมาก นิสิตปีที่ ๒ ส่วนใหญ่ ร้อยละ ๕๘.๖ เห็นว่าประสิทธิภาพการสอนของอาจารย์ อยู่ในระดับน้อย นิสิตปีที่ ๓ ร้อยละ ๖๙.๙ เห็นว่าประสิทธิภาพการสอนของอาจารย์ อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนนิสิตปีที่ ๔ ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๑.๓ เห็นว่าประสิทธิภาพการสอนของอาจารย์ อยู่ในระดับมาก สรุป ได้ว่าการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการสอนแต่ละสาขาวิชาและแต่ละชั้นปีไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ