บทความวิชาการ
การศึกษาปัญหาจริยธรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพฯ
06 พ.ย. 56 | บทความวิจัย
1762

ผู้แต่ง :: พันโท เอนก คงขุนทด

ชื่อผู้วิจัย : พันโท เอนก คงขุนทด
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553

บทคัดย่อ

    ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาปัญหาจริยธรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ตามแนวความคิดของท่านพุทธทาสในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บทคัดย่อ ในโลกยุคไอที ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว มีส่วนให้เยาวชนมีปัญหาทางจริยธรรม แสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จึงสนใจศึกษาปัญหาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้พฤติกรรมเชิงจริยธรรมตามแนวความคิดของท่านพุทธทาส เก็บข้อมูลจากนักเรียนตัวอย่าง ๓๗๖ คน ด้วยแบบสอบถามที่สร้างขึ้น นำมาวิเคราะห์ด้วยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และเปรียบเทียบปัญหาจริยธรรมระหว่างนักเรียนที่มีเพศ อายุ ชั้นปี สายการศึกษา ลักษณะครอบครัวและความรู้เกี่ยวกับท่านพุทธทาสที่ต่างกันด้วย t-test หรือการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(Oneway Analysis of Variance) การวิจัยสรุปผลได้ดังนี้

ผลการวิจัยพบว่า

     ๑. นักเรียนชายมีปัญหาจริยธรรมมากกว่านักเรียนหญิง ในการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ และการเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน นักเรียนที่มีอายุมากมีปัญหาจริยธรรมมากกว่านักเรียนที่มีอายุน้อย นักเรียนที่มีอายุ ๑๕ ปีลงมามีปัญหาจริยธรรมน้อยกว่านักเรียนที่มีอายุ ๑๖ ปี และนักเรียนที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป และนักเรียนที่เรียนสายอาชีพมีปัญหาจริยธรรมมากกว่านักเรียนสายสามัญ นักเรียนที่อยู่ในครอบครัวเดี่ยวมีปัญหาจริยธรรมมากกว่าครอบครัวขยาย มีจริยธรรม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕

     ๒. นักเรียนชั้นปีที่ต่ำกว่ากับนักเรียนชั้นปีที่สูงกว่ามีปัญหาจริยธรรมไม่แตกต่างกัน

     ๓. นักเรียน จำแนกตาม เพศ อายุ ชั้นปีการศึกษา สายการศึกษา และลักษณะครอบครอบครัว มีความรู้เกี่ยวกับท่านพุทธทาสระดับปานกลาง

ข้อเสนอแนะ

     ๑. ในการวางแผนงาน / โครงการเพื่อพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา มุ่งเน้นการพัฒนาจริยธรรม ด้านเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ด้านเป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ ด้านเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และด้านเป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ

     ๒. ในการเรียนการสอนครูผู้สอนพึงให้ความสำคัญด้านเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ด้านเป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ และ ด้านเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน โดยกำชับหรือปลูกฝังให้นักเรียนเห็นคุณค่าของพ่อแม่ ครูอาจารย์ และเพื่อน เพื่อยกระดับจริยธรรมของนักเรียนให้สูงขึ้น

     ๓. ในการวิจัย ด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่เกี่ยวกับแนวความคิดของท่านพุทธทาส ควรทำวิจัยเพื่อศึกษาการสร้างชุดการอบรมคุณธรรมจริยธรรมเกี่ยวกับแนวความคิดของท่านพุทธทาส ใช้เป็นองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่คำสอนของท่านพุทธทาสด้าน คุณธรรมและจริยธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป