บทความวิชาการ
การศึกษาเชิงวิเคราะห์บทบาทของเทวดาที่ปรากฏในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก
06 พ.ย. 56 | บทความวิจัย
2603

ผู้แต่ง :: พระมหาศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน,ดร. และ ดร.ประยงค์ จันทร์แดง

ชื่อผู้วิจัย : พระมหาศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน,ดร. และ ดร.ประยงค์ จันทร์แดง
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพและบทบาทของเทวดารวมทั้งท่าทีที่พึงมีต่อเทวดาและศึกษาเปรียบเทียบท่าทีต่อเทวดาของพระสงฆ์และฆราวาสในเขตจังหวัดอุบลราชธานี การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัย ๒ อย่าง คือ การวิจัยเอกสาร ศึกษาจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกเป็นหลัก และการวิจัยภาคสนาม แจกแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสังฆาธิการ ๑๐๐ รูป และฆราวาส ๒๐๐ คนที่เป็นทายกทายิกาประจำวัดของพระสังฆาธิการโดยแจกฆราวาส ๒ คนต่อ ๑ วัด

     ผลการศึกษาภาคเอกสารพบว่า คำว่าเทวดาเป็นคำเรียกสิ่งที่มนุษย์เคารพนับถือ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ (๑) เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชาและสมาชิกในพระราชวงศ์ (๒) เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ ผู้ที่บังเกิดเป็นเทวดาสถิตบนสวรรค์ด้วยผลแห่งความดี และ (๓) เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ ผู้หมดจดปราศจากกิเลสตัณหา เช่น พระพุทธเจ้าและเหล่าอริยสาวก ในงานวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะเทวดาโดยกำเนิด ซึ่งสถิตอยู่ในสวรรค์กามาพจร ๖ ชั้น กล่าวคือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ตามลำดับ การบังเกิดเป็นเทวดาเป็นผลจากการทำความดี โดยเฉพาะการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และใจ และการให้ทาน เทวดามีคุณสมบัติสำคัญ ๔ ประการ คือ มีอายุยืน มีรูปร่างผิวพรรณงดงามยิ่ง มีความสุขอันเป็นทิพย์เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ และมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เทวดาในสวรรค์กามาพจรทั้ง ๖ ชั้น มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับมนุษย์สรุปได้เป็น ๒ ด้าน คือ บทบาทด้านบวกและบทบาทในด้านลบ

     บทบาทในด้านบวกนั้น ได้แก่ การคอยสอดส่องดูแลและการช่วยเหลือมนุษย์ ที่บำเพ็ญคุณความดีสมควรได้รับการช่วยเหลือ และการมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือเหล่าพระอริยเจ้าเพื่อฟังธรรมหรือถามปัญหาต่าง ๆ ส่วนบทบาทในด้านลบของเทวดานั้นมักปรากฏตัวในรูปของมารเพื่อมาขัดขวางหรือรบกวนให้เสียความตั้งใจในการทำความดี ส่วนผู้ที่จิตใจมั่นคง เช่น พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยเจ้านอกจากจะไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมารแล้วยังรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของมารจนทำให้มารต้องพ่ายแพ้กลับไปอีกด้วย

     มนุษย์ควรมีท่าทีที่ถูกต้องต่อเทวดา ๔ ประการ คือ (๑) ทำเทวตาพลี คือ อุทิศส่วนกุศลแก่เทวดา (๒) เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา (๓) เจริญเมตตาต่อเทวดา และ (๔) อัญเชิญเทวดามาร่วมทำความดี เช่น ฟังธรรม

     ผลการศึกษาภาคสนามพบว่าพระสังฆาธิการส่วนใหญ่มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเทวดาและมีท่าทีที่เหมาะสมต่อเทวดา แต่อาจมีบางประเด็นที่เข้าใจผิดจากหลักการเดิมบ้าง เช่น เห็นว่าเทวดาอยู่ในภาวะที่ประเสริฐกว่ามนุษย์ ซึ่งความจริงแล้ว แม้เทวดาอยู่ในภูมิที่ดีกว่ามนุษย์ แต่เทวดาก็ไม่ฉลาดไปกว่ามนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่เทวดาพากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมหรือถามปัญหาที่ลึกซึ้งเสมอ และอีกประเด็นหนึ่ง คือ เห็นว่าสวดชุมชุมเทวดาเพื่อให้เทวดามาปกปักรักษา ซึ่งความจริงแล้ว การสวดชุมชุมเทวดาเพื่อให้เทวดามาร่วมฟังธรรมด้วยกัน ส่วนฆราวาสพบว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้องและท่าทีที่เหมาะสมต่อเทวดาน้อยกว่าพระสังฆาธิการ เช่น เข้าใจว่าเทวดาอยู่ในภาวะประเสริฐกว่ามนุษย์ถึงร้อยละ ๗๖ ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้ว และเห็นว่าการแสดงความเคารพสถานที่ทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ใหญ่ ขุนเขา แม่น้ำ เป็นสิ่งไม่ถูกต้องร้อยละ ๖๕ ซึ่งความจริงการแสดงความเคารพยำเกรงสถานที่ทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำเพราะมีเทวดาสถิตอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่พระสังฆาธิการมีความเข้าใจและท่าทีที่ถูกต้องต่อเทวดาดีกว่าฆราวาสก็ถือเป็นเรื่องปกติเพราะพระสังฆาธิการมีโอกาสศึกษาคัมภีร์ทางศาสนามากกว่าและมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเผยแผ่หลักการที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น