ผู้แต่ง :: นางสาวพัฒน์นรี อัฐวงศ์ และคณะ
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวพัฒน์นรี อัฐวงศ์ และคณะ
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
บทคัดย่อ
ผู้วิจัย : นางสาวพัฒน์นรี อัฐวงศ์, ผศ.ฉวีวรรณ สุวรรณาภา และ นายธีรวัฒน์ จันทร์จำรัส
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ใน ๕ ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย ด้านทักษะพิสัย ด้านเหตุผลในการใช้ และด้านปัญหาอุปสรรคการใช้ ๒) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของนิสิตมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ จำแนกตามประเภทนิสิต ชั้นปี สาขาวิชา และอายุ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ จำนวน ๔๑๘ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ๓ ตอน ตอนที่ ๑ สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ ๒ พฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตอนที่ ๓ ข้อเสนอแนะ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย () ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)ทดสอบค่า t (t-test) และทดสอบค่า F (F-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
๑. สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า นิสิตส่วนใหญ่เป็นคฤหัสถ์มากกว่าบรรพชิต นิสิตชั้นปีที่ ๓ มากที่สุด รองลงมา ชั้นปีที่ ๒ ชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๔ ตามลำดับ นิสิตสาขาวิชารัฐศาสตร์ มากที่สุด รองลงมาคือ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา สาขาวิชาสังคมศึกษา และสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ มีอายุ ๒๐-๓๐ ปี มากที่สุด รองลงมา อายุ ๓๑-๔๐ ปี อายุ ๔๑ ปีขึ้นไป และต่ำกว่า ๒๐ ปี ช่วงเวลาที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด คือ ช่วงเวลา ๑๑.๐๑-๑๓.๐๐ น. ความถี่ในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ๑ ครั้งต่อสัปดาห์ ระยะเวลาในการเปิดรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละครั้งใช้เวลา ๓๐ นาที และสืบค้นโดยวิธีทดลองใช้ด้วยตนเองมากที่สุด
๒. นิสิตมีพฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยรวมอยู่ในระดับมาก ด้านพุทธิพิสัยอยู่ในระดับมาก ยกเว้น มีความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศ มีการนำความรู้ที่ได้มาผลิตสื่อการเรียนการสอนและมีการใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในระดับปานกลาง ด้านจิตพิสัยอยู่ในระดับมากทุกข้อ ด้านทักษะพิสัยอยู่ในระดับมาก ยกเว้น มีทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศ อยู่ในระดับปานกลาง ด้านเหตุผลการใช้อยู่ในระดับมาก ยกเว้น เพื่ออ่านตำราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) เพื่อตรวจสอบผลการเรียนผ่านระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัย เพื่อสนทนาและร่วมแสดงความคิดเห็นในห้องคุย (Chat Room) และ เพื่อรับชมการสอนผ่านระบบเครือข่าย (e-Learning) อยู่ในระดับปานกลาง และด้านปัญหาอุปสรรคการใช้ อยู่ในระดับมาก ยกเว้นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ตรงกับตามความต้องการของผู้รับบริการ สัญญาณ ถูกขัดจังหวะขณะค้นคว้าหาข้อมูล โปรแกรมที่ใช้ร่วมไม่ทันสมัยและ ไม่รู้จักสถานที่ตั้งคอมพิวเตอร์หรือผู้ติดต่อประสานงานดูแลระบบ อยู่ในระดับปานกลาง
๓. ประเภทของนิสิตแตกต่างกันมีพฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน ยกเว้น รายข้อ พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๔. ชั้นปีที่ศึกษาแตกต่างกันนิสิตมีพฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยรวมไม่แตกต่างกัน ยกเว้น พบว่า รายข้อ พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๕. สาขาวิชาที่ศึกษาแตกต่างกันนิสิตมีพฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๖. อายุแตกต่างกันพฤติกรรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของนิสิตโดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕