บทความวิชาการ
สภาพปัญหาการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
11 พ.ย. 56 | พระพุทธศาสนา
1712

ผู้แต่ง :: นายถวิล คำโสภา และ พระมหาสันติ ธีรภทฺโท

ชื่อผู้วิจัย : นายถวิล คำโสภา และ พระมหาสันติ ธีรภทฺโท
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553

บทคัดย่อ

การศึกษาสภาพปัญหาการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบและลักษณะการบริหารงานบุคคลใน มจร จากเอกสาร เพื่อศึกษาระดับสภาพปัญหาการบริหารงานบุคคลที่มีอยู่ในปัจจุบันและระดับความต้องการปรับปรุงแก้ไขปัญหา โดยสำรวจจากผู้บริหารของ มจร ทั้งส่วนกลางวิทยาเขต รวมจำนวน 208 รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ศึกษาแนวทางการบริหารงานบุคคลใน มจร โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับรองอธิการบดีทั้งส่วนกลางและวิทยาเขต วิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในลักษณะการเขียนบรรยายสรุปเนื้อหาโดยภาพรวม ผลการวิจัยมีดังนี้

ผลการวิจัย พบว่า

     1. ด้านการคัดเลือกและการสรรหา พบว่า มจร มีคณะกรรมการพิจารณาจากใบสมัคร วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ การแสดงออก และกำหนดอัตราส่วนสายวิชาการ พระภิกษุ 60% ฆราวาส 40% สายปฏิบัติการวิชาชีพฯ พระภิกษุ 50% ฆราวาส 50% โดยยึดหลักการเข้ายาก ออกง่าย และยึดระบบคุณธรรมเป็นหลักในการบริหารงานบุคคล

     2. ด้านการส่งเสริมพัฒนาบุคลากร พบว่า มจร พัฒนาบุคลากรในลักษณะส่งเสริมให้ลาศึกษาต่อและให้ทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยขาดแคลน มีการจัดสรรทุนเป็นลักษณะที่ยืดหยุ่นตามความเหมาะสมและความจำเป็นในแต่ละภูมิประเทศ มุ่งให้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน

     3. ด้านการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร พบว่า มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรปีละ 2 ครั้ง มีหลักเกณฑ์และระบบประเมินที่ได้มาตรฐาน เป็นธรรมและโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีองค์คณะบุคคลกลั่นกรองผลการประเมิน และยึดผลสำเร็จของงาน ปริมาณงาน พฤติกรรมในการทำงาน และคุณลักษณะส่วนบุคคลเป็นปัจจัยหลัก

     4. ด้านการจัดสวัสดิการให้บุคลากร พบว่า มจร มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล การบริการยานพาหนะ อาหารกลางวัน และได้เข้าร่วมโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยโดยธนาคารเคหะสงเคราะห์ ให้สิทธิพิเศษในวงเงินกู้ และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และจัดให้มีการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ

     5. จากการสำรวจระดับสภาพปัญหาการบริหารงานบุคคลใน มจร พบว่า โดยภาพรวมทุกด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง และระดับความต้องการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวมทุกด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก

     6. จากการสัมภาษณ์เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารงานบุคคลใน มจร พบว่า มจร สมควรพัฒนาแผนกำลังคน การนำคนเข้าสู่ตำแหน่งงาน ควรเป็นวิธีการสอบคัดเลือกทั้งหมด ควรมีหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้ครบวงจร หลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารทุกระดับ ควรมีการติดตามผลการลาศึกษาต่อของบุคลากร ควรพัฒนาหลักเกณฑ์และระบบการประเมินผลการทำงานให้สอดรับกับความเป็นจริง ควรปรับโครงสร้างตำแหน่ง ประเภทตำแหน่งบุคลากรให้สอดรับกับภาระงาน ควรปรับปรุงระเบียบ ประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าตอบแทนผู้เกษียณอายุการทำงาน ค่าฌาปนกิจศพ และค่าทำงานล่วงเวลาให้เหมาะสม การตรวจสุขภาพประจำปี การบริการยานพาหนะ สวัสดิการร้านอาหารและที่พักอาศัย การให้ความดีความชอบ การให้รางวัลประจำปี และการนันทนาการ มหาวิทยาลัยควรมีสวัสดิการที่สมดุลกับบุคลากรและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ.