บทความวิชาการ
พฤติกรรมความเชื่อของประชาชนในวรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัย
11 พ.ย. 56 | บทความวิจัย
5288

ผู้แต่ง :: โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ และคณะ

ชื่อผู้วิจัย : โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ และคณะ  
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553

บทคัดย่อ

    การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของวรรณกรรมสังข์ศิลป์ชัย และเพื่อศึกษาพฤติกรรมความเชื่อของประชาชนในวรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ซึ่งเป็นความเชื่อด้านพระพุทธศาสนา ได้แก่ กรรม ผลของกรรม บุญ บาป นรก และสวรรค์ ด้วยการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ จำนวน ๕๐ คน และสอบถามนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (๔-๖) จำนวน ๒๕๐ คน ผลการวิจัยมีรายละเอียด ดังนี้

     ความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม พบว่า ความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรมมีอยู่เดิมแล้ว แต่ความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรมในสังข์ศิลป์ชัยมาช่วยสนับสนุนความเชื่อเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ให้ปรากฏชัดอีกครั้ง ให้มีความหนักแน่นมั่นคง หรือให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๘๖.๔๖ และผู้ไม่เชื่อคิดเป็นร้อย ๑๓.๓๖

     ความเชื่อเรื่องบุญ พบว่า ในขณะที่มีการกล่าวถึงบุญจะไม่ได้หมายถึงการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา แต่หมายถึงการได้ฟังการเล่าเรื่องสังข์ศิลป์ชัย หรือการแสดงที่เกี่ยวกับเรื่อง สังศิลป์ชัย เช่น หมอลำสินไซ เป็นต้น มีผู้เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๙๐.๐ และมีผู้ไม่เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๑๐.๐

    ความเชื่อเรื่องบาป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ายักษ์กุมภัณฑ์เป็นตัวแทนของบาปหรือตัวแทนของการทำบาป และเป็นสื่อให้รู้สึกกลัวบาปได้มากกว่าตัวละครอื่นๆ มีผู้เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๘๙.๑๔ และมีผู้ไม่เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๑๐.๘๖

     ความเชื่อเรื่องนรก พบว่า วรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกล่าวถึงเรื่องนรกน้อยมาก แต่ภาพของเหตุการณ์หรือฉากในเรื่องจะสะท้อนเรื่องนรกได้อย่างน่ากลัว โดยกล่าวถึงนรกอเวจีที่ใหญ่และน่ากลัวที่สุด มีผู้เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๘๑.๘ และมีผู้ไม่เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๑๘.๒

     ความเชื่อสวรรค์ พบว่า วรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกล่าวถึงเรื่องนรกน้อยมากเช่นกัน แต่เวลาตัวละครกล่าวถึงสวรรค์จะช่วยให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังรู้สึกคล้อยตามและปรารถนาสวรรค์ตามไปด้วย มีผู้เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๘๙.๒๒ และมีผู้ไม่เชื่อคิดเป็นร้อยละ ๑๐.๗๘