บทความวิชาการ
ธรรมราชา
21 ธ.ค. 59 | พระพุทธศาสนา
104908

ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.

 

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

 

ความนำ

 

             เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้ปราศรัยต่อสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๑๙๔๘ ว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุดต่างหาก"  ในขณะที่พระพุทธศาสนาไม่ได้เสนอว่า "ระบอบการปกครองใดเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด หรือเลวน้อยที่สุด" แต่พระพุทธศาสนาเสนอว่า "ผู้ปกครองแบบใดดีที่สุด" นักปกครองที่ได้รับการยกย่องว่า “เป็นผู้ปกครองที่ดี” ตามนัยของพระพุทธศาสนานั้น มิได้มีนัยที่แสดงถึงนักปกครองที่เก่งกล้าสามารถโดยการใช้อาวุธประหัตประหารเพื่อเอาชนะกลุ่มคนและแว่นแคว้นต่างๆ ในอันที่จะได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง  แต่นักปกครองที่ดีนั้นหมายถึงบุคคลที่ทรงธรรม และทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา หรือศาสตราเข้าไปแย่งชิงเพื่อครอบครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ผู้ปกครองในลักษณะนี้ พระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “ธรรมราชา

          บุรุษที่ยิ่งใหญ่นาม “พระเจ้าอโศกมหาราช” ที่เริ่มต้นครอบครองและยึดครองแผ่นดินของประเทศต่างๆ ด้วย “ยุทธวิชัย” แต่ภายหลังได้ตระหนักรู้ถึงภัยที่เกิดจากการแย่งชิงและเข่นฆ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการครอบครอง และปกครอง จึงเปลี่ยนกระบวนทัศน์มาสู่การเอาชนะด้วยธรรม หรือ “ธรรมวิชัย  จนพระองค์ได้รับย่องว่า “ธรรมราชา” เพราะนำหลักธรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการปกครองบ้านเมือง

       จากแบบอย่างดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างยิ่งใหญ่แก่พระญาลิไท พระมหากษัตริย์ไทยในยุคสุโขทัยในการปกครองบ้านเมือง หลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงแง่มุมดังกล่าว คือ “หนังสือไตรภูมิพระร่วง” ที่พระองค์ได้อ้างอิงถึงหลักการ และแนวทางในการบริหารจัดบ้านเมืองของพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาราษฎรจึงถวายพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา 

       คำว่า “ธรรมราชา” จึงมีความสำคัญต่อการตั้งพระนามของพระมหากษัตริย์ในยุคต่างๆ หลายพระองค์ เช่น พระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระเจ้าธรรมิกราช  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  จากคุณค่าและความสำคัญของ “ธรรมราชา” ดังกล่าวข้างต้นนั้น บทความนี้ จึงให้ความสำคัญ และพยายามจะตอบคำถามว่า ธรรมราชาคืออะไร? และการที่จะเป็น “ธรรมราชา” ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเกิดความพึงพอใจโดยธรรมนั้น คำว่า “ธรรม” ในบริบทนี้ หมายถึงธรรมข้อใดบ้าง

       เนื่องจากบทความนี้ต้องการที่จะศึกษา “ธรรมราชา” ในกรอบของพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในคัมภีร์ ผู้เขียนจะมุ่งเน้นศึกษา และตอบคำถามเหล่านี้ โดยใช้คัมภีร์พระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นกรอบในการศึกษา  ซึ่งการเข้าใจความหมายตามคัมภีร์จะนำไปสู่การศึกษา วิเคราะห์ ตีความ และประยุกต์ใช้กับงานทางวิชาการ และการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสังคมไทยในบริบทต่างๆ ต่อไป

 

 

ธรรมราชา: อะไร และอย่างไร

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ธรรมราชา” ได้ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงประเด็นนี้ในจักกวัตติสูตร และธรรมราชาสูตร และในมหาปทานสูตรซึ่งทั้ง ๓ สูตรนี้ได้กล่าวเอาไว้ว่า

พระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า “ทัฬหเนมิ ผู้ทรงธรรม ทรงเป็นพระราชาโดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงไดรับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้แก้ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว  มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแล้วแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต

ในขณะที่หลักฐานทางคัมภีร์อีกแห่งปรากฏคำว่า “ธรรมราชา” ในธัมมราชาสูตร ดังประโยคที่ว่า

พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาในโลกนี้ ทรงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองชนภายในโดยธรรม...”[๑] 

          นอกจากนี้ ในมหาปทานสูตรได้กล่าวถึง “ธรรมราชา” ว่า

ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง... มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแล้วแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต[๒]

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งหลักฐานอย่างน้อย ๓ แห่งนี้ สามารถอธิบายได้ถึงคำว่า “ธรรมราชา” ที่แสดงถึงคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “พระเจ้าจักรพรรดิ” ที่จะต้องได้รับการเรียกขานว่า “ทรงธรรม” และ “พระราชาโดยธรรม”[๓]

คำว่า “ทรงธรรม” (ธรรมิกะ) ในบางบริบทหมายถึงการเป็นผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่บุคคล ดังคำที่พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า “ผู้ชื่อว่า ทรงธรรม (ธรรมิกะ) เพราะกระทำความดีอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น[๔] ในขณะที่คำว่า “ธรรมราชา” นั้น ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ “ธรรมะ กับ ราชา”  คำว่า “ราชา” ถอดเป็นรูปวิเคราะห์ตามบาลีว่า “จตูหิ สงฺคหวตฺถูหิ ชนํ รญฺเชตีติ ราชา” แปลว่า “บุคคลใดยังประชาชนให้ยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ เหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า ราชา”   ซึ่งสอดรับกับหลักฐานบางแห่งที่อธิบายตามนัยที่คล้ายคลึงกันว่า “ราชา” หมายถึง “ผู้ที่ทำให้ชาวโลกพอใจหรือยินดีด้วย    สังคหวัตถุ ๔ ประการ” ดังรูปวิเคราะห์ว่า “สงฺคหวตฺถูหิ    โลกํ  รญฺชนฺโต  ราชา” แปลว่า  “บุคคลผู้ที่ทำให้ชาวโลกพอใจด้วยสังคหวัตถุ ๔ อย่าง ชื่อว่า ราชา”[๕]

ในบริบทเดียวกันนี้ เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ธรรมราชา”  คัมภีร์ได้แสดงรูปวิเคราะห์ว่า  “ธมฺเมว     ทสวิเธน จกฺกวตฺเตน ราชา ชาโตติ ธมฺมราชา”  แปลว่า “บุคคลใด เป็นผู้ยังบุคคลอื่นให้ยินดีโดยธรรม คือ จักรวัตติวัตร ๑๐ ประการ[๖] เหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า ธรรมราชา[๗]

ถึงกระนั้น  คำว่า “ธรรมราชา” มิได้มีนัยที่สะท้อนแง่มุมของพระราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิ แต่เพียงประการเดียวเท่านั้น หากแต่สะท้อนนัยเกี่ยวกับพระนามของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน ดังหลักฐานในคัมภีร์ที่ว่า

“พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาในโลกนี้ ทรงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองภิกษุ... ภิกษุณี... อุบาสก... อุบาสิกาทั้งหลายโดยธรรมว่า กายกรรม... วจีกรรม... มโนกรรม... อาชีพ... บ้านและนิคม... เช่นนี้ควรอยู่อาศัย เช่นนี้ไม่ควรอยู่อาศัย”[๘]  

คำว่า “ธรรมราชา” ในบริบทนี้จึงหมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน ดังรูปวิเคราะห์ตามบาลีว่า “นวหิ โลกุตฺตรธมฺเมหิ มหาชนํ รญฺเชตีติ ธมฺมราชา” แปลว่า “พระตถาคตชื่อว่า ธรรมราชา เพราะยังมหาชนให้ยินดีด้วยโลกุตรธรรม ๙[๙] นั่นแล”[๑๐] สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “ธรรมราชา” ในประเด็นนี้เป็นการสะท้อนภาวะของการกระทำความดีอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน[๑๑]

ในอภิธานวรรณนาได้อธิบายถึงประเด็นนี้เดียวกันนี้เอาไว้น่าสนใจเช่นกันว่า “ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา เพราะทรงยินดีซึ่งธรรม  ทรงเป็นพระราชาของโลกพร้อมทั้งเทวโลกโดยธรรม  ทรงยังปวงชนให้ยินดีด้วยธรรม  ทรงเป็นพระราชาผู้รักษาความเป็นธรรม ผู้เที่ยงธรรม จึงพระนามว่า ธรรมราชา ดังตัวอย่างว่า “” ซึ่งแปลว่า “พระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครประเสริฐว่า ตรัสว่า เสละ เราเป็นพระธรรมราชา”[๑๒]

 

จากความหมายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น คำว่า “ธรรมราชา” มีนัยที่สะท้อนถึงความหมายที่สำคัญอย่างน้อยใน ๒ ประเด็น กล่าวคือ

(๑) หมายถึง พระราชา หรือผู้ปกครองที่ทรงธรรม ชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา[๑๓] และทำให้ชาวโลก มหาชน หรือประชาชนพึงพอใจ หรือยินดีโดยธรรม ซึ่งความยินดีนั้นอาจจะมาจากการที่พระราชาหรือผู้ปกครองสงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ และสงเคราะห์ตามหลักจักรวรรดิวัตร๑๐ ประการ ซึ่งความหมายในลักษณะนี้เป็นการทำหน้าที่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์สุขให้แก่บุคคลอื่นๆ

          (๒) หมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้พระองค์พยายามจะอธิบายว่าพระองค์ทรงเป็น “ธรรมราชา” เพราะพระองค์ได้ทรงทำให้มหาชนเกิดความยินดี และพอใจโดยโลกุตรธรรม ๙ ประการ ซึ่งเป็นคุณธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา ซึ่งสภาวะเช่นนี้ แม้บุคคลที่ได้ชื่อว่าพระเจ้าจักรพรรดิย่อมมีสถานะที่เป็นรอง เพราะพระเจ้าจักรพรรดิถือว่าเป็นสมบัติภายนอก แต่ความเป็นพระพุทธเจ้านั้นถือได้ว่าเป็นสมบัติภายในที่ประเสริฐกว่า  

          จากความหมายทั้ง ๒ ประการนี้  ความเป็นธรรมราชาของพระราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิสามารถเลือนหายไปได้ตามตัวแปร แต่ความเป็นธรรมราชาของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีตัวแปรใดที่จะเข้ามากำหนด กำกับ และควบคุมให้เลือนหายไปได้ ดังจะเห็นได้จากการเลือนหายไปของตัวแปรภายนอกที่พระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า “ทัฬหเนมิ” ประสบ จนทำให้พระองค์ตัดสินใจสละราชบัลลังก์ และบำเพ็ญตนเป็นฤๅษีเพื่อแสวงหาความจริงสูงสุดในบั้นปลายของชีวิต

 

ธรรมราชา: หลักการปกครองเพื่อสร้างความยินดีพอใจแก่ประชาชน 

 ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นว่า “ธรรมราชา” มีนัยที่สะท้อน (๑) สถานะของบุคคลที่ดำรงตน หรือได้รับการสมมติจากมหาชนให้ดำรงตำแหน่ง แล้วใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุขในแว่นแคว้นของตน (๒) ผู้ปกครองที่บริหารจัดการรัฐจนทำให้มหาชนเกิดความยินดีพึงพอใจในการทำหน้าที่ดังกล่าว จึงเรียนขานผู้ปกครองเหล่านั้นว่า “ราชา” ในฐานะผู้ที่ทำให้บุคคลอื่นพึงพอใจโดยธรรม

คำถามมีว่า คำว่า “โดยธรรม” ในคำว่า “ยังคนอื่นให้พึงพอใจโดยธรรมธรรม” นั้น  หมายถึง “ธรรมะข้อใด” ธรรมะดังกล่าวมีลักษณะที่สำคัญต่อการปฏิบัติตนของพระราชาหรือผู้ปกครองอย่างไร? จึงทำให้มหาชนเกิดความยินดีพึงพอใจจนเรียกขานผู้ปกครองเหล่านั้นว่า “ราชาผู้ทรงธรรม” และ “ธรรมราชา”  จากการศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกาต่างๆ พบคำตอบที่น่าสนใจว่า คำว่า “ธรรมะ” ในคำว่า “ราชา” หรือ “ธรรมราชา” นั้น สะท้อนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาใน ๕ กลุ่มใหญ่ๆ ที่พระราชา และผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองทั่วไป จะต้องยึดเป็นข้อปฏิบัติในการปกครองเป็นสำคัญ (๑) กุศลกรรมบถ และ ศีล ๕ (๒) จักรวรรดิวัตร ๑๒ (๓) สังคหวัตถุ ๔  (๔) ราชสังคหวัตถุ ๔ และ (๕) หลักทศพิธราชธรรม หมวดธรรมทั้ง ๕ กลุ่มนี้แบ่งออกเป็น ๒ ชุด คือ ชุดที่เป็นข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิตามที่ปรากฏในจักกวัตติสูตร และชุดที่เป็นข้อปฏิบัติของพระราชาตามที่ปรากฏในมหา      หังสชาดก และอรรถกถา  ดังมีรายละเอียดที่ปรากฏตามบริบทต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

ก. หลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิตามนัยจักกวัตติสูตร

(๑) กุศลธรรมบท ๑๐

ในจักกวัตติสูตรได้กล่าวถึงคำตรัสสอนของทัฬหเนมิฤาษีที่มีต่อพระราชโอรสในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจักรวรรดิวัตรว่า “ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรมเท่านั้น...”  คัมภีร์ชั้นอรรถกถาจารย์ได้อธิบายคำว่า “ธรรม” ในบริบทนี้ว่า “หมายถึง กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ”[๑๔]  ซึ่งประกอบด้วย  (๑) ความดีทางกายกรรม ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม (๒) ความดีทางวจีกรรม คือ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจอ (๓) ความดีทางใจ คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย เห็นชอบตามทำนอบครองธรรม 

คำถามมีว่า “เพราะเหตุใด? พระอรรถกถาจารย์จึงได้จัดวางกุศลกรรมบทเอาไว้เป็นประเด็นแรกในจักกวัตติสูตร” ผู้เขียนมองว่า หลักธรรมข้อนี้น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาพฤติกรรมของพระราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิ  เพื่อให้เอื้อต่อการวางท่าทีที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแคว้น อีกทั้งเป็นแบบอย่างต่อการประพฤติตนของประชาชนอีกด้วย  ซึ่งในไตรภูมิโลกวินิจฉัยได้อธิบายในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

          เหตุควรตามนัยพระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้พุทธาธิบาย แลบรมกษัตริย์ทั้งหลายผู้รู้ปฏิบัติในจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ นี้เดิมทีให้ประพฤติในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ให้บริบูรณ์ในพระบวรราชสันดานก่อน... บรมกษัตริย์ผู้บำเพ็ญจักรวรรดิวัตรนั้น พึงปฏิบัติทศกุศลกรรมบถนี้ให้บริบูรณ์ พึงคำรพยำเกรงในทศกุศลกรรมบถ ตั้งพระทัยให้สมัครรักใคร่สรรเสริญสาธุการซึ่งทศกุศลกรรมบถ  บูชาซึ่งทศกุศลกรรมบถ ด้วยดอกไม้แลของหอมเป็นต้น พึงต่ำเตี้ยซึ่งตนกระทำอัญชลีนบนอบนมัสการซึ่งกุศลกรรมบทนั้นทุกเพลาเช้าเพลาค่ำ  ทุกอิริยาบถนั่ง นอน ยืน เที่ยว อย่าลืมอย่าหลง พึงยกธงคือกุศลกรรมบถไว้ในเบื้องหน้า พึงเงื้อหอกแก้ววชิราวุธ คือทศกุศลกรรมบทที่บริบูรณ์นั้นขึ้นไว้ในที่เฉพาะพระพักตร์ อย่าละวาง พึงตั้งทศกุศลกรรมบถไว้ในที่เป็นอิสริยาธิบดี แล้วลำดับนั้นจึงปฏิบัติในจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการสืบต่อไป[๑๕]

จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่า การที่น้อมนำหลักจักรวรรดิวัตรมาปฏิบัตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับท่าทีทางกาย วาจา และใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยการนำหลักกุศลกรรมบทมาเป็นฐานในการปฏิบัติเบื้องต้นก่อน  สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ พื้นฐานของกุศลกรรมบถคือศีล ๕  ซึ่งเป็นจริยธรรมเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา ซึ่งความเชื่อมโยงในลักษณะดังกล่าวนี้ ในจักกวัตติสูตร “กษัตราธิราช” จึงได้ให้โอวาทแก่เหล่าพระราชาจากแคว้นต่างๆ ที่มาเฝ้าว่า “พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา[๑๖]   โอวาทดังกล่าวนั้น หมายถึง “ศีล ๕” ที่เป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของประชาชนทั่วไป

จะเห็นว่า ศีล ๕ และกุศลกรรมบถทั้งสองชุดนั้น เป็นหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐาน และขั้นกลางในการพัฒนาพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจให้มีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนา และดำรงตนอยู่บนครรลองของจักรวรรดิธรรมในลำดับต่อไป

 
                              (๒)  จักรวรรดิวัตร ๑๒ 

     จักกวัตติสูตร[๑๗]  หรือพระสูตรว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ ได้ปรากฏข้อความแสดงถึงวัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ  ในการรักษาความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป วัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ดังที่ทัฬหเนมิฤๅษีได้กล่าวถึง “จักรวรรดิวัตร” ว่า

ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม ทำความเคารพธรรม นับถือธรรมบูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันเป็นธรรมในชนภายใน (พระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา) ในกำลังพล ในพวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ ในพวกพราหมณ์และคฤหบดี ในชาวนิคม และชาวชนบททั้งหลาย ในพวกสมณพราหมณ์ ในเหล่าเนื้อและนก  ลูกเอ๋ย การกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผน อย่าให้มีได้ในแว่นแคว้นของลูกเลย  อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก ไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้นด้วย  อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูกงดเว้นจาก ความเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกตนแต่ผู้เดียว สงบตนแต่ผู้เดียว ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว พึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยกาลอันควรแล้วไต่ถามสอบถามว่า ท่านขอรับ กุศลคืออะไร ท่านขอรับ อกุศลคืออะไร กรรมมีโทษคืออะไร กรรมไม่มีโทษคืออะไร กรรมอะไรควรเสพ กรรมอะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรอันข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงมีเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนานหรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ลูกได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใด เป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลพึงถือมั่นสิ่งนั้นประพฤติ  ลูกเอ๋ย นี้แล คือจักรวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น[๑๘] 

 

ในขณะที่คัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้ย้ำในประเด็นนี้ว่า ผู้ที่จะได้ชื่อว่า “ธรรมราชา” จะต้องประกอบด้วยคุณธรรมที่เป็นจักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ  ดังคัมภีร์ได้แสดงรูปวิเคราะห์ว่า  “ธมฺเมว       ทสวิเธน จกฺกวตฺเตน ราชา ชาโตติ ธมฺมราชา”  แปลว่า “บุคคลใด เป็นผู้ยังบุคคลอื่นให้ยินดีโดยธรรม คือ จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ เหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า ธรรมราชา[๑๙]

จากนัยดังกล่าวข้างต้นอธิบายได้ว่า การปฏิบัติของนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ ที่ช่วยดำเนินในทางการเมืองอันเป็นวัตถุประสงค์ของหลักจักรวรรดิวัตรนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอย่างแท้จริงของสังคมโดยส่วนรวม โดยมุ่งสอนให้ผู้ปกครอง ใช้อำนาจเพื่อสร้างสรรค์ความสงบสุข และระบบเศรษฐกิจที่ดีของราษฎรและจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการอธิบายถึงวิธีการที่จะใช้อำนาจทางการเมือง เพื่อราษฎรโดยเข้าไปปรึกษา สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นักปราชญ์ นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเพื่อให้รู้ชัดในรัฐประกาศนโยบาย อันดีชั่วนโยบายที่ควรประกอบหรือไม่ควรประกอบ เพื่อที่จะปกครองหรือบริหารบ้านเมือง ให้มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งจักรวรรดิวัตรข้างต้นนั้นพระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งออกเป็น ๑๒ ข้อ คือ

(๑) พระราชาหรือผู้ปกครอง ต้องให้ความคุ้มครองรักษาอันเป็นธรรมแก่อันโตชนหรือชนภายในเช่น พระมเหสี พระโอรส พระธิดา ตลอดถึงบุคคลที่ใกล้ชิด หรือผู้ปรนนิบัติรับใช้ผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมดโดยการอบรมสั่งสอนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยดีงาม อีกทั้งต้องให้ความคุ้มครองรักษาแก่กำลังพล เช่น  ทหาร  ข้าราชการ  ตำรวจ  โดยเป็นธรรม สงเคราะห์เหล่าทหารให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่พร้อมทั้งจัดหายุทโธปกรณ์ไว้ให้พร้อม (อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ)

(๒) พระราชาหรือผู้ปกครอง ต้องเอาใจใส่เจ้าหัวเมืองต่างๆ คือ ต้องให้ความคุ้มครองเอาใจใส่ดูแลเจ้าเมืองที่เป็นเมืองขึ้น ให้สามารถดำเนินการปกครองไปได้อย่างราบรื่น ตลอดถึงชนชั้นผู้ปกครองชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ให้สามารถดำเนินการปกครองด้วยตนเองได้ เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นมาก็สามารถให้ความช่วยเหลือ ตลอดถึงเป็นที่ปรึกษาได้อย่างทันท่วงที (ขตฺติเยสุ)

(๓) พระราชาหรือผู้ปกครอง ต้องให้ความคุ้มครองแก่อนุยนต์หรือข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ ว่าเขามีปัญหาอะไรบ้างในทางปฏิบัติพร้อมทั้งหาความช่วยเหลือ ด้วยการลงพื้นที่ติดตามผลงานอย่างใกล้ชิด (พราหฺมณคหปติเกสุ)

(๔) พระราชาหรือผู้ปกครอง ต้องให้ความอนุเคราะห์นักปราชญ์และคฤหบดี คือส่งเสริมนักวิชาการและผู้ประกอบอาชีพวิชาการพ่อค้า เกษตรกร ด้วยวิธีการจัดหาทุนทรัพย์และอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้  เป็นต้น (เนคมชานปเทสุ)

(๕) พระราชาหรือผู้ปกครอง ต้องเอาใจใส่ชาวชนบท คือให้ความคุ้มครองแก่ราษฎรทั้งปวง ทั้งในเมือง ในท้องถิ่นห่างไกล ตลอดถึงชายแดน ก็ไม่ทอดทิ้งให้อยู่ตามยถากรรมต้องให้ความเป็นธรรมเสมอเหมือนกัน (สมณพราหฺมเณสุ)

(๖) พระราชาหรือผู้ปกครอง ต้องให้ความอุปถัมภ์ คุ้มครองแก่พระสงฆ์  บรรพชิต  นักบวช  สมณะ  ชีพราหมณ์ ด้วยการทำนุบำรุงพระศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ให้ความความอุปถัมภ์ คุ้มครองตามสมควรแก่สมณะวิสัยพอควร (มิคปกฺขีสุ)

(๗) พระราชาหรือผู้ปกครอง ต้องให้ความคุ้มครองแก่  นก  และเนื้อ  สัตว์ที่ควรสงวนทั้งหลาย เพื่อมิให้สูญพันธ์ ป้องกันการทำร้ายจากพวกที่ไม่หวังดี (อธมฺมการปฏิกฺเขโป)

(๘) พระราชาหรือผู้ปกครอง ป้องกันมิให้เกิดการอันอธรรมทุกชนิดเกิดขึ้นใน        พระราชอาณาจักรปราบปราม ผู้มีอิทธิพลต่างๆ มิให้มีการกระทำทุจริต ผิดกฎหมายบ้านเมืองอันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนอยู่ในรัฐโดยเด็ดขาด เช่น พวกมิจฉาชีพ พวกฆาตกร ที่มีขึ้นในราชอาณาจักรหรือเขตการปกครองของตน สิ่งที่เป็นเหตุนำมาซึ่งความชั่วร้าย ไม่ดี ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ต้องป้องกันมิให้บังเกิดขึ้นในแว่นแคว้น ในประเทศของตน ผู้ปกครองต้องกำจัดอย่างเด็ดขาด (ธนานํ ธนานุปฺปทานํ)

(๙) พระราชาหรือผู้ปกครองต้องแบ่งปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ มิให้มีผู้ขัดสนขาดแคลนอยู่ในแว่นแคว้นโดยไม่ได้รับการเหลียวแลช่วยเหลือตามสมควร หรือการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนสม่ำเสมอกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ปล่อยให้ความเจริญกระจุกอยู่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศเท่านั้น โดยที่ผู้ปกครองต้องหาอาชีพที่อิสระ สุจริต ให้แก่พวกเขา ให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ด้วยการให้คำปรึกษาอยู่เบื้องหลัง (สมณพราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหปุจฺฉนํ)

(๑๐) พระราชาหรือผู้ปกครองต้องขยันเข้าหาสมณพราหมณ์ ให้มีความสนใจศาสนาและศีลธรรมหมั่นปรึกษาไต่ถามสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ นักวิชาการผู้ที่มีความรู้ดีความสามารถดี ต้องแสวงหาปัญญา ความรู้และคุณธรรมอยู่เสมอมีที่ปรึกษาที่ดี บริสุทธิ์ มีคุณธรรม เพื่อให้รู้ชัด รู้แจ้ง และรู้อย่างถูกต้อง ในการวินิจฉัยข้อปัญหาต่างๆ ในสิ่งที่ควรกระทำและในสิ่งที่ควรเว้น

(๑๑) ควรเว้นจากความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม  (อธมฺมราคสฺส ปหานํ)

(๑๒) ควรเว้นจากความโลภที่มากเกินไป ไม่เลือกว่าอะไรควรไม่ควร (วิสมโลภสฺส ปหานํ)

 

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น ๕ ประเด็นใหญ่ คือ () ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่  ยึดความถูกต้องเป็นธรรมเป็นหลักในการปกครอง (๒) ธรรมิการักขา จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมแก่คนทุกหมู่เหล่า  (๓) อธรรมการนิเสธนา จัดการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิดต่างๆในบ้านเมือง  (๔) ธนานุประทาน เฉลี่ยทรัพย์ให้แก่คนยากไร้ มิให้ราษฎรขัดสน  (๕) ปริปุจฉา ปรึกษาสอบถามปัญหาต่างๆ กับสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ รวมถึงนักปราชญ์ ผู้รู้ เพื่อให้รู้ชัดแจ้งการควรประกอบ และประเด็นใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร

จากหลักธรรมเหล่านี้ ที่ประกอบขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึง บทบาท หน้าที่ และคุณธรรมของพระราชา หรือนักปกครองที่มีระดับสูง ตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้นสามารถให้กล่าวได้ว่า ผู้ปกครองเป็นนักปกครองที่เข้าใจถึงปัญหาของผู้ใต้ปกครองหรือบุคคลทั่วไปและมีวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยความถูกต้อง และตั้งอยู่ในธรรม ทำให้ประชาชนส่วนมากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจ สังคมในประเทศที่ตนปกครองนั้นพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว  ทุกคนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง เพราะเกิดจากการที่ผู้ปกครองตั้งอยู่ในจักรวรรดิ­­­­­­วัตร

 

ข. หลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติของพระราชาหรือผู้ปกครองตามนัยอัคคัญญสูตร และมหาหังสชาดก 

         (๑) สังคหวัตถุ ๔

ความเป็นธรรมราชา หากจะตีความว่า “บุคคล หรือผู้ปกครองที่ทำให้มหาชนเกิดความพึงพอใจ หรือยินดีโดยธรรม” แล้ว สามารถอธิบายเทียบเคียงได้กับหลักการที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร  ที่พยายามจะนำเสนอว่า “บุคคลใดยังผู้อื่นให้พึงพอใจโดยธรรม บุคคลนั้น เรียกว่า ราชา”  แม้ในบริบทนี้จะปรากฏเพียงคำว่า “ราชา” คำเดียว แต่ถึงกระนั้นก็สะท้อนความเป็น “ธรรมราชา” ได้อย่างชัดแจ้ง  

          คำถามมีว่า “คำว่า โดยธรรม” นั้น สะท้อนหลักธรรมในประเด็นใด? ในคัมภีร์อรรถกถาแหล่งอื่นๆ ได้พยายามตอบคำถามนี้ทั้งในแง่ของพยัญชนะ และอรรถะ  ในแง่ของพยัญชนะได้ปรากฏชัดว่า “คำว่า ธรรม นั้นสะท้อนหลักการสังคหวัตถุธรรมเอาไว้ในหลายบริบท  เพราะการแบ่งทรัพยากร หรือข้าวสามารถนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้กำหนดตัวแปรสำคัญของการเป็น “ราชา” เอาไว้ว่าจะต้องเป็นผู้ที่ทำให้ประชาชนเกิดความยินดีพอใจด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ ดังบาลีว่า “จตูหิ สงฺคหวตฺถูหิ ชนํ รญฺเชตีติ ราชา” แปลว่า “บุคคลใดยังประชาชนให้ยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ เหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า ราชา”   ซึ่งสอดรรับกับหลักฐานบางแห่งที่อธิบายตามนัยที่คล้ายคลึงกันว่า “ราชา” หมายถึง “ผู้ที่ทำให้ชาวโลกพอใจหรือยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ” ดังรูปวิเคราะห์ว่า “สงฺคหวตฺถูหิ    โลกํ  รญฺชนฺโต  ราชา” แปลว่า  “บุคคลผู้ที่ทำให้ชาวโลกพอใจด้วยสังคหวัตถุ ๔ อย่าง ชื่อว่า ราชา”[๒๐]

สังคหวัตถุธรรม หมายถึง คุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้ หรือ หลักในการครองใจคนโดยการยึดใจให้คนอื่นรัก ซึ่งประกอบไปด้วย (๑) การให้ การเสียสละ การแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ช่วยปลูกฝังให้เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปันซึ่งกันและกัน (ทาน) (๒) การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะสมกับกาลเทศะ    (ปิยวาจา)[๒๑]  (๓) การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยการขวนขวายช่วยเหลือกิจการต่างๆ แก่เพื่อนมนุษย์ (อัตถจริยา) (๔) การประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย โดยการปฏิบัติที่สม่ำเสมอแก่กลุ่มคนต่างๆ อีกทั้งพร้อมที่จะร่วมสุขร่วมทุกข์ ตลอดจนวางตนให้เหมาะสมกับฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ (สมานัตตตา) 

(๒) ราชสังคหวัตถุ ๔

ราชสังคหวัตถุ เป็นหลักธรรมของผู้ครองแผ่นดิน หลักธรรมข้อนี้ถือได้ว่าเป็นหลักธรรมในการวางนโยบายในการปกครองและบริหารงานของรัฐที่มุ่งเพื่อเกื้อกูลต่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณประโยชน์มากขึ้น ราชสังคหวัตถุนี้  พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันใกล้พระนครสาวัตถี ปรากฏในพระไตรปิฎกที่ว่า  “พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤาษี ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรมทรงบูชายัญ คือคือ สัสสเมธะ[๒๒] ปุริสเมธะ[๒๓] สัมมาปาสะ[๒๔] วาชเปยยะ[๒๕] เสด็จเที่ยวไป... ผู้มีเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า จะไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง[๒๖] ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ[๒๗] ย่อมไม่มีเวร[๒๘]กับใครๆ"[๒๙]

    เมื่อพระราชาหรือผู้ปกครอง ประกอบด้วยธรรม ๔ ข้อนี้ ถือได้ว่า เป็นความฉลาดของผู้ปกครองที่เข้าใจการบริหารประชาชนในประเทศ ต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วยการเอาใจใส่ต่อผู้ใต้ปกครอง ด้วยการช่วยเหลือ อนุเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก แสดงตัวเป็นผู้ปกครองที่องอาจ  เมื่อเรื่องใดเกิดขึ้นในสังคมของตัวเอง ต้องแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยการตัดสินปัญหาเหล่านั้นอย่างเป็นธรรม ไม่เอนเอียงข้างใดข้างหนึ่ง ใช้จิตวิทยาผูกประสานรอยร้าวต่างๆให้เข้าใจกันได้ด้วยการใช้คำพูดที่ไม่กระทบกระทั่งทั้ง ๒ ฝ่าย จึงจัดได้ว่าเป็นนักปกครองที่ฉลาด เข้าใจปัญหารู้วิธีแก้ปัญหา นักปกครองลักษณะนี้ถือได้ว่าเป็นที่เคารพ ศรัทธาของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือของบุคคลทั่วไป

 

(๓) หลักทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรม [๓๐]  แปลว่า ธรรมของพระราชาหรือธรรมสำหรับผู้นักปกครอง ๑๐ ประการ  ที่พระมหากษัตริย์และผู้ปกครองจะต้องเสริมสร้างให้มีขึ้นเป็นคุณสมบัติประจำตัว เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจสมาชิกในกลุ่ม ให้ดำเนินไปบรรลุถึงเป้าหมาย  หลักทศพิธราชธรรมนี้ ปรากฏในมหาหังสชาดก  ที่พระยาหงส์ตรัสสนทนาธรรมกับพระเจ้ากาสี ความว่า

พระยาหงส์ : พระองค์ไม่มีโรคาพาธแลหรือ ทรงสำราญดีอยู่หรือ ทรงปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ?

พระเจ้ากาสี : ดูกรพระยาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ อนึ่งเรามีความสำราญดี และเราก็ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม

พระยาหงส์ : โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ และอำมาตย์เหล่านั้น ไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์แลหรือ?

พระเจ้ากาสี : โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของเรา

พระยาหงส์ :พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟังมีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูปพระโฉมและพระยศ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์แล ฯลฯ

พระเจ้ากาสี : ดูกรพระยาหงส์ เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศลธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือ ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทนและความไม่พิโรธ แต่นั้นปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา[๓๑]

 

          จากนัยข้างต้น ประโยคที่ว่า “เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัว” สะท้อนว่า การดำรงบทบาทอยู่ในสถานะการบริหารจัดการรัฐของผู้ปกครองได้ในระยะเวลายาวหรือสั้นนั้น  สัมพันธ์กับการที่ผู้ปกครองได้ปฏิบัติตัวดำรงตนอยู่บนฐานของแนวปฏิบัติที่ว่าด้วยกับทศพิธราชธรรมหรือไม่? อย่างไร?  ทศพิธราชธรรมจึงเป็น “อำนาจที่อ่อนละมุน” (Soft Power) ที่จะยึดครองจิตใจของประชาชนหรือพลเมืองให้เกิดความยินดีต่อภาวการณ์นำของผู้ปกครอง โดยที่ผู้ปกครองที่เป็นผู้ปกครองอย่างแท้จริงไม่ต้องใช้ “อำนาจที่แข็งกระด้าง” (Hard Power) เข้ามาจัดการกับประชาชน ซึ่งแนวทางนี้สอดรับกับหลักการที่ปรากฏในจักกวัตติสูตรว่า “...เป็นธรรมราชา ชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา...”[๓๒]

 

ตัวชี้วัดความเป็นราชาโดยธรรม

              เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ธรรมราชา” ซึ่งหมายถึง “พระราชา หรือผู้ปกครองที่ทำให้ประชาชนพึงพอใจโดยธรรม” นั้น  คำว่า “โดยธรรม” ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาได้อธิบายเอาไว้โดยละเอียดดังที่ได้นำเสนอไว้ในประเด็น “ธรรมราชา: หลักการปกครองเพื่อสร้างความยินดีพอใจแก่ประชาชน” แล้ว แต่เมื่อจัดกลุ่ม

๑. ตัวชี้วัดในเชิงกายภาพ (Physical Indicator)  คัมภีร์ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่อธิบายถึงความเป็นธรรมราชานั้น ชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกันว่า “จุดเริ่มต้นของผู้ปกครองที่ดีและสมบูรณ์คือต้องรู้จักการให้ (ทาน)  ไม่ว่าจะเป็น “ทาน” ในสังคหวัตถุ “ทาน” ในทศพิธราชธรรม และการสงเคราะห์หมู่ชนต่างๆ  และสัตว์ เช่น ที่เป็นบริวาร ข้าราชบริพาร สมณพราหมณ์ ชาวชนบท และหมู่นกทั้งหลายในจักรวรรดิวัตรก็นับเป็น “ทาน” เช่นเดียวกัน  ซึ่งการโดยภาพรวมจึงเป็นการสละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยงดู ช่วยเหลือเกื้อกูล และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่บุคคลอื่นๆ (อัตถจริยา)

คำถามมีว่า “เพราะเหตุใด? พระพุทธศาสนาจึงย้ำเตือนให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการให้เกี่ยวกับ “วัตถุ” ก่อนสิ่งอื่นๆ เหตุผลสำคัญก็เพราะพระพุทธศาสนามองว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก คนหมู่มากย่อมคบหานรชนนั้น เขาย่อมได้รับเกียรติ เจริญด้วยยศ เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าเข้าสู่บริษัท[๓๓]  จะเห็นว่าการให้เป็นการสร้างความเชื่อมั่น” (Trust) ซึ่งความเชื่อมั่นจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship) ระหว่างปกครองและประชาชนในรัฐนั้น  

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ปกครองจำเป็นต้องบริหารจัดการรัฐด้วยประเด็น “ปากท้อง” เป็นเบื้องแรก ดังแนวทางการพัฒนาของประเทศจีนซึ่งพยายามย้ำเน้นว่า “อาหารมาก่อน พูดคุยกันคราวหลัง” (Food First Speech Later) สอดรับกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เน้นในประเด็นเดียวกันว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง[๓๔] จะเห็นว่า ความหิวโหยหรือความยากจนเป็นตัวแปรสำคัญที่รัฐจะต้องบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความอยู่รอดทางกายภาพ มิฉะนั้น ประเด็นนี้จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคม เช่น การปล้นจี้ หรือขโมยเพื่อความอยู่รอดในเชิงกายภาพ

       ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในพระพุทธศาสนา คือ พระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งมุ่งเน้นการแบ่งปันและจุนเจือบุคคลที่มีความต้องการปัจจัยภายนอก พระองค์ค้นพบความจริงประการหนึ่งว่า สิ่งที่เป็นศัตรู และท้าทายต่อความเป็นผู้ปกครองของพระองค์คือความยากจนของมวลอาณาประชาราษฎร์ ไม่ใช่หมู่โจร หรือกองทัพของรัฐอื่นๆ อาศัยเหตุผลดังกล่าว พระองค์จึงขอความร่วมมือมหาเศรษฐี และคฤหบดีที่มีโอกาส และกำลังทางการเงินมากกว่าเข้าไปช่วยสนับสนุน และช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เมื่อประชาชนอยู่ดีกินดี ย่อมส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองของพระองค์เอง 

       ๒. ตัวชี้วัดในเชิงพฤติภาพ (Behavior Indicator)   สิ่งที่ชี้ชัดเกี่ยวกับตัวชี้วัดเชิงพฤติกรรมของผู้นำในจักกวัตติสูตรคือ “ศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐ ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการกาย วาจา และใจของผู้ปกครอง” เพื่อให้มีผู้ปกครองมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการกำกับและควบคุมพฤติกรรมของตัวเองมิให้ส่งกระทบต่อประชาชน และรัฐ เช่น การไม่ทุจริตคอรัปชั่นแย่งชิงทรัพยากรของรัฐมาเป็นของตัวเองในทางมิชอบ การสำรวมระมัดระวังการพูดอันจะนำไปสู่ความร้าวฉาน และก่อให้แตกแยกระหว่างประชาชนในรัฐ  ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองถือได้ว่าเป็นแบบอย่าง (Role Model) ในการนำต่อกลุ่มคนต่างๆ ในชุมชน และสังคม อีกทั้งจะนำมาซึ่งการเคารพนับถือ และเชื่อมั่นจากผู้อื่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น

       ศีลของผู้ปกครองนั้น เป็นการสะท้อนแง่มุมส่วนตัวของผู้ปกครองเอง (Personality) และสะท้อนแง่มุมของผู้ปกครองที่จะต้องฉายภาพความเป็นตัวตนต่อทั้งการควบคุมพฤติกรรม ทั้งการแสดงออก และการพูดต่อสาธารณะ ในขณะเดียวกัน หากมองในอีกมุมหนึ่ง ศีลเป็นหลักปฏิบัติที่สามารถยืนยันคุณค่าของตัวผู้ปกครองเองว่า มีคุณลักษณะที่ทำให้สังคมเกิดความไว้วางใจได้

       ด้วยเหตุนี้ ศีล ๕ จึงเป็นข้อปฏิบัติที่เป็น “พื้นฐาน” ในการยืนยันคุณสมบัติของการเป็นผู้ปกครอง ทั้งในแง่ของการเคารพ และให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่ทุจริตคอรัปชั่น การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จนเป็นที่มาของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การยึดมั่นในคุณค่าครอบครัวในฐานะเป็นรากฐานของการพัฒนาชุมชนและสังคม การสื่อสารระหว่างกันและกันบนฐานของความจริง และการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองขาดสติจนไม่สามารถบริหารจัดการในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม

          ๓. ตัวชี้วัดในเชิงจิตภาพ (Mental Indicator)   ในจักกวัตติสูตรได้กล่าวลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ปกครองที่เน้น “การรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง”  ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้ขยายความหมายของ “การรักษา” เอาไว้ว่า “คุณธรรมมีขันติเป็นต้น ชื่อว่าการรักษา[๓๕] ซึ่งสอดรับพุทธพจน์ว่า “บุคคลเมื่อรักษาคนอื่น ชื่อว่า รักษาตน ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลรักษาคนอื่น ด้วยวิธีอย่างไร จึงชื่อว่า รักษาตน บุคคลรักษาคนอื่นด้วยขันติ ด้วยอวิหิงสา ด้วยเมตตาจิต และด้วยความเป็นผู้เอ็นดู จึงชื่อว่า รักษาตน”[๓๖] แง่มุมดังกล่าวสอดรับกับแนวทางของการพัฒนาอารมณ์ (Emotion) ของผู้ปกครองตามหลักทศพิธราชธรรม เพื่อให้มีจิตใจให้รู้จักเสียสละ ซื่อตรง อ่อนโยน ยับยั้งชั่งใจ ไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน อดทน และหนักแน่นยึดมั่นในยุติธรรม  ดังนั้น คุณธรรมที่เป็นเครื่องมือในพัฒนาจิตภาพของผู้นำจึงประกอบไปด้วยหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้

         (๑) ความเสียสละ  (ปริจาคะ) หมายถึง การที่จะเป็นผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองที่สมบูรณ์นั้น ผู้ปกครองจำเป็นต้องเสียสละความสุขสำราญ หรือผลประโยชน์ และความต้องการส่วนตน หรือกลุ่มของตน โดยผู้ปกครองที่แท้จริงนั้นสามารถเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิตตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า  “จงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ จงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และจงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมซึ่งการดำรงตนให้เหมาะแก่ความเป็นธรรมราชานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสียสละความสุข และผลประโยชน์ส่วนตน เพื่ออุทิศตัวอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของมหาชน ดังปฐมบรมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรัสว่าเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามถึงกระนั้น ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งได้ละเลยแนวทางดังกล่าว 

            (๒) ความซื่อตรง (อาชชวะ)  หมายถึง ซื่อตรงทรงสัตย์  ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน คำว่าซื่อตรงในบริบทนี้หมายถึงความซื่อตรงต่อธรรมไม่ได้หมายถึงการซื่อตรงต่อคน ซึ่งลักษณะการซื่อตรงนั้นเหมือนกับกระสวยของการทอผ้าด้วยหูก เมื่อใดก็ตามที่คนทอผ้าดันกระสวยเข้าไปในหูกแล้ว ตัวกระสวยวิ่งตรงออกไปอีกด้านของหูกโดยไม่ติดขัดกับด้านใดด้านหนึ่งของตัวผ้า ลักษณะเช่นนี้  เราเรียกว่าซื่อตรง” 

       ในสถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มคนจำนวนมากจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อความซื่อตรงว่าขาดความยืดหยุ่น หัวโบราณ ทำให้ไม่มีเพื่อนพ้อง และผลของความซื่อตรงอาจจะทำให้ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน และวิชาชีพซึ่งความซื่อตรงในลักษณะดังกล่าวมักจะสะท้อนความซื่อตรงเทียม เพราะความซื่อตรงเทียมมักจะขึ้นตรงกับเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาสัมพันธ์ แต่ความซื่อตรงแท้นั้น จะไม่ขึ้นกับตัวแปรหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความซื่อตรงแท้จะขึ้นอยู่กับธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ประพฤติปฏิบัติ

       จะเห็นว่า ความซื่อตรงต่อธรรมนั้นจะดำรงอยู่บนฐานของความละอายชั่วกลัวบาปตามหลักของหิริโอตตัปปะ จึงทำให้ผู้ปกครองรู้สึกทนต่อสภาพความอับอายที่เกิดขึ้นแก่ตัวเองและครอบครัวไม่ได้ นอกจากนี้ ความซื่อตรง (Honesty) จะเป็นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ (Trust) แก่บุคคลทั่วไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับผู้ปกครอง หรือผู้ปกครอง และเมื่อเกิดความไว้วางใจมากยิ่งขึ้นจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ (Relationship) ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ระหว่างผู้ปกครองกับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม จากเหตุผลเช่นนี้ ผู้ปกครองจึงจำเป็นจะต้องซื่อตรงต่อผู้ใต้ปกครองทุกคน โดยมิอาจแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติที่จะซื่อตรงกับบางคน และไม่ซื่อตรงกับบางคน มิฉะนั้นแล้ว ผู้ปกครองย่อมไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ใต้ปกครองซื่อตรงต่อตัวผู้ปกครองได้ทุกคนเช่นเดียวกัน

         (๓) ความอ่อนโยน (มัททวะ)  หมายถึง การที่ผู้ปกครองจะต้องมีอัธยาศัย ไมตรีที่ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคาย กระด้าง ถือตัวถือตน มีความงามสง่าในท่วงทีกิริยาสุภาพ นุ่มนวล ละมุนละไม ในการดำรงตัวดำรงตนเป็นผู้ปกครองนั้น คุณลักษณะของความอ่อนโยนเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับท่าทีของผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีดังกล่าวเริ่มต้นจากใจของบุคคลที่เป็นผู้ปกครองที่พร้อมจะอ่อนน้อมถ่อมตน และเริ่มต้นที่จะอ่อนโยนเข้าไปหากลุ่มคนต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับ และชักจูงกลุ่มคนต่างๆ ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน เพราะการจะนำคนไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ความแข็งกระด้างเป็นเครื่องมือในการเชื่อมสมาน

       การที่ผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองท่านใดก็ตามน้อมตัวน้อมตนเข้าไปหากลุ่มบุคคลที่พยายามจะเรียกขานว่าตัวเองเป็นศัตรู โดยการมองอย่างให้ความใส่ใจว่า กลุ่มคนที่ปรากฏกายอยู่รอบข้างนั้นเป็นมิตรไม่ใช่ศัตรู ย่อมจะทำให้เกิดพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกได้ และที่สำคัญก็คือ คนกลุ่มแรกที่จะพอใจจากท่าทีอ่อนโยนของผู้ปกครองคือ ศัตรูนั่นเอง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง คนหรือกลุ่มคนที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นศัตรูจะกลายเป็นคนที่กลับมาสนับสนุนผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองว่าราชาได้อย่างสนิทใจ และพร้อมที่จะอุทิศตัวอุทิศตนกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อตอบแทนคุณค่าความดี และความไว้เนื้อเชื่อใจที่ผู้ปกครองมีให้ 

       กล่าวโดยสรุป กลุ่มคนทั่วไปอาจจะคิดเกลียดชังผู้ปกครอง หรือมองว่าผู้ปกครองเป็นศัตรูของเขาได้ แต่ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่จะก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองนั้นไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งคิด หรือแสดงออกว่า กลุ่มคนทั่วไปนั้นเป็นศัตรูของเขา หรือแสดงออกซึ่งความโกรธ เกลียด เคียดแค้นชิงชังกลุ่มคนอื่นๆ เพราะมิฉะนั้น ภาพลักษณ์ดังกล่าว จะมีผลต่อความชอบธรรมในการนำของตัวผู้ปกครองทั้งในปัจจุบันและอนาคต ฉะนั้น หน้าที่หลักของผู้ปกครองคือการน้อมกายและน้อมใจเข้าไปเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อคนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในชุมชนและสังคม ไม่ว่ากลุ่มคนต่างๆ จะมีฐานะยากดีมีจนมากน้อยเพียงใด หรือมียศถาบรรดาศักดิ์สูงต่ำมากน้อยกว่ากัน

         (๔) รู้จักยับยั้งชั่งใจ (ตปะ)  หมายถึง ผู้ปกครองจำเป็นต้องฝึกฝนพัฒนาจิตใจให้สามารถทนต่อกิเลส หรือสิ่งยั่วยุที่เข้ามากระทบจิตใจ ข่มใจมิให้ความอยากได้ (ตัณหา) อยากใหญ่ (มานะ) และจิตใจที่คับแคบ (ทิฐิ) เข้ามาครอบครอง และย่ำยีจิตใจ อีกทั้งมีจิตใจที่มั่นคงสามารถระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นวิถีชีวิตที่เสมอต้นเสมอปลาย และมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินกิจกรรมที่ทรงคุณค่าแก่บุคคลอื่นๆ ในชุมชนและสังคม

       ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อการดำรงตนของการเป็นผู้ปกครองในสถานการณ์ปัจจุบัน และผู้ปกครองมักจะตกอยู่ภายในอิทธิพล และก่อให้เกิดความหายนะทั้งในชีวิตและการทำงาน คืออำนาจซึ่งพระพุทธเจ้าเคยย้ำเตือนผู้ปกครองมาโดยตลอดว่า ผู้ปกครองได้ยศแล้วไม่ควรเมาถึงกระนั้น ผู้ปกครองจำนวนมากมักจะติดหล่มของอำนาจในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าอำนาจที่เกิดจากหน้าที่การงาน และการเงิน

       ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะประสบความหายนะ เพราะความหลงใหลและเพลิดเพลินกับอำนาจที่ตัวเองได้รับมา จนนำไปสู่การใช้อำนาจโดยขาดความยั้งคิดว่าสอดรับกับกฎหมาย จริยธรรม และกติกาของสังคมหรือไม่ และหลายสถานการณ์ที่ผู้ปกครองพยายามจะบิดพลิ้วให้ตัวเองมีอำนาจ และหน้าที่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อำนาจและหน้าที่ที่ผู้ปกครองพยายามจะบิดพลิ้วนั้น อาจจะไม่สอดรับกับความเป็นจริงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น หากผู้ปกครองไม่ระมัดระวังการใช้อำนาจ หรือใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะพลัดหลงเข้าไปสู่วังวนของความขัดแย้งและความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ หากผู้ปกครองไม่พยายามที่จะยับยั้งชั่งใจ เตือนใจ และระมัดระวังใจของตัวเองแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่ผู้ปกครองจะพาตัวเองออกไปจากหุบเหวของความทุกข์ในบั้นปลาย ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ปกครองจำนวนมากประสบชะตากรรมหลังจากที่ตัวเองหมดอำนาจที่จะให้คุณหรือโทษแก่บุคคลอื่น

         (๕) การไม่ความโกรธ (อักโกธะ)  หมายถึง ผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองไม่ควรแสดงอาการเกรี้ยวกราด และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความโกรธ เพราะผลเสียที่ตามมาจะก่อให้เกิดการวินิจฉัยความ หรือตัดสินใจดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดความผิดพลาดจนสูญเสียความเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่าฆ่าความโกรธเสียได้ ย่อมอยู่เป็นสุข[๓๗] เหตุผลสำคัญที่พระองค์ต้องตรัสเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองไม่สามารถฆ่าความโกรธเกลียดได้ ความโกรธจะกลายเป็นอาวุธสำคัญที่จะเข้ามาทิ่มแทงผู้ปกครอง  เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองเกิดความโกรธ เกลียด หรือชิงชัง จะทำให้ความรักไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มกำลัง เพื่อที่จะเปิดพื้นที่ของหัวใจให้ผู้ปกครองมอง หรือประเมินค่ากลุ่มคนอื่นๆ ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลกที่ต้องเกิด แก่ เจ็บ และตายเฉกเช่นเดียวกัน

       การย้ำเตือนให้ผู้ปกครองระงับความโกรธย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเริ่มต้นที่จะรักคนอื่นมากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว การรักคนอื่นมีค่าทั้งไปทั้งกลับ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองรักคนอื่น ห่วงใยและใส่ใจผู้อื่น ผู้อื่นจะหันกลับมาใส่ใจ และรักผู้ปกครองหรือผู้ปกครองเหล่านั้นเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ธรรมชาติจึงย้ำสอนให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องระงับความโกรธ และเปิดโอกาสให้หัวใจตัวเองได้เรียนรู้ที่จะรักคนอื่นมากยิ่งขึ้น

         (๖) การไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา)  หมายถึง การไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง คำว่าการเบียดเบียนในบริบทนี้ อาจจะมีนัยที่เกิดขึ้นจากตัวผู้ปกครองเข้าไปเบียดเบียนโดยตรง และเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ใกล้ชิดผู้ปกครองได้ใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปเบียดเบียนกลุ่มคนอื่นโดยมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายสาธารณะของผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองที่ขาดความรอบคอบ และขาดการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตอย่างครบวงจร จึงเปิดโอกาสให้เกิดการเบียดเบียน และเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันตามมา

       ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงย้ำเตือนว่า บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นอริยะ จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น หรือสัตว์อื่นเพราะการเบียดเบียนจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ รังแกข่มเหงซึ่งกันและกันอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยเหตุนี้ การเป็นผู้ปกครองจึงต้องหยุดยั้งการเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลก และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

         (๗) ความอดทน (ขันติ)  หมายถึง การอดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอย ถึงจะได้รับการยั่วยุและเย้ยหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมทิ้งกรณียกิจที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม การอดทนเป็นคุณสมบัติอันล้ำค่าอีกประการหนึ่งของผู้ปกครอง ในพระพุทธศาสนาถือว่าความอดทนเป็นธรรมที่ทำให้ผู้ปกครองเกิดความงามสิ่งสำคัญของผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองคือความนิ่งเราจะหาความนิ่งได้จากที่แห่งใดหากเราไม่สามารถหาได้จากความอดทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอดทนเพื่อที่จะรอจังหวะเพื่อวิเคราะห์เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาแวดล้อม จะเห็นว่าในขณะที่ผู้ปกครองกำลังเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานอย่างต่อเนื่องและรุนแรงนั้น คุณสมบัติสำคัญที่จะก่อให้เกิดชัยชนะ หรือพ่ายแพ้คือความอดทน” 

       กล่าวโดยสรุปแล้ว จุดสำคัญเกี่ยวกับความอดทนของผู้ปกครองนั้น หมายถึง การอดทนต่อวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาพิสูจน์ใจของผู้ปกครอง ความอดทนทำให้ผู้ปกครองเกิดความงดงาม และนิ่งสงบมากยิ่งขึ้น เพราะจิตใจที่นิ่งสงบจะเป็นตัวแปรสำคัญให้ผู้ปกครองได้ใช้เวลาในการคิด
นึก ตรึกตรองหาทางเลือกต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะก้าวข้ามปัญหา อุปสรรค และนำองค์กร ชุมชนและสังคมไปสู่เส้นทางที่อุดมไปด้วยความหวัง และมีทางออกมากยิ่งขึ้น

         (๘) ความหนักแน่น (อวิโรธนะ)  หมายถึง การวางใจให้หนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป หลักการของการเป็นผู้ปกครองในข้อนี้ถือได้ว่าเป็นหลักการขั้นสูงสุดสำหรับบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้ง หรือสมมติขึ้นสู่ตำแหน่งของผู้ปกครอง และผู้ปกครองจำเป็นจะต้องยึดหลักการนี้เอาไว้ให้มั่นคง

       คำถามมีว่าเพราะเหตุใด? ผู้ปกครองจะต้องยึดหลักการนี้ให้มั่นคงคำตอบคือ กลุ่มคนจำนวนมากที่เกิดความขัดแย้ง และต้องการทางเลือก หรือทางออกที่เหมาะสมนั้น จำเป็นจะต้องหากลุ่มคนที่ชี้ขาดหรือตัดสินใจเลือกแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเกิดความไม่เข้าใจขึ้นมาในองค์กร กลุ่มคนที่อยู่ภายในการบริหารงานขององค์กรจะคำนึงถึงผู้ปกครองในองค์กรเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ดำเนินการชี้ทางออก รวมไปถึงแนวปฏิบัติของคนในองค์กร

       ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหนักแน่น เพื่อดำรงตนอยู่ในครรลองแห่งความเที่ยงธรรม เพราะความเที่ยงธรรมของผู้ปกครองนั้น หมายถึง การไม่คลาดเคลื่อนไปจากธรรมด้วยแรงผลักของอคติ (Bias) ไม่ว่าจะเป็นการลำเอียงเพราะรัก การลำเอียงเพราะโกรธเกลียดเคียดแค้น การลำเอียงเพราะลุ่มหลง และการลำเอียงเพราะความกลัวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

       องค์ธรรมข้อนี้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการใช้อำนาจด้วยความหนักแน่นซึ่งแฝงเอาไว้ด้วยความเที่ยงธรรม และพร้อมที่จะหยิบยื่นความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในองค์กร ชุมชน และสังคม โดยไม่มีการแบ่งแยก ให้เกิดความแปลกแยก และแตกแยกกันในที่สุด ความหนักแน่นจะเป็นปราการในการป้องกันความไว้วางใจเพื่อมิให้ผู้คนในสังคมเกิดความหวาดระแวงสงสัยในพฤติกรรมของผู้ปกครองต่อการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผล หรือข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง และหากผู้ปกครองสามารถดำรงตนอยู่บนฐานของหลักการข้อนี้แล้ว เชื่อมั่นว่า จะทำให้ความสัมพันธ์ของสังคมที่อาศัยร่วมกันได้รับการพัฒนาให้เป็นไปในเชิงบวก และทำให้สังคมมีภูมิคุ้มกันมากยิ่งขึ้น

       นับว่าเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการกำกับ ควบคุม และพัฒนาอารมณ์ของผู้ปกครองให้มีความฉลาดทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น เหตุผลสำคัญเพราะผู้ปกครอง หรือผู้ที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความพอใจตามที่เรียกขานว่าราชานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีจิตใจที่สงบนิ่งในขณะที่เผชิญหน้ากับอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบจิตใจของตัวเอง ความนิ่งจึงมีผลต่อการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นราชา

       ๔. ตัวชี้วัดด้านปัญญาภาพ (Intellectual Indicator)  ในเมตตสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ได้กล่าวถึงคุณลักษณะสำคัญของพระราชาว่า การที่จะเอาชนะหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรมนั้น  ผู้ปกครองจะต้องมีความเฉลียวฉลาดในการบริหารจัดการรัฐในประเด็นดังต่อไปนี้

         (๑) สัสสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการสงเคราะห์พสกนิการด้วยการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร  พระราชาหรือผู้ปกครอง มีการบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจให้มีภาวะเศรษฐกิจดีมีผลผลิตพืชพันธุ์สมบูรณ์ในการส่งเสริมอาชีพและการผลิตของประชาชนให้มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

         (๒) ปุริสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ พระราชาหรือผู้ปกครอง มีความเป็นผู้ฉลาดในการรับคนเข้ามารับราชการเพื่อมาทำหน้าที่ในการบริหารของรัฐรู้จักคัดเลือกคนและจัดสรรตำแหน่งให้เหมาะสมกับความรู้ความ สามารถ ปูนบำเหน็จความชอบในบางโอกาส รู้จักส่งเสริมคนดี  เปิดโอกาสให้คนดีเข้ามารับราชการ  ความสามารถ

         (๓) สัมมาปาสะ หมายถึง ฉลาดในการผูกสมานใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ พระราชาหรือผู้ปกครองควรมีความฉลาดในการแก้ปัญหาสังคม รู้จักผูกสมานรวมใจของประชาชนรู้จักการสงเคราะห์โดยดำเนินการบริหารให้เป็นไปตามความประสงค์ของราษฎรมีการส่งเสริมอาชีพด้วยวิธีการต่างๆ  แก่ประชาชน 

         (๔) วาชเปยยะ หมายถึง มีวาจาอันดูดดื่มใจ พระราชาหรือผู้ปกครองควรมีวาจาไพเราะอ่อนหวานชวนฟัง ประกอบด้วยเหตุผลมีประโยชน์ เป็นทางแห่งการสร้างความสามัคคีปรองดองของประชาชนในรัฐ รู้จักใช้คำพูดให้เหมาะสมกับคนฟังตามวัย และรู้จักโน้มน้าวให้ทำความดียกย่องการทำความดี

       ความเฉลียวฉลาดทั้ง ๔ ประการนั้น ถือได้ว่าตัวแปรที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องใช้เป็นหลักการในการบริหารจัดการรัฐให้สอดรับกับบริบทและความเป็นไปของรัฐ อีกทั้งสอดรับกับกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในรัฐ  ถึงกระนั้น เมื่อวิเคราะห์โดยละเอียดจากทั้ง ๔ องค์ประกอบดังกล่าว ๓ ข้อแรกเป็นการเน้นให้ผู้ปกครองมีความฉลาดในการส่งเสริมความเป็นอยู่ทางด้านร่างกายให้แก่ประชาชน จะเห็นว่า การจัดลำดับความสำคัญในประเด็น “เศรษฐกิจ” จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องให้ความใส่ใจตามแนวทางนี้  ในขณะเดียวกัน ข้อที่ ๔ จึงเป็นกระบวนการในการสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) ที่เน้นให้ผู้ส่งสาร (Sender) ได้กำหนดแนวทางการให้การช่วยเหลือ การชี้แจ้ง การอธิบายด้วยท่าทีที่เป็นมิตร และอธิบายสาร (Message) ผ่านช่องทางต่างๆ (Channels) ได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อให้ผู้รับสาร (Receiver) ได้รับรู้ เข้าใจ และปฏิบัติร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 
บทส่งท้าย

       บทความเรื่อง “ธรรมราชา” นี้ ได้ตั้งคำถามในเบื้องต้นว่า “ธรรมราชาคืออะไร? และพระราชา หรือผู้ปกครองในกรอบของพระพุทธศาสนาได้ใช้หลักการชุดใด? เป็นเครื่องมือในการดำรงปกครองประชาชน จึงจะทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจตามกรอบของคำว่า “ราชา” ที่มุ่งการบริหารจัดการให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจบนฐานของนำคุณธรรมมาประยุกต์ใช้ตามแนวพุทธธรรมาภิบาล (Buddhist Good Government)  และเมื่อศึกษาอย่างรอบด้านจากคัมภีร์พระไตรปิฎก (Primary Source)  และคัมภีร์ชั้นอรรถกถา (Secondary Source) ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา และเป็นหลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาสายเถรวาททำให้พบคำตอบที่น่าสนใจในหลายประเด็น 

       คำว่า “ธรรมราชา” มีนัยที่สะท้อนแง่มุมในเชิงพยัญชนะ และอรรถใน ๓ ประเด็นหลักคือ (๑) เป็นการเรียกชื่อพระราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงธรรม รักษาธรรม ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เช่น ศีล ๕ อกุศลกรรมบถ และจักรวรรดิวัตร  (๒) เป็นการเรียกขานผู้ปกครองที่ทำให้บุคคลอื่น หรือประชาชนเกิดความยินดีพอใจโดยธรรม กล่าวคือ ผู้ปกครองที่ใช้ธรรมไปเป็นเครื่องมือในการบริหาร เช่น หลักสังคหวัตถุธรรม ราชสังคหวัตถุธรรม และทศพิธราชธรรม และ (๓) เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าในฐานะที่พระพุทธองค์ทรงอาศัยธรรม สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายโดยธรรม

       การถือกำเนิดของคำว่า “ธรรมราชา” ในพระพุทธศาสนาจึงเน้นที่ไปที่ “ตัวธรรม” มากกว่า “ตัวคน”  เน้น “หน้าที่” ที่ผู้ปกปกครองควรกระทำมากกว่าเน้น “เทวโองการ” กล่าวคือ เน้นไปที่ธรรมะที่พระราชาหรือผู้ปกครองได้ใช้เป็นหลักปฏิบัติ และนำหลักธรรมไปเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการจนทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ  จะเห็นว่า แม้ว่าผู้ปกครองจะทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ แต่หากความพึงพอใจไม่ได้อยู่บนฐานของธรรม  พระราชา หรือผู้ปกครองเหล่านั้น ย่อมไม่สามารถที่เรียกขานว่า “ธรรมราชา” ในกรอบของพระพุทธศาสนาได้อย่างประสมกลมกลืนได้

       จากตัวแปรดังกล่าว พระพุทธศาสนาจึงได้ตีกรอบในประเด็น “ธรรมราชา” เอาไว้ว่า การที่จะพระราชาหรือผู้ปกครองจะเป็นธรรมราชาได้นั้น จำเป็นต้องประกอบไปด้วยตัวชี้วัดใน ๔ ประเด็นใหญ่ คือ (๑) ตัวชี้วัดในเชิงกายภาพที่เน้นการให้ (ทาน) เป็นพื้นฐานในการปกครองรัฐโดยการดำเนินนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบสัมมาชีพให้แก่กลุ่มคนต่างๆ  (๒) ตัวชี้วัดในเชิงพฤติภาพ การปรับกาย วาจา และใจให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการรองรับการเป็น “ธรรมราชา”  เพราะการเป็นธรรมราชาจะเน้น “การชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา” (๓) ตัวชี้วัดในเชิงจิตภาพ ที่เน้นการเสียสละ การซื่อตรง การอ่อนโยน การยับยั้งชั่งใจ การไม่โกรธ การไม่เบียดเบียน การอดทน และการความหนักแน่นโดยไม่คลาดจากธรรม (๔) ตัวชี้วัดในเชิงปัญญาภาพ ที่เน้นการใช้ศักยภาพและความฉลาดในการบริหารจัดการทั้งด้านภาคราชการ ด้านธุรกิจ ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความฉลาดในการรู้จักใช้วาจาเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในรัฐ

       ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเป็น “ธรรมราชา” ในพระพุทธศาสนานั้น เริ่มต้นจากการพัฒนาปัจจัยภายนอกเพื่อให้เกิดความพร้อมในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้พลเมืองในรัฐมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากกรณีวิธีการปราบโจรของพระเจ้ามหาวชิตราชที่เข้าใจความจริงว่า “การปราบโจรที่แท้จริงไม่ใช่กลุ่มคนที่ไปลักขโมยหรือปล้น หากแต่หมายถึงความยากจน  เมื่อปราบความยากจนได้โจรก็จะหายไปจากแผ่นดิน” หลังจากนั้น จึงเข้าไปสู่การพัฒนา ศีล และภาวนาในระดับที่สูงต่อไป[๓๘]

       การเป็น “พระราชา” หรือ “พระเจ้าจักรพรรดิ” บนฐานของคำว่า “ธรรมราชา”  ในพระพุทธศาสนา  “ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของนักปกครอง”  หากแต่เป็นเครื่องมือในการพัฒนา “สมบัติ หรือทรัพย์ภายนอกไปสู่สมบัติหรือทรัพย์ภายในที่ยั้งยืนกว่า”  เพราะประเด็นที่พระพุทธเจ้าต้องการจะอธิบายคือ “ความสูงส่ง และความวิเศษของสถานะที่พระราชาหรือพระเจ้าจักรพรรดิได้ประสบนั้น ไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสถานะของความเป็นธรรมราชาที่พระองค์มีและเป็นอยู่” เพราะสมบัติของของพระราชาและพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น จักรแก้ว ม้าแก้ และนางแก้วนั้นตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ทรัพย์สมบัติภายนอกที่ได้รับมาจากความเพียรพยายามในลักษณะต่างๆ นั้นจึงไม่ยั้งยืน แต่ความเป็นเจ้าแห่งธรรมที่พระองค์ได้รับนั้นอยู่เหนือตัวแปรและเงื่อนไขต่างๆ

       สิ่งที่สามารถสนับสนุนการอธิบายนี้ในประเด็นนี้ได้ดีคือ “พระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ” ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกบวชจากเรือนเป็นฤๅษีภายหลังที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงรับสั่งเรียกพระกุมารองค์ใหญ่มาแล้วตรัสว่า “

          ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยินมาว่า “จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน” กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามอันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้ ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนเป็นบรรพชิต[๓๙]

         ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงออกผนวชเป็นบรรพชิตเป็นฤๅษีได้ ๗ วัน จักรแก้วที่ได้เคลื่อนตัวในเบื้องตันได้อันตรธานหายไป จะเห็นว่า “ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ”  ที่มีจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้วแวดล้อม  สมบัติเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ภายนอกที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และหายไปตามตัวแปรและเงื่อนไขต่างๆ  พระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิทรงประจักษ์ความจริงดังกล่าว จึงตัดสินพระทัยแสวงหาทรัพย์ภายในโดยการออกผนวช เพื่อพัฒนา “ธรรมราชา” ที่พระองค์ได้รับจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ธรรมเป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชน ไปสู่การเป็น “ธรรมราชา” ในความหมายที่แท้จริง โดยการยังมหาชนให้ยินดีด้วยปัจจัยหรือความสุขข้างนอกไปสู่การยังมหาชนให้ยินดีด้วยโลกุตรธรรม ซึ่งเป็นสุขภายใน และยั่งยืน อีกทั้งไม่ขึ้นเงื่อนไข และไม่มีตัวแปรใดๆ เข้ามาปรุงแต่งใจให้หลงใหล และเพลิดเพลิน ดังพุทธพจน์ที่ย้ำเตือนไม่ให้กลุ่มคนต่างๆ ติดอยู่กับทรัพย์ภายนอกว่า “สูเจ้าทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ คนเขลาข้องอยู่ แต่ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่[๔๐]



[๑] อัง.ปัญจก. (ไทย) ๒๒/๑๓๓/๒๑๔.

[๒] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๓๓/๑๔.

[๓] อัง.ปัญจก. (ไทย) ๒๒/๑๓๓/๒๑๔. องฺ.ปญฺจก. (บาลี) ๒๒/๑๓๓/๑๔๐.

[๔] ที.สี.อ.(มหามกุฏ) ๑/-/๓๖๘-๓๗๐, ที.ม.อ.(มจร) ๑/๒๕๘/๒๒๔-๒๒๕.

[๕] ที.สี.อ.(มหามกุฏ) ๑/-/๓๖๘-๓๗๐, ที.ม.อ.(มจร) ๑/๒๕๘/๒๒๔-๒๒๕.

[๖] จักรวรรดิวัตร หมายถึง วัตรที่พึงปฏิบัติ  ๑๐ ประการ คือ  (๑) สงเคราะห์แก่ชนภายใน นับตั้งแต่ในหมู่มเหสี โอรส ธิดา จนถึงปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด (คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป และกองทัพ คือ เหล่าเสนาข้าทหาร และข้าราชการฝ่ายทหาร (๒) สังเคราะห์แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ เจ้าเมืองขึ้น ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ข้าราชการฝ่ายปกครอง  (๓) สงเคราะห์แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย ปัจจุบันควรสงเคราะห์ฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด (๔) สงเคราะห์แก่เจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น (๕) สงเคราะห์แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวง ทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง(๖) สงเคราะห์แก่พระองค์ และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม (๗) สงเคราะห์แก่เนื้อ และนก คือสัตว์ที่ควรสงวนทั้งหลาย  (๘) สงเคราะห์ห้ามปรามบุคคลในแคว้นมิให้กระทำผิดคิดคด ทุจริต คอรัปชั่น จนเกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง  (๙) สงเคราะห์แก่คนชนผู้ยากไร้ มิให้คนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น  (๑๐) ปรึกษาสอบถามกับสมณพราหมณ์ หรือนักวิชาการผู้ทรงคุณธรรม ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ลุ่มหลงมัวเมา เพื่อให้รู้ชัดการดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ประกอบ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง (พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้บางแห่งมี ๑๒ ประการ)

[๗] องฺ.ทุก.อ. (มจร) ๒/๑๔/๘๗.

[๘] อัง.ปัญจก. (ไทย) ๒๒/๑๓๓/๒๑๕.

[๙] โลกุตรธรรม ๙ ประการ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘).

[๑๐] องฺ.ทุก.อ. (มจร) ๒/๑๔/๘๘.

[๑๑] ที.สี.อ.(มหามกุฏ) ๑/-/๓๖๘-๓๗๐, ที.ม.อ.(มจร) ๑/๒๕๘/๒๒๔-๒๒๕.

[๑๒] “ราชาหมสฺมิ  เสลาติ ธมฺมราชา อนุตฺตโร” ใน ม.ม.๑๓/๖๐๙/๕๕๔.

[๑๓] “อทณฺเฑน อสตฺเถน ธมฺเมน อภิวิชิย อชฺฌาวสิ” (ที.ปา. (บาลี) ๑๑/๘๑/๔๙-๕๐). ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๘๑/๖๐).

[๑๔] “ธมฺมนฺติ ทสกุศลกมฺมปถธมฺมํ” ที.ปา.อ.๘๔/๓๔. กุศลกรรมบถ แปลว่า ทางแห่งกรรมดี หรือทางที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ

[๑๕] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๐), น.๒-๓.

[๑๖] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๘๕/๖๓.

[๑๗] ที.ปา.  (ไทย ) ๑๑ / ๑๐๒ / ๗๓. 

            [๑๘] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๘๔/๖๒.

[๑๙] องฺ.ทุก.อ. (มจร) ๒/๑๔/๘๗. หลักฐานบางแห่งอรรถาจารย์ขยายความให้จักรวรรดิวัตรมี ๑๒ ประการ

[๒๐] ที.สี.อ.(มหามกุฏ) ๑/-/๓๖๘-๓๗๐, ที.ม.อ.(มจร) ๑/๒๕๘/๒๒๔-๒๒๕.

            [๒๑] ดูเพิ่มเติมใน ที.ปา.(ไทย) ๑๑/๒๗๐/๒๑๔.

[๒๒] สัสสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการสงเคราะห์พสกนิการด้วยการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร  พระราชาหรือผู้ปกครอง มีการบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจให้มีภาวะเศรษฐกิจดีมีผลผลิตพืชพันธุ์สมบูรณ์ในการส่งเสริมอาชีพและการผลิตของประชาชนให้มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

[๒๓] ปุริสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ พระราชาหรือผู้ปกครอง มีความเป็นผู้ฉลาดในการรับคนเข้ามารับราชการเพื่อมาทำหน้าที่ในการบริหารของรัฐรู้จักคัดเลือกคนและจัดสรรตำแหน่งให้เหมาะสมกับความรู้ความ สามารถ ปูนบำเหน็จความชอบในบางโอกาส รู้จักส่งเสริมคนดี  เปิดโอกาสให้คนดีเข้ามารับราชการ  ความสามารถ

[๒๔] สัมมาปาสะ หมายถึง ความมีอัธยาศัยดุจบ่วงคล้องใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ พระราชาหรือผู้ปกครอง มีความฉลาดในการแก้ปัญหาสังคม รู้จักผูกสมานรวมใจของประชาชนรู้จักการสงเคราะห์โดยดำเนินการบริหารให้เป็นไปตามความประสงค์ของราษฎรมีการส่งเสริมอาชีพด้วยวิธีการต่างๆ  แก่ประชาชน 

[๒๕] วาชเปยยะ หมายถึง มีวาจาอันดูดดื่มใจ พระราชาหรือผู้ปกครอง มีวาจาไพเราะอ่อนหวานชวนฟัง ประกอบด้วยเหตุผลมีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี รู้จักใช้คำพูดให้เหมาะสมกับคนฟังตามวัย ภาวะรู้จักโน้มน้าวให้ทำความดียกย่องการทำความดี

[๒๖] หมายถึง ไม่ทำความเสื่อมเสียต่อผู้อื่นด้วยตนเอง (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๔)

[๒๗] หมายถึง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นทำความเสื่อมต่อผู้อื่น (องฺ.อฏฐก.อ. ๓/๑/๒๑๔)

[๒๘] หมายถึง ไม่มีอกุศลเวร และบุคคลเวร (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๔)

[๒๙] องฺ.อฏฺฐก.(ไทย) ๒๓ //๑๙๔๑๙๕.

[๓๐] ขุ.ชา.  (ไทย ) ๒๘ / ๑๗๖ / ๑๑๒.  ดูรายละเอียดใน  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๓), หน้า ๒๘๕-๒๘๗.   

            [๓๑] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๘/๒๔๐/๖๒.

[๓๒] “อทณฺเฑน อสตฺเถน ธมฺเมน อภิวิชิย อชฺฌาวสิ” (ที.ปา. (บาลี) ๑๑/๘๑/๔๙-๕๐). ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๘๑/๖๐).

[๓๓] “ททํ ปิโย โหติ ภชนฺติ นํ พหู” องฺ.ปญฺจก. (บาลี) ๒๒/๓๔/๔๓.

[๓๔] “ชิฉจฺฉา ปรมา โรคา สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา”  (ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๒๐๓/๕๒.

[๓๕] องฺ.ทุก.อ. (ไทย) ๒/๑๔/๘๗.

[๓๖] สํ.ม. (ไทย) ๑๙/๓๘๕/๑๔๗.

[๓๗] โกธํ  ฆตฺวา  สุขํ  เสติ” (ส.ส. (ไทย) ๑๕/๕๗/๖๔).

[๓๘] พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, “เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ”, ใน วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ (ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๖) (กรุงเทพฯ: เมืองไทยรายวัน, ๒๕๕๖), น. ๓๘-๕๔.

[๓๙] ที.ปา, (ไทย) ๑๑/๘๒-๘๓/๖๑.

[๔๐] เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ      จิตฺตํ ราชรถูปมํ

                ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ   นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ. (ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๑๗๑/๔๗.