ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.
ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับค่ายยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ ๒ (ASEAN Youth for Peace Camp) ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา สถาบันภาษา และศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ และกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ หลักสูตรเสาหลักแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ช่อง ๑๑ และกรมอาเซียน โดยได้จัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ถึง ๓ กรกฏาคม ๒๕๕๗ โดยมียุวชนอาเซียนเข้าร่วมทั้งสิ้น ๑๓ ชาติ ประกอบด้วยอาเซียน ๑๐ ประเทศ และจีน เกาหลี และญี่ปุ่น จำนวน ๓๐ คน
พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดี เมตตาเดินทางมากล่าวปาฐกถาในงานมหากรรมภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมอาเซียน ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ โดยมียุวชนอาเซียนถวายการต้อนรับ และถวายของที่ระลึก
จุดประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมนี้ เพื่อมุ่งเน้นให้เยาวชนอาเซียน ๑๐ ประเทศ บวก ๓ คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ได้ศึกษา และเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา และชาติพันธุ์ เพื่ออยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างสันติสุข ฉะนั้น กิจกรรมครั้งนี้ จึงดำเนินการภายใต้แนวคิดหลัก (Core Concept) ที่ว่า "เอกภาพในความแตกต่าง" (Unity in Diversity) โดยคณะทำงานได้ออกแบบกิจกรรมให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ยุวชนอาเซียนบวกสามได้เข้าถึงปรัชญาหลักในการทำกิจกรรมครั้งนี้ร่วมกัน
กิจกรรมเริ่มต้น คือ การหลอมรวมพลังจากประเทศต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยการแสดงวัฒนธรรมอาเซียนบวกสามประกอบแสง สี และเสียง ในเรื่อง "ลมหายใจแห่งเอกภาพ" โดยทีมนักแสดง คิดบวกสิปป์ ผู้ผ่านเวทีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ และเยาวชนอาเซียนจำนวน ๑๐ ประเทศ บวก ๓ คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น จะแสดงร่วมกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของลมหายใจแห่งเอกภาพ แม้ผืนน้ำกางกั้น พรมแดนเป็นเพียงสิ่งสมมติ สายลมแห่งความเป็นหนึ่ง จะพัดพรูถึงกันและกันเชื่อมใจเข้าหากัน เป็นลมหายใจเดียวกัน ...ลมหายใจแห่งเอกภาพ การแสดงจะสะท้อนความเป็น Unity in Diversity “เอกภาพในความต่าง” ทางด้านภาษา ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน
ด้านยุวชนสันติภาพอาเซียนนั้น ได้นำยุวชนอาเซียนไปทำกิจกรรมภาคสนามช่วงบ่ายของวันที่ ๒๘ มิ.ย. โดยเดินทางไปที่ศูนย์การท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อค้นหาสันติภาพด้วยการวาดภาพ (Art for Peace) เริ่มจากล่องเรือและทานอาหารร่วมกันรอบเกาะ สนทนาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภาพภายนอกสะท้อนภาพภายใน นั่งวาดภาพแห่งความทรงจำ เขียนสันติภาพภายในใจ ชื่อภาพว่า "ต้นไม้แห่งสันติภาพ" น้อมกิ่งก้านเพื่อสร้างความร่มเย็นแก่เจดีย์ ประดุจดังการใช้ทุกวินาทีแห่งลมหายใจเพื่อส่งต่อสันติสุขแก่เพื่อนร่วมโลก
หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ถึง ๒ กรกฏาคม ๒๕๕๗ โครงการฯ ได้นำยุวชนอาเซียนได้ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของความเป็นจริงในพื้นที่บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ จุดประสงค์เพื่อให้ยุวชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง การเข้าถึงปรัชญาของการปลูกข้าวที่สอดรับกับโลโก้ของอาเซียนที่มัดรวงข้าว เป็นรวงเดียวเกลียวกลมเป็น ๑๐ รวง การสอนหนังสือเด็กนักเรียน การเล่นกีฬา การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์เพื่อสันติ การภาวนา และเดินธรรมยาตราเพื่อสันติ รวมไปถึงการแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่าง ๑๐ ชาติ กับประชาชน และเยาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ทั้งเขมร ลาว และกูย
ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดูงานเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการฯ ได้พายุวชนเข้าเยี่ยมชม และชิมไร่นาสวนผสมของนางเหลือง เกษตรกรพอเพียงชื่อดังของอำเภอปรางค์กู่ ที่ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพีย เธอย้ำเสมอว่า ปลูกเอาไว้กิน และแบ่งปันเหลือจาน หลังจากนั้นได้นำไปขายในท้องตลาด ได้เงินมาส่งลูกหลานเรียนหนังสือ ทำให้ยุวชนอาเซียนสามารถเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ตัวเองประสบใน ประเทศของตัวเอง บทเรียนเหล่านี้จะให้เกิดคุณูปการต่อการชีวิตของเด็กเหล่านี้ต่อไป
วันที่ ๒๘ มิ.ย.ได้พายุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพเดินทางไปที่บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ มีผู้นำส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านผู้สูงอายุจะอยู่ประจำหมู่บ้านให้การต้อนรับ โดยวันที่ 29 มิ.ย. ทำพิธีเปิดกิจกรรมมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่เด็กนักเรียน กราบผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และสนทนาเพื่อรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่าง เพื่อน้อมนำไปสู่การปฏิบัติในวิถีชีวิตต่อไป
พร้อมทั้งได้พายุวชนเดินเยี่ยมชมหมู่บ้านเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่แตกต่าง และโชคดีที่ได้มีโอกาสพบปะ "ปููสีทา" หมอแคนที่ดังมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เด็กๆ จึงได้สนุนสนานกับแคนที่ปู่สีทาได้ขับขาน จนเด็กๆ ไม่สามารถยืนนิ่งๆ ได้ จึงพากันฟ้อนรำด้วยความสนุนสนานด้วยอานุภาพของเสียงแคนแห่งสันติสุข
เข้าสู่วันที่ ๓๐ มิ.ย. ได้ทำกิจกรรมรับอรุณท่ามกลางสายฝนโปรยปราย ร่วมสร้างสันติภายในด้วยการทำวัตรเช้า สวดมนต์เพื่อสันติ ภาวนาเพื่อสันติ และแผ่เมตตาให้แก่มวลมนุษยชาติที่รักสุขเกลียดกลัวความทุกข์ให้สามารถอยู่ ร่วมกันอย่างสันติสุข มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด ศาสนาใด ล้วนสามารถเข้าถึงความสุขภายในได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ความสุขภายในเป็นความสุขที่ไม่มีเงื่อนไข และไม่มีบุคคลใดสามารถแย่งชิงไปได้จากใจของเรา
พร้อมกับชาวบ้านร่วมกันทำบุญตักบาตรในยามเช้า วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาติพันธุ์กูย เขมร และลาวในการเริ่มต้นทำสิ่งดีงามคือ การใส่ซิ่นไหม และผ้าโสล่งไหมทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล ยุวชนเหล่านี้จึงได้มีโอกาสใส่ชุดเหล่านี้โดยชาวบ้านได้มอบเป็นของขวัญ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ทรงคุณค่าที่ยุวชนเหล่านี้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมสวมใส่ และวัฒนธรรมการทำบุญอย่างมีความสุข
หลังจากนั้นได้ร่วมกันถอนกล้าและดำนา เพื่อเข้าใจและเรียนรู้ถึงความสำคัญเกี่ยวกับเมล็ดข้าวเมล็ดเดียวนำไปสู่ ความกลมเกลียวของอาเซียนจนกลายเป็นข้าว ๑๐ รวงได้อย่างไร ยุวชนเหล่านี้เข้าใจถึงที่มาของข้าวที่อยู่ในหม้อทุกเช้าที่ตัวเองรับประทาน อีกทั้งเข้าใจวิถีอาเซียนที่เป็นวิถีแห่งเกษตรกรรมที่เป็นจุดแข็งของอาเซียน มาช้านาน เชื่อมั่นว่า เมื่อเห็นเมล็ดข้าวครั้งใด ยุวชนเหล่านี้จะกลับมาตระหนักรู้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลจากการที่แต่ละคนได้ลงพื้นที่ทำนาด้วยมือของตัวเอง
ช่วงบ่ายได้ไปที่ที่อาคารหอประชุมของโรงเรียนบ้านท่าคอยนางผ่านการใช้งานมา หลายปี อีกทั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว จึงทำให้สีลอกออกเป็นจำนวนมาก จากความจำเป็นดังกล่าว ยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพจึงได้ร่วมกันตั้งใจทาสีโรงเรียนอย่างมีความสุข เพื่อคืนอาคารหอประชุมหลังใหม่ให้แก่หนูๆ เด็กนักเรียนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
สู่ขวัญและแสดงวัฒนธรรมก่อนร่ำลา
กิจกรรมสำคัญภายหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมตลอดสัปดาห์ คือ การถอดบทเรียนด้านสันติภาพที่ยุวชนได้สัมผัสและเรียนรู้ประเด็น "เอกภาพในความแตกต่าง" กิจกรรมสำคัญในการถอดบทเรียนคือ "กิจกรรมภาวนาเสวนา" (Insight Dialogue Meditation) ณ บริเวณปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ของวันที่ ๑ กรกฏาคม ๕๗ ก่อนกลับกรุงเทพฯ พาเด็กๆ ยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพทำกิจกรรม "ภาวนาเสวนา" (Insight Dialogue Meditation) จุดเริ่มต้นของภาวนาเสวนาคือการเตรียมใจของผู้ฟังและผู้เล่าให้รู้ ตื่น และเบิกบาน ท่ามกลางจิตใจที่สงบเงียบประสบกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งเดียว เด็กๆ แต่ละคนจึงมีความพร้อมที่จะเปิดใจเล่า และพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างมีสติ น้อมใจฟังเพื่อนๆ ที่มีความเชื่อและอุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างมีขันติ มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเรียนรู้และเข้าใจเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
หมวดวิชัย เจ้าของวลี "ผมจะปลูกต้นไม้จนกว่าผมจะตาย" ได้ร่วมปลูกต้นไม้กับยุวชน
การบ่มเพาะสันติภาพภายในมีเป้าหมายสร้างเอกภาพบนความแตกต่างของนิสิตสันติ ศึกษา"มจร"และยุวชนสันติภาพอาเซียนจากกิจกรรมต่างๆดังกล่าว คงจะเป็นจุดประกายในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและอาเซียนได้อย่างยั่งยืนต่อไป รายละเอียดในการทำงานด้านสันติภาพ ขอเชิญศึกษา และเยี่ยมชมรายละเอียดได้ที่โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา www.ps.mcu.ac.th
|
(ที่มา: Lesson Leraned) |