บทความวิชาการ
จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ
15 เม.ย. 61 | พระพุทธศาสนา
20965

ผู้แต่ง :: สรวิชญ์ ดวงชัย,ดร.

จิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธ : แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติ

สรวิชญ์ ดวงชัย,ดร. (2558)

บทคัดย่อ (Abstract)

            การแนะแนว เป็นกระบวนการทางการศึกษาที่ช่วยให้บุคคลรู้จักและเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สามารถนำตนเองได้  แก้ปัญหาได้ด้วยตนเองและพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ ปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกที่ดี      ของสังคม การแนะแนวมิใช่การแนะนำ แต่เป็นการช่วยเหลือให้บุคคลสามารถพึงตนเองได้ บทความนี้         ผู้เขียนมุ่งที่จะอธิบายแนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติรวมถึงคุณสมบัติของผู้แนะแนวเชิงพุทธ                      โดยทำการสังเคราะห์ ประมวล และสรุป แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพุทธศาสนากับการแนะแนว     ซึ่งจากการบรรยายของ  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) บรรยายที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต (ปัจจุบัน คือ      สถาบันราชภัฏสวนดุสิต) เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑ จากการศึกษาพบว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการแนะแนว เชื่อมั่นในศักยภาพการพัฒนาของมนุษย์ เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้ด้วยตนเอง       ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง

            การแนะแนวเป็นหน้าที่ของปัจจัยภายนอก เมื่อปัจจัยภายในของบุคคลไม่ขับเคลื่อน เช่น ขาดปัญญา ขาดจิตสำนึกในการพัฒนาตน ขาดความมั่นใจในการพัฒนาตนเอง ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่มองเห็นตนเองในฐานะ  ที่เป็นมนุษย์ที่ฝึกได้ ขาดแรงจูงใจที่ถูกต้องต่อการพัฒนาตนเอง ขาดความรู้จักคิด “คิดไม่เป็น” และมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่เข้ามาในชีวิต เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจ (ฉันทะ) ให้เกิดขึ้นภายในตัวของบุคคล ในความหมายทางพระพุทธศาสนาก็คือ “กัลยาณมิตร”          ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดี ต้องมีองค์ธรรม ๗ ประการ ได้แก่ เป็นผู้ที่น่ารัก น่าวางใจ น่าเจริญใจ      รู้จักพูดหรือพูดเป็น รู้จักฟังหรือฟังเก่ง แถลงเรื่องลึกซึ่งได้และไม่ชักจูงไปในทางที่ผิด เรียกว่า “สัปปุริสธรรม” ขณะเดียวกันผู้ให้การแนะแนวจะต้องทำให้ผู้มารับการแนะแนวสามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้                 คนที่จะพึ่งตนเองได้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ มีวินัย ฟังมาก คบคนดี พูดกันง่าย ช่วยเหลือหมู่คณะ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เพียรขยัน รู้จักความพอดี มีสติมั่นคง และมีปัญญาเหนืออารมณ์ ทั้งหมดนี้เรียนกว่า “นาถกรณธรรม”

 

คำสำคัญ (Keyword) การแนะแนวเชิงพุทธ, แนวคิด, หลักการ, แนวปฏิบัติ

 

บทนำ (Introduction)  

การแนะแนวมีมาตั้งแต่โบราณกาล พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการแนะแนว เชื่อว่ามนุษย์เกิดขึ้นมาพร้อมกับความทุกข์ เพราะการเกิดแล้วเกิดอีกเป็นทุกข์ร่ำไป แต่สำหรับผู้ที่เกิดมาแล้วพัฒนาตนเองจนถึงขั้นสูงสุด ก็สามารถพ้นจากความทุกข์ได้ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นมรดกที่มนุษย์ได้รับมอบมาโดยอัตโนมัติไม่จำกัดสถานะ เพศ ชนชั้น วรรณะ เชื่อชาติ ศาสนา หรือภาษา เมื่อมนุษย์เกิดปัญหาอุปสรรค์ในการใช้ชีวิต ผู้ที่มีปัญญา   ก็จะแสวงหาแนวทางในการแก้ไขหรือลดปัญหาให้น้อยลง ในขณะที่มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต        ก็จะเกิดกลุ่มคนที่มีปัญญาสามารถเข้าใจและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาชีวิตด้ายวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการใช้หลักการทางศาสนามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาหรือลดปัญหาดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มบุคคล นักบวช นักปราชญ์ ครูอาจารย์ พระสงฆ์ ตลอดจนผู้นำในการประกอบพิธีตามความเชื่อท้องถิ่น(หมอผี)           เพื่อทำบทบาทหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาและการแก้ปัญหาชีวิตให้กับคนในชุมชน รวมถึงการให้แนวทาง           ในการดำเนินชีวิตของสมาชิกในชุมชน การแนะแนวมีการสะสมองค์ความรู้และนำมาใช้ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นระบบ การแสวงหาความรู้ที่มีระบบ ระเบียบ ทำให้การแนะแนวมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง“พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับการแนะแนว มุ่งช่วยเหลือให้บุคคลพ้นจากความทุกข์   ที่แท้จริง ผ่านกระบวนการพัฒนาจิตใจที่มีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำและแนะแนวให้ผู้ที่มีความทุกข์   มีแนวทางในการจัดการความทุกข์ด้วยตนเองได้”

หลักพื้นฐานของการแนะแนวตามทัศนะทางพระพุทธศาสนา คือ มุ่งช่วยให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองได้ มีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตของตนเองที่ดี มีความเชื่อมโยงในศักยภาพและความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นด้วยตนเอง โดยอาศัย “กัลยาณมิตร” ช่วยให้แนวทางแต่การปฏิบัติหรือการกระทำต้องเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคล ซึ่งพระพุทธศาสนามีหลักตามพุทธภาษิตว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แปลว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่มุ่งให้บุคคลพึ่งตนเองเป็นหลัก เมื่อบุคคลเป็นที่พึ่งของตนเองได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาและพึ่งพิงผู้อื่น ขณะเดียวกันยังสามารถเผื่อแผ่ความช่วยเหลือไปสู่บุคคลอื่นได้ด้วย อย่างไรก็ตามบางครั้งมนุษย์ก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งตนเองได้ในทุกเรื่อง จำเป็นต้องอาศัยเพื่อนมาชี้แนะแนวทาง แต่การกระทำนั้น    บุคคลยังต้องกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยตนเองอยู่ดี เบื้องตนเราต้องยอมรับก่อนว่า        การพัฒนาตนเองได้ เป็นการแก้ไขปัญหาชีวิตอย่างยั่งยืนที่สุด “ผู้มีปัญญาพัฒนาตนได้ เป็นผู้ประเสริฐ”วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ต้องการให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการแนะแนวในทัศนะ             ทางพระพุทธศาสนาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนวตลอดถึงคุณสมบัติของผู้แนะแนว บทความนี้ผู้เขียนมุ่ง  ที่จะศึกษาแนวคิดหลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการแนะแนวทางพระพุทธศาสนา โดยทำการสังเคราะห์ ประมวล และสรุป แนวคิด หลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพุทธศาสนากับการแนะแนว ซึ่งเป็นการบรรยาย     ของ พระพรหมคุณาภรณ์ บรรยายที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต (ปัจจุบัน คือ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต) เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑ ประกอบกับการศึกษาจากเอกสาร ตำรา ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้บทความที่มีคุณภาพและ         เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจมากที่สุด ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอตั้งแต่ แนวคิด หลักการ และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับ     การแนะแนวเชิงพุทธเป็นลำดับต่อไป

 

๑. แนวคิดเกี่ยวกับการแนะแนวเชิงพุทธ

          พระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำแห่งการแนะแนวของโลก โดยใช้หลักธรรมที่ทรงค้นพบเป็นเครื่องมือ            ในการพัฒนาบุคคลให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มนุษย์ต้องพึ่งตนเองให้ได้ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร              การใช้เครื่องนุ่งห่ม การติดต่อสื่อสาร ตลอดถึงการหายใจ หากพึ่งตนเองไม่ได้ ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ พระพุทธศาสนาจึงมุ่งให้มนุษย์พัฒนาตนเองเป็นหลัก โดยปฏิเสธเรื่องอำนาจที่มาจากนอกตน ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงเป็นที่สนใจสำหรับคนในสังคมโลก

          พระรัตนตรัย : การพึ่งตนเอง

          เวลาเราเข้าถึงพระรัตนตรัยมิใช่เข้าถึงเป็นงมงายหรือขาดปัญญา เราเข้าถึงในฐานะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาช่วยแนะแนวในการใช้ชีวิต ช่วยป้องกันทำให้บุคคลพึ่งตนเอง สำหรับภาษาอังกฤษ บางที่ใช้ คำว่า refuge แปลว่า ที่พึ่ง อีกคำหนึ่งใช้คำว่า Guide แปลว่า “ผู้นำ” หรือผู้ทำการแนะแนว ผู้ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการแนะแนวเชิงพุทธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบแนวทางในการดับทุกข์ พอรู้แล้วก็นำสิ่งที่ค้นพบมาบอกบุคคลอื่นต่อ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก คือ ชี้แนวทางให้  ตุมฺเหหิ กิจจํ อาตปฺปํ  ส่วนตัวการกระทำนั้น เป็นเรื่องที่ท่านต้องทำ ต้องเพียรพยายามเอาเอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบธรรมะแล้วนำมาเปิดเผยให้เราได้รู้จักและปฏิบัติตาม            สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบมิใช่สิ่งที่เราต้องรู้และเข้าใจเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการนำมาปฏิบัติ พิจารณาด้วยปัญญา อย่างไรก็ตาม เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ก็มีพระธรรมและพระวินัยเป็นตัวแทนของพระองค์ ถึงจะมีพระธรรมและพระวินัยเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าก็จริง หากขาดผู้ทำหน้าที่ในการแนะแนวพระธรรม พระธรรมก็จะไม่มีใครรู้ ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ต้องทำหน้าที่ต่อไป ดั่งคำกล่าวที่ว่า “เรามีพระพุทธเป็นผู้นำ มีพระธรรมเป็นแผนที่ และมีพระสงฆ์เป็นพี่เลี้ยงค่อยแนะนำให้รู้จักและ        นำพระธรรมไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต ด้วยเหตุนี้ พระรัตนตรัยจึงเป็นหลักการสำคัญสำหรับวิชาการแนะแนว

          ตามความเป็นจริงแล้ว คนทั่วไปไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในทุกเรื่อง จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ช่วยให้สามารถพึ่งตนเองโดยได้ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมต่างๆ การใช้กิจกรรมหรือกระบวนการในการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นหน้าที่ของการแนะแนว ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ได้จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์และศิลปะของการแนะแนวด้วย การรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้จักสำรวจตัวเอง ควบคุมตนเองได้  ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนายความสะดวกที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความสามารถในการพึ่งตนเองได้ของมนุษย์ รวมถึงความคิดกับการพึ่งตนเอง นอกจากบุคคลจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับตนเองตามความเป็นจริงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ “การรู้คิด” ถ้าคิดเองเป็นก็สามารถตัดสินใจเลือกที่จะกระทำหรือละเว้นการกระทำสิ่งที่เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตนเองและคนอื่นได้ ความคิดเป็น คิดถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) จำเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของบุคคลที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องเข้าใจถึงคุณสมบัติเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และกระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์

          สิ่งสำคัญของการแนะแนวเชิงพุทธนั้นจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์รวมถึงเข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ด้วย กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ต้องมีความสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ การจะพัฒนามนุษย์ได้อย่างเป็นระบบโดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์    เป็นอันดับแรก

ธรรมชาติของมนุษย์ตามทัศนะทางพระพุทธศาสนา

          พระพุทธศาสนามุ่งส่งเสริมให้บุคคลได้เข้าใจถึงความเป็นจริงของชีวิตมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในแง่พระพุทธศาสนานั้นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงของโลกและชีวิตเป็นขั้นต้น “ความจริงเกี่ยวกับชีวิต” ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อาศัยเหตุปัจจัยและกฎเกณฑ์การเกิดขึ้น แม้แต่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบก็มีอยู่ในธรรมชาติ ถึงพระพุทธเจ้าไม่ได้บังเกิดขึ้นในโลก ความจริงของธรรมชาติก็มีอยู่คู่โลกนี้ เช่น ความแก่ เจ็บ ตาย ก็ยังคงมีอยู่ เช่นการที่พระพุทธองค์ตรัสรู้เกี่ยวกับหลักไตรลักษณ์ ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา  ก็มีอยู่ตามธรรมชาติไม่เกี่ยวกับการมีหรือไม่มีของพระพุทธเจ้า

          กฎธรรมชาติตามหลักปฏิจสมุปบาท

          ปฏิจจสมุปบาท เป็นหัวข้อธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงเกี่ยวกับธรรมชาติการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีพระพุทธเจ้า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นจึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ เช่น เพราะอวิชชา  จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดสังขาร เพราะสังขารจึงเกิดวิญญาณ เป็นต้น นี้เรียนว่า “การเห็นตามความจริง” เป็นการมองสัจจะธรรมในสิ่งที่เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามหลักความเป็นจริง     ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเอง รู้และเข้าใจด้วยตนเอง เมื่อเข้าใจเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญญาที่แท้จริงได้ก็จะสามารถหาแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหานั้นถูกวิธี และเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาอย่างยั่งยื่น

มนุษย์กับการเกิด

          ก่อนที่มนุษย์จะเกิดขึ้นมาต้องอาศัยอยู่ในท้องแม่ที่เราเรียกว่า “ทารก” ไม่น้อยกว่า ๙ เดือน ซึ่งการเรียนรู้เพื่อเอาชีวิตรอดของทารกนั้นผ่านการดูดซับเอาสารอาหารจากแม่ผ่านสายรกและสายเลือด เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้เหมือนกับสัตว์ประเภทอื่นๆ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นอาศัยสัญชาติญาณเพื่อการเอาชีวิตรอดขณะที่มนุษย์ยังไม่สามารถทำได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูหลังจากคลอดออกมาแล้วไม่น้อยว่า 1 ปี มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่รู้จักโลกที่ตนเองเกิดมา ไม่รู้จักการดำรงชีพ ความไม่รู้แบบนี้ เราเรียกว่า “อวิชชา” เมื่ออยู่ด้วยความไม่รู้ก็เกิดปัญหาติดขัด ขัดของไปหมด สรุปได้ว่า เมื่อชีวิตเกิดขึ้นมาจากความไม่รู้ คือ มีอวิชชาก็ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ที่เราเรียกว่า “ความทุกข์” นั้นเอง ถึงแม้ว่ามนุษย์จะมีปัญหาอุปสรรค์ในการดำเนินชีวิตอย่างมากมายก็ตาม มนุษย์จำเป็นต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้น อย่างถูกต้องด้วยการอาศัยระบบการศึกษา พัฒนาตนเองจนเกิดปัญญาสามารถพึงตนเองได้

ความต้องการของมนุษย์

“ความอยาก” ความต้องการของมนุษย์มีความเชื่อมโยงกัน อยากจะมีชีวิตอยู่รอด ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่เอื้อต่อการมีชีวิตรอด ก็คือ ความต้องการทางประสาทสัมผัส (Sensation) เมื่อมนุษย์มีความอยากได้ อยากมี      อยากเป็นในสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยมีอวิชชาเป็นสิ่งปิดกั้น ก็จะทำให้ปฏิบัติกับสิ่งต่างๆ ไม่ถูกต้อง อันจะนำมาซึ่งความดิ้นร้อนทะยานไปตามสิ่งที่ปรารถนา โดยขาดปัญญากำกับ

          เมื่อบุคคลเอาความอยากเป็นตัวนำในการดำเนินชีวิตก็จะพบแต่ความทุกข์เพราะคามยากที่เกิดจากความไม่รู่ตามความเป็นจริงของชีวิตเป็นภัยที่เป็นต้นน้ำที่เรียกว่า “ตัณหา” มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น         โดยขาดปัญญาเมื่อได้มาแล้วก็เกิดการยึดมั่นถือมั่นเรียกว่า “อุปาทาน” เมื่อบุคคลมีทำความอยากคือตัณหาและอุปาทาน คือความยึดมุ่นถือมั่นมารวมกันก็ทำให้เกิดความทุกข์ (อวิชชา ความไม่รู้  ตัณหา  ความยากได้ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เป็นวงจรของการเกิดความทุกข์ร่ำไป

          ทำอย่างไรจึงพ้นทุกข์

          ถ้าเราใช้ความอยาก เป็นตัวนำยิ่งก่อให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์ไม่รู้จบ การที่เราสามารถพัฒนาปัญญา   มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตของตนเองและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวรวมทั้งสังคมและธรรมชาติภายนอกแล้วปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญา ก็จะสามารแก้ไปปัญหาได้ “การพัฒนาตนเองของมนุษย์”       การที่มนุษย์จะเกิดปัญญาได้นั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มีความฝึกความอดทน ขยันหมั่นเพียร มีจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคง รู้จักวิธีแสวงหาความรู้ รู้จักคิดและวิเคราะห์เพื่อให้เกิดปัญญา สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติได้จริง ซึ่งการพัฒนาตนเองได้ของมนุษย์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การเรียนรู้ หรือ การศึกษา” การศึกษาจึงเป็นกระบวนการพัฒนาตนเองของมนุษย์ (การศึกษาก่อให้เกิดปัญญา) มนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถฝึกได้ สอนได้ ถ่ายทอดคุณงามความดี ศีลธรรมอันดีงามจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“มนุษย์พยายามพัฒนาตนเองด้วยการศึกษา” ด้วยเหตุที่ว่า พระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเป็นหลัก

          “ธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องมีความสัมพันธ์กับกระบวนการศึกษา การเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดของมนุษย์และเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมชาติของมนุษย์จะทำให้สมารถมองเห็นแนวทางที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความเข้าใจตามความเป็นจริง”

 

 

๒. หลักการของการแนะแนวเชิงพุทธ

          มนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้หากเข้าใจถึงความเป็นจริงของชีวิตและศักยภาพของความเป็นมนุษย์ รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เข้าใจขอบเขตของธรรมชาติ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาปัญญาปรับปรุงตนเองมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นนักวิจัยอยู่ทุกลมหายใจ เอาจริงเอาจังในการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่จะพัฒนาตนเองได้นั้นต้องมีทัศนคติเกี่ยวกับตนเองเป็นบวก คิดว่าตนเองสามารถฝึกได้ พัฒนาได้ (มนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาได้) มีความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ของตนเอง มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะเมื่อมนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้ แล้วแม้แต่เทพ เทวดา พระพรหมก็ยังต้องให้ความเคารพ (มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ เป็นต้น)     จะเห็นได้ในการประกาศ อาสภิวาจา ของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งประสูติเป็นเครื่องชี้ชัดได้ว่ามนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้อย่างไร้ขอบเขตหากมีเป้าหมายและวิธีการที่ถูกต้อง ถ้ามนุษย์เชื่อในคำประกาศของพระพุทธเจ้า มนุษย์ก็จะเปลี่ยนแนวคิดจากฟังคนอื่นมาฟังตนเอง การพึ่งตนเองได้ก็แสดงว่ามนุษย์มีการศึกษา เมื่อมีการศึกษามนุษย์ก็เกิดการพัฒนา เมื่อพัฒนาได้ เทพเทวดา พระพรหม ก็ยังมาสักการะให้ความเคารพ (ทนฺโต เสฎฺโฐ มนุสฺเสสุ  แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้นผู้ที่ฝึกแล้วหรือพัฒนาแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด)

พระพุทธศาสนาเชื่อในศักยภาพของความเป็นมนุษย์

          จุดเริ่มต้นของการพัฒนามนุษย์ คือ การศึกษา แต่ไม่ใช่ศึกษาที่คาดหวังให้คนอื่นมาช่วยเหลือ ศึกษาในที่นี้ คือ เชื่อว่า หากมนุษย์มีปัญญาก็สามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เรียกว่า “ตถาโพธิสัทธา” คือ ศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์..ฉะนั้น มนุษย์ทุกคนก็สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้หากพัฒนาตนเองถึงขั้นสูงสุด) ตามทัศนะทางพุทธศาสนา เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเจ้าได้          ใครที่มีความพร้อมก็สามารถอธิฐานจิตเป็นพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งจะเป็นได้นั้นก็ด้วยการบำเพ็ญบารมี พัฒนาตนเองจนถึงขั้นมีคุณสมบัติจนเกิดปัญญาตรัสรู้ ซึ่งพระพุทธศาสนาให้เชื่อในปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่ทำให้มนุษย์         เป็นพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทำให้เห็นเป็นแบบอย่างแล้ว เป็นผู้ที่พัฒนาตนเองถึงจุดสูงสุด           พ้นจากความบีบคันจากสิ่งต่างๆ มีปัญญาดี เป็นแบบอย่างให้เราได้ปฏิบัติตาม

          การพัฒนาตนเองกับแรงจูงใจ

          การพัฒนาตนเองได้จำเป็นต้องมีแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง ความใฝ่รู้ ใฝ่เรียนในการศึกษาแสวงหาความจริง (วิจัยชีวิต) รู้จริง  รู้รอบ และรอบรู้ ตามความเป็นจริงปราศจากอวิชชามาปิดกั้น ปรารถนาให้ชีวิตมีการพัฒนาไปสู่คุณงามความดี ใฝ่ความดีงาม (ใฝ่สร้างสรรค์) การแสวงหาความจริงด้วยความมุ่งมั่นเป็นกรรมดี มีความใฝ่ทำหรือสร้างสรรค์ดี อยากพัฒนาตนเองไปสู่ความดีงาม ความใฝ่รู้และใฝ่ทำจึงเป็นแรงจูงใจ             ในพระพุทธศาสนา เรียกกว่า “ฉันทะ”(แรงจูงใจเชิงลบมีตัณหาเป็นตัวนำ ส่วนแรงจูงใจฝ่ายดี จะมี ฉันทะ       เป็นตัวนำ) แรงจูงใจใฝ่ดี (ฉันทะ) เริ่มที่การคิดเป็น จำได้ รับจากประสบการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต   ทั้งที่เป็นปัญหาและปัญญา เราก็ได้รับจากประสบการณ์ทั้งนั้น (ประสบการณ์ชีวิตนำมาซึ่งปัญญาและปัญหา)

 

๓. วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแนะแนวเชิงพุทธ

          จุดเริ่มต้นของการแนะแนวเกิดจากความต้องการของมนุษย์ เพราะมนุษย์ยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในบางสถานการณ์บางปัญหาที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องไปแก้ที่สาเหตุที่เป็นต้นตอของปัญหา เหตุเกิดที่ไหนต้องไปแก้ที่นั้น ปัญหาที่เป็นเหตุ เช่น

๑.      ขาดปัญญา

๒.      ขาดจิตสำนึกในการพัฒนาตน

๓.      ขาดความมั่นใจในการพัฒนาตนเอง

๔.      ไม่เชื่อมั่นในตนเอง

๕.      ไม่มองเห็นตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ฝึกได้

๖.      ขาดแรงจูงใจที่ถูกต้องต่อการพัฒนาตนเอง

๗.      ขาดความรู้จักคิด “คิดไม่เป็น” และ

๘.      มีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่เข้ามาในชีวิต

ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เกิดจากปัจจัยภายในของบุคคล การที่จะผ่านพ้นปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้จำเป็นต้องเข้าใจถึงองค์ประกอบส่วนบุคคลและกระบวนการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

๓.๑ องค์ประกอบส่วนบุคคลและกระบวนการแก้ปัญหา

  องค์ประกอบส่วนบุคคล

๑.    ความกระตือรือร้น เพียรพยายาม มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองมองเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ประมาทในการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยไม่มีความลังเลหรือพลัดวันประกันพรุ่ง (ความไม่ประมาทในชีวิต)

๒.    ตัวควบคุม แรงจัดสรร คือ ความมีวินัย เป็นสิ่งที่จัดระเบียบชีวิต การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม         เป็นการดำเนินชีวิตตามแบบของตนเองและตามกรอบของสังคมที่ได้ตกลงกันไว้ ความมีวินัยเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง จากที่กล่าวมา สามารถเป็นสรุปเป็นวงจรแก้ปัญญาได้ดังนี้

(ปัญญา....อวิชชา....ความไม่รู้.. ทะยานอยากของตัณหา...เสพประสาทสัมผัส.....เกิดความทุกข์...อวิชชาและตัณหา..นำมาซึ่งกองแห่งทุกข์)

กระบวนการแก้ปัญหา

  ปัญญา + แรงจูงใจ คือ ฉันทะ มุ่งสืบสาวหาเหตุปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นเหตุปัจจัยสัมพันธ์กันแล้วทำความรู้จริงให้ปรากฏตามเหตุปัจจัยนั้น เมื่อปฏิบัติตามก็จะแก้ปัญหาและพ้นจากกองทุกข์ได้ “ประสบการณ์ที่ได้รับนำมาซึ่งปัญญาและปัญหา”ประสบการณ์การเรียนรู้เข้ามาชีวิตเราผ่านทางทวารหรืออายตนะเป็นการรับรู้ฝ่ายอวัยวะร่างกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย พอรับมาแล้วก็มาเก็บไว้ที่ใจ พอเราระลึกได้ก็กลายเป็นความจำ      เป็นประสบการณ์เก่าที่เข้ามาในชีวิต ความรู้สึกต่างๆ ล้วนเกิดจากทางใจทั้งนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กายมีหน้าที่เพียงมาหรือเป็นช่องทางผ่านเท่านั้น ส่วนความรู้สึก รักชอบ เกลียด เครียด นั้น เกิดจากใจทั้งนั้น (ตา หู จมูก ลิ้น กาย มิได้ทำหน้าที่นี้) มนุษย์ต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เป็นอารมณ์ ความรู้สึก แต่เมื่อมีอารมณ์แบบนี้เข้ามาในชีวิตแล้วเราจะว่างท่าทีอย่างไร เป็นสิ่งที่ท้าท้ายมนุษย์ สิ่งที่กระทบหรือเป็นประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ผ่านทางประสาทสัมผัส จะส่งผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ ๒ ลักษณะ คือ

๑.      พอใจ/ถูกใจ/สบายใจ

๒.      ไม่พอใจ/ไม่ถูกใจ/ไม่สบายใจ

การปรับเปลี่ยนท่าทีในการแสดงออกต่อสิ่งเหล่านี้ที่ถูกต้องเกิดจากการได้รับการศึกษา การเรียนรู้          พอเรามีจิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง ท่าที่ต่อเหตุการณ์หรือสิ่งเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากถูกใจ ไม่ถูกใจ เป็นสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้นำมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง สิ่งที่เราได้คือ ท่าทีต่อเหตุการณ์นั้นๆ               จะเปลี่ยนแปลงไป การมองเหตุการณ์ให้เป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้ายถึงความรู้สึกดีใจ หรือเสียใจ พอใจ ไม่พอใจ สบายใจ ไม่สบายใจของเรานั้น มาเป็นเครื่องมือในการศึกษาทั้งสองอย่างก็จะทำให้เรามองเห็นแนวทาง            ในการแก้ไขปัญหามากขึ้น เช่น ....เห็นคนที่เกิดปัญหา..เรียนรู้ว่าเขาเป็นอะไร มีความทุกข์อะไร มีปัญหาอะไร     แล้วศึกษาถึงสาเหตุของพฤติกรรมเขาต่อไป ไม่มองแบบเอาตัวเราไปตัดสิ้น แต่มองเป็นข้อมูลเพื่อการเรียนรู้เท่านั้น แล้วเชื่อมโยงถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้ได้ การมองตามความเป็นจริง คือ มองถึงเหตุปัจจัยที่สั่งสมสืบทอดกันตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงโดยปราศจากการปรุงแต่งของเราก็จะทำให้มองเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้ตามความเป็นจริง การมองปัญหา หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงข้อมูลที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้หรือเกิดปัญญาตามความเป็นจริง จะทำให้เราได้ปัญญาและเกิดความรู้มากด้วย ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลเหล่านี้ไปใช้        ในการพัฒนาตนเองต่อไป

  ๓.๒ การแนะแนวเป็นหน้าที่ของปัจจัยภายนอก

  ถ้าหากปัจจัยภายในของบุคลไม่ขับเคลื่อน เช่น ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง จิตสำนึกในการพัฒนาตนเองก็ไม่เกิด ความรู้จักคิดก็ไม่มี หากปัจจัยเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับบุคคลก็ต้องหาปัจจัยภายนอกมาช่วย             อันเป็นจุดเริ่มต้นของการแนะแนว

กัลยาณมิตรกับการแนะแนว

กัลยาณมิตร เป็นปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้ปัจจัยภายในของบุคคลทำงานปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการขับเคลื่อนการทำงาน คือ โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในโดยแยบคาย คือ การู้จักคิดเป็น ที่จริงมี ๖ ประการ แต่ที่เน้นมากที่สุดก็คือ “กัลยาณมิตร”          กัลยาณมิตรช่วยกระตุ้นให้เกิดโยนิโสมนสิการ เมื่อคนเรารู้จักคิดแล้ว  ก็ทำให้เกิดปัญญาที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ขั้นแรกเลยทำให้เกิดสัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นข้อธรรมแรกของระบบ      การดำเนินชีวิตที่ดีงามเรียกว่า“มรรค ๘”

  เมื่อกัลยาณมิตรกระตุ้นให้เกิดสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นถูกต้องแล้วก็จะนำไปสู่การกระทำที่ถูกต้องด้วย     การปฏิบัติที่ถูกต้องตั้งแต่แรกจึงนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ เมื่อกัลยาณมิตร สามารถกระตุ้นให้เกิดปัจจัยภายในแล้ว หน้าที่ของกัลยาณมิตรวารทำอย่างไรต่อไป

  ๓.๓ การตรวจสอบหรือการวิเคราะห์บุคคล

  ตรวจสอบว่าที่เราพัฒนาเขาให้ผ่านพ้นอุปสรรค์หรือปัญหานั้นเขาขาดอะไรไปบ้าง ทบทวนสิ่งที่ขาด     เพื่อเพิ่มเติมให้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองด้วยตนเอง ซึ่งองค์ประกอบที่ ๑ เราจะต้องตรวจสอบกับนักเรียน ดังนี้

๑.   ทัศนคติเกี่ยวกับประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ลักษณะของการมองข้อมูล ความพอใจ ไม่พอใจ เป็นเพียงข้อมูลที่นำมาสู่การเรียนรู้เท่านั้นไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งเมื่อเรามองเห็นตามความเป็นจริงแล้วก็นำความรู้ที่เราได้จากความเป็นจริง มีเจตคติที่ดี ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ มาใช้ในกระบวนการแนะแนว

๒.   ความไม่มันใจในศักยภาพของมนุษย์

ดูว่านักเรียนมีความมั่นใจในตัวเองหรือไม่ เขามีความเชื่อว่าสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้และเห็นว่าต้องพัฒนาตนเองหรือไม่

           ๓.  จิตสำนึกในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง

    ถ้าเขามีอยู่แล้วจะส่งผลให้มีความมุ่งมั่นและอุตสาหะเอาใจใส่ในการเรียนรู้ ถ้าเขาขาดจุดนี้ ก็จะไม่เอาใจใส่ในการพัฒนาตนเอง ซึ่งผู้ให้การแนะแนวต้องตรวจสอบดูและพยายามมองให้เห็นปัญหาที่แท้จริง

    ๔. แรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตน

    ดูว่าเขามีฉันทะใฝ่ดี หรือ ความดีหรือไม่ มีความใฝ่รู้ใฝ่แสวงหาปัญญาหรือไม่

    ๕. จิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง

    กระตือรือร้นหรือไม่ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เอาจริงเอาจัง ไม่ประมาทในวัยและชีวิต

๖.   ความรู้จักคิดเป็น 

    ความมีเหตุผล คือ การพิจารณาด้วยปัญญา อะไรเป็นคุณเป็นโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์            (โยนิโสมนสิการ) มองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ด้วยเหตุปัจจัย มุมมองที่เป็นคุณต่อการพัฒนาตนเอง    ที่เอื้อต่อจิตใจ การแนะแนวที่มุ่งให้บุคคลรู้จักคิดก่อให้เกิดผลดี คือ ทำให้เข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องเมื่อมีความรู้ที่ถูกต้องก็ส่งผลให้มีการปฏิบัติถูกต้องตามไปด้วย ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่สำคัญก่อให้เกิดผลดีต่อชีวิตของตนเอง

           การรู้คิด เป็นการค้นหาความจริงมองเห็นความเป็นจริงของสิ่งนั้น สืบสาวหาเหตุปัจจัยส่วนแบบที่สอง มองให้เป็นธรรมโอสถเพื่อชโลมจิตใจ ถ้ามองเป็นยาพิษ ต้องพัฒนาวิธีคิดใหม่ด้วยโยนิโสมนสิการ คิดในทางเห็นอกเห็นใจ จิตใจประกอบด้วยเมตตา เป็นการเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับหัวใจ

    ๗. วินัยชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม วินัย คือ การจัดระเบียบชีวิตตนเองและจัดสรรความสงบสุข  ให้เกิดขึ้นในสังคม การที่บุคคลปฏิบัติตามระเบียบ ปฏิบัติตามขอบเขตของสังคมที่กำหนดร่วมกันจะทำให้เกิดความสงบสุขแก่ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ตลอดทั้งความร่มเย็นของโลก ถ้ามีวินัยก็สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยื่น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด หากมีบุคคลมาหาเราเพื่อที่จะมาระบายความในใจหรือความทุกข์ให้เราฟัง ถ้าเรามีหลักเหล่านี้อยู่ เราก็สามารถตรวจสอบได้ว่า เขาขาดอะไร เราควรเติมเต็มหรือแนะแนวเขาให้สามารถแก้ไขปัญหาหรือชี้ช่องทางให้เขาปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง องค์ประกอบเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ที่สำคัญในการพัฒนาตนเองของมนุษย์

        ๓.๔ ขั้นตอนการสำรวจตรวจสอบและการเพิ่มศักยภาพ

๑.    ช่วงรับเข้ามา

๒.    ช่วงสร้างความสัมพันธ์

๓.    ช่วงเจริญงอกงาม

๑. การว่าท่าทีต่อประสบการณ์ ตา หู จมูก ลิ้น  ไม่ให้ตาตกอยู่ในอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ รับรู้ในลักษณะที่เป็นเพียงข้อมูลเพื่อการเรียนรู้เท่านั้น วางใจเป็นกลาง ไม่ตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่ตนเองรับรู้      แต่ใช้เป็นเพียงข้อมูลสำหรับการศึกษาเท่านั้น

๒. การแสดงออกต่อบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม กิเลส ตัณหา มีสติสัมปชัญญะ ระลึกได้ ควบคุมตนเองได้ การแสดงออกเพื่อการพัฒนาตนเอง นี้นำไปสูความเจริญ

            ๓. เจริญงอกงาม ท่าทีมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงและเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิต การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

          กระบวนการที่ช่วยพัฒนาชีวิตมนุษย์ก็คือ การศึกษา การวิจัยชีวิตอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา ทุกๆ         ลมหายใจเข้าออก ทั้งนี้ ต้องทำให้ครบกระบวนการทั้ง ๓ ช่วง คือ ดูว่า คนที่มีปัญหานั้นเขาเป็นอย่างไร เขามีท่าที่ต่อประสบการณ์เข้ามาในชีวิตอย่างไร และปฏิบัติตอบสนองต่อสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อการเกื้อกูลคุณภาพชีวิตที่ดีงามหรือไม่ ช่วงที่ ๒ มีการแสดงออกอย่างไร มีการนำเอาข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามหรือไม่        เป็นวิธีการตรวจสอบได้อีกวิธีการหนึ่ง

          ๓.๕ หัวใจของการแนะแนวเชิงพุทธ

          การคิดเป็น” คือ วิธีการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ รู้เหตุ รู้ผล แก้ตามแนวเหตุและผล เป็นการใช้ปัญญานำมิใช่ใช้ตัณหาคือความยากเป็นตัวนำชีวิต (ปัญญา คือ ความรอบรู้ทั่วถึง)  ในขณะที่เราพัฒนาปัญญาอยู่นั้น      หากจิตใจยังไม่เข้มแข็งพอ ก็อาจจะเปิดช่องให้อวิชชา ความไม่รู้เข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการพัฒนาตนเองได้    ซึ่งกระบวนการที่ป้องกันอวิชชาก็คือ การฝึกสมาธิให้เกิดสติให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานสำคัญต่อการพัฒนาปัญญาอย่างยั่งยืน ซึ่งคนเราจะสามารถพัฒนาตนเองได้นั้นจะต้องพัฒนาปัญญาให้อยู่เหนืออิทธิพลของตัณหาที่เข้ามา    ในชีวิต (ถ้าตัณหาเข้ามาอวิชชาจะมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์) ทำให้บุคคลหลงผิดคิดผิด กระทำผิด อันเป็นผลจากตัณหาและอวิชชา ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ตัณหาและอวิชชามีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาชีวิต  ที่ไม่ถูกต้อง เช่น อาศัยอำนาจดลบันดาลจากภายนอก อ้อนวอนขอจากเทพเจ้า หรือใช้ไสยศาสตร์มาเป็นที่พึ่ง    หากเราพึ่งพลังจากข้างนอก เราก็จะเสียโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เจริญงอกงามต่อไป

          ฉะนั้น หลักการแนะแนวทางพระพุทธศาสนานั้นต้องมุ่งให้บุคคลสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง      ตามหลักเหตุและผล ตามหลักอริยสัจ กล่าวคือ ทุกข์ เมื่อเกิดปัญหาต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาพิจารณาถึงสาเหตุ   ที่เรียกกว่า สมุทัย ว่า เหตุแห่งปัญหานั้นอยู่ที่ไหน เมื่อเราพบแล้วก็ทำการกำจัดเหตุนั้นได้ (กำจัดจุดอ่อนของปัญหา) เรียกว่า นิโรธ ขณะเดียวกันก็พิจารณาว่าความต้องการของเราคืออะไร กำหนดจุดมุ่งหมายแล้ววางวิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ  วิธีการปฏิบัตินี้ เรียกว่า “มรรค” เมื่อรู้แนวทางแล้วก็ลงมือปฏิบัติ หากบุคคลได้ดำเนินการตามกระบวนเช่นนี้ ก็จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้ (ปัญหาคืออะไร? (ทุกข์)  มีสาเหตุเกิดจากอะไร (สมุทัย) วิธีการแก้ปัญหาเป็นแบบไหน (นิโรธ) ลงมือปฏิบัติ (มรรค)

            ๓.๖ กระบวนการสร้างปัญญาเชิงพุทธ

สิ่งที่อาจารย์แนะแนวต้องพึ่งใสใจเป็นพิเศษก็คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นกับบุคคลมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาโอกาสในการสร้างความเข็มแข็งให้เกิดขึ้นกับบุคคลจากภายในตนให้ได้ หากไม่สามารถพัฒนาบุคคลจากภายในได้ก็ต้องใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วยกระตุ้นแต่ไม่ให้เสียเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์คือ “ต้องเริ่มจากภายในบุคคล” ขณะเดียวกันในกระบวนการแนะแนว ผู้แนะแนวมิใช่        ผู้ดลบันดาลให้นักเรียนหายจากปัญหาอุปสรรค์ มิใช่หมอดู เทพเจ้า หรือ หมอไสยศาสตร์ จนทำให้เด็กนักเรียนฝากความหวังไว้ที่อาจารย์แนะแนว จะทำให้เด็กคิดไม่เป็น พึ่งตนเองไม่ได้

บางครั้งอาจารย์และเด็กก็พึ่งแต่ปัจจัยภายนอก พึ่งพลังอำนาจการดลบันดาลจากภายนอก เช่น หวังพึ่งหมอดู ซึ่งหากจะใช้วิธีการนี้อยู่บ้างก็ไม่ควรเสียหลักการที่ว่า “ผู้มีปัญหาต้องแก้ไขหรือปฏิบัติตนให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค์ได้ด้วยตนเอง” หากอาจารย์ไม่สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองได้ ก็ไม่ควรนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่หยุดหยั่งการพัฒนาตนเองของเด็ก ไม่ควรให้เด็กอยู่กับการรอคอยสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาช่วย แต่ควรกระตุ้นเตือนให้เด็กรับรู้ตลอดเวลาว่า เขาต้องพัฒนาตนเองเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยตนเอง

เมื่อเด็กมีความเข้มแข็งพอ มีสติปัญญาสามารถช่วยตนเองได้ พึ่งตนเองได้ด้วยการพัฒนาตนเองอย่าง    เต็มศักยภาพ ลักษณะเช่นนี้เป็นการตรวจสอบความทุกข์และปัญหาตามแนวพุทธศาสตร์เพื่ออาจารย์จะได้ช่วยให้เขาได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอาจารย์หรือผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แนะแนว ควรมีคุณสมบัติพิเศษเช่นกัน

 

๔. คุณสมบัติของครูแนะแนวเชิงพุทธ

            พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)  ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของครูแนะแนวที่ดี  ควรมีลักษณะ ดังนี้

๑.    น่ารัก คำว่าน่ารักในที่นี้หมายความว่า เป็นบุคลิกภาพที่ชวนให้เข้าหา ผู้แนะแนวควรต้องมีลักษณะที่ว่า เมื่อเด็กมีปัญหาเกิดความทุกข์ ก็อยากเข้าไปหาหรือเข้าไปปรึกษา เพราะว่าผู้ที่มีปัญหาเกิดคิดหาที่ปรึกษา เมื่อเห็นผู้แนะแนวที่มีคุณสมบัติดีแล้วก็อยากจะเข้าไปปรึกษาด้วย คำว่าน่ารักในภาษาบาลีเรียกว่า “ปิโย”

๒.    น่าวางใจ ครูแนะแนวต้องมีลักษณะที่น่าไว้วางใจได้ หนักแน่น น่าเคารพนับถือ น่าเชื่อถือ ทำให้รู้สึกว่าไม่มีภัยอันตราย อบอุ่นมั่นคงปลอดภัย ควรเข้าไปขอคำปรึกษาได้ ถ้ามีลักษณะท่าทางไม่น่าไว้วางใจ ก็ไม่ไหว ลักษณะที่น่าเคารพน่าไว้วางใจนี้ภาษาบาลีเรียกว่า “ครุ”

๓.    น่าเจริญใจ คือ บุคลิกภาพท่าทางต่างๆ ที่แสดงออกดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นผู้มีภูมิรู้ มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง เป็นคนมีการศึกษาพัฒนาตนดีแล้ว ซึ่งผู้เข้าหานั้นรู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าใกล้ชิดและเห็นว่าน่าเอาอย่าง คือชวนให้อยากปฏิบัติตามในทางภาษาบาลีเรียกว่า “ภาวนีโย”

๔.    รู้จักพูดหรือพูดเป็น ข้อนี้เป็นลักษณะสำคัญมาก สามข้อแรกนั้นเป็นบุคลิกภาพที่จะทำให้เกิดการปรึกษาและการแนะแนวขึ้น โดยนำมาซึ่งการพบปะและการทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป แต่ข้อ ๔ และข้อต่อจากนี้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในการทำหน้าที่

การเป็นนักพูดที่ดีไม่ใช่หมายความว่า จะต้องพูดเองไปหมด ผู้ที่มีความทุกข์ หรือต้องการคำปรึกษา    เขาก็จะพูดไปตามทางของเขา ชัดเจนบ้าง สับสนบ้าง บางทีก็ไม่กล้าพูด หรือพูดแล้วพูดไม่ถูก พูดไม่แจ่มกระจ่าง   ผู้แนะแนวต้องรู้จักพูดให้เขากล้าที่จะแสดงออกมา กล้าระบายความทุกข์ออกมา หรือสามารถที่จะแสดงออกซึ่งปัญหาอย่างชัดเจน โดยผู้แนะแนวจะต้องช่วยให้เขารู้จักและเข้าใจปัญหาของเขาเองไปที่ละด้านสองด้าน ตามลำดับ

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาหาพระพุทธเจ้า จะมาถามหาคำตอบจากพระองค์            บางทีพระองค์ก็ทรงช่วยให้เขาตอบปัญหาของเขาเอง โดยที่พระองค์ทรงใช้วิธีเป็นผู้ถาม บุคคลนั้นก็จะพบคำตอบได้ด้วยตนเอง นักแนะแนวควรนำวิธีนี้ไปใช้ในการเป็นนักพูด โดยเป็นผู้ช่วยให้เขาพูด จนกระทั้งทำให้เขาตอบปัญหาของตนเองได้ หากเขาหาคำตอบไม่ได้จริงๆ เราก็มีวิธีการที่จะเสนอแนะให้เขาพบคำตอบได้ ให้เห็นทางออกในการแก้ปัญหา ลักษณะที่เป็นนักพูดอย่างได้ผลนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “วตฺตา”

๕.    รู้จักฟัง หรือ ฟังเก่ง หมายถึง ความเก่งในการฟัง นอกจากหมายถึงจับเรื่องได้ไวและชัดเจนแล้ว ก็รวมถึงการมีความอดทนในการฟังด้วย อดทนต่อการรับฟังปัญหา อดทดต่อการระบายความทุกข์ เพื่อจะได้รู้เหตุปัจจัย และคิดค้นวิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการรู้จักตัวเขาและปัญหาของเขาอย่างแท้จริง เช่น รู้ว่าเขาทำอะไร บกพร่องอย่างไร จุดที่จะแก้ไขอยู่ตรงไหน เรียกในภาษาบาลีว่า “วจนกฺขโม”

๖.    แถลงเรื่องลึกซึ่งได้ คือ เมื่อมีปัญหาที่ยากหรือลึกซึ่งก็สามารถคลี่คลายให้เข้าใจได้ ในการศึกษาและ     ในการแก้ปัญหาจะต้องพบกับปมและเรื่องที่ยากหรือลึกซึ่งอยู่เรื่อยๆ ผู้ที่ทำหน้าที่แนะแนวต้องสามารถอธิบายเนื้อหาเรื่องราวและคลี่คลายปมประเด็นต่างๆ ให้เห็นชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย อะไรที่ซับซ้อนก็ต้องจับเอามาหรือหยิบออกมาพูดให้เห็น และอธิบายให้กระจ่าย อันนี้เป็นความสามารถในการปฏิบัติที่เรียกว่า “คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา”

๗.    ไม่ชักจูงไปในทางที่ผิดหรือนอกเรื่อง คือ จะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนในการแนะแนว โดยมีเป้าหมายและนำไปสู่จุดหมายซึ่งจะแก้ปัญหาได้ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง หากผู้แนะแนวปฏิบัติไม่ถูกต้องออกนอกเรื่องราว หรือชักจูงไปในทางเสียหาย โดยแนะนำผิดๆ หรือแนะนำวิธีการที่ไม่ถูกต้อง แนะแนวไปแทนที่เขาจะแก้ปัญหาได้                  ก็กลับกลายเป็นสร้างปัญหา อันนี้เรียกว่า “โน จฎฺฐาเน นิโยชเย”

รวมเป็น ๗ ประการ เรียกว่า คุณธรรมหรือองค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งเราใช้เป็นคุณสมบัติของครูโดยทั่วไป ซึ่งผู้ทำหน้าที่แนะแนวควรมีคุณสมบัติเช่นนี้เป็นพิเศษ ขณะเดียวกันผู้ที่จะสามารถพัฒนาตนเองหรือพึ่งพาตนเองได้นั้น จำเป็นต้องมีความพร้อมด้านแรงจูงใจอันเป็นปัจจัยภายในตน (ฉันทะ) ลักษณะของบุคคลที่พึ่งตนเองได้     จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้

 

๕. คุณสมบัติที่ดีของบุคคลที่สามารถพัฒนาได้

          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวว่า ผู้ที่จะรับการแนะแนวควรมองว่า “มนุษย์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อจะได้นำมาใช้กับผู้ที่มีปัญหา หลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ดีของมนุษย์ ก็คือ หลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ คือ

๑.      รู้จักเหตุ คือรู้หลักการ หมายถึงหลักการที่จะปฏิบัติให้เกิดผลที่มุ่งหมาย เช่น เมื่อเราเข้ามาศึกษา          ในวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ต้องรู้จักหลักเกณฑ์ของการศึกษาในวิทยาลัย ทำอาชีพอะไรก็ต้องรู้หลักเกณฑ์ของอาชีพนั้นๆ ว่าจะต้องปฏิบัติต้องกระทำอย่างนั้นๆ จึงจะได้ผลของอาชีพ ข้อนี้เรียกว่า “ธัมมัญญุตา”

๒.      รู้จักผล คือรู้ความมุ่งหมาย รู้ผลที่ต้องการในการปฏิบัติรู้จักจุดหมายว่า หลักการหรือกฎเกณฑ์นี้เพื่อจุดหมายอะไร จะให้เกิดผลอะไรขึ้น อันนี้เรียกว่ารู้จักความมุ่งหมาย ทำให้รู้ทิศทางในการปฏิบัติ ซึ่งถ้าไม่รู้ก็อาจทำให้เกิดผลเสียหายได้ ข้อนี้เรียกว่า “อัตถัญญุตา”

๓.      รู้จักตน คือ รู้จักตนเองมีภาวะ ฐานะ ความสามารถ ความถนัดอย่างไร มีภูมิธรรม ภูมิปัญญาต่างๆ       แค่ไหน มีพื้นฐานมาอย่างไร เป็นต้น เมื่อรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพ            ในการพัฒนาตนเอง หากเราไม่รู้จักตนเองตามความจริง เราก็ปรับปรุงตนเองไม่ถูก หรืออาจไม่คิดที่จะพัฒนาตนเองเลย ข้อนี้เรียกว่า “อัตตัญญุตา”

๔.      รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดี ในการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ถ้าต้องการให้เกิดผลดีก็ต้องรู้จักพอดีในการปฏิบัติ มิฉะนั้นมันจะไม่ลงตัว เมื่อไม่ลงตัวก็ไม่เกิดผลดีตามที่ต้องการ ถ้าเรารู้จักความพอดีในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การเล่น การทำงาน รู้ว่าแค่ไหนพอดี แล้วทำแค่พอดีที่จะให้ผลดี มันก็จะสำเร็จและไม่เกิดโทษ ข้อนี้เรียกว่า “มัตตัญญุตา”

๕.      รู้จักกาล คือ จะทำอะไรก็ต้องรู้จักกาลเวลา เช่น รู้เวลาเริ่ม ระยะเวลาที่ทำ เวลาสิ้นสุด จังหวะที่ดีของการกระทำเป็นต้น อัตมามาพูดนี้ก็ต้องรู้จักเวลาเหมือนกัน ว่าขณะนี้จะหมดเวลาแล้วนี่ก็เป็นเรื่องของ “กาลัญญุตา”

๖.      รู้จักชุมชน เช่น รู้จักว่านี้เป็นชุมชนประเภทไหน พูดเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสมและพอดี หากไม่รู้จักชุมชน ไม่เข้าใจชุมชน ก็ปฏิบัติต่อชุมชนนั้นไม่ถูก เช่น ไม่ถูกต้องตามวัฒนธรรมประเพณี ไม่ถูกมารยาท ไม่ถูกกับแนวความสนใจหรือระดับความรู้ ความสามารถ การปฏิบัตินั้นก็ไม่ได้ผลดี การรู้จักชุมชนนี้เรียกว่า “ปริสัญญุตา”

๗.      รู้จักบุคคล เช่น รู้จักว่าบุคคลนี้เป็นอย่างไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีภูมิธรรม ภูมิปัญญาแค่ไหน            มีความสามารถถนัดจัดเจนอย่างไร สนใจเรื่องอะไร อยู่ในฐานะ หรือภาวะอย่างไร มีภูมิหลังมาอย่างไร ควรคบหาหรือไม่ จะได้ประโยชน์ในแง่ใด ควรใช้งานหรือไม่ จะช่วยเหลือหรือขอความช่วยเหลือเขาได้อย่างไร เมื่อรู้จักบุคคลแล้ว รู้จักความแตกต่างของบุคคลแล้ว การดำเนินชีวิตและการทำงานก็ได้ผลดี อันนี้เรียกว่า “ปุคคลัญญุตา”      เป็นคุณธรรมข้อสุดท้าย

 

๖. หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้

คนที่จะพึ่งตนเองได้นั้นต้องมีหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติ ดังนี้

๑.      ประพฤติดี มีวินัย ไม่ก่อความเดือนร้อนต่อตนเองและสังคม ไม่ก่อความเดือนร้อนวุ่นวายในการอยู่ร่วมกัน ทำให้มีระเบียบวินัยในสังคมประเทศชาติ คนเรานี้หากเป็นผู้มีความประพฤติดี มีระเบียบวินัยก็เป็นอันว่าหมดปัญหาขั้นพื้นฐานไปทีเดียว เท่ากับเปิดทางสะดวกให้มีโอกาสทำอะไรต่างๆ เพื่อก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยดี             ในกระบวนการศึกษาพัฒนาตน

๒.      ได้ศึกษาสดับมาก การฟัง การอ่าน การเล่าเรียน การแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ทำให้ได้ข้อมูลมาก จึงช่วยให้แก้ไขปัญหาได้มาก เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลความรู้ จึงควรจะศึกษาเล่าเรียน อ่าน ฟัง ให้มาก

๓.      รู้จักคบคนดี คือ รู้จักคบเพื่อน รู้จักคบมิตร ซึ่งชักจูงไปในทางที่ดีงาม รู้จักคบครูอาจารย์ หาแหล่งวิชา รู้จักแสวงหาแหล่งความรู้ ซึ่งจะทำให้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนอ่านสดับฟัง เพิ่มพูนและชัดเจนช่ำชองยิ่งขึ้น ข้อนี้เป็นลักษณะสำคัญของคนที่พัฒนาตนเองเรียกว่ารู้จักคบหากัลยาณมิตร

๔.      เป็นคนที่พูดกันง่าย คือ เป็นผู้ที่รับฟังผู้อื่น เมื่อคบหาผู้รู้และคนดีแล้ว ก็พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำเป็นต้นของท่านเหล่านั้น เพราะอยากได้ข้อมูลในการพัฒนาตนเอง โบราณว่า “ว่านอนสอนง่าย” ในสมัยนี้กลัวว่าคนจะเข้าใจความหมายผิด ก็เรียกว่า “เป็นคนที่พูดกันง่าย”

๕.      ขวนขวายกิจของหมู่ คือ เป็นผู้พร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือ เอาใจใส่ขวนขวายกิจของเพื่อนร่วมชุมชนและงานของส่วนรวม คนที่พึ่งตนเองได้นี้จะมีลักษณะไม่คิดเรียกร้องจากผู้อื่นหรือคิดเรียกร้องเอาจากชุมชนหรือสังคม คนจำนวนมากมักเรียกร้องจากสังคม หากเป็นเช่นนี้ เราจะพึ่งตนเองไม่ได้ จะต้องรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่ร่ำไป หากเป็นประเทศก็เป็นประเทศที่พึ่งตนเองไม่ได้ ควรเปลี่ยนท่าทีใหม่ว่าเราจะทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้บ้างหรือแก่ชาติได้บ้าง อันนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการพึ่งตนเองได้

๖.      เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ธรรม ได้แก่ ชอบแสวงหาความจริง ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน ชอบสนทนาถกเถียงหาความรู้ความเข้าใจ โดยมีสภาพจิตใจและลักษณะของการแสดงออก ที่ชวนให้คนอื่นอยากปรึกษาหารือร่วมสนทนาด้วย ส่งเสริมบรรยากาศแห่งการแสวงหาความรู้

๗.      มีความเพียรขยัน คือ มีจิตใจเข้มแข็ง ก้าวหน้าไม่ท้อถอย สู้กิจสู้งาน รับผิดชอบ ปฏิบัติตามหลักทุกอย่างในข้อก่อนๆ ด้วยความจริงจัง

๘.      มีสันโดษรู้พอดี สันโดษในที่นี้คือ การไม่แสวงหาความบำรุงบำเรอฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย ไม่ฟุ่มเฟือย แต่เป็นอยู่ง่าย รู้จักพอในเรื่องวัตถุ แล้วใช้เวลามุ่งหน้าทำกิจของตน คนปัจจุบันมีปัญหาจากความฟุ้งเฟ้อมาก ปล่อยเวลาและแรงงานสูญเสียไปกับเรื่องของการบริโภคเสียมาก อันนี้จะต้องเปลี่ยนใหม่มาเป็นแนวทางของการที่จะเป็นผู้บริโภคแต่พอดี แล้วนำเอาเวลาของแรงงานไปใช้ในการทำหน้าที่ และกิจกรรมเพื่อพัฒนาชีวิตและพัฒนาสังคม

๙.      มีสติมั่นคง คือ ควบคุมตนเองได้ มีสำนึกในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบ ไม่ประมาท และเท่าทันเหตุการณ์รู้เท่าทันว่าอะไรอย่างไหนจะทำให้เกิดความเสื่อมความเสียหายก็ไม่ทำ อันไหนจะทำให้เกิดความเจริญดีงามก็ทำ ทำกิจกรรมต่างๆโดยมีความรอบคอบระมัดระวัง

๑๐.  มีปัญญาเหนืออารมณ์  คนจำนวนมากมักเอาอารมณ์ความรู้สึกนำหน้าในการแสดงออก หรือแสดงออกทางด้านอารมณ์ ควรเปลี่ยนเป็นว่าเอาวิจารณญาณมาเป็นตัวนำในการกระทำ นี้คือปัญญาของคนที่พึ่งตนเองได้

หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งตนเองได้นี้ เรียกว่า “นาถกรณธรรม”

 

๗. จุดมุ่งหมายของชีวิตมีความสำคัญต่อการแนะแนว

ผู้ที่ทำหน้าที่แนะแนวต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และจุดมุ่งหมายของชีวิต       ถึงจะสามารถดำเนินการการแนะแนวได้ดีและมีประสิทธิภาพ การแนะแนวเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาตนเองของบุคคล คนที่จะพัฒนาตนเองได้ มีปัญญา มีชีวิตที่ดี ควรรู้จุดหมายของชีวิต          การรู้จักจุดหมายของชีวิตก็เพื่อ

๑.      เพื่อจะได้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

๒.      เพื่อใช้สำรวจตนด้วยตนเอง และเพื่อจะได้มีความมั่นใจในตนเอง ในการที่จะพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นไป

พุทธศาสนาสอนว่า “ชีวิตที่ดีงามจะต้องดำเนินให้บรรลุถึงจุดหมาย ๓ ขั้น คือ

๑.      ประโยชน์ปัจจุบัน หรือ จุดมุ่งหมายที่มองเห็นของชีวิตนี้ คือ ประโยชน์ทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เช่น มีทรัพย์สินที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ทางสังคมก็มีเพื่อนฝูง รักใคร่ มีบริวาร มีสถานะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า เป็นประโยชน์เบื้องต้น

๒.      ประโยชน์เบื้อหน้า คือ มีชีวิตที่ดีงาม มีคุณค่า มีคุณธรรมความดี เป็นประโยชน์ ทำให้มีความมั่นใจในคุณค่าของชีวิตของตน เริ่มตั้งแต่เป็นผู้มีความประพฤติดีงาม มีปัญญารู้เข้าใจโลกและชีวิตพอสมควร ได้ทำความดีงามบำเพ็ญประโยชน์ไว้ เป็นความมั่นใจในคุณค่าของชีวิตของตนเอง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงโลกหน้าด้วย คือทำให้มีความมั่นใจในชีวิตเบื้องหน้า ไม่ต้องกลัวปรโลก จึงเป็นประโยชน์ระยะยาว ต่างจากข้อแรกที่เป็นประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้น

๓.      ประโยชน์สูงสุด คือ การมีจิตใจเป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต      หลุดพ้นจากความครอบงำของกิเลสและความทุกข์ สามารถทำจิตให้ปลอดโปร่งผ่องใส่ได้ทุกเวลา แม้จะมีอารมณ์เข้ามากระทบก็ไม่หวั่นไหว ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง แต่โปร่งโล่ง ปราศจากทุกข์ เป็นประโยชน์สูงสุด เรียกว่า ปรมัตถะ

รวมเป็นประโยชน์หรือจุดมุ่งหมาย ๓ ขั้น คือ

๑.      ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน ต่อหน้า ตาเห็นได้

๒.      สัมปรายิกัตถะ  ประโยชน์เบื้องหน้า ลึกล้ำ ระยะยาว

๓.      ปรมัตถะ         ประโยชน์สูงสุด หลุดพ้น เหนือกาล

อนึ่ง ถ้าแบ่งตามแนวราบ ประโยชน์นั้นจะแยกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑.      อัตตัตถะ  ประโยชน์ตน

๒.      ปรัตถะ    ประโยชน์ผู้อื่น

๓.      อุภยัตถะ  ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

 อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ตนเองก็ต้องทำให้ครบ ๓ ขั้น คือ ปัจจุบัน เบื้องหน้า และสูงสุด ส่วนประโยชน์ผู้อื่นก็ต้องช่วยให้เขาบรรลุได้ทั้ง ๓ ขั้น ขณะเดียวกันประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมทั้งรูปธรรม และนามธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งตนและผู้อื่น ส่งผลให้เกิดการพัฒนา เช่น กิจกรรมที่ดีงาม และวัฒนธรรมประเพณี ที่ส่งเสริมสติปัญญาและกุศลของชุมชนทั้งหมด สรุป จุดมุ่งหมายของชีวิตช่วยให้บุคคลได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเอง เกิดความมั่นใจในแนวทางและจุดหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแนะแนว

               

สรุป (Conclusions) 

          การแนะแนว เป็นกระบวนการช่วยเหลือให้บุคคลสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ด้วยการพัฒนาปัญญา สามารถนำปัญญามาใช้ในการแก้ไขปัญญาชีวิตของตนเองได้ด้วยตนเอง ซึ่ง จุดเริ่มต้นของการแนะแนวเกิดจากบุคคลที่ขาดปัญญา ขาดจิตสำนึกในการพัฒนาตน ขาดความมั่นใจในการพัฒนาตนเอง ไม่เชื่อมั่นในตนเอง         ไม่มองเห็นตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ฝึกได้ ขาดแรงจูงใจที่ถูกต้องต่อการพัฒนาตนเอง ขาดความรู้จักคิด “คิดไม่เป็น” และมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งลักษณะเช่นนี้ หากเกิดขึ้นกับบุคคลแล้วย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้บุคคลจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรที่ทำหน้าที่กระตุ้นเตือนและแนะแนววิธีการแก้ไข ปรับปรุงพฤติกรรมที่นำไปสู่การลดหรือแก้ไขปัญหานั้นด้วยการพัฒนาตนเอง เข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิตเพื่อเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ขณะเดียวกันผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้แนะแนวจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ความต้องการของมนุษย์และลักษณะของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนเองหรือเป็นที่พึ่งของตนเองได้ เพื่อจะได้นำมาสำรวจและวิเคราะห์ตัวตนของผู้ที่เกิดปัญหา (ผู้รับคำแนะแนว) ผู้ให้การแนะแนวจะต้องมีคุณลักษณะพิเศษจึงจะสามารถใช้กระบวนการแนะแนวให้เกิดประสิทธิภาพได้ คือ เป็นผู้น่ารักมีบุคลิกภาพที่ชวนให้เข้าหา เมื่อเด็กมีปัญหาเกิดความทุกข์ ก็อยากเข้าไปหาหรือเข้าไปปรึกษา “ปิโย” เป็นผู้น่าวางใจ หนักแน่น      น่าเคารพนับถือ น่าเชื่อถือ ทำให้รู้สึกว่าไม่มีภัยอันตราย อบอุ่นมั่นคงปลอดภัย “ครุ”เป็นผู้น่าเจริญใจ เป็นผู้มีภูมิรู้ มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง เป็นคนมีการศึกษาพัฒนาตนดีแล้ว “ภาวนีโย”เป็นผู้รู้จักพูดหรือพูดเป็น “วตฺตา”เป็นผู้ รู้จักฟัง หรือ ฟังเก่งมีความอดทนในการฟัง อดทนต่อการรับฟังปัญหา อดทดต่อการระบายความทุกข์ “วจนกฺขโม” เป็นผู้ที่สามารถอธิบายเรื่องที่ยากให้ง่ายได้ “คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา” และ เป็นผู้ที่ไม่ชักจูงบุคคลไปในทางที่ผิดหรือนอกเรื่อง คือ ขณะเดียวกันต้องมีทิศทางที่ชัดเจนในการแนะแนว โดยมีเป้าหมายและนำไปสู่จุดหมายซึ่งจะแก้ปัญหาได้ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง “โน จฎฺฐาเน นิโยชเย” รวมเป็น ๗ ประการ เรียกว่า คุณธรรมหรือองค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งเราใช้เป็นคุณสมบัติของครูโดยทั่วไป ซึ่งผู้ทำหน้าที่แนะแนวควรมีคุณสมบัติเช่นนี้เป็นพิเศษ

          “การพัฒนาตนเองโดยแนวทางและหลักการนี้ (ตามแนวพุทธศาสตร์)  เป็นสาระสำคัญของการที่จะช่วยให้บุคคลที่ประสบปัญหา มีความทุกข์ได้พัฒนาตนจนพึ่งตนเองได้ การพึ่งตนเองได้ก็คือ การปฏิบัติตามหลักที่ว่ามีปัญญาเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิต ไม่มีอวิชชาหรือตัณหาเป็นเครื่องดำเนินชีวิต เมื่อถึงขั้นนี้ก็จะเป็นการบรรลุจุดมุ่งหมายของการดำเนินชีวิตที่ดี” ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา เรากล่าวว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ”

 

กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements)

           บทความวิชาการฉบับนี้ เกิดจากความตั้งใจของผู้เขียนที่จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาการแนะแนวเชิงพุทธเพื่อประกอบการเรียนการสอน วิชา จิตวิทยาทาการศึกษาและการแนะแนวเชิงพุทธ (๖๒๑ ๑๐๒)นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ซึ่งบทความนี้สำเร็จลงได้ด้วยการศึกษาวิเคราะห์ประมวลและสรุปจากการบรรยายเรื่องพุทธศาสนากับการแนะแนว ของพระเดชพระคุณ                 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ณ วิทยาลัยครูสวนดุสิต (ปัจจุบัน คือ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต) เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑   

           เกล้า ขอกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณมา ณ ที่นี้ ขณะเดียวกัน ขออนุโมทนาขอบคุณ         หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย    ที่ได้เปิดโอกาสให้ได้ศึกษาค้นคว้าจนสามารถเขียนบทความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

เอกสารอ้างอิง (References)

          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ,พุทธศาสนากับการแนะแนว, หนังสือ,สรุปการบรรยายที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต (ปัจจุบัน คือ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต) เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑

 

ประวัติผู้เขียน

ชื่อ-นามสกุล : พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ (ดวงชัย), ดร.

ประวัติทางการศึกษา : Ph.D. in Psychology

การทำงาน : อาจารย์ประจำและนักวิจัย

ผลงานทางวิชาการที่ยอมรับ : งานวิจัยทางจิตวิทยา, พฤติกรรมศาสตร์, การท่องเที่ยว

ตำแหน่งหน้าที่, :  อาจารย์ประจำ

การทำงานปัจจุบัน : ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์

                        มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

(ที่มา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)