บทความวิชาการ
พระสงฆ์กับการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
14 ธ.ค. 59 | พระพุทธศาสนา
2394

ผู้แต่ง :: ดร.พุทธชาติ คำสำโรง

ดร.พุทธชาติ คำสำโรง (2556)

 

พระสงฆ์กับการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกัน

และแก้ไขปัญหายาเสพติด

Buddhist Monk Serving the Public to Prevent Away from Drug

 

ดร. พุทธชาติ  คำสำโรง: พธ.บ. (ศาสนา),

M.A (Indian Philosophy), Ph.D. (Philosophy)

 

บทคัดย่อ

 

               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาในชุมชนที่มีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้กำหนดเอาเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๙  จำนวน ๔ จังหวัดของภาคอีสาน เป็นพื้นที่ในการศึกษาโดยเลือกเอาหมู่บ้านที่มีพระสงฆ์เข้ามาร่วมช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติด จังหวัดละ ๑ หมู่บ้าน กลุ่มตัวอย่างคือประชาชนพระสงฆ์ผู้ที่ได้รับการอบรมด้านการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติดได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๘๐ ท่านนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาวิเคราะห์โดยหาค่าร้อยละ(percentage) ค่าเฉลี่ย (arithmetic mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation)    

               ผลการวิจัย พบว่า

               ๑.  สภาพการส่งเสริมเยาวชน และประชาชนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยภาพรวมและรายด้าน มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านโดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมา คือ บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามลำดับ

               ๒.  ปัญหาการส่งเสริมเยาวชน และประชาชนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยภาพรวมและรายด้านมีปัญหาอยู่ในระดับน้อยอยู่ ๑ ด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมา บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามลำดับ

               ๓.  ปัญหา อุปสรรค  และแนวทางแก้ไขปัญหาและป้องกันยาเสพติด มีแนวทางแก้ไขดังนี้ ควรส่งเสริมและมีการเข้าค่ายอบรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดีในสังคมและหลีกเลี่ยงปัญหายาเสพติด ควรแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนทราบและรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงยาเสพติด ควรแนะนำและชี้แนะให้เยาวชนรู้ถึงโทษเกี่ยวกับยาเสพติด ควรมีการเผยแพร่หลักการป้องกันยาเสพติดให้รู้ถึงโทษและภัย เพื่อป้องกันการระบาดของยาเสพติดสู่ชุมชน ควรมีกิจกรรมทางพุทธศาสนาโดยให้เยาวชนมีส่วนร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงยาเสพติดและเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดี และควรมีการจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรม และศีลธรรมให้กับเยาวชน

 

Abstract

 

              This research aims to study the problem in the community and play a role in preventing and solving drug problems. Process and how to prevent and solve drug problems and the problems and solutions to drug problems. Specified area, the ninth chapter 4 of the Eastern Province. The area of ​​study was selected village with a priest to help prevent and resolve drug each province four samples were monks who trained the youth and citizens in preventing and resolving drug. 80 The result of the information obtained from the questionnaires were analyzed by percentage (percentage) average (arithmetic mean) and standard deviation (standard deviation).

               The results showed that

               1. Conditions of youth and the public to prevent and solve drug problems as a whole and individual aspects. Levels at high level in all aspects. When considered in descending order by the average of the most to the least, the role of the clergy in the training mined to prevent and solve drug problems, followed by the role of the clergy in the prevention and resolution.  drugs, respectively.

               2. Problem youth and encouraging the public to prevent and solve drug problems. Overall, the problems and at a low level in one side and the little one is on the side.  In descending order according to the average of descending, the role of the clergy in the prevention and resolution of drug minor role in the training of the clergy and the moral issue of drugs, respectively.

               3. Problems and Solutions and drug prevention.  There are solutions. Should promote and encourage the training camps for young people in society and avoid drugs. News and young people should be aware of the campaign to prevent a serious drug problem and avoid drugs.  Advice and guidance to young people should be aware of the penalties for drug trafficking. The publisher should be aware of the penalty for drug prevention and disaster.  To prevent the spread of the drug into the community. Should religious activities by the youth to avoid drugs and to encourage young people to be good. And training should be moral. The moral to the youth.           

 

บทนำ

 

            ในประเทศไทยยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาของชาติอยู่ในขณะนี้ เพราะเยาวชนได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาเป็นเวลาช้านาน บางชนิดก็ให้ทั้งคุณและโทษ บางชนิดก็มีแต่โทษประการเดียว อยู่ที่การนำไปใช้ ปัจจุบันมียาเสพติดชนิดต่าง ๆ ในท้องตลาดมากกว่า ๑๒๐ ชนิด บางชนิดหาซื้อได้ง่าย ตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง ทำให้กลุ่มผู้ใช้ยามีอยู่หลายระดับในสังคมโดยมากผู้ติดยามักเริ่มด้วยความอยากรู้อยากลอง และความคึกคะนองเป็นส่วนใหญ่ สภาพแวดล้อม สังคม และค่านิยมในกลุ่มเป็นแรงผลักดันอีกชั้นหนึ่ง ประกอบกับหาซื้อได้ง่าย ทำให้จำนวนผู้ติดยาไม่ได้ลดน้อยลง ซึ่งล้วนก่อความเสียหายให้กับประเทศชาติทั้งสิ้น

               การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นพัฒนาด้านวัตถุจนเป็นเหตุให้การพัฒนาทางด้านจิตใจการพัฒนาคนและสังคมตามไม่ทันทำให้เกิดปัญหาทางสังคมติดตามมา มีองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งเอาหลักพุทธธรรมในทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโดยเฉพาะแนวทางสันติวิธีเน้นเอื้อเฟื้อ ความเมตตา ความเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ การมีส่วนร่วมในสังคม ฯลฯ ทั้งนี้โดยมุ่งให้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและความเป็นธรรมในสังคมไม่เบียดเบียนหรือเอารัดเอา เปรียบ มีน้ำใจต่อกัน ในด้านปัญหาของเด็กและเยาวชนในชนบทจะต้องเผชิญกับปัญหา         ต่าง ๆ มากมายไม่ว่าปัญหาด้านยาเสพติด การขาดคุณธรรมและจริยธรรมของเยาวชนทุกคนต้องตระหนักเพราะเด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรอันมีคุณค่าของสังคมที่ควรจะได้รับการทำนุบำรุง                                                                                           

 

อย่างดีที่สุด พยายามสร้างโอกาสในด้านการพัฒนาร่างกายและสติปัญญา (อภิชัย  พันธเสน, ๒๕๓๙ : ๒๖๖-๒๖๗)[๑]

               ปัจจุบันปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาของสังคมที่สำคัญมากที่สุดปัญหาหนึ่งและนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดได้มุ่งเข้าสู่นักเรียนนักศึกษาที่เป็นเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต ศักยภาพของเยาวชนหรือบุคคลในสังคมจะเป็นเครื่องชี้วัดอนาคตของประเทศชาติ หาใช่เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นไม่ แต่กลับเป็นทรัพยากรมนุษย์อันมีคุณค่าอย่างยิ่ง หากเยาวชนของชาติที่จะเป็นใหญ่ในอนาคตและเป็นกำลังสำคัญของชาติและสังคมไทยในอนาคตสังคมไทยจะพัฒนาต่อไปได้ย่างไร

               ด้วยการตระหนักถึงการมีส่วนช่วยชาติและสังคมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งกลายเป็นปัญหาหลักในหมู่เยาวชนของชาติ ทำให้ทุกหน่วยงานและกลุ่มบุคคลทุกหน่วยในสังคมต้องมาระดมสติปัญญา ความสามารถเพื่อช่วยกันแก้ปัญหายาเสพติดดังกล่าว แม้แต่พระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคลากรในพระพุทธศาสนาซึ่งแสวงหาหนทางความหลุดพ้นแห่งกองกิเลสอาสวะ ก็จะต้องเข้ามามีส่วนแก้ปัญหาเนื่องด้วยการช่วยเหลือประชาชน เยาวชนหรือช่วยชาติให้พ้นทุกข์ พระสงฆ์ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งพัฒนาจิตใจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาด้านวัตถุเห็นค่าวัตถุและจิตใจควรได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน การพัฒนาจิตใจโดยที่ไม่มีการพัฒนาวัตถุนั้นก็ทำได้เพียงในรูปของพิธีกรรมแต่ไม่สามารถยกระดับจิตใจของประชาชน เยาวชน ให้สูงขึ้นได้ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นยากที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่พร้อมในด้านการเป็นผู้นำทางด้านจิตใจซึ่งต่างจากพระสงฆ์ที่สามารถเป็นผู้นำด้ายการพัฒนาจิตใจได้ อย่างไรก็ตามการที่หาหนทางและวิธีการช่วยเหลือของพระสงฆ์ที่มีระเบียบปฏิบัติทางวินัยของพระสงฆ์กำกับดูแลอยู่แล้วเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพื่อที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน การใช้คำสอนตามหลักการของพระพุทธศาสนาน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการมีส่วนช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนและเยาวชน ทั้งปัญหาสิ่งเสพติดในชุมชน ปัญหาการขาดคุณธรรม จริยธรรมได้ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ยังเชื่อฟังคำสอนของพระสงฆ์ และน่าจะเป็นกลยุทธ์หรือวิธีการที่นำไปใช้อย่างเป็นระบบโดยพระสงฆ์ส่วนใหญ่การแก้ไขปัญหายาเสพติดก็อาศัยพระสงฆ์เข้าไปมีส่วนช่วยบ้าง แต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังและเป็นระบบสำคัญในการศึกษาวิจัยนี้

               คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาถึงบทบาทของพระสงฆ์กับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยการจัดการเข้าค่ายพุทธธรรมและการหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาชาติที่สำคัญในอนาคตต่อไป

            วัตถุประสงค์ของการวิจัย

               ๑.  เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาในชุมชนที่มีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

               ๒.  เพื่อศึกษาขั้นตอนและวิธีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

               ๓.  เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด

 

วิธีการวิจัย

            ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

               ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่  พื้นที่ในการศึกษาในแผนการวิจัยได้กำหนดเอาเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค ๙  จำนวน ๔ จังหวัด ของภาคอีสาน  คือ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดละ ๔  หมู่บ้าน แบ่งออกเป็น

               ๑.   พระสงฆ์ผู้ที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติดจังหวัดละ ๑ หมู่บ้าน ๆ ละ รวมเป็น ๔  หมู่บ้าน  ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง

            ๒.  พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับการอบรมด้านการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติดจังหวัดละ ๑  หมู่บ้าน ๆ ละ  ๑๐ ท่าน ๔ จังหวัด  รวมเป็น  ๔๐  ท่าน

            ๓.  พระสงฆ์ผู้ที่ช่วยกันทำหน้าที่ส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติดและเผยแพร่จำนวนจังหวัดละ ๑ หมู่บ้าน ๆ ละ ๑๐ ท่าน ๔ จังหวัด รวมเป็น ๔๐ ท่าน

            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยมีลำดับขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Check list) ตอนที่ ๒ แบบสอบถามเกี่ยวกับการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด  มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) ตามวิธีของ ลิเคิร์ท (Likert) ตอนที่ ๓ แบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด มีลักษณะเป็นแบบสอบถามปลายเปิด (Open end) 

 

            ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล 

               ข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือการวิจัยที่ได้นำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งที่เป็นแบบสอบถาม  ผู้วิจัยทำการตรวจสอบความสมบูรณ์แล้ว จะนำไปวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปในการวิเคราะห์  ดังนี้

               ๑.  การวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามโดยหาค่าความถี่ (Frequency) และค่าร้อยละ (Percentage)

            ๒.  วิเคราะห์สภาพการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยภาพรวม รายด้านและรายข้อ โดยหาค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงมาตรฐาน (S.D.) แล้วนำค่าเฉลี่ยมาเทียบกับเกณฑ์ต่อไปนี้  ดังนี้                  

               ๓.  วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยวิเคราะห์แบบเชิงพรรณนา (Descriptive analysis)

 

ผลการวิจัย

 

            ๑.  ผลการวิเคราะห์ ได้ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามเป็นพระสงฆ์และประชาชนในชุมชน ทั้งเพศชายและเพศหญิง จำนวน ๘๐ คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย  คิดเป็นร้อยละ ๓๗.๕๐ เพศหญิง คิดเป็นร้อยละ ๕๘.๗๕ อายุระหว่าง ๒๑-๓๐ ปีคิดเป็นร้อยละ ๕.๐๐ ระหว่าง ๓๑-๔๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๕๐  ระหว่าง ๔๑-๕๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๒๕ ระหว่าง ๕๑-๖๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๐๐ มากกว่า ๖๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๒๕ ศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ ๘๐.๐๐ ระดับการศึกษา ประถมศึกษาชั้นปีที่        ๔-๖ คิดเป็นร้อยละ ๔๘.๗๕ มัธยมศึกษาชั้นที่ ๓-๖ คิดเป็นร้อยละ ๓๖.๒๕อนุปริญญา คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๐๐ อาชีพรับราชการ คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๐๐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๑๑.๒๕ อาชีพค้าขาย คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๕๐ อาชีพเกษตร คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๕๐

               ๒.  ผลการวิเคราะห์สภาพการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยภาพรวม และรายด้าน มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านโดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย แสดงว่า บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมา คือ บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามลำดับปรากฏดังนี้

                     ๒.๑  บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยภาพรวมและรายข้อมีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากอยู่ ๖ ด้าน และระดับปานกลางอยู่ ๔ ด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ แสดงว่า ข้อที่มีระดับความคิดเห็นมากที่สุดคือ ข้อที่ ๑ พระสงฆ์มีการส่งเสริมให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมา คือข้อที่ ๑๐ พระสงฆ์ได้พัฒนาด้านจิตใจ (สมาธิ) เช่น ความเข้มแข็ง มั่นคงของจิตใจและสภาพจิตที่ดีงาม รวมทั้งความสุข และข้อที่มีระดับความคิดเห็นต่ำสุด คือ ข้อที่ ๗ พระสงฆ์มีบทบาทหน้าที่และช่วยเหลือเยาวชนเพื่อหลีกเลี่ยงยาเสพติด ตามลำดับ

                     ๒.๒  บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยภาพรวมและรายข้อ มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากอยู่ ๙ ด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ แสดงว่า ข้อที่มีระดับความคิดเห็นมากที่สุดคือ ข้อที่ ๕ พระสงฆ์ได้ส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้เยาวชน โดยการฝึกบำเพ็ญทางจิตภาวนา การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขยะในชุมชนของท่าน รองลงมา คือข้อที่ ๒ พระสงฆ์มีบทบาทและส่งเสริมให้เยาวชนรู้ถึงโทษภัยยาเสพติด และ ข้อที่มีระดับความคิดเห็นต่ำสุด คือ ข้อที่ ๘ พระสงฆ์มีบทบาทได้พัฒนาจิตสำนึกที่ดีงาม สำหรับการพัฒนาตนและสังคม ให้แก่เยาวชนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ตามลำดับ

               ๓.  ผลการวิเคราะห์ปัญหาการส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยภาพรวมและรายด้านมีปัญหาอยู่ในระดับน้อยอยู่ ๑ ด้านและระดับน้อย ๑ ด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย แสดงว่า บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมา บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามลำดับ

                     ๓.๑  บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยภาพรวมและรายด้านมีปัญหาอยู่ในระดับน้อยอยู่ ๑ ด้านและระดับน้อย ๑ ด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย แสดงว่า บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมา บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามลำดับโดยภาพรวมและรายข้อมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลางอยู่ ๘ ข้อ และระดับน้อย ๒ ข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อแสดงว่า ข้อที่มีปัญหามากที่สุดคือ ข้อที่ ๓ พระสงฆ์มีการส่งเสริมให้เยาวชนในชุมชนห่างไกลยาเสพติด รองลงมา คือข้อที่ ๔ พระสงฆ์เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และข้อที่มีปัญหาต่ำสุด คือ ข้อที่ ๑  พระสงฆ์มีการส่งเสริมให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามลำดับ

                     ๓.๒  บทบาทของพระสงฆ์ใน  ด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยภาพรวมและรายข้อ มีปัญหาอยู่ในระดับน้อยอยู่ ๙ ข้อ และมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลางอยู่ ๑ ข้อ เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ แสดงว่า ข้อที่มีปัญหามากที่สุดคือ ข้อ ๓ พระสงฆ์มีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รองลงมา คือข้อ ๒ พระสงฆ์มีบทบาทและส่งเสริมให้เยาวชนรู้ถึงโทษภัยยาเสพติด และข้อที่มีปัญหาต่ำสุด คือ ข้อ ๖ พระสงฆ์ปลูกฝังจริยธรรมให้เยาวชนมีเจตคติที่ดีต่อพระพุทธศาสนา ตามลำดับ

                ๔.  วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดเมื่อพิจารณารายด้านปรากฏ ดังนี้

                     ๔.๑  บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ข้อที่ควรดำเนินการสูงสุดคือ ข้อ ๓ ควรส่งเสริมและมีการเข้าค่ายอบรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดีในสังคมและหลีกเลี่ยงปัญหายาเสพติด รองลงมาคือ ข้อ ๒ ควรแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนทราบและรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงยาเสพติด และข้อ ๑ ควรแนะนำและชี้แนะให้เยาวชนรู้ถึงโทษเกี่ยวกับยาเสพติด ตามลำดับ

                     ๔.๒  บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ข้อที่ควรดำเนินการสูงสุดคือ ข้อ ๓ ควรมีการเผยแพร่หลักการป้องกันยาเสพติดให้รู้ถึงโทษและภัย เพื่อป้องกันการระบาดของยาเสพติดสู่ชุมชน รองลงมา คือ ข้อ ๒ ควรมีกิจกรรมทางพุทธศาสนาโดยให้เยาวชนมีส่วนร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงยาเสพติดและเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดี และข้อ ๑ ควรมีการจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรม และศีลธรรมให้กับเยาวชน

                        

ข้อเสนอแนะ

            ๑.  บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ควรส่งเสริมและมีการเข้าค่ายอบรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดีในสังคมและหลีกเลี่ยงปัญหายาเสพติด ควรแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนทราบและรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงยาเสพติด และควรแนะนำและชี้แนะให้เยาวชนรู้ถึงโทษเกี่ยวกับยาเสพติด

            ๒.  บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ควรมีการเผยแพร่หลักการป้องกันยาเสพติดให้รู้ถึงโทษและภัย เพื่อป้องกันการระบาดของยาเสพติดสู่ชุมชน ควรมีกิจกรรมทางพุทธศาสนาโดยให้เยาวชนมีส่วนร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงยาเสพติดและเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดี และควรมีการจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรม และศีลธรรมให้กับเยาวชน

 

เอกสารอ้างอิง

อภิชัย  พันธเสน.  แนวคิดทฤษฎีและภาพรวมการพัฒนา.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๓๙



                    [๑] อภิชัย  พันธเสน,  แนวคิดทฤษฎีและภาพรวมการพัฒนา,  (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง

แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๓๙), หน้า ๒๖๖-๒๖๗.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)