บทความวิชาการ
การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม : แนวคิดว่าด้วยทรัพย์สินส่วนกลางในสังคมสงฆ์
10 เม.ย. 61 | พระพุทธศาสนา
4105

ผู้แต่ง :: พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ,ดร.(ปรัชญา)

การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม : แนวคิดว่าด้วยทรัพย์สินส่วนกลางในสังคมสงฆ์



พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ,ดร.(ปรัชญา) (2558)

 

อาจารย์ประจำหลักสูตร  โครงการปริญญาโท  สาขาวิชาสันติศึกษา
                                          บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
Peace study, Graduate School, Mahachulalongkornrajavidyalaya University

 

           

บทคัดย่อ

            วัตถุผลผลิตหรือปัจจัย ๔  เป็นเป้าหมายของมนุษย์  มนุษย์เมื่อขาดแคลนปัจจัย ๔ ย่อมดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ดังนั้น  ระบบการเฉลี่ยแบ่งปันจึงมีความสำคัญพอ ๆ กับการสร้างและแสวงหา  พระพุทธเจ้าทรงนำระบบทรัพย์สินส่วนกลางมาใช้ในสังคมสงฆ์  เพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ป้องกันความขัดแย้ง แก่งแย่ง และการขาดแคลน  ทั้งยังเป็นแนวทางเพื่อสร้างความยุติธรรมหรือความเสมอภาคเท่าเทียมกันอีกด้วย

            คำสำคัญ: ทรัพย์สินส่วนกลาง, ของสงฆ์

            The output objects or 4 factors is the human’s target. When humans scarce 4 Factors, Life live with difficulty. Therefore, the average or share system was important as well as the creation and seeking. Buddha used central property system In Monk society for everyone is jointly owned, pevent conflict, competition, shortage. Outside It is a way to create justice or equality as well.

            Key words: central property,  Monk’ object

 

๑. บทนำ

            หลักการแนวคิดของการอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้องหรืออย่างสันติสุข  เป็นหลักการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ด้วยความบัญเอิญตามธรรมชาติ  แต่ตรงกันข้าม เป็นหลัการที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอื่น ๆ  เข้าสนับสนุนหรือเกื้อกูล  สังคมจะสันติสุขได้ส่วนหนึ่งมาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัย ๔  ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่จะขาดเสียมิได้ เพราะถ้าขาดแคลนในด้านปัจจัย ๔ เสียแล้ว กิจหน้าที่หรือการทำประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น  วัตถุปัจจัย ๔  จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งของการดำรงอยู่ของสังคมในทุก ๆ สังคม  ถ้าปัจจัย ๔  ขาดแคลนก็จะส่งผลให้การปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ดังพุทธดำรัสที่ตรัสว่า  ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง[๑]  แต่ถ้าเกิดมีมากเกินไปก็จะเกิดกิเลสตัณหา ดุจดังผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย   ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่  ดอกอ้อฆ่าต้นอ้อ  ลูกม้าอัสดร  ฆ่าแม่ม้า[๒]  ดังนั้น   การเฉลี่ยแบ่งปัน การจัดสวัสดิการหรือการจัดตั้งระบบการแบ่งปันวัตถุผลผลิตหรือปัจจัยสี่จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ในสังคม  เพราะระบบหรือรูปแบบจะช่วยให้ความมั่นใจหรือหลักประกันความมั่นคงของชีวิตและสังคมโดยรวม   โดยพื้นฐานของแนวคิดแล้วผู้วิจัยมองว่า วัตถุเป็นเป้าหมายของทุก ๆ คนหรือเป็นผลประโยชน์ในทุก ๆ ของสังคมมนุษย์   สังคมมนุษย์จึงควรจะต้องวางระบบหรือจัดการบริหารวัตถุหรือผลประโยชน์นั้นให้สอดคล้องและเหมาะสมเพื่อความสุขแก่ทุกๆ คนในสังคมนั้นๆ  ทั้งนี้ยังเพื่อป้องกันและลดความขัดแย้งในมิติของการเบียดเบียนกัน อีกทั้งยังเป็นช่องทางแห่งการสร้างสันติภาพที่เป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน  

            ในพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัจจัย ๔ และวิธีการใช้สอยปัจจัย ๔  ดังจะเห็นได้จากการบัญญัติพระวินัยเพื่อเป็นกรอบหรือเป็นระบบในรูปแบบที่แน่นอน     การใช้สอยปัจจัย ๔ ปรากฎในบริบทที่เรียกว่า ทรัพย์สินของสงฆ์   พระพุทธเจ้าทรงให้พระสงฆ์ใช้ของสงฆ์ร่วมกัน   เพื่อป้องกันความยากจนขัดสนหรือเดือดร้อนในเรื่องปัจจัยสี่  ทั้งยังสร้างความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมกัน   เพราะธรรมชาติมนุษย์ในระยะยาวย่อมเป็นไปได้ยากที่แต่ละคนจะเห็นอกเห็นใจกัน หรือพร้อมที่จะแบ่งปันความสุขโดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา  นอกจากนี้ระบบทรัพย์สินของสงฆ์ยังช่วยป้องกันชนวนเหตุของความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นตามมา   ดุจดังงูพิษที่หลุดจากที่ขังย่อมกัดหรือทำร้ายผู้อยู่ใกล้ได้

 

๒. พัฒนาการความคิดทางสังคมในสมัยพุทธกาล

            ธรรมชาติของมนุษย์โดยพื้นฐานมีความโลภหรือความเห็นแก่ตัว กล่าวคือ ความอยาก ความต้องการซึ่งเป็นเหตุที่นำไปสู่กระบวนการผลิต  การครอบครองกรรมสิทธิ์และการแลกเปลี่ยน  แม้กระทั้งการสรรหาตัวแทนบุคคลที่เรียกว่าเจ้าหน้าที่หรือรัฐ ส่วนหนึ่งก็มาจากความต้องการที่จะให้มีคนคอยควบคุมดูแลผลผลิตหรือผลประโยชน์ของตน  ดังนั้น ระบบโครงสร้างของสังคมและการเมืองจึงไม่ได้มีมูลเหตุมาจากการบันดาลจากพระเจ้า แต่ทั้งหมดมันถูกสร้างขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์[๓]  มนุษย์เป็นผู้สร้างระบบโครงสร้างของสังคมและการเมืองขึ้นซึ่งเรียกกันว่ามหาชนสมมติ  ราชาหรือกษัตริย์ เป็นต้น ทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวหรือความต้องการในวัตถุผลผลิต  และการปกป้องคุ้มครองภัยต่าง ๆ  ซึ่งได้พัฒนาไปสู่รูปแบบ องค์กร หรือสถานะเจ้าหน้าที่ ตลอดถึงสภาพการขูดรีด  การกีดกันและการเบียดเบียนในมิติต่าง ๆ   กล่าวคือ  มหาชนสมมติได้กลายมาเป็นสิ่งแปลกหน้าที่เข้ามารวบรวมอำนาจและผลประโยชน์  และพัฒนากลายเป็นระบบตำแหน่งหรือ     ชนชั้นวรรณะตามมาในที่สุด

           

๓. รากเหง้าของความขัดแย้ง  คือ ความต้องการในวัตถุผลผลิต

            พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิเสธความเชื่อของระบบชนชั้นวรรณะในมิติของอภิปรัชญาทั้งหมด  กล่าวคือ  พระพรหมไม่ได้เป็นผู้สร้าง  ไม่ได้เป็นผู้กำหนดหน้าที่ใด ๆ ในระบบชนชั้นวรรณะ   ไม่มีใครที่เกิดจากอวัยวะใด ๆ ของพระพรหม  ดังจะเห็นได้จากพัฒนาการของสังคมในอัคคัญญสูตร   สะท้อนให้เห็นว่าระบบโครงสร้างสังคมและการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งได้ตั้งอยู่บนหลักการแห่งความสมมุติ  กล่าวโดยรวมเป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากมนุษย์ด้วยกันเอง      ดังตัวอย่างแนวคิดเรื่อง วรรณะศูทรที่ไม่มีสิทธิในด้านสังคมและการเมือง  กล่าวคือ  ในด้านสังคมมีการห้ามศูทรพูด นั่ง  นอน กิน ดื่มแบบคุ้นเคยหรือตีเสมอกับวรรณะอื่น[๔]  ในด้านเศรษฐกิจห้ามศูทรทำงานหรือทำหน้าที่ของวรรณะอื่น  เพราะจะเป็นเหตุให้ได้รับทรัพย์สมบัติหรือมีความมั่นคง[๕] และในด้านการศึกษา  ห้ามศูทรศึกษาเล่าเรียนหรือฟังพระเวท   ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงโดยให้ผ่าร่างกายออกเป็น ๒ ซีก[๖]   การมีอยู่ของชนชั้นจึงเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ชนชั้นต่ำ   เพราะชนชั้นต่ำจะถูกลิดรอนสิทธิผลประโยชน์และถูกบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น  ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของสังคมจึงเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่เพื่อการเข้าถึงหรือครอบครองผลประโยชน์หรือผลผลิตโดยแท้  เพราะมนุษย์มีเป้าหมายหรือความต้องการในวัตถุผลผลิต  วัตถุผลผลิตจึงปัจจัยพื้นฐานของความขัดแย้ง

 

๔. การปฏิวัติสังคมด้วยพุทธสันติวิธี

            ปัญหาของสังคมในสมัยพุทธกาล  ส่วนหนึ่งมาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่าสังคมบางกลุ่มมีความเป็นอยู่อย่างสบาย  แต่ในขณะเดียวกันสังคมบางกลุ่มกลับทุกข์ยากลำบาก  ทั้งนี้เกิดจากโครงสร้างของสังคมที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบชนชั้นวรรณะ  พระองค์ได้ทำการปฏิรูปสังคมใหม่  วางระบบสังคมใหม่  เพื่อความเหมาะสมและเฉลี่ยความสุขให้ทั่วถึงกัน      แต่กลับพบว่าพุทธวิธีในการปฏิวัติหรือปฏิรูปสังคมนั้น   พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงทำลายล้างหรือบังคับสังคมเก่าในเชิงกายภาพ  คือ  บุคคล  สถานที่  เครื่องมืออุปกรณ์  แต่ทรงทำลายเป้าหมาย  หลักการหรือแนวคิดที่เป็นไปเพื่อการรับใช้หรือเชิดชูบูชาตัวบุคคลหรือพระพรหม  ทรงปฏิเสธคัดค้านแนวคิด  ความเชื่อ  ความศรัทธาหรือพิธีกรรมที่งมงาย  อีกทั้งพระองค์ก็มิได้เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับระบบโครงอำนาจของรัฐ   พระองค์ทรงปฏิวัติและปฏิรูปสังคมด้วยหลักการที่เป็นชุดความจริงแบบใหม่ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้หรือค้นพบด้วยพระองค์เอง  นั่นก็คือ  หลักศีลธรรมที่มีลักษณะแห่งสันติวิธี  และผลลัพธ์ของการปฏิวัติและปฏิรูปก่อให้เกิดสังคมและการเมืองแห่งธรรมะที่เรียกว่า    พุทธบริษัท  ๔ คือ ภิกษุ ภิกษณี อุบาสก อุบาสิกา  

 

๕. แนวคิดว่าด้วยทรัพย์สินของสงฆ์

            การปฏิวัติสังคมในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ปรากฎชัดมากที่สุด  คือ ระบบทรัพย์สินของสงฆ์  ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเหตุว่า ระบบทรัพย์สินของสงฆ์มีความแตกต่างไปจากสังคมดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง  เพราะเดิมทีนั้นทรัพย์สินหรือผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การถือครองหรือครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว  ใครหาได้เท่าไรก็เป็นของคนนั้น หรือผู้มีอำนาจในการปกครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว   พระพุทธเจ้าไม่ทรงนำระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวเหมือนอย่างระบบทรัพย์สินแบบอุบาสกอุบาสิกามาใช้กับสังคมสงฆ์   แต่ทรงนำระบบทรัพย์สินส่วนกลางซึ่งเป็นแนวคิดใหม่มาใช้ในสังคมสงฆ์   แนวคิดทรัพย์สินส่วนกลางเป็นแนวคิดใหม่  กล่าวคือ  เป็นแนวคิดที่มุ่งสร้าง     ความมั่งคงโดยปราศจากความกังวลในเรื่องปัจจัย  ๔  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาแห่งอิสรภาพมากขึ้น  เป็นแนวคิดที่ต้องการให้คนทำงานที่มุ่งผลของงาน  เป็นต้น  จากแนวคิดทำให้เกิดพฤติกรรมและรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่ปล่อยว่างได้ง่าย  กล่าวคือ ทำให้เกิดพฤติกรรมของการไม่แสวงหาเพื่อการสะสม  เป็นการมีใช้สอยเท่าที่จำเป็น  ซึ่งถ้ามีส่วนที่เหลือก็สละเข้ากองกลางเพื่อแผ่คนอื่นที่ยังขาดแคลน  แนวคิดดังกล่าวได้ปรากฎชัดในสังคมสงฆ์ เช่น  ภิกษุมีอัฏฐบริขารใช้เพียงเล็กน้อย   ๘  อย่างและเท่าที่จำเป็น[๗]   มีลหุภัณฑ์และครุภัณฑ์ที่เป็นทรัพย์สินกองกลางของสงฆ์ให้ยืมใช้ชั่วคราว[๘]   ไม่ให้สะสมส่วนเกินหรือครอบครองไว้เป็นสมบัติส่วนตัว  มีระบบกองคลัง   และตัวแทนสงฆ์ในการดูแลรักษาและแจกจ่ายแบ่งปัน[๙]

            เมื่อศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของสังคมสงฆ์   ผู้ศึกษาพบว่า  สังคมสงฆ์เป็นสังคมที่เริ่มต้นด้วยการสละทรัพย์สินส่วนตัวซึ่งเป็นการนับหนึ่งเท่ากันหมด  กล่าวคือ  ก่อนที่จะบวชต้องสละฐานะ  ยศ  ตำแหน่งหน้าที่ ความเป็นเครือญาติ  วงศ์ตระกูล และทรัพย์สมบัติส่วนตัวทิ้งให้หมด[๑๐]  ไม่มีครอบครัวหรือต้องสละบ้านเรือนออกมาบวช   มาเป็นผู้ไม่มีเรือน          เป็นอนาคาริก[๑๑]  และฝากชีวิตที่เหลือไว้กับสังคมสงฆ์ส่วนรวมที่มีการใช้สอยปัจจัย  ๔ เพียงเล็กน้อย        มีอัฏฐบริขาร ๘ อย่าง[๑๒]  และอาศัยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ  เป็นต้น  ซึ่งก็เพียงพอต่อความต้องการของชีวิตและการใช้สอยเท่าที่จำเป็น   ส่วนทรัพย์สินส่วนเกินที่ได้มาในภายหลังไม่ว่าจะเป็นลหุภัณฑ์หรือครุภัณฑ์[๑๓]  ก็ต้องสละเข้าไว้เป็นของกองกลางเพื่อให้สงฆ์รูปอื่นมีโอกาสได้ใช้สอยร่วมกัน   ดังนั้น  การใช้สอยปัจจัย ๔ ของสังคมสงฆ์เป็นการใช้ทรัพยากรเพียงเล็กน้อยจากสังคม  เพื่อการยังชีพและเพื่อให้มีส่วนที่เหลือทิ้งไว้แก่ส่วนรวม   เป็นการไม่เอาเปรียบสังคมด้วยการบริโภคมากเกินจำเป็น  

 

 

 

            ๕.๑ ประเภทของทรัพย์สินของสงฆ์

            ทรัพย์สินของสงฆ์  หมายถึง วัตถุสิ่งของที่ถวายแก่สงฆ์ทั่วไปทั้งหมด   เป็นของสงฆ์ทั้ง  ๔  ทิศโดยไม่เจาะจงให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง    เป็นการให้เพื่อให้ตกเป็นของส่วนกลางของสงฆ์  ซึ่งก็แล้วแต่สงฆ์จะตกลงใช้สอยร่วมกัน   ถ้าเป็นอาหาร   หมายถึง  อาหารของพระทั้งหลายทั้งปวง  ถ้าเป็นของใช้ หมายถึง ของใช้ของพระทั้งปวง    เมื่อเป็นของสงฆ์แล้วสงฆ์ไม่ใช้ ของนั้นก็ตกเป็นของวัดอื่น ๆ ต่อไป   โดยหลักการ ก็คือ ภิกษุสงฆ์เป็นผู้มีสิทธิ์และถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกัน  สิ่งของที่จะถวายเป็นทรัพย์สินของสงฆ์นั้นมีเป็นจำนวนมากตามหลักทานวัตถุ ๑๐ อย่าง[๑๔]  กล่าวโดยย่อ   ทรัพย์สินของสงฆ์มี  ๒  ประเภท คือ ครุภัณฑ์และลหุภัณฑ์  ได้แก่

            ๑. ลหุภัณฑ์   ของเบา   เช่น   บิณฑบาต   เภสัช   อัฏฐบริขาร  เป็นต้น  เป็นของที่แจกกันได้   โดยการแต่งตั้งภิกษุเป็นตัวแทนสงฆ์ในการแจก  เช่น  อัปปมัตตกวิสัชชกภิกขุ  เจ้าหน้าที่แจกเภสัชและบริขาร  เป็นต้น

            ๒. ครุภัณฑ์   ของหนักตามที่ท่านแสดงไว้ในพระบาลี  มี  ๕  หมวด คือ 

                             ๑.   พื้นดินและของปลูกสร้างเป็นอาราม   ตลอดจนต้นไม้ 

                   ๒พื้นดินและของปลูกสร้างเป็นวิหาร  กุฏิที่อยู่

                   ๓.  ของที่เป็นตัวเสนาสนะ เช่น  เตียงตั่ง  ฟูก  หมอน 

                   ๔. เครื่องโลหะที่เป็นภาชนะและเครื่องมือ เช่น หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ  มีดใหญ่   กะทะโลหะ   ขวาน  จอบหรือเสียม   สว่าน   

                             ๕เครื่องสัมภาระสำหรับทำเสนาสนะและเครื่องใช้  เช่น  หวาย ไม้ไผ่   หญ้ามุงกระต่าย  หญ้าปล้อง  หญ้าทั่วไป  ดินเหนียว  ของทำด้วยไม้[๑๕]

            ครุภัณฑ์นี้ห้ามแจกกันเป็นของส่วนตัว  ให้ตกเป็นของสาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อการใช้สอยร่วมกัน   ถ้าแจกให้เมื่อใช้แล้วต้องคืนหรือเอาสิ่งอื่นมาใช้แทน และปรับอาบัติถุลลัจจัยแก่ผู้ที่แจกเป็นของส่วนตัว   ภิกษุผู้ที่นำครุภัณฑ์ของสงฆ์  คือ  สิ่งของ  ๕  หมวดนี้  ไปสละหรือแจกให้คฤหัสถ์ถือว่าเป็นมหาโจร    ห้ามไม่ให้สละ  ห้ามไม่ให้แจกหรือยกให้เป็นสิทธิ์ขาด   ถือว่าน้อมลาภของสงฆ์ไปให้ผู้อื่น  ภิกษุที่กระทำดังกล่าวต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์   ยกเว้นการสละโดยของเลวแลกเปลี่ยนของดี  เพื่อประโยชน์ของสงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง   ซึ่งเรียกว่า  ผาติกรรม[๑๖] 

           

๕.๒  วิธีการแจกจ่ายแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์

            การแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์  ก็คือ การบริหารแบ่งบันจัดสรรปัจจัย ๔  ซึ่งต้องอาศัยกฎระเบียบในการจัดทำ  ในการเก็บรักษาและในการแบ่งสรร[๑๗] เป็นต้น  ในการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์นั้น  พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำการประชุมและตกลงกันในการเลือกวิหารคือกุฎีบางแห่งไว้สำหรับเก็บสิ่งของที่เป็นของสงฆ์ และแต่งตั้งภิกษุให้เป็นตัวแทนสงฆ์ในการดูแลรักษาและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์ให้เกิดความเท่าเทียมกัน   เช่น  ภิกษุการคลัง เรียกว่า ภัณฑาคาริกะ[๑๘]  ซึ่งตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์เพื่อการแจกจ่ายแบ่งปันนั้นมีปรากฎมากมายหลายชื่อ   ซึ่งภิกษุรูปเดียวอาจจะทำหน้าที่ตำแหน่งหลายอย่างพร้อม ๆ กันก็ได้   เช่น  เป็นทั้งภิกษุผู้มีตำแหน่งหน้าที่แจกยาคู เรียกว่า ยาคุรทชกภิกขุ  เป็นทั้งผู้แจกของขบเคี้ยว  เรียกว่า  ขัชชภาชกภิกขุ  เป็นต้น  โดยรวมแล้วตำแหน่งหน้าที่    สำคัญที่ปรากฎมีดังนี้

    ๑.  ผู้ดูแลแจกจ่ายเครื่องนุ่งห่ม  คือ  ผู้รับ  ผู้เก็บ  ผู้แจกจีวร  เรียกว่า  จีวรปฏิคคาหกภิกขุ และจีวรภาชกะ[๑๙] 

    ๒. ผู้ดูแลแจกจ่ายอาหาร คือ ผู้รับ  ผู้เก็บ  ผู้แจกภัตตาหาร เรียกว่า ภัตตุทเทสกภิกขุ[๒๐]    

            ๓. ผู้ดูแลแจกจ่ายเสนาสนะ คือ ผู้รับ  ผู้เก็บ  ผู้แจกเสนาสนะที่พักอาศัย  เรียกว่า  เสนาสนคาหาปกภิกขุ  และเสนาสนปัญญาปกภิกษุ[๒๑]

   ๔. ผู้ดูแลแจกจ่ายคิลานเภสัช  คือ  ผู้รับ  ผู้เก็บ  ผู้แจกคิลานเภสัช เรียกว่า  เภสัชชะภาชกะภิกษุ

  ทรัพย์สินที่ตกเป็นของสงฆ์   สังคมสงฆ์เท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการ   โดยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้สงฆ์ใช้อำนาจของตน   ด้วยการคัดเลือกภิกษุที่มีคุณสมบัติที่ดีให้เป็นผู้มีอำนาจเข้ามาทำหน้าที่แทนสงฆ์ในการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สิน  เพื่อรักษาสิ่งของของสงฆ์และทำการแจกจ่ายแบ่งปันอย่างยุติธรรม   เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน   ผู้ทำการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์นั้น  พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดคุณสมบัติไว้แตกต่างกันตามชนิดตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ   แต่ที่สำคัญหลัก ๆ จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ  ๕  ประการ คือ   

                   ๑.  ไม่ลำเอียงเพราะความชอบ

                  ๒. ไม่ลำเอียงเพราะเกลียดชัง

                  ๓. ไม่ลำเอียงเพราะงมงาย

                  ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว

                  ๕.  เป็นผู้ฉลาดและรู้จักสิ่งนั้นๆ  เป็นอย่างดี[๒๒]   

            ในส่วนข้อที่  ๕  ที่ว่าต้องเป็นผู้ฉลาดและรู้เข้าใจสิ่งต่าง ๆนั้น  มีความหมายกว้าง กล่าวคือ เป็นผู้รู้จักเลือก  เป็นผู้รู้จักวินิจฉัย[๒๓]  เป็นผู้รู้ประโยชน์  เป็นผู้รู้ธรรม[๒๔] เป็นผู้รู้ประมาณ[๒๕] เป็นผู้รู้กาล[๒๖] เป็นผู้รู้จริตบุคคล[๒๗]   เมื่อภิกษุผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสงฆ์ในการแจกจ่ายแบ่งปันทรัพย์สิน   การแจกจ่ายที่ยุติธรรมหรือการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันนั้นให้ถือว่าเป็นที่ยุติเด็ดขาดโดยชอบธรรมแล้ว  กล่าวคือ สงฆ์ทั้งหมดจะต้องยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่ของภิกษุนั้นแม้ว่าจะไม่พอใจก็ตาม    เพราะภิกษุที่เป็นตัวแทนสงฆ์ในการแจกจ่ายนั้นได้กระทำในนามของสงฆ์ทั้งหมด    ถ้ามีภิกษุบางรูปไม่พอใจมาทำการว่ากล่าวตำหนิติเตียนผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์    พระองค์ทรงได้บัญญัติพระวินัยลงโทษไว้ว่า  ภิกษุใดให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว  ถึงธรรมคือการบ่นว่าในภายหลังเป็นปาจิตตีย์ [๒๘]   

 

๖.  หลักการในการแจกจ่าย : ยึดความต้องการและความจำเป็น

            การจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์จะเน้นที่ความยุติธรรมเท่าเทียมกัน   ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข   ลักษณะ  สภาพความต้องการหรือสถานะความจำเป็นของผู้รับเป็นเหตุสำคัญ  กล่าวคือ  ความจำเป็นของบุคคลนั้น ๆ  เป็นเงื่อนไขสำคัญหลัก   แม้ว่าสงฆ์ทั้งหมดจะเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิ์ที่จะได้    แต่ก็ใช่ว่าจะได้รับตามสิทธิ์หรือตามที่ต้องการครบทุกรูป   เพราะถ้าภิกษุนั้นไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีเหตุผลเพียงพอก็ยังไม่มีโอกาสจะได้รับ โดยภาพรวมของการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์นั้นจะมีหลักปฏิบัติโดยย่อ  ดังนี้  

                   ๑.  ถ้าอาหารหรือจีวรมีมากพอที่จะแจกทั่วกันได้   ก็จะแจกให้ทั่วถึงกันทั้งหมด

                   ๒. ถ้าสิ่งของมีน้อย  ก็ต้องแจกตามลำดับพรรษา  หมดเพียงใด  ก็หยุดเพียงนั้น    ภายหลังถ้าได้รับสิ่งของเพิ่มมาอีกก็ให้แจกต่อลำดับถัดไป(จากภิกษุที่ได้รับไปก่อนแล้ว)

                   ๓. การแจกเภสัชที่เป็นอาหารก็แจกเหมือนอาหารตามความเป็นจริงของเวลา  เพราะติดกฎข้อจำกัดเงื่อนไขของวันเวลา  (สัตตาหกาลิกเก็บไว้ได้เพียง  ๗  วัน)   

                   ๔. เภสัชที่เก็บไว้ได้นานไม่ติดกฎเงื่อนไขของวันเวลา (ยาวชีวิก)  มีภิกษุเจ็บไข้อาพาธลงต้องการยาชนิดใดคงต้องจ่ายไปตามชนิดนั้น(ความจำเป็น,ผู้นั้นสมควรจะได้รับ)[๒๙]

            

๗.  คุณค่าและความสำคัญของแนวคิดว่าด้วยทรัพย์สินส่วนกลาง

            อิทธิพลของแนวคิดระบบทรัพย์สินส่วนกลางได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการเป็นอยู่หรือวิถีการดำเนินชีวิต  ตลอดถึงรูปแบบโครงสร้างของสังคงสงฆ์  ดังจะเห็นได้จากสังคมสงฆ์ต่างเป็นหลักประกันความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจให้แก่และกัน  แนวทางปฏิบัติว่าด้วยระบบทรัพย์สินส่วนกลางของสงฆ์ทำให้เกิดการคุณค่าที่น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อการนำระบบไปประยุกต์ใช้ในสังคมอื่น ๆ  เพราะระบบทรัพย์สินส่วนกลางได้สะท้อนคุณค่าหลายประการ กล่าวคือ

            ๑.ป้องกันความขัดแย้ง

            เนื่องจากวัตถุผลผลิตหรือปัจจัย ๔ เป็นเป้าหมายหรือเป็นที่ต้องการของทุกคน อีกทั้งยังมีจำนวนจำกัดและขาดแคลน ทั้งยังประกอบด้วยจำนวนของคนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างจากการเพิ่มของจำนวนภิกษุซึ่งได้เป็นสาเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องปัจจัย ๔ ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น กรณีพวกภิกษุอันเตวาสิก ของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จับจองวิหารที่นอนไว้เฉพาะพวกของตน[๓๐] พระพุทธองค์ทรงตำหนิ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่าเราอนุญาต ให้กราบไหว้ ให้ลุกรับ ให้ทำอัญชลีกรรม ให้ทำสามีจิกรรม  อาสนะอย่างดี  น้ำอย่างดี อาหารรสดี แก่ภิกษุที่มีพรรษามากที่สุดก่อนเป็นลำดับ[๓๑]  และในกรณีตัวอย่างปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีภิกษุต่างถิ่นจำนวนมาก เข้าไปขอพักอาศัยวัดใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นประจำซึ่งทำให้ภิกษุเจ้าถิ่นไม่พอใจและไม่อยากจัดที่พักให้[๓๒] และ ได้มอบเสนาสนะทั้งหมดให้กับภิกษุรูปหนึ่ง  เมื่อภิกษุต่างถิ่นผ่านมาขอพักอาศัย ภิกษุเจ้าถิ่นอ้างว่าไม่มีที่ให้พัก พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงตำหนิ  แล้วทรงตรัสสั่งห้ามไม่ให้นำของสงฆ์ให้บุคคลยึดครองเพียงผู้เดียว

            จากปัญหาตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าการครอบครอบเป็นของส่วนตัวหรือเก็บไว้เพื่อใช้เพียงคนเดียวได้สร้างปัญหาความขัดแย้งทั้งในส่วนของการแก่งแย้งกันและปัญหาด้านการขาดแคลน   ดังนั้น การที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดห้ามยึดครองไว้ใช้เพียงคนเดียว ทรงให้ยึดระบบของการใช้ร่วมกันหรือการให้สละเป็นของกองกลางจึงเป็นการลดความขัดแย้งกัน  และยังป้องกันความขัดแย้ง  ที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต  เพราะทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และวัตถุหรือปัจจัย ๔ นั้นมีเพียงพอต่อกันใช้สอยร่วมกันนั่นเอง  กล่าวโดยรวม สังคมสงฆ์ทั้งสังคมยังเป็นผู้มีสิทธิควบคุมและดำเนินการทรัพย์สิน   ภิกษุจะไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แบบเด็ดขาด   ทรัพย์สินของสงฆ์เป็นเพียงกรรมสิทธิ์แบบของยืมหรือให้ยืมใช้เพื่อทำประโยชน์ชั่วคราวเท่านั้น   แม้ว่าสังคมสงฆ์จะมีภิกษุเข้ามาทำหน้าที่แจกจ่ายแบ่งปัน   แต่ภิกษุนั้นก็เป็นเพียงตัวแทนสังคมสงฆ์ทั้งสังคมหรือเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกเท่านั้น   กล่าวคือ  คณะสงฆ์หรือบุคคลเหล่านั้นไม่ได้เข้ายึดครองหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เด็ดขาดในทรัพย์สิน  สังคมสงฆ์ทั้งปวงยังคงมีสิทธิ์  มีโอกาสหรือเป็นเจ้าของร่วมกันทุกรูปเช่นเดิม   อีกนัยยะหนึ่ง ก็เป็นวิธีการของการแบ่งปันหรือเฉลี่ยทรัพย์สินส่วนรวมเพื่อย้อนกลับไปเป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่กันและกัน   ดังนั้น  หากมีภิกษุใดต้องการจะครอบครองใช้สอย   ต้องการมากหรือน้อย  จำเป็นหรือรีบด่วนก็ต้องได้รับการอนุญาตหรือพิจารณายินยอมจากตัวแทนสงฆ์   โดยตัวแทนสงฆ์จะแบ่งปันตามหลักความต้องการของตัวบุคคลและความจำเป็น  ซึ่งก็สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ว่า  หลักความจำเป็น(ของเหตุผลทางวัตถุเท่านั้น)ได้เข้ามาแทนที่หลักศีลธรรม คือ การได้รับผลประโยชน์ทางวัตถุ[๓๓] 

             ๒. สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

            ในระบบของสังคมสงฆ์ ก่อนบวชจะต้องสละทรัพย์สินเงินทอง[๓๔]   เมื่อบวชแล้วก็จะต้องใช้สอยปัจจัย  ๔  เพียงเพื่อการยังอัตภาพให้เป็นไปได้เท่านั้น  ไม่ใช่บริโภคหรือใช้สอยเพื่อการบำรุงบำเรอให้ร่างกายสวยงาม หรือเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน[๓๕]   ปัจจัย ๔ ที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของสงฆ์  เรียกว่า อัฏฐบริขาร  ๘  คือ สบง จีวร  สังฆาฏิ  บาตร  มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ  เข็ม  ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ[๓๖]  แต่ในภายหลังทรงอนุญาตให้สงฆ์มีทรัพย์สินหรือสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ  ตามที่ทายกผู้มีจิตศรัทธาถวาย[๓๗]   ทั้งนี้ก็เพื่อการอนุเคราะห์  เพื่อการบำบัดทุกข์ และการแก้ไขปัญหาความยากลำบากต่อการปฏิบัติธรรม   นอกจากนี้การใช้สอยปัจจัย  ๔  ยังตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าการไม่สะสมส่วนเกินหรือการไม่ยึดถือไว้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว 

  ความเสมอภาคเท่าเทียมกันของการมีหรือการใช้ปัจจัย ๔ อย่างจำเป็น  เรียบง่าย  และเท่าเทียมกันของสังคมสงฆ์นั้นดูได้จากหลักเครื่องอาศัยของบรรพชิตที่เรียกว่า นิสัย  ๔  คือ  กล่าวคือ

            ๑. อาหาร   เป็นความจริงที่ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร[๓๘]          พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ภิกษุต้องแสวงหาอาหารจากชาวบ้านเป็นหลัก  คือ การบิณฑบาตขอคำข้าวอันหาได้ด้วยปลีแข้งมากที่สุดไม่เกิน ๓ บาตร  และจะต้องแบ่งปันให้กับผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน[๓๙]  การแสวงหาอาหารนั้นจะต้องเป็นไปแบบวันต่อวัน    ห้ามเก็บสะสมอาหารไว้ล่วงวันหรือค้างคืนตามหลักกาลิก ๔   อีกทั้งทรงห้ามอาหารที่เอ่ยปากขอและยังไม่ได้รับประเคน[๔๐]   

            ๒. เครื่องนุ่งห่ม    ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บเศษผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยซึ่งตกอยู่ตามพื้นดิน  เปื้อนฝุ่นไม่สะอาดมาเย็บตัดปะต่อกันเป็นผืนแล้วซัก  เย็บ  ย้อมเพื่อใช้เป็นจีวรนุ่งห่มได้  โดยหลักแล้วพระพุทธเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์ทำการสั่งสมไตรจีวรหรือเครื่องนุ่งห่มเกิน ๓  ผืน  ดังจะเห็นได้จากผ้าอดิเรกจีวรภิกษุครอบครองเกิน ๑๐  วันต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์[๔๑]  ซึ่งเป็นการบังคับให้ต้องสละเพื่อตกเป็นของสงฆ์ส่วนรวม

๓. ที่อยู่อาศัยหรือเสนาสนะ   พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุอาศัยอยู่ในป่า  โคนไม้  ภูเขา  ซอกเขา  ถ้ำ   ป่าช้า  ป่าชัฏ  ที่กลางแจ้ง  ลอมฟาง  เพื่อทำเป็นเสนาสนะสำหรับการบำเพ็ญจิตภาวนา   ภายหลังทรงอนุญาตที่อยู่อีก ๕ ชนิด คือ กุฏิวิหาร  อาคารเรือนมุง เรือนชั้น  เรือนโล้น[๔๒]   ซึ่งภิกษุสามารถอยู่อาศัยได้แต่ก็ยังนับว่าเป็นอติเรกลาภ  แม้จะเป็นอติเรกลาภทรงบัญญัติกำหนดขนาดความใหญ่โตของห้องไว้ยาวไม่เกิน ๑๒ คืบ กว้างไม่เกิน ๗ คืบโดยคืบพระสุคต   ถ้าสร้างให้ล่วงเกินประมาณเป็นสังฆาทิเสส[๔๓]   ที่อยู่อาศัยหรือเสนาสนะหรืออารามนี้เป็นสิ่งที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจะผูกขาดไว้เป็นสมบัติส่วนตัวไม่ได้   คณะก็ตาม   บุคคลก็ตาม   จะนำไปสละหรือยกให้แก่ภิกษุหรือผู้ใดผู้หนึ่งก็ไม่ได้   ถ้านำไปสละหรือแจก(ยกให้)ต้องอาบัติถุลลัจจัย[๔๔]  

            ๔. ยารักษาโรค   พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า  และยาที่ผสมด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย[๔๕]  เพื่อป้องกันมิให้เป็นการบำรุงบำเรอร่างกาย

            ๓. ความยุติธรรม

            หลักแนวคิดภายใต้ระบบทรัพย์สินส่วนกลาง  ได้ปรากฎสะท้อนการแบ่งปันทรัพย์สินของสงฆ์ที่เป็นไปด้วยความยุติธรรม  เพราะเป็นการปฏิบัติตามความจำเป็นและเหตุผลสมควรของแต่ละคนที่ควรจะได้รับ   ซึ่งหลีกเลี่ยงเกณฑ์การให้ด้วยขนาดหรือปริมาณของความต้องการที่อยากจะได้  ตัวอย่างของการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินส่วนกลางที่จัดได้ว่ามีความยุติธรรม  สามารถดูได้จากการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนสงฆ์ในสมัยพุทธกาล เช่น พระทัพพมัลลบุตร  ดังมีรายละเอียดดังนี้

             พระทัพพมัลลบุตรได้รับเอตักทัคคะในด้านภัตตุทเทสก์ คือ เป็นผู้มีหน้าที่รับ  จัดเก็บ  แจกภัตตาหารและเสนาสนปัญญาปกะ[๔๖]  สงฆ์ได้คัดเลือกหรือมอบหมายให้   พระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้ทำหน้าที่ในการจัดสรรแบ่งปันปัจจัย  ๔  ซึ่งท่านก็ได้มีวิธีปฏิบัติตามหลักคุณสมบัติ  ๕ ประการ[๔๗] กล่าวคือ

            ในด้านอาหาร   เมื่อมีผู้นิมนต์ฉันภัตตาหาร  ท่านจะจัดเฉลี่ยสงฆ์ให้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำดับวาระและตามความเหมาะสม[๔๘]  โดยพิจารณาเหตุผลด้านต่าง ๆ กล่าวคือ  การที่ภิกษุจะได้อาสนะที่ดี  ได้น้ำที่ดี  ได้อาหารที่ดีนั้นต้องเป็นไปตามลำดับอายุพรรษาของการบวช   วัยวุฒิ   คุณวุฒิ   และเป็นผู้มีความรู้จักคุ้นเคยกับเจ้าภาพ  บางครั้งในการแจกจ่ายภัตตาหาร  ท่านยังแจกจ่ายภัตตาหารโดยพิจารณาตามจริตความชอบของแต่ละรูป  และบางครั้งก็ใช้วิธีการจับสลากแล้วแจกภัต[๔๙]  โดยมีการคัดแยกและจัดแจกสิ่งของที่ประณีตก่อน   ส่วนสิ่งของที่ไม่ประณีตจะจัดแจกในรอบลำดับสุดท้าย   แต่สำหรับการแจกสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ  น้อย ๆ ที่มีจำนวนมากหรือไม่สำคัญ  เช่น  น้ำผึ้ง น้ำอ้อย  รองเท้า  เข็ม  มีดโกน   เศษผ้าขัณฑ์จีวร  ท่านจะแจกตามความต้องการของภิกษุ  แม้ภิกษุจะได้รับแจกแล้วแต่ถ้าต้องการเพิ่มอีกรอบ  ท่านก็แจกให้อีก  โดยไม่มีการแบ่งแยกเขาหรือเราด้วยคิดว่าจะให้เพียงเท่านี้หรือจะให้เฉพาะแก่ภิกษุนี้  ไม่ให้แก่ภิกษุนั้น

  ในด้านเสนาสนะ   ท่านยึดระบบการแจกตามระดับอายุพรรษา  มีวัยวุฒิคุณวุฒิอย่างไร   เป็นพระผู้ใหญ่หรือน้อย   เป็นผู้มีอุปการคุณหรือมีบทบาทหน้าที่ต่อสงฆ์มากน้อยเพียงใด   นอกจากนั้นยังจัดแจกตามจริตอุปนิสัยของภิกษุ  ที่มีความคิดเห็นและความรู้ที่คล้ายคลึงหรือความคุ้นเคยชอบพอกัน   กล่าวคือ   ภิกษุที่มีอัธยาศัยชอบด้านพระวินัย  พระสูตร  พระอภิธรรม  หรือบำเพ็ญฌานภาวนา เป็นต้น ก็จัดให้พักอยู่ใกล้ๆ กันหรือแยกห่างกันอยู่ในกรณีที่เห็นว่าจะรบกวนซึ่งกันและกัน[๕๐]  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคน จำนวนสถานที่หรือบริเวณว่ามีมากน้อยเพียงใด  

            ในกรณีพิเศษ  ท่านได้จัดเสนาสนะแยกไว้เฉพาะ  เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ภิกษุ  เช่น  ภิกษุอาพาธหรือแก่เฒ่าชรา  เป็นต้น ท่านก็จัดให้อยู่ใกล้คน  ใกล้ยา  ใกล้อาหารหรือสถานที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง   ในด้านอัธยาศัยท่านยังเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ให้คำปรึกษาอีกด้วย   โดยท่านจะชี้แจงแนะนำว่า นี่ที่ถ่ายอุจจาระ  นี่ที่ปัสสาวะ  นี่น้ำดื่ม นี่น้ำใช้  นี่คือกฎระเบียบกติกาสงฆ์  ควรเข้าเวลานี้  ควรออกเวลานี้[๕๑]  โดยภาพรวมถือว่าท่านได้ปฏิบัติตามธรรม เพราะท่านได้ทำให้สังคมสงฆ์เป็นสังคมที่มีความเมตตาต่อกัน   มีความยุติธรรมเท่าเทียมกัน   มีความสามัคคีและเคารพหรือสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน  โดยท่านได้ยึดหลักการทั้งความต้องการ (คุณสมบัติ)และความจำเป็น(เหตุผลสมควรที่จะได้รับ)ของตัวบุคคล   ซึ่งก็ขึ้นอยู่สภาพเงื่อนไขของบุคคลและลักษณะของทรัพย์สินนั้น ๆ  กล่าวคือ  สงฆ์ไม่ได้แจกจ่ายพร่ำเพรื่อให้ได้จำนวนเท่ากันหมดแบบตัวเลข  

โดยภาพรวม สังคมสงฆ์ได้จัดสรรแบ่งปันเพื่อให้ภิกษุได้ถือเอาสัดส่วนแต่พอดี  ให้เอาแต่เท่าที่จำเป็นจะใช้   ไม่ให้มีการเก็บสะสมเพื่อครอบครองเป็นของส่วนตัวหรือกอบโกยเอาส่วนเกิน       เพราะแนวคิดทรัพย์สินส่วนกลางเป็นแนวคิดว่าด้วยการทิ้งส่วนเกินไว้ให้สังคมหรือให้คนอื่นได้        ใช้ประโยชน์   ดังนั้น  ยิ่งส่วนเกินที่เป็นของสังคมสงฆ์มีมากเท่าใด   ก็ยิ่งทำให้สงฆ์ทุกรูปมั่นคงเท่านั้น  ดังพุทธดำรัสที่ตรัสว่า จุนทะ...  เท่าที่มีคณะเกิดขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้  เรายังไม่เห็นคณะอื่นแม้หมู่เดียว   ที่บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและความเลิศด้วยยศ   เหมือนภิกษุสงฆ์เลย... สมบูรณ์...   บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง   ไม่หย่อน   ไม่ยิ่ง... พระศาสดาประกาศ(วางหลักการและระบบ)ไว้ดีแล้ว[๕๒]   ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดหลักธรรมิกสังคมนิยมที่ว่า พระพุทธศาสนาไม่มีใครเอาส่วนเกิน  เอาแต่เท่าที่จำเป็นหรือพอดี  เพื่อว่าส่วนที่เหลือจากนั้นจะได้ตกไปเป็นของสังคม... เน้นสันโดษแสวงหาบริโภคเท่าที่จำเป็น[๕๓]  และการที่ทรัพย์สินส่วนกลางมีมากเพียงพอยังช่วยให้ระบบสังคมเดินต่อไปได้  คือ  สามารถจัดสรรแจกจ่ายเป็นสวัสดิการให้ทั่วถึงกัน  ให้ได้รับอย่างเท่าเทียมกันและ  ยั่งยืนได้  

            ๔.  ให้สำคัญต่อสังคมส่วนรวม

            ในสังคมสงฆ์ก็มีระบบการจัดการทรัพย์สินส่วนกลางที่เรียกว่า ของสงฆ์  เป็นอุดมคติของการน้อมนำเอาวัตถุทานหรือทรัพย์สินทั้งหมดให้ตกเป็นของสงฆ์ส่วนรวม   โดยพระสงฆ์ทั้งหมดต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน  ซึ่งก็ได้อิงอาศัยภาพลักษณ์ของความเป็นหมู่คณะ  ดังพุทธดำรัสที่ตรัสว่า  ทักษิณาที่ถวายในสงฆ์นั้นมีผลมาก  มีอานิสงส์นับไม่ได้  ประมาณไม่ได้[๕๔] กล่าวคือ สังฆทานในเชิงสังคมที่ไม่ใช่ตัวบุคคลนั้นย่อมได้บุญมาก   เพราะเป็นการเสียสละเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม  เคารพส่วนรวม   ซึ่งก็เหมือนกับการยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ส่วนตัว    เพราะผลที่ตามมาได้สะท้อนให้เห็นความเป็นเจ้าของร่วมกัน   การที่สงฆ์ทุกรูปเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์   ช่วยกันสร้าง  ช่วยกันปฏิบัติหรือช่วยกันดูแลรักษานั้นเป็นระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของสังคมหนึ่งเดียว   เป็นระบบการจัดการทรัพย์สินแบบเป็นก้อน ๆ เดียวทั้งสังคม   คล้าย ๆ กับหลักการของสหกรณ์ที่ไม่มีการแข่งขันและเป็นระบบ   

            ๕. ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

            สังคมสงฆ์ได้กลายเป็นสังคมที่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม[๕๕]  ปรากฎเป็นสังคมต้นแบบแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งในด้านสิทธิและโอกาส   กล่าวคือ   มีความเสมอภาคทางด้านเศรษฐกิจ   สังคมสงฆ์มีความเท่าเทียมกันในด้านเศรษฐกิจ   คือ ปัจจัย ๔  ซึ่งทุกคนก่อนที่จะบวชและหลังบวชจะต้องสละทรัพย์สินเงินทอง[๕๖] หรือต้องสละกรรมสิทธิ์ส่วนเกินให้ตกเป็นของสงฆ์ส่วนรวม   นอกจากนี้ยังมีวิธีแห่งการใช้สอยปัจจัย ๔   ที่มีลักษณะเหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่จะต้องได้มาด้วยการบิณฑบาตขอคำข้าว[๕๗]  ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีการอันแยบยลในการที่จะให้พระสงฆ์สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้โดยไม่ตกเป็นลูกจ้างสังกัดหรือเป็นลูกน้องบริวารของใครคนใดคนหนึ่ง,  เครื่องนุ่งห่มจะต้องใช้ผ้าบังสุกุลไม่เกิน ๓ ผืน[๕๘],   ที่อยู่อาศัยหรือเสนาสนะจะต้องไม่มีการผูกขาด กล่าวคือ ให้มีการใช้ร่วมกันและห้ามแจกแบ่งปันเป็นของส่วนตัว[๕๙]  และยารักษาโรค ที่ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า[๖๐]   จากข้อมูลดังกล่าว เราจะพบว่า วิถีชีวิตของพระสงฆ์เป็นการดำเนินชีวิตที่เป็นไปในทิศทางและรูปแบบเดียวกันหมด กล่าวคือ การมีหรือไม่มีซึ่งปัจจัย ๔ เป็นการมีหรือไม่มีแบบเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าคนนั้นจะเคยเป็นคนร่ำรวยหรือยากจนมาก่อนก็ตาม  เมื่อเข้ามาบวชแล้วสถานะทางเศรษฐกิจจะเหมือนกันหมด  ดังนั้น การใช้ระบบทรัพย์สินส่วนกลางจึงเป็นการปรับฐานทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละคนให้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน

            แนวคิดการจัดระบบทรัพย์สินส่วนกลาง  เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคมได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากวัตถุผลผลิตหรือปัจจัย ๔ มีจำนวนจำกัด  ถ้าปล่อยให้ทุกคนครอบครองเป็นของส่วนตัวก็ย่อมไม่เพียงพอสำหรับทุกคน  เมื่อปัจจัย ๔ ไม่เพียงพอย่อมเกิดการดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔  ย่อมเกิดการยื้อแย่งแข่งกันหรือเกิดการเบียดเบียนทำร้ายกัน และเกลียดชังกันตามมา  ดังนั้นแนวคิดการจัดการทรัพย์สินให้เป็นของสาธารณะหรือเป็นของส่วนรวมร่วมกัน ย่อมเป็นระบบหรือรูปแบบทางออกเพื่อการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมได้อีกรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งก็เห็นเป็นประจักษ์หรือเป็นตัวอย่างได้ในระบบหรือรูปแบบว่าด้วยทรัพย์สินของสงฆ์นั่นเอง  ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องประยุกต์ให้สอดคล้องกับลักษณะของแต่ละสังคมนั้น ๆ

 

 ๘. สรุปการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม : แนวคิดว่าด้วยทรัพย์สินส่วนกลางในสังคมสงฆ์

            เมื่อวัตถุเป็นเป้าหมายแห่งความต้องการของสังคม  สังคมก็มุ่งแก่งแย่ง แข่งขันกันเพื่อจะครอบครอบหรือเก็บไว้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้   ซึ่งนั้นก็เป็นเหตุให้ทรัพยากรหรือวัตถุผลผลิตขาดแคลนหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ  ตลอดถึงคนในสังคมบางส่วนถูกกีดกัน คือ ไม่มีสิทธิ์หรือไม่ได้รับการแบ่งปันโอกาสที่เท่าเทียมกัน   เมื่อเป็นเช่นนี้ความขัดแย้งในสังคมก็ย่อมเกิดขึ้นในไม่ช้า 

            พระพุทธเจ้าทรงเมื่อพระองค์มีโอกาสและอำนาจในการออกแบบหรือสร้างระบบสังคมใหม่ที่เป็นของตนเอง  พระองค์จึงสร้างสังคมสงฆ์ที่มีสิทธิ์มีอำนาจหน้าที่ที่ขึ้นต่อกันและกัน   ทรงมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อสังคมส่วนรวมเป็นหลักมากว่าการปกป้องสิทธิส่วนตัวของปัจเจกชน   กล่าวคือ  ทรงใช้ระบบรูปแบบทรัพย์สินส่วนกลาง  โดยให้สงฆ์ทุกรูปสละส่วนเกินให้ตกเป็นของส่วนกลางเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน    เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน  จึงจัดได้ว่า ระบบทรัพย์สินส่วนกลางของสงฆ์เป็นการปรับฐานเศรษฐกิจของแต่ละบุคคลให้เท่าเทียมกัน  และเป็นการสะท้อนระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของความเป็นสังคมหนึ่งเดียว  ที่มีการแจกจ่ายแบ่งปันกันตามความสามารถและตามความต้องการหรือความจำเป็นของแต่ละบุคคล    สังคมสงฆ์จึงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ  พร้อมทั้งความเสมอภาคทางด้านสิทธิและโอกาส  ลดความขัดแย้ง สร้างความสามัคคีได้จริงเพราะไม่ต้องแข่งขันกัน  สร้างวัฒนธรรมแห่งสันติสันสุขเพราะการแบ่งปันผลผลิตหรือปัจจัยสี่ตามความจำเป็น  และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นบนฐานของการเคารพ และการให้เกียรติแก่กันและกันแม้ว่าจะไม่รู้จักกันมาก่อนก็ตาม




บรรณานุกรม

 

คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย. ภิกขุปาฏิโมกข์ บาลีแปล.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๔.

กรุงเทพมหานคร มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.

ชาญ  กรัสนัยบุระ. ประวัติวัฒนาการความคิดสังคมนิยม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานครสุขภาพ

ใจ, ๒๕๔๕.

พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์ (สมาน พรหมอยู่/กลฺยาณธมฺโม). เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา.  พิมพ์ครั้ง

          ที่ ๓. กรุงเทพมหานครบริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๔๔.

พระครูบวรวิหารการ  (วินัย  วินโย).  คู่มือทำวัตรสวดมนต์ฉบับบวชบำเพ็ญพรต วัดมหรรณพา

          รามวรวิหาร.  พิมพ์ครั้งที่  ๓.  กรุงเทพมหานคร: อรุณการพิมพ์, ๒๕๕๕.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๗.  กรุงเทพมหานครมหาจุฬาลงกรณราช

          วิทยาลัย, ๒๕๔๑.

พระธรรมปิฎก (..ปยุตฺโต). สอนนาค - สอนฑิตชีวิตพระ - ชีวิตชาวพุทธ. กรุงเทพมหานคร

          บริษัทธรรมสาร จำกัด, ๒๕๔๒.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒.

          กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๒.

          กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.

พุทธทาสภิกขุ.  ธัมมิกสังคมนิยม.  กรุงเทพมหานครสุขภาพใจ, ๒๕๔๘.

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน). ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า. พิมพ์ครั้งที่ ๔.

          กรุงเทพมหานครมหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส.  วินัยมุข  เล่ม ๒ หลักสูตรนักธรรมชั้นโท.

          พิมพ์ครั้งที่ ๓๑. กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

โสภณ  ศรีกฤษดาพร.  ความคิดเรื่องมนุษย์ในพุทธปรัชญา.  กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัย

          กรุงเทพ, ๒๕๓๑.

เอ็จ  ณ ป้อมเพ็ชร์. พระพุทธศาสนาตอบลัทธิมาร์กซิสม์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานครมหา

          มกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐.

Max Muller F.. The Sacred Book of the East :  The Law of the Manu. Delhi: Motilal

          Banarsidass, 1970).

Max Muller F.. The Sacred Book of the East :  The Sacred Law of the Aryas. Delhi

          Motilal Banarsidass, 1969.

[ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.dhammathai.org/practice/practice3.php  [๒๖ ตุลาคม

          ๕๖]

 



[๑] ขุ.ธ. (ไทย)  ๒๕/๒๐๓/๙๕.

[๒] วิ.จู. (ไทย)  ๗/๓๓๕/๑๘๐.

[๓] ชาญ  กรัสนัยบุระ, ประวัติวัฒนาการความคิดสังคมนิยม, พิมพ์ครั้งที่  ๒, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๕), หน้า ๔๘-๕๐.

[๔]Max Muller F., The Sacred Book of the East : The Sacred Law of the Aryas, (Delhi: Motilal Banarsidass, 1969), p. 167., p. 239.

[๕] Max Muller F., The Sacred Book of the East : The Law of the Manu, (Delhi: Motilal Banarsidass, 1970), p.430.

[๖] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๗,  (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า 

[๗] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, (กรุงเทพฯ:มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑), หน้า  ๑๗๔-๑๗๕.

[๘]วิ.มหา (ไทย)  ๑/๑๙๕/๑๘๑,  วิ.ม  (ไทย)  ๕/๓๖๙/๒๔๕,  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส,  วินัยมุข  เล่ม ๒ หลักสูตรนักธรรมชั้นโท, พิมพ์ครั้งที่ ๓๑, (กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๔๒-๑๔๔.  

[๙] วิ.ม. (ไทย) ๕/๓๔๒/๒๐๓,  วิ.จู. (ไทย) ๗/๓๑๗/๑๓๕.

[๑๐] ที.สี (ไทย)  ๙/๑๙๔/๖๕-๖๗,  ม.อุ. (ไทย)  ๑๔/๑๔/๑๙-๒๒.

[๑๑] สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน), ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๒-๓,  พระธรรมปิฎก (..ปยุตฺโต), สอนนาค - สอนฑิต : ชีวิตพระ - ชีวิตชาวพุทธ, (กรุงเทพฯ : บริษัทธรรมสาร จำกัด, ๒๕๔๒), หน้า  ๔-.

[๑๒] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์,  พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, (กรุงเทพฯ:มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑), หน้า  ๑๗๔-๑๗๕.

[๑๓] วิ.มหา  (ไทย)  ๑/๑๙๕/๑๘๑,  วิ.ม (ไทย) ๕/๓๖๙/๒๔๕, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส, วินัยมุข (เล่ม ๒) หลักสูตรนักธรรมชั้นโท, หน้า  ๑๔๒-๑๔๔.  

[๑๔] ทานวัตถุ ๑๐  วัตถุควรแก่การให้ทาน คือ  ภัตตาหาร น้ำ  ผ้า  ยานพาหนะ  ดอกไม้  ของหอม      เครื่องลูบไล้  เครื่องที่นอน  ที่อยู่อาศัย  ประทีปโคมไฟ, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.dhammathai.org /practice/practice3.php   [ ๒๖  ตุลาคม  ๕๖]

[๑๕] วิ.มหา  (ไทย)  ๑/๑๙๕/๑๘๑,  วิ.ม  (ไทย)  ๕/๓๖๙/๒๔๕.  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส,  วินัยมุข เล่ม ๒, หน้า ๑๔๒-๑๔๔.  

[๑๖] สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส,  วินัยมุข เล่ม ๒ , หน้า ๑๔๕-๑๕๓.

[๑๗] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม, หน้า  ๔๔๘-๔๔๙.

[๑๘] วิ.ม. (ไทย)  ๕/๓๔๓/๑๔๔.

[๑๙] วิ.ม. (ไทย)  ๕/๓๔๒-๓๔๓/๑๔๓-๑๔๕.

[๒๐] วิ.ม. (ไทย)  ๕/๓๔๓/๑๔๔,  วิ.มหา. (ไทย) ๑/๓๘๐-๓๘๑/๔๑๒-๔๑๓,  วิ.ป. (ไทย) ๘/๔๖๓/๖๖๒ - ๖๖๓.

[๒๑] อง.ปญฺจก. (ไทย)  ๒๒/๒๗๓/๔๐๑,  วิ.จู. (ไทย)  ๖/๑๘๙-๑๙๒/๒๒๒-๒๒๕. 

[๒๒] วิ.ม. (ไทย) ๕/๓๔๒/๒๐๓,  วิ.จู. (ไทย) ๗/๓๑๗/๑๓๕.

[๒๓] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต),  พุทธศาสนากับสังคมไทย, หน้า  ๔๙.

[๒๔] รู้ธรรมคือ   สุตตะ  เคยยะ  เวยยากรณะ  คาถา  อุทาน  อิติวุตตกะ  ชาตกะ  อัพภูตธรรม  เวทัลละ     อง.สตฺตก. (ไทย)  ๒๓/๖๘/๑๔๓.

[๒๕] เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับจีวร  บิณฑบาต   เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

[๒๖] เป็นผู้รู้กาล คือ รู้จักกาลว่านี้เป็นกาลแห่งอุทเทส  นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา  นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร    นี้เป็นกาลหลีกเร้น

[๒๗] จริต ๖  คือ ราคจริต  โทสจริต  โมหจริต  สัทธาจริต  พุทธิจริต   วิตกจริต,  พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม, หน้า  ๘๕๓-๘๕๔

[๒๘] คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย, ภิกขุปาฏิโมกข์ บาลีแปล,  พิมพ์ครั้งที่ ๑๔, (กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔), หน้า ๑๙๓.

 [๒๙] สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส, วินัยมุข เล่ม ๒, หน้า  ๑๔๒-๑๔๓.

 [๓๐] วิ.จู.(ไทย) ๗/๓๑๐/๑๒๑.

 [๓๑] วิ.จู.(ไทย) ๗/๓๑๐-๓๑๑/๑๒๑ - ๑๒๖.

 [๓๒] วิ.จู.(ไทย) ๗/๓๒๒/๑๔๓.

[๓๓] เอ็จ  ณ ป้อมเพ็ชร์, พระพุทธศาสนาตอบลัทธิมาร์กซิสม์, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐), หน้า ๑๓.

[๓๔] ที.สี (ไทย)  ๙/๑๙๔/๖๕-๖๗,  ม.อุ. (ไทย)  ๑๔/๑๔/๑๙-๒๒.

[๓๕] พระครูบวรวิหารการ  (วินัย  วินโย),  คู่มือทำวัตรสวดมนต์ฉบับบวชบำเพ็ญพรต วัดมหรรณ      พารามวรวิหาร,  พิมพ์ครั้งที่  ๓,  (กรุงเทพฯ:อรุณการพิมพ์, ๒๕๕๕), หน้า  ๒๒๒-๒๒๔.

[๓๖] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์, หน้า  ๑๗๔-๑๗๕.

[๓๗] กรณีห้ามพระรับ แลกเปลี่ยน จับต้องเงินและทอง  วิธีแก้ไขถ้าภิกษุรับมาแล้วต้องสละทิ้งท่ามกลางสงฆ์และอาศัยฆราวาสที่เรียกว่ากัปปิยการกหรือไวยาวัจกรมาทำหน้าที่เปลี่ยนไห้เป็นปัจจัย ๔ ที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค,  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์,  หน้า  ๓๙, ๓๕๐, ๔๘๗.

[๓๘] สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา  สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง  ดำรงอยู่ด้วยอาหาร  มีทั้งหยาบและละเอียด  คือ  กพฬิงการาหาร  ผัสสาหาร  มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร,  ที.ปา. (ไทย)  ๑๑/๓๐๓/๒๕๑.

[๓๙] วิ.มหา. (ไทย)  ๒/๒๓๒/๓๙๐.

[๔๐] กาลิก ๔ คือ ยาวกาลิก เช้าถึงเที่ยง,  ยามกาลิก วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง, สัตตาหกาลิก ภายในเวลา ๗ วัน,  ยาวชีวิก ไม่จากัดเวลา,  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์,  หน้า ๒๐,  วิ.มหา. (ไทย) ๒/๒๖๓/๔๑๕.

[๔๑] วิ.ป. (ไทย)  ๘/๑๖๒/๑๒๘.

[๔๒] พระอุทยานเวฬุวันที่พระเจ้าพิมพิสารถวาย, สวนมะม่วงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่หมอชีวกโกมารภัจถวาย,   พระเชตะวันพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีถวาย,  และบุพพารามพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาถวาย   ทั้งหมดถวายเป็นทรัพย์สินของสงฆ์เพื่อให้ใช้สอยอาศัยอยู่ร่วมกัน  ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าพักอาศัย   มิได้ผูกขาดว่าเป็นของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง   ดังที่ทรงตรัสแก่อนาถบิณฑิกว่า ท่านจงจัดถวายเชตวันแก่สงฆ์จากทิศทั้ง  ๔  ผู้มาแล้วและยังไม่มา,  วิ.จู. (ไทย) ๗/๒๙๔/๘๙–๙๑,  วิ.จู. (ไทย) ๗/๓๑๕/๑๓๐, วิ.ม. (ไทย) ๔/๕๙/๗๑.   

[๔๓] ในปัจจุบันถือตามมาตราวัดเป็นเมตร คือ ๑ คืบพระสุคตเท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร ๒ คืบพระสุคตเท่ากับ ๕๐ เซนติเมตร หรือ ๑ ศอกช่างไม้ ดังนั้น ๑ เมตรจึงเท่ากับ ๔ คืบพระสุคตหรือ ๒ ศอกช่างไม้, วิ.มหา. (ไทย) ๑/๓๔๒-๓๔๘/๓๗๘-๓๘๓,  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์,  หน้า  ๓๑๓-๓๑๕.

[๔๔] สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส, วินัยมุข  เล่ม ๒ หลักสูตรนักธรรมชั้นโท, หน้า  ๑๔๓-๑๔๖ .

[๔๕] คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร  คือ เภสัชทั้ง  ๕  ได้แก่  เนยใส  เนยข้น  น้ำมัน  น้ำผึ้ง  น้ำอ้อย            เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุเจ็บไข้  จัดว่าเป็นบริขาร  คือ  บริวารของชีวิตดุจกำแพงล้อมพระนครเพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธ  และคอยประคับประคองชีวิตให้ดำรงอยู่ได้นาน  เป็นเครื่องบำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนาเนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป,   ม.มู.อ.  ๑/๑๙๑/๓๙๗,  ม.มู.ฏีกา  ๑/๒๓/๒๑๓,  สารตฺถ.ฏีกา  ๒/๒๙๐/๓๙๓,  สารตฺถ.ฏีกา  ๒/๒๙๐/๓๙๓,  ม.มู.อ.  ๑/๑๙๑/๓๙๗,  ม.มู.ฏีกา  ๑/๒๓/๒๑๓,  สารตฺถ.ฏีกา  ๒/๒๙๐/๓๙๓.

[๔๖] วิ.มหา. (ไทย)  ๑/๓๘๐ - ๓๘๓/๔๑๒ – ๔๑๕,   องฺ.จตุกฺก. (ไทย)  ๒๑/๒๐/๓๑ – ๓๒.

[๔๗] คุณสมบัติ ๕ คือ ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ไม่ลำเอียงเพราะชัง ไม่ลำเอียงเพราะหลง ไม่ลำเอียงเพราะกลัว  รู้จักเสนาสนะที่จัดสรรแล้วและยังมิได้จัดสรร,  วิ.ม. (ไทย) ๕/๓๔๒/๒๐๓,  วิ.จู. (ไทย) ๗/๓๑๗ /๑๓๕. 

[๔๘] พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์ (สมาน พรหมอยู่/กลฺยาณธมฺโม), เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๔๔), หน้า ๑๔๔-๑๔๗.

[๔๙] วิ.จู. (ไทย)  ๗/๓๒๖/๑๕๕.

[๕๐] วิ.จู. (ไทย) ๖/๑๙๑/๓๐๑ - ๓๐๒.

[๕๑] วิ.จู. (ไทย) ๖/๑๙๑/๓๐๓.

[๕๒] พระจุนทะสมณุทเทส  หมายถึง พระเถระผู้นี้เป็นน้องชายของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร และเป็นสัทธิวิหาริกของพระอานนท์,  ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๗๖/๑๓๖,  ที.ปา.อ.  ๑๖๔/๙๕.

[๕๓] พุทธทาสภิกขุ,  ธัมมิกสังคมนิยม,  (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๘), หน้า ๓๐-๓๓, ๑๐๒,๑๔๔.

[๕๔] การถวายทานในสงฆ์ ๗ ประการ  คือ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข, ในสงฆ์  ๒  ฝ่าย, ในภิกษุสงฆ์, ในภิกษุณีสงฆ์,  ขอตัวแทนจากภิกษุและภิกษุณี,  ขอตัวแทนจากภิกษุ,  ขอตัวแทนจากภิกษุณี,   ม.อุ. (ไทย)  ๑๔/๓๘๐/๔๒๙-๔๓๐,  ขุ.วิ. (ไทย)  ๒๖/๗๕๓/๘๘.

[๕๕] โสภณ  ศรีกฤษดาพร,  ความคิดเรื่องมนุษย์ในพุทธปรัชญา,  (กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ๒๕๓๑), หน้า  ๑๘๗. 

[๕๖] ที.สี (ไทย)  ๙/๑๙๔/๖๕-๖๗,  ม.อุ. (ไทย)  ๑๔/๑๔/๑๙-๒๒.

[๕๗] วิ.มหา. (ไทย)  ๒/๒๓๒/๓๙๐.

[๕๘] วิ.ป. (ไทย)  ๘/๑๖๒/๑๒๘.

[๕๙] สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส, วินัยมุข (เล่ม ๒)หลักสูตรนักธรรมชั้นโท,  หน้า  ๑๔๓-๑๔๖.

[๖๐]ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗,  ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓,  สารตฺถ.ฏีกา  ๒/๒๙๐/๓๙๓,  สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓,  ม.มู.อ.  ๑/๑๙๑/๓๙๗,  ม.มู.ฏีกา  ๑/๒๓/๒๑๓,  สารตฺถ.ฏีกา  ๒/๒๙๐/๓๙๓.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)