บทความวิชาการ
การพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมโดยอาศัยหลักสามัคคีธรรม
26 ก.ย. 61 | พระพุทธศาสนา
14115

ผู้แต่ง :: รุ่งทิพย์ กล้าหาญ และคณะ

การพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมโดยอาศัยหลักสามัคคีธรรม Self – Development base on Principle of Unity Buddhism รุ่งทิพย์ กล้าหาญ: ศษ.บ, ศษ.ม. (การศึกษานอกระบบ) บรรชร กล้าหาญ: ทษ.บ. (เทคโนโลยี), ศษ.บ., ศษ.ม. (การศึกษานอกระบบ) บทคัดย่อ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมโดยอาศัยหลักสามัคคีธรรมสำหรับนักศึกษาอาชีวเกษตร ซึ่งเป็นนักเรียนอาสาสมัคร จำนวน ๓๐ คน ที่ศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ ๓ (ปวช.๓) สังกัดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๐ สำหรับเครื่องมือประกอบด้วย แผนกิจกรรมการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมที่สร้างตามแนวคิดกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันจำนวน ๑๐ แผน แบบสังเกตพฤติกรรม แบบบันทึกวิเคราะห์การตนเอง: วันนี้ที่ฉันเป็น และวิถีพัฒนาตน โครงการทำดีเพื่อแผ่นดิน และแบบวัดผลสัมฤทธิ์การพัฒนาตนเองตามหลักสามัคคีธรรม ดำเนินการเก็บรวบรวมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการวิเคราะห์ผลแบบวัดผลสัมฤทธิ์ด้วยใช้สถิติพื้นฐานคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า Paired Sample test พร้อมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสังเกตพฤติกรรม การสะท้อนความคิด การบอกเล่าบันทึกการวิเคราะห์และพัฒนาตนเอง ตลอดจนผลการดำเนินงานเชิงประจักษ์จากโครงการทำดีเพื่อแผ่นดิน ผลการวิจัยพบว่า หลังจากการร่วมกิจกรรมการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมโดยอาศัยหลักสามัคคีธรรม ที่สื่อผ่านเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การพัฒนาตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ โดยมีระดับค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านสามัคคีธรรมหลังร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนร่วมกิจกรรม ดังนี้ ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งพบว่า ภายหลังร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองด้วยเทคนิคกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความซื่อสัตย์สุจริตในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๔๕ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความรับผิดชอบ ซึ่งพบว่า ภายหลังร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๖๑ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความยุติธรรม ซึ่งพบว่า ภายหลังร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความยุติธรรมในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๖๔ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความสามัคคี ซึ่งพบว่า ภายหลังร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความสามัคคีในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๕๕ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความเมตตา ซึ่งพบว่าภายหลังร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความเมตตาในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๔๓ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ นอกจากนี้ยังพบว่า ภายหลังร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ต่อตนเองและสังคม โดยมีการนำเสนอความคิดอย่างเป็นระบบชัดเจน ครอบคลุมประเด็นคำถาม มีการแสดงความคิดเชิงวิเคราะห์ อ้างอิงหลักการ และมีมุมมองเชิงสร้างสรรค์ต่อการแก้ไขปัญหาสังคม ทั้งนี้เป็นลักษณะการพัฒนาโดยลำดับนับจากการเข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งยังปรากฏว่า นักเรียนได้มีการขยายข่ายความดีชักชวนเพื่อนในสถานศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทำดีเพื่อแผ่นดิน จำนวน ๕ โครงการ ได้แก่ โครงการชวนเพื่อนพี่น้องทำดี โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการอาสาเกษตร โครงการค่ายอาสาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตป้องกันสารเสพติดสำหรับน้องพื้นที่สูง และโครงการชวนเพื่อนเข้าวัด โดยสรุป การใช้หลักสามัคคีธรรมที่เรียนรู้ผ่านเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันสามารถทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรม ซึ่งแสดงออกทั้งการคิด การพูด และการกระทำ Abstract This research had been a quasi experimental research or the semi-experimental research which had the objective of studying the self development through the principle of samaggidhamama (Harmony). The experimental samples consisted of 30 Agriculture vocational students who were the third year students enrolled for vocational certificate level (Powocho-3) in the academic year 2007, the Chiangmai Agriculture and Technology College. The research tools were composed of a 10-page self-development program through Buddhist philosophical activities for the future lifestyle concept, a behavioral observation form, a self-analytical record: What I am today and self-development pathway; the project for doing things for the country, and self-evaluation on the achievement of the self-development through the Buddhist way of life. The data collection was done through quantitative and qualitative methods, and the basic analysis was carried out in order to get the following statistical values: percentage the average, and Standard Deviation (S.D.) as well as the paired sample t-test. The qualitative analysis was carried out through the method of behavioral observation, thought reflection, and the story-telling according to the analytical self-development records. In short, the data processing process was carried out owing to the doing good things for the society project. It was found that after having participated in the Buddhist self-development project through the utilization of the unity principles of Buddhism and the usage of mass communication on the future construction process, the students seemed to have achievement on the self-development process which was statistically significant at 0.05 level and the average score of the unity principles after the participation was higher than the score before the participation in the Buddhist activities in the following details. On the matter of honesty and truthfulness, it was found that after the students had learnt by technique of joint future making process, they had the scores on honesty behavior at the most level of 4.45 which was higher than the scores of the pre-joining of the activities, and was statistically significant at 0.05 level. Concerning the responsibility it was found that after the students had learnt by the technique of joint future making process, they had the scores on responsibility behavior at the most level of 4.61 which were higher than the scores before joining the activities and were statistically significant at .05 level. On the matter of justice, it was found that after the students had learnt by the technique of joint future making process, the students had the scores on justice behavior at the most level of 4.64 which was higher than the scores joining before the activities, and was statistically significant at .05 level. On the matter of unity, it was found that after the students had learnt by the technique of joint future making process, the students had score on harmony behavior at the most level of 4.55 which was higher than the scores joining before the activities, and was statistically significant at .05 level. On the matter of kindness, it was found that after the students had learnt by the technique of joint future making process, the students had the score on kindness and sympathy behavior at the most level of 4.43 which was higher than the scores joining before the activities, and was statistically significant at .05 level. In addition, it was found that after the students had learnt by the technique of joint future making process, the students were able to think for themselves and to develop the analytical thinking skill for them and for the society. Their thinking processes gave the impression that they had a systemic thinking process, so clear and so vivid that it could cover all the questions being asked. Their analytical thinking ability seemed to be clear with reasonable reference. In summary, they had creative thinking capability to solve all the social problems. Consequently, their viewing perspective appeared to be developed after the joining of Buddhist group activities. In sum, the use of Buddhist principles of Samaggidhamma in the constructing process of the mutual future life, could being about self-development in the students expressed through thinking process, speaking process, and action process. บทนำ สถานการณ์ทางสังคมปัจจุบัน ผู้คนมีวิถีการดำเนินชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมเสรีที่รีบเร่งแข่งขันให้ความสำคัญกับมูลค่าทางวัตถุจนละเลยคุณค่าทางจิตใจ มีความเป็นปัจเจกและพวกพ้องเพิ่มมากขึ้น การสนใจใส่ใจแบ่งปันด้วยเอื้ออาทรระหว่างกันลดลง การรับและชื่นชมในวัฒนธรรมต่างชาติ ทั้งยังมีกระแสความคิดเห็นที่แตกต่างทางความคิดความเชื่อทางการเมืองก็ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยจนน่าเป็นห่วง เกิดความสับสนลดความปกติสุขของชีวิต ในภาวการณ์เช่นนี้เป็นที่น่าห่วงใยต่อกลุ่มเยาวชน ที่กำลังรับรู้ เรียนรู้ และเลียนแบบ ซึ่งดูเสมือนจะห่างเหินจากธรรมะ และมีช่องว่างความสัมพันธ์ทางครอบครัวทำให้เกิดความเครียดและว้าเหว่ หันไปพึ่งความสุขชั่วคราว เช่น เที่ยวกลางคืน มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย ใช้ยาเสพติด บ้างตกเป็นเหยื่อของสังคมบริโภคนิยม หลงเชื่อโฆษณา ใช้สินค้าฟุ่มเฟือย หลงระเริงอยู่ในโลกบันเทิง เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ติดการพนัน ส่วนเยาวชนที่หวังความสำเร็จในชีวิต ก็มุ่งแต่สร้างอนาคตโดยไม่สนใจธรรมะ จึงเป็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแสวงหาวิธีการเสริมสร้างให้เยาวชนเกิดการคิดแบบมีวิจารณญาณ เพื่อเกิดความรู้และเข้าใจอย่างเท่าทันต่อสิ่งต่าง ๆ สามารถดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต พร้อมทั้งปลูกฝังบ่มเพาะความงดงามทางคุณธรรมจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนาให้แก่เยาวชน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้มีอุดมคติที่จะนำธรรมะมาเป็นที่พึ่งของตนเองและรู้จักประยุกต์ธรรมะเพื่อสร้างสังคมที่ดีงาม ซึ่งภาวการณ์เช่นนี้ หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญและเหมาะสมต่อการนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของบุคคลและการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมคือ หลักสามัคคีธรรมหรือหลักสาราณียธรรม ๖ ซึ่งเป็นหลักธรรมแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, เป็นหลักการอยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก เคารพ เมตตาเอื้ออาทร ช่วยเหลือส่งเสริมระหว่างกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน มีการปรับตัว และสร้างการสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว สำหรับในกลุ่มนักเรียน / นักศึกษาอาชีวเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนจำนวนมากและกำลังอยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ซึมซับและแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ที่จะสร้างสมดุลระหว่างสติปัญญากับสภาวะแวดล้อม เพื่อการสร้างความเป็นอัตลักษณ์แห่งตน จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิตเพราะครอบคลุมตั้งแต่การเป็นวัยรุ่นเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งอิทธิพลและประสบการณ์รอบด้านจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในด้านต่างๆ[1]ฉะนั้นหากได้รับการพัฒนาตนเองตามหลักสามัคคีธรรม โดยการเรียนรู้ผ่านเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน ย่อมจะเกิดการพัฒนาตนเองทั้งทางกาย ทางศีล ทางจิตและทางปัญญา ทั้งนี้เทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันมีความเชื่อว่า การกระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมการกล้าแสดงออกถึงความต้องการในการพัฒนาตนเอง จะทำให้เกิดพลังและกำลังใจในการพัฒนา และศรัทธาในการเรียนรู้ ซึ่งองค์ประกอบของการเรียนรู้ที่ดีต้องมีการวิเคราะห์อดีตเชื่อมโยงปัจจุบัน ทำความเข้าใจอนาคต และสร้างจิตนาการที่พึงประสงค์โดยร่วมคิด ร่วมสร้างแผนงานและนำสู่การปฏิบัติร่วมกัน[2] ดังนั้น การวิจัยเรื่องพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมโดยหลักสามัคคีธรรม จึงเป็นความพยายามในการบูรณาการหลักการพัฒนาคนทางพุทธศาสนาและแนวคิดการพัฒนาคนแบบสากล เครื่องมือและวิธีการวิจัย ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้เลือกใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ โปรแกรมการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมที่สร้างตามแนวคิดกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันจำนวน ๑๐ แผนกิจกรรม แบบสังเกตพฤติกรรม แบบบันทึกวิเคราะห์การตนเอง: วันนี้ที่ฉันเป็น และวิถีพัฒนาตน โครงการทำดีเพื่อแผ่นดิน และแบบวัดผลสัมฤทธิ์การพัฒนาตนเองตามหลักสามัคคีธรรม สำหรับก่อนและหลังร่วมกิจกรรม ซึ่งวัดประเมิน ๕ ด้านได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความสามัคคี และความเมตตา กลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นนักเรียนโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต ที่กำลังเรียนระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ ๓ (ปวช.๓) สังกัดวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ จำนวน ๓๐ คน ซึ่งคัดเลือกจากการอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาตนเอง สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลใช้เวลา ๑ ภาคเรียน ขั้นตอนการวิจัย ประกอบด้วยการทดสอบก่อนร่วมกิจกรรมด้วยแบบทดสอบที่สร้างขึ้น และดำเนินการจัดกิจกรรมตามแผนกิจกรรมที่กำหนด ในระยะเวลา ๑๘ สัปดาห์ ในระหว่างดำเนินกิจกรรมคณะผู้วิจัยได้สังเกตพฤติกรรมนักเรียนและบันทึกแบบสังเกตพฤติกรรม ภายหลังจากการสอนครบ ๑๐ แผน ได้ดำเนินเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งสุดท้ายด้วยการทดสอบหลังร่วมกิจกรรม เพื่อนำผลการทดสอบมาวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิเคราะห์ข้อมูล คณะผู้วิจัยได้นำคะแนนทดสอบก่อนและหลังร่วมกิจกรรมของนักเรียน มาวิเคราะห์ผลด้วยใช้สถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ โดยใช้ค่า Paired Sample test พร้อมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสังเกตพฤติกรรม การสะท้อนความคิด การบอกเล่าบันทึกการวิเคราะห์และพัฒนาตนเอง ตลอดจนผลการดำเนินงานเชิงประจักษ์จากโครงการทำดีเพื่อสังคม ผลการวิจัย ผลเชิงสถิติ พบว่า หลังจากการร่วมกิจกรรมการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมโดยอาศัยหลักสามัคคีธรรม ที่สื่อผ่านเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การพัฒนาตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ โดยมีระดับค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านสามัคคีธรรมหลังร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนร่วมกิจกรรม ดังนี้ ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งพบว่า ภายหลังการเรียนรู้ด้วยเทคนิคกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความซื่อสัตย์สุจริตในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๔๕ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความรับผิดชอบ ซึ่งพบว่า ภายหลังการเรียนรู้ด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๖๑ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความยุติธรรม ซึ่งพบว่า ภายหลังการเรียนรู้ด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความยุติธรรมในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๖๔ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความสามัคคี ซึ่งพบว่า ภายหลังการเรียนรู้ด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความสามัคคีในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๕๕ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ด้านความเมตตา ซึ่งพบว่า ภายหลังการเรียนรู้ด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านความเมตตาในระดับมากที่สุด โดยมีระดับค่าเฉลี่ยที่ ๔.๔๓ ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ นอกจากนี้ยังพบว่า ภายหลังการเรียนรู้ด้วยเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน นักเรียนมีการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ต่อตนเองและสังคม โดยมีการนำเสนอความคิดอย่างเป็นระบบ ชัดเจน ครอบคลุมประเด็นคำถาม มีการแสดงความคิดเชิงวิเคราะห์ อ้างอิงหลักการ และมีมุมมองเชิงสร้างสรรค์ต่อการแก้ไขปัญหาสังคมได้สมบูรณ์ ทั้งนี้เป็นลักษณะการพัฒนาโดยลำดับนับจากการเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนั้นจากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน พบว่า นักเรียนให้ความสนใจกิจกรรมการเรียนรู้โดยการแสดงความกระตือรือร้นในกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย มีการซักถาม อภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพการณ์ปัญหาสังคม ลักษณะสังคมในฝัน แนวทางในการสร้างสังคมในฝันโดยบทบาทของนักเรียน หรือในการจัดทำบันทึกการวิเคราะห์และพัฒนาตนเอง และมีการสุ่มเลือกตัวแทนบอกเล่าผลการปฏิบัติสัปดาห์ละ ๒ คน พบว่า นักเรียนมีความตั้งใจในการพัฒนาตนเอง มีการกำหนดเป้าหมายของชีวิต และเกิดมุมมองที่เชื่อมโยงระหว่างการวางแผนการปฏิบัติในปัจจุบัน ทั้งทางการเรียน การร่วมกิจกรรมเพื่อนำสู่เป้าหมายในอนาคต เช่นเดียวกับโครงการทำดีเพื่อแผ่นดิน ที่นักเรียนทุกคนได้จัดกิจกรรมหลากหลายทั้งภายในและนอกวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการร่วมสร้างสังคมในฝัน ก่อเกิดเป็นโครงการทำดีเพื่อแผ่นดิน จำนวน ๕ โครงการ ได้แก่ โครงการชวนเพื่อนพี่น้องทำดี โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการอาสาเกษตร โครงการค่ายอาสาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตป้องกันสารเสพติดสำหรับน้องพื้นที่สูง และโครงการชวนเพื่อนเข้าวัด ถึงแม้ว่าในเบื้องต้น โครงการต่าง ๆจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจำนวน ๓,๕๐๐ บาท หากแต่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน ซึ่งพบว่า นักเรียนมีความพยายามในการดำเนินโครงการฯ โดยระดมหาทุนสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งในรูปแบบของวัสดุสิ่งของหรือเงิน ทั้งยังสามารถขยายเครือข่ายความดีเพิ่มเติม โดยการชักชวนเพื่อนพี่น้องนักเรียนนักศึกษาในวิทยาลัยฯเข้าร่วมโครงการทำดีเพื่อสังคมกว่า ๓๐๐ คน อนึ่ง นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยังแสดงความพึงพอใจในระดับมากที่สุดต่อกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมที่สื่อผ่านเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันทั้ง ๑๐ แผนกิจกรรม ๑๔ กิจกรรม โดยสรุป การใช้หลักสามัคคีธรรมที่สื่อผ่านเทคนิควิธีกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันสามารถทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรม ซึ่งแสดงออกทั้งการคิด การพูด การกระทำ ที่วัดประเมินจาก ๕ ด้านคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความสามัคคี และความเมตตา อภิปรายผลการวิจัย ผลการศึกษาถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมด้วยโปรแกรมกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน พบว่า นักเรียนที่ได้รับการพัฒนาตนเองตามแนวพุทธธรรมเรื่องหลักสามัคคีธรรมหรือสาราณียธรรม ๖ ด้วยโปรแกรมกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน มีการเปลี่ยนแปลงด้านดีขึ้นทุกด้านทั้งความรู้สึก การคิด และการปฏิบัติ ทั้งมีแนวโน้มคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกัน คือ คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ก็ปฏิบัติเช่นนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะ กิจกรรมที่หลากหลายในโปรแกรมกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน ล้วนเน้นสถานการณ์ให้นักเรียนต้องพบกับเงื่อนไขเนื้อหาที่ต้องใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์ ฝึกการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาทักษะการสื่อสาร และการวางแผนทำงานเป็นทีม ซึ่งทั้งหมดเป็นการฝึกคิดแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นการคิดไตรตรอง พิจารณาหาเหตุผล เป็นความคิดที่ใช้ได้ดีในชีวิตประจำวัน โดยเมื่อเรียนรู้เหตุการณ์ใด ก็จะประพฤติเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถพิจารณาทางเลือกที่เป็นอิสระ และเกื้อหนุนให้เกิดพฤติกรรมที่ดีงาม เมื่อจิตใจดี ก็เกิดพฤติกรรมที่ดี จิตและปัญญาที่ทำงานร่วมกันเป็นผลดี ที่จะช่วยข่มสภาพจิตอกุศล และเสริมสร้างจิตกุศล ให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นฐานของปัญญา และนำไปสู่ปัญญาเห็นชอบคือ เห็นทางเลือก เห็นเหตุที่ดีและไม่ดี เป็นประโยชน์ต่อจิตใจ ที่เป็นเช่นนี้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาตนเองตามแนวพุทธศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย หลักทมะ คือ การฝึกขัดเกลานิสัยให้เหมาะสมรู้จักข่มตนและฝึกปรับปรุงตน โดยอาศัยหลักสิกขาคือ การศึกษาเพื่อให้รู้แจ้งรู้จักประโยชน์ มองทุกอย่างเพื่อเป็นการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเองที่เรียกว่าไตรสิกขา ได้แก่ ศีลสิกขา จิตสิกขาและปัญญาสิกขา และหลักภาวนาคือ การพัฒนาตนเองทางกาย สังคม อารมณ์และสติปัญญา (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), ๒๕๓๒) ทั้งยังได้รับการสนับสนุนแนวคิดจากผลงานวิจัยของสุพิศ จันทรบุตร (๒๕๔๓) ที่ได้ศึกษาเรื่อง การพัฒนาจริยธรรมโดยใช้กิจกรรมสอดแทรก ซึ่งพบว่า การพัฒนาจริยธรรมโดยใช้กิจกรรมสอดแทรก ประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้ การประชุมผู้ปกครอง การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน กิจกรรมเพื่อนเตือนเพื่อน การเยี่ยมครอบครัวและพบผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนมีระดับของพฤติกรรมเชิงจริยธรรมดีขึ้น กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งของพัฒนาตนเองตามหลักธรรมด้วยโปรแกรมกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน คือ การฝึกสมาธิในทุกครั้งของการร่วมกิจกรรม ทั้งก่อนและหลังร่วมกิจกรรม ซึ่งพบว่า ในครั้งแรก ๆ นักเรียนจะมีภาวะสงบนิ่งช้าและน้อย ต่อมาเมื่อฝึกฝนบ่อยครั้งพบว่า นักเรียนสามารถเข้าสู่ภาวะสงบนิ่งได้เร็วและนานขึ้น ทั้งนักเรียนยังสะท้อนความคิดว่า ได้รับประโยชน์จากการนั่งสมาธิแม้ว่าในระยะเวลาสั้น หากแต่เป็นการเริ่มและกระตุ้นให้นำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และเมื่อเกิดภาวะขับข้องทางอารมณ์ก็สามารถนำมาใช้ในการกำกับตนเองให้มีสติสงบได้ ด้วยเหตุนี้ นักเรียนที่เข้ารับการพัฒนาตนเองตามแนวทางพุทธธรรมเรื่องสามัคคีธรรมหรือสาธารณียธรรม ๖ จึงมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนหญิง ที่มีการพัฒนาด้านความคิด ความรู้สึกและการปฏิบัติสูงกว่านักเรียนชาย โดยมีการแสดงทางอารมณ์ความรู้สึกผ่านการพูดการกระทำที่ชัดเจน เช่น การแสดงความคิดเชิงวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ปัญหาสังคมหรือบทความที่สะท้อนภาพความจริงในสังคม ซึ่งพบว่า นักเรียนค่อนข้างมีมุมมองที่ละเอียดกว่านักเรียนชาย หรือเมื่อสุ่มบอกเล่าผลการพัฒนาตนเอง นักเรียนหญิงสามารถบอกเล่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ดี และเมื่อทำกิจกรรมทำดีเพื่อแผ่นดิน พบว่า นักเรียนหญิงจะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบกิจกรรม ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นผลเนื่องจากโครงสร้างสภาพอารมณ์ของเพศหญิงที่มีความละเอียดอ่อนกว่าเพศชาย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของอัจฉรา สุขารมณ์ และคณะ (๒๕๔๗) ได้ศึกษาเรื่อง การพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนาในเยาวชนไทย โดยการสำรวจและการสร้างโปรแกรมพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนา และหาความสัมพันธ์ระหว่างโปรแกรมพัฒนาปรีชาอารมณ์กับเพศ โดยทดลองกับนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ จำนวน ๓๒ คน ประกอบด้วยกลุ่มทดลอง ๑๖ คนและกลุ่มควบคุม ๑๖ คน ซึ่งพบว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์มีการพัฒนาด้านความคิด การปฏิบัติและความรู้สึก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .๐๑ และเพศหญิงมีพัฒนาการเชิงปรีชาอารมณ์สูงกว่าเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .๐๑ เช่นเดียวกับผลการวิจัยของอรพินท์ ชูชมและคณะ (๒๕๔๙) ได้ศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตสังคมที่สัมพันธ์กับจิตสำนึกทางปัญญาและคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย ซึ่งพบว่า ปัจจัยทางจิตสังคมที่สัมพันธ์กับจิตสำนึกทางปัญญาของเยาวชนประกอบด้วย การถ่ายทอดทางปัญญาสังคม-อารมณ์ของบิดามารดา การปลูกฝังอบรมทางปัญญาสังคม-อารมณ์จากทางโรงเรียน การเห็นแบบอย่างทางอารมณ์และพฤติกรรมจากเพื่อน และการควบคุมตนเอง ทั้งนี้การถ่ายทอดทางปัญญาสังคม-อารมณ์ของบิดามารดามีอิทธิพลต่อจิตสำนึกทางปัญญาของเยาวชนวัยรุ่นมากที่สุด ทั้งนี้ปัจจัยทางจิตสังคมและจิตสำนึกทางปัญญามีผลต่อพฤติกรรมเอื้อสังคม ความสามารถในการแก้ปัญหา และคุณภาพชีวิตของเยาวชน นอกจากนี้ยังพบว่า เยาวชนวัยรุ่นหญิงมีจิตสำนึกทางปัญญาสูงกว่าเยาวชนวัยรุ่นชาย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการวิจัยครั้งนี้มีช่วงระยะเวลาจำกัด ฉะนั้นผลการวิจัยจึงบ่งบอกสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน หากขยายช่วงเวลาและมีการทำกิจกรรมพัฒนาย้ำทวนบ่อยครั้งต่อเนื่อง พร้อมทั้งติดตามผลความคงทน อาจพบการเปลี่ยนแปลงผลการพัฒนาที่ว่า นักเรียนชายมีพัฒนาการเรียนรู้ด้านสาธารณียธรรม ๖ แตกต่างกันหรือไม่ การจัดแผนกิจกรรมให้นักเรียนกำหนดเป้าหมายของชีวิตและวางแผนพัฒนาตนเองโดยเน้นปฏิบัติตนตามหลักสามัคคีธรรม คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ มีความยุติธรรม มีความสามัคคีและมีเมตตา พร้อมทั้งให้บันทึกวิเคราะห์ผลการปฏิบัติตน และบอกเล่าผลการปฏิบัติตนต่อเพื่อนที่ร่วมกิจกรรม ซึ่งพบว่า นักเรียนมีความสุข มีความภาคภูมิใจที่ได้บอกเล่าผลการปฏิบัติของตน และเพิ่มระดับความพยายามในการพัฒนาตนเอง ทั้งโดยการกำกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และพยายามสร้างพฤติกรรมที่ดี ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ผลจากการที่นักเรียนได้รับการชี้แจงและกระตุ้นให้เห็นถึงคุณค่าของการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีคุณค่า โดยการวิเคราะห์ ยอมรับเพื่อการพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ ทำให้นักเรียนเกิดความตระหนักถึงถึงคุณค่าและความสำคัญในการพัฒนาตนเองตามหลักคุณธรรม ประกอบกับลักษณะของการดำเนินกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกพัฒนาตนด้วยความสมัครใจ จึงเกิดเป็นแรงจูงใจทำให้นักเรียนเกิดความพยายามในการพัฒนาตนเอง ดังจะปรากฏจากระดับการปฏิบัติที่เพิ่มสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ปรากฏการณ์เช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานการพัฒนาตนซึ่งกล่าวว่า บุคคลที่จะพัฒนาตนเองได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงตนเอง โดยมีความเชื่อพื้นฐานในการพัฒนาตนที่ถูกต้อง ทั้งนี้เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่มีคุณค่าในตัวเองสามารถฝึกพัฒนาได้ และไม่มีบุคคลใดสมบูรณ์พร้อมทุกด้านจนไม่จำเป็นต้องพัฒนา และแม้บุคคลจะเป็นผู้รู้จักตนเองดีที่สุด แต่ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองได้ในบางเรื่องต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น สิ่งสำคัญของการพัฒนาคือควบคุมตนทั้งการคิด ความรู้สึก การกระทำและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาตนคือการติดยึดไม่ปรับเปลี่ยน อย่างไรก็ตามการพัฒนาตนสามารถทำได้ตลอดเวลา (ไพศาล ไกรสิทธิ์, ๒๕๔๒) ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับผลงานวิจัยของสนิท สัตโยภาส (๒๕๔๔) ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนากระบวนการสอนสร้างอนาคตร่วมกันสอนภาษาไทยโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งพบว่า กระบวนการสอนสร้างอนาคตร่วมกันที่นำมาสอนทักษะการเขียนให้แก่นักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เป็นกระบวนการสอนที่มีประสิทธิภาพเพราะเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการคิดวิเคราะห์ทบทวนตนเอง กำหนดแผนอนาคตในการพัฒนาตนเอง ลงมือปฏิบัติและทบทวนประเมินผลด้วยตนเอง จนสามารถพัฒนาให้ทั้งนักเรียนที่เรียนเก่งและนักเรียนที่เรียนอ่อน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาทักษะการเขียนให้นักเรียนที่เรียนอ่อนให้มีสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนก้าวหน้าได้มากกว่านักเรียนที่เรียนเก่ง การที่ผลวิจัยเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่า นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมโดยอาศัยหลักสามัคคีธรรม และมีความรู้สึกพึงพอใจต่อโปรแกรมกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันในระดับที่มากที่สุดนั้น เป็นลักษณะกิจกรรมโปรแกรมที่สอดคล้องกับความต้องการ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในวิถีปฏิบัติ และสภาพการณ์ทางสังคม ได้มีโอกาสสัมพันธ์ สัมผัสและฝึกปฏิบัติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และสามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังมีการปรับมุมมองทางศีลธรรม ด้วยการตีความให้เหมาะสมกับกาลสมัย สอดคล้องกับสังคม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรม จึงควรเป็นการบูรณาการร่วมระหว่างศาสตร์สมัยใหม่กับหลักคำสอนทางศาสนาที่ตีความโดยพยายามเข้าใจถึงแก่นแท้ของคำสอนและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับกลุ่มคนในสงคม เพื่อพัฒนาจิตใจ ปัญญาและพฤติกรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์และมีบทบาทร่วมกัน เป็นเหตุปัจจัยต่อกันและกัน ทั้งนี้เมื่อบุคคลพัฒนาได้ครบทุกองค์ประกอบก็จะทำให้บุคคลพัฒนาตนได้เรื่อย ๆ จนเกิดเป็นการอยู่ด้วยปัญญา หรือใช้ปัญญาในการควบคุมตนเอง และผลที่ได้คือ พฤติกรรมที่เกื้อกูลและสร้างสรรค์ สรุปและข้อเสนอแนะ ๑. กระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คำนึงการมีส่วนร่วมสูงสุด ผู้สอนควรมีการกระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนประสบการณ์เดิมสู่การคิดวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับความเป็นจริงทางสังคม เศรษฐกิจ และควรใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่ไม่เกิน ๔๐ คน ๒. การติดตามประเมินผลการพัฒนาตนเอง ควรใช้วิธีการที่หลากหลายสอดคล้องกับกับสภาพจริง เช่น การสังเกตพฤติกรรม การใช้แบบทดสอบ การใช้แบบบันทึก การสนทนากลุ่มการนำเสนอผลงาน ๓. การวิจัยครั้งนี้ สามารถเห็นผลของการพัฒนาพฤติกรรมในด้านดี อาจด้วยปัจจัยหลายประการเช่น กลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ ล้วนเป็นนักเรียนที่เป็นอาสาสมัคร มีความสนใจในการพัฒนาตนเอง จึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จในการพัฒนาตนเอง เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของนักเรียนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ซึ่งมีการอยู่ร่วมกันในระบบหอพัก และมีองค์กรนักศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมนิสิต ทั้งยังมีกิจกรรมหลักที่สำคัญและถูกกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนมีการวัดประเมินผลคือ การบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือ สิ่งสนับสนุนความสำเร็จของโครงการวิจัย ดังนั้นสำหรับการนำโปรแกรมการพัฒนาตนเองตามแนวคิดของงานวิจัยครั้งนี้ไปใช้ ควรต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ ๔. การวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยเลือกดำเนินการทดลองในกลุ่มเดียว โดยการคัดเลือกอาสาสมัครแกนนำ ด้วยความมุ่งหวังพัฒนาอาสาสมัครแกนนำอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบผลการวิจัยได้ ดังนั้นหากมีการทดลองสอนสองกลุ่มคือ กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม อาจจะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบพัฒนาการของผู้เรียนทั้งสองกลุ่มได้ว่า โปรแกรมกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกันสามารถพัฒนานักเรียนตามหลักพุทธธรรมได้เพียงใด เอกสารอ้างอิง ๑. ภาษาบาลี – ไทย: ๑.๑ ข้อมูลปฐมภูมิ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙. ๑.๒ ข้อมูลทุติยภูมิ ๑.๒.๑ หนังสือ ทิศนา แขมณี. ไพทูรย์ สินลารัตน์, บรรณาธิการ. ความรู้คู่คุณธรรม: รวมบทความเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔ . พระเมธีธรรมมาภรณ์. อไพทูรย์ สินลารัตน์, บรรณาธิการ. อความรู้คู่คุณธรรม : รวมบทความเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔. สุมน อมรวิวัฒน์. ไพทูรย์ สินลารัตน์, บรรณาธิการ. อความรู้คู่คุณธรรม : รวมบทความเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔. ๑.๒.๒ รายงานวิจัย ดุจเดือน พันธุนาวิน. “การสังเคราะห์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของเด็กและเยาวชน”. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร, ๒๕๕๐. บรรชร กล้าหาญ. “การบูรณาการเสริมสร้างคุณธรรมด้วยกิจกรรมบัตรคุณธรรมและระบบคู่สัญญา”. รายงานการวิจัย. เชียงใหม่ : วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่, ๒๕๔๘ . พรรณี ศิริวรรธนาการ และคณะ. “การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านจริยธรรม :ความคิดและการปฏิบัติของนักศึกษาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”. รายงานการวิจัย. คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๙. รุ่งทิพย์ กล้าหาญ. “การพัฒนาจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการสร้างอนาคตร่วมกัน”. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, ๒๕๕๐. อรพินท์ ชูชม และคณะ. “การวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตสังคมที่สัมพันธ์กับจิตสำนึกทางปัญญาและคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย”. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร, ๒๕๔๙. อัจฉรา สุขารมณ์ และคณะ. “การพัฒนาปรีชาเชิงอารมณ์ตามแนวพุทธศาสนาในเยาวชนไทย”. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร, ๒๕๔๗. [1] อมร รักษาสัตย์, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมบทวิจารณ์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๗๒ –๗๗. [2] ทวีศักดิ์ นพเกษร, วิกฤตสังคมไทย ๒๕๔๐ กับบทบาทวิทยากรกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อจัดเวทีประชาคม, (กรุงเทพมหานคร: คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเผชิญปัญหาวิกฤต, ๒๕๔๑), หน้า ๓๐.