ผู้แต่ง :: พระเมธีธรรมาจารย์,รศ.ดร.
ยุคสมัยปัจจุบันผู้คนในสังคมเจ็บป่วยกันมากขึ้น การเจ็บป่วยมาจากสาเหตุที่หลากหลาย เช่น อาหาร เครื่องดื่ม หน้าที่การงาน วิถีชีวิต เป็นต้น
ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ตรัสว่า อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
ปัจจุบันสังคมไทยหันไปพึ่งพิง และอาศัยสิ่งภายนอกหรือตัวช่วยเพิ่มมากขึ้น เช่น พึ่งพิงเทคโนโลยี พึ่งเพื่อน พึ่งคนบริการส่งอาหาร เป็นต้นทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแต่เป็นการพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอกแทบทั้งสิ้น
ปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยในประเทศ เพราะโดยภาพรวมนั้นคนไทยอาจจะประมาทเลินเล่อในเรื่องการทานอาหาร ไม่ใส่ใจในเรื่องการออกกำลังกาย สะสมความเครียด เป็นต้น
เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยก็หันไปพึ่งพิงหมอ พึ่งพิงแพทย์เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆก็ยังพอทำเนา แต่ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หรืออื่นๆอีกมากมายนั้นอันนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง ห่วงในสุขภาพพลานามัยมวลรวมของคนทั้งประเทศ เราได้สูญเสียงบประมาณเพื่อการเยียวยาและรักษาผู้ป่วยแบบนี้ไปเป็นจำนวนมากมากมายในแต่ละปี
เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาสิ่งแรกที่คนไข้นึกถึงคือคุณหมอและโรงพยาบาล หลายคนมีความหวังว่าจะมีหมอดีๆ โรงพยาบาลชั้นนำมารักษาตัวเองให้หายขาดได้ หรือนานวันเข้าบางคน บางท่านได้ยินข่าวว่ามีหมอมีแพทย์(ทางเลือก) ที่ไหนดีหรือมีคุณวิเศษก็จะหูผึ่ง เสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหนก็ต้องยอม เพราะว่ามีความหวัง
ระหว่างคนเจ็บไข้(ผู้ป่วย)เรื้อรังกับคุณหมอประจำนั้นโดยทั่วไปอาจจะพบกัน หนึ่งเดือน สองเดือนหรือสามเดือนต่อครั้ง ระยะเวลาที่พบกันโดยเฉลี่ยก็ประมาณ 5-7 นาที คุณหมอก็จะดูผลจากห้องแล๊ปเป็นหลัก มีการซักถามและแนะนำตามหลักการบ้างจากนั้นก็จะให้ยาตามผลที่ปรากฎ สมมติว่าคนไข้เป็นเบาหวานก็จะให้ยาตามน้ำตาลที่ปรากฎไม่ว่าจะเป็นจำนวนเม็ดยาที่เพิ่มขึ้นหรือปริมาตรที่แรงขึ้นของยาก็ตาม ล้วนมาจากผลของเลือดที่ตรวจไปแล้วทั้งนั้น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงหวัง หวังและหวังว่าหมอจะนำพาร่างกายที่แข็งแรง ปกติดีกลับคืนมาให้ ด้วยวิธีการรักษาที่เป็นอยู่แบบนี้ ซึ่งคุณหมอส่วนใหญ่ก็จะรักษาไปตามอาการ ให้ยาไปตามสภาพ โดยที่คุณหมอก็ไม่มีสิทธิหรือรับรู้ได้เลยว่าคนไข้ของตัวเองนั้นในแต่ละวัน แต่ละเดือนและแต่ละปีเขาใช้ชีวิตประจำวันหรือกินอยู่หลับนอนอย่างไร นี่สำคัญ
พระพุทธศาสนาสอนว่าร่างกายกับจิตใจนั้นเป็นของคู่กัน ไม่สามารถที่จะจับแยกออกจากกันได้ พระพุทธองค์จึงเรียกกองนี้ว่า ขันธ์ 5 มีรูปคือ ร่างกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้นเป็นการแสดงออกของจิต สรุปภาษาพระเรียกว่า รูปกับนาม เข้าใจง่ายๆคือ ร่างกายกับจิตใจนั่นเอง เวลาเข้ากัมมัฏฐานจึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องให้เกิดสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ ร่างกายในอิริยาบถ 4 คือ ยืน เดิน นั่งและนอนต้องให้พอเหมาะ พอสม ไม่หนักไปในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ในส่วนของจิตนั้นจะต้องรู้จักทุกข์ให้ได้เสียก่อน เมื่อรู้จักทุกข์แล้วจึงต่อมาเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ 5 คือเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง ถ้าเห็นความไม่เที่ยง เห็นชีวิตนี้ไม่จีรังยั่งยืน ไม่มีตัวตน คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา อาตมัน หรือปรมาตมันหรืออื่นใดเลย นี่คือคำสอนสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ซึ่งก็แตกต่างจากทุกศาสนาในเรื่องหลักหรือหัวใจสำคัญนี้
ผู้ป่วยในโลกตะวันออกในยุคพุทธกาลหรือแม้กระทั่งย้อนหลังไปสัก 2-3 ชั่วอายุคนที่ผ่านมาก็ตามเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย คุณหมอผู้รักษาจะต้องรักษา ดูแลทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปคือรักษาทั้งรูปและนามคือรักษากายกับใจควบคู่กันไปนั่นเอง
หมอตะวันตกยุคปัจจุบันได้หันมาเน้นการรักษากายเป็นสำคัญ การรักษาเฉพาะกาย การรักษาเฉพาะที่ เฉพาะจุดอาจจะมีผลกระทบต่อส่วนอื่นๆได้ เช่น ให้ยาเบาหวานอาจจะมีผลเสียต่อไต ไล่ญาติออกห่างไกลจากคนไข้อาจจะมีผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วย และอาจจะลุกลามไปยังโรคทางกายได้ เป็นต้น
แต่ไหนแต่ไรมามีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นยา เป็นสมบัติที่ติดตัวเราอยู่ตลอดเวลา แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ได้ละเลย เพิกเฉยหรือมองไม่เห็นคือเราต้องพึ่งพาตัวเราให้มาก อย่าหวังไปพึงพาหมอแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่บอกว่าเรื่องกินเรื่องของเรา เรื่องรักษาเป็นหน้าที่ของหมอ พูดเล่นๆสนุกๆได้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การที่เราพึ่งพาคุณหมอและยามากจนเกินความจำเป็นมันอาจจะไม่ใช่แนวทางการรักษาที่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ ตัวเราเองก็มียาวิเศษอยู่ในตัวเราต้องงัดยาวิเศษชนิดนี้ออกมาใช้ให้ได้ คือ
1.ควบคุมอาหาร พระพุทธองค์สอนในเรื่องปริมาณอาหารที่พอเหมาะ อาหารที่ทำให้คนมีอายุยืนนี่เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ปรากฎในพระไตรปิฎก
ปัจจุบันอาหารเป็นยาพิษ นำพาโรคมาสู่ร่างกายของคนเรานั้นมีมากมายเหลือคณา เรากินเราทานในทุกๆวันโดยที่ไม่ได้ใส่ใจเอาเสียเลย เรายึดเอาความอร่อย สะดวก ถูกใจเข้าว่า จะเห็นได้ชัดเจนว่าเด็กๆทุกวันนี้เป็นโรคไต โรคมะเร็งกันกันมากขึ้น นี่ขนาดยังอยู่ในวัยเด็ก สาเหตุหนึ่งก็ล้วนมาจากการอยู่การกินแทบทั้งนั้น เราจะต้องรู้จักควบคุมการกินให้ได้ อย่าลืมว่า กินอย่างไรได้อย่างนั้น
2.การออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่พอเหมาะ พอควร สม่ำเสมอ จะช่วยให้เรามีภูมิที่ดี ร่างกายที่แข็งแรงย่อมต่อต้านได้สารพัดโรค กินๆทำงานๆเครียดๆ ไม่เคยออกกำลังกายเลยจะมีกำลังที่ไหนมาต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่สารพัดในตัวเรา ร่างกายนี้เป็นรังแห่งโรค นี่ก็พุทธพจน์
3.ดื่มน้ำให้มาก น้ำเปล่าดี มีประโยชน์(ยกเว้นบางโรคที่หมอห้ามดื่ม เช่น โรคน้ำท่วมปอด เป็นต้น) ปัจจุบันเราเห็นกันดาษดื่นโดยเฉพาะในสังคมเมือง มือข้างหนึ่งเล่นโทรศัพท์ มืออีกข้างถือถือเครื่องดื่มในรูปแบบแก้วสวยในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ที่ดื่มๆกันอยู่นั้นจำเป็นต่อชีวิต ร่างกายของเรามากน้อยแค่ไหนหรือเป็นเพียงค่านิยมในยุคสมัยเท่านั้น ราคาก็แพง ของแถมคือทำลายสุขภาพและยังละลายทรัพย์ในกระเป๋าของเราเข้าไปอีกด้วย ค่านิยมผิดๆนี้ลองหันมาดื่มน้ำเปล่ากันบ้างน่าจะดีกว่า
วันนี้เราต้องคิดกันให้ดีในเรื่องสุขภาพ พลานามัย คนที่ยังไม่ป่วยท่านจะรักษาสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายไว้ได้อย่างไร ส่วนคนที่ป่วยแล้วหรือคนที่ป่วยเรื้อรังนั้นเลิกฝันถึงยาวิเศษแบบลมๆแล้งๆกันได้แล้ว เราต้องหันกลับมาทานยาวิเศษที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน คือ ยาวิเศษทั้ง 3 ชนิดดังที่กล่าวมา
ยาชนิดนี้นับได้ว่ามีคุณวิเศษกว่ายาของหมอของแพทย์ทุกโรงพยาบาลในโลกนี้ กินกันทุกวันเถอะ ทานกันทุกวันท่านจะได้ทุเลาเบาบางและอาจหายขาดจากโรคภัยไข้เจ็บได้ในที่สุด