บทความวิชาการ
America is back
09 ส.ค. 64 | พระพุทธศาสนา
3238

ผู้แต่ง :: พระเมธีธรรมาจารย์

America is back

                                         พระเมธีธรรมาจารย์, รศ.ดร.

                           รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา

                   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย                              ___________________________

    โจ ไบเดิน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กำลังดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเข้มข้นภายใต้สโลแกน America is back เขามองว่าในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อเมริกาได้สูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างไปจากเวทีโลก และอาจจะรวมถึงการเสียอุดมการณ์หลักของอเมริกาไปด้วย

    20 มกราคม 2564 โจ ไบเดิน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 306 ต่อ 232 

    วันแรกของการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งและนั่งเก้าอี้ในทำเนียบขาว ธรรมเนียมปฎิบัติของประธานาธิบดีก็จะใช้อำนาจตนที่มีอยู่ลงนามในนโยบายสำคัญๆ เพื่อสะท้อนถึงคำมั่นสัญญาตามที่ได้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและส่งสัญญานถึงเวทีโลกให้เห็นว่านโยบายและทิศทางของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไร

    โจ ไบเดิน ลงนามแรกในคำสั่งบริหารสำคัญๆเช่น การบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ราชการ การกลับเข้าร่วมในสนธิสัญญาความตกลงปารีส ยกเลิกคำสั่งบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามบริเวณชายแดนเม็กชิโก และการกลับไปเข้าร่วมสมาชิกขององค์การอนามัยโลก เป็นต้น (อ้างอิง wikipedia)

    วันนี้ America is back กำลังปรากฎตัวอย่างเข้มแข็ง ในอินโด-แปชิฟิค (Indo-pacific) และ Southeast Asia ในช่วงเวลาติดๆกันนี้ การปรากฏตัวของ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เวนดี้ เซอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และในกลางเดือนสิงหาคมนี้ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีก็จะเดินทางไปเยือนสิงคโปร์และอินเดียอย่างเป็นทางการ

    การปรากฏตัวและรุกคืบมายังภูมิภาคนี้และรวมทั้งในเอเชียด้วยก็เป็นการส่งสัญญาณสำคัญเรื่องดุลอำนาจ (Balance of Power) ต่อประธานาธิบดี สี จิ้นเผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนนั่นเอง

    ในขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นเผิง ก็มั่นใจว่า บทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนจะยังคงเหนียวแน่นกับชาติสมาชิกเหล่านี้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะยังคงทำอะไรได้ไม่มากนัก ส่วนการดำเนินนโยบายหนึ่งทะเลหนึ่งแม่น้ำของจีนแม้จะมีปัญหาอยู่มากในทะเลจีนใต้แต่คงไม่ถึงขั้นแตกหักและการเข้ามาสอดแทรกนโยบาย Mekong - US Partnerchip หลังจากห่างหายไปนานก็คงต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรสำหรับสหรัฐอเมริกา

     ส่วนชาติสมาชิกในอินโด-แปซิฟิค และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็รักษาสถานะของตนเองไว้ ไม่มีใครหันหน้าไปซบใครเต็มตัว ในทางเศรษฐกิจก็คงต้องพึ่งจีนกันต่อไปในขณะเดียวกันทางด้านความมั่นคงก็คงหนีไม่พ้นพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาแน่นอน

     America is back ที่แท้จริงตอนนี้คือการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (เดลต้า) ที่ติดง่าย ขยายเร็ว จนสถิติผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย

      ประเทศเจ้าของวัคซีนชั้นดี mRNA (Moderna, Pfizer) มีปัญหาอะไร ทำไม จึงหยุดยั้งเจ้าไวรัสร้ายนี้ไม่ได้ หรือวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาศึกษาหลายท่านได้ให้ความเห็นไว้ ดังนี้

      1. เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้พัฒนาตัวมันเองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

      2. การเมืองภายในสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ชัดเจนว่าวันแรกที่ โจ ไบเดิน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี คำสั่งแรกในทางบริการคือการที่จะต้องบังคับให้มีการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ราชการ พรรคตรงข้าม และพลพรรคผู้ให้การสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยังอารมณ์ค้าง ภายในยังครุกกรุ่นที่แพ้เลือกตั้ง และโดยเฉพาะแรงกระตุ้นจากทรัมป์เองที่แสดงออกถึงการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง การยั่วยุให้เกิดความรุนแรง การไม่ใส่ใจที่จะให้เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีไปรับผู้ชนะการเลือกตั้งจากเดลาแวร์ มายังวอชิงตัน ดีซี รวมทั้งเป็นผู้พ่ายแพ้ที่แหกกฎประเพณีที่ไม่ยอมอยู่ร่วมในพิธีสาบานตนในการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่      

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นผลต่อภาพรวมของคนในประเทศ คือ การต่อต้านประธานาธิบดีคนใหม่ รวมทั้งการปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือในการบริหารราชการด้วย 

ผลข้างเคียงที่เห็นได้ชัดเมื่อ โจ ไบเดิน ออกกฎให้สวมหน้ากากอนามัย อีกกลุ่มหนึ่งก็ต่อต้าน ไม่เอาด้วย ง่ายที่สุดในการแสดงออกคือการปฏิเสธที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือนั่นเอง

      3.กลุ่ม Anti-Vaxxers คือกลุ่มต่อต้านวัคซีน กลุ่มนี้ปฎิเสธวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกา แม้วันนี้ชัดเจนว่าอเมริกาจะฉีด mRNA เข็มที่ 3 ให้กับประชาชนของตนเอง

      วันนี้แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะระดมฉีดวัคซีนชั้นดีให้ประชาชนในทุกวิถีทาง เข้าถึงได้ง่ายและ สะดวกแต่ก็ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 4 เป็นจำนวนมาก มากจนน่าใจหาย  ประชากรชาวอเมริกาเกิน 50 % ฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่ง กว่า 40 % ฉีดเข็มที่ 2 แล้ว แต่วันนี้ Rauter Covid-19 Tracker ยังรายงานว่า อเมริกาเฉลี่ยมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 85,470 คน ในรอบสัปดาห์ ถ้าเจาะให้ลึกลงไปก็จะพบว่าผู้ติดเชื้อเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวฟลอริดา ลุยเซียนา มิซิสซิปปี้ เป็นต้น อันนี้คอการเมืองทั้งหลายก็พอจะคาดเดาได้

       โควิด-19 เป็นไวรัสที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกฝ่ายรัฐก็ต้องบริหาร จัดการให้ดี มีประสิทธิภาพ ในส่วนประชาชนพลเมืองก็ต้องให้ความร่วมมือ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อจะได้ฟันผ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันทั้งโลก


วันที่  7 สิงหาคม 2564

#เจ้าคุณประสาร