บทความวิชาการ
มองน้ำท่วมในเชิงปรัชญา
26 ก.ย. 59 | พระพุทธศาสนา
1346

ผู้แต่ง :: พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ผศ.ดร.

พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ผศ.ดร. (2554)

บทนำ

เมื่อเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม ปี2554 จนถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 เกิดวิกฤติมหาอุทกภัย สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและสร้างความเดือดร้อนแก่คนไทยเป็นอย่างมากและคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ทำให้มองเห็นว่า น้ำเป็นสิ่งที่มีโทษมากเหลือเกิน แต่ในการดำเนินชีวิต น้ำมีความจำเป็นและสำคัญต่อชีวิตมากอย่างยิ่ง ชีวิตขาดน้ำไม่ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ในบทความนี้จะเสนอมุมมองเกี่ยวกับน้ำท่วมในเชิงปรัชญา เป็นการเปิดมุมมองที่มีต่อโลกและชีวิตให้กว้างออกไปตามวิถีที่นักปรัชญาซึ่งเป็นพวกที่ชอบคิดชอบเสนอความคิดที่ต่างออกไป
น้ำเป็นปฐมธาตุของโลก
นักปรัชญาสำคัญคนหนึ่งชื่อธาเลส (Thales) ที่วงการปรัชญาถือว่าเป็นบิดาของนักปรัชญาตะวันตก ได้เสนอทรรศนะเรื่องปฐมธาตุของโลกว่า “น้ำเป็นปฐมธาตุของโลก”[1] โดยมีคำอธิบายว่า โลกเกิดจากการรวมตัวของสสารดั้งเดิมสุด (Prime Matter) สสารนั้นจึงเป็นวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดโลก มันมีอยู่ก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด จึงเป็นธาตุดั้งเดิมหรือปฐมธาตุ (First Element) ของโลก ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่มีอนุภาคเล็กที่สุดจนแบ่งย่อยออกไปอีกไม่ได้ โลกและสรรพสิ่งเกิดมาจากน้ำ และจะกลับคืนไปสู่สภาพของน้ำ น้ำเป็นปฐมธาตุ เพราะน้ำทรงประสิทธิภาพในการแปรรูปเป็นสิ่งต่างๆ น้ำจับตัวเป็นของแข็งก็ได้ ละลายเป็นของเหล็วก็ได้ เมื่อระเหยขึ้นฟ้าน้ำกลายเป็นไอ เมื่อต้องแสงอาทิตย์น้ำแปรรูปเป็นไฟ แต่เมื่อน้ำกลายเป็นฝน ตกลงมาสู่พื้นดิน น้ำกำลังแปรรูปเป็นดิน[2] นี่เป็นคำอธิบายของนักปรัชญาเมื่อ 81 ปีก่อนพุทธศักราช มีประเด็นที่น่าสังเกตคือประเด็นว่า น้ำแปรรูปเป็นไฟได้ หลายท่านอาจเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้านึกถึงเครื่องยนต์ไฮบลิคที่ใช้น้ำเป็นเชื้อเพลิง ก็พอจะอธิบายได้ว่าน้ำแปรรูปเป็นไฟในกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทำให้เกิดพลังงานได้ ถ้าน้ำเป็นเชื้อเพลิงได้จริงๆ ความคิดของนักปรัชญาเก่าๆอย่างธาเลสก็ไม่ล้าสมัยเลย แต่น้ำท่วมใหญ่เป็นมหาอุทกภัยครั้งนี้ธาเลสจะอธิบายว่าอย่างไร? ผู้เขียนคิดว่า ธาเลสน่าจะอธิบายว่า น้ำกำลังแปรรูปอยู่ตลอดเวลา แต่อาจช้าหน่อย ทำให้เกิดน้ำท่วม แต่ในที่สุดมันก็แปรรูปแห้งหายไปจนหมด จนมีคำว่าภัยแล้งตามมา ถ้าคำตอบยังไม่ดีพอ ก็ช่วยกันตอบช่วยกันอธิบายด้วย
มองน้ำท่วมให้เป็นทุกข์หรือเป็นสุขดี
ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 รวมถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2555 มีพายุพัดผ่านเข้ามาใกล้ประเทศไทยและเข้าประเทศไทยหลายลูก เป็นเหตุให้ฝนตกหนัก นำระบายไปตามแม่น้ำลำคลองไม่ทัน ก็ล้นขึ้นมาท่วมถนนและบ้านเรือนของคนในหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครบางส่วน คนที่ได้รับผลจากน้ำท่วมก็คร่ำครวญเป็นทุกข์ เพราะสิ่งของบ้านเรือนเสียหาย และการเดินทางก็ไม่สะดวก การทำงานก็หยุดชะงักในบางอาชีพ บางอาชีพก็ยังดำเนินต่อไปด้วยความยากลำบาก เครื่องอุปโภคบริโภคหาซื้อยากและมีราคาแพง ทั้งมีโรคน้ำกัดเท้า มีสัตว์เลื้อยคลานมารบกวน และมีอุบัติเหตุไฟฟ้าช๊อตเสียชีวิตมากกว่า 800 ราย ในแง่นี้ผู้ได้รับผลต้องเป็นทุกข์แน่นอน[3] แต่ในอีกแง่หนึ่งเหตุการณ์มหาภัยน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เกิดวีรกรรมบางอย่าง ซึ่งผู้ทำวีรกรรมนั้นทำด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสบ่งบอกถึงการทำงานด้วยความสุข นั่นคือวีรกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัย คนกลุ่มนี้ได้แก่กลุ่มทหารที่ออกมาให้ความช่วยเหลือและกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยมีใจปรารถนาจะช่วยจริงๆ ช่วยในทุกรูปแบบ เช่นช่วยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ช่วยยกพื้นบ้านขึ้นสูง ช่วยอพยพในกรณีที่จำเป็น กลุ่มที่ทำงานด้วยความสุขอีกกลุ่มคือกลุ่มจัดโรงทานทำข้าวกล่องนำไปส่งให้ผู้ประสบภัยวันละ 2 มื้อบ้าง วันละ 3 มื้อก็มี อีกกลุ่มที่ทำงานด้วยความสุขเหมือนกันคือกลุ่มที่ตั้งเป็นศูนย์รับผู้ประสบภัย(กลุ่มโรงทานบางกลุ่มก็รวมอยู่ในนี้) กลุ่มศูนย์รับผู้ประสบภัยนี้ได้จัดหาที่พักที่อาศัยให้ผู้ประสบภัย จัดหาหมอ พยาบาล และยามาให้บริการ กลุ่มนี้มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย และองค์กรอื่นๆอีกหลายองค์กร อีกกลุ่มหนึ่งก็รวบรวมเงินบริจาคจากองค์กรและประชาชนทั่วไปเข้ามาช่วยเหลือช่วยบรรเทาทุกข์ เช่นองค์กรทีวีสีช่อง 3 ช่อง 7 และองค์กรอื่น ๆ อีก องค์กรหรือกลุ่มดังกล่าวนี้ได้ทำงานอย่างมีความสุขเพราะถือว่าได้โอกาสสร้างคุณงามความดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ ถือว่าการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์เป็นความสุขของตน กล่าวได้ว่ากลุ่มนี้มองมหาภัยน้ำท่วมเป็นความสุขเพราะเป็นโอกาสที่ได้ช่วยเหลือช่วยบรรเทาทุกข์ของเพื่อนบ้านที่ร่วมเหตุการณ์ร้ายในชีวิต การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสสนุกสนานตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์จนเหตุการณ์ค่อยๆคลี่คลายลง ในเหตุการณ์มหาอุทกภัยนี้ผู้ที่มองว่าเป็นทุกข์ก็มีโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้ที่บ้านถูกน้ำท่วม ข้าวของเสียหาย ที่นาล่มจม เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ในทรรศนะของพุทธปรัชญาให้มองตรงไปที่ความจริง มองหาสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์แล้วหาทางแก้ไข มองทุกข์ให้เป็นสุข ทำวิกฤติให้เป็นโอกาส หรือมองให้เห็นแง่ดีในเรื่องร้ายๆที่ผ่านมา เมื่อมองเห็นแง่ดีได้ก็จะรู้สึกเป็นสุขมากกว่ารู้สึกเป็นทุกข์ และพร้อมสำหรับการเริ่มต้นใหม่ในทันที
ทรรศนะของกลุ่มธรรมชาตินิยม(Naturalism)
นักปรัชญากลุ่มธรรมชาตินิยมอธิบายพัฒนการและปรากฏการณ์ในสังคมโดยอาศัยกฎธรรมชาติ (Law of nature) เช่นภาวะดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ความแตกต่างทางชีววิทยา และเชื้อชาติ ธรรมชาตินิยมถือธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของสิ่งทั้งหลาย โลกและชีวิตเกิดจากการรวมตัวของปรมาณู เป็นการรวมตัวและจัดระเบียบ ไม่มีผู้สร้าง[4] กล่าวตามแนวคิดของกลุ่มธรรมนิยมก็จบอกได้ว่า มหาภัยน้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมชาติ มนุษย์ไม่มีทางสั่งให้เป็นไปตามใจของตนได้ การพยากรณ์ว่าปีนั้นปีนี้น้ำจะมากหรือจะน้อย ก็เป็นเพียงเรื่องการพยากรณ์ อาจถูกก็ได้ อาจผิดก็ได้ ไม่สามารถรับรองอย่างเต็มที่ได้ แต่ถ้ามีเหตุเช่น มีพายุเข้ามาหลายลูก ก็เป็นสาเหตุที่จะทำให้น้ำมากได้ อันนี้เป็นเรื่องความเป็นเหตุผล มนุษย์ก็ต้องเตรียมรับสถานการณ์กันตามความสามารถ เพราะฉะนั้นกลุ่มธรรมชาตินิยมก็จะบอกว่า เรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องของธรรมชาติ มนุษย์ต้องอยู่ให้ได้ในธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนี้
ทรรศนะของกลุ่มจิตนิยม(Idealism)หรือลัทธิเอกนิยมแบบจิต
กลุ่มนี้ถือว่าจิตใจหรือนามธรรมเท่านั้นที่มีอยู่จริง โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากจิตใจเท่านั้น จิตใจหรือนามธรรมเท่านั้นที่เป็นจริงแท้ ส่วนวัตถุไม่มีอยู่จริง ต้องขึ้นอยู่กับจิตใจหรือนามธรรม หรือเป็นผลพลอยได้จากจิตใจเท่านั้น  แท้จริงแล้วปฐมธาตุมีแต่นามธรรมหรือจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เป็นต้นตอของสรรพสิ่ง พื้นฐานที่สำคัญของสิ่งทั้งหลายมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือจิตหรือวิญญาณ โลกไม่มีอะไรอื่นนอกจากจิตล้วนๆ พฤติกรรมของคนขึ้นอยู่กับการบงการของจิต จิตมีพลังในการสร้างสรรค์ บำรุงรักษา และการทำลายโลก[5]เมื่อสาระของกลุ่มจิตนิยมไปเน้นเรื่องจิตเช่นนี้ ก็หลีกไม่ได้ที่จะต้องอธิบายต่อว่า ที่เกิดมหาภัยน้ำท่วมนี้ก็เพราะจิต จิตบันดาลให้เกิดน้ำท่วม หรือน้ำที่ท่วมนั้นก็คือจิตนั่นเอง อธิบายแนวนี้ดูจะเข้าใจยาก ขออธิบายอีกแนวหนึ่ง คือจิตนิยมบางสำนักจะอธิบายว่าจิตนี้หมายถึงจิตที่ยิ่งใหญ่ซึ่งก็คือพระเจ้านั่นเอง อธิบายแนวนี้มีนักปรัชญาที่ชื่อ เซนต์ โธมัส อไควนัส เป็นตัวอย่าง ถึงกับมีข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า และพระเจ้าก็เป็นผู้สร้างโลกและสร้างสรรพสิ่ง ซึ่งก็สรุปต่อไปจากตรงนี้ว่า ที่น้ำท่วมใหญ่ก็เพราะพระเจ้าบันดาลให้ท่วม เพื่อจะได้ทดสอบว่าใครเป็นคนบุญใครเป็นคนบาป ซึ่งก็พอจะชี้ได้ลางๆว่า กลุ่มไหนเป็นคนบุญ กลุ่มไหนเป็นคนบาป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทรรศนะของกลุ่มสสารนิยมหรือวัตถุนิยม(Materialism)
กลุ่มนี้ถือว่า สสารเป็นสิ่งที่แท้จริง จิตเป็นเพียงปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้น สสารเป็นต้นกำเนิดของจักรวาล มนุษย์มีร่างกายอันเป็นวัตถุ ประกอบด้วยกลไกต่างๆสลับซับซ้อนมาก และสามารถทำงานได้ดุจเครื่องจักรกล ส่วนจิตไม่มีจริง ความรู้สึกนึกคิดเข้าใจอะไรอะไรได้ เป็นผลของการรวมตัวของวัตถุ ถ้าวัตถุไม่รวมตัวอย่างได้สัดส่วนแล้ว ความรู้สึกคิด ความเข้าใจอะไรอะไร จะมีไม่ได้[6] มาถึงตรงนี้ก็ต้องตีความว่า น้ำเป็นสสาร เมื่อเป็นสสารก็เป็นต้นกำเนิดของจักรวาล และหมุนเวียนไปมาอยู่ในโลก ประเดี๋ยวก็หมุนเวียนมาท่วมที่นี่ เดี๋ยวก็หมุนไปท่วมที่โน่น(ห่างไกลออกไป) หมุนเวียนกันอยู่เช่นนี้ เป็นเรื่องของสสาร เป็นเรื่องของสสารที่ไหลเทไปไหลเทมา วันนั้นท่วมหนัก วันนี้หายไปแล้ว กลายเป็นแล้ง อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย แต่ที่เข้าใจยากก็คือทำไมคนต้องเป็นทุกข์เพราะการไปการมาของน้ำ จะไม่เป็นทุกข์ได้หรือไม่
พุทธปรัชญาให้มองปัจจุบันไปสู่อนาคต
จากเหตุมหาภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น พุทธปรัชญาไม่แนะนำให้จมอยู่กับน้ำ ไม่ให้จมอยู่กับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่ผ่านไปแล้ว แต่ให้มองปัจจุบันที่เจ็บช้ำเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีงาม โดยจะมองว่าคนควรดำเนินชีวิตอย่างไรในวันนี้และวันต่อไป ซึ่งก็คือการดำเนินชีวิตที่พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ทรรศนะไว้ คือ เว้นชั่ว 14 ประการ เตรียมทุนชีวิต 2 ด้าน และรักษาความสัมพันธ์ 6 ทิศ ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ เว้นชั่ว 14ประการได้แก่ 1.ไม่ทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต 2.ไม่ลักทรัพย์ละเมิดกรรมสิทธิ์ 3.ไม่ประพฤติผิดทางเพศ 4.ไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง 5.ไม่ลำเอียงพระชอบ 6.ไม่ลำเอียงเพราะชัง 7.ไม่ลำเอียงเพราะขลาด 8.ไม่ลำเอียงเพราะเขลา 9.ไม่เสพติดสุรายาเมา 10.ไม่เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา 11.ไม่จ้องหาแต่รายการบันเทิง 12.ไม่เหลิงไปหาการพนัน 13.ไม่พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว 14.ไม่มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน เตรียมทุนชีวิต 2 ด้าน คือ 1.เลือกสรรคนที่จะเสวนา 2.จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ รักษาความสัมพันธ์ 6 ทิศ คือการปฏิบัติตามหลักทิศ 6 ที่กล่าวไว้ในพุทธปรัชญา[7]การดำเนินชีวิตตามแนวที่กล่าวแล้วนี้ จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองไปภายหน้า เพราะน้ำท่วมใหญ่ก็ผ่านไปแล้ว จะมัวแต่โศกเศร้ากับสิ่งที่ผ่านมา ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น มองให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือบทเรียนของชีวิต ใช้สิ่งนั้นเสริมแรงให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้
บทสรุป
น้ำเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตก็จริง มันจะเป็นประโยชน์เมื่อมาตามความจำเป็น พอเหมาะสม ถ้ามามากเกินคนก็เดือดร้อน เช่นที่มามากจนท่วมบ้านท่วมถนน แต่ถึงอย่างไรคนก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ แม้ว่าในวันที่มีน้ำน้อยก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำที่มีจำนวนน้อย คนต้องคำนึงว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดนั่นเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย สำหรับเรื่องการมอง มุมมอง หรือท่าทีที่คนมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น มีมากมายหลายรูปแบบ ดังเช่นที่คนมองเรื่องน้ำท่วมที่ผ่านมา บางคนมองเห็นเป็นความทุกข์ เป็นปัญหาร้ายแรง บางคนมองว่าเป็นสิ่งท้าทายที่จะต้องแก้ไขเอาชนะให้ได้ บางคนก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ในมุมมองของนักปรัชญามองว่าน้ำเป็นปฐมธาตุของโลก น้ำเป็นวัตถุธรรมชาติ น้ำเป็นสสาร และน้ำก็เป็นจิต ซึ่งมีเหตุผลมีคำอธิบายต่างกันไป ถ้าถามว่าน้ำท่วมเป็นเพราะว่าปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นหรืออย่างไร ทำไมจึงมาท่วมปีนี้ ปีก่อนนี้ทำไมจึงไม่ท่วม? ถ้าตอบว่าน้ำท่วมเพราะปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีเหตุผลตามมาว่าปริมาณน้ำของโลกเพิ่มขึ้นเพราะหิมะและธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้นกว่าเดิมซึ่งเป็นผลมาจากโลกร้อน ถ้าตอบว่าปริมาณของน้ำคงที่ไม่มีเพิ่มขึ้นเพราะที่หิมะและธารน้ำแข็งละลายมานั้นก็ละเหยกลายเป็นไอไป ปริมาณน้ำเท่าเดิมทำไมจึงเกิดน้ำท่วม อาจตอบได้ว่าเพราะลมมรสุมหลายลูกไปอุ้มฝนมาตกมากในที่เดียว น้ำก็เลยท่วม นักวิชาการหลายท่านก็เตือนว่ากรุงเทพมหานครจะจมอยู่ใต้น้ำในโอกาสต่อไปภายหน้า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจเป็นเพราะปริมาณน้ำมีมากขึ้น หรืออาจเป็นเพราะแผ่นดินบริเวณที่ตั้งกรุงเทพมหานครทรุดตัวลง ในกรณีนี้น้ำไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่แผ่นดินมันยุบลงไปเอง อย่างไรก็ตาม ก็มองน้ำท่วมในมุมมองของนักปรัชญาก็เป็นการมองหลายๆมุม ประกอบด้วยเหตุผลหลายๆด้าน ที่สำคัญคือต้องไม่เครียดไม่เป็นทุกข์ เป็นการมองแบบผู้รู้รอบด้าน มองหาความจริงหลายๆด้าน มองด้วยปัญญา การมองแต่ละด้านแต่ละมุมก็จะเป็นจิ๊กซอหลายชิ้นที่สามารถครอบคลุมความจริงไว้ได้ทั้งหมด การคิดหาทางแก้ไขก็จะเป็นเรื่องต่อไปเมื่อมองเห็นความจริงทั้งหมดแล้ว ในพุทธปรัชญาเสนอแนวทางปฏิบัติไว้ดังกล่าวแล้ว แนวทางนี้ใช้ได้ทั้งในเวลาที่น้ำท่วมและเวลาที่น้ำไม่ท่วม ใครที่เข้าใจพุทธปรัชญาก็จะเป็นคนที่เป็นอยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งเวลาน้ำท่วมและเวลาน้ำไม่ท่วม.
บรรณานุกรม
พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). ปรัชญากรีก-บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม
 บริษัทเคล็ดไทย จำกัด, 2540. 
สื่อสารมวลชน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 ถึงประมาณวันที่ 15
 มกราคม พ.ศ.2555.
รศ.สถิตย์ วงศ์สวรรค์. ปรัชญาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด, 2543. 
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). ธรรมนูญชีวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม. พิมพ์ครั้งที่ 180. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
 โนเบิ้ล พริ๊นต์, 2554, 
สมภาร พรมทา. พุทธปรัชญา มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม. กรุงเทพฯ : โครงการตำรา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542.
สนิท ศรีสำแดง. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา. กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์, ม.ป.ป.


[1]พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). ปรัชญากรีก-บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม บริษัทเคล็ดไทย จำกัด, 2540). หน้า 36.
[2]เรื่องเดียวกัน, หน้า 36-37.
[3]รายละเอียดปรากฏตามข่าวในสื่อสารมวลชน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 ถึงประมาณวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2555.
[4]รศ.สถิตย์ วงศ์สวรรค์. ปรัชญาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด, 2543). หน้า 81.
[5]เรื่องเดียวกัน, หน้า 82-83.
[6]เรื่องเดียวกัน, หน้า 75.
[7]ดูรายละเอียดใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). ธรรมนูญชีวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม. พิมพ์ครั้งที่ 180. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โนเบิ้ล พริ๊นต์, 2554), หน้า 1-12.
(ที่มา: -)