เราจะสร้างความปรองดองของคนในสังคมไทยได้อย่างไร
11 มิ.ย. 59 | พระพุทธศาสนา
1870
ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
(2553) |
๑. เกริ่นนำ
ในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ของความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงในมิติต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และจากการศึกษาวิเคราะห์จะพบว่า มีตัวแปรสำคัญหลายประการที่นำไปสู่การแสดงออกในลักษณะดังกล่าว เช่น การแย่งชิงผลประโยชน์ และความต้องการ การนำเสนอ และเข้าใจข้อมูลคนละชุด ความสัมพันธ์ที่แปลกแยกระหว่างคนสองกลุ่ม หรือมากกว่า และความเห็นต่างกันอย่างสุดขั้วเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
คำถามมีว่า เราจะร่วมมือกันในการสังคมที่พึงปรารถนาคือ “สังคมแห่งความปรองดองได้อย่างไร” เพื่อให้สอดรับกับปณิธานที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า “ความพร้อมเพียงแห่งหมู่คณะ นำความสุขมาให้” โดยการนำเสนอหลักการนี้ผ่านหมวดธรรมต่างๆ เช่น ย้ำเน้นให้คุณค่าค่าของความพร้อมเพียงในการประชุมเพื่อแบ่งปันความคิด และปรึกษาหารือกันตามหลักอปริหานิยธรรม และการคิด การใช้คำพูด และแสดงออกต่อกันในเชิงบวกที่ก่อให้เกิดการระลึกนึกถึงกันของคนในสังคมตามหลักสาราณียธรรม
๒. สังคมไทย: สังคมแห่งไฟเผาลน
ไฟกองที่ ๑: ไฟคือความอยาก กำหนัด และพึงพอใจอยู่ในโลกธรรม จนถูกโลกธรรมครอบงำ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา ประเด็นคือ เรามัวแต่ไปคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะยืนยงคงอยู่กับเราได้อย่างยาวนาน แต่ความจริงคือ สิ่งเหล่านี้ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่มีใครไปบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจของเราได้ ฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจความจริงข้อนี้ เราจะพบว่า ถ้าอยากจะมีความสุข อย่าประยุกต์สิ่งทั้งผองเป็นของฉัน
ไฟกองที่ ๒: ไฟคือโทสะ เราอยู่ในสถานการณ์ของความเกลียดชังมาหลายปีแล้ว และในปัจจุบันนี้ความเกลียดชังก็ยังคงอยู่ และนับวันจะฝังรากลึก ร้อนรนอยู่ภายในใจ จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ พบว่า ความเกลียดชังมีจุดเริ่มจากความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งด้านข้อมูล ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ ค่านิยม และโครงสร้าง แต่เพราะความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการในวิถีทางที่ไม่เหมาะสม หรือถูกกดทับด้วยอำนาจ หรือสิ่งอื่นๆ เอาไว้ จึงทำให้ความขัดแย้งได้กลายพันธุ์ไปสู่ "ความรุนแรง" ดังที่ปรากฏในสถานการณ์ปัจจุบัน และแม้ว่าฝ่ายใดจะชนะ หรือแพ้ แต่อุณหภูมิของความเกลียดชังยังฝังตัวอยู่ และรอเวลาที่จะปะทุอีกครั้งในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์"
ไฟกองที่ ๓: ไฟคือโมหะ ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ บางแง่มุมของเมืองไทยเป็นเมืองแห่ง "โมหะ" หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "สังคมแห่งอวิชชา" หรือ "เป็นเมืองแห่งความไม่รู้" กล่าวคือ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรชั่ว ไม่รู้ว่า อะไรสูง อะไรต่ำ และนำไปสู่สังคมแบบไม่รู้ไม่ชี้
๓. ทางรอดของสังคมไทย: น้ำสามขันผันไปสู่ความปรองดอง
น้ำขันที่ ๑: ถอนความยึดมั่น (ดับไฟคือราคะ)
ในขณะที่แต่ละคน แต่ละกลุ่มพากันยึดมั่น หรือมุ่งมั่นในคำว่า "การแพ้ หรือชนะ" ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นว่า "ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์" ผู้ชนะอาจจะลิงโลดใจ และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองได้รับ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตามล้าง ตามล่ากลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ และแนวคิดของตัวเอง หรือกลุ่มตัวเอง ซึ่งการแสดงออกแบบนี้ นำไปสู่การก่อเวรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่คิดว่าตัวเอพ่ายแพ้ต่อการเรียกร้อง ก็ย่อมแสวงหาแนวทาง หรือช่องทางที่จะทำให้ตัวเองประสบกับชนะในอนาคต ซึ่งประเด็นที่ของการหาช่องทาง อาจจะเกิดความคิดขึ้นแบบมาเคียวารีที่ว่า "ขอเพียงประสบกับชัยชนะ อย่าไปสนใจวิธีการ" ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเวรต่อไปเช่นเดียวกัน
ฉะนั้น การลดทอนความยึดมั่นในชนะ หรือพ่ายแพ้ โดยการเปิดพื้นที่หันมาสร้างกฎกติกาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจร่วมกัน นับเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายควรให้ความใส่ใจ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคำสั่งนายก ๖๖/๒๓ โดยไม่พยายามคนที่จะกันคนไม่เห็นด้วยออกไปจากสังคม แต่ควรดึงคนทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมแสวงหาทางเลือก และสร้างกติกาที่ทุกคนย่อมรับได้และปฏิบัติได้ รวมไปถึงความพึงพอใจต่อทางเลือกดังกล่าว
น้ำขันที่ ๒: แบ่งปันความรัก (ดับไฟคือโทสะ)
การแบ่งปันความรักมีผลต่อการทำลายล้าง "อุกศลธรรมตัวโทสะ" ความรัก ความปรารถนาดี และความเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเพื่อนมนุษย์มีความทุกข์" นับเป็น "ภูมิปัญญาไทย" ที่คงอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพียงแต่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้เราหลงลืมคุณค่าของ "ความเมตตากรุณา" ซึ่งเคียงคู่มากับสังคมแบบเกษตรกรรมมาอย่างยาวนานในสังคมไทย คำถามสำคัญคือ ความเมตตากรุณาใช่ไม่ได้กับสังคมแบบทุนนิยม หรือว่าใช่ได้อยู่ แต่เราไม่ค่อยนำมาใช่อย่างเต็มกำลัง
ความจริง ความรัก และความเอื้ออาทร เป็นหลักการสำคัญที่จะทำหน้าที่ในการ "เชื่อม" วัตถุ มนุษย์ และธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันอย่าง "ประสานสอดคล้อง" ซึ่งรวมไปถึงการเมืองซึ่งควรเป็นการเมืองแบบเมตตา และเอื้ออาทรแก่เพื่อนมนุษย์ เปิดพื้นให้แก่คนอื่นและสิ่งอื่นเพื่อให้มีที่หยิบ ที่ยืน อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ฉะนั้น เหนือนอกจากการแบ่งปันความรักให้โลก หรือสังคมสดใสแล้ว ยังรวมไปถึง การแบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพด้วย เพราะในแต่ละวัน มนุษย์กำลังแบ่งปันลมหายใจระหว่างกัน และกัน รวมไปถึงกันหายใจเอาลมหายใจของกันและกันเข้าไปด้วย หากลมหายใจของเราเต็มไปด้วยสันติ เราก็ได้หายใจเอาลมหายใจแห่งสันติเข้าไปด้วย หากเป็นลมหายใจแห่งความเร้าร้อน เราก็ได้รับลมหายใจเช่นนี้เข้าไปด้วย
น้ำขันที่ ๓: ประจักษ์สรรพสิ่งชัดด้วยปัญญา (ดับไฟคือโมหะ)
คำถามมีว่า "มนุษย์อับจนปัญญา" หรืออย่างไร เราจึงไม่สามารถพาตัวเอง หรือสังคมออกไปจาก "กับดักของความรุนแรง และความเห็นต่างได้" คำตอบคือ "ไม่" แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ ปัญญาที่มนุษย์มีนั้น เป็น "ปัญญาแบบโลกิยะ" ที่จะพาตัวเองรอดเท่านั้น เราจึงเรียก ปัญญาที่เรามีตอนนี้เป็น "ปัญญาที่ขาดเมตตา และกรุณา" เป็นปัญญาที่เอาตัวเองรอดตาม "สัญชาตญาณ" ที่พยายามจะหาวิธีการและออกแบบวิธีการเพื่อเอาตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองให้รอด
ในขณะเดียวกัน การที่มนุษย์ไม่ประจักษ์สรรพสิ่งตามเนื้อผ้า หรือตามที่ความเป็นจักษ์ เพราะบางคน หรือบางกลุ่ม เลือกที่จะเสพ หรือสื่อในมุมที่ตัวเองมองว่า เกิดประโยชน์สูงสูดต่อตัวเอง หรือกลุ่มตัวเอง ด้วยเหตุนี้ การพูด การแสดงออก หรือการคิดจึงติดกับ หรือตกหลุมพรางของ "โมหะ" ที่ขาดหลัก "วิภัชชวาท" คือการแยกแยะว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรสูง อะไรต่ำ
๔. ความยุติธรรมไม่มา ความสามัคคีไม่เกิด
ความยุติธรรมในสังคมเป็นรากฐานของความเจริญ สังคมใดก็ตามที่ขาดความยุติธรรมไม่อาจก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ไม่ว่าจะเป็นความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคมหรือจิตใจ หากสังคมไร้ซึ่งความยุติธรรมจะก่อให้เกิดความทุกข์ ความขัดแย้ง การเสียกำลังใจ และนำไปสู่วิกฤติด้านต่าง ๆ รวมทั้งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ ฉะนั้น ความยุติธรรมในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ความสามัคคี หรือความพร้อมใจกันจะเกิดขึ้นได้ในสังคมนั้น ต้องเกิดจาก “ความเท่าเทียม” ของคนในสังคม ทั้งในด้านผลประโยชน์ หรือการต่อรองความยุติธรรมเป็นเครื่องมือประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความ “สามัคคี” ให้เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน หากมองในมิตินี้จะพบว่า สามัคคีคือเป้าหมาย (Goal) ส่วนความยุติธรรมคือเครื่องมือ หรือตัววิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมแบบพหุนิยม (Pluralism) ที่ประกอบด้วยกลุ่มคน กลุ่มผลประโยชน์ ต่างๆ และกลุ่มขัดแย้งหลายกลุ่ม ฉะนั้น การนิยาม หรือให้ความหมายของคำว่า “ยุติธรรม” ย่อมมีความเห็น มุมมอง และแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน และย่อมเป็นเรื่องยากที่จะหาบทสรุป หรือหาความหมายร่วมกันในระยะเวลาอันสั้น
ถึงกระนั้น ประเด็นเรื่องการสร้าง “กติการ่วม” (Ground Rules) นับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่สังคมไทยจะต้องสร้างเวทีเพื่อหาบทสรุปร่วมกันโดยอาศัยความร่วมมือจากองคาพยพต่างๆ ในสังคมบนบาทฐานหลักการต่างๆ เช่น หลักอปริหานิยธรรม โดยการดึงภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเห็นต่างเข้ามาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวลา และสถานที่ที่เหมาะสม (Inclusive Society) เพื่อให้เกิดกระบวนแบ่งปันข้อมูลที่รอบด้าน โดยไม่พยายามที่จะผลักคนที่เห็นต่างออกไปจากสังคมไทย (Exclusive Society)
กรณีศึกษาที่สำคัญยิ่งในประเด็นนี้คือ หากมองในเชิงพุทธ สังคมที่พระพุทธเจ้าปรารถนาจะเห็นคือ “สังคมแห่งความพร้อมเพรียง” เพราะว่า “ความพร้อมเพียงแห่งหมู่คณะ นำความสุขมาให้” สังคมแบบพหุนิยมนั้นเป็นสังคมที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ได้ดำรงอยู่อย่าง “มีศักดิ์ศรี” และ “เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน” และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ “การสร้างกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อทำให้สังคมของพระองค์เพียงพอที่จะรองรับกลุ่มคนต่างๆ ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม เพื่อใช้ความยุติธรรมเป็นเครื่องสร้าง “สามัคคีธรรม” ให้เกิดขึ้น และพร้อมที่จะรองรับบรรยากาศแห่ง “สันติธรรม” ในลำดับต่อไป
๕. ความเป็นคู่กับความปรองดองเกี่ยวข้องกันอย่างไร
เราต้องอยู่ให้เหนือ "ภาวะแห่งความเป็นคู่ไปให้ได้" มิฉะนั้นแล้ว มนุษย์ก็ต้องมานั่งร้องไห้ เจ็บปวด และทรมานเช่นนี้อย่างไม่หยุดหย่อน ธรรมะที่เป็นคู่ เช่น ลาภ เสื่อมเลื่อม ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา ชอบ และไม่ชอบ เป็นต้น โดยพยายามที่จะทุกอย่างตามที่มันเป็นตามหลัก "กาลามสูตร" อย่างเพิ่งเชื่อเพียงเพราะสิ่งที่ได้ยินมา หรือเชื่อกันมา หรือเป็นอาจารย์ หรือคนที่เรารักและนับถือ โดยขาดการไตร่ตรองด้วยเหตุ ด้วยผลอย่างประจักษ์ชัด
มนุษย์ในสังคมปัจจุบัน "ตกหล่มเพราะสิ่งที่เรา หรือคนที่ชอบหรือไม่ชอบ" หากสิ่งใดไม่พึงใจ หรือปรารถนาของเรา เราก็จะทุกข์หรือทรมานกับสิ่งนั้น กล่าวคือ เรามักจะนำสิ่งที่ผิดปกติ หรือไม่ปกติของคนอื่นมาทำงานความเป็นปกติของเรา" การสุข หรือทุกข์ของเรา มักจะต้องพึ่งพิงกับคนอื่นหรือสิ่งอื่นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น การดำรงอยู่ชีวตให้อยู่เหนือภาวะความเป็นคู่ ชอบไม่ชอบ ดีใจ เสียใจ จะทำให้เรารู้เท่าทันความคิดของเรา และมีความสุขกับการดำเนินชีวิตบนฐานของสังคมที่กำลังขัดแย้งได้อย่างรู้ ตื่น และเบิกบาน บนสายธารแห่งธรรม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน
http://gotoknow.org/blog/peaceful-means/363744
http://www.thaipbs.or.th/s1000_obj/front_page/page/1058.html?content_id=256724&content_detail_id=696764&content_category_id=712
|
(ที่มา: บทความทางวิชาการ) |
|
|