บทความวิชาการ
อภัยทานกับการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย
15 ก.ย. 59 | พระพุทธศาสนา
11159

ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. (2553)

 

๑. เกริ่นนำ

        คำว่า “สมานฉันท์” เป็นวลีที่มีการกล่าวถึงและถูกนำไปใช้สร้าง “วาทกรรม” เพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์ และอำนาจของกลุ่มบุคคลตามบริบทต่างๆ ในสังคมไทยยุคปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง และแพร่หลาย การเกิดขึ้นของวลีนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้อาจจะสะท้อนให้เราได้เห็นถึง
        (๑) กลุ่มคนในสังคมขัดแย้งระหว่างกันและกัน จนความขัดแย้งดังกล่าวพัฒนาไปสู่ความรุนแรง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนทำให้ฝ่ายต่างๆ หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ไม่สามารถการเจรจาและแสวงหาทางหาทางออกที่แต่ฝ่ายพึงพอใจได้
        (๒) ผลจากข้อที่ ๑ ทำให้กลุ่มคนซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าว จำเป็นต้องนำเสนอ “วาทกรรม” นี้ขึ้น เพื่อย้ำเตือนให้แต่ละฝ่ายได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จากวิกฤติการณ์ดังกล่าว ได้หันมาให้ความใส่ใจ สำนึกรู้ และดำเนินการจัดการกับปัญหาต่างๆ ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง
        ข้ออ้างและเหตุผลของการเรียกหา “สมานฉันท์” อาจจะก่อให้เกิดการตั้งคำถามทั้งในแง่บวกและลบเช่นกัน กล่าวคือ อาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินชีวิต และธุรกิจ หรืออาจจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองของกลุ่มการเมืองที่ปรารถนาจะแสวงหาผลประโยชน์จากวาทกรรมนี้เพื่อการดำรงอยู่แห่งอำนาจที่พึงมีพึงได้
        อย่างไรก็ดี ไม่ว่ากลุ่มต่างๆ จะเรียกร้อง “สมานฉันท์” เพื่อผลประโยชน์อันใดก็ตาม แต่ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องตั้งคำถามคือ “การที่จะได้มาซึ่งความสมานฉันท์” นั้น เราควรพัฒนา “ตัวแปร” ตัวใดมากที่สุด เพื่อให้ตัวแปรดังกล่าวได้ทำหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ความสมานฉันท์ได้ผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
        “อภัยทาน” เป็นวลีสำคัญที่บทความนี้จะให้ความสำคัญ เพราะผู้เขียนมีสมมติฐานว่า “หากเราพัฒนาอภัยทานให้ทำงานอย่างเต็มกำลังแล้ว ความสมานฉันท์จะเป็นผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นตามมา” คำถามคือ เราจะศึกษาพัฒนา และตีความอภัยทานอย่างไร จึงจะก่อให้เกิดผลในเชิงบวกต่อไป เพราะหลายท่านมักจะตีความว่า “อภัยทาน” คือ “เลิกแล้วต่อกัน” หรือ “ยอมกัน” และ “ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน” หากเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดคำถามจากผู้ถูกกระทำว่า “ไม่เป็นธรรมสำหรับเขา” เพราะว่าเขาได้รับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส หรือไม่ได้ความเป็นธรรม และความยุติธรรมจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
        การศึกษา และทำความเข้าใจ “อภัยทาน” อย่างรอบด้าน ย่อมบังเกิดผลในเชิงบวกต่อทัศนคติ และท่าทีในการแสดงออกของกลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่กำลังยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง ได้ตระหนักรู้ว่า ในที่สุดแล้ว การไม่สามารถที่จะทะลายจุดยืน หรือการไม่พยายามที่จะเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกันกัน จะก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเอง และสังคมในระยะยาวอย่างไร ดังนั้น คำว่า “อภัยทาน” อาจจะสัมพันธ์กับความรู้สึกว่า “เขาได้รับความเป็นธรรม ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ในชุมชนและสังคมมากน้อยเพียงใด

๒. การให้อภัย (อภัยทาน) คืออะไร

        คำว่า “อภัยทาน” ประกอบขึ้นจากคำสามคำ กล่าวคือ “อ+ภย+ทาน” แปลว่า “การให้ความไม่กลัว” หรือ “การให้ความไม่มีภัย หรือให้ความปลอดภัย” ซึ่งหมายถึง การอดโทษ หรือการยกโทษให้แก่กัน ไม่ถือโทษโกรธพยาบาทอาฆาตจองเวรต่อกันอีกต่อไป การให้ในลักษณะนี้เป็นการสร้างบรรยากาศของสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดยการที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลได้แสดงให้บุคคลอื่น หรือกลุ่มบุคคลอื่นไม่มีความเกรงกลัว ขลาดกลัว หรือหวาดระแวงต่อการคิด พูด และการกระทำของเรา อันเป็นการเปิดพื้นที่ให้จิตของเราได้มีโอกาสให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา หรือขออภัยต่อบุคคลอื่นในสิ่งที่เราได้ล่วงละเมิดในวิถีทางที่ไม่เหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การไม่จองเวร หรือพยาบาทซึ่งกันและกัน

๓. อภัยทานเป็นที่มาของความสมานฉันท์ได้อย่างไร

        พระพุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นจุดเด่นของ “การให้” อย่างน้อยสองประการ กล่าวคือ ว่า “ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้” และ “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบเขา” หลักการเช่นนี้เป็นการให้ความสำคัญแก่ “ผู้ให้” ซึ่งได้รับการยอมรับจาก “ผู้รับ” หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงความชื่นชมต่อการให้ แม้จะไม่ได้เป็นผู้รับโดยตรงก็ตาม ฉะนั้น การให้ที่นำไปสู่การผูกมิตร และนำมาซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในบรรยากาศของความขัดแย้งกันก็คือ “การให้อภัย” เหตุผลสำคัญของการให้อภัยเกิดจากพื้นฐานทางความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “ใครบ้างไม่มีโทษ ใครบ้างไม่มีความผิด ใครบ้างไม่ถึงความหลงใหล ในโลกนี้ ใครเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทุกเมื่อเล่า” ฉะนั้น “เมื่อเราขอโทษอยู่หากบุคคลใดไม่ยอมยกโทษให้ ยังมีความโกรธอยู่ภายใน มีความแค้นเคืองหนัก บุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมผูกเวร” ซึ่งการผูกเวรดังกล่าวจึงนำไปสู่ผลลบแก่มนุษย์เอง และสังคม ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การให้อภัยจึงมีความสำคัญแก่วิถีชีวิต และการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งในเชิงปัจเจกและสังคมในหลายมิติด้วยกัน คือ

        ๓.๑ การให้อภัยเป็นจุดเริ่มของมิตรภาพที่ยั่งยืน 

        “มิตรภาพ” เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข และสามารถทำงาน หรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในทิศทางที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลในสังคม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ความสัมพันธ์ของคู่กรณีที่เสื่อมโทรมลงไป ฉะนั้น การขออภัย และการให้อภัยนั้น จึงนำไปสู่การรื้อฟื้นมิตรภาพขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าการรื้อฟื้นดังกล่าว จะนำไปสู่แง่มุมในเชิงบวกต่อสัมพันธภาพที่ดีระหว่างมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้นดังคำกล่าวที่ว่า “หากว่าในโลกนี้ โทษไม่มี ความผิดไม่มี และเวรทั้งหลายไม่สงบ บุคคลในโลกนี้พึงเป็นผู้ฉลาดได้อย่างไร”
        ฉะนั้น ความฉลาด หรือปัญญาจะเกิดขึ้นจากคู่กรณีได้ตระหนักรู้ความผิดพลาดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ด้วยเหตุนี้สัมพันธภาพที่ดีจะเกิดขึ้นดังที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า “คนที่รู้โทษที่ตนล่วงเกินแล้ว และคนที่รู้จักการให้อภัย  ทั้ง ๒ คนนั้นจะสมัครสมานกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของพวกเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย  ผู้ใดเมื่อชนเหล่าอื่นล่วงเกินกัน  เขาสามารถประสานชนเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง   ผู้นั้นแหละเป็นผู้ยอดเยี่ยม”

        ๓.๒ การให้อภัยเป็นหว่านเมล็ดพันธุ์ของมิตรภาพให้งอกงาม

        การให้อภัยจัดได้ว่าเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ของมิตรภาพระหว่างคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันให้งอกเงยและงอกงามขึ้น จะเห็นว่า ในขณะที่คู่กรณีขัดแย้งกันในประเด็นต่างๆ เช่น ข้อมูล ค่านิยม หรือผลประโยชน์ อันจะนำไปสู่การสร้างกำแพงระหว่างกัน ฉะนั้น การให้อภัย หรือการขออภัยจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คู่กรณีได้มีโอกาสหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก และความรู้สึกที่ดีต่อกัน ดังจะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ เช่น นิโครธปริพาชกซึ่งได้ยอมรับผิดว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความผิดได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้โง่ เขลา ไม่ฉลาด... ขอพระองค์โปรดทรงรับทราบความผิดของข้าพระองค์ตามความผิดเถิด เพื่อจะได้สำรวมต่อไป” โดยพระองค์ได้ทรงให้อภัยว่า “นิโครธ เอาเถิด ความผิดได้ครอบงำท่านผู้โง่ เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งได้กล่าวกับเราอย่างนี้ แต่เธอเห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพตามความเป็นจริง ดังนั้น เราขอรับทราบความผิดนั้นของท่าน ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพออกมาตามความเป็นจริง รับว่าจะสำรวมต่อไป วิธีนี้เป็นความเจริญใน อริยวินัย” หรืออีกกรณีหนึ่งที่พระองค์ทรงให้อภัยแก่พระเจ้าอชาตศัตรูที่สมรู้ร่วมคิดกับพระเทวทัตต์ลอบทำร้ายพระองค์ในรูปแบบต่างๆ แต่พระองค์ก็ได้ทรงให้อภัยในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับนิโครธปริพพาชก
        การที่พระองค์ได้ทรงให้อภัยแก่นิโครธปริพพาชก และพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นจัดได้ว่าเป็นการหวานมิตรภาพให้เจริญงอกงามภายในใจของผู้ที่ปองร้ายพระองค์ ซึ่งการให้อภัยได้ทำให้ทั้งสองท่านดังกล่าว ได้แสดงความชื่นชม และยอมรับในความเป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ต่อคู่กรณี

        ๓.๓ การให้อภัยเป็นการชำระใจ และให้ใจได้พักผ่อน

        ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นถึง “ความโกรธ” เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความโกรธอย่าได้ครอบงำท่านทั้งหลาย  และท่านทั้งหลายอย่าได้โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ  ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียน
ย่อมมีในท่านผู้ประเสริฐทุกเมื่อ  ความโกรธเป็นดุจภูเขา ย่ำยีคนเลว ฉะนี้แล”
        ฉะนั้น การให้อภัยจัดได้ว่าเป็นการสละอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดภายในใจของเรา และเป็นการพื้นที่ให้อารมณ์ที่เป็นกุศลได้เจริญงอกงามขึ้นภายในใจ จะเห็นการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเก็บความโกรธแค้นไว้นานโดยไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะให้อภัยเพื่อนมนุษย์นั้น ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการ “สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ความโกรธ” อันจะนำไปสู่การให้คุณค่า และราคาของความโกรธแค้นั้นสูงขึ้น เนื่องจากค่าเก็บรักษาอารมณ์ชนิดนี้มีราคาค่างวดที่แพง บิลของโกรธจะประกอบไปด้วยรายการค่าหัวใจเสื่อม ความดันโลหิตพุ่งสูง นอนไม่หลับ เครียด อาจตามมาด้วยมะเร็งและความตายก่อนวัย คิดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว แพงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตอนแรกหลายร้อยเท่า ด้วยเหตุดังกล่าว หากเราสามารถปล่อยวางความโกรธแค้นนี้ได้เร็วเท่าใด ความเสียหายโดยภาพรวมก็ลดลงเท่านั้น และเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถปล่อยวางก็มีเพียงชนิดเดียวคือ การให้อภัย

        ๓.๔ การให้อภัยเป็นการเคาะสนิมแห่งความเลวร้ายออกจากใจ

        สนิมที่มักจะเกาะกัดกินเราอยู่เนืองๆ คือ “สนิมในใจ” กล่าวคือ สนิมในลักษณะนี้เมื่อเกิดขึ้นจะเป็นตัวบั่นทอนศักยภาพทางการคิด การพูด และการกระทำให้เป็นไปในเชิงลบมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าเราจะทำงาน นอน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ใดก็ตาม มักจะมีภาพของความขุ่นมัวทางใจที่เกิดจากความผิดพลาดของเรา หรือสิ่งที่คนอื่นๆ ทำให้เราไม่สบายใจ ในขณะเดียวกัน เราก็มักจะเก็บอารมณ์แห่งความขุ่นมัวต่างๆ มาปรุงแต่ง มาย้ำคิด ย้ำทำ ผลที่จะเกิดขึ้นตามก็คือ “หัวใจที่ถูกสนิมทางอารมณ์กัดกินอยู่ตลอดเวลา”
        การออกจาก “กับดัก” ดังกล่าวคือ การที่เราได้พยายามเคาะสนิมแห่งความเลวร้ายทางใจเพื่อที่จะได้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ หรือบุคคลที่มีส่วนทำให้ใจของเราขุ่นมัว ซึ่งการแสดงออกในลักษณะนี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากพระภิกษุสองรูปที่เป็นประดุจพี่น้องกัน ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ต่อมาทั้งสองรูปได้ขัดแย้งกัน ผลจากความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ทั้งสองรูปมีความรู้สึกผิดที่ไม่ยินยอมพูดคุย และหาทางออกร่วมกัน การเก็บงำความรู้สึกผิดได้กลายเป็นสนิมที่บอนเสาะใจของทั้งคู่ ในขั้นสุดท้าย เมื่อไม่สามารถจะทนกระแสความไม่ลงรอยจึงได้ร่วมเปิดใจเพื่อหาทางออก และผลจากจากการเปิดใจทำให้พบว่า สิ่งที่แต่ละท่านมองว่าเป็นความผิดพลาดในอดีต มิใช่ข้อมูลที่เป็นจริงแต่ประการใด ฉะนั้น จะเห็นว่า การเปิดใจเพื่อให้อภัยระหว่างต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น ได้ทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสเคาะสนิมแห่งความเลวร้ายออกไปจากใจ และทำให้การดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยความปกติสุข

        ๓.๕ การให้อภัยไม่ใช่การสูญเสีย แต่เป็นการ “ได้” อย่างไม่มีขีดจำกัด

        บางครั้งเรามักจะคิดว่า “การให้อภัย” เป็นการสูญเสีย เช่น การเสียศักดิ์ศรี เสียหน้า และเสียเปรียบ เนื่องจากเราได้ยอมคู่กรณีที่เคยล่วงละเมิด หรือทำให้เราประสบกับความทุกข์ หรือเจ็บปวดในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแสดงออกด้วยการให้อภัยในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็น “การได้อย่างมีขีดจำกัด” การได้ที่เกิดจากการให้อภัยสามารถประเมินได้จากหลายด้าน กล่าวคือ 
        (๑) ได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้พัฒนา ปรับปรุง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวมิได้ส่งผลในเชิงบวกต่อเราเท่านั้น แต่ได้ส่งผลต่อคนข้างเคียงคนอื่นๆ ของเขาด้วย เช่น ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน
        (๒) ได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้เคยกระทำผิดพลาด เพราะบางครั้งการที่เราไม่ให้อภัยก็ถือได้ว่าเป็นการปิดช่องทางมิให้คู่กรณีได้แสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการรับผิดชอบดังกล่าวอาจจะไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเราโดยตรง แต่หมายถึงการรับผิดชอบสาธารณะ (Public Accountability) ที่จะต้องแสดงออกต่อคนอื่นๆ ในสังคม
        (๓) ได้เปิดโอกาสให้ใจของตัวเองได้เรียนรู้ที่จะให้อภัยคนอื่นๆ และผลที่เกิดต่อตัวเองก็คือ การปล่อยวาง ไม่น้อมใจเข้าไปแบกรับความเลวร้าย หรือความขุ่นมัวที่จะเกิดตาม ซึ่งจะทำให้ใจเข้าถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง โดยไม่ขึ้นตรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อาจจะส่งผลต่อความทุกข์ หรือปัญหาที่จะเกิดขึ้น
        (๔) ได้เพื่อน หรือมิตรภาพที่ยั่งยืนจากคนอื่นๆ ในสังคม เพราะการให้อภัยเป็นการซ่อมแซมมิตรภาพที่เสื่อมทรุด หรือพังทลายลงให้คืนกลับมา แต่การรื้อ และสร้างใหม่ของมิตรภาพในลักษณะนี้จะทำให้สัมพันธภาพระหว่างคู่กรณีเต็มไปด้วยการรัก เคารพ และให้เกียรติระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

        ๓.๖ การให้อภัยเป็นการสร้างบารมีขั้นสูงสุด

        พระพุทธศาสนาถือว่า การให้อภัยเป็นการบำเพ็ญบารมีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกการให้ (ทาน) ชนิดนี้ว่า “มหาทาน” เพราะว่าการให้ในลักษณะนี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศมีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทุกฝ่าย
        จะเห็นว่า การให้อภัยเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปจะทำได้ยากอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากนี่เอง การให้อภัยจึงได้ชื่อว่าเป็นมหาทาน หรือเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ และยากต่อการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแสดงออกหรือกระทำได้ ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าจึงพยายามที่จะย้ำว่า ความดีเป็นสิ่งที่คนดีทำได้ง่าย แต่ความดีเป็นสิ่งที่คนไม่ดีทำได้ยาก ฉะนั้น ตามนัยนี้ คนที่มีพื้นฐานทางจิตใจดีจะสามารถให้อภัยคนอื่นๆ ได้ง่ายกว่า แสดงออกในการที่จะไม่ผูกใจเจ็บได้ง่ายกว่า ดังที่ปรากฏในคัมภีร์ว่า 
        “ภิกษุ ๒ รูปได้โต้เถียงกัน ในการโต้เถียงกันนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้พูดล่วงเกิน ครั้งนั้น ภิกษุผู้พูดล่วงเกินนั้นขอโทษในที่อยู่ของภิกษุนั้น แต่ภิกษุนั้นไม่ยกโทษให้ ลำดับนั้น ภิกษุจำนวนมาก พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ภิกษุ ๒ รูปโต้เถียงกัน ในการโต้เถียงกันนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้พูดล่วงเกิน ลำดับนั้น ภิกษุผู้พูดล่วงเกินขอโทษในที่อยู่ของภิกษุนั้น แต่ภิกษุนั้นไม่ยกโทษให้ พระพุทธเจ้าข้า”
        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนพาล ๒ จำพวกนี้ คือ (๑) ผู้ไม่เห็นการกระทำผิดของตนว่าทำผิด (๒) ผู้ไม่ยกโทษให้ตามสมควรแก่ธรรมเมื่อผู้อื่นขอโทษ ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต ๒ จำพวกนี้ คือ (๑) ผู้เห็นการทำผิดของตนว่าผิด (๒) ผู้ยกโทษให้ตามสมควรแก่ธรรมเมื่อผู้อื่นขอโทษ”

        จากนัยดังกล่าวจะเห็นว่า การที่บุคคลใดบุคคลจะยกโทษ หรือให้อภัยแก่บุคคลอื่น จึงเป็นประเด็นที่ยากต่อการแสดงออก ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงให้คุณค่า และเรียกบุคคลที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ตามเหตุปัจจัยแล้วจึงให้อภัยว่า “เป็นบัณฑิต” เพราะบัณฑิตในบริบทนี้หมายถึงผู้ที่เห็นว่าการกระทำที่ตัวเองได้แสดงออกไปนั้นว่าผิดพลาด และยินยอมพร้อมใจที่จะคิด พูด และกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ผูกใจเจ็บ และพร้อมจะให้อภัย หรือขอโทษเพื่อนมนุษย์ ในทางตรงข้าม หากเกิดข้อขัดแย้ง แต่ไม่สามารถที่จะแสดงในลักษณะดังกล่าว พระองค์จึงเรียกคนในลักษณะนี้ว่า “เป็นพาล” ด้วยเหตุนี้ การให้อภัยจึงเป็นการสร้างบารมีที่คนทั่วไปจะสามารถทำได้ เพราะการให้ในลักษณะนี้เป็นทางที่ยิ่งใหญ่

๔. แนวทางและวิธีของการให้อภัย

        เมื่อกล่าวถึงวิธีการให้อภัยในพระพุทธศาสนานั้น พบว่ามีประเพณีนิยมที่ถือว่าเป็น “อริยประเพณี” ใน ๓ ด้านใหญ่ กล่าวคือ

        ๔.๑ วิธีการให้อภัยทางใจ การให้อภัยในลักษณะนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้ว่า การจับความโกรธ ความเกลียด ความชิงชัง ความอาฆาตมาขังเอาไว้ในใจนั้น ก่อให้เกิดผลร้ายแก่จิตใจของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการบั่นทอนศักยภาพแห่งความสุข สงบ เย็นที่พึงเกิดขึ้นในใจของเรา ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการบั่นทอนศักยภาพในการทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ การตระหนักรู้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์ไม่มีใครเลยที่มิมีโอกาสทำผิดพลาดและบกพร่อง ฉะนั้น การมีท่าทีในลักษณะนี้ ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทอดสะพานไปสู่การขออภัย และให้อภัยได้ จะเห็นว่า ในพระพุทธศาสนาจะเน้นที่เจตนาเป็นสำคัญ เจตนาที่ผู้กระทำได้ตระหนักรู้ด้วยตัวเองว่า สิ่งที่ทำลงไปได้เกิดความผิดพลาดบกพร่อง และตัดสินใจที่จะแสดงออกโดยการรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป
        ๔.๒ วิธีการให้อภัยทางกาย ในพระพุทธศาสนาจะขออภัยทางกายด้วยการน้อมกายของตัวเองเข้าไปหาคู่กรณีที่ได้ล่วงละเมิดในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งในกลุ่มพระสงฆ์ใช้คำว่า “สามีจิกรรม” อันเป็นการขอขมา หรือขออภัย ซึ่งอาจจะผ่านสัญลักษณ์ของดอกไม้ ธูป เทียน ดังจะปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเนืองๆ ว่า “ได้ยินว่า พระศาสดาของเราเสด็จมาถึงแล้ว ได้ยินว่า พระสุคตของเราเสด็จมาถึงแล้ว ได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเสด็จมาถึงแล้ว จึงลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า หมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า” การแสดงออกทางกายในลักษณะนี้ เป็นการสื่อให้คู่กรณีได้มองเห็นถึงภาษากายว่า ยินยอมพร้อมใจที่รับผิดชอบ และเป็นการง่ายที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการให้อภัยโดยผ่านสัญลักษณ์ดังกล่าว
        ๔.๓ วิธีการให้อภัยทางวาจา วลีที่มักจะปรากฏขึ้นในคัมภีร์พระพุทธศาสนาในกรณีนี้ก็คือ หากมีผู้ใดผู้หนึ่งได้กระทำผิดพลาดบกพร่องมักจะกล่าวขออภัย หรือขอโทษว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ผู้โง่ เขลา เบาปัญญา มีความผิดที่ข้าพระองค์ ได้สำคัญพระผู้มีพระภาคว่าควรเรียกด้วยวาทะว่าผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาค จงให้อภัยโทษแก่ข้าพระองค์ เพื่อสำรวมต่อไป” พระพุทธเจ้าก็จะตรัสตอบเพื่อเป็นการให้อภัยว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เอาเถอะ เธอผู้โง่ เขลา เบาปัญญา มีความผิดที่ได้สำคัญเราว่าควรร้องเรียกด้วยวาทะว่าผู้มีอายุ แต่เธอเห็นความผิดโดยเป็นความผิดแล้วกระทำคืนตามธรรม เราก็ยกโทษให้เธอ ภิกษุ ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิด แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย”

        จากนัยดังกล่าวจะเห็นประโยคที่ถือได้ว่าสำคัญที่สุดว่า “การที่บุคคลได้มองเห็นความผิดที่ได้กระทำว่าเป็นความผิดจริง และได้ให้สัญญาประชาคมว่า จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำ อีกทั้งจะระมัดระวังต่อโอกาสต่อไป” นี้ เพราะประโยคนี้ เป็นการย้ำเตือนว่า มิใช่ทำผิดแล้ว ทุกอย่างจะจบลงโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ทุกครั้งที่มีการผิดพลาดบกพร่อง ตัวเองจะต้องยอมรับผิดที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเยียวยาผลของความผิดพลาด

        ถึงกระนั้น พระพุทธศาสนาถือว่า การน้อมรับความผิดพลาด หรือการรับผิดชอบดังกล่าว ต้องไม่เกิดจากการเรียกร้องคู่กรณี หากแต่เกิดจากสามัญสำนึกของผู้ที่ได้ทำผิดพลาดโดยตรง จะเห็นว่า การยกโทษ หรือให้อภัยนั้น จึงไม่มีข้อผูกพันกับวัตถุ ข้อเรียกร้อง หรือเงื่อนไขใดๆ จากผู้ให้อภัย เพราะการให้อภัยดังกล่าวเป็นการให้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น

๕. เราพร้อมจะขออภัย และให้อภัยเพื่อความสมานฉันท์แล้วหรือยัง?

        ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับกลุ่มนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า “อะไรเป็นอุปสรรคที่จะทำให้คู่กรณีไม่ยินยอมที่จะให้อภัยกัน” ผู้เขียนพบว่ามีคำตอบอย่างน้อยสองประการคือ (๑)การที่คู่กรณีพยายามที่จะสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเป็นกับดักให้ตัวเอง และ (๒) การที่คู่กรณียึดมั่นในจุดยืนของตัวเองมากจนเกินไป โดยเฉพาะการกลัวสูญเสียในสิ่งต่างๆ เช่น เสียเปรียบ เสียหน้า เสียอำนาจ เสียโอกาส เสียใจ และเสียความเป็นตัวของตัวเอง ตัวแปรสองประการข้างต้น ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คู่กรณีไม่สามารถที่สร้างสะพานที่จะเชื่อมมิตรภาพระหว่างกันและกันได้อย่างสมดุล

        ฉะนั้น จึงทำให้เกิดคำถามอีกว่า เราจะออกกับดักแห่งเงื่อนไขที่เราได้สร้างขึ้นมาได้อย่างไร ผู้เขียนมองว่า ทางออกสำคัญก็คือ การที่คู่กรณีจะต้องถามตัวเองว่า จุดยืนหรือเงื่อนไขที่แต่ละคนได้สร้างขึ้นนั้น ก่อให้เกิดคุณหรือโทษต่อตัวเองมากน้อยเพียงใด หากคู่กรณีมองว่า เงื่อนไขที่สร้างขึ้นมานั้นก่อให้เกิดคุณแก่ตัวเองก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะนำไปสู่การขออภัย หรือให้อภัยกัน แต่หากคู่กรณี หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมองว่า ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่ความแตกแยก ความร้าวฉาน หรือกระทบกระทั่งกันทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นการสั่นคลอนสัมพันธภาพอันดีซึ่งกันและกัน จนอาจกลายสภาพเป็นความขัดแย้งในที่สุด นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาจึงได้หันมาสนใจการให้อภัยทานซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันไว้และเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราหันหน้ามาคืนดีกันเพื่อสันติสุขของบุคคลในสังคม หรือตัวเอง

        ฉะนั้น คำว่า “พร้อม” หรือ “ไม่พร้อม” จะให้อภัยหรือขออภัยเพื่อความสมานฉันท์นั้น จะดำรงอยู่บนฐานความจำเป็น (Necessary) ขั้นพื้นฐานของบุคคลและสังคม ถ้าหากบุคคลและสังคมตระหนักรู้ถึงโทษภัย หรือหายนะที่จะเกิดขึ้นทางกายและทางใจอันเนื่องมาจากการยืดมั่นในจุดยืนหรือเงื่อนไขของตัวเองก็ย่อมสามารถที่จะเลือกแนวทางดังกล่าว ถึงกระนั้น การเลือกหรือไม่เลือกย่อมผูกพันกับวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลหรือสังคมโดยเริ่มตั้งแต่วินาทีแรกของการตัดสินใจ ดังนั้น การตัดสินใจเลือกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะดำรงอยู่บนฐานของเจตนาที่ดี และควรเป็นการเลือกที่เอื้อต่อการสร้างมิตรภาพให้แก่บุคคลและสังคมได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป.
 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)