บทความวิชาการ
สถานการณ์พุทธบริษัทในสังคมไทย: ศรัทธาวิปริต หรือวิกฤติศรัทธา
25 พ.ย. 59 | พระพุทธศาสนา
5455

ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.

สถานการณ์พุทธบริษัทในสังคมไทย: ศรัทธาวิปริต หรือวิกฤติศรัทธา

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2556)

โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา
www.ps.mcu.ac.th
www.facebook.com/hansa.mcu


บทนำ

          พระพุทธศาสนาประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ๕ ประการ คือ “ศาสดา ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ และศาสนพิธี”  และในทุกครั้งที่พระพุทธศาสนาได้เผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ เรามักจะกันพื้นที่ของวิกฤติการณ์ให้แก่ “ศาสดา และศาสนธรรม” อยู่เสมอ  แต่องค์ประกอบหนึ่งซึ่งมักจะรับการตั้งข้อสังเกต และตั้งคำถามอยู่เสมอคือ “ศาสนบุคคล”  ซึ่งศาสนบุคคลนั้น พระพุทธเจ้าได้ส่งต่อพระพุทธศาสนา หรือในความหมายตามพระไตรปิฎกคือ “ธรรมวินัย” โดยทรงย้ำเตือนว่า “โดยการล่วงไปแห่งเรา ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”  คำว่า “เธอทั้งหลาย” ในบริบทนี้หมายถึง “พุทธบริษัท” ทั้ง ๔ ได้แก่ “ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา”

          เมื่อใดก็ตามองค์ประกอบของพระพุทธศาสนาอื่นๆ จะได้รับผลกระทบทั้งในเชิงลบ  ตัวแปรสำคัญที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามคือ “พุทธบริษัท ทั้ง ๔”  ดังที่ได้กล่าวแล้ว  แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ หนึ่งในพุทธบริษัทที่ได้รับการตั้งข้อสังเกตในเชิงลบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ “พระภิกษุ”  ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนิกชนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะอุบาสก และอุบาสกได้กำลังตั้งคำถามว่า “พระสงฆ์บางรูปกำลังเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤติศรัทธา”  กล่าวคือ เป็นต้นเหตุที่ให้กลุ่มคนที่มีศรัทธา หรือมีศรัทธาคลอนแคลนในพระพุทธศาสนากำลังเสื่อมศรัทธา และทำให้กลุ่มคนที่ไม่ศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หันหลังให้แก่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

          ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมไทยประการหนึ่งคือ “สังคมไทยได้มอบความไว้วางใจให้แก่พระภิกษุในฐานะที่พระภิกษุเป็นสมมติสงฆ์ที่เป็นเนื้อหาบุญ และมีบทบาทสำคัญต่อเป็นหลักชัยในการรักษาพระพุทธศาสนาโดยมีอุบาสกและอุบาสิกาทำหน้าที่ให้การทำนุบำรุง และให้การสนับสนุนปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุที่จำเป็นต่อการดำรงตนในวิถีความเป็นสมณะ และบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดในพระพุทธศาสนา จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “คฤหัสถ์ถวายขาให้พระภิกษุ ส่วนพระภิกษุมอบตาให้แก่คฤหัสถ์” การถวายขาคือการถวายความสะดวกในการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม และปกป้องธรรมของพระภิกษุ  พระภิกษุจึงมีหน้าที่สำคัญในการมอบดวงตา คือ ปัญญาแห่งธรรมที่ได้จากการปฏิบัติธรรมแก่คฤหัสถ์เป็นการตอบแทน

อย่างไรก็ตาม  พุทธศาสนิกชนบางกลุ่มได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเช่นกันว่า “การถวายขาเพื่อแลกดวงตากับพระภิกษุ” นั้น เป็นการถวายปัจจัย ๔ ที่เกินเลยต่อความจำเป็นในการดำรงตนเพื่อศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม และปกป้องรักษาธรรมหรือไม่  แต่บางกลุ่มก็แย้งเช่นกันว่า หากคฤหัสถ์มีความศรัทธาที่จะถวายปัจจัย หรือวัตถุอันประณีตต่อพระภิกษุที่ตนเคารพนับถือย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมต่อการทำบุญแก่พระสมมติสงฆ์ที่เป็นเนื้อหาบุญอันใหญ่ยิ่งใหญ่ตามความเชื่อของตนเอง

จากปัญหาดังกล่าวที่ได้นำเสนอในเบื้องต้น   จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกต และตั้งคำถามต่อพุทธบริษัทในฐานะที่เป็นศาสนบุคคลใน ๒ กลุ่มหลักคือ “กลุ่มอุบาสกอุบาสิกาที่มีศรัทธาวิปริต” และ “กลุ่มพระภิกษุสามเณรที่ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธา”   และโดยเพราะข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ คือ 

(๑) กลุ่มอุบาสกอุบาสกาที่มีศรัทธาวิปริต

อุบาสกอุบาสิกาบางคนมุ่งเน้นศรัทธาแต่ขาดปัญญาจนไปนำสู่การสนับสนุน และส่งเสริมปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุบางรูปเกินเลยความจำเป็นต่อการครองตนเพื่อศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม และปกป้องธรรม อีกทั้งการสนับสนุนดังกล่าวก่อให้เกิดการสะสม ยึดติดในวัตถุนิยม และบริโภคปัจจัยที่เกินความจำเป็น แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงย้ำประเด็นความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค (โภชเน มัตตัญญุตา) โดยไม่ให้ใช้ปัจจัย ๔ เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน เพื่อความเมามัน แต่ให้เป็นไปเพื่อการตั้งอยู่ได้ของกายอันจะนำไปสู่การใช้กายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาธรรม และปฏิบัติธรรม

นอกจากนั้น ศรัทธาวิปริตยังนำไปสู่การมุ่งเน้นไปที่ “อามิสบูชา” แทนที่จะมุ่งเน้น “ปฏิบัติบูชา” ด้วยเหตุนี้ อามิสบูชาจึงนำไปสู่การสร้างและบูชาวัตถุ การสนับสนุนและส่งเสริมการความต้องการด้านวัตถุธรรมมากกว่าการปฏิบัติธรรม จึงทำให้อุบาสกอุบาสิกาเข้าไม่ถึงเนื้อธรรมอย่างแท้จริง  แนวทางเหล่านี้ จึงไม่สอดรับกับประเด็นที่พระพุทธเจ้าให้เชื่อกรรม ชื่อผลของกรรม เชื่อว่ามนุษย์มีกรรมเป็นของตน และเชื่อเชื่อในธรรมของพระพุทธเจ้า แต่พุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว แต่ได้ฝากความเชื่อมั่นไปไว้กับปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรางของขลัง อาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เมื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นกระทำการบางอย่างที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม จึงทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาตนในระดับที่สูงต่อไป 

(๒) กลุ่มพระภิกษุที่ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธา

พระภิกษุบางรูปปฏิบัติตนไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย และตีความพระธรรมวินัยให้สอดรับกับวิถีปฏิบัติของตน หรือกลุ่มตน อีกทั้งบิดเบือนพระธรรมวินัยไปสร้างความชอบธรรมให้แก่อุดมการณ์และแนวทางการปฏิบัติของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์เฉพาะตนหรือกลุ่มตน เมื่อความจริงบางอย่างปรากฏชัด จึงทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเสื่อมศรัทธาในพระภิกษุบางรูป และขยายผลไปสู่องค์กรสงฆ์ และพระพุทธศาสนาในภาพรวม

จะเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่พระภิกษุบางรูปได้ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดภาวะวิกฤติศรัทธานั้น มาจากตัวแปรที่น่าสนใจหลายประการ เช่น (๑) ศรัทธาวิปริตจึงก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธา เพราะพุทธศาสนิกชนสนับสนุน หรือส่งเสริมในทิศทางที่ไม่ถูกต้องจึงทำให้พระภิกษุยึดติดในวัตถุนิยมและบริโภคนิยม (๒) บุญวิปริต การเน้นสอนเรื่องบุญที่เน้นเฉพาะตัวบุญแต่ขาดกุศล โดยแปลงบุญให้เป็นเรื่องของวัตถุนิยม และบริโภคนิยม แทนที่จะบุญจะเป็นสัญลักษณ์ของความสุขในฐานะที่เป็นเครื่องมือสร้างความอิ่มใจ และชำระใจ (๓) การสอนวิปริต   พระภิกษุบางรูปเน้นสอนเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากกว่าปาฏิหาริย์แห่งธรรม  การสอนให้มนุษย์ชื่นชมและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าตัวเอง ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนว่า “ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายผู้ที่ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐที่สุด” เพราะมนุษย์ที่ฝึกแล้วสามารถเป็นครูของเทวดา และเทวดาชื่นชมอาศัย ดังจะเห็นได้จากกรณีของพระพุทธเจ้าและอนาถปิณฑิกะเศรษฐี  (๔) การใช้สื่อที่วิปริต  สื่อไอทีต่างๆ ในปัจจุบันนี้ พระภิกษุและสามเณรจำนวนหนึ่งได้ใช้สื่อไอทีเป็นเครื่องมือในการศึกษาธรรม และเผยแผ่ธรรม แต่มีพระภิกษุและสามเณรจำนวนหนึ่งเช่นเดียวกัน ใช้สื่อไอทีโดยขาดการรู้เท่าทัน และขาดการะมัดระวังทั้งการพูด สื่อข้อความ การนำเสนอภาพ และคลิปเสียงที่ไม่เหมาะสมแก่ความเป็นนักบวช  จะเห็นว่า มีภาพและเสียงจำนวนมากที่พระภิกษุได้โพสต์หรือนำเสนอในพื้นที่ของอินเตอร์เน็ต เช่น ยูทูป เฟสบุ๊ค และบล็อก 

ดังนั้น เมื่อกล่าวตามหลักการของอิทัปปัจจยตาที่เน้นอธิบายถึงความสัมพันธ์และส่งผลกระทบต่อกันและกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของพุทธศาสนิกชนมีศรัทธาที่วิปริต หรือพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมจนเป็นที่มาของวิกฤติศรัทธา ย่อมส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการปฏิบัติ และความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นองค์กร

 

ศรัทธาเดินหน้า ปัญญาประคอง

           แม้ว่าศาสนาต่างๆ ในโลกนี้จะเน้นสอนเรื่องศรัทธาว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำมนุษย์ไปสู่การเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับศาสดา และการจะเริ่มต้นเพื่อนับถือศาสนาจึงต้องเริ่มต้นด้วยศรัทธา ในขณะที่พระพุทธศาสนามองว่าศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาคุณค่าแท้ให้แก่ชีวิตเพื่อเข้าถึงความสำเร็จ และความจริงสูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่เงื่อนไขสำคัญของพระพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องมีองค์ธรรมที่สำคัญคือ “ปัญญา” มาเป็นฐานในการสนับสนุน หรือเป็นธรรมคู่แฝดเสมอ จะเห็นว่า เมื่อใดที่พระพุทธเจ้าเน้นสอนเรื่องศรัทธา พระองค์จะจบลงด้วยการย้ำเตือนให้นำปัญญามาคัดท้ายเสมอ

ตัวอย่างบางประการที่สามารถชี้ชัดในประเด็นนี้ เช่น อิทธิบาท ๔  คือ ฉันทะแม้จะอธิบายเรื่องเรื่องความพอใจ หรือเต็มใจ แต่การพอใจจำเป็นต้องมีวิมังสา คือความเข้าใจอย่างท่องแท้ว่าเพราะเหตุใดจึงพอใจ หลักพละ ๕ ที่เน้นการสร้างอำนาจที่แท้จริงนั้น แม้จะเริ่มต้นด้วยการสร้างศรัทธาคือความเชื่อมั่นในสิ่งที่กระทำและตัดสินใจ ถึงกระนั้นก็ทรงเน้นให้มีปัญญาเป็นองค์ธรรมที่ทำหน้าที่ในการคัดท้าย เพื่อไม่ให้สิ่งที่เชื่อมั่นนั้นหลงทางจนกลายเป็นความมั่นใจในตัวเองเกินไป (Over Confidence) หรือหลักการอริยทรัพย์ที่ถือได้ว่าเป็นหลักการในการเสริมสร้างทรัพย์ภายใน แม้ว่าพระองค์จะเน้นให้เริ่มต้นด้วยการสร้างศรัทธาเป็นทรัพย์ภายในขั้นที่หนึ่ง แต่ในขั้นตอนสุดท้ายทรัพย์ภายในที่ถือว่าประเสริฐที่สุดในขั้นตอนสุดท้ายคือ “ปัญญา”

จากแนวทางดังกล่าวจะเห็นว่า แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญต่อศรัทธา หรือความเชื่อ ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นในการพัฒนาคุณค่าภายในของมนุษย์ แต่ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์ที่จะให้มนุษย์ใช้เป็นศรัทธาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายเพียงประการเดียว (สัทธาญาณวิปปยุต) หากแต่มุ่งให้ใช้ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา (สัทธาญาณสัมปยุต) คือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ประกอบด้วยปัญญา หรือกลั่นกรองแล้วจากปัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้ความเชื่อนั้นมืดบอด และเป็นศรัทธาที่งมงายโดยปราศจากปัญญา

 

ก่อนปลงใจเชื่อสิ่งใด จงใช้ปัญญาไตร่ตรอง

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ ที่อาศัยอยู่ในเกสปุตตนิคม ในแคว้นโกศล เนื่องจากในสมัยนั้น กลุ่มคนจำนวนมากได้อ้างตัวอ้างตนว่ามีคุณวิเศษจึงนำไปสู่การเชิดชูแต่ลัทธิ และความเชื่อของสำนักตัวเอง และพูดจากระทบกระเทียบดูหมิ่นลัทธิ และความเชื่อของคนกลุ่มอื่น พร้อมทั้งหาลู่ทางที่จะชักนำมิให้เชื่อในสำนักหรือลัทธิกลุ่มอื่น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเกสปุตตนิคมดินแดนที่เต็มไปด้วยกลุ่มผู้อวดอ้างอิทธิปาฏิหาริย์ และคุณวิเศษต่างๆ  ชาวกาลามะได้ทูลถามด้วยความสงสัยว่านักบวช หรือสำนักท่านใดกล่าวคำจริง หรือเท็จ เพื่อให้มาซึ่งลาภ ยศ และสรรเสริญแก่กลุ่ม และสำนักของตัวเอง

พระพุทธองค์จึงทรงได้แสดงหลักเกณฑ์ต่อความเชื่อ ๑๐ ประการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตระหนักรู้ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือ

(๑) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา  (มา อนุสสวเนน)
(๒) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา (มา ปรัมปราย)
(๓) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
(๔) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์  (มา ปิฏกสัมปทาเนน)
(๕) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตักกเหตุ)
(๖) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน  (มา นยเหตุ)
(๗) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล  (มา อาการปริวิตักเกน)
(๘) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฎฐินิชฌานักขันติยา)
(๙) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภัพพรูปตา)
(๑๐) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
 

เมื่อใดก็ตามที่ได้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ  จะเห็นว่า หลักการในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามว่ามิให้เชื่อบุคคล หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พระองค์พยายามที่จะให้หลักการเพื่อเป็นเกณฑ์ในการใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือในการไตร่ตรองเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณ โดยไม่ด่วนตัดสินใจเชื่อด้วยความงมงาย หรือเร่งรีบกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยขาดการตรึกตรองด้วยเหตุและผล

 

เพียงเพราะศรัทธาในบุคคล จึงทำให้ตกหล่นจากสัทธรรม

          ความศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาชีวิตและการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนว่า ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ (สัทธา สาธุ ปติฏฐิตา) ซึ่งความสำเร็จที่เกิดจากความเชื่อและความเลื่อมใสที่มีความตั้งมั่น จึงก่อให้เกิดความสุขแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งในบั้นปลายของการทำหน้าที่ หรือภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังพุทธพจน์ที่ว่า ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้ (สุขา สัทธา ปติฏฐิตา)  อย่างไรก็ตาม  ความเชื่อมั่นที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดความมุ่งมั่นมักจะส่งผลในเชิงบวกต่อการพัฒนาชีวิตและการทำงาน แต่ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนให้พุทธศาสนิกชนได้ระมัดระวัง และใส่ใจต่อความศรัทธาเลื่อมในตัวบุคคล  เพราะเมื่อพุทธศาสนิกชนยึดบุคคล อาจจะเป็น กับดัก ที่สำคัญซึ่งทำให้พลัดพลัดหลงไปจากพระสัทธรรมซึ่งเป็นเนื้อหาของพระพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏในปุคคลัปปสาทสูตร ที่อธิบายถึงความเลื่อมใสศรัทธาเฉพาะบุคคลก่อให้เกิดโทษ หรือผลเสีย  ๕ ประการ คือ

(๑)    ผู้เลื่อมใสในบุคคลที่ต้องอาบัติเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตร คิดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้เป็นที่รักของเรานี้ถูกสงฆ์ยกวัตรเสียแล้ว’ จึงไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย จึงไม่คบภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม

(๒)    ผู้เลื่อมใสในบุคคลที่ต้องอาบัติเป็นเหตุให้สงฆ์สั่งให้เขานั่งท้าย  (หมายถึงที่นั่งสุดท้ายของสงฆ์คิดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้เป็นที่รักของเรานี้ถูกสงฆ์สั่งให้นั่งท้ายแล้ว’ จึงไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย จึงไม่คบภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม

(๓)    ผู้เลื่อมใสในบุคคลที่หลีกไปสู่ทิศ คิดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้เป็นที่รักของเรานี้หลีกไปสู่ทิศแล้ว’ จึงไม่คบภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม

(๔)    ผู้เลื่อมใสในบุคคลที่ลาสิกขา คิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักของเรานี้ได้ลาสิกขาไปแล้ว จึงไม่คบภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม

(๕)    ผู้เลื่อมใสในบุคคลที่ตายแล้ว คิดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้เป็นที่รักของเรานี้ได้ตายเสียแล้ว’ จึงไม่คบภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม

 

เพราะมุ่งปกป้องคนที่ศรัทธาเลื่อมใส จึงบัญญัติวินัยไว้ป้องกัน 

พุทธศาสนิกชนจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบันที่ได้รับข่าวสารจากการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระภิกษุผ่านสื่อต่างๆ ได้ก่อให้เกิดสถานการณ์วิกฤติศรัทธาต่อพระภิกษุในสังคมไทย และผลจากการวิกฤติศรัทธาต่อพระภิกษุจึงนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นอย่างน้อย ๔ ประเด็น คือ (๑) ขาดความเชื่อมั่นต่อพระพุทธศาสนาในภาพรวม (๒) ขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กรพระสงฆ์ในภาพรวม (๓) ขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการขัดเกลา และ (๔) ขาดความเชื่อมั่นในหลักธรรมวินัยที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกล่อมเกลาจิตใจของพระภิกษุที่เข้าไปบวชในพระพุทธศาสนาว่าไม่ได้ก่อให้เกิดผลในเชิงบวกต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

พระพุทธเจ้าทรงตระหนักรู้ถึงข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชนบางกลุ่มที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการรักษาพระพุทธศาสนาด้วยการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม และปกป้องธรรมจากบุคคลบางกลุ่มที่ไม่ได้เคารพ และศรัทธาในพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติวินัยขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบในการประพฤติปฏิบัติ และเมื่อวิเคราะห์วัตถุประสงค์ในการบัญญัติวินัยจะพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ทรงมุ่งหวังประโยชน์ที่สำคัญใน ๕ ด้าน คือ 

(๑) ประโยชน์ที่จะเกิดแก่สงฆ์หรือส่วนรวม โดยมุ่งเน้นความดีแห่งสงฆ์ หรือความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์ ซึ่งได้ทรงชี้แจงให้มองเห็นคุณโทษแห่งความประพฤตินั้นๆ ชัดเจนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นไว้โดยความเห็นร่วมกัน และการอยู่อย่างผาสุกแห่งสงฆ์ 

(๒) ประโยชน์ที่จะเกิดแก่บุคคล โดยมุ่งเน้นการกำราบคนผู้ดื้อด้าน  และความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม

(๓) ประโยชน์ที่จะเกิดแก่ความบริสุทธิ์ หรือแก่ชีวิต ทั้งทางกายและทางใจ โดยมุ่งเน้นการปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน คือ เพื่อระงับปิดทางความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในปัจจุบัน  และบำบัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต คือ เพื่อแก้ไขมิให้เกิดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ความเดือดร้อน ที่จะมีมาในภายหน้าหรือภพหน้า  

(๔) ประโยชน์แก่ประชาชน โดยเน้นความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

(๕) ประโยชน์แก่พระศาสนา โดยมุ่งเน้นความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม  และอนุเคราะห์วินัย คือ ทำให้มีบทบัญญัติสำหรับใช้เป็นหลักเกณฑ์จัดระเบียบของหมู่ สนับสนุนความมีวินัยให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น 

          จะเห็นว่า วัตถุประสงค์หลักในการบัญญัติวินัยนั้นแม้จะมุ่งประโยชน์ทั้ง ๕ ด้านดังกล่าวข้างต้น  ประโยชน์ประการหนึ่งที่พระองค์ให้ความสำคัญและจะกล่าวในบริบทนี้คือ “ประโยชน์แก่ประชาชน โดยเน้นความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว” เพราะความเลื่อมใสของประชาชนมีผลโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา เพราะจะเป็นสะพานที่จะทอดเดินไปสู่การศึกษาธรรม เรียนรู้ธรรม และปฏิบัติธรรมในโอกาสต่อไป ฉะนั้น แม้พระพุทธเจ้าจะประกาศธรรมว่า เป็นธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว จงมาพิสูจน์ เพราะเป็นธรรมที่ไม่จำกัดกาล  แต่หากประชาชนไม่ศรัทธาเลื่อมใสย่อมขาดแรงจูงใจที่จะเข้าไปศึกษาและเรียนรู้ธรรมะที่พระองค์ทรงประกาศไว้

ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการที่จะน้อมนำให้กลุ่มคนต่างๆ ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสมากยิ่งขึ้น  ในประเด็นของการเลื่อมใสนั้น พระองค์มิได้มุ่งไปที่พระภิกษุเท่านั้น หากแต่ให้พระภิกษุเป็นสื่อที่จะนำกลุ่มคนไปพึ่งธรรมในโอกาสต่อไปดังที่ทรงเน้นย้ำว่า “อานนท์ เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด... อานนท์ ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตาม... จักต้องมีธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะเป็นอยู่ ผู้ใดเป็นผู้ใคร่ในสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา) ผู้นั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด

ฉะนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์วิกฤติศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนบางกลุ่มมีต่อความย่อหย่อนด้านพระธรรมวินัยของพระภิกษุบางรูปนั้น ย่อมส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อพระพุทธศาสนาในภาพรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน การวางกรอบ หรือแสวงหาแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุบางรูปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่พุทธบริษัทจะต้องร่วมมือสร้างทางเลือกที่เหมาะสมต่อไป 

สรุป

          จากคำถามที่ว่า “ศรัทธาวิกฤติ หรือวิกฤติศรัทธา” นั้น ทำให้พบคำตอบที่ชัดเจนว่า สถานการณ์พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน  พุทธบริษัททั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ฝากพระธรรมวินัยเอาไว้ให้เป็นความหวังต่อการประพฤติของชาวโลกเพื่อให้สามารถดำรงตนอย่างมีความสุข และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันตินั้น ได้ประพฤติตนพลัดหลงไปจากแนวทางของศรัทธาที่พระพุทธเจ้าได้วางเป็นกรอบเอาไว้ ทั้งที่จุดเด่นของศรัทธาเป็นเครื่องมือที่จะพามนุษย์ข้ามโอฆะ คือปัญหาและอุปสรรคเพื่อเข้าถึงความงาม ความจริง ความดี และความสุข แต่พุทธบริษัททั้งพระภิกษุ และอุบาสกอุบาสกบางกลุ่มไม่ได้ปฏิบัติให้สอดรับกับท่าทีดังกล่าว

          ผลจากการปฏิบัติที่หลุดออกจากแนวทางของพระพุทธศาสนา จึงทำให้อุบาสกอุบาสิกาบางกลุ่มมีศรัทธาที่วิปริต เพราะมีความที่ขาดปัญญาในการคิดไตร่ตรองอย่างแยบคายถึงความเหมาะสมตามหลักการโยนิโสมนสิการ  ฝากความเชื่อมั่น และเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ให้แก่คนอื่นๆ  และจมดิ่งอยู่กับศรัทธาที่มืดบอด  ถวายปัจจัย ๔ ที่ก่อให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ และฟุ่มเฟือย โดยไม่ได้ตระหนักรู้ถึงความจำเป็นต่อการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม และปกป้องรักษาธรรม รวมไปถึงการอุปโลกน์ หรือการยกย่องชื่นชมว่า พระภิกษุรูปนั้นรูปนี้เป็นพระอรหันต์ หรืออริยะ  และเมื่อพระภิกษุที่ตนเคารพนับถือมิได้เป็นตามที่มุ่งหวัง จึงเกิดความโศกเศร้าและเสียใจ และบางกลุ่มจึงตัดสินใจเลิกเคารพ นับถือ กราบไหว้บูชา จนเป็นที่มาของการพลาดโอกาสในการตั้งมั่นในการทำความดีต่อไป

          ในขณะที่พระภิกษุและสามเณรบางรูปในยุคปัจจุบันนี้ ได้ประพฤติตัวและปฏิบัติตนบกพร่องต่อพระธรรมวินัย โดยการสอนธรรมที่วิปริต ใช้สื่อวิปริต ชักนำไปสู่การทำบุญแต่ขาดกุศล ชักพาให้อุบาสกอุบาสิกาไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แต่เน้นให้ความเชื่อมั่นในครูอาจารย์เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ โดยการสอนให้อุบาสกอุบาสิกาสยบยอมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิปาฏิหาริย์  ทั้งที่พระพุทธเจ้าให้เน้นสอนเรื่องปาฏิหาริย์แห่งธรรม แต่พระภิกษุมุ่งไปที่ปาฏิหาริย์แห่งอิทธิฤทธิ์ การอวดตัวอวดตน และประกาศตนว่าบรรลุคุณวิเศษ แม้ข้อเท็จจริงพระพุทธเจ้าจะทรงห้ามว่า “บรรลุจริงก็อาบัติปาจิตตีย์ ไม่บรรลุจริงก็อาบัติปาราชิก”   และเมื่อความจริงบางอย่างปรากฏชัด จึงเป็นที่มาของวิกฤติศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนมีต่อพระภิกษุ ทั้งภิกษุรูปที่ประพฤติผิด และลามไปถึงพระภิกษุรูปอื่นๆ ในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์กรสงฆ์ในภาพรวม 

          จะเห็นว่า “การดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นองค์กร” นั้น สัมพันธ์อย่างยิ่งกับศรัทธาของพุทธบริษัท  การมีศรัทธาวิปริตย่อมส่งผลเสียต่อเจ้าของศรัทธาเป็นเบื้องตน แต่หลายครั้งที่ศรัทธาวิปริตได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อพระภิกษุบางรูป และพุทธศาสนิกชนกลุ่มอื่นๆ ที่จะพากันคล้อยตาม และศรัทธามืดบอดเพราะขาดสติและปัญญาเป็นเครื่องในการกำกับ  แต่ในขณะเดียวกัน พระภิกษุในฐานะที่เป็นเนื้อนาบุญจำเป็นต้องตระหนักรู้ในการนำอุบาสกอุบาสิกาเข้าถึงปาฏิหาริย์แห่งธรรม แทนที่จะเน้นสอนและชักนำไปสู่อิทธิปาฏิหาริย์ที่มืดบอดจนขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองในการที่เข้าถึงความจริง ความงาม และความสุขที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับและสัมผัสตามพุทธประสงค์ที่มุ่งหวังว่า “ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำความสุขมาให้” 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)