บทความวิชาการ
บาลีศึกษาในอรรถกถาธรรมบท
21 พ.ย. 59 | พระพุทธศาสนา
2317

ผู้แต่ง :: ผศ. ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร

บาลีศึกษาในอรรถกถาธรรมบท

ผศ. ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร (2553)

 บทคัดย่อ

 

งานวิจัยเรื่องนี้ต้องการศึกษาภาษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ภูมิหลัง องค์ความรู้ ลักษณะด้านไวยากรณ์ โครงสร้างภาษา ลักษณะเด่นและการใช้ศัพท์ในอรรถกถาธรรมบท
ได้พบว่า  ปาลิมีความสัมพันธ์กับภูเทวตา (ภาษา) ภาษาพูดของชนเผ่าศากยะในสมัยโบราณ เป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาหนังสือ คำว่า บาลี มีหลักฐานว่าในประเทศไทยเรียกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้เป็นชื่อคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นชื่อภาษา  เป็นคำนาม และมีความหมายด้านไวยากรณ์ พระพุทธศาสนาเถรวาทใช้ปาลิ (บาลี) รองรับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าพรหมจรรย์, ธรรมวินัย, นวังคสัตถุศาสน์,  พุทธวจนะ, ไตรปิฎก, ตันติภาษา, ปาพจน์ และปริยัติธรรม 
อรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) เป็นหนังสืออธิบายบทแห่งธรรม มาในขุททกนิกาย  อรรถกถาธรรมบทที่คณะสงฆ์ไทยใช้เป็นคู่มือศึกษาภาษาบาลี เป็นสำนวนที่พระจุลลพุทธโฆสะเรียบเรียงขึ้นมาจากสัทธรรมรัตนาวลี ฉบับภาษาสิงหล ของพระธรรมเสนเถระ เมื่อ พ. ศ. ๑๘๐๐ ในประเทศศรีลังกา มีเนื้อหาครอบคลุมหลักพุทธธรรม โดดเด่นด้านไวยากรณ์ มีองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศาสนาปรัชญา  
อรรถกถาธรรมบทสัมพันธ์กับพระไตรปิฎกอย่างแนบแน่น ผู้แต่งให้ความสำคัญต่อความเข้าใจไวยากรณ์ ถ้าหากผู้ศึกษาไม่เข้าใจไวยากรณ์จะไม่เข้าใจภาษาและความหมาย การอธิบายความมีสำนวนโวหารอุปมาอุปไมย มีตัวอย่างเสริมความ อธิบายนามธรรมให้เป็นรูปธรรมด้วยภาษากวี จบด้วยพุทธสุภาษิต ไวยากรณ์ถือว่าเป็นมาตรฐานของผู้ศึกษาภาษาบาลี  อรรถกถาธรรมบทจึงเป็นแบบอย่างของผู้ศึกษาภาษาบาลี วิชาสัมพันธ์ไทย วิชาแปลมคธเป็นไทย และวิชาแปลไทยเป็นมคธ
(ที่มา: บทความวิจัย ผศ. ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร)