บทความวิชาการ
อิทธิพลของลัทธิเต๋าที่มีต่อพระพุทธศาสนานิกายเซ็น
31 มี.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
29095

ผู้แต่ง :: พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร

พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (2548)

๑. ความนำ

ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้าไปสู่ประเทศจีน คนจีนมีรากฐานทางปรัชญาเป็นของตนอยู่ก่อนแล้ว ปรัชญาจีนมีลักษณะแตกต่างจากปรัชญาอินเดียและปรัชญาตะวันตกตรงที่ไม่ให้ความสนใจในการขบคิดหาความจริงระดับอภิปรัชญา (Metaphysics) ส่วนมากมุ่งขบคิดปัญหาที่ว่า “ชีวิตควรดำเนินไปอย่างไร” มากกว่าจะขบคิดปัญหาที่ว่า “ชีวิตมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน อะไรคือปฐมธาตุของโลก” ปรัชญาจีนจึงเป็นปรัชญาที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ในชีวิตจริง โดยเน้นในด้าน จริยธรรมมากกว่าด้านสติปัญญา การแสวงหาความรู้ไม่ใช่เพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เท่านั้น แต่จะต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมด้วย ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของปรัชญาจีนจึงมุ่งส่งเสริมความเป็นปราชญ์ภายในและกษัตริย์ภายนอก ความเป็นปราชญ์ภายในคือ ความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้มีคุณธรรมสูงส่ง ส่วนความเป็นกษัตริย์ภายนอกคือ ความสามารถที่จะบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ผู้ใดมีคุณสมบัติครบทั้ง ๒ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นราชาปราชญ์ (Sage King )

สำนักปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิดความเชื่อของชาวจีนมีมากกว่า ๑๐๐ สำนัก แต่ละสำนักทางปรัชญาที่มีอิทธิพลมากที่สุดและเป็นฐานให้เกิดสำนักทางปรัชญาในยุคต่อมาคือ สำนักปรัชญาเต๋าและสำนักปรัชญาขงจื้อ โดยเฉพาะปรัชญาเต๋า นับว่าเป็นปรัชญาสำนักแรกของจีนที่สร้างแนวคิดทางปรัชญาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ปรัชญาเต๋ามุ่งสอนในเรื่องความเป็นไปของสรรพสิ่งว่าล้วนแต่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของธรรมชาติ ความหลากหลายทางธรรมชาติล้วนแต่มาจากจุดกำเนิดเดียวกัน ดังนั้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์จะต้องให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธรรมชาติ ความยุ่งเหยิงในชีวิตและสังคมเกิดขึ้นเพราะมนุษย์พยายามที่จะประดิษฐ์แปลงธรรมชาติมารับใช้กิเลสตัณหาของตน การที่จะทำให้ชีวิตและสังคมสงบสุขได้นั้น มนุษย์จะต้องไม่ทำอะไรให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเจตนารมณ์ของธรรมชาติ แต่จะต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เหมือนความอ่อนของน้ำจึงทำให้มันสามารถปรับตัวเข้ากับรูปลักษณ์ของสิ่งที่รองรับมัน แต่น้ำก็ไม่เคยสูญเสียเอกลักษณ์ของความเป็นน้ำ

พุทธศาสนานิกายเซนเข้าสู่ประเทศจีนประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ โดยท่านพระโพธิธรรม พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๘ ของอินเดีย หรือองค์ที่ ๑ ของจีน การเข้าสู่ประเทศจีนของนิกายเซน ทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์กับปรัชญาจีน คือ ปรัชญาเต๋าและปรัชญาสำนักอื่นๆ ผลของการปะทะสังสรรค์ก่อให้เกิดการปรับตัวของระบบปรัชญาที่เข้ามาใหม่ พุทธศาสนานิกายเซนในฐานะเป็นระบบปรัชญาที่เข้ามาใหม่ มีความจำเป็นที่จะต้องหยั่งรากปักฐานลงในท่ามกลางระบบปรัชญาท้องถิ่น จึงเป็นฝ่ายที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตน และปรัชญาจีนที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับพุทธศาสนามากที่สุดคือ ปรัชญาเต๋า ดังนั้น นิกายเซนจึงรับเอาหลักการบางอย่างของเต๋ามาใช้ในการเผยแผ่คำสอนของตน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พุทธศาสนานิกายเซนมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างไปจากนิกายอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนานิกายเซนเป็นผลผลิตของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่สองกระแส คือ อารยธรรมอินเดียกับอารยธรรมจีน หรือเมล็ดพืชแห่งพุทธศาสนาถูกหว่านในเนื้อนาดินแบบจีน เกิดดอกออกผลเป็นนิกายเซน ดังนั้น ในรายงานเรื่องนี้ ผู้เขียนจึงมุ่งที่จะศึกษาอิทธิพลของปรัชญาเต๋าที่มีต่อพุทธศาสนานิกายเซน โดยมุ่งที่จะตอบคำถามที่ว่า ระบบปรัชญาเต๋ามีอิทธิพลต่อนิกายเซนในแง่ใดบ้าง หรือพุทธศาสนานิกายเซนได้ประยุกต์ปรัชญาเต๋าส่วนใดบ้างมาใช้ในระบบปรัชญาของตน จึงทำให้มีรูปแบบคำสอนและวิธีปฏิบัติอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้

๒. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และแนวคิดความเชื่อของเต๋า

๒.๑ ประวัติของเหลาจื๊อ

ประวัติของเหลาจื๊อค่อนข้างจะคลุมเครือ เพราะมีการบันทึกไว้หลายสำนวน แต่ละสำนวนก็ไม่มีลายละเอียดที่ชัดเจน จึงทำให้นักปราชญ์รุ่นหลังมีทัศนะเกี่ยวกับตัวเหลาจื๊อแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม บันทึกประวัติของเหล่าจื๊อที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ บันทึกที่อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์จีนชื่อ “ซือกี่ บันทึกโดยสุมาเจี๋ยน (ซีเบ๊เชียง) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น สุมาเจี๋ยนบันทึกไว้ว่า เหล่าจื๊อเป็นชาวรัฐฌ้อ อำเภอหู ตำบลหลี หมู่บ้านเค้กยินลี้ รับราชการในสำนักจิว (ราชวงศ์โจว) โดยมีตำแหน่งเป็นบรรณารักษ์ที่หอสมุดแห่งชาติ นิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบปลีกตัวบำเพ็ญเต๋า ไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก ในขณะที่รับราชการอยู่นั้น ได้เห็นความเสื่อมโทรมของราชวงศ์จิว(ราชวงศ์โจว) จึงลาออกจากราชการแล้วจาริกหนีออกจากสังคม เมื่อจาริกไปถึงด่าน นายด่านชื่อ “ฮี้” ได้ขอร้องให้รจนาคัมภีร์ไว้เป็นอนุสรณ์ เหล่าจื๊อจึงได้แต่งคัมภีร์ไว้เล่มหนึ่ง ว่าด้วยคุณธรรมประการต่าง ๆ รวมทังหมด ๕,๐๐๐ ตัวอักษร เมื่อแต่งคัมภีร์เสร็จแล้วก็ได้ลาจากไป โดยไม่มีใครทราบว่าไปอยู่ที่ใด

๒.๒ ความหมายของคำว่า “เต๋า”

คำว่า” เต๋า” แปลว่า หนทาง วิธีการ กฎ จารีต หรือ ธรรมชาติ คำแปลของเต๋าในที่นี้เป็นการแปลตามหลักอักษรศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว สภาวะของเต๋าจริงๆ ไม่สามารถสื่อออกเป็นภาษาของมนุษย์ได้ เพราะสภาวะของเต๋าเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือระบบสัญลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคำพูด สำนวนโวหาร หรือระบบตรรกะ ระบบสัญลักษณ์ของมนุษย์มีข้อจำกัดและไม่เพียงพอต่อการอธิบายความหมายของสภาวะเต๋าได้ ดังนั้น เมื่อจะอธิบายความหมายของคำว่า “เต๋า” เหลาจื๊อจึงใช้ภาษาเชิงปฏิเสธเป็นส่วนมาก เหมือนกับพระพุทธเจ้าตรัสถึงภาวะของพระนิพพาน ก็จะใช้คำในเชิงปฏิเสธเช่นเดียวกัน ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๑ ว่า

เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ

ชื่อที่บัญญัติเรียกร้องกันได้ก็มิใช่ชื่อแท้จริง

เต๋านั้นมิอาจอธิบายมิอาจตั้งชื่อ

เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้

ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า “เต๋า” ไปพลางๆ

คำว่า “เต๋า” ที่เหลาจื๊อใช้ในที่นี้จึงเป็นเพียงชื่อที่สมมติขึ้นเพื่อใช้เรียกสภาวะธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่ตัวธรรมชาติที่แท้จริง ไม่ควรไปยึดเอาสมมติว่าเป็นสัจจะ เพราะสมมติเป็นเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วตกลงรับรู้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร แต่มนุษย์ส่วนมากมักจะไปยึดติดกับระบบสัญลักษณ์ว่าเป็นสัจธรรม โดยลืมไปว่านั่นเป็นสิ่งที่ตัวเองสมมติขึ้นมา จึงทำให้เกิดการหยุดนิ่งในการที่จะแสวงหาสัจธรรมที่อยู่เบื้องหลังสมมตินั้น เหลาจื๊อได้กล่าวถึงสัจภาวะที่อยู่เหนือสมมติอีกตอนหนึ่งในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๑๔ ว่า

เต๋าเป็นธรรมชาติที่มิอาจเห็นได้ด้วยการดู

จะเงี่ยหูฟัง ก็มิอาจได้ยิน

จะสัมผัส ก็กระทบมิได้

จะวิจัยอย่างไร ก็อับจน

จากข้อความที่ยกมาจะเห็นว่า ในทัศนะของเหลาจื๊อ เต๋าเป็นสัจภาวะที่ไม่อาจสัมผัสหรือเข้าถึงด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งการคิดหาเหตุผลด้วยวิธีการของตรรกวิทยา ทั้งวิธีนิรนัย ( Deduction) และวิธีอุปนัย ( Induction) แต่จะเข้าถึงได้ด้วยจิต หรือ อัชฌัตติกญาณ ( Intuition)

๒.๓ เต๋าในฐานะเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง

ในทัศนะของเหลาจื๊อ ในจักรวาลนี้แม้จะมีสิ่งต่างๆ อยู่มากมาย แต่ในท่ามกลางความหลากหลายนั้น เมื่อสืบดูที่มาหรือแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น ล้วนแต่มีกำเนิดมาจากเอกภาพอันเดียวกัน( Unity in Deversity) สภาวะอันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง เหล่าจื๊อยอมรับว่าไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี จึงสมมติเรียกว่า “เต๋า” หรือ “สิ่งยิ่งใหญ่” สภาวะนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น เป็นต้นกำเนิดหรือมารดาของสรรพสิ่ง นอกจากนั้น ยังมีอิทธิพลแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมสรรพสิ่งไว้ได้ทั้งหมด หมายความว่า ความเป็นไปของสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่มีกฎธรรมชาติหรือเต๋าควบคุมอยู่ ดังที่เหลาจื๊อกล่าวไว้ในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก๋ง บทที่ ๒๔ ว่า

มีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่โดยตัวของมันเอง มันมีอยู่ก่อนฟ้าดิน มันไม่มีรูปร่างลักษณะหรือสุ้มเสียงอย่างไรเลย ดำรงอยู่ทั่วสากลโดย ไม่รู้จักเกียจคร้านเหน็ดเหนื่อย กล่าวได้แต่เพียงว่า มันเป็นมารดาของสรรพสิ่ง

นอกจากนั้น ในบทเดียวกันนี้ เหลาจื๊อยังได้แบ่งโครงสร้างของจักรวาลออกเป็น ๔ ระดับด้วยกัน แต่ละระดับจะมีกฎควบคุมกันลดหลั่นกันไปตามลำดับ แต่ละระดับที่แบ่งออกนั้นเหลาจื๊อเรียกว่า “สิ่งที่ยิ่งใหญ่” คือ พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎของแผ่นดิน แผ่ดินอยู่ภายใต้กฎของฟ้า ฟ้าอยู่ภายใต้กฎของเต๋า และเต๋าอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เขียนออกมาเป็นแผนภาพได้ ดังนี้

 

เต๋า

ฟ้า

แผ่นดิน

พระมหากษัตริย์

บางครั้งเหลาจื๊อก็เปรียบสภาวะของเต๋าเหมือนน้ำ ที่มีความอ่อนตัวและสามารถจะแทรกซึมไปได้ทุกหนทุกแห่ง สิ่งต่างๆ ถูกน้ำหล่อเลี้ยงเอาไว้จึงดำรงอยู่ได้ เต๋าก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาวะที่แทรกสถิตอยู่ในสรรพสิ่ง และหล่อเลี้ยงให้สรรพสิ่งดำรงอยู่ได้ ดังที่เหลาจื๊อกล่าวไว้ในบทที่ ๓๔ ว่า

เต๋าเหมือนกระแสน้ำที่ไหลหลากไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งทางซ้ายและทางขวา สิ่งทั้งปวงกำเนิดมาจากเต๋า ได้รับการเลี้ยงดูจากเต๋า แต่มันไม่เคยทวงบุญคุณ จึงเรียกได้ว่ามันเป็นสิ่งเล็กน้อย ครั้นพิจารณา ในแง่ที่ว่าสรรพสิ่งกำเนิดมาจากเต๋า ก็เรียกได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แท้

๒.๔ การดำเนินชีวิตในทัศนะของเต๋า

เนื่องจากพื้นฐานความเชื่อของปรัชญาเต๋าที่ว่าสรรพสิ่งดำเนินไปตามกฎของธรรมชาติหรือกฎของเต๋า ดังนั้น ปรัชญาเต๋าจึงสอนให้มนุษย์ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย มีความสันโดษ ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยบำรุงบำเรอตัวเอง ไม่ดิ้นรนไขว่คว้าไปตามแรงชักพาของกิเลสตัณหา ไม่พยายามที่จะเสกสรรปั้นแต่งให้ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ ดังที่เหลาจื๊อ กล่าวไว้ในบทที่ ๔๔ ว่า

ผู้ที่รู้จักพอจะไม่พบกับความอัปยศ ผู้ที่รู้จักหยุดในเวลา

ที่เหมาะสมจะไม่ตกอยู่ในภยันตราย เขาจึงมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน

ในทัศนะของเหลาจื๊อ การที่สังคมมีความสับสนวุ่นวาย เพราะมนุษย์พยายามที่จะประดิษฐ์แปลงธรรมชาติ หรือพยายามที่จะวางตัวเหนือธรรมชาติแล้วแยกตัวเองออกจากธรรมชาติ ยิ่งมนุษย์ทำตัวให้เหินห่างจากธรรมชาติมากเท่าใด ความสับสนยุ่งเหยิงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น การเสริมแต่งธรรมชาติจึงไม่ต่างอะไรกับการหาความทุกข์เข้าใส่ตัว ดังนั้น เหลาจื๊อจึงสอนไม่ให้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ แต่ให้อ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติโดยยึดเอาน้ำเป็นตัวอย่าง ธรรมชาติของน้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ และไม่ว่ามันจะไปอยู่ในสิ่งที่รองรับที่มีรูปลักษณ์อย่างใด มันก็สามารถปรับตัวให้มีรูปลักษณ์อย่างนั้น เช่น เมื่อมันไปอยู่ในขวดก็จะมีรูปลักษณ์อย่างขวด ไปอยู่ในโอ่งก็จะมีรูปลักษณ์อย่างโอ่ง แม่น้ำก็ไม่เคยสูญเสียความเป็นน้ำของมันไป ดังที่เหลาจื๊อกล่าวไว้ในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๓ ว่า

คนที่ยืนเขย่งเท้าเพื่อจะอยู่เหนือคนอื่น ผู้นั้นย่อมยืนอยู่ไม่ได้นาน

คนที่ก้าวเท้ายาวเกินไปเพื่อจะล้ำหน้าคนอื่น ย่อมไปไม่ได้ไกล

คนที่แสดงตนว่ามีพระเดชพระคุณ กลับจะกลายเป็นคนถูกเขาเนรคุณ

ไม่มีผู้นับถือ…

โดยสรุป ปรัชญาการดำเนินชีวิตของเหล่าจื๊อ มี ๔ ประการ คือ

) จื้อใจ คือ รู้จักตัวของตัวเองให้ถูกต้อง

๒) จื้อเซ่ง คือ เอาชนะตัวเองให้ได้

๓) จื้อจก คือ มีความรู้จักพอ ไม่ทะเยอทะยาน

๔) จี่อีเต๋า คือ การมีเต๋าเป็นอุดมคติสูงสุด

๒.๕ การศึกษาในทัศนะของเต๋า

เหลาจื๊อไม่สนับสนุนให้จัดการศึกษาเพื่อทำให้คนมีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาด การที่เขาไม่สนับสนุนการศึกษาไม่ใช่ว่าจะรังเกียจสติปัญญาว่าเป็นสิ่งไม่ดีไปเสียทุกอย่าง สติปัญญาไม่ได้ดีและไม่ได้ชั่วในตัวของมันเอง แต่สิ่งที่เหลาจื๊อตำหนิคือผลที่ตามมาจากการให้คนมีสติปัญญามากกว่า ประกบการณ์ในชีวิตข้าราชการ ทำให้เหลาจื๊อได้เห็นพวกขุนนาง นักปราชญ์ นักวิชาการ ซึ่งเป็นคนที่มีสติปัญญามากและเป็นชนชั้นนำของสังคม มักจะใช้ความรู้ความสามารถทางสติปัญญาของตนเอารัดเอาเปรียบ ทุจริตคดโกงและกอบโกยผลประโยชน์จากคนชั้นล่างและจากธรรมชาติ ส่งผลให้ชีวิตและสังคมประสบกับความยุ่งเหยิง อีกประการหนึ่ง เหลาจื๊อมองว่าธรรมชาติดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของมันอยู่แล้ว มนุษย์ไม่ต้องฉลาดมากกว่าก็ได้ เพียงแต่เป็นอยู่อย่างง่าย ๆ สอดคล้องกับธรรมชาติแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ด้วยทัศนะพื้นฐานอย่างนี้ สติปัญญาจึงเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับเหลาจื๊อ ดังข้อความในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๑๙ ว่า

เมื่อละเลิกการศึกษาเล่าเรียนเสียได้ ความเศร้าโศกระทมทุกข์ ก็จะไม่มี เมื่อละเลิกนักปราชญ์กันเสียได้ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ไพบูลย์ร้อยเท่า เมื่อละเลิกความเมตตาและความซื่อสัตย์สุจริตเสีย ประชาชนก็กลับเป็นผู้มีความซื่อสัตย์กตัญญูและเมตตากันขึ้นเอง

มีข้อควรสังเกตอยู่ประการหนึ่งจากข้อความที่ยกมา คือ เหลาจื๊อให้ละเลิกความเมตตาและความซื่อสัตย์สุจริต คำว่าให้ละเลิกไม่ได้หมายความว่าไม่ให้แสดงความซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน แต่สิ่งที่เหลาจื๊อต้องการให้ละเลิกคือการพร่ำสอนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตตามประเพณี เพราะท่านเห็นว่ามนุษย์มีสิ่งเหล่านี้อยู่ตามธรรมชาติ เพียงแต่ปล่อยให้เขาดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ คุณธรรมเหล่านี้ก็จะหลั่งไหลออกมาเอง อีกอย่างหนึ่ง การที่สังคมพยายามที่จะปลูกฝังคุณค่าทางสังคม เช่น การปลูกฝังว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้มีค่า สิ่งนี้ไม่มีค่า เป็นการสร้างนิสัยแห่งการแบ่งแยกหรือการเปรียบเทียบให้แก่ประชาชน ผลที่ตามมาคือ ความอิจฉาริษยา ความโลภ และการยื้อแย่งสิ่งที่สังคมตีค่าเป็นสิ่งที่ดี ดังข้อความในคัมภีร์ เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๓ ว่า

มิได้ยกย่องคนฉลาด ประชาราษฎร์ก็จะไม่แก่งแย่งชิงดี

มิได้ให้คุณค่าแก่สิ่งของที่หายาก ประชาราษฎร์ก็จะไม่ลักขโมย

ขจัดตัวตนแห่งความอยาก ดวงใจแห่งประชาราษฎร์ก็จะบริสุทธิ์

ทัศนะต่อการศึกษาของเหลาจื๊อเท่าที่กล่าวมา มีประเด็นหลักๆ พอสรุปได้ดังนี้

๑) สติปัญญาทางโลกเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตตามอุดมคติของเต๋า เพราะในธรรมชาติมีกลไกที่ควบคุมความเป็นไปของมันอยู่แล้ว เพียงแต่มนุษย์ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธรรมชาติก็พอแล้ว

๒) การสร้างสติปัญญาจะทำให้มนุษย์มีช่องทางหรือโอกาสที่จะเอาเปรียบคนอื่นและธรรมชาติได้มากขึ้น

๓) การศึกษาและการสร้างค่านิยมทางสังคม จะทำให้เกิดการแบ่งแยกดี-เลว น่ารัก-น่าเกลียด แล้วจะนำไปสู่การพอกพูนกิเลสตัณหาและการแก่งแย่งในที่สุด

๔) สติปัญญาจะนำไปสู่การประดิษฐ์แปลงปั้นแต่งธรรมชาติจนวิปริตผิดเพี้ยน

๒.๖ ความว่างในทัศนะของเต๋า

เรื่องความว่างในทัศนะของปรัชญาเต๋าดูเหมือนจะมีอยู่ ๒ ความหมาย คือ ความว่างในระดับอภิปรัชญา และความว่างในระดับจริยธรรม ความว่างในระดับอภิปรัชญาหมายถึงความว่างที่เป็นสภาวะดั้งเดิมของเต๋า เมื่อเหลาจื๊ออธิบายถึงภาวะดั้งเดิมของเต๋า นอกจากจะใช้ภาษาในเชิงปฏิเสธแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่ท่านใช้คือว่า “ความว่าง” ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๔ ว่า

เต๋าเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า แต่เมื่อใช้มันขึ้นมา ดูเหมือนจะใช้มันไม่รู้จักหมดสิ้น

มันช่างเป็นธรรมลึกซึ้งเสียนี่กระไร ประหนึ่งเป็นต้นเค้าของสิ่งทั้งปวง มัน

ไม่แสดงความกล้าออกมา และมันก็พ้นจากความยุ่งเหยิงวุ่นวาย

ในที่ที่มีความสว่างมันก็กลมกลืนกับความสว่างนั้น ในที่ที่มีความมืดสกปรก

มันก็กลมกลืนกับความโสมมนั้น…

คำว่า “ความว่าง” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าว่างเปล่าโดยไม่มีอะไรเลย แต่เป็นภาวะที่ไม่อาจกล่าวได้ว่ามี หรือไม่มี จะบอกว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะสรรพสิ่งล้วนแต่ออกมาจากสภาวะนั้น จะบอกว่ามีก็ไม่ได้อีก เพราะไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัสทางกาย ดังที่กล่าวไว้ในอรรถกถาของเฮ่งเพี้ยกว่า

จักกล่าวว่ามันไม่มีไม่เป็นอะไรเสียเลยหรือ สิ่งทั้งปวงก็สำเร็จ

มาจากมัน ครั้นจะพูดว่ามันมีมันเป็นอะไรๆ อยู่แล้ว เราก็มองไม่

เห็นตัวของมัน

ความหมายของความว่างอีกประการหนึ่ง คือ ความหมายในระดับจริยธรรม หมายถึง ความหมายที่ประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ละวันเราได้พานพบสิ่งต่างๆ มากมาย สิ่งที่เราได้พบเห็นนั้นเรามักจะเลือกมองเฉพาะจุดที่ตัวเองสนใจ และจุดที่เลือกมองนั้นแม้จะมีความแตกต่างกันระหว่างบุคคล แต่ก็มีจุดร่วมเป็นอันเดียวกันคือการมองส่วนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่เต๋ามีมุมมองแปลกพิเศษไปจากคนธรรมดาทั่วไปมอง คือส่วนที่ว่างเปล่าของสิ่งนั้น เช่น แก้วน้ำ หรือถ้วย คนส่วนมากจะมองว่ารูปร่างของมันเป็นอย่างไร สีอะไร เป็นต้น ส่วนเต๋าจะมองไปที่ความว่างของสิ่งนั้น ตรงความว่างของมันนี่แหละที่ทำให้มันมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้ ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๑๑ ว่า

ล้อรถนั้นประกอบด้วยไม้สามสิบซี่รวมกันอยู่ที่แกน วงรอบนอกของล้อ และไม้สามสิบซี่นั้น คือ “ความมี” ดุมล้อนั้นกลับกลวง คือ “ความว่าง” จากความว่างนี้เอง คุณประโยชน์ของล้อก็เกิดขึ้น ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็น ภาชนะ จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น

๒.๗ แนวคิดเรื่องสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะของเต๋า

ระบบปรัชญาเต๋ายอมรับความจริงในระดับสมมติและระดับปรมัตถ์ ความจริงระดับสมมติเป็นความจริงที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เช่น ภาษา และการใช้เหตุผล เป็นต้น เมื่อเหลาจื๊อจะอธิบายภาวะแห่งเต๋า ท่านยอมรับว่าไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร เพราะระบบสัญลักษณ์ในสังคมมนุษย์มีข้อจำกัดในการอธิบายภาวะแห่งสัจธรรม แต่ในที่สุดท่านก็ยอมรับว่าสมมติสัจจะสามารถสื่อความหมายได้ระดับหนึ่ง นั่นคือท่านบัญญัติคำว่า “เต๋า” เพื่อใช้แทนภาวะสัจธรรมที่ท่านค้นพบไปพลางๆ ก่อน คำว่า “ใช้ไปพลางๆ ก่อน” ในที่นี้ หมายความว่าใช้อย่างมีเงื่อนไขและมีข้อจำกัด ไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม สังคมมนุษย์เป็นสังคมแห่งระบบสัญลักษณ์ ทุกคนเกิดมาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เต็มไปด้วยระบบสัญลักษณ์ จึงถูกหล่อหลอมให้มีความคิดความเชื่อจากสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้มนุษย์มีความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นจนลืมนึกหรือไม่ เคยแม้แต่จะนึกว่าโลกที่ตัวเองยึดอยู่นั้นเป็นโลกแห่งสมมติ ดังคำกล่าวของจวงจื้อ ที่ว่า

มนุษย์ผูกพันติดยึดกับทุกสิ่งที่ตนพบเห็น วันแล้ววันเล่า มนุษย์ใช้สมอง ต่อสู้กันอย่างโกลาหล บางครั้งก็ด้วยเรื่องยิ่งใหญ่ บางครั้งก็ด้วยเรื่อง กระจ่อยร่อย ความกลัวเล็กๆ อันคับแคบทำให้ตัวสั่นงันงก ความกลัวใหญ่ ๆ นั้นไหลบ่าทับถมจนมึนชา พวกเขาพุ่งทะยานไปข้างหน้าราวกับลูกศร มุ่งมั่นแน่ใจว่าพวกตนคือผู้ตัดสินถูก- ผิด

จะเห็นว่า ในทัศนะของจวงจี๊อการยึดติดในสมมตินำไปสู่การแบ่งแยกถูก-ผิด ดี-ชั่ว สวย-น่าเกลียด แล้วต่อมาก็จะพยายามสร้างเกณฑ์ตัดสินข้นมาวัดว่าอะไรถูก อะไรผิด เมื่อสร้างเกณฑ์ได้แล้วก็จะยึดติดเกณฑ์นั้นอีกชั้นหนึ่ง เป็นอันว่ามนุษย์ไปยึดติดสมมติอันแรกแล้วไปสร้างสิ่งสมมติอันที่สองมาตัดสินแล้วยึดติดสมมติอันที่สองซ้ำเข้าไปอีก จึงเป็นการยึดติดสมมติสองชั้นในเวลาเดียวกัน

ปรัชญาเต๋ายอมรับว่ามีความจริงอีกอย่างหนึ่งที่อยู่เหนือระบบสัญลักษณ์ใดๆ ของมนุษย์เรียกว่า “ความจริงขั้นปรมัตถ์” เป็นความจริงที่ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีเกณฑ์ตัดสิน ไม่อาจอธิบายได้ด้วยระบบสัญลักษณ์อันจำกัดของมนุษย์ เป็นสภาวะที่ว่างเปล่า มีความเป็นเอกภาพ เป็นอมตะ ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง สภาวะนี้เหลาจื๊อสมมติเรียกว่า “เต๋า”

กล่าวโดยสรุป ระบบปรัชญาเต๋ามีความเชื่อพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง คือ เชื่อว่าธรรมชาติดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบตามกฎเกณฑ์เต๋า เต๋าเป็นภาวะสูงสุดและเป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ควบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วย ด้วยความเชื่อพื้นฐานอันนี้จึงทำให้ปรัชญาเต๋าอธิบายสังคมในทุกๆ มิติในลักษณะที่สอดคล้องกันหมด นั่นคือกิจกรรมทุกด้านของสังคมไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์หรือกฎเกณฑ์ของเต๋า กิจกรรมใดก็ตามที่พยายามจะทำให้ผิดแปลกจากธรรมชาติ ปรัชญาเต๋าเชื่อว่ากิจกรรมเช่นนั้นจะนำความยุ่งเหยิงมาสู่สังคมในที่สุด

๓.ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และแนวคิดความเชื่อของนิกายเซน

๓.๑ ความหมายและความเป็นมาของเซน

คำว่า “เซน” (Zen) เป็นภาษาญี่ปุ่น มาจากคำว่า “ฌาน” ( ch’an) ในภาษาจีน ตรงกับคำว่า “ฌาน” ในภาษาบาลี และคำว่า “ธยาน” (Dhyan) ในภาษาสันสกฤต แปลว่า สมาธิ หรือการเพ่ง (Meditation)

กล่าวกันว่าการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนานิกายเซน สามารถสืบย้อนหลังไปได้ถึงสมัยพุทธกาลเลยทีเดียว หลักฐานความเป็นมาของนิกายเซนกล่าวไว้ในพระสูตรของจีนชื่อว่า “ผั่นเทียนอุ้นฝูเจี้ยอี้จิง” พระสูตรนี้ได้กล่าวถึงความเป็นมาของนิกายเซนว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิต่อหน้าพุทธบริษัทที่เข้าเฝ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา พระพุทะองค์ไม่ตรัสอะไรเพียงชูดอกไม้ขึ้นหนึ่งดอกให้เป็นปริศนาธรรม ในจำนวนพุทธบริษัทเหล่านั้น มีเพียงพระมหากัสสปะองค์เดียวเท่านั้นที่เข้าใจความหมาย ท่านแสดงอาการยิ้มน้อย ๆ พระพุทธองค์ก็ทรงทราบทันทีว่าพระมหากัสสปะเข้าใจปริศนานั้น จึงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ ตถาคตมีธรรมจักษุครรภ์อันถูกและนิพพานจิต ลักษณะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะ เธอพึงรักษาไว้ด้วยดี พุทธพจน์นี้ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของนิกายเซน และพระมหากัสสปะก็ได้ชื่อว่าเป็นพระสังฆปริณายกองค์แรกของนิกายเซนด้วย หลังจากนั้นก็มีการสืบทอดตำแหน่งต่อมาโดยลำดับจนถึงองค์ที่ ๒๘ คือ พระโพธิธรม ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์สุดท้ายของอินเดีย นิกายเซนได้เข้าสู่ประเทศจีนประมาณปี พ.ศ.๑๐๖๓ โดยการนำของพระโพธิธรรม และถือว่าท่านเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๑ ของจีน ก่อนที่นิกายเซนจะเข้าสู่ประเทศจีน พุทธศาสนามหายานนิกายอื่น ๆ ได้เข้าไปเผยแพร่ก่อนหน้านั้นแล้ว การเข้าสู่ประเทศจีนของท่านพระโพธิธรรมจึงเป็นการเอาแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบเซนเข้าไปปะทะสังสรรค์กับระบบความเชื่อของจีนและพุทธศาสนามหายานนิกายอื่นๆ ด้วย โดยนิกายมหายานที่เข้าไปก่อนได้มีการแปลคัมภีร์เป็นภาษาจีน การศึกษาเล่าเรียน การเทศนาโวหาร และการชักชวนให้ประชนบำเพ็ญบุญกุศลอย่างกว้างขวาง เมื่อพระโพธิธรรมไปถึง ท่านมีรูปแบบการประกาศศาสนาไม่เหมือนใคร เช่น บำเพ็ญตนเป็นผู้สงบเงียบ ไม่แสดงโวหาร ไม่สนับสนุนการเรียนปริยัติธรรม แม้แต่การสร้างบุญสร้างกุศลเพื่อไปสวรรค์ท่านก็ไม่สนับสนุน เพราะไม่ใช่บุญกุศลที่ประเสริฐอย่างแท้จริง บุญกุศลที่แท้จริงต้องเกิดขึ้นจากการประจักษ์แจ้งในจิตเดิมแท้ของตน

๓.๒ การสืบทอดตำแหน่งพระสังฆปริณายก

การสืบทอดตำแหน่งพระสังฆปริณายก คือ การสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่เป็นผู้นำของนิกาย ในการสืบทอดตำแหน่งพระสังฆปริณายกของนิกายเซน มีรูปและวิธีการแตกต่างจากนิกายอื่น ๆ สัญลักษณ์ทางรูปธรรมที่เห็นได้ชัดซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการส่งมอบตำแหน่งคือการมอบบาตรและจีวร อย่างไรก็ตาม บาตรและจีวรน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่ประกาศให้รู้ทางสังคมเท่านั้น ไม่ใช่ตัวสาระของการมอบตำแหน่งอย่างแท้จริง ตัวสาระที่แท้จริงของการส่งมอบคือการประจักษ์แจ้งสัจธรรมของผู้รับมอบตำแหน่ง จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะส่งมอบตำแหน่งจะมีการทดสอบในหลายรูปแบบ ส่วนมากก็จะให้ขบปริศนาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การให้ขบปริศนาธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นต้น เมื่อพระโพธิธรรมมาประกาศศาสนาในประเทศจีน ท่านก็ใช้วิธีการแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ก่อนที่จะมอบภาระการสืบทอดสัจธรรให้แก่พระมหากัสสปะ มีเรื่องเล่าว่า ก่อนที่พระโพธิธรรมจะเดินทางกลับอินเดียท่านได้เรียกศิษย์ทั้งหลายมาประชุมกัน แล้วไต่ถามถึงภูมิธรรมที่แต่ละคนได้บรรลุว่าเป็นอย่างไร ศิษย์แต่ละคนต่างก็แสดงสำนวนโวหารอย่างลึกซึ้ง แต่มีศิษย์คนหนึ่งลุกขึ้นแสดงคารวะอาจารย์โดยไม่พูดอะไร ท่านพระโพธิธรรมจึงมอบตำแหน่งให้แก่ศิษย์คนนี้ คือ ท่านเชนกวง หรือ หุยเก อาจจะมีผู้สงสัยว่าการแสดงความนิ่งเงียบเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้นั้นเขาถึงสัจธรรม อาจจะนิ่งเงียบเพราะไม่รู้ก็ได้ ก็ตอบได้ว่า อาการนิ่งเงียบที่ปรากฏภายนอกคงไม่ใช่เกณฑ์ที่จะตัดสินว่าผู้นั้นบรรลุธรรม แต่น่าจะเป็นผลสะท้อนของสภาวะจิตของผู้บรรลุธรรมที่ปรากฏออกมาภายนอก และพระอรหันต์ผู้มีระดับจิตในลักษณะเดียวกันคงจะทราบภาวะจิตของกันได้ นอกจากนั้น ในฐานะที่เป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน น่าจะมีพฤติกรรมสะสมระยะยาวพอที่จะตัดสินได้ว่าใครเป็นอย่างไร

๓.๓ ธรรมชาติดั้งเดิมของจิตในทัศนะของเซน

ธรรมชาติดั้งเดิมของจิตมนุษย์หรือที่เรียกว่า “จิตเดิมแท้” ( Essence of Mind) เป็นสภาพที่บริสุทธิ์สะอาดผ่องใสโดยธรรมชาติ ธรรมชาติอันนี้มีเสมอเหมือนกันหมดในมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนฉลาดหรือคนโง่ ล้วนไม่มีความแตกต่างกันในสภาวะของจิตเดิมแท้ ดังที่ท่านเว่ยหล่างกล่าวไว้ว่า

แม้ว่าจะมีคนชาวเหนือและคนชาวใต้ก็จริง แต่ทิศเหนือหรือทิศใต้นั้น หาได้ทำให้ความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่ในคนๆ นั้นแตกต่างกันไม่ คนป่าคนดงจะแตกต่างจากท่านก็แต่ในทางร่างกายเท่านั้น แต่ไม่มีความผิดแปลกแตกต่างกันในส่วนธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของเราทั้งทังหลาย

ท่านผู้ใฝ่ในการศึกษาทั้งหลาย จิตเดิมแท้ของพวกเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นเมล็ดหรือแก่นของการรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ ด้วยการใช้จิตนี้ให้เป็นประโยชน์เท่านั้น พวกเราทั้งหลายจึงจะสามารถเข้าถึงพุทธภาวะโดยตรง

จากข้อความที่ยกมาจะเห็นว่า ธรรมชาติของจิตในทัศนะของเซนมีสภาวะแห่งความเป็นพุทธะหรือสภาวะที่พร้อมที่จะตรัสรู้เหมือนกันหมดทุกคน และสภาวะนี้มีแก่นแท้ที่บริสุทธิ์สะอาด แต่ที่เศร้าหมองเพราะถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส ดังนั้น มนุษย์จึงมีหน้าทีที่จะเข้าหาจิตเดิมแท้ของตนด้วยการขจัดกิเลสที่ห่อหุ้มจิตให้หมดไป เมื่อนั้นภาวะแห่งความใสสว่างที่เป็นธรรมชาติเดิมของจิตก็จะปรากฏออกมา การแสวงหาพุทธภาวะด้วยการศึกษาจากตำรา การท่องบ่นคัมภีร์ หรือการอ้อนวอน ยิ่งทำก็ยิ่งห่างจากพุทธภาวะมากขึ้นทุกที เพราะเป็นการแสวงหานอกตัว ไม่ได้มองย้อนกลับเข้ามาหาที่ตัว ด้วยเหตุนี้ เซนจึงไม่ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าตำรา การแสดงโวหาร ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า

เซนไม่มีตำรา ไม่มีการติดตำรา มีแต่การฉีกตำราเสียให้หมด เพราะตำรานั่นเองเป็นม่านอวิชชาที่บังตาคนไม่ให้เห็นความว่าง ตำราเป็นเพียงรอยบันทึกคำพูด ธรรมตัวจริงแสดงไม่ได้ด้วยคำพูด ถึงไม่ได้ด้วยคำพูด แต่ถึงได้ด้วยการแทรกตัวเข้าไปในธรรมชาติ จนกระทั่งถึงธรรมชาติเดิมแท้ของธรรมชาติ กล่าวคือ “ความว่าง”

๓.๔ ความว่างในทัศนะของเซน

นิกายเซนได้กล่าวถึงเรื่องความว่างหรือสุญญตาเช่นเดียวกับนิกายอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่า ทัศนะเรื่องความว่างเป็นทัศนะร่วมของพุทธศาสนาเกือบทุกนิกาย พระเถระของนิกายเซนหลายท่านได้กล่าวถึงเรื่องความว่าง เช่น พระโพธิธรรมในคราวสนทนาธรรมกับพระจักรพรรดิวู เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิถามถึงกุศลที่จะได้รับจากการได้สร้างวัด และการถวายทานแก่พระภิกษุสามเณร ท่านตอบว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ใช่กุศลที่แท้จริง กุศลที่แท้จริงคือความว่างอันยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถค้นหาได้ภายในตัวเราเท่านั้น นอกจากนั้น ท่านเว่ยหล่างก็ได้กล่าวถึงความว่างเช่นเดียวกัน ดังทีท่านกล่าวไว้ในสูตรของเว่ยหล่างว่า

พุทธเกษตรทั้งปวงว่างเปล่าดุจอวกาศ ธรรมชาติโดยปรมัตถ์ของเรามีความว่างเปล่าเป็นสภาวะ ไม่มีธรรมแม้สักอย่างเดียวที่เราสามารถบรรลุได้ แก่นแท้แห่งจิต( Essence of Mind) ก็เช่นเดียวกัน สิ่งนี้ เป็นความว่างเปล่าอย่างยิ่ง

สิ่งที่ท่านเว่ยหล่างเรียกว่าธรรมชาติโดยปรมัตถ์ได้แก่ขันธ์ห้า เมื่อขันธ์ห้าว่างเปล่า ผู้บรรลุธรรมก็ไม่มี และธรรมที่ถูกบรรลุก็ไม่มี การที่กล่าวมีผู้บรรลุธรรม หรือมีธรรมที่ได้บรรลุเป็นการกล่าวโดยสมมติเท่านั้น เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ย่อมไม่มีทั้งผู้บรรลุและธรรมที่บรรลุ ครั้งหนึ่ง ท่านเฉินซิว( Shen hsiu) ได้แต่งคาถาขึ้นคาถาหนึ่งว่า

กายของเราทั้งหลายคือต้นโพธิ์ จิตของเราทั้งหลายคือกระจกใส ขอให้พวกเราจงหมั่นเช็ดถูกายและจิตเสมอ อย่าให้ฝุ่นธุลีลงจับ

คาถาของท่านเฉินซิวแต่งขึ้นมาจากความรู้สึกของคนที่เป็นปุถุชนอยู่ จากเนื้อหาของคาถาสะท้อนให้เห็นว่ายังมีอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นว่ามีกายของเรา จิตของเรา และยังมีผู้เช็ดถูกและสิ่งที่ถูกเช็ดถูก็มีอยู่ เมื่อท่านเว่ยหล่างเห็นคาถานี้ ท่านเข้าใจทันทีว่าเป็นความคิดของผู้ที่มียังอุปาทานอยู่ ยังยึดติดอู่ในสมมติสัจจะอยู่ ท่านจึงแต่งคาถาแก้ในเชิงปรมัตถ์ว่า

ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีที่ตั้งของกระจกใส เมื่อสรรพสิ่งล้วนว่างเปล่า ฝุ่นธุลีจะลงจับที่ไหนได้

จะเห็นว่า แนวคิดของท่านเว่ยหล่างอยู่ในขั้นปรมัตถ์ ท่านเห็นว่าทั้งกายและใจที่ท่านเฉินซิวยกขึ้นมาเป็นตัวยืนแล้วให้เฝ้าคอยเช็ดถูให้สะอาด ล้วนแต่ว่างเปล่าทั้งสิ้น เมื่อไม่มีตัวตนเป็นตัวยืน กิจกรรมที่จะต้องคอยเช็คถูตัวตนก็ไม่มี

๓.๕ บ่อเกิดของสรรพสิ่งที่ทัศนะของเซน

เป็นที่เข้ากันไปทั่วว่า พุทธศาสนานิกายเซนเน้นการมุ่งมองเข้าหาธรรมชาติด้านในของคน ไม่ค่อยสนใจเรื่องกรรม การเกิดใหม่ เรื่องสังสารวัฏเท่าที่ควร โดยเฉพาะปัญหาระดับอภิปรัชญา เช่น สรรสิ่งกำเนิดมาอย่างไร ชีวิตมาจากไหน เป็นต้น แต่มีคำสอนของอาจารย์บางท่านที่ดูเหมือนจะให้ความสนใจเรื่องปัญหาอภิปรัชญาเหมือนกัน อาจารย์เซนท่านนั้นคือ ท่านฮวงโป(Huang Po ) ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

พระพุทธเจ้าทั้งปวงและสัตว์โลกทั้งปวงไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง(One Mind) นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้วไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่งซึ่งเป็นที่ปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูปไม่มีทั้งการปรากฏ มันไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีการตั้งอยู่และไม่มีการตั้งอยู่ มันไม่อาจจะถูกลงความเห็นว่าเป็นของใหม่หรือของเก่า มันไม่ใช่ของยาวของสั้น ของใหญ่ของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น

ท่านฮวงโปมีทัศนะว่า สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาล ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ล้วนแต่มีกำเนิดมาจากสิ่งที่ท่านเรียกว่า “จิตหนึ่ง” สภาวะของจิตหนึ่งดำรงอยู่ชั่วนิรันดร ไม่มีจุดตั้งต้นและจุดสิ้นสุด เป็นภาวะที่อยู่เหนือกาลเวลา เหนือการบรรยายด้วยระบบสัญลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ท่านพุทธทาสภิกขุได้วิจารณ์แนวคิดของท่านฮวงโปไว้ว่า

คำว่า จิต หรือจิตหนึ่ง หมายถึงสิ่งๆ หนึ่งซึ่งมีอยู่ก่อนที่จะเกิดมีจิตตามความหมายที่เรารู้จักกัน หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ก่อนเกิดมีสิ่งทั้งปวงเอง ก่อนเกิดมีสังสารวัฏและนิพพานตามความรู้สึกทั่วไป สิ่งที่เรียกว่าจิตหนึ่งก็มีอยู่แล้ว คือมีตั้งแต่ไม่มีใครทราบ

การวิจารณ์ของท่านพุทธทาสมีความสอดคล้องกับแนวคิดของเสถียร โพธินันทะที่ว่า นิกายเซนมองสรรพสิ่งว่ามีอมตจิตเป็นมูลการณ์ ( First Cause) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เกิดมาจากอมตภาวะนี้ และอมตภาวะนี้แผ่คลุมไปทุกหนทุกแห่งไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีเกิด ไม่มีดับ ส่วนที่เกิด-ดับเป็นเพียงปรากฏการณ์หรือเป็นมายา หาใช่ภาวะที่แท้จริงของจิตไม่ อมตภาวะนี้ก็คือจิตของเรานั่นเอง

๓.๖ รูปแบบกรถ่ายทอดธรรมของเซน

นิกายเซนมีทัศนะพื้นฐานในเรื่องสัจธรรมว่า เป็นภาวะที่อยู่เหนือการพูด การคิด และการค้นคว้าจากตำรา สัจธรรมไม่ใช่สิ่งที่นอนนิ่งอยู่ในตำราหรือสถานที่ใดที่หนึ่งเพื่อรอการค้นพบของเรา ตำราเป็นเพียงแผนที่บอกทางเดินหรือเป็นนิ้วมือที่ชี้ไปยังดวงจันทร์เท่านั้น หาใช่ตัวดวงจันทร์ที่แท้จริงไม่ นิกายเซนมีความเห็นว่าในตัวของเราทุกคนมีพุทธภาวะหหรือภาวะแห่งการ ตรัสรู้อยู่แล้ว ขอเพียงเราย้อนกลับมาหาตัวเองแล้วค้นหาพุทธภาวะนั้นให้เจอ เราก็จะพบกับความรู้แจ้งอย่างแท้จริง ดังนั้น รูปแบบการถ่ายทอดธรรมของนิกายเซนจึงมีหลักอยู่ว่า

การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์

ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือ

ชี้ตรงไปยังจิตมนุษย์

เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงและบรรลุความเป็นพุทธะ

การที่นิกายเซนมุ่งตรงไปยังจิตของมนุษย์เพื่อแทงทะลุถึงพุทธภาวะที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องผ่านคัมภีร์ ไม่ได้หมายความว่านิกายเซนจะทิ้งคัมภีร์อย่างสิ้นเชิง คัมภีร์ไม่ทำให้เข้าถึงพุทธภาวะก็จริง แต่ก็เป็นแผนที่บอกทางเดินได้ ดังนั้น นิกายเซนจึงมีคัมภีร์เป็นของตนเองไม่แพ้นิกายอื่นๆ เช่น ลังกาวตารสูตร วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร และวิมลเกียรตินิเทศสูตร เป็นต้น สิ่งที่นิกายเซนตำหนิจึงไม่ใช่ตัวคัมภีร์ แต่ตำหนิพฤติกรรมที่ยึดติดในคัมภีร์แล้วพยายามค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในคัมภีร์มากกว่า ดังที่ท่านเว่ยหล่างตำหนิผู้ที่ติดในคัมภีร์ว่า

ไม่มีอะไรเป็นของผิดอยู่ในพระสูตร จนถึงกับท่านจะต้องเลิกการสาธยายเสียเลย การสาธยายพระสูตรจะช่วยให้ท่านตรัสรู้ธรรมได้หรือไม่ จะเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านหรือไม่ ข้อนั้นทั้งหมดมันเนื่องอยู่ที่ตัวท่านเอง ผู้ที่ท่องพระสูตรอยู่ด้วยปากและเอาข้อความพระสูตรไปปฏิบัติอยู่เสมอด้วยใจ คนนั้นชื่อว่า “พลิก” พระสูตร ส่วนผู้ที่ท่องพระสูตรด้วยปากแต่ ปราศจากการปฏิบัติ ผู้นั้นชื่อว่า “ถูกพลิกเสียแล้ว” โดยพระสูตรที่เขาท่องนั่นเอง

เห็นได้ชัดเจนว่า นิกายเซนไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าของคัมภีร์ เพราะคัมภีร์จะมีประโยชน์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ตัวคัมภีร์แต่อยู่ที่ท่าทีของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคัมภีร์มากกว่า ถ้าเราไปยึดติดคัมภีร์ว่าเป็นความจริงสูงสุดก็ยิ่งห่างจากความเป็นจริงมากขึ้นทุกที ถ้าเราอาศัยคัมภีร์เป็นแผนที่บอกทางเดินเข้าหาตัวเองคัมภีร์ก็มีประโยชน์

๓.๗ สมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะในทัศนะของเซน

แนวคิดเรื่องสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะดูเหมือนจะเป็นทัศนะร่วมกันของพุทธศานาทุกนิกาย ความจริงระดับสมมติเป็นความจริงที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อการรับรู้ร่วมกันในสังคม เช่น เรื่องดี-ชั่ว ถูก-ผิด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีความจริงอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับการสมมติของมนุษย์ เป็นความจริงตามกฎของธรรมชาติ ความจริงประเภทนี้เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ เป็นความจริงที่อยู่เหนือการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย นิกายเซนก็ได้สอนเรื่องความจริงสองระดับนี้เช่นเดียวกัน ดังที่ท่านฮวงโปกล่าวไว้ว่า

เมื่อเธอลืมความดีและความไม่มี ชีวิตทางโลกและชีวิตทางธรรมและ

ธรรมทุกอย่าง ไม่ปล่อยให้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น และ

เมื่อปล่อยวางทั้งร่างและจิตใจ เมื่อนั้น เสรีภาพอันสมบูรณ์จะมีอยู่

เมื่อเปรียบเหมือนท่อนไม้หรือก้อนหิน ก็ไม่มีอะไรที่จะแบ่งแยก

สภาวะจิตของผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุถึงความจริงระดับปรมัตถ์ จะอยู่เหนือการแบ่งแยกหรือที่เรียกว่า “ทวิภาวะ” ( Dualism) มีแต่ความเข้าใจกฎของธรรมชาติอย่างองค์รวม หรือมองดูธรรมชาติตามกระบวนการของเหตุปัจจัย ไม่เอาตัวตนเข้าจับหรือตัดสินด้วยระบบคุณค่า มองอย่างที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่มองอย่างที่กิเลสของเราอยากให้เป็น ท่านฟา-เหยน (พ.ศ.๑๔๒๘-๒๕๐๑) ได้สะท้อนสภาวะจิตของผู้บรรลุธรรมว่า

เมื่อบุคคลเข้าสู่อาณาจักรของความเป็นสากล สิ่งที่ตรงกันข้าม

ย่อมละทิ้ง การละทิ้งความเป็นของตรงกันข้ามคือการเพิกถอนชื่อ

ดังนั้น จึงค่อนข้างชัดเจนว่ารูปทั้งหมด เป็นอิสระจากความจริงและ

ปรากฏการณ์

กล่าวโดยสรุป พุทธศาสนานิกายเซนมองธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนว่ามีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอยู่ภายในเสมอเหมือนกันหมด ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนี้มีความบริสุทธิ์สะอาดโดยธรรมชาติ การปฏิบัติธรรมคือการมุ่งที่จะเข้าถึงความจริงหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่มีอยู่ในตน ด้วยความเชื่อพื้นฐานอันนี้จึงทำให้พุทธศาสนานิกายเซนมีแนวทางปฏิบัติที่ค่อนข้างแตกต่างจากนิกายอื่นๆ เช่น การไม่ยึดติดคัมภีร์ ไม่แสดงสำนวนโวหาร ไม่ขบคิดด้วยระบบตรรกะ แต่มุ่งปฏิบัติเพื่อค้นหาธรรมชาติแห่งพุทธะที่มีอยู่ในตน

๔.วิเคราะห์อิทธิพลของปรัชญาเต๋าที่มีต่อนิกายเซน

ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า พุทธศาสนานิกายเซนเป็นผลผลิตของระบบความคิดแบบอินเดียผสมผสานกับระบบความคิดแบบจีน อาศัยการผสมผสานระหว่างระบบความคิดหรือระบบวัฒนธรรมสองกระแสจึงทำให้พุทธศาสนานิกายเซนมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากพุทธศาสนานิกายอื่นๆ เป็นความจริงที่ว่า ระบบความคิดความเชื่อใดๆ ก็ตามที่พยายามจะเข้าไปแทรกตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น การปรับตัวนั้นมักจะเป็นไปในสองลักษณะ คือ การับเอาระบบความคิดของท้องถิ่นมาใช้ในการสื่อระบบความคิดของตน และปรับระบบความคิดของตนให้เข้ากับระบบความคิดของท้องถิ่น พุทธศาสนานิกายเซนก็อยู่ในลักษณะดังกล่าวมานี้ กล่าวคือเมื่อมีการปะทะกับระบบวัฒนธรรมจีน นิกายเซนจะเลือกรับเอาเฉพาะระบบความคิดที่สอดคล้องกับระบบความคิดของตนมากที่สุด และระบบความคิดที่สอดคล้องกับของเซนมากที่สุดก็คือปรัชญาเต๋านั่นเอง ต่อไปนี้จะได้วิเคราะห์อิทธิพลของปรัชญาเต๋าที่มีต่อนิกายเซน โดยจะแยกประเด็นในการวิเคราะห์เป็น ๓ ประเด็น คือ อิทธิพลในการอธิบายความจริงระดับอภิปรัชญา อิทธิพลทางด้านญาณวิทยา และอิทธิพลทางด้านจริยศาสตร์

๔.๑ อิทธิพลในการอธิบายความจริงทางอภิปรัชญา

ความจริงระดับอภิปรัชญาหมายถึงความจริงสูงสุดในระบบปรัชญาทั้งสอง นิกายเซนและปรัชญาเต๋าอธิบายความจริงระดับอภิปรัชญาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะเรื่องจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง เหลาจื๊ออธิบายว่า สรรพสิ่งล้วนมีกำเนิดมาจากเต๋า เต๋าไม่ได้กำเนิดมาจากสิ่งใด แต่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เป็นอมตะ แทรกซึมและควบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่ง นิกายเซนอธิบายจุดกำเนิดของสรรพสิ่งในลักษณะคล้ายๆ กัน จึงน่าจะได้รับอิทธิพลแนวคิดของเต๋าไม่มากก็น้อย ท่านฮวงโปอธิบายว่า สรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือสัตว์ทั้งปวง ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากสภาวะที่เรียกว่า “จิตหนึ่ง ( One Mind) จิตหนึ่งนี้เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง เป็นสภาวะที่ไม่มีการเกิด-ดับ ไม่อาจทำลายได้ ไม่มีรูปร่างปรากฏให้เห็นได้ มีลักษณะที่ไม่อาจอธิบายได้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่เหนือขอบเขตแห่งสถานที่และกาลเวลา แต่ดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง แนวคิดของท่านฮวงโปที่อธิบายสรรพสิ่งว่ามีมูลการณ์ ( First Cuase) จึงเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากพุทธศาสนานิกายอื่นๆ ที่มองว่าสรรพสิ่งไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย แต่ดำรงอยู่ในรูปของกระแสที่ต่อเนื่อง ดังนั้น แนวคิดของท่านฮวงโปจึงน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของเต๋า

ในการอธิบายความจริงระดับโลกิยธรรมและโลกุตรธรรมก็เช่นเดียวกัน ทั้งปรัชญาเต๋าและนิกายเซนยอมรับว่ามีความจริงอยู่สองระดับ คือ ระดับบัญญัติของสังคมหรือระดับสมมติ และระดับที่เป็นความจริงตามธรรมชาติหรือระดับปรมัตถ์ ท่านจวงจื๊ออธิบายว่า การแบ่งแยกดี-ชั่ว ถูก-ผิด เป็นการแบ่งแยกตามการสมมติของมนุษย์เท่านั้น ไม่สามารถจะตัดสินได้ว่าใครถูกใครผิด เพราะเป็นสมมติด้วยกันทั้งคู่ ยิ่งมนุษย์พยายามที่จะสร้างกฎเกณฑ์มาตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด ก็ยิ่งเป็นการสร้างสมมติมาตัดสินสมมติซ้อนขึ้นมาอีก เรียกว่า เป็นการยึดติดสมมติพร้อมกันสองชั้น แท้ที่จริงแล้วสภาวะแห่งสัจธรรมไม่มีการแบ่งแยก เป็นสภาวะที่ว่างเปล่า และเป็นเอกภพ นิกายเซนก็อธิบายความจริงสองระดับในลักษณะคล้ายๆ กัน ดังที่ท่านไป-ชาง (พ.ศ.๑๒๙๒-๑๒๕๗) ได้อธิบายสภาวะแห่งโลกุตรธรรมว่า เมื่อจิตเข้าถึงสภาวะนั้นแล้วจะไม่มีทั้งความดีและความชั่ว ไม่มีทั้งชีวิตทางโลกและชีวิตทางธรรม เมื่อได้ปล่อยวางทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็จะได้พบกับเสรีภาพอันสมบูรณ์ที่อยู่เหนือการแบ่งแยก และท่านฟา-เหยน ก็ได้อธิบายสภาวะแห่งโลกุตรธรรมในลักษณะเดียวกัน คือ เมื่อบุคคลเข้าสู่สภาวะแห่งความเป็นสากล จะไม่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง สิ่งที่ตรงกันข้ามจะถูกเพิกถอนอย่างสิ้นเชิง ยังคงอยู่แต่ความเป็นอิสระที่สมบูรณ์

รวมความว่า ทั้งปรัชญาเต๋าและนิกายเซนอธิบายความจริงระดับสมมติและระดับปรมัตถ์ในลักษณะที่คล้ายกัน อย่างไรก็ตาม ความคล้ายคลึงกันนี้อาจจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญก็ได้ เพราะความจริงสองระดับเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในพุทธศาสนาทุกนิกาย นิกายเซนอาจจะไม่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเต๋าโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่ารับการตอกย้ำให้เข้มข้นจากแนวคิดของเต๋าเหมือนกัน

ในการอธิบายธรรมชาติของชีวิตก็เช่นเดียวกัน ปรัชญาเต๋ามีทัศนะพื้นฐานต่อชีวิตว่า มนุษย์ทุกคนมีจุดกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันคือ “เต๋า” ไม่ว่าจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาดล้วนมีธรรมชาติดั้งเดิมเหมือนกันหมด เต๋าจะแทรกซึมอยู่ในทุกชีวิตและจะเป็นศูนย์กลางที่ควบคุมชีวิตให้ดำเนินไปตามกฎของธรมชาติ นิกายเซนก็มองธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด ไม่ว่าจะเป็นชาวใต้หรือชาวเหนือ ไม่มีความแตกต่างกันเลยในธรรมชาติดั้งเดิม ธรรมชาติดั้งเดิมนี้เรียกว่า “จิตเดิมแท้” ( Essence of Mind) หรือพุทธภาวะ(Buddhahood) พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์กับคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยในจิตเดิมแท้ แต่ที่แตกต่างกันคือ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นผู้ที่เห็นแจ้งในจิตเดิมแท้ของตน ส่วนคนธรรมดาทั่วไปยังไม่เข้าถึงจิตเดิมแท้

๔.๒ อิทธิพลทางด้านญาณวิทยา

อิทธิพลทางด้านญาณวิทยา หมายถึง อิทธิพลทางด้านวิธีการที่จะทำให้เข้าถึงความจริงสูงสุดในระบบปรัชญาทั้งสอง ความจริงสูงสุดในทัศนะของปรัชญาเป็นสภาวะที่ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยระบบสัญลักษณ์ของมนุษย์ เช่น การศึกษา การใช้เหตุผล และการอธิบายภาษา เป็นต้น แต่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเพ่งพินิจด้วยจิตเท่านั้น และความจริงหรือภาวะแห่งเต๋าก็ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหน เป็นสภาวะที่มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน ดังที่เหลาจื๊อกล่าวไว้ในคัมภีร์ เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ ๔๗ ว่า

ไม่ต้องออกไปจากเคหสถานที่อยู่ แต่ก็สามารถรู้ความเป็นไปในจักรภพได้ ไม่ต้องเปิดดูทางหน้าต่างประตูก็สามารถรู้ถึงกฎแห่งธรรมชาติได้ เพราะถ้ายิ่งจะแสวงหาความรู้ด้วยการไปหาข้างนอกตนไกลเท่าใด ก็ยิ่งจะได้รับความรู้น้อยเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว บัณฑิตจึงไม่ต้องท่องเที่ยวแสวงหาความรู้ไปไกล

ส่วนญาณวิทยาของนิกายเซนมีลักษณะคล้ายคลึงกับปรัชญาเต๋ามาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นแนวคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาอยู่แล้วที่เชื่อว่า ความจริงสูงสุดสามารถสัมผัสได้ด้วยประสบการณ์ทางจิตเท่านั้น (Intuition) พุทธศาสนานิกายเซนก็มีแนวคิดพื้นฐานอย่างนี้อยู่แล้วเมื่อได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเต๋าก็ยิ่งทำให้แนวคิดนี้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแนวคือเรื่องการไม่อาศัยตำรา ถ่ายทอดจากจิตสู่จิตมุ่งตรงสู่พุทธภาวะภายในบุคคล แม้นิกายเซนจะมีคัมภีร์เป็นของตนเอง แต่ก็เกี่ยวข้องกับคัมภีร์ในลักษณะเอาแผนที่บอกทางเท่านั้น ไม่ส่งเสริมให้ศึกษาค้นคว้า และวิพากษ์วิจารณ์ เพราะความจริงไม่ใช่สิ่งที่นอนแน่นิ่งอยู่ในคัมภีร์เพื่อรอการค้นพบของเรา แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเรา

๔.๓ อิทธิพลทางด้านจริยศาสตร์

อิทธิพลทางด้านจริยศาสตร์ หมายถึงอิทธิพลด้านการดำเนินชีวิตในอุดมคติของระบบปรัชญาทั้งสอง ด้วยความเชื่อพื้นฐานที่ว่า สรรพสิ่งดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของธรรมชาติ ปรัชญาเต๋า จึงสอนให้มนุษย์มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่ดิ้นรนไขว่คว้าไปตามแรงชักพาของกิเลส ไม่พยายามที่จะทำให้เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ ไม่ประดิษฐ์ปั้นแต่งธรรมชาติให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง แสวงหาคุณค่าภายในตัวเองให้เจอ เอาชนะตัวเองให้ได้ รู้จักพอไม่ทะเยอทะยาน พยายามทำตัวให้อ่อนน้อมเหมือนน้ำที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบแต่ไม่เคยสูญเสียความเป็นน้ำ

การดำเนินชีวิตในอุดมคติของนิกายเซนไม่แตกต่างจากแนวคิดของปรัชญาเต๋าเท่าไรนัก นั่นคือ เน้นความเป็นธรรมชาตินิยมคล้ายๆ กัน อาจารย์เซนหลายท่านปฏิบัติธรรมด้วยการพิจารณาธรรมชาติที่อยู่รอบตัว บางท่านก็ได้แต่งบทกวีชื่นชมความงามของธรรมชาติไว้อย่างไพเราะ ดังที่ท่านเรียวกันได้ประพันธ์ไว้ว่า

ไกลออกไปจากหมู่บ้าน เลยลำธารและป่าลึก

คือที่ตั้งกระท่อมของฉัน ณ ที่นั้นบรรยากาศเปล่าเปลี่ยว

โอบล้อมด้วยขุนเขา ปราศจากวี่แววของผู้คน

ยามค่ำคืนอากาศหนาวเหน็บ ฟืนท่อนแล้วท่อนเล่า

ถูกลำเลียงเข้าในเตาไฟ เงียบสงัดไร้สรรพสำเนียง

นอกจากเสียงหวีดหวิวของลมหิมะ ที่กระโชกพัดบานหน้าต่าง

จะเห็นว่า นิกายเซนให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตภายนอกให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ต่อการบำเพ็ญเพียรทางจิต หรือใช้ธรรมชาติภายนอกให้เป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงธรรมชาติภายใน นั่นคือ เข้าถึงธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่มีอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล ดังทบกวีของท่านโดเก็น ที่ว่า

บนใบไม้และใบหญ้า ที่กำลังรอรับแสงอาทิตย์ยามเช้า หยดน้ำค้างเหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรีบนักหรอก โอ้… เจ้าลมแห่งฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังพัดหมุนอยู่ในท้องทุ่ง ฉันจะเหมือนกับอะไรดีหนอ โลกและชีวิตของมนุษย์หรือ อ้า… ร่มเงาแห่งแสงจันทร์ เมื่อกระทบกับหยดน้ำค้างบนจะงอยปากของนกริมน้ำ

รวมความว่า ทั้งปรัชญาเต๋าและพุทธศาสนานิกายเซนเน้นธรรมชาตินิยม (Naturalism) คือ เน้นการดำเนินชีวิตภายนอกให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และพยายามใช้ธรรมชาติภายนอกให้เป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงธรรมชาติภายในตนเอง

๕. สรุป

พุทธศาสนานิกายเซนเป็นผลผลิตของการผสมผสานระหว่างแนวคิดสองกระแสหลักคือ พุทธศาสนากับปรัชญาเต๋า ส่งผลให้พุทธศาสนานิกายเซนมีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่แตกต่างจากนิกายอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เป็นความจริงที่ว่า ระบบความคิดใดก็ตามที่ต้องการวางรากฐานลงท่ามกลางระบบความคิดอื่นๆ จะต้องมีการรับเอาหลักการบางอย่างของวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการสื่อคำสอนของตนไม่มากก็น้อย นิกายเซนก็อยู่ในลักษณะดังกล่าวมานี้ จากการศึกษาอิทธิพลของปรัชญาเต๋าที่มีต่อนิกายเซน พอสรุปได้ดังนี้

๕.๑ นิกายเซนได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเต๋าในการอธิบายความจริงระดับอภิปรัชญา ปรัชญาเต๋าอธิบายว่า สภาวะแห่งเต๋าเป็นอมตะ เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง และเป็นผู้คบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่ง นิกายเซนอธิบายว่า สรรพสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือสัตว์ทั้งปวงล้วนกำเนิดมาจากจิตหนึ่ง จิตหนึ่งเป็นสภาวะที่ไม่มีการเกิดและดับ ดำรงอยู่ในสรรพสิ่งในด้านธรรมชาติของชีวิต ปรัชญาเต๋าอธิบายว่า แก่นแท้ของชีวิตคือเต๋า ชีวิตถูกกำกับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเต๋า

๕.๒ นิกายเซนได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเต๋าในด้านญาณวิทยา หรือวิธีที่จะเข้าถึงความจริงสูงสุด ปรัชญาเต๋าคัดค้านการศึกษาอบรม การคิดค้น และความเป็นปราชญ์ เพราะเป็นสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติ การจะเข้าถึงความจริงต้องพินิจภายในตนเอง ไม่ใช่ไปแสวงหาจากภายนอก ส่วนนิกายเซนก็ไม่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาคัมภีร์เช่นเดียวกัน เน้นการถ่ายทอดธรรมจากจิตสู่จิต มุ่งตรงต่อธรรมชาติแห่งพุทธะภายในของแต่ละบุคคล

๕.๓ นิกายเซนได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเต๋าในด้านจริยศาสตร์ หรือการดำเนินชีวิตในอุดมคติ ปรัชญาเต๋าเน้นการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย อ่อมน้อมถ่อมตน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธรรมชาติ ส่วนนิกายเซนก็มีลักษณะคล้ายกัน คือ เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ชื่นชมความงามของธรรมชาติ และใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม

อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะลงความเห็นว่าแนวคิดตรงนั้นตรงนี้เซ็นได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเต๋าโดยตรง เพราะแนวคิดนั้น ๆ อาจจะเป็นเอกลักษณ์ของนิกายเซ็นโดยตรงก็ได้ ถึงกระนั้นก็ตาม เราต้องยอมรับระดับหนึ่งว่า นิกายทางพระพุทธศาสนาทุกนิกายกำเนิดขึ้นและคลี่คลายขยายตัวด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และความจำเป็นของบริบททางสังคมของแต่ละยุคสมัย ความพยายามที่จะปรับตัวหรือปรับกระบวนการในสื่อพุทธธรรมให้สามารถตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นของสังคมแต่ละยุคสมัย เป็นผลแห่งสำนึกอย่างหนึ่งของบุรพาจารย์รุ่นก่อนในการที่จะธำรงรักษาพุทธธรรมไว้ให้ดีที่สุดท่านสามารถจะทำได้ ผู้เขียนจึงมองว่า รูปแบบของนิกายเซ็น ส่วนหนึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่สืบทอดมาจากอินเดีย อีกส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และบริบททางสังคม

 

 

บรรณานุกรม

๑. ภาษาไทย

คึกฤทธิ์ ปราโมช. เซนและนิกายวัชรยาน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, ๒๕๑๔.

ซิบายามะ, เซนไค. ดอกไม้ไม่จำนรรจ์. แปลโดยพจนา จันทรสันติ. กรุงเทพมหานคร :

ลายสือไทย, ๒๕๒๒.

ซูสุกิ, ดี.ที. เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น. ๒ เล่ม. แปลโดยจำนงค์ ทองประเสริฐ. กรุงเทพมหานคร : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๑๘.

ติช นัท ฮันห์. กุญแจเซน. แปลโดยพจนา จันทรสันติ. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคีมทอง. ๒๕๒๒.

เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลและสมเกียรติ สุขโข, แปล .คัมภีร์คุณธรรม. กรุงเทพมหานคร :

สำนักพิมพ์ก.ไก่, ๒๕๒๗.

พจนา จันทรสันติ. ขลุ่ยไม้ไผ่. เชียงใหม่ : ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, ๒๕๒๕.

พจนา จันทรสันติ, แปล. วิถีแห่งเต๋า. กรุงเทพมหานคร : เคล็ดไทย, ๒๕๓๓.

พุทธทาสภิกขุ, แปล. คำสอนของฮวงโป. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์หนังสือธรรมบูชา, ๒๕๓๑.

_________, แปล. สูตรของเหว่ยหล่าง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์หนังสือธรรมบูชา, ๒๕๓๑.

เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน. กรุงเทพมหานคร : บรรณาคาร, ๒๕๒๒.

_________. เมธีตะวันออก. กรุงเทพมหานคร : บรรณาคาร, ๒๕๒๒.

_________. ชุมนุมพระสูตรมหายาน. กรุงเทพมหานคร : บรรณาคาร, ๒๕๑๖

สมภาร พรมทา. พุทธศาสนานิกายเซน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยลัย, ๒๕๓๔.

สมภาร พรมทา. พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยลัย, ๒๕๓๔.

ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวัฒน์. ประทีปแห่งเซ็น. กรุงเทพมหานคร : เซนเตอร์ พับลิเคชั่น, ๒๕๒๕.

ฟื้น ดอกบัว. ปวงปรัชญาจีน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๒.

ส. ศิวรักษ์, แปล. มนุษย์ที่แท้. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, ๒๕๓๔.

ละเอียด ศิลาน้อย. วิถีแห่งเซน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ปัญญา, ๒๕๓๑.

สุวรรณา สถาอานันท์. กระแสธารปรัชญาจีน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

สุวรรณา สถาอานันท์. มนุษยทัศน์ในปรัชญาตะวันออก. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๓.

สุวรรณา สถาอานันท์. ภูมิปัญญาวิชาเซ็น. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๓๔.

ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์. คัมภีร์เต๋าฉบับสมบูรณ์พร้อมอรรถกถา. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์จารึก,

ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์. “ความสำคัญของสัญลักษณ์เพศหญิงในปรัชญาเต๋า วารสารธรรมศาสตร์

ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๕.

ล. เสถียรสุต. คัมภีร์เหลาจื๊อ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ก.ไก่, ๒๕๓๓.

คาปรา, ฟริ ตจอฟ. เต๋าแห่งฟิสิกส์. แปลโดยวเนช. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๓๗.

๒. ภาษาอังกฤษ

Daisetz, T. Suzuki. Essays in Zen Buddhism. London : Ridev, 1985.

Dumoulin, Heinrich. A History of Zen Buddhism. Boston : Beacon Press, 1969.

Blofeld, John, tr. The Zen teaching of Huang Po. New York : Grove, 1958.

Stevens, John, tr. One Robe, One Bowl : the Zen Poetry of Ryokan. New York : weatherhill, 1977.

 

 

(ที่มา: -)