บทความวิชาการ
ราหูอมจันทร์” ในพระไตรปิฎกควรตีความอย่างไร ?
25 มี.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
25928

ผู้แต่ง :: พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร,รศ.ดร.

1. ความนำ : ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบท (text) กับบริบท (context)
เนื่องจากจันทิมสูตร และสุริยสูตร เป็นพระสูตรที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมอินเดียสมัยโบราณ ดังนั้น การที่จะตอบคำถามว่า ทำไมพระสูตรทั้งสองถึงได้ปรากฏในรูปลักษณะอย่างนี้ ? ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้นำเรื่องพระจันทร์ พระอาทิตย์ และพระราหู มาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงธรรมขององค์ ? อะไรคือจุดยืนของพระพุทธเจ้าในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ? ผู้เขียนคิดว่าคำถามเหล่านี้จะไม่เป็นคำถามเลยถ้าเรามีชีวิตอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่ที่เป็นคำถามขึ้นมาก็เพราะยุคสมัยของเราอยู่ห่างไกลจากยุคสมัยพระองค์เหลือเกิน บางครั้งก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนสมัยนี้มักจะใช้กรอบยุคสมัยของตัวเองเข้าไปจับยุคสมัยของคนโบราณ จึงได้ทำให้เกิดคำถามหรือข้อสงสัยขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า การที่เราจะทำความเข้าใจเรื่องที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ได้ดี เราต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบท (texts) กับบริบท (contexts) นั่นคือการย้อนกลับไปดูบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และค่านิยมความเชื่อของยุคสมัยอันเป็นบ่อเกิดของตัวบทนั้น ๆ ดังที่ สตีเวน คอลลินส์ (Steven Collins) ได้กล่าวไว้ว่า “แนวคิดของเถรวาทเกิดมาจากบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แล้วสร้างรูปแบบและสมมติฐานบางอย่างขึ้นมาเพื่อปลดเปลื้องปัญหาเฉพาะบางอย่าง…” นอกจากนั้น เขายังให้เหตุผลต่อไปว่า คัมภีร์ต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจได้ตามแนวคิดของ เอมิล เดอร์ไคม์ (Durkhiem) ที่ว่าเป็น “ข้อเท็จจริงทางสังคม (social facts) นั่นหมายความว่า คัมภีร์ทางศาสนา ไม่ได้ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางสังคมอันว่างเปล่า หากแต่มีข้อเท็จจริงทางสังคมเป็นฐานรองรับหรือเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างคัมภีร์กับบริบททางสังคม

แมรี่ ดักลาส (Mary Douglas) ให้กล่าวว่า ความเชื่อและระบบคุณค่าต่าง ๆ (values) ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ถูกกำหนดหรือออกแบบโดยบริบทแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ออกแบบบริบทแวดล้อมขึ้นมาใหม่ด้วย บริบททางสังคมเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและแบบแผนการให้รางวัลและการลงโทษ เป็นตัวกำหนดระบบคุณค่าบางอย่างและความหมายของการดำรงอยู่ (existence) ดังนั้น บริบทแต่ละอย่างจึงมักก่อให้เกิดอคติเชิงวัฒนธรรมและจักรวาลวิทยา นั่นคือ สำนึกร่วมทางศีลธรรมของสังคมที่เกี่ยวกับมนุษย์และตำแหน่งแห่งที่ของตนในจักรวาล โดยนัยนี้ ตัวบท (text) จึงเกิดขึ้นภายใต้ความกดดันของบริบทและเป็นตัวแทนของบริบทนั้น หรือเรียกอีกอย่างว่า ตัวบทเป็นตัวแทนของ “จักรวาลวิทยาที่ถูกแช่แข็ง” (frozen cosmologies) ดังที่ แคนต์เวลล์ สมิธ (W. Cantwell Smith) กล่าวว่า คัมภีร์ทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของจารีตที่ผ่านการสั่งสม ซึ่งตกทอดมาจากอดีต เมื่อมาเผชิญหน้ากับปัจเจกบุคคลผู้มีศรัทธา เขาก็จะตีความให้มีความหมายและความสมเหตุสมผลในบริบทของเขาเอง บริบทจึงมีอิทธิพลต่อแนวทางการทำความเข้าใจคัมภีร์ของประชาชนสูงมาก และเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับติดสินใจว่าควรจะรับเอาหรือเน้นย้ำแนวคิดแบบใด และควรจะสลัดทิ้งแนวคิดแบบใด

จากทัศนะต่าง ๆ ที่ยกมา แสดงให้เห็นว่า ตัวบทหรือคัมภีร์ทางศาสนามีความสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมทางสังคมอย่างแยกกันไม่ออก เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในตัวบทหรือคัมภีร์ ก็คือภาพสะท้อนของบริบทหรือจักรวาลวิทยาของสังคมยุคนั้น ๆ ในขณะเดียวกัน บริบทก็คือรากฐานทางวัฒนธรรมหรือค่านิยมความเชื่อที่ส่งอิทธิพลหรือเป็นตัวกำหนดรูปแบบเนื้อหาของตัวบทหรือคัมภีร์2. กรอบแนวคิดที่ใช้ในการตีความ

แนวคิดสำหรับตีความจันทิมสูตรและสุริยสูตร ผู้เขียนจะใช้แนวคิดหลัก ๆ 2 แนวคิด คือ ในตอนที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของพระสูตรทั้งสองกับบริบทสังคมอินเดียสมัยโบราณ จะใช้แนวคิดการตีความแบบโรแมนติค (Romantic) ของ ชไลมาเคอร์ (Friedrich Schleiercacher) ส่วนแนวคิดที่ว่าด้วยการตีความเนื้อหาของพระสูตรทั้งสอง ผู้เขียนจะใช้แนวคิดแบบบุคลาธิษฐาน (Allegorical Method)

2.1 แนวคิดการตีความแบบโรแมนติคของชไลมาเคอร์

ชไลมาเคอร์ (1768-1834) เป็นนักตีความคนแรกที่ไม่ชอบตีความคัมภีร์ในแนวภาษาอุดมการณ์ ที่ให้ความสำคัญกับภาษาในคัมภีร์ว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง เป็นศูนย์รวมของสัจธรรม ที่นอนรอคอยให้นักตีความมาค้นพบ (logocentric) ลำพังการตีความในเชิงไวยากรณ์ (grammatical interpretation) เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำความเข้าใจคัมภีร์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เขาพยายามที่จะทดลองตีความคัมภีร์แบบภาษาธรรมดาสามัญ โดยคำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า “โรแมนติค หรือการตีความในระดับจิตวิทยา (psychological interpretation) คือ การเดาใจผู้แต่งจากการรู้เบื้องหลังและสภาพจิตใจของผู้แต่งขณะแต่งเรื่องนั้น ๆ ทั้งนี้ต้องพิจารณาไปถึงบริบททางสังคมที่ผู้แต่งสังกัดขณะด้วย โดยพยายามปรับความรู้นึกคิดให้เหมือนผู้แต่งเพื่อจะเข้าใจสิ่งที่อ่าน (interpreters must transform themselves into the author) ผู้ตีความที่ดีคือผู้สามารถรื้อฟื้นกระบวนการคิดและเขียนของผู้แต่งขึ้นมาใหม่ให้ได้ (re-create the mind of the author) เช่น เรื่องพระเจ้าสร้างโลก 7 วัน นักตีความจะต้องศึกษาจิตวิทยาของผู้เขียนและผู้อ่านในขณะนั้นว่ากำลังตกเป็นเชลยของกรุงบาบิโลนและกำลังอยู่ในสภาพสิ้นหวัง เขามองต่อไปอีกว่า ทุก ๆ ครั้งที่มีการผลิตหรือแต่งคัมภีร์ขึ้นมา ผู้แต่งจะดำเนินตามระบบกฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง (a set of rules) และบัญญัติทางสังคม (conventions) เกี่ยวกับภาษา กาลเวลา และวัฒนธรรมที่อยู่ในยุคสมัยของเขา โดยไม่สำนึกรู้และกึ่งสำนึกรู้ (unconscious / semiconscious) ดังนั้น ก่อนที่จะลงมือตีความคัมภีร์ ผู้อ่านหรือนักตีความ ซึ่งส่วนมากจะมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากผู้แต่ง จะต้องสร้างกฎเกณฑ์หรือบัญญัติเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ (reconstruct) แล้วทำกฎเกณฑ์หรือบัญญัติเหล่านี้ให้อยู่ในการสำนึกรู้อย่างสมบูรณ์แบบ (full consciousness) โดยนัยนี้ จึงถือว่า ผู้อ่านหรือนักตีความอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบผู้แต่งมาก เพราะสามารถจะทำให้กฎเกณฑ์หรือบัญญัติทางสังคมเหล่านี้อยู่ในการสำนึกรู้ได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนั้น ชไลมาเคอร์ ยังเปรียบการเข้าหาคัมภีร์ของผู้อ่านว่า เหมือนบุคคลผู้อยู่ในวงสนทนา (dialogue) เดียวกันกับผู้แต่งคัมภีร์ ในวงสนทนานั้น ประกอบด้วยผู้พูด (speaker) กับผู้ฟัง (listener) ผู้พูดก็คือผู้ประพันธ์หรือผู้แต่งคัมภีร์ ส่วนผู้ฟังก็คือผู้อ่านหรือผู้ตีความคัมภีร์ ในขณะที่กำลังร่วมวงสนทนากันนั้น ผู้พูดพยายามที่จะอธิบายแนวคิดของตนให้ผู้ฟังเข้าใจ โดยใช้ถ้อยคำหรือภาษาร่วมยุคสมัยและวัฒนธรรมเดียวกันกับผู้ฟัง ในขณะเดียวกัน ผู้ฟังก็สามารถเข้าใจถ้อยคำและเจตนารมณ์ของผู้พูดได้ เพราะเป็นผู้มีส่วนร่วมในระบบภาษา ระบบวิธีคิด และสถานการณ์เดียวกันกับผู้พูด แนวคิดของชไลมาเคอร์ สามารถสร้างภาพแผนภูมิ ได้ดังนี้

จากภาพแผนภูมิ จะเห็นว่า ทั้งในด้านผู้แต่งและผู้ตีความ จะมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ หรือข้อบัญญัติทางสังคมทั้งในรูปของภาษาและวัฒนธรรมเป็นตัวคั่นกลาง หมายความว่า ผู้แต่งคัมภีร์ได้สร้างคัมภีร์ขึ้นบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในยุคสมัยของตน โดยที่ผู้แต่งเองไม่ได้ตระหนักรู้หรือกึ่งตระหนักรู้ถึงอิทธิพลของระบบกฎเณฑ์เหล่านั้น ในส่วนของนักตีความคัมภีร์ เนื่องจากตัวเองอยู่ในยุคสมัยที่แตกต่างจากยุคของผู้แต่ง ดังนั้น การที่จะความเข้าใจความหมายและเจตนารมณ์ของผู้แต่งได้อย่างถูกต้อง จะต้องสร้างระบบกฎเกณฑ์เหล่านั้นขึ้นมาใหม่ (reconstruct) แล้วทำให้อยู่ในการสำนึกตระหนักรู้ของตนอย่างสมบูรณ์ โดยทำตัวประหนึ่งว่าได้อยู่ร่วมในวงสนทนาเดียวกันกับคนแต่ง

2.2 วิธีการตีความแบบบุคลาธิษฐาน (Allegorical Method)

วิธีการตีความจันทิมสูตร และสุริยสูตร ที่น่าจะสอดคล้องเจตนารมณ์ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้ามากที่สุด คือ การตีความแบบบุคลาธิษฐาน นั่นคือ ในการแสดงเรื่องราหูอมพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ แน่นอนเหลือเกินว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ต้องการพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่ามีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้อยู่จริง ๆ หรือไม่ เนื่องจากเป็นปัญหาที่อยู่ในข่ายเดียวกันกับอัพยากตปัญหา และเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ ดังนั้น การยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาแสดง จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐาน โดยยกเอาระบบความคิดความเชื่อที่ฝั่งรากลึกอยู่ในสังคมอินเดียสมัยนั้นมาเป็นสื่อในการแสดงธรรม เนื่องจากเป็นเรื่องที่สามารถสื่อกับคนในยุคนั้นให้เข้าใจได้ง่ายนั่นเอง โดยจุดสนใจของพระองค์ไม่ได้อยู่ที่ว่าแนวคิดนี้มีความจริงทางอภิปรัชญารองรับหรือไม่ หากแต่จุดสนใจอยู่ที่ว่าแนวคิดนี้สามารถสื่อคำสอนทางจริยธรรมได้อย่างไรเป็นสำคัญ

วิธีการตีความแบบบุคลาธิษฐาน เป็นวิธีการที่ศาสนาจารย์ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิค นำมาใช้ในคริสต์ศตวรรษที่ 2-3 เซ็นต์ ออกัสตีน ก็ชื่นชอบวิธีการตีความแบบนี้ และถือว่าเป็นวิธีการที่โดดเด่นมากตลอดสมัยยุคกลาง (Middle Ages) วิธีการตีความแบบนี้ มีหลักการว่า ความหมายตามตัวอักษรของคัมภีร์ ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง หรือเป็นเพียงหนึ่งในความหมายที่หลากหลายเท่านั้น โดยแก่นแท้ของแต่ละข้อความ จะต้องมีความหมายสอดคล้องกับความจริงทางจิตวิญญาณด้วย (spiritual reality) หรือมีความหมายแง่ของนามธรรมทางจิตใจ (คล้ายหมายทางภาษาธรรมของท่านพุทธทาส-ผู้เขียน) ความหมายในแง่นี้ถือว่าเป็นความหมายระดับสูงสุดของข้อความ (ultimate meaning) พระสันตะปาปาหลายท่าน ก็ได้ใช้วิธีการนี้สำหรับปกป้องสถานะความสูงสุดของตำแหน่งพระสันตะปาปา ดังที่พระสันตะปาปา อินโนเซ็นต์ ที่ 3 สอนว่า แสงสว่างอันยิ่งใหญ่ 2 ประการในปฐมกาล 1 (Genesis 1) หมายถึง กฎเกณฑ์แห่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอยู่ในโลก ดังนั้น พระอาทิตย์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจศักดิ์สิทธ์ทางธรรมหรือทางจิตวิญญาณ ได้แก่ พระสันตะปาปา ส่วนพระจันทร์ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ทางโลก ได้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ พระสันตะปาปาโบนิเฟซที่ 8 อ้างถึงคัมภีร์ลูกา 22 : 38 ที่สอนว่า ดาบ 2 อันที่เหล่าสาวกถือไว้ หมายถึง สาวกผู้มีอำนาจในอาณาจักร และศาสนจักร

 

 

3. เทวาสุรสงคราม : บริบทสังคมอินเดียสมัยโบราณ

3.1 เทพ กับอสูร ในคัมภีร์อเวสตะของอิหร่าน

แนวคิดความเชื่อเรื่องเทวาสุรสงคราม หรือสงครามระหว่างเทพ กับอสูร ไม่ใช่เพิ่มมาปรากฏขึ้นในสมัยพุทธกาลเท่านั้น หากแต่สามารถสืบย้อนกลับไปตั้งแต่ชาวอารยันยังไม่ได้อพยพเข้ามาสู่อินเดียด้วยซ้ำไป นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พวกอารยันและอิหร่านเป็นพวกเดียวกันและอพยพมาพร้อมกัน โดยที่พวกหนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดีย อีกพวกหนึ่งแยกไปทางอิหร่าน จะเห็นได้จากภาษาของทั้งสองพวกซึ่งมีความใกล้เคียงกันมาก เช่นคำว่า “อารยะ หรือ “อารยัน ที่พวกตั้งถิ่นฐานในอินเดียใช้เรียกตัวเอง กับคำว่า “อิหร่าน ที่พวกเปอร์เซียโบราณเรียกตนเองก็เป็นคำมาจากรากศัพท์เดียวกัน วรรณคดีโบราณของอิหร่านคือคัมภีร์อเวสตะ (Avesta) กับคัมภีร์คฤเวทของอินเดียมีความเกี่ยวข้องกันใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาของทั้ง 2 คัมภีร์มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ภาษาในคัมภีร์อเวสตะรูปที่เก่าที่สุดกับภาษาในคัมภีร์ฤคเวททั้งในด้านรูปศัพท์และการสร้างประโยค ชี้ให้เห็นได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ศัพท์จำนวนมากที่ใช้ในคัมภีร์ทั้งสองเป็นศัพท์ที่มาจากรากเดียวกัน แต่การนับถือเทพเจ้าของชน 2 พวกนี้เป็นไปคนละแนว คือชาวอารยันสายอิหร่าน จะนับถืออสุระ เป็นเทพเจ้าฝ่ายดี เทวะ เป็นเทพเจ้าฝ่ายชั่ว ส่วนพวกที่อพยพเข้ามาอินเดีย ถือว่า เทวะเป็นฝ่ายดี อสุระ หรืออหุระ ซึ่งเป็นฝ่ายชั่ว

    1. เทวาสุรสงครามในคัมภีร์พระเวท

ในยุคสมัยพระเวท (ก่อนพุทธกาลประมาณ 1,000-600 ปี) ได้กล่าวถึงเรื่องการทำความสงครามระหว่างเทพกับอสูรไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคัมภีร์ฤคเวท อสูรตนสำคัญ คือ “นมุจิ” ได้ทำการต่อสู้กับพระอินทร์อย่างยืดยาว ในคัมภีร์พราหมณะกล่าวว่า พระอินทร์ไม่สามารถจับอสูรนมุจิได้ ต่อสู้กันไปมาเมื่ออสูรนมุจิเป็นฝ่ายได้เปรียบจึงตกลงทำสัญญากันว่า จะยอมปล่อยพระอินทร์ แต่พระอินทร์จะต้องไม่ฆ่าเขาด้วยสิ่งที่เปียกหรือแห้ง ไม่ว่าในเวลากลางวันหรือกลางคืน บางครั้งอสูรนมุจิอาศัยสุราเป็นเครื่องมือช่วยให้มีโอกาสขโมยพลังรสอาหาร ด้วยเหตุนี้ สงครามระหว่างพระอินทร์ กับอสูรจึงเป็นสงครามที่ต่อสู้กันมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตลอด 3.3 เทวาสุรสงคราในวรรณคดีบาลี

ในวรรณคดีบาลี ซึ่งเป็นวรรณคดีที่เกิดหลังคัมภีร์พระเวทหลายร้อยปี ได้กล่าวถึงการทำสงครามระหว่างพระอินทร์ (ท้าวสักกะ) กับอสูรไว้เช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวทไม่มากก็น้อย เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยนั้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นที่อยู่ของพวกอสูรมาก่อน เมื่อพวกอสูรเห็นเทพบุตรใหม่ ๆ เหล่าอสูรจึงจัดงานเลี้ยงต้อนรับเทวดาใหม่และยินดีแบ่งเทพนครให้ไปครองกึ่งหนึ่ง แต่พระอินทร์หรือท้าวสักกะต้องการครองเทพนครทั้งหมด จึงนัดแนะบริวารของตนว่าไม่ให้ดื่มน้ำคันธปานะ (น่าจะเป็นน้ำเมาที่มีกลิ่นหอม) แต่ให้ทำทีเหมือนหนึ่งว่าดื่มจริง ๆ เมื่อพวกอสูรดื่มน้ำคันธปานะจนมึนเมา พวกท้าวสักกะจึงช่วยกันจับเท้าอสูรเหวี่ยงลงไปที่เชิงเขาสิเนรุ แล้วภพของพวกอสูรก็เกิดขึ้นที่พื้นด้านล่างของเขาสิเนรุ หลังจากนั้นมา การเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างเทพสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนเขาสิเนรุ กับฝ่ายครองพื้นที่แถบเชิงเขาสิเนรุ จึงทำสงครามแย่งชิงเทพนครกันเรื่อยมา3.4 ทัศนะเกี่ยวกับเทวาสุรสงคราม

แมคโนเนลล์ (Macdonell) มองว่า พระอินทร์ในฐานะเป็นเทพแห่งสงคราม น่าจะหมายความว่าในสมัยดึกดำพรรพ์นั้นพวกอารยันมีหัวหน้าเผ่าหรือจอมทัพที่เก่งกล้าสามารถรบชนะพวกขนเจ้าของถิ่นเดิมคือพวกอนารชยชนต่าง ๆ ทำให้เกิดความนิยมเลื่อมใสและเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวอารยันสูงสุดจนมีฐานะเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในการสงคราม เพราะฉะนั้นเมื่อดูจากลักษณะต่าง ๆ ของพระอินทร์แล้วเราอาจสรุปได้ 2 ประการ ประการแรกพระองค์ทรงเป็นเทพผู้มีสายฟ้าเป็นอาวุธ ผู้พิชิตอมนุษย์แห่งความแห้งแล้งหรือความมืด ปลดปล่อยสายน้ำให้เป็นอิสระ และให้แสงสว่างแก่ฟ้าและดิน ทรงผู้ประทานฝนแก่ชาวอารยัน ประการที่สอง ทรงเป็นเทพแห่งสงครามผู้ช่วยชาวอารยันผู้พิชิตให้เอาชนะชาวพื้นเมืองเดิมของชาวอินเดีย เกื้อพันธ์ นาคบุปผา มองว่า เรื่องราวที่พระอินทร์ปราบชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียเพื่อคุ้มครองชาวอารยันในการรบนั้น ไม่มีเรื่องราวละเอียดมากนักในคัมภีร์ฤคเวท ที่ระบุถึงบ่อย ๆ ก็คือชัยชนะของพระอินทร์ที่มีต่อพวกทาสและทัศยุ เป็นเหตุให้พระองค์ได้รับสมญานามว่า “ผู้ประหารทัสยุ (ทสฺยุหนฺ) พระอินทร์เคยฆ่าทาสถึง 3 หมื่นคน หรือผูกมัดพวกทัสยุเป็นจำนวนพัน ในชั้นแรกพวกเหล่านี้ก็คือศัตรูที่เป็นมนุษย์ พวกเขามีผิดดำ อาศัยอยู่ในความมืด เป็นพวกที่ไม่มีจมูก (ซึ่งหมายถึงชนเผ่าที่มีจมูกแบบไม่โด่งเหมือนชาวอารยัน) ไม่นับถือเทวดา และไม่มีการทำพิธีบวงสรวง แม้ว่าเค้ามูลเกี่ยวกับเทพนิยายนี้แท้จริงแล้วส่วนใหญ่จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างเรื่องราวความมีชัยของพระอินทร์ต่อพวกทาส และพื้นฐานของเทพนิยายเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของโลกและมนุษย์ ดังนั้น พระอินทร์จึงเป็นเทพนักรบที่ชาวอารยันสวดวิงวอนให้ช่วยเหลือในการทำสงครามกับฝ่ายศัตรู ซึ่งอาจจะหมายถึงชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียด้วย เสฐียรโกเศศ มองว่า เทวาสุรสงครามในหนังสือไตรภูมิที่เล่าถึงเรื่องเทวดาและอสูรรบกันนั้น ถ้าเดาก็ต้องบอกว่า พวกอสูรเป็นชนชาติผิวดำ จมูกรั้นนั่นเอง ซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นในประเทศอินเดียมาก่อน พระอินทร์กับพวกคงได้แก่ชาวอารยันซึ่งเป็นชนชาติผิวขาว ถ้าเป็นเช่นนี้ พวกเจ้าของถิ่นซึ่งอยู่มาแต่เดิมคืออสูร เป็นชนชาติมีบ้านมีเมืองเจริญกว่าชาวอารยัน คือ พวกเทวดา เพราะไม่ปรากฏว่าพวกเทวดาซึ่งมีเทวดาเป็นหัวหน้า เคยมีบ้านมีเมืองมาก่อน ต่อเมื่อคิดอุบายไปแย่งเมืองสุทัศน์ของพวกอสูรไว้ได้ จึงได้เกิดมีเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้น บางทีเมืองโมเหนโชทาโรที่ขุดพบนี้ จะเป็นเมืองของพวกอสูรคือพวกที่ไม่ใช่สุระหรือเทวดาก็ได้

จากการสำรวจบริบทสังคมอินเดียสมัยโบราณ จะเห็นว่า แนวคิดเรื่องการต่อสู้กันหรือการทำสงครามระหว่างเทพกับอสูร มีร่องรอยความเชื่อมาตั้งแต่ชาวอารยันยังไม่อพยพเข้าสู่ประเทศอินเดียด้วยซ้ำไป เมื่อชาวอารยันอพยพเข้ามาสู่อินเดียและได้ต่อสู้แย่งดินแดนกับชนพื้นเมือง แนวคิดเรื่องการทำสงครามระหว่างเทพกับอสูรก็ยิ่งได้รับการตอกย้ำมากยิ่งขึ้น แล้วเข้ามาอิทธิพลต่อวรรณคดีฝ่ายสันสกฤตและบาลีโดยลำดับ จากทัศนะต่าง ๆ ที่ยกมา สรุปได้ว่า แนวคิดเรื่องเทวาสุรสงคราม มีรากฐานที่มาจากการต่อสู้กันระหว่างชนพื้นเมือง (ทราวิท / อสูร) กับพวกอารยันที่อพยพเข้ามาใหม่ พระอินทร์ เดิมทีน่าจะเป็นวีรบุรุษนักรบของชาวอารยัน ต่อมาได้รับการยกย่องนับถือจนกลายเป็นเทพเจ้าไปในที่สุด ส่วนพวกอสูรน่าจะเป็นตัวแทนของชนพื้นเมืองผู้พ่ายแพ้สงครามแล้วถูกเหยียดหยามให้เป็นพวกที่ไม่กล้าหรือขี้ขลาด (อสูร แปลว่าผู้ไม่กล้า) หรือเทพเจ้าฝ่ายชั่ว เป็นไปได้ว่า เมื่อเรื่องการรบกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ได้รับการยกย่องเป็นตำนานจนกลายเป็นการรบกันระหว่างเทพฝ่ายดีกับเทพฝ่ายชั่ว ต่อมาเมื่อมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันไม่เป็นปรารถนาของมนุษย์ เช่น เรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ เป็นต้น ก็มักจะได้รับการตีความด้วยกรอบความคิดเรื่อง “เทวาสุรสงคราม 4. ข้อเสนอว่าด้วยการตีความจันทิมสูตรและสุริยสูตร

4.1 เนื้อหาของจันทิมสูตร และสุริยสูตร(1) สุริยเทพบุตร (เนื้อหาอย่างเดียวกันกับจันทิมสูตร) ถูกอสุรินทราหูเข้าจับตัวไว้ จึงระลึกถึงพระผู้มีพระภาคแล้วกล่าวคาถาว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์เป็นผูหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง ข้าพระองค์ตกอยู่ในภาวะคับขัน ของพระองค์จงเป็นสรณะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

(2) เมื่อทรงทราบดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับอสุรินทราหูว่า “สุริยเทพบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์เป็นสรณะ ราหู ท่านจงปล่อยสุริยเทพบุตรเสียเถิด พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก สุริยเทพบุตรเป็นผู้ส่องแสง ทำความสว่างในที่มืดมิด มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง ท่านอย่าอม สุริยเทพบุตรผู้เที่ยวไปในอากาศเลย ราหู ท่านจงปล่อยสุริยเทพบุตรผู้เป็นบุตรของเราเสียเถิด

(3) อสุรินทราหูจึงปล่อยสุริยเทพบุตร แล้วเร่งรีบเข้าไปหาท้าวเวปจิตติจอมผู้เป็นจอมอสูร ด้วยอาการเศร้าสลด ขนพองสยองเกล้า แล้วกล่าวว่า “ราหู ทำไมท่านจึงรีบปล่อยสุริยเทพบุตรเสียเล่า ทำไมท่านจึงเศร้าสลดใจ มายืนกลัวอยู่เล่า

(4) อสุรินทราหูจึงกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า หากข้าพเจ้าไม่ปล่อยจันทิมเทพบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตก ๗ เสี่ยง มีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย

    1. จันทิมสูตร กับสุริยสูตร กับบริบททางสังคม

      เรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ที่ปรากฏในพระสูตรทั้งสองนี้ ไม่น่าจะเป็นแนวคิดทฤษฎีที่พระพุทธเจ้าทรงเสนอขึ้นมาเองเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เพราะไม่ใช่วิสัยของพระองค์ที่จะสนใจเรื่องทำนองนี้ (ไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์) หากแต่เป็นแนวคิดความเชื่อที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น โดยเฉพาะถ้าเราย้อนกลับไปหาบริบทสังคมสมัยนั้นตามแนวคิดแบบโรแมนติคของ ชไลมาเคอร์ (Schleiercacher) จะเห็นได้ทันทีว่า ราหูอมจันทร์/อาทิตย์ ก็คือแนวคิดที่มีฐานมาจากความเชื่อเรื่อง “เทวาสุรสงคราม ที่ฝั่งรากลึกอยู่ในสังคมอินเดียเป็นเวลานาน จันทิมเทพบุตร และสุริยเทพบุตร ก็คือตัวแทนของเทพแห่งความสว่างหรือเทพฝ่ายดี ส่วนราหู ในฐานะเป็นบริวารของท้าวเวปจิตติจอมอสูร ก็คือตัวแทนเทพฝ่ายดำ/มืด หรือฝ่ายชั่วนั่นเอง ถามว่าแนวคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ถ้าสันนิษฐานตามบริบททางสังคม ก็น่าจะเป็นได้ว่า จากรากฐานความเชื่อเรื่องเทพเจ้าพระเจ้าประจำธรรมชาติของชาวอารยันโบราณ และได้แบ่งเทพเจ้าออกเป็น 2 ฝ่าย คือ เทพ กับ อสูร ตั้งแต่ยังอยู่ในแถบประเทศอิหร่าน ต่อมาเมื่ออพยพเข้ามายังอินเดียและได้ทำสงครามแย่งดินแดนกับพวกชนพื้นเมือง คือ พวกทราวิท หรือทัสยุ เมื่อทำสงครามปราบปรามชนพื้นเมืองได้แล้ว ก็จะทำการยกย่องเชิดชูวีรบุรุษในสงคราม นาน ๆ เข้าวีรบุรุษก็กลายเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง ส่วนชนพื้นเมืองที่แพ้สงครามซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม จากที่เคยเป็นคู่สงครามในโลกมนุษย์ ก็ถูกยกขึ้นเป็นคู่สงครามเทพเจ้าในโลกสวรรค์ตามไปด้วย โดยเป็นตัวแทนของเทพฝ่ายชั่ว คือ อสูร ตรงจุดนี้เองที่แนวคิดเรื่อง “เทวาสุรสงคราม ปรากฏเด่นขึ้นในสังคมอินเดียโบราณ และแนวคิดได้กลายเป็นมาตรฐานในการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ เช่น เมื่อมีเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่เป็นผลดีต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเงาโลกไปบังดวงจันทร์ (จันทรคราส) หรือดวงจันทร์ไปบังดวงอาทิตย์ (สุริยคราส) เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่งความตื่นตระหนกแก่คนสมัยนั้น และเป็นความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องหาทฤษฎีมาอธิบายปัญหาเหล่านี้เพื่อปัดเป่าความหวาดกลัวและแก้ข้อสงสัยของประชาชน ในสภาพสังคมที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ แนวคิดที่น่าจะมีพลังในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดีที่สุดก็คือแนวคิดเรื่อง “เทวาสุรสงคราม เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เบาใจได้ว่า ในที่สุดแล้วฝ่ายเทพจะต้องชนะฝ่ายอสูรอยู่ดี

    2. จันทิมสูตรและสุริยสูตร : ไม่ใช่การเสนอข้อเท็จจริงทางอภิปรัชญา

      ปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์/อาทิตย์ตามความเชื่อของคนโบราณ ได้รับการพิสูจน์แล้วด้วยศาสตร์สมัยใหม่ว่า เป็นความเชื่อที่ผิดพลาด ดังนั้น จึงเกิดปัญหาว่า ถ้าเราตีความพระสูตรทั้งสองนี้ตามตัวอักษรว่ามีราหูอมจันทร์/อาทิตย์จริงตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ แล้วเราจะแก้ข้อพิสูจน์ของศาสตร์สมัยใหม่อย่างไร ถ้าเรายึดข้อพิสูจน์ของศาสตร์สมัยใหม่ว่าถูกต้อง ก็เท่ากับยอมรับว่าข้อความที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในสูตรทั้งสองผิด หรือถ้าเรายึดข้อความในพระสูตรทั้งสองว่าถูกต้อง ก็เท่ากับยอมรับว่าข้อพิสูจน์ของศาสตร์ใหม่ผิด ในทัศนะของผู้เขียน ข้อความในพระสูตรทั้งสองไม่ได้ขัดแย้งกับข้อพิสูจน์ของศาสตร์สมัยใหม่แต่อย่างใด เราสามารถยอมแนวคิดทั้งสองได้โดยไม่จำเป็นต้องปฏิเสธแนวคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นคือ แม้แนวคิดทั้งสอง (พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์) จะพูดถึงปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน แต่จุดสนใจเป็นคนละเรื่อง จุดสนใจของวิทยาศาสตร์ก็คือมุ่งอธิบายข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์ทางวัตถุในเชิงอภิปรัชญา ส่วนจุดสนใจของพระพุทธเจ้า คือ ประเด็นปัญหาทางด้านจริยศาสตร์ หรือสนใจในเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ในชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงเรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ในพระสูตรทั้งสองนี้ ประเด็นของพระองค์จึงไม่ได้อยู่ที่การพิสูจน์เท็จจริงทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ หมายความว่า ข้อเท็จจริงทางอภิปรัชญาจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือเรื่องนี้สามารถนำมาเป็นสื่อในการโยงคนเข้าหาหลักธรรมได้อย่างไรมากกว่า เพราะไม่ว่าพระองค์จะตรัสถึงเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม ก็เป็นข้อเท็จทางสังคมที่มีอยู่แล้วอย่างดาษดื่น การเอาความเชื่อเดิมในสังคมมาใช้ประโยชน์ทางจริยธรรมจึงถือว่าเป็นจุดประสงค์ที่พระองค์ต้องการ ซึ่งก็ไม่ต่างกับการนำเอาเรื่องพรหม หรือเรื่องการบูชายัญมาอธิบายในเชิงจริยธรรมนั่นเอง

    3. ราหูอมจันทร์/อาทิตย์ : การแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐาน

พระพุทธศาสนาทั้งสายเถรวาทและมหายาน ยอมรับว่าข้อในพุทธธรรมมี 2 ประเภท คือ ข้อความแบบนีตัตถะ (นีตารถะ) และข้อความแบบเนยยัตถะ (เนยารถะ) ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดแสดงพระสูตรที่เป็นเนยยัตถะ ว่าเป็นนีตัตถะ หรือแสดงพระสูตรที่เป็นนีตัตถะ าเป็นเนยยัตถะ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวตู่พระตถาคต ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายข้อความทั้งสองนี้ว่า เนยยัตถะ (indirect meaning) หมายถึงพระสูตรซึ่งมีความหมายที่จะต้องไขความ พุทธพจน์ที่ตรัสตามสมมติ อันจะต้องเข้าใจความจริงแท้ที่ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง เช่น ที่ตรัสเรื่องบุคคล ตัวตน เรา-เขา เป็นต้น นีตัตถะ (direct meaning) หมายถึง พระสูตรซึ่งมีความหมายแสดงชัดโดยตรงแล้ว พุทธพจน์ที่ตรัสโดยปรมัตถ์ ซึ่งมีความหมายตรงไปตรงมาตามสภาวะ ถ้ามองจากกรอบข้อความ 2 ประเภทนี้ จะเห็นว่า แนวคิดเรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ในพระสูตรทั้งสอง ไม่ใช่ข้อความที่ตรัสโดยปรมัตถ์ หรือแสดงความจริงตามสภาวะ หากแต่เป็นข้อความที่มีความหมายแบบเนยยัตถะ คือ มีความหมายโดยอ้อม หรือมีความหมายที่จะต้องตีความนั่นเอง ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ยอมรับว่าข้อความในพุทธศาสนามี 2 ประเภท คือ ข้อความแบบภาษาธรรม และความแบบภาษาคน โดยท่านได้อ้างพุทธพจน์ที่ว่า “อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคณฺหาติ ปณฺฑิโต” แปลว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมถือเอาอรรถทั้งสองได้ เมื่อข้อความในจันทิมสูตร และสุริยสูตร เป็นข้อความที่จะต้องตีความ ปัญหาจึงมีต่อไปว่า เราจะตีความอย่างไร ? แนวทางการตีความแบบหนึ่งที่ผู้เขียนคิดน่าจะสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้ามากที่สุด คือ การตีความแบบบุคลาธิษฐาน (Allegorical Method) ดังนี้

4.1.1 ราหูอมจันทร์/อาทิตย์ ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของสภาพจิตฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว: แนวคิดเรื่องราหูอมจันทร์ในพระสูตรทั้งสองนี้ ถ้าตีความแบบบุคลาธิษฐาน ก็คือ “เทวาสุรสงครามทางจิตใจ นั่นเอง จันทิมเทพบุตร และสุริยเทพบุตร คือตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของสภาพจิตฝ่ายดีหรือฝ่ายกุศล คือ อาจจะเป็นกามาวจรกุศลจิต รูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิตก็ได้ ส่วนอสูร ก็คือสัญลักษณ์ของสภาพจิตฝ่ายอกุศล หรือสภาพจิตที่ถูกครอบงำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ (หรืออวิชชา ตัณหา อุปทาน) เนื้อหาในพระสูตรที่บอกว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ถูกราหูอมไว้จนไม่สามารถเปล่งแสงได้ ก็หมายความว่า สภาพจิตฝ่ายดีระดับโลกิยะ แม้จะดีขนาดระดับสภาพจิตของเทพหรือพรหม แต่ก็ยังเป็นสภาพจิตที่ยังไม่ปลอดภัย กล่าวคือยังท่องเที่ยวอยู่ในวังวนแห่งสังสารวัฏ อาจจะเสื่อมหรืออาจถูกครอบงำด้วยอสูรคืออวิชชาได้ตลอดเวลา มองในแง่หนึ่ง การพระพุทธเจ้ายกเรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ขึ้นมาแสดง ก็คือการปฏิเสธสถานะความสูงสุดของแนวคิดเรื่องเทพและพรหมของสังคมสมัยนั้นนั่นเอง

4.1.3 คำสอนของพระพุทธเจ้าในฐานะทางออกจากสภาพของเทพและอสูร: ข้อความในพระสูตรที่บอกว่า จันทิมเทพบุตรและสุริยเทพบุตรไปขอให้พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของตน พระพุทธเจ้าจึงขอร้องให้ราหูคลายพระจันทร์และพระอาทิตย์เสีย ราหูจึงคลายเพราะกลัวพระคาถาของพระพุทธเจ้า ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ “คาถาของพระพุทธเจ้า ถ้ามองอย่างผิวเผินก็ดูประหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าก็ใช้เวทมนต์คาถา (Magic) มาขับไล่อสูร ซึ่งไม่ก็ต่างจากพวกพ่อมดหมอผีใช้เวทมนต์ขับไล่ภูตผีปีศาจ แต่ความจริงไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะพระองค์เป็นผู้ปฏิเสธอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของเวทย์มนต์คาถาหรือเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์อยู่แล้ว ข้อความตรงนี้ถ้าเราตีความด้วยภาษาธรรม คำว่า “คาถาของพระพุทธเจ้า ก็คือ อริยมรรคอันเป็นทางหลุดพ้นจากทั้งภาวะแห่งเทพและอสูรนั่นเอง เมื่อจิตหลุดพ้นจากทั้งภาวะแห่งเทพและอสูรแล้ว ก็ชื่อว่าอยู่เหนือทวิภาวะ (dualism) คืออยู่บวก (เทพ) และลบ (อสูร) และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก นี้คือภาวะสิ้นสุดแห่ง “เทวาสุรสงครามทางจิตใจ เพราะในภาวะเช่นนั้นไม่หลงเหลือความเป็นเทพและอสูรให้ทำสงครามกันอีกต่อไป จากคำกล่าวของเทพบุตรทั้งสองที่ว่า “พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง ข้าพระองค์ตกอยู่ในภาวะคับขัน…” ข้อความตรงนี้ชี้ชัดว่าเป็นข้อความที่มุ่งไปที่ภาวะคับขันทางจิตใจ เพราะเทพบุตรทั้งสองกล่าวยกย่องพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง แล้วก็โยงกลับมาพูดถึงตัวเองว่าตกอยู่ในภาวะคับขัน คล้าย ๆ กับจะบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ตกอยู่ในภาวะคับขันเพราะพระองค์ไม่มีกิเลส ส่วนพวกตนยังตกอยู่ในภาวะคับเพราะยังมีกิเลส จึงได้เข้ามาขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า แน่นอนเหลือเกินว่า วิธีการช่วยเหลือของพระพุทธเจ้าที่จะทำให้เทพบุตรทั้งสองปลอดภัยมากที่สุด คือ การให้คาถา (อริยมรรค) สำหรับทำตนให้หมดกิเลสแล้วจะได้เป็นผู้ไม่ตกอยู่ในภาวะคับขันเช่นเดียวกับพระองค์

5. สรุปและเสนอแนะ

จากการศึกษาวิเคราะห์จันทิมสูตรและสุริยสูตร ผู้เขียนมีความเห็นว่า สิ่งที่สร้างความหนักใจแก่ผู้ตีความจันทิมสูตรและสุริยสูตร มี 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ

1) ประเด็นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรทั้งสองว่า ปรากฏการณ์ที่ทำให้พระจันทร์หรือพระอาทิตย์มืดมนลงหรืออับแสง หรือที่เรียกในสมัยปัจจุบันว่า จันทรคราส และสุริยคราส เกิดจากเทพฝ่ายชั่ว คือ อสูร เบียดเบียนหรืออมเทพฝ่ายดี คือ จันทิมเทพ และสุริยเทพ จนทำให้เทพเจ้าฝ่ายดีได้รับความเดือดร้อนแล้วเข้ามากราบทูลขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า

2) ประเด็นเรื่องข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เรื่องจันทรคราสและสุริยคราส ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำสงครามกันระหว่างเทพกับอสูรแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องการโคจรอยู่ในระนาบเดียวกันของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ แล้วทำให้เงาของโลกไปบดบังดวงจันทร์บ้าง หรือทำให้ดวงจันทร์ไปบังแสงอาทิตย์แล้วทำให้โลกมืดบ้าง

ประเด็นปัญหา 2 ประการนี้ ผู้เขียนได้เสนอว่า ถ้าเราตีความพระสูตรทั้งสองตามตัวอักษร ก็เท่ากับเป็นการบังคับให้เราต้องเลือกเอาฝ่ายหนึ่งแล้วปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นคือ ถ้าเรายอมรับว่าข้อความที่ปรากฏในพระสูตรทั้งสองเป็นจริงตามตัวอักษร ก็เท่ากับปฏิเสธข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าไม่ถูกต้อง ในขณะเดียวกัน ถ้าเรายอมรับว่าข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถูกต้อง ก็เท่ากับปฏิเสธข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรทั้งสอง จึงมีคำถามต่อไปว่า นี้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างวิทยาการสมัยใหม่กับพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ ?

ผู้เขียนได้เสนอทางออกว่า แนวคิดเรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ที่ปรากฏในพระสูตรทั้งสอง ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เราสามารถยอมรับแนวคิดทั้งสองได้โดยไม่จำเป็นต้องปฏิเสธแนวคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นคือ เราต้องตีความพระสูตรทั้งสองโดยยึดพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดแสดงพระสูตรที่เป็นเนยยัตถะ (สูตรที่ต้องตีความ) ว่าเป็นนีตัตถะ (สูตรที่มีความหมายตรง) หรือแสดงพระสูตรที่เป็นนีตัตถะ ว่าเป็นเนยยัตถะ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวตู่พระตถาคต ผู้เขียนคิดว่า ข้อความเรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ในพระสูตรทั้งสอง เป็นข้อความที่ต้องมีความ (เนยยัตถะ) แบบบุคลาธิษฐาน (Allegorical Method) ผสมผสานกับกับการมองย้อนกลับไปศึกษาบริบทสังคมและบรรยากาศด้านความเชื่อเรื่อง “เทวาสุรสงคราม ของชาวอินเดียสมัยโบราณ ทั้งก่อนสมัยพุทธกาลและสมัยร่วมพุทธกาล ถ้าศึกษาบริบทสังคมสมัยนั้นให้ดี เราจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมพระพุทธเจ้ายกเรื่องราหูอมจันทร์/อาทิตย์ขึ้นมาแสดง สาเหตุก็เพราะว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่คนสมัยยอมรับกันมานานและสามารถสื่อสารกับคนสมัยนั้นได้ง่าย การที่พระพุทธเจ้ายกเรื่องนี้ขึ้นมาแสดงก็ไม่ใช่เพื่อตอกย้ำหรือรับรองความถูกต้องของความเชื่อนี้ในเชิงอภิปรัชญา จุดสนใจของพระองค์ในเรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็นทางอภิปรัชญา เพราะเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์และจัดอยู่ในข่ายปัญหาที่พระองค์ไม่ทรงตอบ (อัพยากตปัญหา) สิ่งที่พระองค์สนใจคือประเด็นทางจริยศาสตร์ (ความดับทุกข์) นั่นคือ การใช้ความเชื่อเดิมที่มีอยู่แล้วในสังคมสมัยนั้นมาเป็นสื่อในการแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐาน โดยมุ่งไปที่การทำสงครามในภาษาธรรมหรือสงครามทางด้านจิตใจเป็นสำคัญ นั่นคือ การทำสงครามต่อสู้กันกันระหว่างสภาพจิตฝ่ายดีกับสภาพจิตฝ่ายชั่ว ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคนผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในวังวนแห่งสังสารวัฏ ทางออกของพระองค์คือให้มนุษย์แต่ละคนพัฒนาจิตของตนให้อยู่เหนือทั้งภาวะแห่งเทพและภาวะแห่งอสูร (เหนือดี-ชั่ว บุญ-บาป) แล้วสงครามทางด้านจิตใจก็ยุติลงอย่างสิ้นเชิง

 

****************************

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การอ้างอิง

ก. ภาษาไทย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณ-ราชวิทยาลัย, 2500.

เกื้อพันธ์ นาคบุปผา. “พระอินทร์ในวรรณคดีสันสกฤต บาลี และวรรณคดีไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ: อัดสำเนา เย็บเล่ม, 2520.

พระสารีบุตรมหาเถระ. พระคัมภีร์สารัตถทีปนี ภาค 1. สิริ เพชรไชย (แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ หจก.ทิพยวิสุทธิ์, 2542.

พระยาอนุมานราชธน. ศาสนาเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2532.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัท สื่อตะวัน จำกัด, 2545.

พุทธทาสภิกขุ. ภาษาคน ภาษาธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง จำกัด, มปป

กีรติ บุญเจือ. ปรัชญาหลังนวยุค. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าใหม่, 2544.ข. ภาษาอังกฤษ

Collins, Steven . Selfless Persons: Imagery and Thought in Theravada Buddhism. London: Cambridge University Press, 1982.

Bond, George D. “The Gradual Path as a Hermeneutical Approach ot the Dhamma,” in Buddhist Hermeneutics, ed. Donald S. Lopez, Jr. Honolulu: University of Hawaii Press, 1988.

Macdonell, Arthur A. A Vedic Reader for Students. Madras: Oxford University Press, 1972.

file://A:The%20Romanticist%20Hermeneutics%20of20Schleiermacher%20and… 23/6/45

file://A:The%20Methodological%20Hermeneutics%20of20Schleiermacher%20…11/7/2545

file://A:Hermeneutical%20Systems.htm

(ที่มา: -)