บทความวิชาการ
ศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ตามดู รู้ทัน
24 เม.ย. 61 | พระพุทธศาสนา
2891

ผู้แต่ง :: พุธทรัพย์ มณีศรี


ศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ตามดู รู้ทัน


 

พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) ให้สัมภาษณ์ผู้เขียน ที่หน้าอุโบสถวัดไทยพุทธคยา

พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ได้ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตไทยในแดนพุทธภูมทั้งสมัยก่อนและในสมัยปัจจุบันว่า

          “ปฏิบัติกิจทางศาสนาเหมือนกัน แต่ความหนักเบาและความเข้มข้นในระยะแรกมีมากกว่าปัจจุบัน เพราะเป็นยุคเริ่มก่อร่างสร้างตัว เริ่มออกบ้านใหม่ ทิศทางรู้แต่ยังไม่ชัดเจนที่จะเดินต่อไปเพื่อให้งานที่ตั้งไว้      ดีงาม หลวงปู่หลวงพ่อรุ่นเก่าๆ ท่านแบกภาระด้วยขันติธรรมและด้วยความพยายาม เรียกว่าทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูต เป็นกรรมฐานที่ต้องทำใจ และเป็นกรรมกร ก็คือทำทุกอย่าง     ยุคเริ่มต้นต้องลงทุนมากกว่ายุคปัจจุบัน เรียกว่าลงทุนด้วยชีวิตทุกรูป พระธรรมทูตทุกองค์มรณภาพในผ้าเหลืองหมด ยุคปัจจุบันมีทุนมากเป็นเพราะรุ่นเก่าได้ลงทุนไว้มาก

   พระธรรมทูตทำด้วยใจรัก นักศึกษาที่มาเรียนที่อินเดียรุ่นก่อนเป็นพระธรรมทูตโดยหน้าที่และด้วย   ใจรัก ตัวอย่างเช่น ท่านอธิการบดี มจร พระพรหมบัณฑิต ท่านมาศึกษาที่อินเดีย และได้จาริกแสวงธรรมบำเพ็ญบุญ ท่านเป็นพระธรรมทูตที่มีความเข้มข้นทางด้านสารัตถะที่ลงทุนไป ลงทุนด้วยหลักไตรสิกขาค่อนข้างมากกว่าใครๆ เช่น ลงทุนทางด้านปัญญา ท่านศึกษาในระดับความรู้ทางศาสนาจบเปรียญธรรม ประโยค ในประเทศไทย และเรียนต่อในสายผสมผสานจนจบการศึกษาระดับสูงของ มจร และได้ต่อยอดในแดนพุทธภูมิจนได้ปริญญาเอก พระธรรมทูตที่มาปฏิบัติและมาเรียน ได้มีโอกาสเผยแผ่ให้ญาติโยมที่เดินทางมาอินเดียด้วย เมื่อท่านศึกษาสำเร็จก็เดินทางกลับประเทศไทย เป็นแบบอย่างของผู้บริหาร เพราะงานผู้บริหารที่ใหญ่ที่สุดที่ดูงานที่อินเดีย คืองานบริหารของผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดทางศาสนา คือพระพุทธเจ้า

          งานของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการลงทุนด้วยวัตถุน้อยและต้นทุนต่ำกว่า แต่ใช้ความพยายามส่วนตัวและเรื่องของส่วนตัวทุ่มเทลงไปมากกว่า นักศึกษาที่มาศึกษาที่แดนพุทธภูมิและพระธรรมทูต ได้ใช้รูปแบบจากจากพุทธภูมิกลับไปบริหารงาน กลับไปสอนไปสั่งและรู้สึกว่าความออกรสออกชาด ความรู้รสรู้ชาด ความรู้ดีรู้ถึงก็จะงดงามกว่าที่เห็น

                ครับ นั่นเป็นเป็นเรื่องที่พระธรรมทูตจะได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติกันต่อไป

          ผู้เขียนเห็นว่าการดำเนินการใด ๆ ก็ตาม หากเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถรวมทั้งมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง ก็สามารถทำให้เกิดความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

          ประสบการณ์นั้นเกิดจากการเรียนรู้และการปฏิบัติของตนเอง

          แต่ที่ได้ผลเร็วที่สุดคือการเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้อื่น แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับความรู้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่

          การเดินทางไปปฏิบัติและดูงานการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูต ณ แดนพุทธภูมิ และกราบนมัสการสังเวชนียสถาน ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล ของพระธรรมทูต รุ่นที่ 20 ในระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 5 เมษายน 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) นั้น

          ก็ถือเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้เสวยวิมุติสุข เป็นเวลา 7 สัปดาห์

จะเห็นได้ว่าแม้เป็นธรรมะที่พระองค์ทรงรู้เอง เห็นเอง แต่พระองค์ได้ให้ความสำคัญของการเป็นครูและความเป็นผู้นำ ดังนั้น จึงใช้เวลา 7 สัปดาห์หรือ 49 วัน นั้น เป็นการเตรียมความพร้อม

พระองค์ได้คิดและวางแผนในการประกาศพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จึงได้เลือกที่จะประกาศพระพุทธศาสนา โดยเน้นความสำคัญ 4 ประการ คือ

สถานที่ เลือกเมืองพาราณสี เพราะเป็นที่ชุมนุมของฤๅษีจำนวนมาก

กลุ่มคน พระองค์ทรงเลือกปัญจวัคคีย์เป็นคณะแรกเพราะเคยอยู่กันมานานถึง 6 ปี และหากโปรดผู้อื่นก่อน ปัญจวัคคีย์อาจต่อต้าน ให้ร้ายหรือทำให้เป็นอุปสรรคในการเผยแผ่ได้ เพราะอยู่ด้วยกันมานาน

ธรรมะที่ทรงแสดง พระองค์ทรงเลือกธรรมจักรกัปปวัตนสูตร โดยแสดงแก่นแท้ของธรรมะ อย่างไร  ก็ตาม มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ฟังแล้วดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ คือพระอัญญาโกณฑัญญะ 

แต่ต่อมาปัญวัคคีย์ทุกคนก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

เวลา พระองค์ทรงเลือกคืนวันเพ็ญ เดือน ซึ่งต่อมาวันดังกล่าวนี้คือวันอาสาฬหบูชา

ด้วยพระปรีชาญาณและความวิริยะอุตสาหะรวมทั้งวิธีการใช้คนของพระพุทธองค์ทำให้ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็ว จนทั่วทั้งชมพูทวีป

การดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระธรรมทูตองค์แรกของโลก

ดังนั้น วิธีการของพระพุทธองค์ซึ่งได้ดำเนินการจนได้ผลดีในอดีต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของพระธรรมทูตปัจจุบันต้องศึกษา เรียนรู้ แล้วนำไปปฏิบัติ

จะทำให้มีความสำเร็จ ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงกระทำสำเร็จมาแล้ว

 

พระธรรมทูตที่ปฎิบัติงานอยู่ในประเทศอินเดีย-เนปาล ในปัจจุบัน ซึ่งนำโดยพระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ก็ได้ช่วยให้ความรู้และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาหลาย ๆ ประการ

 

สิ่งที่ทำได้ผลมากที่สุดก็คือการสร้างมิตรและช่วยเหลือชุมชนและสังคม เพราะชุมชนจะเป็นเกราะ


พระอุโบสถวัดไทยลุมพินี (ซ้าย) และพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ (ขวา)

กำบังเป็นอย่างดีที่ทำให้พระธรรมทูตอยู่ได้อย่างมีความสุข

การช่วยเหลือชุมชนของพระธรรมทูตในแดนพุทธภูมิ มีทั้งการให้การศึกษา การรักษาพยาบาลและการช่วยเหลือชุมชนด้านอื่น ๆ โดยขอยกตัวอย่างเพียงบางเรื่องบางแห่งเท่านั้น เช่น

          ด้านการรักษาพยาบาล วัดไทยพุทธคยา วัดไทยลุมพินี วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์และวัดไทยนาลันทา เปิดโรงพยาบาลให้การรักษาพยาบาล โดยมีหมอและพยาบาลคนไทยเป็นผู้ดำเนินการ ยกเว้นวัดไทยนาลันทา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร จึงได้ใช้หมอชาวอินเดีย

          ด้านการให้การศึกษา วัดไทยลุมพินีให้การศึกษาแก่สามเณรชาวเนปาลพร้อมทั้งส่งให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ มจร โดยคาดหวังว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ต่อไป

          วัดไทยนาลันทา เริ่มต้นด้วยการเปิดประตูวัดรับเด็ก แจกขนมเด็กพร้อมสอนให้ไหว้พระสวดมนต์     วันแรก 50 คน วันต่อมาเข้ามาถึง 150 คน จึงต้องคัดเด็กออกเป็น 3 ห้อง สอนให้รู้จัก “อัญชลี วันทา อภิวาท”และใช้เวลาเพียง 5 วัน เท่านั้น มีนักเรียนมาเรียนถึง 500 คน ทั้งนี้ เมื่อบวชเณรแล้วก็ส่งไปเรียนที่โรงเรียนต่าง ๆ ด้วย

            วัดไทยสารนาถ ได้เปิดโรงเรียนพระครูประกาศสมาธิคุณ โดยก่อนเข้าเรียนก็มีการเข้าแถวสวดมนต์เช่นเดียวกับบ้านเรา เพียงแต่ไม่มีการร้องเพลงชาติและชักธงชาติเท่านั้น เป็นการปลูกฝังพระพุทธศาสนาให้แก่เด็ก

          ด้านการช่วยเหลือชุมชน วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ได้ช่วยเหลือในการเจาะน้ำบาดาล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน

          พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) ได้เน้นย้ำให้ศึกษาถึงรากเหง้าของพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้และสร้างศรัทธาให้เกิด และขอให้พระธรรมทูตมีศรัทธา มีความเพียร มีสติ และขยัน

 

          พระกิตติโสภณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดนาคปรก ได้เล่าเกร็ดพุทธประวัติที่สำคัญและประสบการณ์การเป็นพระธรรมทูต ทั้งนี้ ได้ขอให้พระธรรมทูตห้ามพูด 5 อย่าง คือ ห้ามพูดว่ายาก ห้ามพูดว่าทำไม่ได้ ห้ามพูดว่าขี้เกียจ ห้ามพูดว่าเหนื่อย และห้ามพูดว่าเบื่อ


พระกิตติโสภณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดนาคปรก บรรยาย ณ วัดไทยสิริราชคฤห์ 

           ผู้เขียนเห็นว่า ไม่เฉพาะพระธรรมทูตหรอกครับ ข้าราชการหรือพนักงานบริษัทก็ไม่ควรพูดทั้ง 5 อย่างนี้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าในชีวิตการทำงานของตน

          คุณมีชัย ฤชุพันธ์ ได้เน้นย้ำเรื่องการศึกษากฏหมายไทยกับกฎหมายของประเทศที่ไป โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปนั้น ไม่รับรู้กิจและวินัยสงฆ์ไทย

          ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีหลายเรื่องหลายประการที่พระธรรมทูตได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้

          การศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ตามดูและรู้ทัน จะทำให้พระธรรมทูตสามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ

                                                                             พุธทรัพย์ มณีศรี

                                                                    puthsup@gmail.com