ผู้แต่ง :: พุธทรัพย์ มณีศรี
พระธรรมทูต :ผู้แทนพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เมื่อกล่าวถึงพระธรรมทูต หลายท่านคงเข้าใจว่าคือพระสงฆ์ที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ฝรั่งหรือชาวต่างชาติ
ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้องส่วนหนึ่งครับ เพราะพระธรรมทูตก็คือพระที่ทำหน้าที่เป็นทูตหรือเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
แต่เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่คนทุกคนทั้งในและต่างประเทศ
เจตนารมย์ลึก ๆ อีกประการหนึ่งสำหรับพระธรรมทูตสายต่างประเทศที่มีมากกว่านั้นก็คือ พระธรรมทูต ทำหน้าที่ในการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้แก่คนไทยที่ไปพักอาศัยหรือทำมาหากินอยู่ในต่างประเทศด้วย
เป็นที่พึ่งทางใจให้แก่คนไทยในต่างประเทศว่างั้นเถอะ
จะเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศที่ดีและเป็นได้อย่างดีก็ต้องได้รับการอบรมพระธรรมทูตก่อน
โดยคณะสงฆ์ได้ดำเนินการจัดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2510-2511 แต่ก็ได้หยุดชงักไปหลายปี
ในปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้รับการร้องขอจากสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศของฝ่ายมหานิกายขึ้นเป็นรุ่นแรก
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ก็จัดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศของฝ่ายธรรมยุตเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้พระธรรมทูตที่มีความรู้ความสามารถ มีจริยาวัตรงดงาม มีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมใส มีความพร้อมและมั่นใจในการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ
สำหรับของ มจร นั้น ได้ดำเนินการมาแล้ว 19 รุ่น มีพระสงฆ์ผ่านการอบรมแล้ว จำนวน 1,480 รูป โดยได้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศอยู่ทั่วโลก
ในปี พ.ศ. 2557 นี้ มจร ได้จัดอบรมพระธรรมทูต รุ่นที่ 20 โดยมีพระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและผ่านการสอบคัดเลือกเข้ารับการอบรม จำนวน 68 รูป
ภาพหมู่วันเปิดการอบรม ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย
พระพรหมสุธี เจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรรมการมหาเถระสมาคม และประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2557 ที่ มจร วังน้อย
หลักสูตรในรุ่นนี้ประกอบด้วยทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 21 รายวิชา
โดยภาคทฤษฎี ซึ่งใช้เวลา 25 วัน ซึ่งมีทั้งการบรรยาย อภิปราย ซักถาม การประชุมกลุ่มย่อย การแลกเปลี่ยนความรู้ การมอบหมายงานให้ศึกษาค้นคว้า การฝึกปฏิบัติและการประเมินผลการเรียนรู้
ส่วนภาคปฏิบัติประกอบด้วย 1) การฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน 2) งานสาธารณูปการ เช่น ฝึกปฏิบัติงานก่อสร้าง 3) การฝึกทักษะและประสบการณ์พิเศษ เช่น ฝึกทักษาการทำงานเป็นทีม และ 4) การฝึกปฏิบัติและศึกษาดูงาน
โดยไปปฏิบัติและดูงานการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูต ณ แดนพุทธภูมิ และกราบนมัสการสังเวชนียสถาน ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล เพื่อระลึกถึงพระศาสดา
พระธรรมทูตรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3 ที่เดินทางไปปฏิบัติและดูงานการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูต ณ แดนพุทธภูมิ
โดยที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงานการอบรมพระธรรมทูต รุ่นที่ 20 จึงได้เดินทางไปกับคณะพระธรรมทูตในระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 5 เมษายน 2557 ด้วย
ทั้งนี้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หากจะได้บันทึกสิ่งที่ได้พบได้เห็นในการเดินทางไปกับพระธรรมทูตในครั้งนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านหลายประการ เช่น
การไปปฏิบัติและดูงานการปฏิบัติศาสนกิจในประเทศอินเดีย-เนปาล นั้น มีวิธีการดำเนินการอย่างไร พระธรรมทูตได้เรียนรู้อะไรบ้าง และต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะมากน้อยแค่ไหน
รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงช่องทางในการช่วยเหลือการอบรมพระธรรมทูตนี้ได้หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
ตั้งใจไว้แล้วว่า จะไม่เขียนในลักษณะของการนำเที่ยว เพราะมีหลายท่านได้เขียนไว้แล้ว
พระพรหมบัณฑิต (ศาสตราจารย์ ดร. ประยูร ธมมฺจิตโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่อยากเขียนถึงคือความคาดหวังในการนำพระธรรมทูต ไปศึกษาดูงาน ณ แดนพุทธภูมิ ในครั้งนี้
ท่านที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด คือ พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานการอบรมพระธรรมทูต รุ่นที่ 20
ท่านได้กล่าวถึงความคาดหวังในพระธรรมทูตจากการจัดอบรมพระธรรมทูตในครั้งนี้ ไว้ว่า
“คาดหวังว่าท่าน (พระธรรมทูต) จะเกิดศรัทธาต่อความเป็นพระธรรมทูตมืออาชีพ ศรัทธาเหล่านี้จะมาจากการศรัทธาต่อพระรัตนตรัยก่อน พระรัตนตรัยที่สำคัญที่สุดคือพระพุทธเจ้า ก็คือต้องเข้าไปดินแดนพระพุทธเจ้า เมื่อได้มีศรัทธาแล้วก็จะทำงานด้วยศรัทธา แต่ศรัทธาตัวนี้เรามุ่งให้เกิดปัญญาต่าง ๆ ตามขั้นตอน คือศรัทธาที่เกิดเป็นปัญญาจากการฟัง การคิด และการปฎิบัติจริงในสถานที่จริง แล้วท่านจะได้อันนี้มั่นคงในศรัทธาของท่านที่ไม่สั่นคลอน แล้วสามารถทำงานได้ในฐานะตัวแทนพระพุทธศาสนาหรือในฐานะพระธรรมทูตได้อย่างมั่นคงและอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่พอใจของทุกภาคส่วน”
พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร
และที่สำคัญ โครงการนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ได้และมีประสิทธิภาพไม่ได้ หากไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังจากพระพรหมบัณฑิต (ศาสตราจารย์ ดร. ประยูร ธมมฺจิตโต) อธิการบดี มจร
การดำเนินโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศนี้ นอกจากใช้งบประมาณของ มจร แล้ว
ส่วนราชการและหน่วยงานหลายแห่งได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการนี้ด้วย คือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาลและคณะสงฆ์ไทยในต่างประเทศ กรมการศาสนา และค่าลงทะเบียนของพระธรรมทูต รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป
ขออนุโมทนา สาธุ กับ มจร ทุกส่วนราชการและหน่วยงานต่าง รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปด้วย
ที่ช่วยทำให้ประเทศไทยมีพระธรรมทูตที่ดีมีความรู้ความสามารถ มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพิ่มขึ้นอีกถึง 68 รูป
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในอันที่จะช่วยให้การจรรโลงและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหาเถระสมาคมให้กว้างขวางออกไป
ทั้งยังเป็นการถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวไทยอีกด้วย
พุธทรัพย์ มณีศรี
puthsup@gmail.com