บทความวิชาการ
พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย
06 มี.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
66241

ผู้แต่ง :: พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2547)


ความนำ

            คำว่า “ธาตุ” ตามตัวอักษรแปลว่า ผู้ทรงไว้/ทรงอยู่  สิ่งซึ่งทรงไว้/ทรงอยู่ ภาวะที่ทรงไว้/ทรงอยู่ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่คู่โลก ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ไม่สูญสลายไปไหน แต่อาจจะเปลี่ยนรูปขนาดสีสันไปเมื่อเวลาเปลี่ยนไป หรือเมื่อเปลี่ยนสถานที่ ธาตุเป็นสิ่งที่มอยู่จริงโดยไม่ต้องการมีการพิสูจน์  นี่คือความหมายของคำว่า “ธาตุ” โดยทั่วไป  ในพระพุทธศาสนานิยมใช้คำนี้มาก เช่น โลกธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นของโลก นิพพานธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของนิพพาน กามธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิของสัตว์ผู้เสพเสวยกาม คือพวกที่เสวยกามคุณ เช่นโลกมนุษย์ รูปธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิเทวดาชั้นรูปพรหม อรูปธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิของเทวดาชั้นอรูปพรหม อปริยาปันนธาตุ หมายถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของภพภูมิที่เหนือขึ้นไป(โลกุตตรภูมิ)

            “ธาตุ” ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานิยมหมายถึงธาตุ ๔ ได้แก่ ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) และวาโยธาตุ(ธาตุลม) ถือเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต  ตัวมนุษย์(คน)และสัตว์มีชีวิตทั้งหลายประกอบด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป(ธาตุหรือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  เรียกย่อ ๆ รูปนาม  คำว่า “รูปนาม” ไม่ได้หมายถึงว่ามี ๒ อย่างคือ รูปกับนาม แต่หมายถึงรูปนาม คือเขียนติดกันไปเลย ไม่ได้แยกกัน  ในรูปมีนามและในนามมีรูป เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่แยกกัน “ธาตุ” ๔ นี้ไม่ได้หายไปไหน มีอยู่ในโลกในจักรวาลนี้ตลอดเวลา บางทีก็ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่าง บางทีก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่าง  กล่าวตามภาษาวิทยาศาสตร์ก็คือ บางทีก็เป็นสสาร บางทีก็เป็นพลังงาน เปลี่ยนกลับไปกลับมา  

            “ธาตุ ๔“ ดังกล่าวมานั้นถือเป็นธาตุพื้นฐาน จาก “ธาตุ ๔“ ก็ขยายเป็น “ธาตุ ๑๘“ คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ ตาเห็นรูป เกิดการรับรู้ทางตา) โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ หูได้ยินเสียง เกิดการรับรู้ทางหู) ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ จมูกได้กลิ่น เกิดการรับรู้ทางจมูก) ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ ลิ้นลิ้มรส เกิดการรับรู้ทางลิ้น) กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ กายสัมผัสกับสิ่ง เกิดการรับรู้ทางกาย) มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ(ความจริงก็คือ ใจคิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดการรับรู้ทางใจ)  

            คำว่า “ธาตุ” ในความหมายที่แคบลงมา หมายถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคน (ทั้งส่วนที่เป็นกระดูกและอวัยวะภายในอื่น)ที่เหลือจากการถูกเผา  ที่เห็นชัดก็คือกระดูกของคนที่เหลือจากการถูกเผาแล้ว  

            คำว่า “พระธาตุ” มีความหมายเหมือนกับคำว่า “ธาตุ”  แต่มีข้อพิเศษออกไปก็คือเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนที่บรรลุธรรม มีจิตใจบริสุทธิ์หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ซึ่งเหลือจากการถูกเผา บางทีเรียกว่า “พระอรหันตธาตุ” พระสาวก สาวิกาของพระพุทธเจ้า(หมายรวมถึง พระปัจเจกพุทธเจ้า และอุบาสก อุบาสิกาผู้เป็นอรหันต์ด้วย) 

            คำว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” หมายถึงกระดูกของพระพุทธเจ้า(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)  คำว่า “พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ” นี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Relic” ซึ่งตรงกับภาษาลาตินว่า “Reliquiae” แปลว่า ส่วนที่เหลืออยู่(Remains)   เผ่าชนทั้งหลายในอดีตถือว่า กระดูกคนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลัทธิถือผีสางเทวดา(Shamanism)นิยมเก็บกระดูกคนไว้  ประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะในยุคของพระพุทธเจ้าองค์ไหน นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรมาจนถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม  การเก็บกระดูก (อัฐิ หรือเป็นกระดูกของคนบริสุทธิ์ก็นิยมเรียกว่า พระธาตุบ้าง พระสารีริกธาตุบ้าง พระบรมสารีริกธาตุบ้าง)ไว้บูชาสักการะปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้น ก็จะมีข้อความในคัมภีร์กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว  ๔ อย่าง คือ

            ๑.  ธาตุเจดีย์     คือ พระบรมสารีริกธาตุ
            ๒.  บริโภคเจดีย์ คือ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
            ๓.  ธรรมเจดีย์  คือ จารึกข้อพระธรรม
            ๔. อุเทสิกเจดีย์ คือ พระพุทธรูป ธรรมจักร รอยพระพุทธบาท พระแท่นวัชร
อาสน์ หรือสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า

            สรุปได้ในที่นี้ว่า สิ่งที่ควรบูชาสักการะสูงสุดของชาวพุทธคือเจดีย์ ๔ ประเภทดังกล่าว โดยเฉพาะธาตุเจดีย์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง การหายไปของพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุเป็นเครื่องแสดงถึงความเสื่อมของศาสนาอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ธาตุอันตรธาน” แต่การหายไปของธาตุที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงว่าพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุนั้นหายไปจากโลกนี้ เป็นเพียงการหายไปจากที่หนึ่งที่คนไม่นิยมปฏิบัติธรรมแล้วไปปรากฏในอีกที่หนึ่งที่คนนิยมปฏิบัติธรรม หรืออาจไม่ปรากฏในที่ไหนเลยจนกว่าจะมีคนปฏิบัติธรรม จึงจะปรากฏให้เห็น   เหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไม่มีการบูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ  ตำนานบอกว่า ถ้าทั่วทุกหนทุกแห่งไม่มีผู้บูชาสักการะเลย พระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายจากมนุษยโลก เทวโลก และภพพญานาค จะเสด็จมาสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ทั้งหมด รวมกันเป็นรูปพระพุทธองค์ ทรงประดิษฐาน ณ โคนต้นพระมหาโพธิ์นั้น ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ แต่ไม่มีมนุษย์คนใดหรือสัตว์โลกตนใดเห็นพระองค์เลย

            เพราะฉะนั้น คำว่า “ธาตุอันตรธาน” ไม่ได้หมายถึงว่า ธาตุสูญสิ้นไปจากโลก แต่หมายถึงหายไปไม่ปรากฏให้เห็น  พระพุทธดำรัสที่ตรัสกับพระอานนท์คราวหนึ่งว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา  ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม”  ถ้าจะอธิบายในอีกลักษณะหนึ่งก็ได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญคุณความดี มีคุณธรรมประจำใจ ก็จะเห็นพระพุทธเจ้า  คำว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” มี ๒ นัย  

            นัยที่ ๑ หมายถึงว่า ขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่  คนที่อยู่ห่างไกลประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ได้ แต่ให้ผู้นั้นปฏิบัติธรรม ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พระพุทธเจ้าก็จะเปล่งรัศมีมี ๖ สีไปแสดงพระองค์ปรากฏต่อหน้าผู้นั้น  นี่คือนัยของคำว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

            นัยที่ ๒ หมายถึงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว(ปรินิพพาน=ตาย) ผู้ประสงค์จะเห็นพระพุทธเจ้า ขอให้อธิษฐานจิตบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา กล่าวคำอธิษฐานขอให้พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมา ณ ภาชนะหรือสถานที่เหมาะสมซึ่งจัดเตรียมเอาไว้  เมื่อทำความดีถึงขั้น พระบรมสารีริกธาตุก็จะเสด็จมาตามที่ปรารถนา

ลักษณะและสัณฐานของพระธาตุและพระบรมสรีริกธาตุ

            ลักษณะสี สัณฐาน และขนาดของพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุมีหลากหลาย  มีลักษณะเป็นมันเลื่อมสีต่าง ๆ มีสีทองอุไรบ้าง สีขาวใสดังแก้วผลึกบ้าง สีดอกพิกุลแห้งบ้าง มีสัณฐานต่าง ๆ เช่น กลม ยาวรี เสิ้ยว เป็นเหลี่ยม มีขนาดต่าง ๆ กัน เช่น ขนาดใหญ่เท่าเมล็ดถั่วหัก ขนาดกลางเท่าเมล็ดข้าวสารหัก ขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด  พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุมีลักษณะและสัณฐานหลากหลายตามที่กล่าในตำราโบราณ พอกล่าวไว้เป็นตัวอย่างดังนี้ 

            พระธาตุของพระสารีบุตร สัณฐานกลมเป็นมณฑล บ้างรีเป็นไข่จิ้งจก บ้างดังรูปบาตรคว่ำ บ้างพรรณขาวดังสีสังข์ สีพิกุลแห้ง สีหวายตะค้า

            พระธาตุพระโมคคัลลานะ สัณฐานกลมเป็นปริมณฑลอย่างหนึ่ง รีเป็นผลมะตูม และเมล็ดทางหลางก็มี และเมล็ดสวาก็มี เป็นสีดำ หรือขาว หรือเขียว หรือเหลือเหมือนหวายตะค้า ลายดังไข่นก หรือร้าวเป็นสายเลือด

            พระธาตุของพระอานนท์ สัณฐานดังใบบัวเผื่อน พรรณดังสีดอกพิกุล พรรณดำดังน้ำรัก หรือขาวสะอาดดังสีเงิน

            พระธาตุของพระอุบลวรรณาเถรี สัณฐานงอกดังกระดูกสันหลังงู มีรูทะลุกลาง พรรณเหลืองดังเกสรบัว

พระบรมสารีริกธาตุ(ของพระพุทธเจ้า)ขนาดใหญ่ ประมาณเท่าเมล็ดถั่วหัก จำนวน ๕ ทะนาน ทรงพระบวรสัณฐานเหมือนหนึ่งพรรณทองอุไร

พระบรมสารีริกธาตุ(ของพระพุทธเจ้า)ขนาดกลาง ประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก จำนวน ๕ ทะนาน ทรงพระบวรสัณฐานเหมือนหนึ่งพรรณแววแก้วผลึกอันเลื่อนลอย

            พระบรมสารีริกธาตุ(ของพระพุทธเจ้า)ขนาดเล็ก ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด จำนวน ๖ ทะนาน ทรงพระบวรสัณฐานดังพรรณดอกบุปผชาติพิกุลอดุลสีใส

            ความหลากหลายด้านลักษณะ สี สัณฐานของพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ อาจขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น สภาพทางกาย ลักษณะพิเศษทางจิตของพระอรหันต์หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ หรือปฏิกิริยาทางเคมีอย่างอื่น นอกจากนี้ น่าจะเกี่ยวเนื่องกับอายุของพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุแต่ละองค์ด้วย  ซึ่งบางองค์อาจมีอายุเป็นหมื่นชาติแสนชาติ  ในคัมภีร์เถรวาทกล่าวถึงพระนามของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ที่ปรินิพพานไปแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นยังคงสถิตอยู่ในโลก ไม่รวมพระธาต(หรือพระอรหันตธาตุ)ของพระสาวก สาวิกาซึ่งมีจำนวนมาก

พระบรมสารีริกธาตุ ๒ ประเภท


            ๑.  พระบรมสารีริกธาตุไม่แตกกระจาย  พระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แตกกระจายมี ๗ ส่วน คือ พระเขี้ยวแก้ว ๔ พระรากขวัญ ๒ และพระอุณหิสหรือส่วนพระนลาฏ ๑ คำว่า “ไม่แตกกระจาย” หมายถึงยังความเป็นรูปร่าง เป็นแท่ง หรือเป็นกลุ่มก้อนสมบูรณ์ ไม่มีส่วนไหนหักบิ่นไป กล่าวคือก่อนที่ร่างกายจะถูกเผา พระเขี้ยวแก้วเป็นต้นนี้มีรูปร่างอย่างใด หลังจากร่างถูกเผาแล้ว พระเขี้ยวแก้วนี้ก็ยังมีรูปร่างอย่างนั้น

            ๒.  พระบรมสารีริกธาตุแตกกระจาย   พระบรมสารีริกธาตุที่แตกกระจาย คือ ส่วนอื่นนอกเหนือจาก ๗ ส่วนที่กล่าวไว้ในในข้อ ๑ จะไม่เหลือส่วนที่เด่นชัด ขนาดเล็กสุดเท่าเมล็ดพรรณผักกาด ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหัก และขนาดใหญ่เท่าเมล็ดถั่วเหลือง คำว่า “แตกกระจาย” หมายถึง ไม่มีความเป็นรูปร่าง เป็นแท่ง หรือเป็นกลุ่มก้อนเหมือนเดิม  มีบางส่วนหักบิ่นไป กล่าวคือก่อนที่ร่างกายจะถูกเผา พระธาตุนี้มีรูปร่างสมบูรณ์ แต่หลังจากร่างถูกเผาแล้ว  ก็สูญเสียความสมบูรณ์ไป

พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุในพระพุทธศาสนา ความสืบเนื่องแห่งศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย


            พระบรมสารีริกธาตุที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธวงศ์ของฝ่ายเถรวาทมีทั้งแตกกระจายและไม่ได้แตกกระจาย  พระพุทธเจ้าที่มีพระบรมสารีริกธาตุไม่แตกกระจาย จะมีข้อความที่ระบุลักษณะของพระสถูปไว้ชัดเจน กล่าวคือ 
            พระทีปังกร มีพระสถูปสูง  ๓๖  โยชน์ 
            พระโกณฑัญญะ มีพระสถูป    ๗  โยชน์ 
            พระมงคล มีพระสถูปสูง   ๓๐  โยชน์ 
            พระสุมนะ มีพระสถูปสูง       ๔  โยชน์ 
            พระอโนมทัสสี มีพระสถูปสูง  ๒๕  โยชน์ 
            พระนารท มีพระสถูปสูง      ๔  โยชน์  
            พระปทุมุตตระ มีพระสถูปสูง  ๑๒  โยชน์ 
            พระสุชาตะ มีพระสถูปสูง       ๓  คาวุต  
            พระปิยทัสสี มีพระสถูปสูง    ๓  โยชน์ 
            พระธัมมทัสสี มีพระสถูปสูง    ๓  โยชน์ 
            พระสิทธัตถะ มีพระสถูปสูง    ๔  โยชน์  
            พระติสสะ มีพระสถูปสูง       ๓  โยชน์ 
            พระวิปัสสี มีพระสถูปสูง       ๗  โยชน์ 
            พระสิขี มีพระสถูปสูง     ๓  โยชน์ 
            พระกกุสันธะ มีพระสถูปสูง    ๓  คาวุต 
            พระกัสสปะ มีพระสถูปสูง       ๑  โยชน์

            ความจริง พระพุทธเจ้าทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีพระบรมสารีริกธาตุที่แตกกระจายไปยังนานาประเทศ แต่ไม่มีความข้อระบุถึง และข้อที่ว่า มีพระสถูปสูงเท่านั้นเท่านี้ คงหมายถึงว่า พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีสถูป ๗ องค์ และมีความสูงเท่ากันหมด เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไม่แตกกระจายทั้ง ๗ ประเภทมีพระธาตุเขี้ยวแก้วเป็นต้นนั้น  เนื่องจากมีพระบรมสารีริกธาตุไม่แตกกระจาย ประชาชนชาวโลกจึงมีโอกาสน้อยที่จะได้บุญอันเกิดจากการบูชาสักการะ ส่วนพระพุทธเจ้าที่มีพระบรมสารีริกธาตุแตกกระจาย คือ พระเรวตะ พระโสภิตะ พระปทุมุตตระ พระสุเมธะ พระอัตถทัสสี พระปุสสะ พระเวสสภู พระโกนาคมนะ และพระโคดม  พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเหล่านี้แตกกระจายแผ่ไปประดิษฐานในนานาประเทศ  นับว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก กรณีของพระโดคมพุทธเจ้ามีลักษณะพิเศษมากกว่าพระพุทธเจ้าองค์อื่น กล่าวคือ แม้ในคัมภีร์จะบอกว่า พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แตกกระจายไปในนานาประเทศ และมีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ตั้งแต่สมัยที่โทณพราหมณ์แจกจ่าย รวมทั้งสิ้น ๑๐ แห่ง คือ
            ๑.  กษัตริย์ลิจฉวี  ทรงสร้างที่เมืองเวสาลี
            ๒.  กษัตริย์ศากยะ  ทรงสร้างที่เมืองกบิลพัสดุ์
            ๓.  กษัตริย์ถูลิยะ   ทรงสร้างที่เมืองอัลลกัปปะ
            ๔.  กษัตริย์โกลิยะ  ทรงสร้างที่เมืองรามคาม
            ๕.  มหาพราหมณ์  สร้างที่เมืองเวฏฐทีปกะ
            ๖.   กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างที่เมืองปาวา
            ๗.  พระเจ้าอชาตศัตรู  ทรงสร้างที่เมืองราชคฤห์
            ๘.  มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างที่เมืองกุสินารา
            ๙.  กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร(อังคารสถูป)ที่เมืองปิปผลิวัน
           ๑๐. โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก, คำว่า “ตุมพะ” แปลว่า ทะนาน, บางทีเรียกว่าสถูปนี้ว่า “ตุมพสถูป”)

            ในขณะเดียวกัน ในคัมภีร์ก็มีการกล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แตกกระจาย ๗ ประเภทไว้ด้วย คือ 

            ๑. พระเขี้ยวแก้ว บนด้านขวา(บน+-ขวา)ประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
            ๒.  พระเขี้ยวแก้วบนด้านซ้าย (บน+ซ้าย)ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดหลิงกวง ประเทศจีน)
            ๓.  พระเขี้ยวแก้วล่างด้านขวา (ล่าง+ขวา)ประดิษฐาน ณ แคว้นกาลิงคะ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา)
            ๔.   พระเขี้ยวแก้วล่างด้านซ้าย (ล่าง+ซ้าย)ประดิษฐานอยู่ในภพของพญานาค
            ๕. พระรากขวัญ(ไหปลาร้า)ด้านซ้ายและพระอุณหิส(หน้าผาก) ประดิษฐอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก
            ๖.  พระรากขวัญด้านขวา ประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
            ๗.  พระทนต์ ๓๖ ซี่ พระโลมา(ขน)ทั่วพระวรกาย(๙๐,๐๐๐ เส้น) และพระนขา(เล็บ)ทั้ง ๒๐ เทพยดาในหมื่นจักรวาลนำไปบูชาในจักรวาลของตน

พระมหากัสสปะและพระเจ้าอชาตศัตรูรวมพระบรมสารีริกธาตุ

            เมื่อกษัตริย์/เจ้าผู้ครองนครได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในเจดีย์ ณ เมืองของตนแล้ว  พระมหากัสสปะเห็นว่าในอนาคต คนจะไม่เอาใจใส่บูชาสักการะ เป็นเหตุให้พระบรมสารีริกธาตุหายไป ไม่ปรากฏให้คนเห็น (คงไม่ได้หมายถึงว่าจะเกิดอันตรายแก่พระบรมสารีริกธาตุตามที่หมายความกัน) และจะทำให้ชาวโลกไม่ได้รับประโยชน์เกื้อกูล 

            พระมหากัสสปะได้ถวายคำแนะนำแด่พระเจ้าอชาตศัตรูให้ประกอบพิธี “ธาตุนิทาน” คือการฝังพระธาตุ ตำนานบอกว่า ใน พ.ศ. ๘ พระมหากัสสปะใช้อิทธิฤทธิ์อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองต่าง ๆ (ยกเว้นจากเมืองรามคาม)มายังเมืองกรุงราชคฤห์ โดยที่กษัตริย์/เจ้าครองนครไม่ทราบ 

            พระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีพระบัญชาให้ขุดหลุมลึก ๘๐ ศอก ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้(ทิศอาคเนย์)ของกรุงราชคฤห์ เอาแผ่นโลหะปูข้างล่าง สร้างเรือนขนาดเล็กด้วยทองแดง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในกล่องไม้จันทน์เหลืองซ้อนกัน ๘ ชั้นแล้วบรรจุลงในสถูปไม้จันทน์เหลืองซ้อนกัน ๘ ชั้น แล้วบรรจุลงในกล่องงา ๘ ชั้น บรรจุซ้อนลงในสถูปงา ๘ ชั้น บรรจุลงในกล่องแก้ว ๘ ชั้น บรรจุซ้อนลงในสถูปแก้ว ๘ บรรจุลงในกล่องทองคำ ๘ ชั้น บรรจุซ้อนลงในสถูปทองคำ ๘ ชั้น บรรจุลงในกล่องเงิน ๘ บรรจุซ้อนลงในสถูปเงิน ๘ ชั้น  บรรจุลงในกล่องแก้วมณี ๘ บรรซ้อนจุลงในสถูปแก้วมณี ๘ ชั้น  บรรจุลงในกล่องแก้วแดง ๘ บรรจุซ้อนลงในสถูปแก้วแดง ๘  ชั้น บรรจุลงในกล่องแก้วลาย ๘ ชั้น  บรรจุซ้อนลงในสถูปแก้วลาย ๘ ชั้น  บรรจุลงในกล่องแก้วผลึก ๘ ชั้น บรรจุซ้อนลงในสถูปแก้วผลึก ๘ ชั้น  สถูปแก้วผลึกนี้จะเป็นสถูปชั้นนอก  มีการจารึกข้อความไว้ว่า “ในข้างหน้าโน้น เมื่อใด ปิยทาสกุมารได้เสวยราชย์ เป็นพระเจ้าอโศกธรรมราชา เมื่อนั้น พระองค์จักกระทำพระบรมธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลาย”
 
พระโมคคัลลีบุตรติสสะและพระเจ้าอโศกมหาราชกระจายพระบรมสารีริกธาตุ

            ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๘  พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ ต่อมาได้พบสามเณรนิโครธ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงอุปถัมภ์พระโมคคัลลีบุตรติสสะให้ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ พระองค์เองเสด็จจาริกกราบไหว้บูชาสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา รับสั่งให้สร้างสถูป ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานไว้ในที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกพระราชอาณาจักร  สันนิษฐาน แม้ในคราวส่งสมณทูต ๙ สายออกไปประกาศพระพุทธศาสนายังที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกพระราชอาณาจักร ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปด้วยทุกสาย ทำให้พระบรมสารีริกธาตุกระจายไปในนานาประเทศตั้งแต่บัดนั้นมา  การส่งพระธรรมทูตออกไปประกาศพระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นเหตุทำให้พระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุกระจายไปสู่ประเทศต่าง ๆ

            สาเหตุประการต่อมาที่ทำให้พระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุกระจายไปสู่ประเทศต่าง ๆ คือ พวกพ่อค้านานาชาติ  ของฝากของขวัญ(เครื่องบรรณาการ)เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่นิยมไปให้กันในหมู่นักปกครองและพ่อค้าวาณิชในสมัยโบราณก็คือ (๑) คัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒)พระพุทธรูป/พระสถูปเจดีย์ขนาด (๓)พระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุ และ (๔)พระธาตุเขี้ยวแก้ว (ซึ่งถือเป็นของฝากชั้นเยี่ยม)
 
ความเป็นมาของพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุในประเทศไทย

            พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุได้รับอัญเชิญมาประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระโสณะและพระอุตตระเป็นต้นมา(อนุมานหรือคาดการณ์ตามหลักฐานในคัมภีร์) หรือถ้าว่าตามตำนานอุรังคธาตุพระมหากัสสปะและคณะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าอก(อุรังคธาตุ)มาบรรจุในเจดีย์พระธาตุพนมตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๕ ก่อนพระโสณะและพระอุตตระด้วยซ้ำไป  

            แม้แต่ความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค ชาวไทยและชาวลาวบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า เมื่อก่อนมีเจดีย์บนเกาะกลางน้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมากระแสน้ำเซาะเกาะกลางน้ำพังทลาย พื้นดินทรุดลง น้ำท่วมองค์เจดีย์ แต่สภาพของเจดีย์ยังดีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน พญานาคทำหน้าที่คุ้มครององค์เจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ พอถึงวันออกพรรษาทุกปี พญานาคก็จะพ่นไฟเพื่อเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ นี่คือตำนาน

            พุทธศาสนิกชนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่ทางเหนือถึงใต้ มีศรัทธาในเรื่องพระบรมสารีริกธาตุมาก จะเห็นว่า  ทางภาคเหนือก็มีพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน พระธาตุหลวงลำปาง จังหวัดลำปาง พระธาตุดอยกองมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น  ทั้งหมดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุทั้งสิ้น และมีตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุแต่ละแห่งที่มีเอกสารหลักฐานและเล่าสืบต่อมากันมา เป็นเรื่องที่น่าเลื่อมใสยิ่ง  เช่น พระธาตุดอยสุเทพมีตำนานว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมาฉันภัตตาหารที่ดอยอุจฉุปัพพตะ(ภูเขาอ้อย) ย่าแสะแม่ลูกได้ตักบาตร(ใส่บาตร)ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก  พระพุทธองค์จึงทรงมอบพระเกศาธาตุให้ และได้ประดิษฐาน(บรรจุ)ไว้ที่พระธาตุดอยสุเทพ  

            ทางภาคอีสานก็มีพระธาตุพนม พระธาตุเชิงชุม พระธาตุเรณูนคร พระธาตุศรีคูณ พระธาตุมหาชัย พระธาตุประสิทธิ์ พระธาตุท่าอุเทน เป็นต้น

            พระธาตุเก่าแก่และสำคัญในภาคใต้ของประเทศไทย เช่น พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งมีตำนานว่า เจ้าชายทันตกุมาและพระนางเหมมาลาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาขึ้นที่หาดทรายแก้ว สร้างเจดีย์เล็ก ๆ เป็นที่ประดิษฐานไว้เมื่อประมาณ พ.ศ.๘๕๔  ต่อมาประมาณ พ.ศ.๑๐๙๓ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชและทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์เป็นที่ประดิษฐานแทน พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างขึ้นประมาณระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๐–๑๔๐๐  ในภาคกลางของประเทศไทย พระปฐมเจดีย์ซึ่งเชื่อว่ามีการสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่พระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ มีการสร้างพระปฐมเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 

            ในสมัยสุโขทัย มีข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ (ประมาณ พ.ศ.๑๘๓๕)บอกว่า “พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อรูจาศรีไปนมัสการพระศรีรัตนธาตุ พระองค์ทรงอัญเชิญพระธาตุประดิษฐานไว้กลางเมืองให้คนบูชา ๖ วันก่อนที่จะประดิษฐานไว้กลางเมืองศรีสัชชนาลัยแล้วทรงสร้างเจดีย์ครอบไว้”  ในรัชสมัยพระยาลือไทย ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากลังกา ประดิษฐานไว้ในเมืองนครชุม เป็นต้น 

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๕๓–๒๓๖๐)  พระสังฆราชลังกาให้พระสงฆ์ลังกาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิ์จากลังกามาถวาย  ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๑–๒๔๕๓) อุปราชอังกฤษที่ครองอินเดียได้มอบพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศไทย พระปิยมหาราชได้รับสั่งให้พระยาสุขุมนัยวินิตไปอัญเชิญมาจากอินเดียมากรุงเทพฯ แล้วนำมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  ยิ่งในปัจจุบัน มีการอัญเชิญพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกาบ้าง อินเดียบ้าง จีนบ้าง หรือจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวบ้าง เป็นการถาวรบ้างอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีการอัญเชิญมา พุทธศาสนิกชนจากทุกทิศก็หลั่งไหลมากราบไหว้บูชา

            นอกจากนี้ ในเจดีย์สำคัญของวัดต่าง ๆ ก็มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ(พระอรหันตธาตุ)ไว้เช่นกัน  คนไทยโบราณนิยมตั้งชื่อว่าวัดขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า “ธาตุ” เช่น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์(กรุงเทพฯ) วัดมหาธาตุ (วัดมหาธาตุสุโขทัย, ชัยนาท, อยุธยา, เพชรบูรณ์, นครพนม, เพชรบุรี เป็นต้น) วัดพระธาตุพนม(นครพนม) วัดพระธาตุศรีจอมทอง วัดพระธาตุดอยสุเทพ(เชียงใหม่)  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(พิษณุโลก) วัดพระบรมธาตุไชยา(สุราษฎร์ธานี) วัดพระศรีมหาธาตุ(กรุงเทพฯ) เหตุผลในการตั้งวัดขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า “ธาตุ” ก็เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุนั่นเอง 

            ตำนานเกี่ยวกับพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุนี้ เป็นเรื่องเล่าสืบต่อมากันยาวนาน จากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนกลายเป็นเรื่องที่ฝังลึกอยู่ในความเชื่อของคนประจำถิ่นนั้น ๆ และความเชื่อนี้ก็ปรากฏออกมาในประเพณี/พิธีกรรมของคนในถิ่นนั้น ๆ มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เมื่อใดที่ประสงค์บุญประสงค์ความสำเร็จก็จะไปกราบไหว้บูชา ขอศีลขอพร วิถีชีวิตอย่างนี้มีมาอย่างต่อเนื่องจากยุคสู่ยุค
ความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุในสังคมไทย

 ๑.  การบรรจุพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์
 
            การบรรจุพระธาตุ(พระอรหันตธาตุ)/พระบรมสารีริกธาตุในประเทศไทย เป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ ทำให้เกิดศรัทธาอย่างต่อเนื่อง พุทธศาสนิกชนไทยนิยมบรรจุพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตนั้น นิยมสร้างสถูปเจดีย์เพื่อบรรจุพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุมาก เห็นได้จากมีเจดีย์เก่าแก่มากในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลพบุรี อยุธยา เป็นต้น ในปัจจุบัน มีการอัญเชิญพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุในสถูป(หรือสถูปเจดีย์)ซึ่งถือว่าเป็นสถูปที่สร้างขึ้นในยุคใหม่ภายในประเทศ  ๑๓๖ แห่ง  ที่สำคัญ เช่น เจดีย์พระบรมธาตุ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ  พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลและพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ พระเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ วัดญาณสังวราราม ชลบุรี  พระมหาเจดีย์มหารัชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล นครปฐม พระมหาธาตุเจดีย์มิ่งมงคล วัดวังยาว ประจำจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

            นอกจากนี้ ยังมีการอัญเชิญพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุ ณ เจดีย์ในต่างประเทศอีก ๓๐ แห่ง เช่น พระเจดีย์สมาคมประชาสังคมสงเคราะห์ ญี่ปุ่น พระเจดีย์วิปัสสนาเคหะ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย 
            พระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุที่ผู้ศรัทธาอัญเชิญไปประดิษฐานในเจดีย์ต่าง ๆ นี้  มีผู้นำมาถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ประทานต่อให้ผู้จิตศรัทธอัญเชิญไปประดิษฐานในที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นที่บูชาสักการะของพุทธศาสนิกชนและของศาสนิกชนอื่นผู้ศรัทธา หรือบางกรณีก็ไปอัญเชิญพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา มาประดิษฐานในประเทศไทย

            ๒.  ปาฏิหาริย์เกี่ยวกับพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุ
 
            เหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ใจและเป็นที่เกิดศรัทธาประการที่สองคือ “ปาฏิหาริย์”ของพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุในประวัติศาสตร์ไทย  ในตำนานเรื่องพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูนบอกว่า “ประมาณ พ.ศ.๑๕๙๐ พระเจ้าอาทิตย์ทรงเห็นปาฏิหาริย์พระธาตุเปล่งรัศมี ๖ สี  (ฉัพพัณณรังสี)จึงทรงให้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุ

            จารึกวัดช้องล้อม จังหวัดสุโขทัย(ประมาณ พ.ศ.๑๙๒๗)บอกว่า “สมเด็จพระมหาธรรมราชา  เมื่อทรงสร้างพระพุทธรูปศิลา ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระศรีรัตนธาตุกระทำปาฏิหาริย์ สว่างดังลวดเงินเห็นเป็นขนาดใหญ่เท่าเสื่อสาด”

           ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกในพงศาวดารว่า กษัตริย์หลายพระองค์ทรงเห็นปาฏิหาริย์ของพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุ  เช่น  พระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทอดเห็นพระเนตรปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุ จึงโปรดเกล้าฯให้ทหารปักหลักไว้ตรงที่พระบรมสารีริกธาตุปรากฏ แล้วทรงสถาปนาวัดมหาธาตุขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๑๗ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเห็นปาฏิหาริย์ถึง ๔ ครั้ง ดังบันทึกเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๗ ที่เมืองปาโมก ความตอนหนึ่งว่า “… พระบรมสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ โชติช่วงมาเท่าผลส้มเกลี้ยง มาแต่ทักษิณทิศ เวียนเป็นทักษิณาวรรตแล้วเสด็จไปอุดรทิศ …”   

            พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที ๖ ขณะทรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร เสด็จประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ดังบันทึกตอนหนึ่งว่า “… ได้เห็นองค์พระปฐมเจดีย์รัศมีสว่างพราวออกทั้งองค์ ดูประหนึ่งว่าองค์พระปฐมเจดีย์ด้านตะวันตกคือด้านที่เล็งตรงกับสนามจันทร์นั้นทาด้วยฟอสฟอรัส พราวเรือง ๆ …”  ครั้นเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วก็ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ที่องค์พระปฐมเจดีย์อีกใน พ.ศ.๒๔๕๗

            บุคคลทั่วไปในปัจจุบันจำนวนมาก ที่ศรัทธาเลื่อมใส รักษาศีลปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ได้เห็นปาฏิหาริย์แห่งพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุ บางคนมีห้องสำหรับสวดมนต์ไหว้พระประจำบ้าน มีแท่นเตรียมไว้เฉพาะสำหรับพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุเสด็จ

การอัญเชิญพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุ

            บุคคลผู้ศรัทธา ประสงค์จะให้พระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุเสด็จ ให้เตรียขันธ์เงินตั้งไว้ ณ ที่บูชาพระ  ปูผ้าขาวเหมือนเป็นอาสนะรองนั่ง  เมื่อจะอัญเชิญ สำรวมจิตรักษาศีลแผ่เมตตา นั่งลงตรงหน้าที่บูชา บริกรรม(กล่าวในใจ)คาถาดังนี้
            อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คะโตสมิ มะหันตา ภินนะมุคคา มัชฌิมา ภินนะตัณฑุลา ขุททะกา สาสะปะมัตตา เอวัง ธาตุโย สัพพัฏฐาเน อาคัจฉันตุ สีเส เม ปะตันตุ.

            ตั้งแต่นี้ไป ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต พระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วหัก ขนาดกลางมีลักษณะคล้ายข้าวสารหัก ขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายเมล็ดผักกาด พระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวมานี้มีประดิษฐานอยู่ในที่ทุกแห่ง ขออัญเชิญเสด็จมาประดิษฐาน ณ ศีรษะของข้าพเจ้า
            หรือจะบริกรรมย่อ ๆ ว่า 
         อิติปิโส  วิเสเสอิ     อิเสเส  พุทธะนาเมอิ
         อิเมนา  พุทธะตังโสอิ   อิโสตัง  พุทธะปิติอิ.

            ข้อสำคัญอย่างยิ่งคือ ผู้อัญเชิญจะต้องรักษาศีลปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สำรวมกาย วาจา ใจ มีเมตตาธรรมต่อสัตว์โลก โอบอ้อมอารี ไม่คิดพยาบาทอาฆาตใคร

อานิสงส์การบูชาสักการะพระธาตุ/พระบรมสารีริกธาตุ

            พระมหากัสสปะบูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
            ของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “ปทุมุตตระ”
 
            พระมหากัสสปะกล่าวถึงผลกรรมในอดีตชาติของตน     ดังปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทานตอนหนึ่งว่า  “ข้าพเจ้าครั้นสร้างอัคฆิยเจดีย์งดงาม สูง ๑๐๐ ศอก กว้าง ๑๕๐ ศอก ดังวิมานเสียดฟ้า สั่งสมบุญไว้แล้ว ทำจิตให้เลื่อมใสในห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ(ของพระปทุมุตตระ)นั้น สร้างกุศลเป็นอันมาก ระลึกถึงบุรพกรรม จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นไตรทิพย์  คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำเสร็จแล้ว”
 
            พระธาตุปูชกะบูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
            ของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “สิทธัตถะ”

            พระธาตุปูกชกะกล่าวถึงผลกรรมในอดีตชาติของตน     ดังปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทานตอนหนึ่งสรุปความได้ว่า “ข้าพเจ้าได้เก็บพระธาตุของพระพุทธเจ้า(พระสิทธัตถะ) ไว้บูชาตลอดว ๕ ปี เหมือนบำรุงพระองค์ผู้ทรงพระชนม์อยู่  ข้าพเจ้าได้บูชาพระธาตุไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบำรุงพระธาตุ  คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำเสร็จแล้ว”

            พระปัจจุปัฏฐานสัญญกะบูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
            ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี

            พระปัจจุปัฏฐานสัญญกะกล่าวถึงผลกรรมในอดีตชาติของตน     ดังปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทานตอนหนึ่งสรุปความได้ว่า “ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดยักษ์ ได้รับคำแนะนำให้บูชาพระธาตุของพระพุทธเจ้า(พระอัตถทัสสี) เมื่อได้ฟังดังนั้น จึงได้สร้างพระสถูปบรรจุพระธาตุ บำรุงพระสถูปอยู่ ๕ ปี ด้วยผลกรรมนั้น จึงได้รับสมบัติ ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว”

********

หนังสือประกอบการเรียบเรียง

พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๓.
พระมหาสมชาย  ธีรปภาโส(บุญเกลี้ยง).  ความเชื่อเรื่องพระบรมสารีริกธาตุในสังคมไทย.  กรุงเทพฯ: บริษัท ๒๑ เซ็นจูรี่ จำกัด, ๒๕๔๖.
            กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ. พระบรมสารีริกธาตุ. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), ๒๕๓๙.
            วิทยา ประทุมธารารัตน์ และคณะ. พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุอสีติมหาสาวกพระธาตุพระอรหันตสาวก. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
    ธารบัวแก้ว, ๒๕๔๖.
ทองดี หรรษคุณารมณ์. พระบรมสารีริกธาตุ. กรุงเทพฯ: บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์
   พริ้นท์ จำกัด, ๒๕๔๖.
ทองดี หรรษคุณารมณ์. พระอรหันตธาตุ. กรุงเทพฯ: บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, ๒๕๔๖.

********

(ที่มา: -)