บทความวิชาการ
สืบค้นตรรกวิทยาในคัมภีร์และวรรณกรรมพระพุทธศาสนา
04 มี.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
5347

ผู้แต่ง :: พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2548)

บทนำ

         พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ภายใต้ควงโพธิพฤกษ์ เขตตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้เสด็จจาริกไปทั่วทุกทิศ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์โลกเป็นเวลา ๔๕ พรรษา ประมวลธรรมวินัยที่ทรงสั่งสอนไว้ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หลักธรรมประการแรกที่ทรงพิจารณาก็คือ หลักปฏิจจสมุปบาทที่ว่าด้วยกฎแห่งเหตุผลทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม แต่ก็ไม่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทแก่ใครในชั้นตั้นนี้

        พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๑ คือ พราหมณกรณธรรมกถา ว่าด้วยธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พราหมณ์หุหุกชาติ ผู้ชอบตวาดผู้อื่นว่า “หึ หึ” แต่พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นการแสดงที่ไม่เป็นทางการ จึงไม่นิยมนับว่าเป็นปฐมเทศนา

        พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ คือ พระเทศนาธรรมจักรปวัตตนสูตร มีใจความสำคัญอยู่ ๒ ส่วน คือ (๑)กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค อันเป็นวิธีปฏิบัติที่สุดโต่ง ๒ ข้าง (๒)ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค อันเป็นอริยสัจจธรรมว่าด้วยความจริง ๔ ประการ พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์อันมีพระโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ถือเป็นปฐมเทศนาที่เป็นทางการ เพราะทรงแสดงหลังจากที่ตัดสินพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกแล้ว

        พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๓ คือ อนัตตลักขณสูตร ว่าด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน

        พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๔ คือ สามุกกังสิกธรรมเทศนาอริยสัจ มีใจความสำคัญอยู่ใน ๒ ขั้น คือ (๑)ขั้นปลูกศรัทธา เนื้อหาว่าด้วยเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์แห่งการออกจากกาม (๒)ขั้นนำเข้าสู่ความจริง เนื้อหาว่าด้วยอริยสัจ ๔ ประการดังกล่าวมาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ยสกุลบุตรเป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงแก่มารดาบิดาพร้อมด้วยภรรยาของเขา

        พระธรรเทศนากัณฑ์ที่ ๕ คือ อัตตคเวสนกถา ว่าด้วยการแสวงหาสิ่งที่อยู่ภายในตนเอง พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภัททวัคคีย์ ๓๐ คนเป็นครั้งแรก ในระหว่างที่เสด็จจากป่าอิสิปตนมฤคทายวันไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

        พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๖ คือ อาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยอายตนะภายในมีตาเป็นต้นและอายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้นเป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือราคะ โทสะ และโมหะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชฎิล ๓ พี่น้องเป็นครั้งแรก

        ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมอีกหลายกัณฑ์โปรดสัตว์โลกตลอดเวลาที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๔๕ พรรษา พระพุทธองค์ตรัสถึงตรรกวิทยาบ้าง แต่ไม่เคยแสดงทฤษฎีตรรกวิทยาโดยตรง ทฤษฎีที่ได้ชื่อว่า “ตรรกวิทยาเชิงพุทธ(Buddhist Logic)”เริ่มปรากฏเป็นระบบขึ้นในราว ค.ศ.๒๕๐-๓๒๐(พ.ศ.๗๙๓-๘๖๓) โดยท่านนาคารชุนผู้ประพันธ์วรรณกรรมชื่อว่า “ปรัชญามาธยมิกะ”  หลักการสำคัญที่บรรจุอยู่ในวรรณกรรมนี้ก็คือ หลักว่าด้วยทางสายกลาง ที่เรียกว่าทางสายกลาง เพราะมีนัย ๔ ประการ คือ

        ๑. เพราะตรงกันข้ามกับที่สุดโต่งด้านเดียว

        ๒. เพราะเว้นเสียซึ่งที่สุดโต่งด้านเดียว

        ๓. เพราะเป็นเอกภาพในพหุภาพ

        ๔. เพราะเป็นปรมัตถสัจจะ

        เนื่องจากเราไม่สามารถรับรู้ภาวะโดยอิสระจากอภาวะ  ถ้าเราพูดว่า โลกมีอยู่ หรือพูดว่า โลกไม่มีอยู่  ชื่อว่าเรากำลังยึคถือทรรศนะด้านเดียว  ทางสายกลางแตกต่างตรงกันข้ามกับที่สุดโต่งนี้โดยเว้นที่สุดโต่งทั้ง ๒ ด้าน คือ ภาวะและอภาวะ นี้คือนัยที่ ๑ แห่ง“ทางสายกลาง(มัชฌิมมรรค)”

        เมื่อปฏิเสธที่สุดโต่งทั้ง ๒ แล้ว ทางสายกลางก็เปิดเผยตัวเองออกมาโดยความกลมกลืนอย่างสนิทระหว่างภาวะและอภาวะ นั่นคือ มันอยู่เหนือที่สุดโต่งทั้ง ๒ คือภาวะและอภาวะที่ถูกรวมเข้าด้วยกัน  นี้คือนัยที่ ๒ แห่งทางสายกลาง (แต่ตรรกวิทยาเชิงพุทธปรากฏขึ้นอย่างเป็นระบบอย่างสมบูรณ์ในราวค.ศ. ๖๐๐-๗๐๐ โดยท่านทิคนาคะและธรรมกีรติ โดยก่อนหน้านี้ในช่วง ค.ศ. ๓๐๐-๕๐๐ ท่านอารยเทพ ท่านไมเตรยะ ท่านอสังคะและวสุพันธุ ได้สืบทอดทฤษฎีตรรกวิทยาเชิงพุทธเรื่อยมา    แต่เป็นที่แน่นอนว่า ตรรกวิทยาเชิงพุทธตามแนวของนักปราชญ์เหล่านี้ ต้องเป็นการประยุกต์ทฤษฎีตรรกวิทยาบริสุทธิ์ และประยุกต์พุทธปรัชญาแล้วจัดระบบกำหนดเป็นทฤษฎีตรรกวิทยาเชิงพุทธขึ้นมา ท่านทิคนาคะและธรรมกีรติได้สร้างตรรกบทขึ้นเป็นแบบอุปนัย(Induction) โดยกำหนดข้อความเป็นเทอมสรุป เทอมกลาง และเทอมหลัก เช่น

                        Sound  is  eternal (conclusion)

                                Because  it  is  incorporeal (minor premise)

                        That which is incorporeal is eternal

                        as intelligence.(major premise)

                       เสียงเป็นอมตะ

                       เพราะเสียงเป็นนามธรรม

                       สิ่งที่เป็นนามธรรม ย่อมเป็นอมตะ เช่น พุทธิปัญญา

        ในตัวอย่างนี้ เสียง(sound)เป็นเทอมสรุป(minor term) สิ่งอมตะ(eternal)เป็นเทอมหลัก(major term) และนามธรรม(incoporeal)เป็นเทอมกลาง(middle term)

        ตรรกบทที่สร้างขึ้นมานั้น มีทั้งตัวอย่างที่สมเหตุสมผลและไม่สมเหตุไม่สมผล ทั้งนี้เพื่อใช้เครื่องมือตรวจสอบความถูกผิดในกรณีที่มีการนำเสนอเหตุผลเกี่ยวปรากฏการณ์ เช่นกรณีตรรกบทที่ว่าด้วยเสียงดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่สมเหตุไม่สมผล เพราะเสียงเป็นสังขตธรรม มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา  แม้แต่พุทธิปัญญาเอง ถ้าเป็นตัวพุทธิปัญญาเอง เป็นนามธรรม ก็เป็นอมตะในฐานะที่เป็นพุทธิปัญญา แต่ถ้าเป็นของนาย ก นาย ข หรือนาย ค ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงได้ เราสามารถตัดสินว่าตรรกบทดังกล่าวไม่สมเหตุไม่สมผลโดยอาศัยหลักพุทธปรัชญาที่ว่าด้วยสังขตธรรม อสังขตธรรม และสามัญลักษณะ

 

ท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อตรรกวิทยา

 

        คัมภีร์พระไตรปิฎกบาลี แม้จะไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ว่าด้วยทฤษฎีตรรกวิทยาโดยตรง แต่ก็มีข้อความปรากฏในหลายเล่มที่กล่าวถึงตรรกวิทยาในส่วนที่เป็นบทบาทของนักตรรกวิทยาบ้าง แนวคิดของนักตรรกวิทยาบ้าง  หลักปฏิจจสมุปบาทที่ถือกันว่าเป็นคำสอนที่เป็นแกนกลางของพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนารูปแบบของตรรกวิทยาเชิงพุทธในยุคต่อมา เพราะได้กล่าวถึงความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันระหว่างสิ่งนี้กับสิ่งนั้นซึ่งมุ่งเน้นที่กระบวนการเกิดและดับไปแห่งทุกข์โศก นอกจากนี้ถ้าจะพิจารณาเนื้อหาแห่งคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้วจัดกรอบตามนัยแห่งเนื้อหาสาระออกมาในรูปตรรก จะพบทฤษฎีเชิงตรรกอยู่มากในคัมภีร์พระไตรปิฎก

        คำว่า “ตรรก, บาลี-ตักกะ” แปลว่า ตรึก ใคร่ครวญครุ่นคิด เป็นที่ใช้กันแพร่หลายอยู่ในสมัยก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าเองแม้จะไม่ได้ทรงสนับสนุนแนวคิดเชิงตรรก แต่ก็ทรงใช้คำนี้ในการอธิบายลักษณะธรรม และหลายครั้งที่ตรัสถึงคำนี้

        สมัยเมื่อแรกตรัสรู้ ทรงลังเลพระทัยที่จะสั่งสอนหมู่ประชา เพราะทรงพิจารณาเห็นความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “ตรรก” ในคำอธิบายลักษณะแห่งธรรมที่ตรัสรู้ด้วย ดังที่ปรากฏในคัมภีร์พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ และ พระสุตตันตปิฎกมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ตอนหนึ่งว่า

                อธิคโต  โข  มยายํ ธมฺโม  คมฺภีโร  ทุทฺทโส  ทุรนฺนุโพโธ

                สนฺโต  ปณีโต  อตกฺกาวจโร  นิปุโณ  ปณฺฑิตเวทนีโย...

                ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก

                สงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้

        นอกจากพระพุทธดำริพาดพึงถึงตรรกที่เกิดขึ้นในสมัยแรกตรัสรู้นี้แล้ว ในคัมภีร์พระสุตตันปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปรากฏบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับวัจฉโคตตปริพาชกเกี่ยวกับคติของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว เนื้อหาแห่งบทสนทนาก็เป็นไปในเชิงตรรก และพระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงลักษณะแห่งธรรมที่ตรัสรู้อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

        วัจฉโคตต์      :  ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้

                           จะเกิด ณ ที่ไหน

        พระพุทธเจ้า   :  วัจฉะ คำว่า “เกิด” ก็ใช้ไม่ได้

        วัจฉโคตต์      :  ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่เกิด

        พระพุทธเจ้า   :  คำว่า “ไม่เกิด” ก็ใช้ไม่ได้

        วัจฉโคตต์      :  ถ้าอย่างนั้น ก็ทั้งเกิดและไม่เกิด

        พระพุทธเจ้า   :  คำว่า “ทั้งเกิดและไม่เกิด” ก็ใช้ไม่ได้

        วัจฉโคตต์      :  ถ้าอย่างนั้น จะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่

        พระพุทธเจ้า   :  คำว่า “จะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่” ก็ใช้ไม่ได้

        เมื่อสนทนากันมาถึงตอนนี้ วัจฉโคตตปริพาชกกราบทูลว่า ตัวเขาเองรู้สึกงุนงง หลงไปหมดทุกอย่าง ความเลื่อมใสที่เริ่มจะมีบ้างแล้วในตอนเริ่มสนทนากันก็ได้หายไปหมด พระพุทธเจ้าจึงตรัสถึงสาเหตุที่ทำให้วัจฉโคตตปริพาชกงุนงนหลงไปว่า

                วัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะงุนงง ควรแล้วที่ท่านจะหลงไป เพราะว่า

                        ธรรมนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัย

                แห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้...

        พระพุทธดำรินี้แสดงให้เห็นว่า ตรรกวิทยาเป็นวิชาการให้เหตุผลแม้จะเป็นที่นิยมกันในครั้งพุทธกาล แต่ก็เป็นวิชาการที่ให้บรรลุจุดมุ่งหมายเพียงระดับโลกิยะเท่านั้น และไม่สามารถนำวิชาการนี้ไปแสวงหาความจริงระดับโลกุตตระได้ และเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า การให้เหตุผลเชิงตรรกวิทยานั้นเสี่ยงต่อการผิดพลาดมาก บางครั้งมีการให้เหตุผลเพื่อลวงคนอื่น นักตรรกวิทยายุคหลังจึงนำเสนอรูปแบบแห่งตรรกบททั้งในด้านที่สมเหตุสมผลและไม่สมเหตุไม่สมผล เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นหลักตัดสินความถูกผิดของเหตุผลที่เสนอออกมา และสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้ประกอบในการตัดสินก็คือสามัญญสำนึกและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน

        ในคัมภีร์สุตตนิบาต มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงคำว่า “ตักกะ-ตรรก” ดังนี้

                        สงฺขาย   วตฺถูนิ  ปมาย  พีชํ

                        สิเนหมสฺส  นานุปฺปเวจฺเฉ

                        ส  เว  มุนิ  ชาติขยนฺตทสฺสี

                        ตกฺกํ  ปหาย  น  อุเปติ  สงฺขํ.

        ในคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวอธิบายความคำว่า “ตักกะ”ในที่นี้ว่า “ที่เรียก ตักกะ เพราะวิปลาสจากเบื้องต้นและที่สุด เพราะอรรถว่าฟั่นเป็นเกลียว”

        คัมภีร์ขุททกนิกาย มหาวารวรรค กล่าวถึงคำว่า “ตักกะ” ๒ ลักษณะ คือ

        ๑. เป็นทิฏฐิที่คนกลุ่มหนึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อยกตนข่มท่าน

                ...ตกฺกํ  วิตกฺกํ  สงฺกปฺปํ  ตกฺกยิตฺวา  วิตกฺกยิตฺวา  สงฺกปฺปยิตฺวา

                ทิฏฺฐิคตานิ  ชเนนฺติ  สญฺชเนนฺติ  นิพฺพตฺเตนฺติ  อภินิพฺพตฺเตนฺติ

                ทิฏฺฐิคตานิ  ชเนตฺวา...อภินิพฺพตฺเตตฺวา  “มยฺหํ  สจฺจํ  ตุยฺหํ  มุสา”ติ

                เอวมาหํสุ...

                พวกคนที่ตรึกถึงตรรก ปักครุ่นคิดถึงวิตก ปักจิตถึงสังกัปแล้วก็สร้าง

                ทิฏฐิ(ทฤษฎี)ขึ้นมา แล้วก็กล่าวอย่างนี้ว่า “ของผมจริง ของท่าน

                เท็จ”…

        ๒. เป็นประเภทแห่งความครุ่นคิดทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ๙ ประการ คือ

                ๒.๑ กามวิตก         ความครุ่นคิดถึงกาม

                ๒.๒ พยาบาทวิตก    ความครุ่นคิดพยาบาท

                ๒.๓ วิหึสาวิตก       ความครุ่นคิดเบียดเบียน

                ๒.๔ ญาติวิตก                ความครุ่นคิดถึงญาติ

                ๒.๕ ชนปทวิตก       ความครุ่นเรื่องชนบท

                ๒.๖ อมรวิตก         ความครุ่นคิดถึงความไม่ตาย

                ๒.๗ ปรานุทยตาปฏิสัญญุตตวิตก

                      ความครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะอนุเคราะห์ผู้อื่น

                ๒.๘ ลาภสกฺการสิโลกปฏิสัญญุตตวิตก

                      ความครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องลาภ สักการะ และชื่อเสียง

                ๒.๙ อนวัญญตัตติปฏิสัญญุตตวิตก

                      ความครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะไม่เห็นตาม ?

                ตกฺกาติ  นว  วิตกฺกา กามวิตกฺโก พฺยาปาทวิตกฺโก  วิหึสาวิตกฺโก

                ...อนวญฺญตฺติปฏิสญฺญุตฺโต  วิตกฺโก  อิเม  วุจฺจนฺติ  น  วิตกฺกา

        ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีเรื่องที่แสดงถึงความผิดพลาดอันเกิดจากการใช้หลักตรรกวิทยาคาดคะเนสถานการณ์ เรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พ่อค้าเกวียน ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีบัณฑิตเป็นหัวหน้า อีกกลุ่มหนึ่งมีนักตรรกวิทยาเป็นหัวหน้า ออกเดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง แบกหามสัมภาระมีข้าวและน้ำเป็นต้นเดินทางไกลกันดาร ขณะที่กำลังเหน็ดเหนื่อยเพราะแบกหาบน้ำและสัมภาระอยู่นั้น มียักษ์ตนหนึ่งแปลงกายเป็นมนุษย์เดินสวนทางมา บันดาลให้ตัวเปียกชุ่มด้วยน้ำ พลางกล่าวว่า “พวกท่านจะแบกน้ำไปทำไม ข้างหน้าโน้นเพิ่งมีฝนตกหนัก มีน้ำเจิ่งนองเต็มไปหมด ตัวข้าเองเปียกปอนด้วยน้ำ พวกท่านไม่เห็นหรือ” ยักษ์ตนนั้นกล่าวคำนี้แก่พ่อค้าเกวียนทั้ง ๒ กลุ่มในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่เมื่อพ่อค้าเกวียนทั้ง ๒ กลุ่มได้ฟังคำของยักษ์นั้นแล้ว ปฏิบัติต่างกัน

        ในคัมภีร์อรรถกถาชาดก กล่าวถึงพวกพ่อค้ากลุ่มที่มีนักตรรกวิทยาเป็นหัวหน้า เชื่อคำของยักษ์ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์นั้น เพราะเห็นหลักฐานที่ชัดเจนคือ ร่างกายของยักษ์นั้นเปียกปอนด้วยน้ำ จึงใช้หลักตรรกวิทยาคาดคะเนเอา คนกลุ่มนี้คงจะวิเคราะห์แล้วคาดคะเนเอาตามหลักการที่ว่า “คุณสมบัติอย่างหนึ่งของน้ำคือทำให้เปียกชุ่ม เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเปียกชุ่ม ย่อมมีน้ำ” ดังเช่นตรรกบทที่ว่า

                                                ภูเขาลูกนั้นมีไฟ

                        เพราะมันมีควัน

                        ทุกสิ่งที่มีควัน ย่อมมีไฟ เช่น ห้องครัว

                        และทุกสิ่งที่ไม่มีไฟ ย่อมไม่มีควัน เช่น ทะเลสาบ

                        This hill is fiery

                        Because it has smoke

                        All that has smoke is fiery like a kitchen,

                        and whatever is not fiery has no smoke,

                        like a lake.

                        (ดู A History of Indian Logic;

                             Satish Chandra Vidyabhusana, p.290)

        เมื่อเชื่อคำของยักษ์ พ่อค้าเกวียนกลุ่มนี้จึงทิ้งกระบอกน้ำทั้งหมด เพราะหวังจะไปเอาน้ำบ่อหน้า คิดว่าเป็นความเหนื่อยเปล่าที่จะหอบหิ้วเอาน้ำติดตัวไป เมื่อเดินทางต่อไปก็พบความจริงว่า ไม่มีฝนตก ไม่มีน้ำอย่างที่ยักษ์บอกกล่าว เมื่อไม่มีน้ำดื่ม ทั้งหมดจึงเหน็ดเหนื่อยและล้มตายในที่สุด กลายเป็นเหยื่อของยักษ์ตนนั้น

        ส่วนพ่อค้าเกวียนกลุ่มที่มีบัณฑิตเป็นหัวหน้า ไม่เชื่อคำของยักษ์นั้น เพราะพิจารณาเห็นความผิดสังเกตอยู่ ๒ ประการ คือ (๑)ถ้าหนทางข้างหน้ามีฝนตกจริง ท้องฟ้าจะต้องมีก้อนเมฆอยู่บ้าง (๒)ร่างกายของยักษ์นั้นเปียกชุ่มด้วยน้ำก็จริง แต่ผมของยักษ์ไม่เปียกเลย ถ้ามีฝนตกจริง ทั่วทุกส่วนของร่างกายต้องเปียกชุ่มด้วยน้ำ  บัณฑิตนั้นจึงสั่งให้ผู้ติดตามแบกหามน้ำนั้นต่อไป โดยกล่าวว่า “พวกเราจะทิ้งน้ำในที่ที่พวกเราเห็นน้ำแล้วเท่านั้น”   ในคัมภีร์ขุททกนิกาย ชาดกนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสรุปทรรศนะและปฏิปทาของคน ๒ กลุ่มไว้ดังนี้

                อปณฺณกํ  ฐานเมเก           ทุติยํ  อาหุ  ตกฺกิกา

                เอตทญฺญาย  เมธาวี          ตํ  คเณฺห  ยทปณฺณกํ

                บัณฑิตบางพวกกล่าวฐานะที่ไม่ผิด ส่วนนักตรรกทั้งหลาย

                กล่าวฐานะที่ ๒ (ฐานะที่ผิด)  เมธีชนทราบข้อนั้นแล้ว พึง

                ถือเอาฐานะที่ไม่ผิดไว้

 

ฐานะและบทบาทของนักตรรกวิทยา

 

        พอจะกล่าวได้ในระดับหนึ่งว่า นักตรรกวิทยาในสมัยก่อนและสมัยพุทธกาลนั้น มีสถานะเป็นนักบวชที่เรียกกันว่า “ปริพาชก”บ้าง เช่น วัจฉโคตตปริพาชก “เดียรถีย์”บ้าง เช่นที่ปรากฏในอรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน ตอนหนึ่งความว่า

                ยถา  เตน  ขชฺชูปนเกน  สุริยุคฺคมนโต  ปุเรเยว  โอภาสิตํ  โหติ,

                เอวํ  ตกฺเกตฺวา  วิตกฺเกตฺวา  ปริกปฺปนมตฺเตน  ทิฏฺฐีนํ  คหณโต

                “ตกฺกิกา”ติ ลทฺธนาเมหิ  ติตฺถิเยหิ  โอภาสิตํ อตฺตโน สมยเตเชน

                ทีเปตฺวา  อธิฏฺฐิตํ  ตาว, ยาว สมฺมาสมฺพุทฺธา โลเก นุปฺปชฺชนฺติ,...

                ก่อนแต่พระอาทิตย์จะขึ้นมา หิ่งห้อยนั้นย่อมส่องแสงสว่าง ฉันใด

                (ลัทธิ/คำสอน)เป็นสิ่งที่พวกเดียรถีย์ผู้ได้นามว่า “ตักกิกะ”

                เพราะยึดเอาทิฏฐิ(ความเห็น)ด้วยเพียงแต่ตรึกครุ่นคิดแล้วสรุป

                ให้รุ่งเรืองแล้ว คือเป็นสิ่งที่พวกเดียรถีย์แสดงด้วยเดช

                แห่งลัทธิของตนแล้วให้ดำรงมั่นไว้ได้

                ฉันนั้น  ตราบเท่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่ได้เสด็จอุบัติ...

         นอกจากนี้ นักตรรกวิทยาบางคนเป็นพ่อค้า เป็นหัวหน้ากลุ่มพ่อค้าเกวียนที่เป็นคนพาล มักจะพากลุ่มคนที่ติดตามตนประสบกับปัญหาอุปสรรคเสมอ เพราะใช้หลักตรรกวิทยา ดังเช่นที่ปรากฏในข้อความตอนต้น

        มีคำอยู่ ๓ คำที่มักจะปรากฏด้วยกันเสมอ และเป็นคำที่เกี่ยวกับตรรกวิทยา คือ (๑)ตักกี (๒)ลาภี และ(๓)วิมังสี

        คำว่า “ตักกี” เป็นคุณนาม แสดงลักษณะของบุคคลผู้มักตรึกครุ่นคิด ชอบวิพากษ์วิจารณ์โลกและปรากฏการณ์อยู่เสมอ ในคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระอรรถกถาจารย์อธิบายลักษณะแห่งนักตรรกว่า

                ตกฺกยตีติ ตกฺกี, ตกฺโก วา อสฺส อตฺถีติ ตกฺกี,

                ตกฺเกตฺวา วิตกฺเกตฺวา ทิฏฺฐิคาหิโน เอตํ อธิวจนํ

                ผู้ชอบตรึก ชื่อว่า ตักกี

                อีกอย่างหนึ่ง ผู้นั้นมีความตรึก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ตักกี

        ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ให้นิยามไว้หลายนัย คำว่า “ตักกี” นี้เป็นชื่อเรียกบุคคลผู้ชอบตรึก วิพากษ์วิจารณ์ หยั่งปรากฏการณ์แล้วยึดเอาทิฏฐิ(ความเห็น)ตามที่ตนสรุป เป็นพวกสัสสตวาทะ บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยงก็มี เป็นพวกเอกัจจสัสสตวาทะ เอกัจจอสัสสตวาทะ บัญญัติอัตตาและโลกว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยงก็มี  เป็นพวกอันตานันติกะ บัญญัติว่าโลกมีที่สุดไม่มีที่สุดก็มี เป็นพวกอธิจจสมุปปันนิกะ บัญญัติอัตตาและโลกว่าเกิดขึ้นลอยๆโดยไม่มีสาเหตุก็มี

        ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ บุคคลกลุ่มนี้จะครุ่นคิดเรื่องอรูปฌานอยู่ตลอดเวลา และถือว่า อรูปฌานเป็นเหตุที่จะทำให้ตนไปเกิดอรูปภพ  แม้ในเวลาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ตั้งความหวังที่จะไปเกิดอรูปภพนั้น ในที่นี้จะแบ่งลาภีบุคคลเป็น ๒ กลุ่ม คือ (๑)กลุ่มที่ได้รูปฌาน ไม่มีความสงสัยในรูปภพ แต่ยังมีความสงสัยในอรูปภพอยู่ (๒)กลุ่มที่ได้สมาบัติ ๘(คือได้ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน) ไม่มีความสงสัยในอรูปภพ แต่มีความสงสัยในพระนิพพาน  ดังข้ออรรถกถามัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ความว่า

                ลาภี  นาม  รูปาวจรชฺฌานลาภี.  ตสฺส  รูปาวจเร  กงฺขา  นตฺถิ,

                อรูปาวจรโลเก   อตฺถิ.  โส  “อหํ  อารุปฺปา  อตฺถีติ  วทนฺตานํปิ

                นตฺถีติ   วทนฺตานํปิ   สุณามิ.  อตฺถิ   นตฺถีติ  ปน  น  ชานามิ.

                จตุตฺถชฺฌานํ ปทฏฺฐานํ กตฺวา อรูปาวจรชฺฌานํ นิพฺพตฺเตสฺสามิ.

                สเจ   อรุปฺปา   อตฺถิ,   ตตฺถ   นิพฺพตฺเตสฺสามิ,   สเจ   นตฺถิ,

                รูปาวจรพฺรหฺมโลเก  นิพฺพตฺติสฺสามิ.  เอวํ  เม อปณฺณโก ธมฺโม

                อปณฺณโกว   อวิรุทฺโธว   ภวิสฺสตีติ   ตถา  ปฏิปชฺชติ.

                ที่ชื่อว่า ลาภี ได้แก่บุคคลผู้ได้รูปาวจรฌาน

                เขาไม่มีความสงสัยในรูปาวจรโลก แต่มีความสงสัยในอรูปาวจรโลก

                เขาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นด้วยคิดว่า เราได้ยินคนทั้งหลายกล่าวว่า

                อรูปโลกมีอยู่ ดังนี้ก็มี  กล่าวว่า  อรูปโลกไม่มีอยู่ ดังนี้ก็มี

                แต่เราเองไม่รู้ว่า  อรูปโลกมีอยู่หรือไม่มีอยู่

                เรากระทำฌานที่ ๔ ให้เป็นปทัฏฐานแล้ว จักทำอรูปาวจรฌานให้เกิด

                ถ้าอรูปโลกมีอยู่ เราก็จักบังเกิดในอรูปโลกนั้น

                ถ้าไม่มี เราก็จักบังเกิดในรูปาวจรพรหมโลก

                ด้วยอาการอย่างนี้ ธรรมของเราก็จักไม่มีผิด ไม่เสียหาย

                ลาภี  นาม  อฏฺฐสมาปตฺติลาภี.  ตสฺส  อารุปฺเป  กงฺขา   นตฺถิ,

                นิพฺพาเน  อตฺถิ.  โส   “อหํ  นิโรโธ อตฺถีติปิ  นตฺถีติปิ  สุณามิ,

                สยํ  น  ชานามิ,  สมาปตฺติปาทกํ กตฺวา  วิปสฺสนํ วฑฺเฒสฺสามิ,

                สเจ   นิโรโธ   ภวิสฺสติ,   อรหตฺตํ   ปตฺวา   ปรินิพฺพายิสฺสามิ,

                โน  เจ  ภวิสฺสติ,  อารุปฺเป  นิพฺพตฺติสฺสามี”ติ  เอวํ  ปฏิปชฺชติ

                ที่ชื่อว่า ลาภี ได้แก่ ผู้ได้สมาบัติ ๘ ไม่มีความสงสัยในอรูปภพ

                แต่มีความสงสัยในพระนิพพาน  เขาปฏิบัติ(ธรรม)ด้วยคิดอย่างนี้ว่า

                “เราได้ฟังว่า นิโรธ(ความดับ)มีอยู่ ดังนี้ก็มี นิโรธไม่มีอยู่ ดังนี้ก็มี

                แต่เราไม่รู้ด้วยตัวเอง เรากระทำสมาบัติให้ป็นพื้นฐาน ให้วิปัสสนา

                เกิดขึ้น ถ้านิโรธมี ก็จักบรรลุอรหัตตผล ปรินิพพาน ถ้านิโรธไม่มี

                ก็จักไปบังเกิดในอรูปภพ”

        ตักกีบุคคลก็แบ่งเป็น ๒ กลุ่มเช่นเดียวกัน คือ (๑)กลุ่มที่ไม่ได้ฌาน ไม่มีความสงสัยในรูปภพ แต่มีความสงสัยในอรูปภพ (๒)กลุ่มที่ไม่ได้สมาบัติแม้แต่อย่างเดียว ไม่มีความสงสัยในอรูปภพ แต่มีความสงสัยในภวนิโรธ(ความดับแห่งภพ) ดังข้อคัมภีร์อรรถกถามัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ความว่า

                ตกฺกี  ปน  อปฺปฏิลทฺธชฺฌาโน,  ตสฺสาปิ  รูปชฺฌาเน  กงฺขา  นตฺถิ,

                อรูปโลเก   ปน  อตฺถิ.   โส  “อหํ  อารุปฺปา  อตฺถีติ   วทนฺตานํปิ

                นตฺถีติ   วทนฺตานํปิ   สุณามิ,   อตฺถิ   นตฺถีติ  ปน  น   ชานามิ,

                กสิณปริกมฺมํ กตฺวา จตุตฺถชฺฌานํ นิพฺพตฺเตตฺวา ตํ ปทฏฺฐานํ กตฺวา

                อรูปาวจรชฺฌานานิ นิพฺพตฺเตสฺสามิ, สเจ อรุปฺปา อตฺถิ, ตตฺถ....

                ตักกีบุคคลที่ไม่ได้ฌาน ไม่มีความสงสัยในรูปฌาน แต่มีความสงสัย

                ในอรูปโลก  เขาปฏิบัติธรรมด้วยคิดอย่างนี้ว่า “เราฟังคนทั้งหลาย

                พูดว่า อรูปโลกมีอยู่ ดังนี้บ้าง อรูปโลกไม่มีอยู่ ดังนี้บ้าง แต่เราไม่รู้ว่า

                อรูปโลกมีอยู่ หรือไม่มีอยู่ เรากระทำการบริกรรมกสิณ ให้ฌานที่ ๔

                เกิดขึ้น กระทำฌานที่ ๔ นั้นให้เป็นพื้นฐาน ให้อรูปาวจารฌานเกิด

                ถ้าอรูปโลกมีอยู่ เราก็จะไปเกิดในอรูปโลกนั้น...

                ตกฺกี  ปน  เอกสมาปตฺติยาปิ  น  ลาภี, 

                อารุปฺเป  ปนสฺส  กงฺขา นตฺถิ,

                ภวนิโรเธ  อตฺถิ,  โส  “อหํ นิโรโธ อตฺถีติปิ นตฺถีติปิ  สุณามิ,  สยํ  น

                ชานามิ,  กสิณปริกมฺมํ  กตฺวา  อฏฺฐสมาปตฺติโย  นิพฺพตฺเตตฺวา

                สมาปตฺติปทฏฺฐานํ  วิปสฺสนํ  วฑฺเฒสฺสามิ,  สเจ  นิโรโธ  ภวิสฺสติ,

                อรหตฺตํ  ปตฺวา  ปรินิพฺพายิสฺสามิ,  โน เจ  ภวิสฺสติ,  อารุปฺเป

                นิพฺพตฺติสฺสามี”ติ  เอวํ  ปฏิปชฺชติ

                ตักกีบุคคลแม้ไม่ได้สมาบัติอย่างหนึ่งก็ไม่มีความสงสัยในอรูปภพ

                แต่มีความสงสัยในภวนิโรธ(ความดับแห่งภพ) เขาปฏิบัติธรรมด้วยคิด

                อย่างนี้ว่า “เราได้ฟังว่า นิโรธมีอยู่ ดังนี้บ้าง นิโรธไม่มีอยู่ ดังนี้บ้าง

                แต่เราไม่รู้ด้วยตัวเอง เรากระทำกสิณบริกรรม ให้สมาบัติ ๘ เกิด

                เจริญวิปัสสนามีสมาบัติเป็นพื้นฐาน ถ้านิโรธมี จักบรรลุอรหัตตผล

                ปรินิพพาน ถ้านิโรธไม่มี เราก็จักไปเกิดในอรูปภพ”

        นอกจากคำว่า “ตักกี” ที่ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา ยังมีคำว่า “ตักกิกะ” มีความหมายเหมือนกับตักกี ดังที่ปรากฏในคัมภีร์ขุททกนิกาย ชาดก และคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรคว่า

                ตกฺเกน วทนฺตีติ   ตกฺกิกา.  เต  หิ  ทิฏฺฐิคติกา  สภาวปฏิเวธปญฺญาย

                อภาวา เกวลํ  ตกฺเกน วตฺตนฺติ. เยปิ จ ฌานลาภิโน

                อภิญฺญาลาภิโน วา ทิฏฺฐึ คณฺหนฺติ,

                เตปิ ตกฺเกตฺวา คหณโต ตกฺกิกา เอว.

                คนเหล่าใดย่อมพูดด้วยตรรก เพราะเหตุนั้น คนเหล่านั้นชื่อว่า ตักกิกะ

                ก็คนเหล่านั้น ยึดมั่นอยู่ด้วยทิฏฐิ ดำเนินชีวิตด้วยตรรกอย่างเดียว

                เพราะไม่มีปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาวะได้

                อนึ่ง คนเหล่าใดผู้ได้ฌานหรือได้อภิญญา ยึดมั่นทิฏฐิ แม้คนเหล่านั้น

                ก็ชื่อว่า ตักกิกะเหมือนกัน เพราะตรึกวิจารณ์แล้วยึดถือ

        พวกตักกิกะคือกลุ่มบุคคลที่ชอบตรึกวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ แต่ทิฏฐิหรือความเห็นของพวกตักกิกะมักจะเป็นสิ่งที่ชั่ว วิปริต และเอียงไปข้างมิจฉาทิฏฐิ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน

                ตกฺกิกา  หิ  อยาถาวลทฺธิกตาย  ทุทฺทิฏฺฐี 

                มิจฺฉาภินิวิฏฺฐทิฏฺฐิกา วิปรีตทสฺสนา

                ตํ  ทิฏฺฐึ  อนิสฺสชฺชิตฺวา  สํสารทุกฺขโต  น  กทาจิปิ  มุจฺจนฺติ

                ก็พวกตักกิกะ ชื่อว่ามีทิฏฐิชั่ว มีทิฏฐิที่เอียงไปข้างมิจฉาทิฏฐิ

                มีทรรศนะวิปริต เพราะมีลัทธิไม่ตรงตามความจริง ไม่สละทิฏฐินั้น

                จึงไม่พ้นจากทุกข์ในสงสารแม้ในกาลไหน ๆ 

        พวก “ตักกี” และ “ตักกิกะ” เป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในการให้เหตุผล พอสันนิษฐานได้ในระดับหนึ่งว่า คนกลุ่มนี้เป็นศาสนิกของพระพุทธศาสนาบ้าง เป็นศาสนิกของเชนบ้าง เป็นศาสนิกของพราหมณ์บ้าง บางพวกก็เป็นคนกลุ่มคนที่แยกตัวจากศาสนิกเหล่านั้น แล้วตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่ บางพวกก็ไม่ใช่นักตรรกวิทยาตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่จะมีลักษณะเหมือนพวกโซฟิสต์(Sophist)ซึ่งเป็นพวกที่ชอบพูดแบบเล่นสำนวนโวหาร พูดตลบแตลง

        ต่อไปมาพิจารณาคำว่า “วิมังสี” คำนี้เป็นคุณนามแสดงลักษณะของบุคคลผู้มักจะหยั่งดูปรากฏการณ์ต่าง ๆ คนกลุ่มนี้ชอบที่จะวิเคราะห์วิจารณ์ความเป็นไปของโลกอละชีวิตที่ไม่สามารถประจักษ์ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ทำตัวเป็นผู้รอบรู้ทุกอย่าง เมื่อวิเคราะห์แล้วก็สรุปเอาเป็นทิฏฐิ(ทฤษฎี) ยึดมั่นอยู่ในทิฏฐินั้น จัดเป็นพวกทิฏฐุปาทานอีกพวกหนึ่ง ดังข้อความในคัมภีร์อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรคว่า

                วีมํสาย  สมนฺนาคโตติ  วีมํสี.

                วีมํสา  นาม  ตุลนา  รุจฺจนา  ขมนา.

                ยถา  หิ  ปุริโส  ยฏฺฐิยา  อุทกํ  วีมํสิตฺวา  วีมํสิตฺวา  โอตรติ,

                เอวเมว  โย  ตุลยิตฺวา  รุจฺจิตฺวา  ขมาเปตฺวา  ทิฏฺฐึ  คณฺหาติ,

                โส   “วีมํสี”ติ  เวทิตพฺโพ.

                บุคคลผู้ประกอบด้วยการหยั่งดูหรือการไตร่ตรองดู ชื่อว่า วีมังสี

                ที่ชื่อว่า วีมังสา ได้แก่ การหยั่งดู ความพอใจ ความเห็นชอบ

                เปรียบเหมือนบุรุษเอาไม้เท้าหยั่งดู(ความลึกของ)น้ำแล้วจึงก้าวลงไป

                ฉันใด วีมังสีบุคคลก็ฉันนั้น หยั่งดู พอใจ เห็นชอบแล้ว

                จึงยึดเอาความเห็นนั้น

 

 

ประเภทของนักตรรกวิทยา   

 

        ในคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรคกล่าวถึงนักตรรกมี ๔ ประเภท คือ

        ๑. อนุสสติกะ ได้แก่ บุคคลที่พอได้ฟังคำกล่าวว่า “สัตว์ตายแล้วเกิด โลกหน้ามีจริง นรกสวรรค์มีจริง” หรือพอได้ฟังคำกล่าวเป็นต้นว่า “พระเวสสันดรในชาติก่อนนั้น ก็คือพระผู้มีพระภาคในกาลบัดนี้” ก็ตรึกวิจารณ์ยึดเอาความเห็นว่า “อัตตาเที่ยง”

        ๒. ชาติสสระ ได้แก่ บุคคลที่พอระลึกชาติได้ ๒-๓ ชาติ ก็ตรึกวิจารณ์ไปว่า “เรานั่นเองได้มีแล้วในภพชื่อโน้นในกาลก่อน เพราะฉะนั้น อัตตาจึงเที่ยง”

        ๓. ลาภี ได้แก่ บุคคลที่ได้รูปาวจรฌาน เสวยสุขอยู่เป็นนิตย์ จึงตรึกวิจารณ์ว่า “ในบัดนี้ อัตตาของเราเป็นสุข ฉันใด แม้ในอดีต อัตตาก็ได้มีแล้ว ฉันนั้น แม้ในอนาคต อัตตาก็จักเป็นอย่างนี้”

        ๔. สุทธตักกิกะ ได้แก่ บุคคลที่ยึดถือด้วยเพียงแต่ตรึกวิจารณ์ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี”

         ในคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คำว่า“ลาภี” และ “ตักกี” มักจะปรากฏอยู่ร่วมกัน คำทั้ง ๒ นี้เป็นคำเรียกบุคคลกลุ่มเดียวกัน แต่อยู่ในระดับต่างกัน พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า “ลาภีบุคคลมี ๔ ประเภท อันเตวาสิก(ศิษย์)ของลาภีบุคคลก็มี ๔ ประเภท ตักกิกบุคคล(หรือตักกี)มี ๔ ประเภท อันเตวาสกของตักกิกบุคคลก็มี ๔ ประเภท รวมเป็น ๑๖ ประเภท”

        ถามว่า “เพราะเหตุไร พระอรรถกถาจารย์จึงนิยมจัดบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่ม ?”

        วิเคราะห์ดูจากข้อความทั้งในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาแล้ว น่าจะเป็นเพราะว่า คนพวกนี้ค่อนข้างจะยึดถือทิฏฐิของตนอย่างสุดโต่ง เรื่องใดก็ตามที่ตัวเองตรึกวิจารณ์แล้วสรุปลงเป็นทิฏฐิแล้ว จะไม่ยอมละเลิกง่าย ๆ แม้จะมีใครมากล่าวหักล้างก็ไม่ยอมเชื่อ เมื่อต่างคนต่างยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิอย่างนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องมีการแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า แม้แต่ศิษย์กับอาจารย์ก็ยังแบ่งกลุ่มกันอยู่

        ลาภีบุคคลเป็น ๑ ใน ๔ ประเภทของตักกีบุคคล นอกจากนี้ ทิฏฐิของตักกีกับลาภีก็ต่างกันเล็กน้อย คือ พวกลาภียึดกสิณรูปว่า “เป็นอัตตา” นอกจากนี้ยังบัญญัติอรูปธรรมทั้งหมดยกเว้นสัญญาขันธ์ว่า “เป็นอัตตา” ส่วนตักกีบุคคลเป็นพวกที่มักแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตตา เช่น ยึดทั้งกรชรูปและกสิณรูปว่า “เป็นอัตตา” แล้วสรุปเอาเป็นทิฏฐิว่า “อัตตาเที่ยง” จากทรรศนะในลักษณะนี้ พอสรุปได้ว่า คนทั้ง ๒ กลุ่มนี้เป็นพวกความคิดสุดโต่ง ไม่เป็นพวกสัสสตทิฏฐิก็เป็นพวกอุจเฉททิฏฐิ

        นักตรรกวิทยา ๔ ประเภท พิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว ดูเหมือนว่า พวกสุทธตักกิกะจะเป็นกลุ่มที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะตรึกวิจารณ์ปรากฏการณ์โดยอิงอาศัยหลักปฏิจจสมุปบาทที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี” แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด พวกสุทธตักกิกะใช้หลักปฏิจจสมุปบาทจริง แต่ก็เป็นเพียงมุ่งที่จะใช้หลักการนี้โดยไม่ได้พิจารณาองค์ประกอบอื่นด้วยในกาลบางครั้ง

 

มหาปเทส ๔ ทางพระวินัย

: ข้อมูลเชิงตรรกวิทยาที่ไม่ได้จัดระบบ

 

        ภิกษุผู้มีศีลดีงามเกิดความสงสัยว่า “สิ่งใดหนอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต สิ่งใดหนอไม่ได้ทรงอนุญาตไว้” พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนี้ จึงทรงวางหลักตัดสินสิ่งที่ควรและไม่ควร เรียกว่า “มหาปเทส” มี ๔ ประการ คือ(วิ.ม.๕/๙๒/๑๓๑)

        ๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่า “ไม่ควร” แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร ให้ตัดสินสิ่งนั้นว่า “ไม่ควร”

        ๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว่า “ไม่ควร” แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร ให้ตัดสินสิ่งนั้นว่า “ควร”

        ๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่า “ควร” แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร ให้ตัดสินสิ่งนั้นว่า “ไม่ควร”

        ๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่า “ควร” แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร ให้ตัดสินสิ่งนั้นว่า “ควร”

        พระผู้มีพระภาคทรงวางหลักตัดสินนี้ไว้ พุทธประสงค์ก็เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ใช้พิจารณาตัดสินเรื่องของเคี้ยวของฉันเป็นหลัก เช่น ธัญญชาติ ๗ ชนิด คือ

        ๑. ข้าวสาลี   ๒. ข้าวจ้าว      ๓. หญ้ากับแก้      ๔. ข้าวละมาน

        ๕. ลูกเดือย   ๖. ข้าวเหนียว   ๗. ข้าวฟ่าง

        ทั้งหมดนี้เป็น “ยาวกาลิก” ทรงห้ามฉันในเวลาวิกาล

        ส่วนมหาผล ๙ ชนิด คือ

        ๑. ตาล                ๒. มะพร้าว           ๓. ขนุนธรรมดา

        ๔. ขนุนสำปะลอ      ๕. บวบ               ๖. ฟักเขียว

        ๗. แตงกวา           ๘. แตงโม             ๙. ฟักทอง

รวมทั้งอปรัณณชาติทั้งหมด เช่น ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังภัตตาหาร แม้จะไม่ได้ทรงห้ามไม่ให้ฉันในเวลาวิกาล แต่อนุโลมเข้ากับธัญญชาติ ๗ ชนิดนั้น จึงจัดเป็นยาวกาลิก ไม่ควรฉันในเวลาวิกาลด้วย สรุปลงเป็นตรรกบทแบบนิรนัยได้ดังนี้

                ธัญญชาติ ๗  =  A,        มหาผล ๙  =  B,   ยาวกาลิก =  C

                                A  =  C

                                B  =  A

                Therefore        B  =  C                   

                        ธัญญชาติ ๗  เป็น            ยาวกาลิก

                        มหาผล ๙     อนุโลมเข้ากับ ธัญญชาติ ๗ 

        เพราะฉะนั้น   มหาผล ๙     เป็น            ยาวกาลิก            

                น้ำอัฏฐบาน   =  A,   น้ำผลหว้าเป็นต้น  =  B,  ยามกาลิก  = C

                                A  =  C

                                B  =  A

                Therefore        B  =  A

                        น้ำอัฏฐบาน           เป็น            ยามกาลิก

                        น้ำผลหว้าเป็นต้น      อนุโลมเข้ากับ น้ำอัฏฐบาน

        เพราะฉะนั้น   น้ำผลหว้าเป็นต้น      เป็น            ยามกาลิก

 

พรหมชาลสูตร

: พระสูตรที่ให้ภาพเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของนักตรรกวิทยา

 

        ในพรหมชาลสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มีข้อความที่กล่าวถึงพวกสมณะและพราหมณ์กลุ่มหนึ่งผู้มีชื่อเรียกว่า “ตักกี”(Argumentationists) และ “วีมังสี”(Casuists) เป็นพวกที่ชอบการโต้เถียง การพูดเล่นสำนวนโวหารเพื่อแสดงเหตุผลแนวคิดของตนในเรื่องต่าง ๆ  พวกสมณะและพราหมณ์เหล่านี้ จากมุมมองเชิงปรัชญา แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น สัสสตวาที, เอกัจจสัสสตวาที, อันตานันติกวาที, อมราวิกเขปิกวาที, อธิจจสมุปปันวาที, สัญญิวาที, อสัญญิวาที, เนวสัญญินาสัญญิวาที อุจเฉทวาที และทิฏฐธัมมนิพพานวาที

         พวกสัสสตวาทีเป็นต้นนี้ มักกล่าวอ้างทฤษฎีต่าง ๆ ตามความเชื่อถือของตน พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับตรรกะและการวิพากษ์วิจารณ์ และกล่าวสรุปความเห็นของพวกเขาด้วยตัวเอง ถือเป็นผู้พ่ายแพ้เพราะต้องเหน็ดเหนื่อยอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎี ไม่สามารถทำที่สุดทุกข์ได้ รายละเอียดเกี่ยวกับตักกีบุคคล ลาภีบุคคล และวีมังสีบุคคล ได้กล่าวไว้ในตอนต้น

 

 

อนุมานสูตร

: แสดงความหมายของคำว่า “อนุมาน” ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา

 

        คำว่า “อนุมาน”ที่ปรากฏในอนุมานสูตรนั้น มีความหมายเท่ากับคำว่า “ปัจจเวกขณะ” แปลว่า ตรวจสอบพิจารณา ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวสอนภิกษุทั้งหลายให้อนุมานตนด้วยตนเองเพื่อตรวจสอบว่าจะเป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักของผู้อื่นได้อย่างไร ดังที่ปรากฏในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ตอนหนึ่งว่า

                        ตตฺราวุโส  ภิกฺขุนา  อตฺตนาว  อตฺตานํ  เอวํ  อนุมานิตพฺพํ

                        “โย  ขฺวายํ  ปุคฺคโล  ปาปิจฺโฉ  ปาปิกานํ  อิจฺฉานํ  วสงฺคโต

                        อยํ  เม  ปุคฺคโล  อปฺปิโย  อมนาโป  อหญฺเจว  โข  ปนสฺสํ

                        ปาปิจฺโฉ  ปาปิกานํ  อิจฺฉานํ  วสงฺคโต  อหํ  ปสฺสํ ปเรสํ

                        อปฺปิจฺโฉ  อมนาโป”

                        ผู้มีอายุทั้งหลาย  ภิกษุพึงอนุมานตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า

                        “บุคคลผู้มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ

                        ปรารถนาชั่ว ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา

                        เราเองก็เหมือนกัน ถ้ามีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจ

                        แห่งความปรารถนาชั่ว ก็ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ

                        ของคนเหล่าอื่น”

        คำว่า “อนุมาน” ที่ปรากฏในอนุมานสูตรนี้มีนัยต่างจากความหมายตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในวิชาตรรกวิทยา คำว่า “อนุมาน”ในวิชาตรรกวิทยานั้น หมายถึง กระบวนการที่ทำให้ได้รับความรู้อย่างหนึ่งโดยอาศัยความรู้อีกอย่างหนึ่ง ตามทรรศนะของปรัชญาตะวันตก หมายถึง วิธีรู้สิ่งหนึ่งโดยอาศัยความรู้อื่นเป็นตัวกลาง คือ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นโดยสรุปจากความรู้อื่นหรือจากข้อมูลอื่น  การนิรนัย(Deduction)เป็นการอนุมานประเภทหนึ่ง การอุปนัย(Induction)ก็เป็นการอนุมานประเภทหนึ่ง

 

 

ชัจจันธวรรคแห่งอุทาน

: แสดงทิฏฐิของพวกตรรกวิทยาก่อนสมัยพุทธกาล

 

                ในคัมภีร์ขุททกนิกาย  อุทาน กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

                        เอวํ  โอภาสิตเมว  ติตฺถิยานํ

                        ยาว  สมฺมาสมฺพุทฺธา  โลเก  นุปฺปชฺชนฺติ

                        น  ตกฺกิกา  สุชฺฌนฺติ  น  จาปิ  สาวกา

                        ทุทฺทิฏฺฐี  น  ทุกฺขา  ปมุญฺจเร

                พวกเดียรถีย์กล่าวสอนโฆษณาอยู่อย่างนี้

                ตราบเท่าเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ

                พวกตักกิกะย่อมไม่บริสุทธิ์ และแม้พวกสาวก(ของพวกเขา)

                ก็ไม่บริสุทธิ์ คนมีทิฏฐิชั่วก็ไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ 

        ในคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน พระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงบทบาทของคนกลุ่มนี้ว่า เป็นพวกที่มีความโดดเด่นในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะการโต้เถียง การให้เหตุผลเชิงตรรก แต่เป็นความโดดเด่นเพียงชั่วระยะเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้นเท่านั้น หลังจากนั้น ก็ซบเซาเหมือนหิ่งห้อยที่อับแสง เหมือนลูกศรที่ถูกยิงไปในเวลากลางคืน ย่อมไม่ปรากฏให้เห็น คนพวกนี้แม้จะมีธรรมวินัยก็เป็นสิ่งที่กล่าวไว้ไม่ดี เป็นพวกที่เว้นจากสัมมาปฏิบัติ จึงไม่สามารถก้าวพ้นจากสังสารวัฏได้

 

 

คัมภีร์กถาวัตถุ

: ภาพแห่งตรรกวิทยาเชิงพุทธในสมัยพระเจ้าอโศก

 

        คัมภีร์กถาวัตถุไม่มีคำว่า “ตักกี, ลาภี, วีมังสี” หรือ “ตักกิกะ” แต่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คัมภีร์กถาวัตถุว่าด้วยวิธีการแสดงเหตุผลเชิงตรรกโต้ตอบกัน ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างแห่งวิธีการให้เหตุผลที่ใช้กันอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศก เป็นคำโต้ตอบระหว่างฝ่ายเถรวาทินซึ่งเป็นผู้ถามที่ไม่ยอมรับความมีอยู่แห่งอัตตา(Soul)หรือบุคคล กับลัทธิต่าง ๆ นอกพระพุทธศาสนา และแม้กับกลุ่มต่างๆในพระพุทธศาสนาเองที่แยกตัวออกไป ซึ่งเป็นผู้ตอบที่กล่าวอ้างว่าสัจภาวะอันแท้จริงก็คืออัตตาหรือบุคคล   ทั้ง ๒ ฝ่ายใช้หลักตรรกะในการโต้ตอบกัน หัวข้อสำคัญที่เป็นหลักในการอภิปรายโต้ตอบกันมีอยู่ ๒๑๙ เรื่อง เช่น

        เถรวาทิน     : บุคคลย่อมเป็นที่รู้กันได้โดยความหมายแห่งสิ่งแท้จริงหรือ  ? 

        ปุคคลวาทิน  : ใช่แล้ว

        เถรวาทิน      : บุคคลย่อมเป็นที่รู้กันได้โดยทำนองเดียวกันกับสิ่งแท้จริงหรือ ?   

        ปุคคลวาทิน   : ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น

        เถรวาทิน      : จงยอมรับความพ่ายแพ้ของท่านเถิด

        อีกตัวอย่างหนึ่ง

        ถาม           :  ขันธ์ทั้งหลายเป็นอดีต ได้ไหม ?

        ตอบ           :  ได้

        ถาม           :  อายตนะ ธาตุ เป็นอดีต ได้ไหม ?

        ตอบ           :  ได้

        ถาม           :  อดีตมีอยู่  ใช่ไหม ?

        ตอบ           :  ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

 

ตรรกวิทยาในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาภาษาสันสกฤต

 

        การสังคายนาของฝ่ายสันสกฤต ที่ชาลันธร ภายใต้การดำเนินการของท่านปารัศวะและท่านวสุมิตร โดยพระเจ้ากนิษกะทรงให้ความอุปถัมภ์นั้น มีพระสงฆ์ ๕๐๐ รูปมาร่วมประชุม และได้แต่งคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกบาลีเป็นภาษาสันสกฤต ๓ เล่ม คือ

        ๑. สูตรอุปเทศ อธิบายพระสุตตันตปิฎก

        ๒. วินัยวิภาษา อธิบายพระวินัยปิฎก

        ๓. อภิธรรมวิภาษา อธิบายพระอภิธรรมปิฎก 

        คัมภีร์ทั้ง ๓ นี้ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นแห่งมหายาน ก่อนรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ไม่มีคัมภีร์พระพุทธศาสนาเล่มใดที่แต่งเป็นภาษาสันสกฤต  แต่หลังจากยุคของพระเจ้ากนิษกะแล้ว มีวรรณคดีพระพุทธศาสนาภาษาสันสกฤตเกิดขึ้นมาก และมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ  รวมทั้งตรรกวิทยาด้วย

        ลลิตวิสตระ วรรณคดีเล่มนี้สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นก่อน ค.ศ. ๒๕๐ เป็นหนึ่งในบรรดา “นวธรรม” วรรณคดีเล่มนี้กล่าวถึงตรรกศาสตร์ภายใต้หัวข้อว่า “เหตุวิทยา” พร้อมกับกล่าวถึงทฤษฎีของสังขยา โยคะ ไวเสสิกะเป็นต้น

        ลังกาวตารสูตร   ถือว่าเป็นวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์มากในฐานะเป็นหนึ่งในบรรดา “นวธรรม” อายุที่แน่นอนของวรรณกรรมชิ้นนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด  สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นประมาณปี ค.ศ.๓๐๐ เพราะมีข้อความกล่าวถึงสำนักนอกรีตทั้ง ๔ คือ (๑)สังขยา ซึ่งเป็นสำนักที่เชื่อในความเป็นหนึ่งเดียว (๒)ไวเศษิกะ ซึ่งเชื่อในความแตกต่าง (๓)นิครันถปุตระ ซึ่งเชื่อทั้งในความเป็นหนึ่งเดียวและความแตกต่าง และ(๔)ชญาติปุตระ ซึ่งไม่เชื่ออะไรเลย แต่ท่านอารยเทวะปฏิเสธข้อมูลนี้ ประมาณปี ค.ศ.๔๔๓ ได้มีการแปลลังกาวตารสูตรเป็นภาษาจีน

            ลังกาวตารสูตรกล่าวถึงพวก“นยายิกะ”(Logicians)และพวกตักกิกะ(สันสกฤต: ตารกิกะ=Dialecticians)  ในบทที่ ๑๐ แห่งลังกาวตารสูตรนี้ กล่าวถึงพวก “ตักกิกะ”ว่า

               

บทสรุป

 

       วิเคราะห์จากข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาแล้ว พอสรุปได้ในชั้นนี้ว่า วิชาตรรกวิทยารุ่งเรืองพอสมควรแล้วในอินเดียก่อนพุทธกาล สมัยพุทธกาล และหลังพุทธกาล และโดยเฉพาะหลังพุทธกาล ได้มีนักปราชญ์หลายท่านได้จัดวิชาตรรกวิทยาให้เป็นระบบ เจ้าแห่งความคิดก็แบ่งเป็นสำนักต่าง ๆ พอจะแบ่งยุคแห่งตรรกวิทยาได้เป็น ๓ ยุค คือ

        ๑. ยุคโบราณ ประมาณ ๖๕๐ ปีก่อน ค.ศ.-ค.ศ.๑๐๐  ในยุคนี้มีตำราตรรกวิทยาที่มีชื่อเสียงมากคือ“นยายสูตร” แต่งโดย อักษปาทะ เคาตมะ(Aksapada Gautama)และมีผู้แต่งอรรถกถาอธิบายหนังสือเล่มนี้จำนวน ๑๓ เล่ม

        ๒. ยุคกลาง ประมาณ ค.ศ. ๑๐๐-๑๒๐๐ ในยุคนี้มีตำราตรรกวิทยาที่มีชื่อเสียงมากคือ “ประมาณสมุจจยะ” แต่งโดย ทิคนาคะ(Dignaga)และมีผู้แต่งอรรถกถาอธิบายหนังสือเล่มนี้จำนวน ๑๒ เล่ม

        ๓. ยุคใหม่ ประมาณตั้งแต่ ค.ศ. ๙๐๐ เป็นต้นมา ในยุคนี้มีตำราตรรกวิทยาที่มีชื่อเสียงมากคือ “ตัตวจินตามณี” แต่งโดย คังเคศะ(Gangesa) มีผู้แต่งอรรถกถาอธิบายหนังสือเล่มนี้จำนวน ๑๖ เล่ม มีผู้แต่งฎีกาอธิบายความเพิ่มเติมอีก ๑๙ เล่ม และมีหนังสือประเภทอภิธานศัพท์ประกอบอีก ๓ เล่ม

        เนื้อหาในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา แม้จะไม่ได้กล่าวถึงวิชาตรรกวิทยาโดยตรง แต่มีเนื้อหาหลายตอนที่มีนัยเชิงตรรก ถ้ามีการวิเคราะห์แล้วจัดระบบออกมา จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น แต่นักปราชญ์ฝ่ายพระพุทธศาสนาเถรวาทหลายท่านก็ไม่นิยมที่จะให้ทำอย่างที่ว่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดความไขว้เขวในหลักพุทธธรรมได้

        สมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นยอดแห่งนักตรรกวิทยาโดยไม่ต้องสงสัย แต่หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระเถระที่มีชื่อเสียงทางด้านตรรกวิทยาคือท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ผู้เป็นปูชนียบุคคลในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช  หลังจากนั้นมา ท่านพระนาคเสนผู้สนทนาธรรมโต้ตอบกับพระยามิลินท์ นับได้ว่าเป็นยอดแห่งนักตรรกวิทยาที่หาใครเทียบได้ยาก ต่อจากนั้น ท่านทิคนาคะนับได้ว่าเป็นยอดแห่งนักตรรกวิทยาอีกท่านหนึ่งเช่นกัน 

        วิชาตรรกวิทยานี้ โดยหลักของวิชาแล้วเป็นสิ่งที่ดี เพราะให้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เราอธิบายความ ในการอธิบายให้คนเข้าใจบางอย่าง ถ้าไม่มีการยกเหตุผลเปรียบเทียบประกอบ บางกรณีก็ไม่สามารถนำเสนอภาพที่ชัดเจนได้ แต่วิชานี้ถ้าคนที่นำมาใช้มีอัธยาศัยจิตใจที่เป็นอกุศล ย่อมก่อให้ความเสียหายผิดพลาดได้มาก  เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ได้ฟังใครบางคนอธิบายความชี้แจงเหตุผลบางเรื่อง จึงไม่ควรเชื่อเพราะเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ดี แต่ควรใช้สามัญญสำนึกเทียบเคียงดูกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ พิจารณาโดยถ้วนถี่แล้วจึงค่อยเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ควรด่วนสรุป สิ่งที่ทำลายความรู้สึกของสังคมมากที่สุดในทุกยุคทุกสมัยก็คือ คำพูดของคนที่ด่วนสรุปปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง.

 

 

 

 

บทวิเคราะห์วัชรยาน ตอนที่ ๔

พระธยานีพุทธะกับตระกระกูลทั้ง ๕ แห่งหมู่เทพ,

อิทธิพลแห่งพุทธวัชรยาน(ตันตระ)ต่อฮินดูตันตระ

 

                                        พระมหาสมจินต์  สมฺมาปญฺโญ

                                        ป.ธ.๙, พธ.ม., Ph.D.(Buddhist Studies-BHU.)

                                        ผู้อำนวยการกองวิชาการ

                                        รักษาการรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร.

 

พระธยานีพุทธะกับตระกูลทั้ง ๕ แห่งหมู่เทพ

        หมู่เทพที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพุทธศาสนามหายานนั้น หลายท่านบอกว่าเกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของวัชรยานหรือพุทธตันตรยาน  ในพระพุทธศาสนาดั้งเดิม มีเฉพาะแนวคิดเรื่องเทพ ๓๓ องค์ที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงสืเท่านั้น และคงเป็นหมู่เทพเดียวกันกับของฮินดู

        ในวรรณกรรมของวัชรยาน ชื่อ “คุหยสมาช” ได้กล่าวถึงพระธยานีพุทธะ ๕ พระองค์ว่า “พระองค์เป็นบรรพบุรุษโดยตรงของตระกูลเทพทั้ง ๕ คือ

        ๑.  ตระกูลโทสะ

        ๒.  ตระกูลโมหะ

        ๓.  ตระกูลราคะ

        ๔.  ตระกูลจินตามณี

        ๕.  ตระกูลสมยะ

        ในการปฏิบัติธรรมของศาสนิกผู้ศรัทธาแห่งวัชรยานนั้น  ตระกูลเทพทั้ง ๕ นี้เท่านั้นที่จะนำไปสู่การบรรลุธรรมตามปรารถนาและความหลุดพ้น  ลูกหลานของพระธยานีพุทธะช่วยกันสร้างตระกูลเหล่านี้และดำรงสืบมา  ทฤษฎีในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมมีว่า โลกประกอบด้วยขันธ์ ๕ ประการ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ และขันธ์เหล่านี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทพในวัชรยาน ปรากฏอยู่ในรูปของพระธยานีพุทธะ ๕ พระองค์  เมื่อเวลาผ่านไป พระธยานีพุทธะเหล่านี้ได้รับการยกฐานะขึ้นปฐมเทพ อย่างไรก็ตาม แม้วัชรยานจะยกพระธยานีพุทธะขึ้นเป็นปฐมเทพ แต่ก็ได้พยายามที่จะเสนอแนวคิดในรูปแบบแห่ง “เอกเทวนิยม”ขึ้นมา โดยสร้างทฤษฎี “วัชรธร” คืออาทิพุทธะขึ้นมา  วัชรยานถือว่าอาทิพุทธเป็นเทพสูงสุด ถือเป็นปฐมเทพตนเดียวที่เป็นต้นกำเนิดของพระธยานีพุทธะทั้งหลาย  ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นในราวคริสตศตวรรษที่ ๑๐  อาทิพุทธะนี้เมื่อแสดงตัวในร่างมนุษย์ มีชื่อว่า “วัชรธร” ปรากฏอยู่ใน ๒ ลักษณะ คือ เป็นรูปเดี่ยวและรูปคู่คือ”ยับ-ยุม”  ทรรศนะที่ถือว่าวัชรธรเป็นอาทิพุทธะนี้ ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่นักปราชญ์แห่งวัชรยานบางกลุ่ม  พวกที่ไม่ยอมรับถือว่า หนึ่งในบรรดาพระธยานีพุทธะนั้นแหละคืออาทิพุทธะ

        พระธยานีพุทธนั้นเป็นพระพุทธเจ้าพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์สิ่งใด แต่การสร้างสรรค์โลกเป็นหน้าที่ของเทวโพธิสัตว์ผู้เป็นเหล่ากอของพระธยานีพุทธะเหล่านั้น  ทฤษฎีพระธยานีพุทธะนี้ได้รับการเผยแพร่ในราวคริสตศตวรรษที่ ๓  เกิดมาจากทฤษฎีสัสสตภาวะแห่งขันธ์ ๕

        พระธยานีพุทธะเหล่านั้นเป็นบรรพบุรุษของเทพและเทพีตระกูลต่าง ๆ ดังกล่าวมา แต่ละพระองค์มีศักติ(เทวี)ประจำอยู่ด้วย  ลูกหลานของแต่ละตระกูลเกิดขึ้นมาเพราะศักตินี้  พระธยานีพุทธะและเทพ-เทพีในตระกูลต่าง ๆ มีดังนี้

                (๑) พระอักโษภยะ เทพและเทพีในตระกูลโทสะ

        พระอักโษภยะเป็นบรรพบุรุษแห่งตระกูลโทสะ  สีประจำตระกูลคือสีน้ำเงิน  เทพ-เทพีที่มีชื่อเสียงคือ เทพเหรุกะ(บางทีก็เรียกว่า วัชรฑทาะ, สัปตากษระ, มหามายา), เทพยมาริ, เทพไนราตมะ, เทพ และเทพีเอกชตา

                (๒) พระไวโรจนะ เทพและเทพีในตระกูลโมหะ

        พระไวโรจนะเป็นบรรพบุรุษแห่งตระกูลโมหะ  สีประจำตระกูลคือสีขาว  ตระกูลโมหะนี้ไม่ค่อยปรากฏชื่อเทพ มีแต่ชื่อเทพีที่สำคัญ คือ เทพีมาริจีซึ่งเป็นเทพีแห่งพระอาทิตย์ เป็นที่เคารพศรัทธาของลามะ(พระ)ทิเบตมาก   ลามะทิเบตนิยมบูชาเทพีมาริจีในตอนเช้า นอกจากนี้ก็มีเทพีวัชรวาราหี

                (๓) พระอมิตาภะ เทพและเทพีในตระกูลราคะ

        พระอมิตาภะเป็นบรรพบุรุษแห่งตระกูลราคะ  สีประจำตระกูลคือสีขาว เทพ-เทพีที่สำคัญประจำตระกูล คือ เทพโลเกศวร, เทพีกุรุกุลลา

                (๔) พระรัตนสัมภวะ เทพและเทพีในตระกูลจินตามณี

        พระรัตนสัมภวะเป็นบรรพบุรุษแห่งตระกูลจินตามณี  สีประจำตระกูลคือ สีเหลือง  เทพ-เทพีที่สำคัญประจำตระกูลคือ เทพชัมภละ, เทพีวสุธราซึ่งเป็นเทพีแห่งอุดมสมบูรณ์

                (๕) พระอโมฆสิทธิ เทพและเทพีในตระกูลสมยะ

        พระอโมฆสิทธิเป็นบรรพบุรุษแห่งตระกูลสมยะ  สีประจำตระกูลคือ สีเขียว  ไม่ปรากฏชื่อเทพที่สำคัญในตระกูลนี้  ปรากฏแต่เทพี คือ เทพีขทิรวณี ตารา และเทพีปรณัสวรี

 

อิทธิพลแห่งพุทธวัชรยาน(ตันตระ)ต่อฮินดูตันตระ

        นักภารตวิทยาเกือบจะทั้งหมด ล้วนเกลียดชังและปฏิเสธวัชรยานทั้งแบบพุทธและฮินดู  วัชรยานเป็นผลผลิตแห่งกระแสความคิดในยุคคริสตศตวรรษที่ ๗ และ ๑๒  นักปราชญ์หลายท่านกล่าวว่า วัชรยาน(หรือตันตรยาน)เกิดขึ้นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา และพวกฮินดูได้ยืมแนวคิดนี้ไปจากพระพุทธศาสนในสมัยต่อมา  ที่มีคนกล่าวว่า “พุทธวัชรยานเป็นผลผลิตของไศวนิกาย” คำกล่าวนี้ไม่มีเหตุผลสนับสนุบพอที่จะเชื่อถือได้

        มีคำถามอยู่เป็นประจำว่า “เพราะเหตุไร ? หมู่เทพในพุทธวัชรยานและฮินดูตันตระจึงมีชื่อและลักษณะที่เหมือนกัน”  คำตอบก็คือว่า พวกฮินดูได้พัฒนาหมู่เทพทั้งหมดมาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อพระพุทธศาสนาและศาสนาเชนเกิดขึ้น ศาสนิกของทั้งสองศาสนานี้ได้ยืมนำเอาแนวคิดนี้มาพัฒนาเสริมแนวคิดเดิมของตน เมื่อพระพุทธศาสนาได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับหมู่เทพเต็มที่แล้ว  ในยุคต่อมา ศาสนิกแห่งฮินดูและเชนก็ได้นำเอาแนวคิดแบบพุทธนี้ไปสอนในกลุ่มของตนอีก

        กรณีความเหมือนกันระหว่างหมู่เทพ-เทพีแห่งพุทธวัชรยานและฮินตันตระนี้ เราจะอภิปรายเรื่องของเทพี “ตารา”(ขทิรวณี ตารา) เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น  เทพีตาราเป็นต้นกำเนิดแห่งเทพี ๗ องค์ มีชื่อดังนี้ คือ “อุครา, มโหครา, วัชรา, กาลี, สรัสวดี, กาเมศวรี และภัทรกาลี”  เงื่อนไขที่ชอบยกมาตั้งเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ก็คือว่า “ถ้าเทพีตาราเป็นของฮินดู  เทพีทั้ง ๗ นี้ก็เป็นฮินดูด้วย แต่ถ้าเทพีตาราเป็นของพุทธ เทพีทั้ง ๗ ก็เป็นพุทธด้วย”

        ในวรรณกรรมของฮินดูเป็นจำนวนมาก มีการอธิบายถึงเทพีตารา เช่น ตาราตันตระ ตันตรสาระ และมหาจีนาตารตันตระ     ในงานเขียนชื่อตาราตันตระ เทพีตารามีชื่อว่า “ตาริณี หรือตารา”  เทพีนี้มีใบหน้าดำ สวมพวงมาลัยกโหลกศีรษะ รูปร่างเตี้ย พุงยื่นออกมา สวมหนังเสือโคร่ง มีเครื่องประดับ(แหวน) ๕ ชนิด มีแขน ๔ ข้าง แลบลิ้น มืด ๒ ข้างถือดาบและมีด และแสดงลักษณะที่น่าเกรงขาม เป็นที่สักการะในฐานะเป็นเทพีที่จะประทานความเจริญรุ่งเรืองทุกอย่าง มีชฎาเดียว(เอกชฏา) ชูร่างพระอักโษภยะไว้บนมงกุฏของเธอ  วรรณกรรมตาราตันตระอธิบายว่า “เมื่อเทวะและอสูรทำสงครามกันก่อให้เกิดคลื่นในมหาสมุทร ยาพิษที่ร้ายแรงจึงเกิดขึ้น เหล่าเทพและเทพีตกใจกลัว  ส่วนเทพศิวะไม่กลัว จึงดื่มยาพิษนั้นทั้งหมด และได้รับการขนานนามว่า “อักโษภยะ” เทพอักโษภยนี้เป็นเทพประจำตัวของเทพีตาริณี”

        มีการวิจารณ์ว่า คำอธิบายเกี่ยวกับเทพีตาราในวรรณกรรมของฮินดูนี้ ไม่น่าเชื่อถือ นักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทพ-เทพีแห่งพุทธวัชรยานกล่าวว่า ฮินดูตันตระมีเทพีตารา แต่ไม่มีในรูปแบบที่สวมเอกชฎา ไม่เคยมีเทพตนใดในฮินดูตันตระที่สวมเครื่องประดับหนึ่งใน ห้า เพราะฉะนั้น คำอธิบายดังกล่าวมาจึงไม่สอดคล้องกับหลักการของฮินดูตันตระ แต่เมื่อหันมาพิจารณาดูวรรณกรรมพุทธวัชรยาน เราจะพบข้อความที่สอดคล้องกัน  ในหมู่เทพ-เทพีแห่งพุทธวัชรยาน มีเทพีชื่อ “เอกชฎา”  เทพีนี้ดุร้ายและมีหลายร่าง ตั้งแต่ร่างที่มี ๒ แขน ๑ หน้าจนถึงร่างที่มี ๑๖ แขน ๑๒ หน้า และร่างต่าง ๆ ของเธอนั้นมีชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น อุครตารา, มหาจีนตารา, วิทยุชชวาลากราลี, อารยเอกชฎา และศุกลเอกชฎา  ในจำนวนร่างเหล่านี้  ร่างแห่งเอกชฎาที่รู้กันในฐานะเป็น “มหาจีนตารา” เท่านั้นที่มีลักษณะเดียวกันกับเทพีตาราของฮินดูตันตระ

        วรรณกรรมแห่งพุทธวัชรยานกล่าวถึงเครื่องประดับ(มุทรา) ๖ ชนิดที่ทำมาจากกระดูกมนุษย์ คือ พวงมาลัย, กำไลมือ, ตุ้มหู, เครื่องเพชร, มงกุฏ(ชฎา)  และเข็มขัด  เครื่องประดับทั้ง ๖  นี้เป็นเครื่องแสดงถึงปารมิตา ๖ แต่ส่วนมากจะเน้นกล่าวถึงเครื่องประดับ ๕ ประการที่มีพระธยานีพุทธะเป็นประธานอยู่ คือ มงกุฏมีพระอักโษภยะเป็นประธาน, ตุ้มหูมีพระอมิตาภะเป็นประธาน,  พวงมาลัยมีพระรัตนสัมภวะเป็นประธาน, กำไลมือมีพระไวโรจนะเป็นประธาน  และเข็มขัดมีพระอโมฆสิทธิเป็นประธาน  เครื่องประดับทั้ง ๕ นี้ถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ในหมู่ฮินดูตันตระ แต่เป็นที่รู้จักกันดีแล้วในพุทธวัชรยาน

        ต่อไป   เราจะอภิปรายกันเกี่ยวกับการที่มีร่างของอักโษภยะอยู่บนมงกุฏของเทพี ตารา  ข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้มีต้นกำเนิดในวรรณกรรมของพุทธวัชรยานเท่านั้น   ที่มีการกล่าวออ้างในวรรณกรรมชื่อตาราตันตระว่า ร่างที่ปรากฏอยู่บนมงกุฏของเทพีตารานั้นเป็นร่างของศิวะ ที่เรียกว่า “อักโษภยะ” เพราะศิวะไม่กลัวยาพิษ  ศาสนิกแห่งพุทธวัชรยานผู้คุ้นเคยกับการสร้างรูปบูชาย่อมรู้ดีว่า เทพทุกองค์ในพุทธวัชรยานนั้น แบ่งออกเป็น ๕ กลุ่มตามจำนวนพระธยานีพุทธะผู้เป็นบรรพบุรุษ  เทพทั้งหลายที่เกิดจากพระธยานีพุทธะเหล่านั้น สร้างตระกูลทั้ง ๕ ตามที่กล่าวมาแล้ว และจำเป็นต้องแสดงต้นกำเนิดของตนคือพระธยานีพุทธะไว้บนมงกุฏเพื่อสักการะบูชา   

        จากข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นอันแน่ชัดแล้วว่า  ลักษณะพิเศษของเทพีตาราที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมฮินดูนั้น เป็นลักษณะที่มีอยู่ก่อนแล้วในวรรณกรรมพุทธวัชรยาน เทพีตาราที่สวมมงกุฏ(เอกชฎา)ที่รู้กันในนามว่า “มหาจีนตารา” อยู่ในหมู่เทพแห่งพุทธวัชรยาน มีหลักฐานบางแห่งกล่าวว่า นาคารชุน(แห่งวัชรยาน)นั่นเองเป็นผู้นำพิธีบูชาเทพีตาราในรูปแห่งเอกชฎาจากประเทศโภฏา(ทิเบต)มาเผยแพร่ในอินเดียในราวคริสตศตวรรษที่ ๗  นี่เป็นหลักฐานอีกระดับหนึ่งที่พอเชื่อถือได้ที่แสดงให้เห็นว่า “ระหว่างพุทธวัชรยาน(ตันตระ)และฮินดูตันตระนั้น ใครมีอิทธิพลต่อใคร”

        ต่อไปเราจะมาอภิปรายกันเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทพีอีกองค์หนึ่งที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งในวรรณกรรมฮินดูและพุทธวัชรยาน เทพีองค์นี้วรณณกรรมฮินดูเรียกว่า “ฉินน มัสตา”  ส่วนพุทธวัชรยานเรียกว่า “วัชรโยคินี”  ในวรรณกรรมตันตรสาระและฉินนมัสตกัลปะของฮินดูพรรณนาว่า เทพีฉินนมัสตามีลักษณะน่ากลัว มือซ้ายถือศีรษะของตนที่ตนเองนั่นเป็นผู้ตัด มือขวาถือมีด มีเลือดไหลย้อยจากศีรษะนั้นแยกเป็น ๓ สาย สายหนึ่งไหลเข้าปากของเทพีฉินนมัสตาเอง ส่วนอีกสองสายไหลเข้าปากของฑากินีและวรณนีผู้เป็นเพื่อนที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ

        มหาสิทธาจารย์ชื่อศพริปาผู้เป็นศิษย์ของนาคารชุน เป็นผู้เผยแพร่หลักการเกี่ยวกับ “วัชรโยคินี” ในราวคริสตศตวรรษที่ ๑๑  มันตระในคัมภีร์วัชรยาน มักปรากฏคำว่า “โอม, โอม, โอม” ทั้ง ๓ โอมนี้เป็นการอุทิศให้เทพีทั้ง ๓ คือ วัชรโยคินี(สรวพุทธฑากินี), วัชรวรณนี และวัชรไวโรจนี   คำว่า “หูม, หูม, หูม” และคำว่า “ผฏะ, ผฏะ, ผฏะ” เป็นคำอุทิศแด่เทพีทั้ง ๓ นี้เช่นเดียวกัน ส่วนคำว่า “วัชระ” ที่นำหน้าชื่อเทพีเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เทพีทั้ง ๓ อยู่ในหมู่เทพแห่งวัชรยาน และมีข้อสรุปว่า เทพีทั้ง ๓ นี้มีต้นกำเนิดในพุทธวัชรยาน

        จากข้อสรุปเกือบจะทั้งหมด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เทพ-เทพีและมันตระทั้งหลายเป็นของพุทธวัชรยานมาแต่เดิม แต่ฮินดูตันตระนำมารวมเข้ากับในหลักการของตน หลังจากที่นำมาแล้วก็มีการดัดแปลงและพัฒนาขึ้น  ในวรรณกรรมฮินดูนั้น แทบจะไม่มีตอนใดเลยที่ไม่มีแนวคิดแห่งพุทธวัชรยานรวมอยู่ด้วย จึงนับเป็นการไม่ถูกที่กล่าวว่า “พุทธวัชรยานเป็นผลิตผลแห่งไศวนิกาย”  แม้แต่แนวคิดเรื่องเทพ “ยับ-ยุม” ก็เป็นแนวคิดที่พุทธวัชรยานนั่นเองได้สร้างขึ้น  วัชรยานอธิบายว่า “มหาสุขะ”เป็นสภาพที่เมื่อโพธิจิตปรากฏขึ้นในศูนยะ เหมือนเกลือละลายในน้ำ เมื่อได้บรรลุนิพพานแล้ว ลักษณะเชิงบุคลาธิษฐานที่ปรากฏออกมาก็คือ “ยับ-ยุม” เป็นรูปเทพและเทพีกอดกันอยู่  แนวคิดนี้ไม่ปรากฏเลยในวรรณกรรมฮินดูก่อนที่วัชรยานจะเกิดขึ้น  คำอธิบายเกี่ยวกับเทพ-เทพี ถ้าชื่อของเทพ-เทพีเหล่านั้นขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า “วัชระ” ขอให้สันนิษฐานได้เลยว่า มีต้นกำเนิดในพระพุทธวัชรยานแน่นอน เทพ-เทพีที่มีลักษณะน่ากลัว แต่ภายในจิตใจมีความสงสารสัตว์โลก และเทพ-เทพีที่ประดับด้วยเครื่องประดับทำด้วยกระดูกมนุษย์ซึ่งแสดงถึงปารมิตา อาจสันนิษฐานได้เช่นเดียวกันว่ามีต้นกำเนิดในพุทธวัชรยาน และที่สำคัญคือ เทพ-เทพีที่มีพระธยานีพุทธะทั้ง ๕ ปรากฏอยู่ด้วย เป็นอันแน่นอนทีเดียวว่า เทพ-เทพีนั้นต้องมีต้นกำเนิดในพุทธวัชรยาน.

 

 

 

บทวิเคราะห์วัชรยาน ตอนที่ ๕

บทสรุป

 

                                        พระมหาสมจินต์  สมฺมาปญฺโญ

                                        ป.ธ.๙,  พธ.ม., Ph.D. (Buddhist Studies-BHU.)

                                        ผู้อำนวยการกองวิชาการ

                                        รักษาการรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร.

 

        วัชรยานที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนอินเดียโบราณนั้น ไม่ได้แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและของพระพุทธศาสนา การให้ความสนใจแก่เรื่องจิตใจมากเกินไป ย่อมทำให้มีการอภิปรายกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สังคมเต็มไปด้วยนักปราชญ์ผู้ชอบการอภิปรายปัญหาที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ความสับสนใจในทฤษฎีจึงเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน การให้ความสนับสนุนวัฒนธรรมทางจิตมากเกินไป ไม่ได้มีการสัมผัสความจริงของชีวิตและสังคม ได้ทำลายทั้งตัวนักคิดเองและสำนักทางความคิดในที่สุด

        ความจริง  วัฒนธรรมแห่งวัชรยานหรือตันตรยานนั้นไม่ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เอาเสียเลย ส่วนดีของวัชรยานมีอยู่มาก แต่ในทางตรงกันข้าม วัชรยานนี่เองทำให้วัฒนธรรมอินเดียกระจายไปสู่โลกภายนอก  วิธีปฏิบัติแบบวัชรยานที่คล้ายกับราชโยคะและหฐโยคะที่ปรากฏอยู่ในปรัชญาของปตัญชลี แสดงให้เห็นวิธีการพัฒนาความสามารถทางจิตและการบรรลุพลังจิตรวมทั้งการพัฒนากายให้บริสุทธิ์ โดยอาศัยการฝึกแบบโยคะ  การทำให้ร่างกายบริสุทธิ์ตามวิธีแห่งหฐโยคะ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ การควบคุมลมหายใจและลมที่อยู่ตามร่างกาย มีความจำเป็นเบื้องต้นเพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต  พวกหฐโยคีทั้งหลายจึงสามารถหยุดการไหลเวียนของโลหิตได้เป็นเวลาหลายเดือน โดยการควบคุมลมที่ทำให้โลหิตไหลเวียน และโดยการหยุดการทำงานของหัวใจและอวัยวะทั้งหมด ยกเว้นมันสมอง เพื่อควบคุมจิต ทำให้บรรดาโยคีทั้งหลายสามารถอดอาหาร น้ำ หรือแม้กระทั่งอากาศได้เป็นเวลานาน แม้กระทั่งในปัจจุบัน ยังมีโยคีจำนวนมากที่ปฏิบัติเช่นนี้ และสามารถเหาะได้ แปลงร่างได้ จึงมีบทสรุปว่า ทุกอย่างที่ร่างกายทำได้ จิตที่พัฒนาแล้วก็สามารถทำได้

        วัชรยานหรือตันตรยานเริ่มต้นขึ้น ณ ที่ราชโยคะและหฐโยคะสิ้นสุด  วัฒนธรรมวัชรยานเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมราชโยคะและหฐโยคะ  การฝึกจิตแบบวัชรยานย่อมทำให้เกิดผลดีเช่นเดียวกับการฝึกจิตแบบราชโยคะ

        นักปราชญ์ทุกยุคและทุกถิ่นที่ต่างยอมรับในความมีอยู่แห่งพลังที่ไม่มีวันสิ้นสุดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างโลก โดยเรียกชื่อพลังนี้แตกต่างกันไปว่า“God=พระเจ้า”, “Spirit=ชีวะ” “พรหม” หรือ “ศูนยะ”  วิญญาณหรืออัตตาของแต่ละบุคคล เรียกว่า “ชีวาตมัน”  วิญญาณสากลหรืออัตตาสูงสุด เรียกว่า “ปรมาตมัน” การรวมชีวาตมันเข้ากับปรมาตมัน เรียกว่า “โยคะ”  พุทธศาสนาแบบวัชรยานถือว่า วิญญาณ( อัตตา ชีวะ หรือชีวาตมัน)ของแต่ละบุคคล หมายถึงโพธิจิตนั่นเอง  และวิญญาณสากลหรือปรมาตมัน   หมายถึงศูนยะมีวิญญาณ(วิชญาณ)และมหาสุขะเป็นส่วนประกอบสำคัญ

        ศูนยะเป็นปรมาตมันหรือชีวะสูงสุด และเป็นที่เก็บสะสมพลังที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้จักรวาลทั้งหมดหมุนเวียนไป  เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญธรรมจึงมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การรวมโพธิจิต(ชีวะ อัตตา หรือวิญญาณ)เข้ากับศูนยะ(ปรมาตมัน) อันจะก่อให้เกิดพลังมหาศาลส่งผลเป็นความรู้และความสุขยั่งยืน  นี้คือสาระแห่งโยคะ

        ในชีวิตของมนุษย์นั้น    ความหลับเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันหมายถึงการให้โอกาสชีวาตมันมีความสัมพันธ์กับปรมาตมัน เพื่อถ่ายทอดพลังจากปรมาตมันนั้นมาใส่ในตัวชีวาตมัน เป็นการเติมพลังทำให้ตัวเองพร้อมที่จะทำงานในวันต่อไปหลังจากที่แต่ละบุคคลตื่นขึ้นมาแล้ว

        สมาธิในโยคะย่อมสร้างสภาพเหมือนกับความหลับสนิทที่ไม่รับรู้สิ่งแวดล้อมภายนอกทั้งหมด กายและจิตไม่รับรู้ แต่สมองยังคงทำงานอยู่ โยคีทั้งหลายไม่ได้สูญเสียความรู้สึกของตน ยังคงรู้แจ้งกรรมวิธีที่ชีวาตมันติดต่อกับปรมาตมันอยู่ตลอดเวลา และรู้สึกเป็นสุขที่ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้  จุดประสงค์ของโยคีก็คือความหลุดพ้น และแม้จะไม่ได้บรรลุความหลุดพ้น การปฏิบัติโยคะก็ทำให้กายและจิตบริสุทธิ์  สร้างความกลมกลืนให้แก่ชีวิต  การปฏิบัติโยคะไม่ว่าจะเป็นแบบวัชรยานหรือราชโยคะและหฐโยคะ จึงเป็นมรรคที่จะนำไปสู่การพัฒนาจิต สติปัญญาระดับสูง

        การวิจารณ์วัฒนธรรมวัชรยานแบบพุทธในเชิงลบนั้น เกิดขึ้นเพราะวัชรยานมักจะเอาสตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและการปฏิบัติของตนเสมอ โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติโยคะ การอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสตรีในบางครั้ง ทำให้เกิดความเลวร้ายและการประพฤติผิดศีลธรรม  ในวัชรยานแบบฮินดูหรือฮินดูตันตระ แบ่งการปฏิบัติโยคะออกเป็น ๒ ขั้น คือ

        ๑. ทักษิณาจาร คือ ความบริสุทธิ์   ข้อจำกัดเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม ความสำรวมระวัง ผู้ปฏิบัติต้องฝึกตัวเองให้มีอดทนเข้มแข็ง ควบคุมตัวเองได้ ขั้นนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรก

        ๒. วามาจาร คือ เมื่อผู้ปฏิบัติมีความก้าวหน้าเพียงพอแล้ว เขาจะได้รับอภิเษกให้เข้าไปสู่ความลึกลับแห่งวามาจาร ในขั้นนี้ สตรีจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติโยคะร่วมกัน

        ในวัชรยานแบบพุทธ แบ่งการปฏิบัติโยคะออกเป็นขั้น ดังนี้

        ๑. กริยาตันตระ และจรรยาตันตระ คือ การรักษาความบริสุทธิ์อย่างเคร่งครัด ข้อจำกัดเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม

        ๒. โยคตันตระ  คือ เมื่อผู้ปฏิบัติมีความก้าวหน้าเพียงพอแล้ว ย่อมได้รับอภิเษกให้เข้าไปสู่ความลึกลับแห่งโยคตันตระ  สตรีทั้งหลายถือเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อการปฏิบัติโยคะ

        สาระสำคัญแห่งวามาจาระ(ฮินดู)และโยคตันตระ(วัชรยานแบบพุทธ) คือ การควบคุมลมที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกาย โดยอาศัยการปฏิบัติหฐโยคะติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกว่า ความสัมพันธ์กับสตรีนั้นไม่ทำให้เกิดสิ่งชั่วร้ายอะไรขึ้นมา เป็นแต่เพียงช่วยให้ผู้ปฏิบัติปลุกเร้ากุณฑลินีของตนที่อยู่ในร่างกายให้มีพลังขึ้นมาเท่านั้น  วัชรยานกล่าวว่า การปฏิบัติโยคะนั้นก็เหมือนกับการเล่นกับไฟฟ้าแรงสูง และความประมาทเลินเล่อแม้เพียงเล็กน้อยอาจทำให้ถึงแก่ความตายหรือประสบทุกข์แสนสาหัสได้  จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบซับซ้อนภายใต้คำแนะนำของครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้น ในระเบียบปฏิบัติแห่งวัชรยาน จึงให้ความเคารพครูมาก  ครูนั้นเปรียบเหมือนศูนยะสูงสุด

        อีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อตำหนิหลักแห่งวัชรยาน คือ การสนับสนุนลัทธิบูชารูปปั้นหรือภาพเขียน สถานภาพของสาวกแห่งวัชรยานเป็นเพียงผู้บูชาเทวรูป  สามัญสำนึกของคนทั่วไปก็คือว่า เพียงการบูชาเทวรูปนั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง แม้ว่ามันอาจจะมีอิทธิพลในการยกระดับสังคมขึ้นมาบ้างก็ตาม แต่ว่าโดยเหตุผลแล้ว ไม่มีอะไรเป็นฐานรองรับพอที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริงได้  รูปแบบต่าง ๆ ของเทพและเทพีที่สร้างขึ้นมาและมีการบูชากันอย่างกว้างขวางนั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นแนวคิดในลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในภาพแห่งเทพและเทพี  หมู่เทพที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นโดยอาศัยช่องทางต่าง ๆ กัน โยคีทั้งหลายเท่านั้นสามารถอธิบายได้ว่าเทพและเทพีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  โยคีบางท่านอธิบายว่า โดยการบำเพ็ญกัมมัฏฐาน โพธิจิตย่อมสร้างภาพขึ้นในห้วงแห่งจิต ภาพที่ปรากฏในจิตนั้นจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามลำดับ จากภาพมนุษย์เป็นภาพเทพที่สมบูรณ์  เทพเหล่านี้เป็นรูปแบบแห่งศูนยะหรือปรมาตมัน เป็นร่างรวมแห่งพลังหรือศักติ ปรากฏแก่โยคีทั้งหลายอย่างแจ่มชัดเมื่อท่านบรรลุความสมบูรณ์แห่งจิต

        ปรัชญาวัชรยานไม่ได้มุ่งมวลชนแบบมหายาน การปฏิบัติโยคะไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน เพราะนักปราชญ์แห่งวัชรยานสำนึกอยู่ว่า คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าใจหลักการได้ถ่องแท้ แต่เมื่อหลักแห่งโยคตันตระเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน แนวคิดนี้ได้ถูกเปลี่ยนสภาพหรือลดคุณค่ากลายเป็นสิ่งชั่วช้าและเป็นเครื่องมือหากิน แทนที่จะทำให้เกิดกุณฑลินีอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้น กลับทำให้เกิดลูกหลานขึ้นมา  การมีความสัมพันธ์กับสตรีย่อมหลีกเลี่ยงปัญหานี้ไม่พ้นอยู่แล้ว  หลักแห่งวัชรยานที่ถูกต้องย่อมยกฐานะแห่งชีวาตมันหรือชีวะหรือวิญญาณ แต่ถ้านำไปใช้ไม่ถูกต้อง ย่อมให้ผลร้ายเป็นการทำลายชีวาตมัน เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมลง แม้จะเป็นศาสนาที่อยู่ในฐานะเป็นพลังทางจิตและศีลธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอินเดียก็ตาม  รูปปั้นหรือภาพของเทพและเทพีแห่งวัชรยานที่ปรากฏนั้น มักจะปรากฏออกมาในรูปแบบที่ไม่ค่อยเหมาะสม มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัวบ้าง อยู่ในอ้อมกอดแห่งศักติหรือสตรีบ้าง มีลักษณะโหดร้ายบ้าง  แม้จะนักปราชญ์ฝ่ายวัชรยานได้อธิบายภาพเชิงปรัชญาว่า นั่นเป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมเมตตาและปรัชญาเข้าด้วยกัน หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งการโปรดสัตว์บ้าง แต่อย่าลืมว่า ความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการอ่านตัวหนังสือกับการดูภาพด้วยตานั้นย่อมต่างกัน  ความประทับใจที่เกิดจากการมองภาพย่อมมีความเข้มมากกว่า จุดนี้เองทำให้ภาพลักษณ์แห่งวัชรยานไม่ค่อยดีนักในสายตาของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนายุคปัจจุบัน

        แต่อีกจุดหนึ่งที่ชวนให้ตั้งข้อสังเกตในกลุ่มผู้ศึกษาแนวคิดใหม่ทางพระพุทธศาสนาในปัจจุบันก็คือ ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงแนวคิดแห่งวัชรยานอย่างละเอียดนัก มีเหตุผลอยู่ ๒ ประการ คือ นักปราชญ์บางกลุ่มยังแยกไม่ออกระหว่างแนวคิดแห่งวัชรยานกับฮินดูตันตระ จึงไม่อยากจะกล่าววิจารณ์นัก และอีกเหตุผลก็คือ นักวิจารณ์ยุคใหม่ต่างชื่นชมในความกล้าหาญของพุทธศาสนามหายานที่มีวิธีการเผยแผ่ศาสนาโดยประยุกต์เข้ากับสภาพการณ์อย่างกลมกลืน  และมีวิธีการอธิบายพุทธธรรมอย่างแยบยล  เมื่อวัชรยานบอกว่า “พวกเขาเองก้าวไปไกลยิ่งกว่ามหายานทั้งในวิธีเผยแผ่และการอธิบายพุทธธรรม” ฝ่ายมหายานจึงไม่ค่อยจะยอมรับในจุดนี้ และไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงในบทวิเคราะห์วิจัยมากนัก  ความจริง วัชรยานมีนักเขียนและวรรณคดีจำนวนมาก และมีทฤษฎีหลายอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ พัฒนาการแห่งวัชรยานมีมาอย่างยาวนานเช่นกัน ทฤษฎีที่ผิดรูปผิดร่างและบางครั้งดูเหมือนจะเป็นไปในเชิงกามารมณ์นั้น เป็นเพราะความวิปริตของผู้ปฏิบัติบางกลุ่ม และมีความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อยู่อย่างหนึ่งว่า “การสอนโดยเอาความหละหลวมผ่อนปรนมาเป็นส่วนประกอบนั้น ย่อมทำให้ลัทธิได้รับความนิยมง่ายและรวดเร็ว”

(ที่มา: -)