บทความวิชาการ
ขบวนการพุทธใหม่ในประเทศไทย
06 พ.ย. 56 | บทความวิจัย
3493

ผู้แต่ง :: พระใบฎีกาสุพจน์ ตปสีโล (เกษนคร)

ชื่อผู้วิจัย : พระใบฎีกาสุพจน์ ตปสีโล (เกษนคร)
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553

บทคัดย่อ

    การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ประกอบด้วยเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา แนวปฏิบัติ วิธีการเผยแผ่ และอิทธิพลต่อสังคมของ พระครูพิพิธประชานาถ วัดสามัคคี คุณพ่อทองพูน เสาวโรนุพันธ์ วิหารธรรม และคุณแม่จันทร์ทา ฤกษ์ยาม สำนักปฏิบัติธรรมภูริทัตตะ โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการศึกษาที่ วัดสามัคคี ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ วิหารธรรมบ้านหนองโดน ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักปฏิบัติธรรมภูริทัตตะ บ.หนองไศล ต.ดูกอึ่ง อ.หนองฮี จ.วัดร้อยเอ็ด ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากสามแหล่งนี้ โดยใช้วิธีการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน ๑๕ รูป/คน โดยคัดจากผู้เป็นเจ้าสักนักและที่เป็นสมาชิกในกลุ่มขบวนการ

     ผลวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นสานุศิษย์ขบวนการพุทธแนวใหม่มีความเชื่อ และเลื่อมใสโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การหายจากโรคภัยไข้เจ็บ การหลุดพ้นจากความจากความยากจนและมีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข สานุศิษย์มีความหลากหลาย นอกจากนี้มีหลักการเผยแพร่แนวคิดและความคิดเป็นเครือข่ายทั้งชุมชนเมืองและชนบทอย่างไรก็ตามผลการวิจัยพบว่า แต่ละขบวนการมีหลักการ–แนวคิด พิธีกรรม ตลอดจนการปฏิบัติที่มีลักษณะเฉพาะตัว และแปลกแตกต่างไปจากสำนักอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะวิหารธรรมบ้านหนองโดน คือประกอบด้วยคติพุทธ คติพราหมณ์ คติการนับถือวิญญาณ วิธีการดำเนินชีวิตประจำวันผิดไปจากขบวนการ อื่น ๆ เช่น เลื่อมใสในองค์พระศรีอาริยเมตไตยที่ลงมาบำเพ็ญบารมีเป็นอาจารย์ทองพูน เสาวโรนุพันธ์ ที่บรรดาลูกศิษย์เรียกว่า พ่อต้น หรือองค์ต้น นั่นเอง

     ความเข้มข้นของการผสมผสานความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อด้านศาสนาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ทำให้เกิดเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดปรากฏการณ์ ทำให้หันเข้าสู่ความเชื่อเหนือธรรมชาติมากขึ้นมีความเชื่อหลากหลายมารวมกัน โดยมีกระบวนการขัดเกลาทางสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามาสนับสนุนและปัจจัยด้านผลประโยชน์ซึ่งเป็นของแต่ละขบวนการ เช่น เรื่องของเงินรายได้ หรือการได้รับการยกย่องจากสังคม

     จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อนั้น ชุมชนมีการรับความเชื่อใหม่เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมจนกระทั่งได้รูปแบบของความเชื่อใหม่ ซึ่งในทั้งสามกรณีในรายการวิจัยครั้งนี้ ชุมชนได้นำแนวปฏิบัติของแต่ละแห่งผสมผสานอย่างกลมกลืนกับวิถีการดำเนินชีวิตของตน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดมานานและมีตลอดเรื่อยมาในสังคมไทยเพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างซึ่งจะเห็นได้จากการนำเสนอมานี้