บทความวิชาการ
การวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ
14 ธ.ค. 59 | พระพุทธศาสนา
2123

ผู้แต่ง :: ภูริทัต ศรีอร่าม และคณะ

เข้าชม : ๖๙๓๒ ครั้ง

''การวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ''
 
ภูริทัต ศรีอร่าม และคณะ (2556)

 

การวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลัก

ปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท

กับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

A Comparative Analysis of Patisondhivinnana (Rebirth Consciousness) according to the Principles of Paticcasamuppada (the Dependent Origination)

in Theravada Buddhist Scholars with Buddhadasa

 

ภูริทัต  ศรีอร่าม: พธ.บ.(สาขาปรัชญา),

ศศ.ม.(สาขาพุทธศาสนาและปรัชญา)

พระมหาสำราญ  ญาณวุฑฺโฒ, ดร.:

พธ.บ.(สาขาปรัชญา), พธ.ม.(สาขาปรัชญา),

พธ.ด.(สาขาปรัชญา)

 

บทคัดย่อ

 

                    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ       

               ผลการวิจัย พบว่า ข้อมูลด้านคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เป็น ๒ นัย คือ แบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม ข้อมูลด้านนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาททุกท่านให้ความเห็นตามแบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏก ส่วนแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรมให้การยอมรับเป็นส่วนใหญ่ตามหลักฐานที่ปรากฏ เว้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ              พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ  อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฎฐานาจริยะ ข้อมูลด้านแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ท่านจะเน้นไปที่ปัจจุบันขณะเป็นสำคัญเหมือนนัยแห่งพระอภิธรรม ข้อมูลด้านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา  ทัศนะสรุปเป็นทั้งแบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม ข้อมูลด้านการเปรียบเทียบแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ความเห็นโดยภาพรวมยอมรับตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฎกอันเป็นแบบคร่อมภพคร่อมชาติและปัจจุบันขณะเป็นสำคัญเหมือนนัยแห่งพระอภิธรรม

               ผลการศึกษาครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ข้อมูลที่ได้ศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์มาทั้งหมด  จึงสามารถได้ว่าปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทสามารถอธิบายได้ทั้งแบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม

 

Abstract

 

               The purpose of this research. To study the Patisondhivinnana (Rebirth Consciousness) according to the Principles of Paticcasamuppada (the Dependent Origination) in Theravada Buddhist Scholars, to the Patisondhivinnana (Rebirth Consciousness) according to the Principles of Paticcasamuppada (the Dependent Origination) of ​​ Buddhadasa., for comparative analysis of of Patisondhivinnana (Rebirth Consciousness) according to the Principles of Paticcasamuppada (the Dependent Origination) in Theravada Buddhist Scholars with Buddhadasa.

               The results show that Data Book of Theravada Buddhism is the second implication is across the world across the country in accordance with the Suttantapitaka and present, while the implications of his Abhidhamma, for the scholars of Theravada Buddhism are the opinion-based across the world across.  In accordance with the Suttantapitaka, the current time in accordance with the Abhidhamma of acceptance is largely based on evidence. Alternate director Maha Samana Chao W. Wise Road flavor. And soon Dr. Patra Ta Maha Thera in a pharmacist's up to the Kampala City may long each local intelligence, data processes and ideas conceived by the Spirit and Spa in Bath's public servants Buddhist mendicant He is currently a major focus on the implications of his Abhidhamma, in their interviews with experts in Buddhism. Perspective that is both across the world across the country in accordance with the Suttantapitaka and present, while the implications of his Abhidhamma, data comparing the Paticcasamuppada (the Dependent Origination) in Theravada Buddhist Scholars with Buddhadasa The overall implications of the adoption of the model across the world Suttantapitaka across the nation and is now as important as the words of Abhidhamma.

               The results of this study.  Reflect that.  Research and analyze information to all. That the Patisondhivinnana (Rebirth Consciousness) according to the Principles of Paticcasamuppada (the Dependent Origination) can be explained by the Sea Worlds across the nation, both across the implication of the Suttantapitaka Current time in accordance with the Abhidhamma.

 

บทนำ

 

                    การศึกษาวิจัยเรื่องนี้เกิดจากความสนใจในหลักปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักที่อธิบายถึงสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันมีความเกี่ยวข้องกับภาวะชีวิตในปัจจุบันและเกี่ยวข้องกับหลักการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารของพระพุทธศาสนา ซึ่งใช้หลักปฏิจจสมุปบาทอธิบายเช่นเดียวกัน  วิญญาณหรือจิตเมื่อละกายสังขารแล้วถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะไปเกิดในภพภูมิอื่นตามกฎแห่งกรรม  การใช้ศัพท์ที่หมายถึงวิญญาณซึ่งนำไปเกิด ส่วนมากจะเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ คำว่าปฏิสนธิวิญญาณจะไม่มีปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก  มีปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา จะมีแต่คำว่า ปฏิสนธิจิต[1]  ที่ปรากฏในพระอภิธรรมเท่านั้น

               การที่วิญญาณหรือจิตที่มีกิเลสยังไปเกิดอยู่นั้น จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิญญาณที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดนามรูปตามหลักในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นแฝงที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่  เพราะมีพุทธพจน์ปรากฏหลักฐานในหลายแห่ง ผู้วิจัยจึงมีความต้องการศึกษาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทจากคัมภีร์พระไตรปิฏก ศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดปฏิสนธิวิญญาณในพระพุทธศาสนาเถรวาทจากผลงานของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ  อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฎฐานาจริยะและผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ  บรรณรุจิ เพื่อหาองค์ความรู้ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

 

เครื่องมือและวิธีการวิจัย

 

                    การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร มุ่งเน้นการศึกษาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับวิญญาณที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดนามรูปตามหลักในปฏิจจสมุปบาท  โดยศึกษาเฉพาะแนวความคิดด้านวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปก็เป็นแนวคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน ศึกษาแนวคิดของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ตามหลักการที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาเถรวาท

 

ผลการวิจัย

 

                    ผลการศึกษาพบว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับวิญญาณที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดนามรูปตามหลักปฏิจจสมุปบาทและวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปก็เป็นแนว คำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา จากแนวคิดของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทประกอบด้วย  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ  อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฎฐานาจริยะ  อาจารย์พร  รัตนสุบรรณ  อาจารย์วศิน  อินทสระ และผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ  นำข้อมูลของแต่ละท่านมาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ  สามารถสรุปการวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ดังนี้

            ๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

                     ๑) ทัศนะของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นในลักษณะคร่อมภพคร่อมชาติ 

                     ๒) ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุโดยใจความแล้วจะเน้นที่ชาติปัจจุบันซึ่งเป็นลักษณะที่ปฏิเสธปฏิจจสมุปบาทที่คร่อมภพคร่อมชาติ

            ๒. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

                     ๑) ทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  เป็นในสองลักษณะ คือ แบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม 

                     ๒) ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเน้นในปัจจุบันซึ่งมีลักษณะคล้ายตามนัยแห่งพระอภิธรรม

            ๓. พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฎฐานาจริยะกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

                     ๑) ทัศนะของพระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ  อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฎฐานา        จริยะ  เป็นลักษณะแบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏก 

                     ๒) ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเน้นในปัจจุบันและเน้นการแสวงหาความหลุดพ้นจากการสภาวะธรรมปัจจุบันจนบรรลุนิพพาน

            ๔. อาจารย์พร  รัตนสุวรรณกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

                     ๑) ทัศนะของท่านอาจารย์พร  รัตนสุวรรณ  เป็นในสองลักษณะ คือ แบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม 

                     ๒) ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเน้นในปัจจุบันและพิจารณาอารมณ์แห่งกิเลสของมนุษย์เมื่อมีอารมณ์โกรธเปรียบเหมือนกับกำลังเกิดเป็นสัตว์นรกเป็นต้น

            ๕. อาจารย์วศิน  อินทสระกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

                     ๑) ทัศนะของอาจารย์วศิน  อินทสระ  เป็นในสองลักษณะ คือ แบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม 

                     ๒) ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเน้นในปัจจุบันชาติเป็นประเด็นสำคัญ

            ๖. ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

                     ๑) ทัศนะของผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ  บรรณรุจิ  เป็นในสองลักษณะ คือ แบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม 

                     ๒) ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเน้นปัจจุบันชาติหรือปฏิจจสมุปปันนธรรม

            ๗. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนากับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

                      ๑) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา  เห็นเป็นสองลักษณะ คือ แบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่ง          พระอภิธรรม 

                     ๒) ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุจะเน้นปัจจุบันขณะเป็นสำคัญ

               ผลการสรุปวิเคราะห์ข้างต้นทำให้เห็นชัดเจนว่าความเห็นตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฎกอันเป็นแบบคร่อมภพคร่อมชาติ เป็นความเห็นแห่งนัยนิยมซึ่งได้รับการสืบต่อมารุ่นต่อรุ่นมี              พระอรรถกถาจารย์เป็นต้น ส่วนนัยแห่งพระอภิธรรมอันเป็นแบบปัจจุบันขณะมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์สายพระอภิธรรม ซึ่งจากตารางที่นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทให้ทัศนะแบบปัจจุบันขณะส่วนมากเป็นสายนักวิชาการในยุคใกล้เคียงกับสมัยปัจจุบัน, ส่วนทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุท่านจะเน้นไปที่ปัจจุบันขณะเป็นสำคัญเหมือนนัยแห่งพระอภิธรรม 

               ข้อมูลอันเป็นประเด็นที่น่าสังเกตในทัศนะของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ คือ แม้ว่าท่านจะมีทัศนะไปตามนัยแห่งพระอภิธรรมอันเป็นปัจจุบันขณะ แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏว่าท่านอ้างอิงข้อมูลปฏิจจสมุปบาทแบบปัจจุบันขณะจากคัมภีร์สายพระอภิธรรมเล่มใดเลย จึงเป็นลักษณะความเห็นอันเป็นอัตตโนมัติของท่านอันสอดคล้องกับนัยแห่งพระอภิธรรม ถึงแม้ว่าท่านจะมีทัศนะเป็นเชิงปฏิเสธพระอภิธรรมปิฏกก็ตาม

 

อภิปรายผล

 

               ผลการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ  สามารถสรุปได้ดังนี้

               ข้อมูลด้านคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  เป็น ๒ นัย คือ แบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม

               ข้อมูลด้านนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาททุกท่านให้ความเห็นตามแบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏก ส่วนแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรมให้การยอมรับเป็นส่วนใหญ่ตามหลักฐานที่ปรากฏ เว้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ        วโรรส  และพระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ  อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฎฐานาจริยะ 

               ข้อมูลด้านแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ  ท่านจะเน้นไปที่ปัจจุบันขณะเป็นสำคัญเหมือนนัยแห่งพระอภิธรรม

               ข้อมูลด้านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา ทัศนะสรุปเป็นทั้งแบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม

               ข้อมูลด้านการเปรียบเทียบแนวคิดปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ความเห็นโดยภาพรวมยอมรับตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฎกอันเป็นแบบคร่อมภพคร่อมชาติและปัจจุบันขณะเป็นสำคัญเหมือนนัยแห่งพระอภิธรรม

 

สรุปและข้อเสนอแนะ

 

                    ผลการศึกษา พบว่า ปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทสามารถอธิบายได้ทั้งแบบคร่อมภพคร่อมชาติตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏกและแบบปัจจุบันขณะตามนัยแห่งพระอภิธรรม  ดังนั้น  ผู้สนใจเพื่อการศึกษาต่อในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องหรือคล้ายคลึงกันสามารถไปเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาข้อสรุปในการตีความหลักธรรมอันมีทัศนะต่างกันได้ โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

               ๑.  ผู้สนใจในประเด็นเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาท ที่มีความประสงค์จะนำข้อมูลไปใช้ควรให้ความสำคัญกับหลักฐานอ้างอิงเป็นประเด็นหลัก

               ๒.  ผู้สนใจจะศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาท  ควรให้ความสำคัญกับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทตั้งแต่ชั้นปฐมภูมิเป็นต้น ตามลำดับ

               ๓.  ควรมีการศึกษาเชิงลึกเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฏก พร้อมชี้ให้เห็นประโยชน์จากการศึกษามุมมองด้านนี้

               ๔.  ควรมีการศึกษาเชิงลึกเรื่องปฏิสนธิวิญญาณตามหลักปฏิจจสมุปบาทตามนัยแห่งพระอภิธรรมปิฏก พร้อมชี้ให้เห็นประโยชน์จากการศึกษามุมมองด้านนี้

 

เอกสารอ้างอิง

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  มหาจุฬาเตปิฏกํ.  กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.

_______.  พระไตรปิฎกภาษาไทย.  กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.  พระไตรปิฎกและอรรถกถาภาษาบาลี.  กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕.

_______.  พระไตรปิฎกและอรรถกถาภาษาไทย.  กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕.



[1] อภิ.ม. ๔๑/๑๙๙๕/๕๘๕.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)