ข่าวมหาวิทยาลัย |
การศึกษาของพระสงฆ์ไทยที่ มจร. | ||
วันที่ ๑๗/๐๖/๒๐๐๖ | เข้าชม : ๑๗๓๗๔ ครั้ง | |
ปริญญาตรี คณะพุทธศาสตร์ ๖๕๙ รูป/คน คณะครุศาสตร์ ๓๖๓ รูป/คน คณะมนุษยศาสตร์ ๒๒๐ รูป/คน คณะสังคมศาสตร์ ๔๔๘ รูป/คน ปริญญาโท ๗๒ (พระภิกษุ ๔๔ รูป คฤหัสถ์ ๑๘) และ ปริญญาเอก ๒ รูป รวมทั้งหมด ๑๗๖๔ รูป/คน ทั้งหมดนี้คือสถิติผู้สำเร็จการศึกษาที่เข้ารับปริญญา ปี ๒๕๔๙ ของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) โดยในปีนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญา พุทธศาสตรบัณฑิต พุทธศาสตรมหาบัณฑิต และพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๙ ณ หอประชุมพุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บอกว่า การจัดการศึกษาให้พระภิกษุสามเณร มหาเถรสมาคมมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษา ระบบการศึกษาแบบเดิม คือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลี แผนกธรรมจัดเป็น ๓ ชั้น แผนกบาลีจัดเป็น ๙ ชั้น แผนกธรรม ซึ่งสอนธรรมเป็นภาษาไทยมุ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับพระภิกษุสามเณร ส่วนนักเรียนบาลี จะต้องศึกษาเล่าเรียน พระไตรปิฎก และอรรถกถา วิชาแปลมคธเป็นไทย และวิชาแปลไทยเป็นมคธ สามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคจะได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวง อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ยากต่อการเล่าเรียน เพราะส่วนใหญ่เน้นการท่องจำ อย่างไรก็ตาม รัฐได้รับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นเปรียญธรรมชั้นสูงสุดให้มีค่าเทียบเท่าชั้นปริญญาตรีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณรจึงขาดความสนใจในการศึกษาภาษาบาลี คณะสงฆ์ประสงค์จะให้รัฐรับรองเปรียญธรรม ๙ ประโยคให้มีค่าเทียบเท่าชั้นปริญญาเอก โดยพร้อมที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้มีการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาบาลี พระธรรมโกศาจารย์ บอกด้วยว่า การจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา แบบสมัยใหม่ในประเทศไทย ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ที่มีพระสงฆ์เป็นผู้บริหารสูงสุด มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนี้ได้รับงบประมาณ สนับสนุนจากรัฐบาลไทย จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีวิทยาเขต ๑๐ แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีวิทยาลัยสงฆ์ ๔ แห่ง โครงการขยายห้องเรียน ๑๐ แห่ง และสถาบันสมทบ ๓ แห่ง ซึ่งรวมที่เกาหลีใต้และไต้หวัน สาขาของมหาวิทยาลัยทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเปิดสอน ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีการก่อตั้งโครงการหลักสูตรนานาชาติ ระดับบัณฑิตศึกษาสอนเป็นภาษาอังกฤษ โครงการหลักสูตรนานาชาตินี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและครูอาจารย์จากต่างประเทศ เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและปรัชญาระดับสูงยิ่งขึ้นไป ถือว่าเป็นการรักษางานวิชาการ ที่เป็นเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เครือข่ายวิทยาเขตทั่วประเทศ ของมหาวิทยาลัยพยายามที่จะยกระดับการศึกษาและปฏิบัติธรรมในคณะสงฆ์ ตลอดทั้งผลิตพระสงฆ์ที่มีความสามารถ สอนพุทธธรรมได้อย่างถูกต้อง และบรรยายธรรมอย่างมีเหตุผล สอดคล้องกับเหตุการณ์ร่วมสมัย และเรื่องราวปัจจุบัน อีกนัยหนึ่ง เราออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตพระสงฆ์ให้สามารถจัดการปัญหาของชุมชนได้อีกด้วย "ในโครงการหลักสูตรนานาชาติ เราต้องการครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการสอนเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งช่วยประเมินผลและตรวจวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษ เราอยากให้มีการแลกเปลี่ยนครูอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาต่างประเทศกับสถาบันอื่นๆ และเพื่อเป็นสะพานเชื่อมเครือข่ายทั่วโลก" พระธรรมโกศาจารย์ กล่าว หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นำเสนอโดย พระมหาศรีทนต์ สมจาโร |
Web Link : http://www.komchadluek.net/2006/06/08/j001_17411.php?news_id=17411 | ||
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||