24ธันวาคม2558 ที่ห้องประชุม มวก 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดมความคิดเห็น เพื่อพัฒนาภารกิจงานคณะสงฆ์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาครั้งที่ 3 /2558 ซึ่งจัดโดยมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และมจรร่วมกันจัดโดยมีพระเจ้าคณะผู้ปกครองและพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดลงมาทั่วประเทศทั้ง 2 นิกาย รวมถึงผู้บริหาร มจร ประมาณ 1,000 รูป/คนเข้าร่วม โดยมีพระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานเปิดโครงการพร้อมกล่าวว่า เป็นกิจกรรมสำคัญของมติมหาเถรสมาคมร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นการจัดประชุมเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนา คำว่า การปฏิรูป คือ การทำให้ดีขึ้นให้สมควรและเหมาะสม
"การปฏิรูปนั้นต้องเริ่มต้นจากตนเองก่อนเท่านั้น เหมือนรัฐบาลจะไปปฏิรูปคนอื่นตัวรัฐบาลเองต้องปฏิรูปตนเองก่อน ต้องทำให้คนในชาติให้ความร่วมมือ ถึงการปฏิรูปจะสำเร็จ จึงเป็นโอกาสที่เราจะมาปฏิรูปตนเอง ขอให้พระยึดพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ พระมีกฎระเบียบอยู่แล้ว แต่ต้องยึดกฎระเบียบ กติกา เป็นสำคัญ ฉะนั้น คำว่า "สมควร และเหมาะสม" เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอย่างมาก ไม่ต้องกลัวไม่ต้องเกรงศาสนาอื่นๆ ว่าเขาจะมาทำลายเรา ฉะนั้น ถ้าเราจะปฏิรูป เราต้องปฏิรูปเริ่มต้นจากตัวเรา อะไรที่ดีงามที่ส่งเสริมกัน อะไรที่ทำให้เสื่อมเสียก็ป้องกัน เหมือนจะปฏิรูปประเทศ ประชาชนในชาติต้องให้ความร่วมมือ โดยผู้จะไปปฏิรูปใครต้องปฏิรูปตนเองก่อน เราต้องการบุคลากรพระศาสนาที่พึงประสงค์ เราต้องปฏิรูปตนเองเท่านั้น ถึงจะมีความสำเร็จในการปฏิรูป ฉะนั้น เราต้องเป็นบุคลากรอันพึงประสงค์ของพระพุทธศาสนา" พระพรหมมุนี กล่าว
ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแล พศ.บรรยายเรื่อง "กิจการปฏิรูปพระพุทธศาสนา" ความว่า อยากเน้นพัฒนาความรู้ควบคู่คุณธรรมโดยมองไปข้างหน้าอีก 20 ปี อยากได้คนที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศรัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีการผลักดันหมู่บ้านรักษาศีล 5 เข้าสู่กระทรวงศึกษาธิการอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม อีก 20 ข้างหน้า เราต้องมีคนที่มีคุณภาพจริงๆ ทั้งด้านความรู้และคุณธรรม รัฐบาลและคณะสงฆ์ต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาคน
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร บรรยายต่อความว่า ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน พลังจากภายนอกไม่สามารถทำอะไรเราได้ ยกเว้นภายในจะทำลายเอง ซึ่งการปฏิรูปมิใช่การปฏิวัติเราต้องปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ แต่ภิกษุสงฆ์มีกฎหมายอันพึงฟังอยู่ 3 ประเภท คือ กฎหมายแผ่นดิน พระวินัย จารีต ดังนั้นเวลาจะออกกฏหมายอะไรเกี่ยวกับสงฆ์ต้องดูจารีตและพระวินัยด้วย อย่าเน้นแต่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว โดยเฉพาะกิจการของคณะสงฆ์มีพระวินัยและจารีตกำกับจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
"การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาต้องเดินตามหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อ คือ 1.การมีส่วนร่วม (Participation) 2.ความโปร่งใส (Transparency) 3.ความโปร่งใส (Accountability) 4.หลักนิติธรรม (Rule of Lew) 5.ประสิทธิภาพ (Efficiency) 6.ประสิทธิผล (Effectiveness) สรุป คือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจการพระพุทธศาสนาที่ทำโดยไม่คำนึงถึงพระธรรมและจารีต แทนที่จะเป็นคุณกลับเป็นโทษแก่พระพระพุทธศาสนา เพราะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ แทนที่จะปฏิรูปศาสนา กลายเป็นปฏิวัติศาสนา" อธิการบดี มจร กล่าว
ช่วงภาคบ่ายเป็นการ เสวนาวิชาการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาที่พึงประสงค์โดยมีข้อเสนออย่างเช่นตั้งโรงเรียนเจ้าอาวาสโดยตรงฝึกอบรมกันอย่างเข้มข้น ต้องเสริมสร้างกำลังบุคลากรฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องมีช่วยกันอย่างจริงจัง โดยมีความ "เป็นหนึ่งเดียวกับมหานิกายและธรรมยุติ ทั้งมหายานและเถรวาท" ต้องเป็นเดียวกัน สามัคคีกัน ต้องมี "แม่กองวิปัสสนากรรมฐาน" ให้เกิดขึ้น เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันในการฝึกปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้า การปกครองต้องมีการแบ่งงานให้ทั่วถึง เป็นการแบ่งเบาภาระ ให้โอกาสเพื่อมีงานทำ ระบบการศึกษาของพระสงฆ์ เมื่อจบการศึกษาต้องใช้งาน ให้มีงานทำเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์ "เจ้าอาวาสต้องใช้งาน ไม่ใช้งานท่านก็ลาสิกขา" รัฐต้องสนับสนุนให้มีศูนย์ไอทีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ความเข้มแข็งของพระพุทธศาสนาของเราอยู่ตรงไหน เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้บุคลากรสงฆ์ เราต้องจัดการคนที่ปลอมแปลงมาบวช เพื่อจะทำลายพระพุทธศาสนา Reform Plan การฟื้นฟูศาสนา หรือ การคืนชีวิตชีวาแก่ศาสนา สรุป คือ การศึกษา เราต้องมี นักธรรม บาลี และปริยัติ รวมเป็นหลักสูตรเดียว เพื่อง่ายต่อการศึกษา การปกครองมีการตั้งสภาพระพุทธศาสนา ตอนนี้ศาสนาพุทธของเราลำบาก เราอยากตั้ง "พุทธอุทยาน" จำนวน 4 ภาค อยากเน้นเรื่องโครงการของคณะสงฆ์ที่ชัดเจน
ที่มา; คมชัดลึกออนไลน์ 24 ธันวาคม 2558
ข้อมูล; ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร