17ม.ค.2559 พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ดร. อาจารย์ประจำและหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ อัตมาภาพและทีมวิจัยของสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเรื่อง “แนวคิดและหลักการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา” เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ แนวคิดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกศึกษาแนวคิด เป้าหมายและวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาปัญหาและอุปสรรคของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้
ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลกับกลุ่มประชากรคือ กลุ่มผู้บริหารโครงการพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ได้แก่สมัชชาสงฆ์ไทย หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการฝึกอบรมพระธรรมทูต และจากพระธรรมทูตที่ปฏิบัติงานและเคยปฏิบัติงานเป็นพระธรรมทูตในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 100 รูป ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบบังเอิญ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบผสมผสานทั้งปริมาณและคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า
1.แนวคิด วิธีการและเป้าหมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตเป็นไปตามหลักพุทธโอวาท แสดงธรรมให้เหมาะสมกาลเทศะ มีเหตุผล แสดงธรรมด้วยจิตเมตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟังไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ไม่แสดงธรรมโดยยกตนข่มท่านและไม่เสียดสีข่มขู่ผู้อื่น เป้าหมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตสายต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล ความสุขแก่บุคคลทั้งที่เป็นชาวพุทธและมิใช่ชาวพุทธ มุ่งที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคลในการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
โดยใช้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทางในการชี้นำบุคคลให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมของชาวพุทธในต่างประเทศ โดยมีวิธีการเผยแผ่เพระพุทธศาสนาได้แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ตั้ง หรือการจัดกิจกรรมภายในวัดเช่น การจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญของชาติการเทศน์ การปาฐกถา การเขียนบทความ การจัดสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนานอกที่ตั้ง เช่น การสอน,บรรยายธรรมในสถานศึกษาหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่อยู่นอกวัด การใช้เทคโนโลยี สื่อสารมวลชน วิทยุโทรทัศน์หรือการจัดกิจกรรมทางศาสนานอกวัดเป็นต้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบเครือข่าย เช่น การจัดกิจกรรมทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม การส่งต่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสร้างเครือข่ายชาวพุทธทั้งฝ่ายฆราวาสและพระสงฆ์ (สมัชชาสงฆ์ไทย)
2. ปัญหาและอุปสรรคการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น พระธรรมทูตยังไม่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของประเทศที่ตนไปเผยแผ่ดีพอ ทำให้การสื่อสารกับคนในประเทศนั้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ด้านองค์กรสงฆ์ที่มีส่วนในการดูแลพระธรรมทูตยังก็ไม่เข้มแข็งพอ จึงให้การสนับสนุนและดูแลได้ไม่ทั่วถึง แม้ปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงแต่ก็ยังครอบคลุมได้ไม่ทั่วถึง เช่นศูนย์ควบคุมดูแลพระไปต่างประเทศก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตก็ทำหน้าอีกอย่าง อบรมพระธรรมทูตแล้วส่วนการคัดเลือกว่าพระสงฆ์รูปใดจะได้เดินทางไปประเทศไหนนั้นเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งเมื่อผ่านเกณฑ์พิจารณาแล้วก็ต้องผ่านขั้นตอนในการขอหนังสือเดินทาง ขอวีซ่าเข้าประเทศ บางประเทศก็ยากมากและให้เวลาในการพำนักในประเทศนั้นๆ น้อยทำให้เกิดความไม่ต่อเรื่องในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
3. แนวทางการแก้ไขปัญหาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในสหรัฐอเมริกา ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหาร การจัดการและการปกครองสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ โดยจัดตั้งสถาบันหรือวิทยาลัยพระธรรมทูต เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านงานเผยแผ่พระศาสนาในต่างประเทศ จัดตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการพระธรรมทูต ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ควรได้รับมอบอำนาจจากมหาเถรสมาคม ให้สามารถเข้าไปดูแลเรื่องการคัดเลือก จัดส่งพระธรรมทูตฯ ไปประจำหรือทำงานในต่างประเทศการดูแลเรื่องสวัสดิการ สุขภาพ การเดินทางไปเผยแผ่ การพิจารณาให้ความดีความชอบ และมาตรการลงโทษ พร้อมกันนี้ก็ควรมีบุคลากร และงบประมาณรับสนองงานด้านนี้อย่างเพียงพอ
จากผลการวิจัยดังกล่าวมีข้อเสนอแนะข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้
1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศควรกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุนให้พระธรรมทูตในต่างประเทศนำวิธีการการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามหลักพุทธโอวาท กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ สร้างกลยุทธ์เครือข่ายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาระหว่างพระธรรมทูตและชาวพุทธในต่างประเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
2. มหาวิทยาลัยสงฆ์และองค์กรร่วมมือฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ควรเพิ่มเติมเนื้อหาสารเกี่ยวกับเทคนิควิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบเครือข่ายใช้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทางในการชี้นำบุคคลให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมของชาวพุทธในต่างประเทศ เช่น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ตั้ง หรือการจัดกิจกรรมภายในวัดเช่นการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญของชาติการเทศน์ การปาฐกถา การเขียนบทความ การจัดสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนานอกที่ตั้ง เช่นการสอน,บรรยายธรรมในสถานศึกษาหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่อยู่นอกวัด
3. รัฐบาล ควรสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของมหาเถรสมาคมอย่างใกล้ชิด การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการพระพุทธศาสนาในต่างแดน การอำนวยความสะดวกให้พระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ได้สะดวก การสนับสนุนเครือข่ายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกรูปแบบ
4. สถานทูตในแต่ละประเทศที่มีพระธรรมทูตอยู่ ควรกำหนดเป็นนโยบายในการส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศที่พระธรรมทูตจะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งของการคงอยู่ของวัดในต่างประเทศด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัด การจัดกิจกรรม และการสร้างความเข้าใจระหว่างชาวพุทธและชาวศาสนาอื่น
ขณะที่ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ 1. หน่วยงานฝึกอบรมพระธรรมทูต (สถาบันการศึกษาทางคณะสงฆ์) ร่วมกับ องค์กรพระธรรมทูตในต่างประเทศร่วมกันจัดทำหลักสูตรที่เอื้อต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแต่ละพื้นที่(ประเทศ) เพื่อให้การปฏิบัติงานของพระธรรมทูตมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
2. รัฐบาลนำแนวนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคมมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยให้พระธรรมทูตเป็นสื่อกลางนำวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรที่ดูแลพระธรรมทูตสายต่างประเทศ โดยการสร้างระบบเครือข่ายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ในแต่ละประเทศ ร่วมถึงระหว่างพระธรรมทูตต่างประเทศและพระสงฆ์ในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งกันและกัน
4. การวางกรอบภาระงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศให้เป็นเอกภาพ เช่น ศูนย์ควบคุมดูแลพระไปต่างประเทศ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูต (มหาวิทยาลัยสงฆ์) หน่วยงานภาครัฐ ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวางกรอบขั้นตอนและการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของพระธรรมทูตทุกขั้นตอน
5. มหาวิทยาลัยสงฆ์ร่วมกับองค์กรคณะสงฆ์และหน่วยงานสนับสนุนควรหาแนวทางการจัดตั้งสถาบันหรือวิทยาลัยพระธรรมทูต เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านงานเผยแผ่พระศาสนาในต่างประเทศจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการพระธรรมทูตซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้ควรได้รับมอบอำนาจจากมหาเถรสมาคมให้สามารถเข้าไปดูแลเรื่องการคัดเลือกจัดส่งพระธรรมทูตฯไปประจำหรือทำงานในต่างประเทศการดูแลเรื่องสวัสดิการสุขภาพการเดินทางไปเผยแผ่การพิจารณาให้ความดีความชอบและมาตรการลงโทษพร้อมกันนี้ก็ควรมีบุคลากรและงบประมาณรับสนองงานด้านนี้อย่างเพียงพอ
6. พระธรรมทูตในต่างประเทศต้องทำงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะพระธรรมทูตภายในวัดต้องศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและวัฒนธรรม เพื่อขยายงานให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความองอาจและสามารถที่จะอธิบายธรรมะให้กับชาวต่างชาติได้ขณะเดียวกันควรมีการสร้างเครือข่ายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบที่หลากหลายผ่านสื่อเทคโนโลยี Internet วิทยุหรือโทรทัศน์ ส่งเสริมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับรูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
สำหรับปี 2559 นี้ วิทยาลัยพระธรรมทูต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกำลังเปิดรับสมัครพระภิกษุผู้มีใจรักศรัทธาในการเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างแดน มีความอดทน เสียสละ เข้าโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 22 อบรม 3 เดือน ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม – 9 มิถุนายน 2559 เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ถึง วันที่ 6 มีนาคม 2559
พระภิกษุรูปใดสนใจเข้ารับการอบรม ติดต่อ วิทยาลัยพระธรรมทูต หรือ กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) สถานที่ อาคารเรียนรวม ชั้น ๓ โซน D ห้อง D300 เลขที่ ๗๙ หมู่ที่ ๑ หลักกิโลเมตรที่ ๕๕ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๑๗๐ โทรศัพท์ ๐-๓๕๒๔-๘๐๐๐ ต่อ ๘๐๖๕โทรสาร ๐-๓๕๒๔-๘๐๖๕ หรือ อาคารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ห้อง ๒๑๐ วัดมหาธาตุ ฯ กรุงเทพ ฯ โทรศัพท์ ๐-๓๕๒๔-๘๐๐๐ ต่อ ๑๑๓๕ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่http://odc.mcu.ac.th/?p=1589
ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20160117/220722.html