ข่าวมหาวิทยาลัย |
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยโครงการครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี ระหว่าง สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ||
วันที่ ๑๐/๐๓/๒๐๑๖ | เข้าชม : ๑๐๓๗ ครั้ง | |
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ในการดำเนินโครงการครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการด้านโภชนาการของพระสงฆ์ที่เป็นรูปธรรม โดย รศ.ดร.จงจิตร อังคทะวานิช อาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากผลการศึกษาวิจัยปัญหาภาวะโภชนาการในพระสงฆ์ เมื่อปี 2555 พบว่า พระสงฆ์มีโรคอ้วน 48% โรคเบาหวาน 10.4% โรคโคเลสเตอรอลสูง 42% และโรคความดันโลหิตสูง 23% นอกจากนี้ยังพบว่า รอบเอว เป็นสิ่งบ่งชี้ปัญหาสุขภาพ ถ้ารอบเอวเพิ่มน้ำตาลในเลือด ไขมัน ความดัน และกรดยูริกก็เพิ่มด้วย ทางโครงการจึงได้หาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้พัฒนาสื่อสงฆ์ไทยไกลโรคสำหรับพระสงฆ์ 7 ชิ้น ฆราวาส 7 ชิ้น แม่ครัวและผู้ปรุงอาหารใส่บาตร 4 ชิ้น และนำสื่อดังกล่าวไปทดลองใช้กับพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ 4 วัด เป็นเวลา 8 สัปดาห์ รศ.ดร.จงจิต กล่าวต่อไปว่า ผลการทดลองพบว่า เป็นที่น่าพอใจ โดยพระสงฆ์มีน้ำหนักลด 1 กิโลกรัม รอบเอวลด 1.4 เซนติเมตร กลุ่มที่กำลังจะเกิดเบาหวานมีจำนวนลดลง 9.3% ไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง 48 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไขมันไตรีกลีเซอร์ไรด์ลดลง 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และความดันโลหิตลดลง 3.7 มิลลิเมตรปรอท พระสงฆ์ฉันอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น 13 กรัม/วัน ใยอาหารเพิ่มขึ้น 4.3 กรัม/วัน ฉันผักเพิ่มขึ้นวันละ 1 ทัพพี กะทิลดลงวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้น วันละ 155 มิลลิกรัม และออกกำลังเพิ่มขึ้นอีกวันละ 50 นาที อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการนำสื่อดังกล่าวไปขยายผลอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศต่อไป และจะดำเนินโครงการนำร่องครัวต้นแบบที่ มจร. เป็นแห่งแรก เพื่อเป็นตัวอย่างในการวางระบบความปลอดภัยของอาหาร พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดีมากขึ้น โดยการจัดทำครัวต้นแบบ จะไม่ได้ดำเนินการเฉพาะที่ มจร.ส่วนกลางเท่านั้น แต่จะขยายผลไปยังทุกวิทยาเขตของ มจร. ทั้งในและต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตามอยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน โดยนอกจากจะให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องโภชนาการแก่พระสงฆ์แล้ว ต้องให้ญาติโยมได้ทราบด้วย เพราะทุกวันนี้พระต้องฉันตามใจโยม เมื่อโยมนำอาหารมาถวาย ก็จะนั่งเฝ้าและให้ฉันอาหารที่มาถวาย ซึ่งแม้พระบางรูปจะมีโรคความดัน หรือเบาหวาน แต่ก็จำต้องฉันตามความต้องการของโยม ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา วันที่ 9 มีนาคม 2559
|
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||