สมาคมศิษย์เก่า มจร.น้อมกตัญญู รำลึกคุณ"ปูชนียบุคคล-บุรพาจารย์"
24 ก.ค. 49 | ข่าวมหาวิทยาลัย
842
|
ข่าวมหาวิทยาลัย |
|
สมาคมศิษย์เก่า มจร.น้อมกตัญญู รำลึกคุณ"ปูชนียบุคคล-บุรพาจารย์" |
วันที่ ๒๔/๐๗/๒๐๐๖ |
เข้าชม : ๑๒๖๐๗ ครั้ง |
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดดำเนินการศึกษาในรูปแบบของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๐ ถือเป็นวันแรกที่มหาวิทยาลัยได้เริ่มมีบุรพาจารย์"ท่านเหล่านั้นได้เสียสละอุทิศตนอุทิศเวลา เพื่อถวายความรู้แก่บรรดานิสิตของมหาวิทยาลัย ให้มีความรู้ ความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับทำให้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างสำนึกถึงพระคุณของบรรดาปูชนียบุคคลและบุรพาจารย์ของมหาวิทยาลัย ด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรมเป็นอย่างยิ่ง และได้แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก ในการจัดงานอนุสรณ์ครบรอบ ๕ ปีแห่งการศึกษามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ โดยได้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัย และพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตตเถร) องค์ปฐมสภานายกมหาวิทยาลัยก่อนที่จะได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณีสืบมาทุกปี
สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ การจัดงาน วันบุรพาจารย์ ได้กำหนดจัดขึ้น ณ วัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ จัดให้มีการประชุมใหญ่สมัยสามัญประจำปี ๒๕๔๙ ของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิธีการถวายพวงมาลาและกล่าวอาศิรวาทสดุดีแด่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น เป็นพิธีสงฆ์เพื่อทำบุญอุทิศถวายแด่บุรพาจารย์ผู้ล่วงลับและรดน้ำบุรพาจารย์ผู้อาวุโส ในการนี้ ได้จัดให้มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ธรรมะกับการเมือง" โดยมีพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เป็นองค์ปาฐก พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า ธรรมะกับการเมืองนั้น เป็นเรื่องของอำนาจ ทั้งการแสวงหาอำนาจ การรักษาอำนาจ และการใช้อำนาจ ถ้านักการเมืองไม่มีธรรมะแล้ว อำนาจที่มีอยู่จะไม่ยั่งยืน ซึ่งธรรมะสามารถที่จะทำให้นักการเมืองเป็นรัฐบุรุษ หรือนักการเมืองที่ยั่งยืนได้ ทั้งนี้ การเมืองของไทยในระบอบประชาธิปไตยมีความพิเศษเฉพาะแตกต่างจากระบอบการปกครองอื่นทั่วไป เนื่องจากสังคมไทยมีความหลากหลายทางความคิด ดังนั้น หลักธรรมะที่จะสามารถทำให้สังคมประชาธิปไตยของไทยอยู่ได้อย่างสามัคคีและเกิดความสงบสุขได้นั้น ควรที่จะนำหลักขันติและหลักโสรัจจะ คือ ความสงบเสงี่ยมมาใช้ด้วย พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวต่อว่า การนำขันติมาใช้ จะช่วยให้นักการเมืองรู้จักยับยั้งตนเองให้ รู้จักฟังผู้อื่น เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะในระบอบประชาธิปไตยให้เสรีภาพทางความคิดของประชาชน ทุกคนย่อมที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ถ้านักการเมืองไม่รู้จักการใช้ขันติแล้ว จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในขณะเดียวกันจะต้องนำหลักโสรัจจะ คือ ความสงบเสงี่ยม มาใช้ควบคู่กันไปด้วย จึงจะเกิดผลดีต่อบุคคลที่นำไปใช้ปฏิบัติ เนื่องจากความสงบเสงี่ยมจะทำให้เป็นคนที่ยอมรับเหตุผล กลายเป็นคนที่มองอะไรรอบด้านเข้าใจหลักความเป็นจริงของชีวิต "ประชาธิปไตยของประเทศไทยยังขาดในเรื่องของขันติกับโสรัจจะ ซึ่งถ้านักการเมืองและสังคมมีหลักธรรมดังกล่าว สังคมจะเกิดความสามัคคีและจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศจะต้องมีความอดทนเป็นพิเศษ และใช้อำนาจในทางที่ชอบเพื่อประชาชน รวมทั้งต้องมองให้เห็นว่าทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน ไม่ได้เห็นพวกของตนดีกว่า จึงจะทำให้อยู่บนเส้นทางการเมืองได้อย่างมั่นคงและสังคมจะเกิดความสงบสุข" พระธรรมโกศาจารย์ กล่าว
ที่มา:หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ หน้า ๓๒ |