ข่าวมหาวิทยาลัย |
จาก"มหาวิทยาลัยเถื่อน" สู่มหาวิทยาลัยระดับโลก! | ||
วันที่ ๑๙/๐๓/๒๐๑๘ | เข้าชม : ๔๒๔ ครั้ง | |
จาก"มหาวิทยาลัยเถื่อน" สู่มหาวิทยาลัยระดับโลก! สัปดาห์นี้ขอเอ่ยถึง “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” อดีตเคยถูกกีดกันสารพัด แต่ปัจจุบันพัฒนา
ใครจะคาดคิดว่ามหาวิทยาลัยที่ถูกมองว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเถื่อน” เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกกีดกันจากพระผู้ใหญ่บางรูป เป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลไม่รับรองวุฒิการศึกษา และเป็นอดีตมหาวิทยาลัยที่อาจารย์สอนไม่เคยมีเงินเดือน ซ้ำบางท่านสอนฟรีไม่พอ ยังต้องถวายน้ำปานะเลี้ยงนิสิตอีก
วันนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจำนวน 63 รุ่น แยกเป็นระดับปริญญาตรี 50,674 รูป/คน ปริญญาโท 6,679 รูป/คนและปริญญาเอก 1,019 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 58,372 รูป/คน เป็นมหาวิทยาลัยของประเทศไทยแห่งเดียวที่แก้ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้สร้างโอกาสทางการศึกษา ให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสก้าวสู่มหาวิทยาลัยทั่วไป
รวมทั้งลูกที่ถูกทอดทิ้ง กำพร้า อนาถา ชาวเขา ก็สามารถเข้ามาศึกษาสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งนี้ได้ ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนไปแล้วทั่วประเทศและทั่วโลก โดยในต่างประเทศมีสถาบันสมทบ 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฮังการี สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ และใต้หวัน
ส่วนในประเทศไทยมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หน่วยวิทยบริการและโครงการขยายห้องเรียน ครอบคลุมทุกภูมิภาคใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ เปิดการเรียนการสอนมากถึง 227 หลักสูตร เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป ปัจจุบันมีนิสิตทั้งสิ้น จำนวน 24,344 รูป/คน มีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ 3,003 รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผลิตบุคลากรไม่เฉพาะเพื่อสนองงานคณะสงฆ์เท่านั้น แม้แต่ในฝ่ายบ้านเมืองก็มี “ศิษย์เก่า” สถาบันการศึกษาแห่งนี้ไม่ใช่น้อย
สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ หากจำไม่ผิดจ่ายค่าเทอมเพียงเทอมละประมาณ 1,700 บาท พวกเราไม่มีโอกาสนั่งรถเมล์เหมือนคนทั่วไป เพราะธรรมชาติรถเมล์เวลาเจอพระไม่ค่อยรับและยิ่งรถเมล์ที่มีแอร์ยิ่งไม่อยากรับ พระนิสิตรุ่นผมสมัยนั้นต้องนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงที่ท่ารถไฟข้างๆ โรงพยายาลศิริราช มีรถเมล์เก่าๆ สีเหลืองอยู่ 2 คัน จะมาค่อยรับส่งพระนิสิตที่ท่าเรือแห่งนี้ เวลาค่ำๆ ก็นั่งรถกระเป๊าะคันเล็กๆ กลับมายังท่าเรือแห่งนี้และอาศัย “เรือด่วนเจ้าพระยาฟรี” เพื่อกลับวัด
วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่ผมจำพรรษา ด้วยความที่ไม่มีเงินซื้อหนังสือดีๆ หลังฉันเช้าเสร็จผมมักจะเดินข้ามฟากมาจากท่าเตียนเพื่อมาอ่านหนังสือใหม่ๆ ตรงร้านหนังสือนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ สมัยนั้นร้านนายอินทร์ชั้น 2 จะมีมุมนั่งให้อ่านหนังสือ เราก็ทำเป็นเลือกโน้นเลือกนี่แล้วก็หยิบหนังสือการเมือง หรือหนังสือประเภทวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่คิดว่าถูกกับจริตของเราหยิบไปอ่าน
เมื่อถึงเวลาใกล้ๆ ฉันเพล ก็ซื้ออาหารกล่องไปฉันตรงตึกมหาจุฬาฯ วัดมหาธาตุ แล้วก็ข้ามฟากไปนั่งรถต่อเพื่อเรียนยังศูนย์วัดศรีสุดาราม ตกช่วงเย็นๆ หากมีเวลาเหลือหรือบางวันอาจารย์สอนติดภารกิจไม่มาสอน ผมจะไปห้องสมุด “ดิเรก ชัยนาม” ชั้น 5 ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำ
ยุคสมัยนั้น “หลักสูตรรัฐศาสตร์” ยังไม่ถูกรับรองจากรัฐบาล มักมีรุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ไปทะเลาะกับคน กพ.ประจำ เพราะบางคนสึกออกไปแล้วไปสอบปลัดอำเภอบ้าง สอบเข้าราชการบ้างใน “สาขารัฐศาสตร์” บางคนสอบติดแต่เวลาตรวจสอบวุฒิการศึกษาปรากฎว่า“หลักสูตร กพ.ไม่รับรอง”
จนเมื่อปี พ.ศ.2540 มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองและมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นของตนเอง ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลและเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และนับตั้งแต่นั้นมา “มหาวิทยาลัยสงฆ์” แห่งนี้ก็เหมือน “พยัคฆ์ติดปีก” มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เกิดสถาบันภาษา, วิทยาลัยพระธรรมทูต, ศูนย์อาเซียนศึกษา, สถาบันวิปัสสนา, วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ
มีพระสงฆ์นิกายต่างๆ รวมทั้งฆราวาสเดินทางมาเรียน ณ สถาบันแห่งนี้จากทุกมุมโลก เป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลกอย่างแท้จริง มีพระธรรมทูตเผยแผ่พุทธศาสนากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั้งในยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย พูดง่ายๆ ไม่มีพระธรรมทูตคนไหน ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เว้น “คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย” และที่สำคัญปัจจุบันพระนิสิตที่จบจากสถาบันแห่งนี้มีทุกระดับชั้นไม่เว้นแม้กระทั้ง “กรรมการมหาเถรสมาคม”
ในวันพุธที่ 13 กันยายน 2560 นี้ สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินี้มีอายุครบ 130 ปีแล้ว และถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ผมในฐานะศิษย์เก่าขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ “ผลิตพวกผมออกมา” จนกล้าประกาศเลยว่า “พวกเรามีดีและมีองค์ความรู้ไม่แพ้สถาบันใด”
และก็อดภูมิใจเล็กๆ ไม่ได้ว่า...วันนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย...จาก “มหาวิทยาลัยเถื่อน” สามารถพัฒนาไปสู่ “มหาวิทยาลัยระดับโลก” ได้
…......................................
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com
ขอบคุณภาจาก เฟซบุ๊ค Mcu Tv-channel และพระโสภณวชิราภรณ์ ... ที่มา : https://dailynews.co.th/article/597752
ขอขอบคุณ : ภาพ/ข่าว เว็บไซต์ข่าว เดลินิวส์
|
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||