ข่าวมหาวิทยาลัย |
มจร วิทยาเขตขอนแก่น จัดการประชุม วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๕ ระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๓ | ||
วันที่ ๒๘/๐๓/๒๐๑๘ | เข้าชม : ๓๙๐ ครั้ง | |
มจร วิทยาเขตขอนแก่น จัดการประชุม วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๕ ระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๓ พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร.อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงาน การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๕ ระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๓ จิตอาสากับการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน “Volunteer Spirit for Sustainable Social Development” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ - ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “จิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” กล่าวว่า คำว่า “อาสา” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า เสนอเข้าทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามด้วยความเต็มใจ เรียกว่า อาสา และจิตอาสา ให้ความหมายว่า เป็นความสมัครใจ จิตนั้นเป็นเรื่องความคิด เต็มใจทำงานเพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนและสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเงิน เกียรติ หรือสิ่งอื่นใด จิตอาสาในภาษาอังกฤษ “volunteering” หรือ “volunteer” แปลว่า อาสาสมัคร เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก คนที่ทำไม่ว่าจะทำคนเดียวหรือทำเป็นกลุ่ม มุ่งให้การบริการโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงิน หรือลาภยศอื่นใด “For non Financial or Social agent” ไม่เรียกร้อง ตอบแทน ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนทั้งกลุ่มหรือแก่องค์กรใดๆ ก็ตาม นี่คือจิตอาสา ใครมาทำงานด้านจิตอาสาก็จะต้องเข้าใจว่าประโยชน์คนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ ในทางพระพุทธศาสนา แบ่งประโยชน์เป็น 3 ๑. อัตตัตถะ คือ ประโยชน์ของตนเอง ๒. ปรัตถะ คือ ประโยชน์แก่บุคคลอื่นและสังคม ๓. อุภยัตถะ คือ ประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น ผู้ทำงานจิตอาสา เก็บประโยชน์ตนไว้ก่อน มุ่งปรัตถะ ประโยชน์คนอื่น และอุภยัตถะ คือประโยชน์คนอื่น ใครทำงานเพื่อจิตอาสาหรือไม่ ตั้งเกณฑ์ไว้ ๔ ข้อ ๑. เป็นการเสนอตัวเข้าร่วมทำกิจกรรม โดยเข้ามามีส่วนร่วม อะไรที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเราไม่นิ่งดูดายจะเข้าไปทำ ๒. เขาไม่ได้สั่งแต่เราอยู่เฉยไม่ได้ นี่คือการเสนอตัวเข้าไปทำกิจกรรม กิจกรรมที่ทำนั้นมุ่งประโยชน์สุขของคนอื่นหรือส่วนรวม ไม่ใช่ของเรา จึงเป็นจิตอาสา ๓. ไม่มีใครบังคับ ทำด้วยความเต็มใจ ด้วยความสมัครใจ ๔. โดยไม่หวังผลตอบแทน คนไหนถ้าทำเพื่อหวังผลตอบแทน พอไม่ได้ผลที่หวังก็ไม่ทำ เราไม่เรียกว่า จิตอาสา จิตอาสาต้องมีความยั่งยืน ก็เข้ากับหัวข้อ “จิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” คือสังคมพัฒนายั่งยืนด้วยและกิจกรรมที่ทำต่อเนื่อง จิตอาสาทางพระพุทธศาสนา มาจากประโยคที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่ง ออกพรรษาของพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์ ๖๐ รูป พระพุทธเจ้าส่งพระอรหันต์ไปประกาพระศาสนา ๖๐ รูป ด้วยประโยคนี้ว่า “จะระถะ พิกขะเว จาริกัง พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ” แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ต่อชาวโลก ภาพ&ข่าว : Mcu Tv-Channel
ขอขอบคุณ : ภาพ/ข่าว Mcu Tv-Channel
|
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||