๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ พระสุวรรณเมธาภรณ์ ผศ. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๑๗ เรื่อง “หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความสามัคคีในยามเกิดความขัดแย้ง” เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสําคัญสากลของโลก ประจําปี ๒๕๖๕ ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๑๗ เรื่อง “หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความสามัคคีในยามเกิดความขัดแย้ง” เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสําคัญสากลของโลก ประจําปี ๒๕๖๕ ทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สภาสากลวันวิสาขบูชาโลกและสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ในกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการจัดทั้งในระบบออนไซต์และออนไลน์ ประกอบด้วย :
๑) การประชุมทางวิชาการ เรื่อง "ธรรมะดิสรัปชั่น และการป้องกัน : มิติและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาต่อโควิด-๑๙ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพหลัก
๒) การประชุมทางวิชาการ เรื่อง "หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความสามัคคีในยามเกิดความขัดแย้ง" วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพหลัก
และในวันนี้ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ” ที่ วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี กรุงเทพฯ และระบบออนไลน์
๓) การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ เรื่อง กรุณาธรรมในยามวิกฤต : หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อเยียวยาสังคมโลก วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ที่ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ และระบบออนไลน์
ในส่วนของการประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในวันนี้ มีผู้บริหาร อาจารย์ นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงาน จำนวน ๒,๒๒๒ รูป/คน จัดขึ้น ณ อาคารพรหมบัณฑิต วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระนครศรีอยุธยา และระบบออนไลน์ ในภาคเช้ามีพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ เรื่อง“วิสาขบูชา: ส่งมอบพุทธปัญญาสู่สันติภาพโลก” โดยพระธรรมวัชรบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดี มจร กล่าวประเด็นสำคัญว่า ขอบคุณทุกส่วนงานในการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกถือว่าเป็นพุทธบูชา มีการทำงานที่เชื่อมโยงกันในส่วนออนไลน์ ซึ่งมีกิจกรรมการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อขยายผลงานคำสอนไปทั่วโลก ซึ่งแก่นธรรมจากวันวิสาขบูชา โดยมีสามเหตุการณ์หลัก คือ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน โดยจะต้องเอาใส่ใจเรื่องกรรมและผลของกรรม โดยมุ่งสร้างบารมี ๑๐ ทัศ ตั้งแต่ทานบารมี แต่ต้องพัฒนาไปสู่พุทธปัญญาโดยศึกษากฎเหตุและผลในทางพระพุทธศาสนาจะมองเหตุมองผลตามปฏิจสมุปบาทพิจารณากลับไปกลับมา ส่วนการให้เหตุผลทางตะวันตกคือตรรกศาสตร์ เราจึงควรถอดบทเรียนจากการประสูติของพระพุทธเจ้า ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
โดยยกอปริหานิยธรรมเป็นฐานสำคัญในการสร้างสันติภาพโลก ตั้งแต่การพูดคุยกัน โดยหลักอปริหานิยธรรมมีการแสดงถึงความกตัญญูเป็นฐาน ซึ่งแก่นธรรมในวันปรินิพพานคือความไม่ประมาทมีสติเป็นฐาน โดยมุ่งสติปัฏฐาน สูตร ถือว่าเป็นส่งมอบภูมิปัญญาให้กับชาวโลก โดยสามารถถอดบทเรียน ๕ ประการ ประกอบด้วย กรรมเชื่อผลของกรรม สติปัญญา ความเพียรพยายาม กฎแห่งเหตุผล และไตรลักษณ์
จากนั้นมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความสามัคคีในยามเกิดความขัดแย้ง” โดย พระธรรมพัชรญาณมุนี กล่าวประเด็นสำคัญว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์จะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่โจทย์สำคัญคือป้องกันความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้น จัดสรรหาความเป็นอยู่อย่างยุติธรรม โดยจัดสรรสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการบรรลุธรรมโดยเฉพาะในทางพระพุทธศาสนา แต่ในทางโลกบางครั้งกฎหมายมีการเอื้อไม่ให้กิดความขัดแย้ง โดย มีความเสมอภาคทางกฎหมาย แต่กฎแห่งกรรมมีความลึกซึ้งมากกว่า แต่กฎหมายก็มีส่วนในการเร่งกฎแห่งกรรมด้วย ซึ่งการรับผลกรรมอาจจะไม่ปรากฎในชาตินี้จึงต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันมองว่าคนรวยไม่ผิด คนจนผิดถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิในสังคม เช่น กรณีการทุจริตในสังคม มีการทำลายความเชื่อในระบบสังคม สถาบันสงฆ์จึงควรเป็นต้นแบบในความถูกต้องมีการรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งสาเหตุที่ศรัทธาพระพุทธศาสนาเถรวาทคือมุ่งรักษาพระวินัย ผ่านการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของครูบาอาจารย์ ซึ่งวินัยเป็นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด
โดยมองความสามัคคีมี ๒ แบบ คือ ๑) สามัคคีแบบพาล ต่างคนต่างอยู่ อย่ามายุ่งเกี่ยวกัน ไม่กล้าตักเตือนกัน ไม่พูดกัน ๒) สามัคคีแบบบัณฑิต มีการปวารณาสามารถเตือนกันได้ ซึ่งเป็นหลักในการดำเนินชีวิต พร้อมรับเสียงสะท้อนจากคนอื่นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถึงเวลาพูดควรพูดโดยมองกาละเทศะที่เหมาะสม มีสติว่าควรจะสื่อสารอย่างไร ซึ่งถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันจะต้องฝึกในการสื่อสารสร้างความเข้าใจกัน ฝึกที่จะยอมรับในความหลากหลาย สิ่งสำคัญชาวพุทธจะต้องเริ่มฝึกสติตั้งแต่เช้าจะเป็นฐานการพัฒนาชีวิต
สาราณียธรรม
พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร.
อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร
เลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร
ณ ห้องไอมาย อาคารพรหมบัณฑิต
วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕