“UN” จับมือ “มจร” ร่วมพัฒนาโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน!!!
20 มี.ค. 66 | ข่าวมหาวิทยาลัย
548
วันที่ 20 มี.ค. 66 ณ. ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้ต้อนรับ Mr. Renaud Meyer (เรอโน เมแยร์) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ในวาระมาเยือน มหาจุฬามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อย่างเป็นทางการ โดยมี พระสุธีรัตนบัณฑิต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย รศ.ดร.สุรพล สุยะพรม รองอธิบดีการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป พร้อมคณะผู้บริหารคณาจารย์และเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับ
โอกาสนี้ Mr. Renaud Meyer ได้บรรยายเรื่องศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ การนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นกลไกสนับสนุนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายของสหประชาชาชาติที่กำหนดไว้ทั้งหมด 17 หัวข้อใหญ่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรจุภายในปี พ.ศ.2573 ทั้งความยากจน,ความหิวโหย,สิ่งแวดล้อม,ความขัดแย้ง ดังนี้เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ขอความร่วมมือองค์กรทางศาสนาอย่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้ามาช่วยเนื่องจากเป็นภารกิจและเป้าหมายสำคัญของประชาคมโลก
จากนั้นได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนและหารือการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต โดยมี พระมหาจีรวัฒน์ กนฺตวณฺโณ ผู้รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา เป็นประธาน ได้กล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณคณะผู้บริหาร UNDP ว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวเริ่มต้นของการขับเคลื่อนกิจกรรมของทั้งสองสถาบันที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมไทย มหาจุฬา ฯ มีจุดเด่นคือการอยู่กับสังคม พระพุทธศาสนาสอนให้พระสงฆ์อยู่กับสังคม ดังนั้น จึงสามารถเห็นภาพการทำงานของนิสิตมหาจุฬาในสังคมไทยทุกที่ นอกจากนี้ รก.ผอ.ศูนย์อาเซียนได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์อาเซียนศึกษา ได้สนับสนุนการศึกษาของนิสิต และกิจกรรมนิสิตอาเซียนอย่างเต็มที่ เช่น การสอนภาษาไทยให้กับแรงงานข้ามชาติ การจัดกิจกรรมส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับเครือข่ายนิสิตในกลุ่มประเทศ CLMV ในประเทศลาว กัมพูชาโดยส่งเสริมการศึกษาด้านภาษาอังกฤษ ภาษาไทยและคอมพิวเตอร์เบื้องต้น เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาลดเพดานความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาค
ด้าน พระสุธีรัตนบัณฑิต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ ดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของมหาวิทยาลัย ดังเช่น โครงการพระบัณฑิตอาสา ซึ่งทำงานด้านการศึกษา สุขภาวะของคนชายขอบและชาติพันธุ์ รวมทั้งการจัดการร่วมกับเครือข่ายลดปัญหาสภาพอากาศซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายนี้
จากนั้น Mr. Renaud Meyer ได้กล่าวยืนยันสนับสนุนมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่สำคัญคือสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations of Thailand), Global SDGs Intergration ที่ทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับสถาบันในระดับนานาชาติ
ส่วน พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที ผู้ประสานงานโครงการประจำศูนย์อาเซียน มจร ได้กล่าวเสริมว่า การหารือครั้งนี้ถือเป็นเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยและจุดเริ่มต้นของศูนย์อาเซียนศึกษาด้วย และนับเป็นการสร้างความเข้าใจเพื่อขับเคลื่อน #SDGLocalization โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน สร้างการพัฒนาที่พร้อมสนับสนุนให้ทุกคน ทุกช่วงวัย มีส่วนร่วม และในฐานะมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาที่ส่งมอบปัญญาและคุณธรรมแก่สังคม
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้จัดทำร่างสรุปแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อกำหนดวางกรอบแนวทาง และแผนการดำเนินร่วมกันพิจารณาการทำงานร่วมกัน โดยเบื้องต้นทางศูนย์อาเซียนศึกษา จะนำนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ ASEAN Youth เข้าร่วม International Workshop on Faith and Sustainable Development ที่สำนักงาน UNDP ประเทศไทยและจะขยายงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติต่อไป