น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ นี้ ข้าพระพุทธเจ้า
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต ที่ได้มาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียง ณ ที่แห่งนี้ ต่างน้อมจิตตั้งมั่นเพื่อร่วมกัน แสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แห่งรัชสมัยของพระองค์ ปวงพสกนิกรใต้ร่มพระบารมีทั่วราชอาณาจักร ต่างประจักษ์ซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่ได้ ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญา ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงพสกนิกร ด้วยโครงการในพระราชดำริ น้อยใหญ่ ก่อให้เกิด ประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงแก่ประเทศชาติ ทั้งได้พระราชทานหลักปรัชญา เพื่อเป็นแนวทางให้อาณาประชาราษฎร์ได้ดำเนินชีวิตโดยมีความรู้และ สติปัญญาเป็นภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนของประเทศต่างๆ ที่ได้น้อมนำ แนวทางพระราชทานไปปฏิบัติ พระเกียรติคุณแผ่ไพศาลขจรขจายทั่วทิศานุทิศ แสงแห่งดวงประทีป ที่ส่องไสวอยู่ทั่วแผ่นดินนี้ เปรียบประดุจดั่งดวงจิตที่บริสุทธิ์ ของปวง พสกนิกร ที่ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มีการดำเนินการตรวจชำระพระไตรปิฎกในมหามงคลสมัยที่พระพุทธศาสนายั่งยืนสืบมาถึง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐
โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนสนับสนุนในเบื้องต้นเป็นเงิน ๒๑๐,๐๐๐ บาท
(สองแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนแล้วเสร็จในศักราชอันเป็นมงคลแห่งการเฉลิมฉลองพระชนมายุ ๗๒ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. ๒๕๔๒
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการ เสนอร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา โดยรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา ส่งผลทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญา เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่รัฐให้การรับรอง
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๔๐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคล เน้นจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อีกทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” โดยพระราชทุนปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อสนับสนุนพระภิกษุสามเณรให้มีโอกาสทางการศึกษาในส่วนของการศึกษาของคณะสงฆ์ และในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยและพระราชทานทุนเล่าเรียนแก่นิสิตของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ให้บุคลากรฝ่ายบรรพชิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคลากรฝ่ายคฤหัสถ์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี ตราบจนถึงทุกวันนี้
ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจักน้อมนำ แนวทางพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้
เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงตนเพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติสืบไป เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล
อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในวันนี้ ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยตราบจิรัฏฐิติกาลนานนิรันดร์เทอญ