ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิญญากรุงเทพฯ ครั้งที่ ๑๙ การประชุมวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก
20 พ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
536
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้แทน ๓๔ ประเทศ ได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคมเป็นวันสำคัญสากลของโลก และให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและสำนักงานประจำภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ ๕๔ วาระที่ ๑๗๔) ดังนั้น วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๔๓ ด้วยความร่วมมือของชาวพุทธทุกนิกาย เพื่ออนุวัตรตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ พวกเราจาก ๗๓ ประเทศและภูมิภาค จึงได้มาร่วมกันฉลองวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗/ค.ศ. ๒๐๒๔ และเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ แห่งประเทศไทย การประชุมครั้งนี้จัดโดยสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย และได้รับคำแนะนำจากมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย

ในการประชุม ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พวกเราได้สนทนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “พุทธวิถีสู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี” โดยมุ่งให้เกิดความเข้าใจกันและทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรและปัจเจกชน จากทุกนิกายของพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ในที่สุดแห่งการประชุมแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ พวกเรามีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศปฏิญญา ๑๒ ข้อ ดังต่อไปนี้

๑. ผู้นำชาวพุทธนิกายต่างๆ จาก ๗๓ ประเทศและภูมิภาค ขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัยถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ขอให้ทรงพระเกษมสำราญเจริญพระชนม์ยิ่งยืนนาน

๒. พวกเราผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ขอชื่นชมโครงการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีนักปราชญ์ชาวไทยและนานาชาติแปลพระไตรปิฏกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ จำนวน ๔๕ เล่ม เป็นภาษาอังกฤษ โครงการนี้ริเริ่มโดยมหาเถรสมาคมและได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลไทยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ในปีพระบรมราชาภิเษก สำหรับปีนี้มีกำหนดจัดพิมพ์พระไตรปิฏกเล่มแรกของแต่ละปิฏก รวม ๓ เล่ม เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา

๓.ด้วยตระหนักว่าพวกเราต่างมีวัตถุประสงค์และความรับผิดชอบร่วมกัน พวกเราประชาคมชาวพุทธทั่วโลก ขอเรียกร้องให้พลเมืองและรัฐบาลทั้งหลายเพิ่มความพยายามมากยิ่งขึ้นในการสร้างความไว้วางใจและความสามัคคีในโลกปัจจุบันที่แตกแยกเพราะความขัดแย้งกัน ด้วยการใช้สติ ความเห็นอกเห็นใจและความกรุณาเป็นฐานของการสนทนาแลกเปลี่ยนด้วยความเคารพและความร่วมมือกัน

๔. ด้วยยอมรับว่าทุกคนประสบความทุกข์และปรารถนาความสุข พวกเราจึงมีมติที่จะสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ข้ามพ้นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านอุดมการณ์

๕.พวกเรายึดมั่นตามแนวคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ให้ปลูกฝังความไว้วางใจภายในตัวเราและกับคนอื่น โดยเปลี่ยนจากความคิดแข่งขันกันเป็นความคิดร่วมมือกัน โดยส่งเสริมการจัดการอารมณ์อย่างมีสติ มีการสื่อสารและการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิผล และนำไปสู่ความร่วมมือระดับโลก

๖. พวกเราเน้นย้ำถึงความสำคัญของขันติธรรม การรับฟังอย่างตั้งใจ และการสนทนากันอย่างมีสติ ในฐานะเป็นเครื่องมืออย่างมีคุณค่า ในการหล่อเลี้ยงความเคารพซึ่งกันและกัน และในการสร้างสะพานข้ามพ้นความแตกต่างทางด้านศาสนา

๗.พวกเราตั้งใจจะเพิ่มความพยายามในการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาอย่างมีสติ เพื่อทำให้แน่ใจว่าคนรุ่นต่อไปจะมีทักษะและความรู้ที่จำเป็น เพื่อช่วยให้โลกมีความสงบและมีความเห็นอกเห็นใจกันยิ่งขึ้น ซึ่งพื้นฐานนี้ตั้งอยู่บนความประพฤติอย่างมีจริยธรรม การใช้สติ และใช้ปัญญาประกอบด้วยกรุณาในทุกภาคส่วนของสังคมให้มีความสามัคคีกัน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ในเรื่องอริยสัจสี่และมัชฌิมาปฏิปทา

๘. พวกเราเรียกร้องให้ชุมชนชาวพุทธและทุกชุมชน ใช้ความกรุณาที่ประกอบด้วยสติในทุกส่วนของชีวิต ดังที่เราสนทนาแลกเปลี่ยนเป็นกรณีศึกษา เช่น (ก) การรับประทานอาหารอย่างมีสติ เหมือนกับการรับประทานอาหารแบบเซน ที่เชื่อมโยงพวกเรากับทุกๆ คน และกระบวนการที่ทำให้การรับประทานอาหารแต่ละครั้งเป็นไปอย่างมีสติ (ข) มีความกรุณาประกอบด้วยสติ ในสถานที่ทำงาน เช่น คนทำงานเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ (ค) การศึกษาอย่างมีสติ เหมือนกับโครงการโรงเรียนมีสติ (สติปะสาละ) ในประเทศศรีลังกา

๙. พวกเราตกลงกันว่า จะต้องใช้สติในทุกๆ กิจกรรม เช่น ทางการทูต การค้าระหว่างประเทศ การสร้างชาติ เช่น ตัวอย่างที่ดีของประเทศเวียดนาม ซึ่งใช้สติอยู่กับปัจจุบันและไม่จมอยู่กับอดีตที่ปวดร้าว ดังนั้น จึงนำการเยี่ยวยามาให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และช่วยส่งเสริมให้โลกมีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง

๑๐. พวกเราขอประกาศว่า การใช้สติ ถ้านำมาใช้อย่างแพร่หลายในสังคม มีศักยภาพลดความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ลดช่องว่างในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ระหว่างคนมีและคนจนแคบเข้า ดังนั้น จะเป็นเครื่องมือทำให้บรรลุถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตโดยรวมของพวกเรา

๑๑.พวกเราขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิบัติการอันเกิดจากการตระหนักรู้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ยังคงอยู่ และให้ระดับผู้นำใช้สติซึ่งจะเป็นแบบอย่างสำหรับการดูแลสิ่งแวดล้อมในสังคมทุกระดับ

๑๒.ข้อสุดท้าย สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก มีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบเรื่องการรับรองและสนับสนุนคณะสงฆ์เวียดนามที่รับเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๒๐ ที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ปี พ.ศ. ๒๕๖๘/ค.ศ. ๒๐๒๕ ซึ่งจะเป็นครั้งที่ ๔ ที่ประเทศเวียดนามได้รับเกียรติสูงสุดนี้ เราขอเชิญชวนผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ ผู้สนใจทุกท่านร่วมงานกับพวกเราที่เวียดนามในโอกาสสำคัญเช่นนี้
ปฏิญญากรุงเทพฯ เนื่องในวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๑๙

ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖/ค.ศ. ๒๐๒๔

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    49
  • พระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ., รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    62
  • ขอขอบคุณ ดร.สุวรา นาคยศ อาจารย์ ประจำคณะครุศาสตร์  รองประธานกรรมการจัดการแข่งขันผู้อุปถัมภ์การปรับปรุงพื้นที่สนามรอบกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อการแข่งขันกีฬามหาจุฬาอยุธยาเกมครั้งที่ ๑๕
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    128
  • กลุ่มฝึกประสบการณ์วิชาชีพฯ คณะครุศาสตร์ได้จัดโครงการปัจฉิมนิเทศการฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๗
    18 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    90
  • มจร จัดสัมมนาบทบาทพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา
    15 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    140