ข่าวมหาวิทยาลัย |
พุทธเดียวกัน แต่...หลากสีสันหลายวิธีห่ม "จีวร" | ||
วันที่ ๒๕/๐๕/๒๐๑๐ | เข้าชม : ๑๔๕๕๕ ครั้ง | |
คมชัดลึก :ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ พฤษภาคม ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้ร่วมกับประเทศญี่ปุ่นจัดงาน "วันวิสาขบูชาโลก ปี ๒๕๕๓" โดยมีประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านศาสนา คณะสงฆ์ และผู้แทนจากองค์กรพุทธทั่วโลกกว่า ๕,๐๐๐ รูป/คน จาก ๘๐ ประเทศ มาร่วมประชุมในหัวข้อ "การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ" ในการประชุมครั้งนี้รวมทั้งครั้งก่อนๆ มจร.ไม่ได้จัดการแสดงอะไรที่เป็นสีสันเหมือนกับการประชุมทางโลก แต่การประชุมของทุกกลุ่มย่อย ทุกห้อง โดยเฉพาะวันเปิดงานและวันปิดงาน กลับเต็มไปด้วยสีสันของจีวรที่หลากสี และรูปแบบการห่มที่หลากหลาย "สีของจีวรและรูปแบบการห่ม" ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวงการสงฆ์ มักจะไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวมิใช่น้อยเลย ข้อถกเถียงเรื่องสีและวิธีการห่มจีวรนั้นไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีกันมานานแล้ว และก็จะมีต่อไป การศึกษาเรื่องจีวรของพระภิกษุนั้น ย่อมทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ที่แพร่กระจายไปทั่วทวีปเอเชียได้เป็นอย่างดี พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร. บอกว่าเรื่องจีวรของพระภิกษุ จึงยังมีช่องว่างที่ทำให้ตีความได้หลายประเด็นอย่างวิธีการห่มจีวรของพระภิกษุในปัจจุบันที่เราพบเห็นกันในประเทศไทย พม่า รวมถึงศรีลังกา ต่างก็ถือว่าถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น สีจีวรที่ออกเหลืองหม่น หรือสีเหลืองทอง ต่างก็มีปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะในหมู่นักบวช ซึ่งถือวินัยการห่มจีวรว่าเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของความบริสุทธิ์ของนิกายที่ตนนับถือหรือบวชอยู่ แม้พระภิกษุสงฆ์จะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติแท้ๆ แต่ก็เชื่อว่าสีคงจะไม่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดแน่นอน คงจะมีผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตสีที่ใช้ย้อมจีวรผ้ากาสายะ และสีใกล้เคียงอีกหลายชนิดหรืออาจมองได้อีกประการหนึ่งว่า ทรงมีพุทธวินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่สามารถยืดหยุ่นได้เนื่องจาก ไม่ใช่แก่นของพระพุทธศาสนา ซึ่งมุ่งกำจัดความทุกข์ทางใจ" การที่จะยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้จีวรสีใดย่อมเป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนได้ เป็นปัญหาหนึ่งที่เป็นที่สนใจของชาวพุทธอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เนื่องจากไม่เคยมีใครได้พบเห็นพระพุทธองค์ด้วยตัวเอง แต่สามารถประเมินได้จากหลักฐานพระคัมภีร์ในหลายแห่งที่พอเปรียบเทียบได้ คือ ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธเจ้า)ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งมีสีดุจทอง ออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง ๒. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่ย้อมดีแล้ว ทรงห่มจีวรมหาบังสุกุล ได้ขนาดสุตตประมาณ ปานผ้ารัตตกัมพล (ผ้าสีแดง) ๓. พระผู้มีพระภาค ทรงห่มบังสุกุลจีวรอันประเสริฐสีแดงมีสีคล้ายสียอดอ่อนของต้นไทร ส่วนลักษณะการห่มนั้น ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นวัตถุธรรมที่เก่าแก่ที่สุด ที่นักโบราณคดีค้นพบในวัดทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นภาพพระภิกษุกำลังยืนแต่นุ่งเฉพาะผ้าสบง กายท่อนบนมิได้ห่มผ้าใด ๆ อยู่ด้วย พระภิกษุอินเดียในยุคแรกจึงไม่น่าจะสวมผ้าอังสะในขณะที่ตนเองอยู่ในวัด ส่วนการครองจีวรท่อนบนนั้นคงห่มเฉพาะตอนที่ตนเดินทางออกจากวัดเข้าไปในเขตหมู่บ้าน ในขณะที่รูปปั้นและหินสลักของศิลปะคันธาระ แสดงให้เห็นถึงวิธีการห่มที่คล้ายการห่มของพระลังกาวงศ์โดยห่มปิดไหล่ทั้งสองข้างเช่นกัน และยังมีภาพหินสลักที่พบในปากีสถานอันอยู่ในเส้นทางที่มีชื่อเรียกว่า “กะราโกรัม” ว่าพระภิกษุห่มผ้าที่ยาวคล้ายทรงกระบอกไม่มีรอยแหวกด้านข้าง คล้ายกับที่พระลังกาวงศ์หรือมหานิกายสวมใส่เวลาครองผ้าออกนอกวัด "ในการประชุมร่วมชาวพุทธนานาชาติครั้งนี้เราได้เห็นพระใส่จีวรหลายสี และแต่งกายหลายรูปแบบ แต่เราก็มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกันคือพระศากยโคตมะพุทธเจ้า ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอาจจะแตกต่างกันบ้าง ภาพที่มองจากมุมกว้างอาจจะมองเห็นแปลกแยก ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ลงตัว สีของจีวร รูปแบบการนุ่งห่ม ความเห็นที่แตกต่างได้รับการประสานและสรุปอย่างลงตัวในการประชุมสุดยอดชาวพุทธครั้งนี้ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายไปยังนานาอารยประเทศต่อไป" พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณกล่าว หลากสีสันหลายวิธีห่ม อย่างไรก็ตามแม้ว่าพระเวียดนามจะได้รับพระพุทธศาสนามาจากจีนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้รับมาทั้งหมด จะมีเอกลักษณ์ของตนเอง ที่ใส่จีวรสีเหลืองเปล่งปลั่ง เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายของฮ่องเต้จีน ในทิเบต ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันในเรื่องของชุดกันหนาว ซึ่งพระลามะสวมเสื้อกั๊กกันหนาวข้างใน หมวกและผ้าจีวรก็เป็นผ้าที่หนาทำจากขนสัตว์ และสีจีวรก็เปลี่ยนแปลงเป็นสีแดงปนม่วง สีนี้นิยมใส่กันมากในหมู่ชนเผ่าทั้งหลายที่อยู่ในที่ราบสูง เนื่องจากจะตัดกับสีของท้องฟ้าเป็นอย่างดีทำให้เห็นได้แต่ไกล และเป็นสีแห่งความปลอดภัยในพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย ภิกษุของมองโกเลียนั้นได้รับอิทธิพลจากทิเบต ในสมัยรุ่นหลานของเจงกิสข่าน หลานชายของจักรพรรดิเกิดความเลื่อมใสพระทิเบตรูปหนึ่ง โดยได้นิมนต์มาเป็นพระอาจารย์ประจำในราชสำนักและได้แต่งตั้งท่านให้เป็น “ดาไลลามะ หรือทะไลลามะ” ที่เกาหลีและญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาในประเทศจีน สีจีวรจึงคล้ายกัน แต่ในญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการเรื่องจีวรอย่างมากโดยเฉพาะในนิกายชิงกง หรือวัชรยานของญี่ปุ่นซึ่งนำมาทอ และวาดเป็นลวดลายวิจิตรพิสดารยิ่ง แต่ก็ยังคงลักษณะที่เป็นรูปคันนาเป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่น้อยให้สังเกตได้ง่าย การทำจีวรพระญี่ปุ่นเป็นศาสตร์ที่ได้รับตกทอดกันมากในวงศ์ตระกูล จีวรพระญี่ปุ่นที่สั่งทำพิเศษสำหรับเจ้าอาวาสนั้นมีราคาแพงมาก มีทั้งลวดลายและสีสันที่ละเอียดอ่อน เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่เก่าแก่และมีอายุนับพันปี พระญี่ปุ่นยังได้รับพัฒนาจีวรของตนไปไกลกว่านั้นอีกมาก บางนิกาย ย่อจีวรให้เล็กลง จนเหลือเป็นเพียงผ้าผืนเล็กนิดเดียว คล้องเป็นเหมือนผ้ากันเปื้อนไขว้คอ กว้างประมาณคืบหนึ่งยาวประมาณคืบเศษ ๆ แต่ยังคงลักษณะลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบคันนา แบบจีวรของพระในเมืองไทยให้เห็นอยู่ ส่วนการห่มจีวรที่ยุ่งยากที่สุดซับซ้อนและหลากหลายที่สุดนั้น พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ บอกว่า ต้องยกให้พระใน นิกายมหายาน เพราะพระลามะใส่จีวรที่มีสีแดงสด น่าดูที่สุด ส่วนการจะแยกว่าใครอยู่นิกายไหนนั้น ให้ดูที่สีผ้าอังสะ เช่นสีเหลืองนิกายเกลุก สีแสดนิกายศากยะ เป็นต้นพระลามะนิกายศากยะ นุ่งห่มผ้าจีวรสีแดง สบงสีขาว ไว้ผมและหนวดยาวเฟื้อย เป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างยิ่ง จนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นดาราของที่ประชุมเลยก็ว่าได้ แต่ความจริงท่านเป็นพระลามะจัมยัง ตาซิ ดอร์เจ ผู้นำทางจิตวิญญาณ นิกายศากยะ จากประเทศสเปน "ภาพที่มองจากมุมกว้างอาจจะมองเห็นแปลกแยก ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ลงตัว สีของจีวร รูปแบบการนุ่งห่ม ความเห็นที่แตกต่างได้รับการประสานและสรุปอย่างลงตัวในการประชุมสุดยอดชาวพุทธครั้งนี้ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายไปยังนานาอารยประเทศต่อไป" เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู" ที่มา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 25 พฤษภาคม 2553 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||