บทความวิชาการ
พุทธนโยบายเพื่อสร้างชุมชนให้แข้มแข็ง
18 ส.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
3331

ผู้แต่ง :: กิตติพงศ์ ดารักษ์

 


สภาพสังคมที่อ่อนแอ

                เราเคยมีระบบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรามีระบบที่กองทัพเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองแล้วก็หมดยุคสมัยไป ต่อมาถึงยุคทุนนิยยึดอำนาจทางการเมือง ที่เรียกกันว่า  ธนกิจการเมือง (Money Politics) ทำให้กลายเป็นธุรกิจการเมือง   แต่เมื่อยุคธุรกิจการเมืองถูกปิดตัวลง(ชั่วคราว) ก็มียุคอื่นก็เข้ามาแทนที่  เมื่อใดก็ตามถ้านักการเมืองใช้ระบบการเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ตนก็กลายเป็นบุคคลผู้ไร้ศีลและธรรมผลที่ตามมาก็คือ

                1. ทุจริตหรือคอร์รัปชั่น

                2. คบมิตรชั่ว ความอาภัพของการมีอำนาจอย่างหนึ่งคือคนดีจะหนีห่าง คนชั่วจะเข้ามาแวดล้อม  

                3. สร้างความมืดให้สังคม (มีการแทรกแซงองค์กรต่าง ๆ)

                4. ไม่เคารพรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

                5. ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์

                6. ไม่มีความจริงใจต่อประชาชน  เพราะจะให้ความสำคัญต่อมูลค่า(ผลประโยชน์)มากกว่าคุณค่า(คุณธรรม)

                7. ใช้อำนาจในทางที่ผิด

                8. ฟุ่มเฟือยนิยมวัตถุมากเกินไป

                9. ขาดธรรมาภิบาล

                10. พึ่งพาภายนอกมาก

 

ลักษณะการสร้างชุมชนและสังคมเข้มแข็งของรัฐ

                “...เรามองเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ เป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างชาติ ถ้าหากว่าทรัพยากรมนุษย์ของเรา อ่อนแอ อ่อนแอในทุกๆ มิติ ก็จะทำให้ชาติแข็งแรงได้ลำบาก ทรัพยากรใดก็คงไม่เท่ากับทรัพยากรมนุษย์ อะไรที่มันเสียหายไป ขาดไป มนุษย์ก็สามารถทำเติมได้ แต่ว่าถ้ามนุษย์อ่อนแอแล้ว มันไม่รู้จะเอาอะไรมาสร้างชาติ สร้างบ้านเมือง สร้าง ครอบครัว สร้างอนาคต...[1]                                                                                                                    

                จากคำกล่าว ของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  มีเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวอบอุ่น สังคมเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง โดยมุ่งให้การดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยสูงอายุให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ หญิงตั้งครรภ์ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ ทุกคนได้รับการศึกษาในระบบ โรงเรียนและมีโอกาสเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ผู้อยู่ในวัยทำงานมีสุขภาพแข็งแรง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น และคนไทยทุกคนมีหลักประกันเมื่อเจ็บป่วยสามารถ เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา คนไทยทั้งประเทศจะ   

มีสุขภาพอนามัยและสุขภาพจิตที่ดีตลอดจนปัญญาความรู้ รวมทั้งมีอายุที่ยืนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นโยบายหล่านั้นไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยหลักคุณธรรมและศีลธรรม จึงทำให้ถูกลบล้างด้วยอำนาจอื่นที่กำลังอ้างถึงคุณธรรม ซึ่งประชาชนกำลัง รอ

พุทธนโยบายกับการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง

                 จรถ ภิกฺขเว  จาริกํ  พหุชนหิตาย  พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย  อตฺถาย หิตาย  สุขาย  เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ  มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ  ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ[2]

                ภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ อันบริสุทธ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง

                จากพุทธพจน์ดังกล่าว  เป็นนโยบายที่มาจากพุทธอุดมการณ์ที่มีจุดมุ่งหมายอันสูงสุดคือ     สพฺพทุกฺข  นิสฺสรณนิพฺพน  กล่าวคือ ความดับทุกข์ทั้งปวง

                กระบวนสร้างสังคมให้เข้มแข้งตามแนวพุทธ

                1.  ปฏิวัติตนเอง

                การปฏิวัติตนเอง พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติกับตนเองสมัยครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกแสวงหาความดับทุกข์   ดังนั้น บุคคลผู้มีความมุ่งหวังให้สังคมเข้มแข็งและสงบสุขต้องมีความกล้าพอที่จะปฏิวัติตนเองทั้งภิกษุและฆราวาส หลักของการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนเองเพื่อความรู้เท่าทันกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัตน์ กล่าวคือ  ภิกษุ สามเณร  ปฏิบัติโดยยึดหลักของ อินทรียสังวร   การปฏิบัติสมถและวิปัสสนากรรมฐาน     ส่วนฆราวาส  ปฏิบัติโดยยึดหลักของศีล 5   โลกธรรม 8

  

                2. สร้างสรรค์ครอบครัว

                ครอบครัวถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม  ดังนั้นการสร้างสรรค์ครอบครัวให้มีความอบอุ่น หากปฏิวัติตนเองเพื่อการพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งแล้วสามารถสร้างสรรค์ได้โดยหลักของ ฆราวาสธรรม ๔  อคติ ๔

                3. อุทิศตัวเพื่อสังคม

                การอุทิศตัวเพื่อสังคมนั้นเป็นการสานสัมพันธ์ให้สังคมมีความสำคัญในแง่ของโครงสร้างที่ยั่งยืน โดยยึดหลักของ สังคหวัตถุ 4[3]  อปริหานิยธรรม 7[4]  ทศพิธราชธรรม 10[5]       

 

                กระบวนการสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มเข็งดังกล่าว ถือเป็นการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในความคิดจนเป็นอุดมการณ์ของมนุษย์ว่าจะประกอบกิจกรรมใดๆ ต้องมีคุณธรรมควบคู่ด้วยเสมอ ดังนั้นด้วยนโยบายที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้แก่พุทธบริษัท เชื่อแน่ว่าเป็นการสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งได้โดยใช้หลักการของพุทธธรรมาภิบาล คือ   

                1.  ศีล  คือ   กฎหมายหรือข้อบัญญัติ

                2.  สมาธิ  คือ การพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดคุณธรรมและจริยธรรม

                3.  ปัญญา  คือ สติปัญญาและความรู้จริง 

                นั่นก็หมายความว่า การสร้างสังคมที่เข้มแข็ง การทำให้มนุษย์มีความมั่นคง ทั้งด้านกายภาพ จิตใจ และวัฒนธรรม จะบรรลุได้นั้นต้องมีหลักคิด  บนพื้นฐานของศีลและธรรม

               

                จากนโยบายทางพระพุทธศาสนา ที่มุ่งเพื่อประโยชน์สุขของสังคมทั้ง 3  ระดับ กล่าวคือ ระดับต้น  ระดับกลาง และระดับสูงสุด  ในการพัฒนาตนและสังคม สรุปลงที่

                หลักการ 3

                1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่ว  อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ  ประกอบด้วย

                                1.1 ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม

                                1.2 ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ

                                1.3 ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

                2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดี ทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10  อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ  ประกอบด้วย

                                 2.1 การทำความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียน ผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม

                                2.2 การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ

การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดีและมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                3. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี 5 ประการ ได้แก่

                                3.1 ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)

                                3.2 ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)

                                3.3 ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)

                                3.4  ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ)

                                3.5 ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่

วิธีการทำจิตให้ผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศืลและบำเพ็ญกุศล ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

 

อุดมการณ์ 4

                1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกายวาจา ใจ

                2.  ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น

                3.  ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ

                4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8

 

วิธีการ 6

                1. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร

                2. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

                3. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม

                4. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ

                5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

                6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพ คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี

 

การยึดอำนาจนั้นไม่ยาก แต่หลังจากยึดได้แล้วยากยิ่งนัก :การยึดอำนาจไม่ยาก แต่การปกครองหรือการบริหารประเทศหลังยึดอำนาจ ยากลำบากมากซึ่งต้องใช้ท้างศาสตร์และศิลป์

 



[1] นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน  วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2547

 [2] พระไตรปิฎกเล่มที่ 10  ทีฆนิกาย  มหาวรรค ข้อ 51

[3] ประกอบด้วย  การให้    มีวาจาอันเป็นที่รัก   การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์  ความเสมอต้นเสมอปลาย

[4] 1.หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ 2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมกันเลิกประชุมและพร้อมเพรียงกันกระทำกิจกรรมที่พึงกระทำ  3.ไม่เพิกถอนในสิ่งที่บัญญัติไว้ดีแล้ว  ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมาแทน ให้เคารพปฏิบัติตาม ธรรมเนียมปฏิบัติหรือหลักการที่ดีงาม   4.ให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังผู้ใหญ่  5. ประพฤติธรรมเสมอและให้เกียรติต่อสุภาพสตรี ไม่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า 6. ไม่ลบหลู่สิ่งที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนหรือชุมชน   7. ให้ความคุ้มครองส่งเสริมต่อสมณะชีพราหมณ์หรือคนดี     

[5] ทาน   ศีล   บริจาค  ความซื่อตรง  ความอ่อนโยน  ความเพียรกำจัดกิเลส   ความไม่โกรธ  ความไม่เบียดเบียน  ความอดทน  ความตั้งมั่นในธรรม