บทความวิชาการ
ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี
03 พ.ย. 59 | พระพุทธศาสนา
4450

ผู้แต่ง :: พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.

ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2555)

 ผู้กำกับโครงการปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา
www.facebook.com/hansa.mcu


http://www.komchadluek.net/detail/20121201/146190/ชี้คนโง่เมินสันติวิธีใช้รุนแรงแก้ขัดแย้ง.html

 

       วันนี้ (๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) ได้รับนิมนต์จาก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เพื่อบรรยาย เรื่อง "ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี" แก่นักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี รุ่นที่ ๙ จำนวนประมาณ ๘๐ ท่าน ซึ่งการบรรยายในครั้งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่ในฐานะวิทยากรแล้ว ยังถือได้ว่า "เป็นรุ่นพี่ของนักศึกษาในหลักสูตรนี้ เพราะผู้เขียนจบหลักสูตรนี้ในรุ่นที่ ๒" เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน "ชุมชนนักสันติวิธี" ผู้เขียนจึงได้นำประเด็นดังกล่าวมานำเสนอ ดังนี้


        "สันติวิธี" ถือว่าเป็นหลักการและเครื่องมือประการหนึ่งซึ่งมนุษยชาติมักจะนำมาเป็นทางเลือกในการจัดการความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม ซึ่งหากจะวิเคราะห์ที่มาของประวัติศาสตร์ในการใช้เครื่องมือนี้จะพบว่า มนุษยชาติได้ใช้เครื่องมือนี้จัดการความความแย้งที่เกิดจากผลประโยชน์ ความต้องการ ค่านิยม ความสัมพันธ์ และอำนาจมาตั้งแต่มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และสังคม

        อย่างไรก็ดี "ความรุนแรง" เป็นเครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้รับการเลือกสรรมาใช้ในกรณีที่ตัว มนุษยชาติอับจนปัญญาที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือสันติวิธีได้อย่างประสานสอดคล้องกับตัวแปรและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนทำให้บางกลุ่มมองว่า "การใช้ความรุนแรง" น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ควรนำมาใช้จัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อ รัฐ หรือระหว่างคนในรัฐเดียวกัน บางครั้ง อาจจะไม่ใช้สงครามโดยตรง แต่อาจจะสื่อให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความโน้มเอียงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เช่น กองกำลังรักษาสันติภาพ และปรมาณูเพื่อสันติ

        จะเห็นว่า "การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี" และ "การจัดการความขัดแย้งด้วยความรุนแรง" เป็นหลักการและเครื่องมือสำคัญที่มนุษยชาติมักจะเลือกนำมาใช้ในช่วงเวลา และสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นนี้จะเน้นอธิบายแนวทางจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามว่า หากมนุษยชาติตัดสินใจที่จะนำ "สันติวิธี" ไปเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งในมิติต่างๆ นั้น เขาควรจะคำนึงถึง "ปัจจัยและเงื่อนไขใดบ้าง จึงจะทำให้การจัดการความขัดแย้งประสบความสำเร็จ"

        คำถามที่ผู้เขียนมีต่อประเด็นนี้คือ (๑) เราควรจะดำเนินการขับเคลื่อนสันติวิธีอย่างไร จึงมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล (๒) เราควรมีกลไกการขับเคลื่อนสันติวิธีอย่างไร จึงจะทำให้กระบวนการทำงานไหลลื่น และไม่ติดขัด คำถามที่หนึ่งสัมพันธ์กับ "ตัวเนื้อแท้ของสันติวิธี" ทั้งแนวคิดและเครื่องมือ และ "ผู้ใช้สันติวิธี" ที่ควรเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ส่วนคำถามที่สองสัมพันธ์กับขั้นตอนและแนวทางในการขับเคลื่อนสันติวิธีที่ควรมีกลไกไม่ซับซ้อน และง่ายต่อการนำเครื่องมือไปประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม

        การตอบคำถามดังกล่าวนั้น ไม่ได้ส่งผลในเชิงบวกต่อการปฏิบัติการสันติวิธี และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในเชิงปัจเจกเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดสันติภาพมนุษย์ และสังคมในมิติต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก กล่าวโดยภาพรวม นักสันติวิธีมักไม่ค่อยมีคำถาม หรือสงสัยต่อ "สันติวิธี" ในหลายๆ สถานการณ์ที่สันติวิธีไม่สามารถสำแดงศักยภาพในการขับเคลื่อนพลังออกมาช่วยเหลือสังคมในขณะกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง เพราะเข้าใจดีว่า "ความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นประกอบด้วยตัวแปรและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน"

        อย่างไรก็ดีในหลายๆ สถานการณ์ กลุ่มคนที่มีความโน้มเอียงในการใช้ "ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง" มักจะตั้งข้อสังเกต และสงสัยต่อการใช้สันติวิธีว่า "ตัวสันติวิธีอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการกับความขัดแย้งและ ความรุนแรงกับบางกรณี" และ "ผู้ใช้สันติวิธี หรือนักสันติวิธีเป็นผู้ขัดขวางต่อกระบวนการจัดการความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้ระยะเวลาในการจัดการความขัดแย้งต้องยาวนานเกินไป อีกทั้งไม่สามารถประกันความสำเร็จได้"

        ด้วยเหตุนี้ จึงพยายามที่จะอธิบายประเด็น "ตัวสันติวิธี" และ "ผู้ใช้สันติวิธีว่า ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นจากสองประเด็นดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร เพราะการทำความเข้าใจในสองประเด็นนี้ จะมีผลต่อการตอบคำถามที่ว่า "อะไรเป็นปัจจัยและเงื่อนไขต่อความสำเร็จของสันติวิธี"  ปัจจัยและเงื่อนไขที่จะทำให้สันติวิธีทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลนั้น คือ “ผู้ใช้สันติวิธี” ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า “สันติวิธีเป็นวิธีที่ดีจริงหรือไม่?” แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ “ผู้ใช้สันติวิธีมีความรู้และเข้าใจต่อสันติวิธีมากเพียงใด” และ “สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือให้สอดรับกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในบริบทต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?” ด้วยเหตุนี้ งานนี้จึงนำเสนอตัวแปรที่ “น่าจะ” สร้างความสำเร็จต่อการใช้สันติวิธีว่า ควรประกอบด้วยวิธีคิด วิธีการแสดงออกหรือท่าที และวิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือของสันติวิธี


        (๑) วิธีคิด วิธีคิดในบริบทนี้ หมายถึง ความเข้าใจที่มีต่อตัวสันติวิธี และการมองสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบริบทต่างๆ ผู้เขียนมีสมมติฐานว่า “ความเข้าใจที่แตกต่างนำไปสู่กระบวนการคิดและปฏิบัติที่แตกต่าง” ประเด็นคือ การที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลมีความเชื่อ และความเข้าใจต่อสันติวิธีในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าใจความหมายของสันติวิธีที่แตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมจะพบว่า ในขณะที่รัฐมองว่าสันติวิธีหมายถึงการเคารพกฎหมาย และการไม่ก่อความวุ่นวาย แต่ประชาชนมองว่า สันติวิธีคือการประท้วงเพื่อเรียกร้องความต้องการ และการที่รัฐจะยินยอมตามเงื่อนไขการเจรจานั้นมักขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณของ จำนวนประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์และความต้องการ ฉะนั้น เมื่อสองกลุ่มเข้าใจสันติวิธีในแง่มุมที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อการปฏิบัติที่ทั้งสองกลุ่มแสดงออกต่อกัน


        (๒) วิธีแสดงออกต่อกันและกัน ผู้เขียนมองว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในมุมต่างๆ ของโลกนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นปัญหาไม่ได้เกิดจากการที่มนุษยชาติขาดเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งจึงทำให้ความขัดแย้งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ปรากฏชัดในสถานการณ์ปัจจุบันคือ “ท่าทีที่คู่ขัดแย้งแสดงออกต่อกัน” ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือกล่าวพาดพิงถึงคู่กรณีในสถานการณ์ต่างๆ ที่มีลักษณะของการเหน็บแนม หรือส่อเสียดคู่กรณี จะเห็นว่า ท่าทีที่ไม่เป็นมิตรดังกล่าว ทำให้ช่องว่างของความสัมพันธ์ของคู่กรณีเกิดภาวะสุญญากาศมากยิ่งขึ้น และทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองยากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน


        (๓) วิธีการในการจัดการความขัดแย้ง ปัญหาส่วนใหญ่ที่มักปรากฏในสังคมคือ “นักสันติวิธี หรือผู้ใช้สันติวิธี” ไม่สามารถใช้หลักการและเครื่องมือให้สอดรับกับตัวแปรต่างๆ กล่าวคือ สอดรับกับสาเหตุของสถานการณ์และความเป็นไปของความขัดแย้ง สอดรับกับสาระและผลอันเกิดจากสาเหตุของความขัดแย้ง สอดรับและเหมาะสมกับตนเองทั้งในด้านความรู้ และความสามารถในการใช้เครื่องมือจัดการความขัดแย้ง สอดรับกับหลักของความพอดี และเหมาะสมของการใช้เครื่องมือ สอดรับกับจังหวะและเวลาของการเข้าไปใช้เครื่องมือ สอดรับกับการปรับตนและแก้ไขตนให้เหมาะกับสภาพของกลุ่มและชุมชนมีส่วนได้ส่วนเสียต่อสถานการณ์ของความขัดแย้ง และสอดรับกับการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างกันทั้งความคิด ค่านิยม และโครงสร้าง


        สรุปแล้ว ส่วนตัวไม่มีความสงสัยต่อ "เนื้อแท้ของสันติวิธี" เพราะเนื้อแท้หรือแก่นแท้ของสันติวิธีถือว่าพลังฝ่ายขาวที่สัมพันธ์อยู่กับศีลธรรม ที่เคารพ ให้เกียรติในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และหากเปิดพื้นที่ให้สันติวิธีได้ทำงานมากขึ้นเพียงใด ย่อมหมายถึงความเจริญงอกงามของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นเพียงนั้น แต่ข้อห่วงใยสำคัญคือ “ตัวผู้ใช้สันติวิธี” หรือ “บุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริบทของการใช้สันติวิธี” ทำอย่างไร สันติวิธีจะไม่กลายเป็นเพียงข้ออ้างของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลในเชิงสัญลักษณ์ หรือเชิงพิธีกรรม แต่เนื้อในไม่ได้นัยที่บ่งชี้ความเป็นสันติวิธีในเชิงคุณค่าและความหมาย จนทำให้กลุ่มจำนวนมากแยกไม่ออกว่า “สันติวิธีแท้ หรือสันติวิธีเทียม” จนนำไปสู่การดูแคลน ตั้งถามในเชิงลบต่อสันติวิธีทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือเรียกร้องความต้องการ หรือสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง

 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)